Custom Search

Jan 31, 2009

เรื่องของเงิน



คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
มติชน
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เมื่อคืนวันพฤหัสที่ 8 มกราคม 2552 ที่ผ่านมานี้เอง
ผมได้มีโอกาสชมรายการของโอปราห์ วินฟรีย์ ทางเคเบิลทีวี
ในครั้งนี้เธอได้เชิญนักการเงินชื่อดังท่านหนึ่ง
ซึ่งผมต้องขออภัยอย่างสูงที่จำชื่อของเธอไม่ได้
โอปราห์เชิญเธอให้มาพูดถึงเรื่อง "วิธีจัดการกับเงิน"
ที่คนอเมริกันควรจะต้อง "ปรับเปลี่ยน"
เพื่อเผชิญหน้าและรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังตกต่ำย่ำแย่อยู่ในขณะนี้
เป็นสภาวะที่คนอเมริกันไม่เคยต้องเจอมาก่อนเป็นเวลานานมากแล้ว
นักการเงินท่านนี้ได้แนะนำหลายเรื่องหลายวิธีเกี่ยวกับการใช้เงิน
โดยเฉพาะเรื่องการเป็นหนี้บัตรเครดิตที่ค่อนข้างน่าตกใจมาก
ที่คนอเมริกันส่วนใหญ่จะมีบัตรเครดิตกันคนละหลายๆ ใบ
ในรายการนี้มีผู้ร่วมรายการท่านหนึ่งที่มีบัตรเครดิตมากถึงยี่สิบสามใบ
และที่น่าตกใจกว่านั้น
ก็คือเจ้าของบัตรไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นหนี้บัตรเครดิตเท่าไรแน่
ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะ "ความไม่รู้ตัว" ในการใช้เงิน
ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายไม่น้อยเลย
เพราะความสามารถในการเป็นอิสระในทางการเงินนั้นไม่ได้อยู่ที่การหาเงินได้มาก
แต่อยู่ที่ความสามารถในการเก็บออมเงินซึ่งจะต้องอาศัย "ความรู้ตัว"
ในการใช้เงินรายการของโอปราห์ในวันนั้น
ยังได้แนะนำสิ่งที่ควรปฏิบัติที่พอจะทำได้จริงสามอย่าง ครับ
หนึ่ง คือให้ทดลองไม่ใช้เงินเลยเป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง
คำว่า "ไม่ใช้เงิน" ในที่นี้หมายถึง "ไม่ใช้จ่าย"
อะไรเลยเป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงติดต่อกัน
ไม่ใช่ว่าไม่ใช้เงินแล้วไปใช้บัตรเครดิตแทนนะครับ
สอง ให้ลองไม่ใช้บัตรเครดิตเลยเป็นเวลาเจ็ดวันติดต่อกัน
เพราะอย่างที่เรียนข้างต้นมาแล้ว เธอพบว่า
คนอเมริกันใช้บัตรเครดิตกันแบบเป็นอัตโนมัติที่ไม่รู้ตัวเยอะมาก
การทดลองไม่ใช้บัตรเครดิตเป็นเวลาเจ็ดวัน
จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้เรากลับมา "รู้ตัว" ได้มากขึ้น
ในเวลาที่จำเป็นจะต้องใช้จริงๆและ
สาม ให้ลองไม่กินอาหารในร้านหรูเป็นเวลาหนึ่งเดือน
เพราะเธอมองเห็นว่าคนอเมริกัน
โดยเฉพาะคนชั้นกลางนั้นเสียค่าใช้จ่ายไปกับการกินอาหารนอกบ้าน
ที่หรูหราฟุ่มเฟือยบ่อยครั้งมากเกินไป
และอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยอยู่ในขณะนี้
