Custom Search

Nov 23, 2009

ทำอย่างไรจึงจะสุขอย่างยั่งยืน


นายแพทย์ ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย

จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์

มติชน

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552



ถ้าจะถามว่าใครอยากมีชีวิตที่มีความสุขบ้าง
ทุกคนคงจะตอบว่าต้องการ
คงไม่มีใครอยากมีความทุกข์
แต่ถ้าถามว่าความสุขคืออะไร
คำตอบของแต่ละคนคงจะแตกต่างกันออกไปมากมาย
บ้างความสุขก็เกิดจากการมีทรัพย์สินเงินทองมากๆ
ได้เป็นคนมีชื่อเสียง มีอำนาจ มีเกียรติยศ มีบ้าน
มีรถหรูๆ มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีแฟนสวย แฟนหล่อ
ได้ขับรถเร็วๆ ได้เที่ยวทั่วโลก ได้กินอาหารอร่อย
มีเสื้อผ้าสวยๆ ดูหนัง ฟังเพลง มีความสุขทางเพศ
มีครอบครัวที่น่ารัก หรือการมีลูกเรียนหนังสือเก่งๆ เป็นต้น

เห็นได้ว่ามนุษย์มีความสุข 2 ประเภท คือ
ความสุขทางกาย และความสุขทางใจ
โดยความสุขทางกายส่วนใหญ่
จะเป็นการเสพเพื่อตอบสนอง
ความต้องการทางกาย ทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ ได้แก่
รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นความสุขส่วนบุคคล
เกิดขึ้นไม่นานก็หายไป เมื่อไม่มีสิ่งเร้าเป็นตัวกระตุ้น เช่น
การลิ้มรสอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง การมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
ส่วนความสุขทางใจ เช่น การมีทรัพย์สมบัติมากๆ
มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม
มีแฟนสวย แฟนเก่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นความสุข
ที่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกจึงจะมีความสุขได้
แต่เนื่องจากปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน
จึงหาความยั่งยืนได้ยาก

ความสุขทางใจที่กล่าวมานี้
ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปอาจจะมองได้ ว่า
เป็นการหลีกหนีความทุกข์ใจมากกว่า
ความทุกข์ที่ว่านี้ก็คือ ความรู้สึกไม่มั่นใจว่า
ตัวเองดีพอหรือยังมี
ความสำคัญ มีคุณค่าพอหรือยัง
ความรู้สึกไม่มั่นใจที่พูดถึงนี้มิใช่
ความรู้สึกในระดับจิตสำนึกแต่อยู่ใน
ระดับจิตใต้สำนึกที่อยู่ในจิตใจระดับลึกมาก
เราทุกคนจะไม่รู้ตัว เมื่อรู้สึกไม่สุขใจ
ก็จะพยายามแก้ปัญหา
และสร้างความมั่นใจให้กับตนเองโดย
อาศัยปัจจัยภายนอก
ยิ่งถ้าระดับความมั่นใจใน
คุณค่าตัวเองขาดแคลนมาก
ความพยายามให้เกิดความมั่นใจ
ก็ยิ่งต้องมากตามไปด้วย
จำเป็น ต้องแสวงหา
ปัจจัยภายนอกมาเสริมให้มากยิ่งขึ้น
ทำให้ดูเหมือนว่าไม่รู้จักพอ
เกิดอาการโลภต้องทำทุกวิถีทาง

แม้แต่การโกง ทุจริต ต้องดิ้นรนตะเกียกตะกาย
แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน
เงินทอง ลาภยศ สรรเสริญ
เพราะไม่มั่นใจว่าตัวเองรวยพอหรือยัง
ดีพอหรือยัง มีคุณค่าพอหรือยัง

นอกจากนี้ผู้ที่มีความมั่นใจในคุณค่าตัวเองต่ำ
บางรายนอกจากพยายามตะเกียกตะกายเรื่องวัตถุแล้ว
ยังอาจใช้วิธีที่จะทำให้ตัวเองอยู่ได้
รู้สึกมั่นใจขึ้นโดยวิธีการมองดูคนอื่นว่า
ก็ไม่ได้ดีเด่นกว่าฉันเท่าไหร่
คอยจ้องมองหาข้อเสียของคนอื่น
มากกว่าจะมองหาข้อดี
เพื่อความสบายใจของตัวเองว่าฉันก็โอเค
ไม่ได้แย่เท่าไหร่ วิธีการแก้ปัญหา
แบบนี้เป็นการแก้ปัญหา
ที่ไม่สร้างสรรค์และ
สร้างปัญหาต่อไปอีกมากมาย
ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
การขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้ง

ดังนั้นความสุขทางใจที่ยั่งยืนน่าจะเป็น
ความสุขจากภายในที่ไม่ต้องพึ่งพา
ปัจจัยภายนอกมากนัก
แต่เป็นความรู้สึกมีคุณค่า
มั่นใจในคุณค่าของตนเองจากภายใน
ยกตัวอย่างเช่น
เราเคยเห็นดาราหรือนางงาม
ทั้งที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามแต่
กลับอยากตายและกินยาฆ่าตัวตาย
เพราะอกหัก แฟนทิ้ง
หรือไปมีคนอื่นแล้วตัวเองทำใจไม่ได้
รู้สึกไร้ค่า จึงกินยาฆ่าตัวตาย
ในขณะที่คนที่พิการไม่มีแขน ไม่มีขา
หน้าตาไม่ได้สวยสดงดงาม
แต่ก็ไม่ได้คิดอยากตาย
รู้สึกว่าตัวเองมีค่าสามารถ
ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองด้วยการพึ่งตนเอง
ใช้ปากคาบพู่กันวาดรูปขาย
ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะ
คนพิการผู้นี้สามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
มั่นใจในคุณค่าตนเอง จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่
ดำเนินชีวิตต่อไปได้ สามารถสร้างสรรค์และ
ทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้
คนที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะมีภาวะซึมเศร้าและ
ถึงที่สุดมีความคิดมั่นใจว่า
ตนเองไม่มีคุณค่า รู้สึก ไร้ค่า

