
ผู้เขียน : ณัฐกานต์
ช่างภาพ : สกล
เมื่อพูดถึงมืออาชีพในการทำงาน แน่นอนว่าทุกวงการย่อมมีตัวจริง
เช่นเดียวกับงานหลังไมค์ที่ใคร ๆ เรียกติดปากว่าดี.เจ.
อาชีพในฝันของใครหลายคนที่คิดอยากก้าวเข้ามาเป็นตัวจริงบนเส้นทางสายนี้
แต่น้อยคนนักที่จะประสบความสำเร็จ และสามารถเรียกได้เต็มปากว่า
ชื่อ ของ “เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง” ในวันนี้ หลายคนอาจรู้จัก
ในฐานะคุณแม่ลูกสองและภรรยาของนักแสดงชื่อดัง “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง”
แต่ความสามารถของผู้หญิงคนนี้มีมากกว่าภาพที่เห็น
เพราะเธอคือ นักจัดรายการวิทยุมืออาชีพ
และเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารคนสำคัญของ
“Click Television” และ “VR1 Radio”
ความสำเร็จในฐานะผู้บริหารและกูรูด้านงานดี.เจ.
ของ “เปิ้ล-หัทยา” ในวันนี้
มิได้สร้างขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หากแต่ใช้เวลานับ 10 ปี
กว่าจะขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าในวงการงานดี.เจ เรียกว่า
สัมผัสมาทุกวงการทั้งงานเบื้องหน้าและคนเบื้องหลัง
ตั้งแต่เรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์จาก
London College of Printing ประเทศอังกฤษ
“พอเรียนจบก็มาทำงานบริษัทโฆษณา 2-3 ปี
อ่านสปอตโฆษณาโทรทัศน์และวิทยุ เป็นดีเจ
เป็นพิธีกร เล่นหนัง เล่นละคร
ทำงานหลายอย่างมาก แต่สนุกดี ได้ประสบการณ์ รู้จักคนเยอะขึ้น
มีเพื่อนมากขึ้น แต่พอค้นพบว่า
การที่เราจัดรายการวิทยุและทำงานโฆษณาไปด้วย
เราทำได้ไม่ดีทั้ง 2 อย่าง ขณะที่งานโฆษณาตอนนั้น
ได้เงินเดือนดีและมีความมั่นคง
แต่รู้สึกใจมันมุ่งมั่นในการเป็นดี.เจ. มากกว่า
เริ่มสังเกตตัวเองว่าทำไมหาหนังสือเกี่ยวกับ Billboard chart มาอ่าน
หาเพลงมาฟัง ตอนอยู่อังกฤษก็สะสมแผ่นเสียง
เลยตัดสินใจลาออกจากบริษัทโฆษณามาจัดรายการวิทยุ
รับเงินเป็นรายชั่วโมง ๆ ละ 60-80 บาท จัดวันละ 1-2 ชั่วโมง
จากนั้นก็มีพูดสปอร์ตวิทยุเพิ่ม แต่กว่าจะมาเป็นดี.เจ.ได้
ต้องผ่านการคัดเลือกยากมาก
ต้องทำ Demo หลายครั้ง ฝึกการเป็นดี.เจ.
สมัยก่อนจัดรายการวิทยุจะมี Turntables 2 ตัว
สลับกัน Slide ขึ้น Slide ลง
จังหวะมือต้องแม่น หูต้องฟัง ปากต้องพูด ต้องมีสมาธิ 2 ชั่วโมง
ในการจัดรายการจะว็อกแว็กไม่ได้ อยู่กับเพลง
ฟังเพลงจนจบ

ทำอย่างไรจะต่อเพลงแล้ว smooth
ทั้งรายการ ฟังแล้วจับใจคนฟัง
เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง
ในชั่วโมงที่เรานำเสนอ
คนฟังเปิดคลื่นแล้วไม่หมุนไปไหน
คิดแต่จะทำอย่างไรให้คนฟังประทับใจ
วันนี้จะพูดอะไร พูดกี่วิ พูดเรื่องไหน
เป็นเวลา 4-5 ปีที่ทำแบบนั้น”
กว่า 20 ปีบนเส้นทางงานดี.เจ.