การไม่กินอาหารนอกบ้านจะช่วยทำให้ประหยัดรายจ่าย
ให้กับครอบครัวได้เยอะมากจากนั้นเธอได้ตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมรายการว่า
มีใครที่คิดว่าตัวเองจะทำไม่ได้ในข้อไหนบ้าง
มีคนยกมือหลายคน และส่วนใหญ่จะบอกว่า
ข้อแรกที่ "ให้ลองไม่ใช้เงิน" เลยเป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง
ข้อนี้หลายคนรู้สึกว่าตัวเองจะทำไม่ได้ในขณะที่กำลังดูรายการนี้อยู่
ผมก็ลองนึกถึงตัวผมเองบ้าง อืมมม จริง
ข้อแรกที่ไม่ให้ใช้เงินเลยนี้ออกจะไม่ง่ายเลยจริงๆ ด้วยนะ
สำหรับข้อสอง เรื่องการไม่ใช้บัตรเครดิตเจ็ดวัน
ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไรสำหรับผม
เพราะผมมีบัตรเครดิตใบเดียวและจะใช้เฉพาะตอนที่สั่ง
หนังสือจากต่างประเทศมาอ่านเท่านั้น
นอกจากนั้น ก็แทบจะไม่ได้ใช้เลย ผมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
เรียกว่าผมไม่ต้องใช้บัตรเครดิตเป็นเดือนๆ
เลยก็ยังทำได้สบายๆ
ส่วนข้อสาม เรื่องไม่กินข้าวในร้านหรูๆ เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มนี้
ก็ไม่ยากครับ
เพราะในช่วงหลังๆ นี้ ผมและครอบครัวก็ไม่ชอบ
ที่จะออกไปรับประทานอาหารหรูหรานอกบ้านกันอยู่แล้ว
ที่ดูจะยากก็คือข้อแรกให้ลองไม่ใช้เงินไม่ใช้จ่ายเลยยี่สิบสี่ชั่วโมงนี้
อืมมม ผมรู้สึกเหมือนผู้เข้าร่วมหลายๆ ท่าน
ในรายการของโอปราห์ที่ว่าอาจจะไม่ง่ายนัก
แต่ผมก็พบว่า น่าทดลองทำดูวันรุ่งขึ้นเป็นวันศุกร์
ซึ่งตามปกติหลังจากที่ส่งลูกสาวไปโรงเรียนแล้วผมจะไปหาอาหารเช้าง่ายๆ
รับประทานแล้วก็ไปนั่งร้านกาแฟ
สั่งกาแฟมาดื่มพร้อมๆ กับนั่งแช่เพื่ออ่านหนังสือเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ
จนเที่ยงวัน รับประทานอาหารเที่ยงแล้ว
บางวันก็ใช้เวลาในช่วงบ่ายไปนวดแผนโบราณสบายๆ
แล้วค่อยกลับเข้ามาทำงานที่คลีนิคในตอนบ่ายแก่ๆ
จนถึงค่ำ แล้วก็ไม่ได้ออกไปไหน
เมื่อเย็นก็มักจะเป็นอาหารง่ายๆ เช่น
ข้าวแกงหรือกับข้าวที่ซื้อมาจากร้านในตลาดเช้าวันนั้นผมนึกอยากจะทดลอง
"ข้อแรก" ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในรายการของโอปราห์แนะนำดูว่า
พอจะทำอะไรได้บ้างหรือไม่ แทนที่จะไปหาอาหารเช้ารับประทาน
ผมก็ขับรถกลับเข้าบ้าน หาอาหารที่มีอยู่ในตู้เย็นมารับประทาน
และเมื่อออกกำลังกายเรียบร้อยแล้วแทนที่จะออกไป
นั่งร้านกาแฟร้านโปรดเหมือนเช่นเคย
ผมก็นั่งทำงานที่บ้าน อ่านหนังสือเขียนหนังสือ
เสิร์ฟกาแฟตัวเองในบ้าน มื้อกลางวันก็ยังคงรับประทานที่บ้าน
บ่ายและเย็นก็ยังคงทำงานในบ้านสลับกับการออกไปเดินรอบๆ
บ้านเป็นครั้งคราว มื้อเย็นซึ่งเป็นมื้อเบาๆ
