Custom Search

Nov 11, 2009

ดร.เฉียน วิศวกรผู้ยิ่งใหญ่ของจีนและอเมริกา

วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552


เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โลกได้สูญเสีย นักวิชาการวิศวกรรมการบินคนสำคัญซึ่งมีบทบาทสูงยิ่งต่อการ พัฒนาจรวด
ยานอวกาศ ขีปนาวุธ ดาวเทียม ฯลฯ และมีชีวิตราวตัวละคร
ในนิยายจารกรรม Qian Xuesen (บางทีก็เขียนว่า Tsien Hsue-shen หรือ T.S. Tsien ออกเสียงว่า เฉียน-เสวีย-เซิน ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า ดร.เฉียน) เสียชีวิตเมื่อมีอายุได้ 98 ปีในประเทศจีน หลังจากไม่ได้เหยียบแผ่นดินอเมริกามา 54 ปี ถึงแม้ว่าจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้าง ระบบขับเคลื่อนจรวดและพัฒนาเครื่องบินเร็ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกา ครองอยู่ในโลกปัจจุบันก็ตามที ดร. เฉียน เป็นคนจีนโดยสายเลือดและมีพื้นฐานการศึกษาแบบจีน ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ แต่ไปมีบทบาทสำคัญต่อ เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา และในภายหลังได้ชื่อว่าเป็น "บิดาของการสร้างจรวด" ในจีน และได้รับการยกย่องอย่างสูงว่าเป็นวีรบุรุษของประเทศจีน ที่เป็นดังนี้ก็เพราะ ชีวิตของ ดร.เฉียนนั้นผันผวน ดร.เฉียน เกิดใน ค.ศ.1911 จบปริญญาตรีจาก Chiao Tung University และไปเรียนต่อที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) และ Caltech (California Institute of Technology) ขณะที่เป็นผู้ช่วยวิจัยและทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอกกับนักฟิสิกส์คนสำคัญที่ Caltech คือ Theodore von Karman ในทศวรรษ 1930 เขาได้ทำวิจัยสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนของจรวด เมื่อเรียนจบก็สอนหนังสือและทำวิจัยที่ Caltech ในทศวรรษ 1940 เขามีส่วนในการสร้าง Jet Propulsion Laboratory ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์ค้นคว้าสำคัญของ NASA อาจารย์ของเขาคือ Von Karmen ได้กล่าวถึงเขาในช่วงเวลานี้ว่า ดร.เฉียนเป็นอัจฉริยะอย่างแท้จริง งานศึกษาวิจัยของเขาช่วยทำให้เกิด ความก้าวหน้าอย่างสำคัญในความรู้เกี่ยวกับ การขับเคลื่อนของเครื่องยนต์เจ็ท ตลอดจนยานวิถีที่เดินทางด้วยความเร็วสูง ในยุคนั้นเขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์เอก ด้านจรวดของสหรัฐอเมริกา เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะและยึดครองประเทศได้ในปี 1949 ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างไม่คาดฝัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเขาทำงานให้รัฐบาลอเมริกัน ให้คำแนะนำแก่กองทัพในเรื่องเทคโนโลยีการนำวิถีของขีปนาวุธ เมื่อสงครามโลกจบลงเขามียศเป็นพันโท และได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลจากของ นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของนาซี และถูกส่งไปวิเคราะห์จรวด V-2 ของ ฮิตเลอร์ด้วย ในปี 1949 เขาเขียนข้อเสนอให้สร้างยานอวกาศแบบมีปีก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญใน การสร้างยานอวกาศของ NASA ในเวลาต่อมา (ในปี 2007 นิตยสาร Aviation Week and Space Technology เชิดชูผลงานสำคัญนี้ของเขา) เมื่อ ดร.เฉียนขออนุญาตไปเยี่ยมพ่อแม่ในประเทศจีนใหม่ ที่คอมมิวนิสต์ยึดครอง ชีวิตของเขาก็เผชิญกับ ความระแวงว่าเป็นจารชนของจีน การเมืองยุค "จับผีคอมมิวนิสต์" ของสงครามเย็นที่มีวุฒิสมาชิก Joseph McCarthy เป็นหัวหอก ทำให้เขาต้องประสบปัญหา อย่างไม่เคยพบมาก่อนด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ข้อกล่าวหามีหลักฐานเพียงว่าเอกสารของ พรรคคอมมิวนิสต์ในอเมริการะบุว่าในปี 1938 เขาไปร่วมงานสังคมซึ่ง FBI สงสัยว่าเป็นการพบปะกัน ของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในเมือง Pasadena ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ดร.