การเห็นคุณค่าในตนเอง
รู้สึกดีต่อตนเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย
ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร
เนื่องจากคนหนึ่งคนมีบทบาทหลายด้านมาก
สวมหมวกหลายใบ
และต้องการที่จะให้ดีไปทุกๆด้าน
ตั้งแต่เป็นลูกที่ดี เป็นพี่ที่ดี เป็นน้องที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี
พนักงานที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ดี ลูกน้องที่ดี หัวหน้าที่ดี
พ่อที่ดี แม่ที่ดี ลุงป้าน้าอาที่ดี ปู่ย่าตายายที่ดี
เป็นหลานที่ดี เป็นประชาชนที่ดี พลเมืองที่ดี
ซึ่งด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดของแต่ละคน
โดยเฉพาะเรื่องเวลา
การจะทำให้ดีเต็มร้อยได้ในทุกบทบาท
โดยไม่มีข้อตำหนิหรือบกพร่องเลยแทบจะเป็น
เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
การที่จะต้องทำให้ได้เต็มร้อยทุกบทแล้ว
จึงจะมีความสุขได้ก็คงเป็นเรื่องเป็นไปได้

ดังนั้นแต่ละคนอาจจะต้องมา
กำหนดเป้าหมายของตัวเอง
เป็นเป้าหมายที่เป็นจริงมีความเป็นไปได้
จัดลำดับความสำคัญ
และจัดสรรเวลาให้เหมาะสม
เพื่อตัวเองจะได้ทำได้สำเร็จตามเป้าในระดับที่คิดไว้
และไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สึกบกพร่องหรือเป็นคนไม่ดี

ความสามารถมองเห็นคุณค่าในตนเอง
และยอมรับตนเองได้มากหรือน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ที่จะทำให้คนเรามีความสุขได้ง่ายหรือยาก
คนที่เติบโตมาในบรรยากาศครอบครัวที่ดี
ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงครอบครัวที่ฐานะดี ...

แต่หมายถึงครอบครัวที่บรรยากาศอบอุ่นเข้าใจกัน
เอาใจใส่ความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัว
ให้เกียรติกันให้ความสำคัญของกันและกัน
ทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง มั่นใจ
(ในระดับจิตใต้สำนึก) ว่า
“ฉันมีค่า ฉันใช้ได้ ฉันมีข้อดี ฉันมั่นใจว่า
ฉันสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตฉันได้”
ก็ถือว่าโชคดี มีโอกาสมีความสุขในชีวิตได้ง่าย

แต่สำหรับคนที่ครอบครัวเตรียมทุนด้านจิตใจมาให้น้อย
ก็มีโอกาสเกิดปัญหา มากกว่าแต่ก็ไม่เป็นไร
เพราะความสามารถมองเห็นค่าและยอมรับตนเอง
เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ แต่การพัฒนาตอนโต
อาจจะยากกว่าช่วงวัยเด็ก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า
จะทำไม่ได้ถ้าพยายามและเมื่อทำได้สำเร็จก็ถือว่า คุ้ม
เพราะจะช่วยให้ชีวิตคนผู้นั้นทุกข์น้อยลงมีความสุขง่ายขึ้น

นอกจากนี้ก็จะเป็นความดีส่งผลถึงคนรอบข้างด้วย
เพราะคนเราทุกคนเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
คนที่มีความสุขก็จะส่งผลให้
คนที่อยู่รอบข้างมีความสุข อารมณ์ดีไปด้วย
คนที่สามารถมองเห็นและยอมรับคุณค่าในตนเองได้
ก็ไม่ต้องคอยเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
สามารถมองโลกแง่บวกได้ง่าย โกรธยาก แค้นยาก
ให้อภัยง่าย มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันได้ง่าย
จึงมีความสุขในชีวิตได้ง่าย

ดังนั้นใครที่อยากมีความสุขในชีวิตก็ควรที่จะ
เริ่มจากการหาเวลาในแต่ละ วัน แล้วแต่สะดวก
สัก 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เวลากับตนเองจริง ๆ
ในการฝึกผ่อนคลาย ทำสมาธิ โยคะ
ซี่กง หรืออะไรก็แล้วแต่
เพื่อเป็นการพักสมอง
ผ่อนคลายและฝึกสติ ทบทวน
พิจารณาตนเอง
พิจารณาอารมณ์และวิธีคิดของตนเอง
มีจุดใดที่สมควรปรับปรุงถ้าปฏิบัติและศึกษา
หาความรู้เพื่อเติมเป็นมุมมอง
ชีวิตให้กว้างขึ้นเป็นประจำ
ก็คงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
สามารถช่วยให้เกิดความสุขทางใจ
ที่เกิดจากภายในที่มีความยั่งยืนได้ไม่ยากนัก