ผมก็ยังพบว่า มีอาหารที่เก็บไว้ในบ้านยังเหลือพอรับประทาน
ซึ่งผมก็พบว่า อืมมม ที่ผ่านมา ผมเก็บอาหารไว้เยอะมาก
และนึกขึ้นมาได้ว่าหลายครั้งหลายหนที่ผมเก็บอาหารไว้นานจน
ต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดายอย่างไม่น่าเชื่อในวันนั้นก็เลยกลายเป็น
"ครั้งแรกวันแรก" ที่ผมพบว่าผมไม่ได้ควักเงินออกจากกระเป๋า
สตางค์เลยสักบาทเดียวเป็นความรู้สึกที่แปลกดีหลายอย่างครับ
คือแน่นอนว่าปัจจัยหลายอย่างอาจจะเอื้อพอดีว่า
อาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็นมีมากพอ
ไม่ได้มีธุระที่จะต้องเดินทางหรือจะต้องเป็นวันที่จะต้องจ่ายค่าโน่นค่านี่
เป็นวันที่ยังไม่ต้องการซื้อของใช้จำเป็นอะไร
หรืออื่นๆแต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือ
หากว่าเราไม่ได้ทดลองตั้งใจดูว่าจะไม่ใช้เงินเลย
ในวันนั้นผมก็อาจจะยังคงใช้เงินอยู่
อย่างน้อยก็ต้องจ่ายเป็นค่าอาหารเช้า ค่าอาหารกลางวัน
และค่ากาแฟลาเต้แน่ๆเงินที่ผมเหลือเก็บไว้ไม่ได้ใช้ในวันนั้น
อาจจะไม่ใช่เงินจำนวนมากมายอะไร
แต่จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ
การทดลองทำแบบนี้ทำให้ผม "ตื่นรู้"
กับเวลาที่จะต้องใช้เงินมากขึ้นไปจากเดิมมาก
เพราะผมเคยเชื่อว่าตัวเองตื่นรู้ดีในระดับพอสมควรแล้ว
ในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย
เมื่อลองทำแบบนี้ก็ยังพบว่า ที่จริงผมยังมี "จุดบอด"
ในการใช้เงินอีกไม่น้อยเลยจากวันนั้นจนถึงวันที่เขียนบทความนี้
เป็นเวลาสองสัปดาห์พอดี แม้ว่าผมจะยังไม่สามารถทำได้
แบบวันที่ไม่ใช้เงินได้อีก แต่ผมพบว่า "การหาโอกาส"
ที่จะ "ไม่ใช้เงิน" ของผม ทำให้ผมกลับมา "มองเห็น"
วิธีการใช้จ่ายของตัวเองได้มากขึ้นและสนุกสนานไม่น้อย
เพราะตอนเย็นผมก็ได้ลองจดรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละวัน
พบว่ามีอยู่อย่างน้อยสองสามครั้งที่ "เกือบจะ"
ทำได้เหมือนกับเมื่อวันศุกร์ที่ 9 มกราคมอีกยืนยันว่า
การทดลองเรื่องนี้ไม่ใช่ "การตระหนี่"
นะครับแต่เป็นเรื่องที่ทำให้เราได้มองเห็นอะไรบางอย่าง
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในกรณีนี้ก็คือ
ผมพบว่าผมซื้ออาหารเก็บไว้ในตู้เย็นมากเกินไป
และหลายครั้งต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น
การทดลองจากรายการโอปราห์ในครั้งนี้จึงได้
ทำให้ผมกลับมา "รู้ตัว" ที่กระเป๋าสตางค์ของผมได้ดีขึ้นไม่น้อย
และผมคิดว่าการฝึกฝนเช่นนี้ก็น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ
ที่คนไทยกำลังต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้เช่นเดียวกันกระมังครับ
หน้า 6