เสน่ห์งานหลังไมค์ที่หากไม่ใช่ตัวจริง
คงไม่สามารถอยู่มาได้ตราบถึงทุก วันนี้
ส่วนหนึ่งอาจเป็นสไตล์การทำงาน
ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ภายใต้คำนิยามที่หลายคนมอบให้เธอคนนี้
กับฉายาดี.เจ.เสียง “แหบเสน่ห์”
“บอกไม่ถูกนะ เป็นเรื่องที่พูดยาก เคยเห็นคนที่ไม่สวยมั้ยแต่ทำไมคนรัก
ทำไมเขาถึงมีเสน่ห์ คนบางคนสวยแต่ไม่มีเสน่ห์
จัดรายการวิทยุคนก็ไม่ได้เห็นหน้า คนรู้จักหัทยาก่อนจะเห็นตัวจริงด้วยซ้ำ
และพี่ไม่ใช่คนเสียงเพราะ ช่วงแรก ๆ จัดรายการมีคนต่อต้านด้วยซ้ำ
ทำไมผู้หญิงคนนี้เสียงใหญ่ จัดรายการไม่ถูกใจ
แรก ๆ ท้อเหมือนกัน คนเราจะทำอะไรถูกใจคนอื่นทันทีเป็นไปไม่ได้
ฉะนั้น เราต้องรู้จักปรับตัวรู้จักที่จะฟังคนอื่น
และไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป ฟังคนอื่นพูด ฟังคนอื่นวิจารย์

แล้วมาดูว่าเราสามารถปรับได้แค่ไหน
ทำแล้วถ้ารู้สึกดีขึ้นกำลังใจจะมาเอง แต่ไป ๆ มา ๆ
กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรา
ประกอบกับอาจจะเป็นเสน่ห์การพูดเสน่ห์
ในการจัดรายการที่เป็นธรรมชาติของเราด้วย
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับถ้าเราทำอะไรที่ผิดพลาด
มีช่วงหนึ่งพี่ค่อนข้างบูมมาก ๆ
บางทีพูดจากับคนฟังไม่มีหางเสียง
ความที่เสียงใหญ่ เสียงดุ เสียงแหบ ทำให้ดูไม่เป็นมิตร
บางทีแม่ยังบอกว่าวันนี้พูดขาดความเป็นมิตรยังไงไม่รู้
ฟังแล้วหัทยาดูหงุดหงิด พอเอาเทปมาฟัง เออ! จริง
วันรุ่งขึ้นจัดรายการจะบอกคนฟังว่า
“เมื่อวานขอโทษนะค่ะ รู้สึกหงุดหงิดไปนิดหนึ่ง
เมื่อวานอะไร ๆ มันเร็วไปนิดหนึ่งรวมทั้งอารมณ์ด้วย”
สรุปคือต้องรู้จักพูด รู้จักใช้คำที่ไม่เป็น Negative กับตัวเอง
แต่คนฟัง ๆ แล้วรู้ว่าเรารู้สึกถึงความผิดที่ได้กระทำไป
ทุกวันนี้สไตล์การจัดรายการก็เปลี่ยนไปตามวัย โตขึ้น ยังคงห้าว ๆ
แต่ยึดมั่นความถูกต้อง วันนี้อาจจะมีเสริมเรื่องการเมืองเข้าไปบ้าง
พอมีครอบครัว มีลูกก็มีเรื่องของเด็ก
มีเรื่องการศึกษาเข้ามาคุย มันเป็นไปตามวัย โดยอัตโนมัติจริง ๆ”
ประสบการณ์ คือครูชั้นดีสำหรับการทำงานทุกวิชาชีพ
เพราะนอกจากดี.เจ.เปิ้ลจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานแล้ว
เธอยังคงค้นคว้าหาความรู้ตลอดเวลา
ทั้งยังยึดมั่นคุณสมบัติของนักจัดรายการที่ดีที่คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ควรจดจำ
“ทุกวันนี้ยังค้นคว้าหาความรู้อยู่ตลอดเวลา อ่านหนังสือ
ฟังคนอื่น ดูคนอื่น รวมถึงดูหนังฟังเพลง ติดตามข่าวสารบ้านเมือง
เมื่อก่อนฟังเพลงจะแยกเพลงเลยนะ เพลงนี้เป็นเพลงแจ๊ส
จังหวะหยุด Intro กี่วิ พูดได้กี่วิ ต้องทำการบ้าน
หลัง ๆ ระบบการฟังเริ่มดีขึ้น รู้ว่าเพลงนี้ Intro ขึ้นมาถึงตรงนี้
จะเป็นเสียงร้องแล้วนะ หยุดตรงไหนดี ทุกอย่างคือประสบการณ์
สิ่งสำคัญอีกอย่างของนักจัดรายการวิทยุคือ
ต้องมีใบผู้ประกาศ ต้องพูดภาษาไทยชัดเจน เข้าใจ

อักขระ วิธีการพูด สื่อสารกับคนรู้เรื่อง ตรงต่อเวลา
ถ้าจัดรายการสด นอกนั้นเป็นเสน่ห์ของแต่ละคน
เพลงที่จะเล่นขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศมั้ย
วิธีการพูดบวกเสน่ห์ในตัวของแต่ละคน”
จากพนักงานเติบโตสู่ตำแหน่งผู้บริหาร
การทำงานอีกบทบาทที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น
แต่ยังคงไว้ซึ่งความชัดเจนในตัวของดี.เจ.คนนี้
“ตอนนี้จัดรายการอยู่ที่คลื่น Get 102.5 และ 101 RR ONE
เป็นคลื่นข่าว ในช่วงของการพูดกันทั่วบ้านทั่วเมือง
นอกนั้นเป็นเรื่องของการดูแล Project ต่าง ๆ
ที่บริษัทกำลังทำอยู่
เช่น เรากำลังจะมีคอนเสิร์ต
“What Women Worth: เพราะโลกนี้ผู้หญิงมีค่า”
คอนเสิร์ตที่แสดงพลังของผู้หญิง
เพราะผู้หญิงไม่ว่าจะอยู่ในสถานะภาพใดก็ตามเรามีค่าเสมอ
ถ่ายถอดผ่านบทเพลงที่ไพเราะ เพลงที่ให้กำลังใจ
เพลงที่พูดถึงอารมณ์ของผู้หญิง เพลงที่เห็นการต่อสู้ของผู้หญิง เป็น
Project ที่บางทีต้องเข้าไปคุยกับลูกค้า คุยกับศิลปิน
ประชุมกับทีมงาน ทำงานเบื้องหลังซะเยอะ
จริง ๆ ไม่ได้นั่งบริหารงานทุกวัน
พี่ยังมีความชัดเจนของการเป็นดี.เจ.