เฉียนปฏิเสธคำกล่าวหา และไม่เคยมีหลักฐานว่าเขาได้มอบเอกสารลับ ให้รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด ความพยายามของเขาในครั้งที่สองที่จะไปเยี่ยมพ่อแม่ประสบความสำเร็จ หลังจากถูกคุมขังอยู่ในบ้าน 5 ปี ดร.เฉียนถูกบีบให้ออกจากสหรัฐอเมริกาซึ่งก็คือการถูกเนรเทศ โดยแลกตัวกับนักบินอเมริกัน 12 คน ที่ถูกจับในระหว่างสงครามเกาหลี เขาต้องเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมภรรยาและลูก 2 คน ใน ค.ศ.1955 ความเป็นนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าผู้รับใช้รัฐบาลอเมริกัน ผลิตเทคโนโลยีการบินที่สำคัญสำหรับชาวโลกจบสิ้นลง เมื่อ เขาไปถึงเมืองจีนก็ได้รับการต้อนรับเสมือนเป็นวีรบุรุษ รัฐบาลมอบหน้าที่พัฒนาจรวดให้เขาทันที ดร.เฉียนตั้ง Institute of Mechanics และระดมลูกศิษย์เก่งๆ ของเขามาทำงาน จนประสบผลสำเร็จในการสร้างขีปนาวุธ Dongfeng ในปี 1964 และวางรากฐานสู่การพัฒนาขีปนาวุธ Silkworm ที่ทรงพลังและกำลังมีชื่อเสียงอยู่ในปัจจุบัน ดร.เฉียน มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของ University of Science and Technology of China (USTC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะหลังการปฏิวัติในปี 1949 โดย Chinese Academy of Sciences (CAS) เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดมาช่วยงานพัฒนาประเทศ ความก้าวหน้าของจีนในการสร้างดาวเทียม รับจ้างยิงดาวเทียม สร้างเครื่องบินนำสมัย ส่งยานอวกาศไปนอกโลก ฯลฯ ในปีปัจจุบันล้วนมีรากฐานมาจากผลงานของ ดร.เฉียนทั้งสิ้น คนจีนจึงรู้จักชื่อ ดร.เฉียน เป็นอย่างดี อดีตปลัดกระทรวงทหารของ สหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง คือ Dan Kimball กล่าวว่า การเนรเทศ ดร.เฉียนคือ สิ่งโง่เง่าที่สุดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยทำ ดร.เฉียน ไม่เคยเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาอีกเลย ถึงแม้จะติดต่อกับเพื่อนนักวิชาการ อเมริกันตลอดมาก็ตาม เพื่อน ดร.เฉียนไม่เชื่อว่าเขาเป็นจารชน และไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ในตอนแรก แต่ต้องมาเป็นเพราะความจำเป็นใน ค.ศ.1958 ก่อนหน้าเขาเสียชีวิตไม่นานเพื่อนอเมริกันของ ดร.เฉียนบอกว่า เขายังมีความปรารถนาดีต่อสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ให้การศึกษา ให้โอกาส และสร้างชื่อเสียงให้แก่เขา ในปี 2001 เขาได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจาก Caltech และในปี 2007 นิตยสาร Aviation Week เลือกเขาเป็น Man of the Year อันเนื่องมาจากผลงานศึกษาวิจัยของเขาที่ได้วางรากฐาน สำหรับการพัฒนายานอวกาศ เครื่องบิน ขีปนาวุธ ฯลฯ คนจีนเศร้าสลดกับการจากไปของวีรบุรุษผู้ สร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศ ไม่มีใครรู้ว่าถ้าเขายังอยู่ในสหรัฐอเมริกาที่มีสิ่งแวดล้อมเพียบพร้อมต่อ การศึกษาวิจัยในฐานะนักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเครื่องบิน ศึกษาการขับเคลื่อนของจรวด ยานอวกาศ ฯลฯ โลกจักก้าวหน้าไปอีกมากเพียงใดในเรื่องเหล่านี้ ชีวิตที่ไม่อยู่ภายใต้ภาวะกดดันอาจสร้าง จินตนาการและนวัตกรรมได้อีกมากมายก็ เป็นได้ เชื่อว่าอีกไม่นานเราคงได้ชมภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตของ ดร.เฉียน เป็นแน่ บุรุษผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในโลกเสรี และไม่ยอมเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศคอมมิวนิสต์ จนถึงภาวะจำเป็นได้จากไปแล้วพร้อมกับ ให้บทเรียนแก่ภาครัฐและมอบผลงานสำคัญแก่โลก

หน้า 6