ภาพ ชัย ราชวัตร

เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม (15) พิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน(วิธีชนะความโกรธ)




คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์
ไต้ ตามทาง
หนังสือพิมพข่าวสด
เรื่อง: เสฐียรพงษ์ วรรณปก

บรรดากิเลสทั้ง 3 คือ ราคะ (โลภะ) โทสะ โมหะ
ท่านว่ามีโทษหนักเบาไม่เท่ากัน ราคะนั้นดูเหมือนว่ามีโทษเบา
แต่ละได้ยาก โทสะมีโทษหนักแต่ละได้ง่าย
ส่วนโมหะมีโทษหนักและละได้ยาก เฉพาะโทสะ
(ความโกรธ ความขุ่นเคือง) นั้น เวลามันเกิดขึ้นจะเอะอะตึงตัง มึงมาพาโวย
เรียกว่าเห็นช้างเท่าหมู ไม่กลัวใคร แต่ก็มักสงบง่าย
เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าความโกรธมีโทษมากแต่ก็ละได้เร็ว
ท่านบอกวิธีเอาชนะความโกรธ 9 วิธี

สำหรับผู้มักขี้ยัวะ ลองฝึกปฏิบัติดูนะครับ ถ้าได้ผลอย่างไรช่วยบอกผมด้วย
จะได้ทำตาม เพราะผมก็ใช่ย่อยเหมือนกัน
ลูกศิษย์บางคนว่า อะไรๆ ก็ดี แต่ดุชะมัดยาดว่าอย่างนั้น
1. ให้นึกถึงผลเสียของคนมักโกรธ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า
คนที่โกรธคนอื่นนับว่าเป็นคนเลวอยู่แล้ว
แต่ใครโกรธตอบเขากลับเป็นคนเลวกว่า
พระองค์ทรงสรรเสริญเมตตา ความรักและความปรารถนาดีต่อกัน
ถ้าเรามัวเป็นคนมักโกรธ ไม่รู้จักเมตตารักใคร่คนอื่นบ้างเลย
จะนับว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร
เวลาเขาโกรธเรามา เราไม่โกรธตอบ นับว่าเป็นผู้เอาชนะใจคนได้
เอาชนะสงครามที่ชนะได้แสนยาก
และยิ่งรู้ว่าเขาโกรธและขุ่นเคืองเรา
เราไม่แสดงอาการโกรธและขุ่นเคืองออกมา
นับว่าได้ทำประโยชน์ทั้งสองฝ่ายคือ
ทั้งแก่ตนเองและแก่คนที่โกรธเรา
(การทะเลาะเบาะแว้งหรือลงไม้ลงมือประหัตประหารกัน
ก็จะไม่เกิดเพราะเราตัดไฟแต่ต้นลม)

2. ให้พิจารณาโทษของความโกรธ คนเราเวลาไม่โกรธก็ดูดี
ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่พอโกรธขึ้นมาก็กลายเป็นคนละคน
หน้าตาจะบูดเบี้ยวแดงก่ำ บางคนมือไม้สั่นยังกับเจ้าเข้า
เต้นแร้งเต้นกา ปากก็กล่าวคำหยาบ
ไม่รู้ไปสรรหาคำด่ามาจากไหน ไม่มีความสง่าสวยงามเหลือแม้แต่นิดเดียว
เรียกว่าเป็นนางฟ้าอยู่หยกๆ ก็กลายเป็นนังยักษ์ขมูขีทันที
หรือถ้าจะให้ชัด เวลาที่เราโกรธ ลองส่องกระจกดูก็แล้วกัน
ใบหน้าที่สวยงามยิ้มแย้มแจ่มใสมีเสน่ห์น่ารักนั้นไม่รู้มันหายไปไหน
กลายเป็นหน้ายักษ์หน้ามาร น่าเกลียดน่าชัง
เมื่อพิจารณาเห็นความน่าเกลียดน่ากลัวของตนเองอย่างนี้แล้ว
ความโกรธที่มีมาก็อาจหายไปได้

3. นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ เวลาเราโกรธใครส่วนมาก
ก็ขุดเอาเรื่องที่ไม่ดีมาด่าว่า ทีนี้ลองพยายามคิดถึงความดีของเขาดูสิ
ว่าเขามีดีอะไรบ้าง เพราะตามธรรมดานั้น
คนเราย่อมมีดีและไม่ดีเหมือนๆ กัน ต่างแต่ว่าใครจะดีมากดีน้อยเท่านั้น
ไม่มีใครดอกที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์หรือชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น ถ้าใครมาทำให้เราโกรธไม่พอใจ
นั่นเป็นจุดที่ไม่ดีของเขา เราก็ไม่ควรมองแต่จุดนั้น
ลองหันไปดูจุดดีของเขาบ้าง เมื่อมองหาจุดดีก็อาจประหลาดใจว่า
แท้ที่จริงแล้วเขามีความดีมากมาย
“เขามีความไม่ดีบ้างก็ช่างเขา.....” อะไรประมาณนั้น
นึกได้อย่างนี้แล้วความโกรธที่มีอยู่ก็อาจหายไปได้