เหมือนตัวเราแบ่งเป็นหลาย Part
การเป็นดี.เจ.บางครั้งอาจต้องฟัง A.E. หรือฟัง Creative
ขณะเดียวกันเมื่อเข้าประชุมก็มีบาง Part ที่ Creative หรือ A.E.
เขาฟังเรา เหมือนได้เล่น 2 Part รู้สึกว่าเราได้กำไร
เมื่อเป็นดี.เจ. เราต้องทำหน้าที่ดี.เจ.ที่ดี
ไม่ใช่เป็นผู้บริหารพอมาเป็นดี.เจ.แล้วไม่ฟัง Creative
หรือไม่ฟัง A.E. ไม่ใช่
งานวิทยุมีการแข่งขันกันมาตั้งแต่ยุคที่พี่จัดรายการแรก ๆ
สมัยก่อนคู่แข่งน้อยมาก ระยะหลังคลื่นวิทยุมีการประมูลกันมากขึ้น
จนกระทั่งค่ายเทปเข้ามาประมูลคลื่นวิทยุ ทำให้มีการแข่งขันกันมาโดยตลอด
ฉะนั้นในฐานะที่เราไม่มีค่ายเพลงมา Backup เราจำเป็นต้องหนีห่าง
แล้วพยายามสร้างกิจกรรมที่แตกต่างจากคลื่นวิทยุอื่น
ฉะนั้นการคิดแผนงาน เราจะคิดมาโดยตลอด ไม่ได้มองแค่ 1-2 ปีข้างหน้า
แต่มองทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะบางอย่างขึ้นอยู่กับ
ภาวะเศรษฐกิจเหมือนกัน ยิ่งปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง
ดังนั้น ต้องคิดต่างออกไป ต้องดูว่าเรามีอะไรที่แตกต่าง
เราเป็นสถานีวิทยุและเป็นคนวิทยุที่อยู่มา 20 กว่าปีได้
เพราะอะไรมีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไร เราทำงานกันแบบนี้มากกว่า”
ภายใต้คำ ๆ เดียว นั่นคือ คำว่า “ความรัก”
“ที่ผ่านมายึดถือคำว่า “Love” มาตลอด นอกจากความรักที่มีต่อครอบครัวแล้ว
เราต้องรักงานที่ทำด้วย ถ้าไม่รักในงานที่ทำ อย่าทำ
เพราะถ้าทำงานทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เหมือนเราไม่ได้รักเขาเต็มที่
ไม่ได้เกิดจากความรักที่แท้จริง ฉะนั้นพี่คิดว่า
เมื่อเรามีความรักในงานนั้นแล้ว อย่างอื่นจะตามมาเอง
ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง การไม่คดโกง ไม่เห็นแก่ตัว
ไม่อิจฉา ทุกอย่างจะตามมาเพราะความรักทั้งหมด
ทุกวันนี้รู้สึกพอใจที่ได้ทำงานที่พี่รัก และได้ลองงานหลาย ๆ อย่าง
เช่นพี่เลือกอาชีพจัดรายการวิทยุ หลังจากนั้นมีคนชวนไปเป็นพิธีกร
แต่ยังจัดรายการวิทยุอยู่ เพราะเราเกิดมาจากวงการวิทยุ
และยังยืนยันว่าอาชีพของเราคือนักจัดรายการวิทยุ
แต่ก็ได้ไปชิมลางงานด้านอื่นบ้าง
เมื่อไหร่เรามีความสุขที่จะรับงานชิ้นนั้น
และอยู่ในสถานะภาพที่สามารถเลือก งานได้
เราก็เลือกงานที่เราทำแล้วมีความสุข ทำแล้วได้ให้อะไรกับสังคม
เราอาจไม่ได้รวยล้นฟ้า ไม่ได้มีเงินเป็นร้อยล้าน
สิ่งเหล่านั้นมันไม่สำคัญเลย ตราบใดที่เรายังมีแรงเดินต่อไป
แล้วอะไรดี ๆ มันก็ตามมาเอง”