4. ความโกรธทำให้ศัตรูสมใจ นอกจากทำให้ตัวเองทุกข์แล้วยังสาสมใจศัตรูด้วย
เวลาถูกความโกรธครอบงำ จิตใจเรามักร้อนรุ่มยังกับหอบกองไฟลุกโชนไว้ในอก
หาความสุขไม่ได้ ที่สำคัญคือเรากำลังทำตนให้เป็นที่สะใจแก่ศัตรูผู้มุ่งร้ายแก่เรา
โดยที่เขามิได้ลงทุนเลย เราทำให้เขาแท้ๆ คนที่ไม่ชอบเรา
เขามักคิดภาวนาในใจ (พูดให้ชัดคือสาปแช่ง)
ว่า “เจ้าประคุณ ขอให้ไอ้/อี.....มันพินาศฉิบหายในเร็ววันเถิด”
ถ้าเราเป็นคนมักโกรธ ก็เท่ากับเรากระทำการต่างๆ เข้าทางศัตรู
โดยที่เขาไม่ต้องเสียแรงเสียเวลามาทำให้เราเลย
ให้สอนตนเสมอว่า “คนอื่นอยากให้เจ้าโกรธ
จึงแกล้งทำสิ่งไม่ถูกใจให้เจ้า แล้วไฉนเจ้าจึงช่วยให้เขาสมปรารถนา
ด้วยการปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นเล่า”
“เวลาเจ้าโกรธขึ้นมาแล้ว เจ้าก็ไม่สามารถทำทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่เขา
มิหนำซ้ำเจ้าได้ทำร้ายตัวเองเข้าแล้ว ด้วยความทุกข์เพราะความโกรธนั้น”

5. พิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน
ให้คิดว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน
ต่างได้รับผลแห่งกรรมที่ตนทำ เราโกรธเขา
แสดงว่าเราได้ทำอกุศลคือกรรมชั่ว ซึ่งกรรมชั่วที่เราทำลงไปมันก็จะมีผลร้าย
ก่อความเสียหายขึ้น เราก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น
ดุจเอามือทั้งสองกอบถ่านที่ลุกโซน มือทั้งสองของเราก็ไหม้เอง
หรือดุจเอามือกอบอุจจาระไปโปะคนอื่น ตัวเองนั้นแหละย่อมเปรอะอุจจาระก่อน
เมื่อพิจารณาเห็นว่าทุกคนต่างก็มีกรรมเป็นของตนเช่นนี้
ก็จะเห็นในฝ่ายเขาเช่นเดียวกันว่า
ถ้าเขาโกรธก็ได้ทำกรรมไม่ดีและจะได้รับผลแห่งกรรมไม่ดีเช่นเดียวกัน
เมื่อต่างคนต่างมีกรรมเป็นของตน เก็บเกี่ยวผลแห่งกรรมของตนอยู่แล้ว
เรื่องอะไรมามัววุ่นวายโกรธกันอยู่ทำไม ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่กรรมดีมิดีกว่าหรือ