สำหรับ คนที่สนใจในอาชีพดี.เจ. กูรูงานด้านนี้บอกว่า
นอกเหนือจากใจรักแล้ว ความรับผิดชอบถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง
“บอกได้เลยว่า เป็นนักจัดรายการวิทยุเงินเดือนไม่เยอะ
เริ่มต้นแรก ๆ อาจคิดตามชั่วโมง ๆ หนึ่งอาจได้ไม่เท่าไหร่
หรือเดือนหนึ่งได้ไม่เท่าไหร่ อย่าลืมว่างานนี้เป็นงานสื่อสารมวลชน
ต้องเข้าใจว่าตัวเราอยากทำงานนี้จริง ๆ
เพราะเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราสื่อสารออกไป
วิทยุเป็นสารที่สื่อออกไปแล้วเข้าถึงคนฟังรวดเร็ว
สามารถทำให้คน ๆ หนึ่งเข้าใจอะไรได้ดี
หรือทำให้เกิดการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องได้
ฉะนั้นเราต้องเป็นนักสื่อสารที่ดี อาชีพนักจัดรายการวิทยุ
เป็นอาชีพที่ท้าทาย มีเสน่ห์ของการทำงาน
และถ้าทำได้ถึงจุดหนึ่งมันจะพาเราไปต่อยอดอย่างอื่นได้ เช่น
ไปเป็นนักข่าว ศิลปิน ดารา นักร้องและถ้าเราแบ่งเวลาได้
จะทำให้เราทำงานในวงการสื่อสารมวลชนและวงการบันเทิงได้ ยาวนาน”

สุดท้ายดี.เจ.เปิ้ลฝากข้อคิดในการทำงานสำหรับคนรุ่นใหม่ไว้ว่า
“การทำงานไม่ว่าวิชาชีพไหน ๆ ก็ไม่มีทางตัน
ถ้ารู้จักปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย
แต่ไม่จำเป็นต้องหนีตัวเองจนเกินไป
เพราะถ้าเรามีความเป็นตัวตน มีความคิดของตัวเอง
ไม่ต้องไปตามคนอื่นตลอดเวลา ทุกคนต้องมีจุดยืนของตัวเอง
สิ่งไหนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องไม่เห็นด้วย
ไม่ใช่เห็นด้วยเพียงเพื่อให้คนมารักเรา
ที่สำคัญคือ ทุกวันนี้คนเราเบื่ออะไรง่าย
เปลี่ยนงานบ่อย อย่างพี่จัดรายการทุกวัน
ถามว่าแบบเดิม ๆ มั้ย แบบเดิม ๆ ห้องจัดเดิม ๆ
อาจมีเปลี่ยนคลื่น เปลี่ยนห้อง เปลี่ยนสถานที่บ้าง
แต่ก็เป็นงานเดิม ๆ ฉะนั้นเราต้องทำตัวให้ Active
ต้องมีความสุขกับงานที่ทำ ถาม ตัวเองให้ได้ว่า
เรามีความสุขจริงรึเปล่ากับงานที่ทำอยู่ เราเอาอะไรเป็นใหญ่
เงินหรืองานที่ทำเป็นใหญ่ อาชีพดี.เจ.ไม่ได้ ได้เงินเดือนมากมาย
เมื่อเทียบกับนักร้องหรือนักแสดง
แต่เมื่อเรามีประสบการณ์บวกกับชั่วโมงจัดที่มากขึ้น
รายได้และโอกาสในการเติบโตจะเพิ่มขึ้นตามมาเอง
สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้จักให้กำลังใจตัวเองก่อน
ไม่ใช่โดนอะไรนิด อะไรหน่อยก็ท้อ ไม่เอาแล้ว ไปดีกว่า
เลิก ไม่ทำ ถ้าคิดอย่างนั้นก็จบ ต้องรู้จักสู้เพื่อความถูกต้อง
สู้เพื่อพิสูจน์ตัวเอง รู้จักแบ่งปันหรือคุยกับคนที่เรารัก
คนที่เราเชื่อใจ เพื่อฟังคำแนะนำที่จริงใจจากเขา เช่นพ่อแม่ของเรา"