6. พิจารณาพระจริยวัตรของพระพุทธเจ้า พระจริยวัตรของพระพุทธเจ้า
ไม่ว่าพิจารณาจากช่วงไหน ก็จะเห็นชัดเหมือนกันว่า
พระองค์ทรงมีเมตตา ไม่โกรธใคร ขณะทรงบำเพ็ญบารมี
เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็ทรงเอาความดีชนะความชั่วตลอดมา
แม้จะถูกกลั่นแกล้งโดยผู้ไม่ปรารถนาดีก็ไม่ถือโทษ
ดังเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นภูริทัต จะถูกศัตรูทรมานอย่างไรก็ไม่โกรธ
ไม่ทำร้ายตอบ ทั้งๆ ที่อยู่ในฐานะจะทำได้
เมื่อพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ถูกเทวทัตจองล้างจองผลาญต่างๆ นานา
ขนาดกลิ้งก้อนหินหมายประหารชีวิตพระองค์
แต่ก้อนหินปะทะง่อนผา สะเก็ดหินกระเด็นไปต้องพระบาท
ได้รับทุกขเวทนาอย่างกล้า
อีกครั้งหนึ่งสั่งให้ปล่อยช้างตกมันเพื่อทำร้ายพระพุทธองค์ถึงแก่ชีวิต
ขณะเสด็จออกโปรดสัตว์ในเมือง พระองค์ก็ไม่ทรงถือสา
กลับมีเมตตาต่อเทวทัตผู้มุ่งร้ายพระองค์สารพัด
บางครั้งถูกอันธพาลที่ได้รับจ้างจากผู้มุ่งร้ายพระองค์ตามด่าตลอดเจ็ดวัน
พระองค์ก็ทรงสงบนิ่ง แผ่เมตตาจิตให้พวกเขา ไม่ทรงโกรธตอบ
จนพระอานนท์ทูลให้เสด็จไปที่อื่นที่ไม่มีคนด่าพระองค์ตรัสสอนพระอานนท์ว่า
ถ้าจะแก้ปัญหาโดยการหนี ก็คงหนีไปไม่มีที่สุด
เพราะคนส่วนมากทุศีล ที่ถูกคือให้อดทนต่อคำล่วงเกินด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา
เมื่อพิจารณาถึงพระจริยวัตรของพระพุทธเจ้าอย่างนี้แล้ว
ได้เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงเผชิญเรื่องที่เลวร้ายกว่าเรา
พระองค์ยังทนได้ เมื่อเราปฏิญาณว่าเป็นสาวกของพระองค์
ไฉนไม่ดำเนินตามรอยยุคลบาทเล่า เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว
ความโกรธอาจหายไปได้

7. พิจารณาความเกี่ยวพันกันในสังสารวัฏ
นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะดับความโกรธได้ คือ
ให้คิดว่าโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่เคยเป็นญาติพี่น้องกันมาก่อน
หากใครมาทำให้ท่านเกิดความโกรธก็ให้พิจารณาว่า
คนคนนี้อาจเคยเป็นบิดามารดาเรามาก่อนในชาติใดชาติหนึ่งที่ล่วงมาแล้วก็ได้
หรืออาจเป็นแฟนเป็นกิ๊กที่เรารักสุดชีวิตมาก่อนก็เป็นได้
แล้วเรื่องอะไรเราจะมาโกรธพ่อเรา แม่เรา หรือคนรักของเรา
ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วความโกรธที่มีก็อาจสงบได้

8. พิจารณาอานิสงส์ของเมตตา ความโกรธเป็นปฏิปักษ์ของเมตตา
ขณะใดความโกรธเกิดขึ้น ลองหันมาพิจารณาถึงคุณประโยชน์ของเมตตาดูสิว่า
เมตตาความรักความปรารถนาดีต่อกันนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามอย่างไร
เมื่อพิจารณาถึงความดีงามของเมตตา ก็อาจระงับความโกรธได้
ความดีงามหรืออานิสงส์ของเมตตา
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า มี 11 ประการ คือ
1. คนที่มีเมตตานอนหลับก็เป็นสุข
2. ตื่นขึ้นมาก็เป็นสุข คือหน้าตาสดใสเบิกบาน
3. ไม่ฝันร้าย
4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ใครเห็นใครก็รัก มีเสน่ห์
5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย อย่าว่าแต่มนุษย์ด้วยกัน
ภูตผีเทวดาก็รัก คนมีเมตตาผีไม่หลอกหลอน
แทนที่จะหลอกหลอนกลับให้อารักขา อยู่อย่างปลอดภัยเสียอีก
6. เทวดาอารักขา
7. ปลอดภัยจากอัคคีภัย ยาพิษ และศาสตราวุธ
8. จิตเป็นสมาธิได้เร็ว
9. สีหน้าผ่องใสเบิกบาน
10. ถึงคราวตายก็ตายอย่างมีสติ
11. ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมสูงกว่า ตายไปก็เข้าถึงพรหมโลกแน่นอน
ถ้าอยากมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ก็พึงพยายามเป็นคนไม่โกรธ
หัดเป็นคนมีเมตตาเป็นธรรมประจำใจให้ได้

9. ให้แยกธาตุ วิธีแยกธาตุนี้เป็นวิธีที่ได้ผลชะงัดนัก
เพราะตราบใดเรายังมองเป็นกลุ่มเป็นก้อน
เป็นตัวเป็นคนเป็นนายนั่นนางนี่อยู่ ความโกรธก็เกิดขึ้นได้
แต่ถ้าเราแยกธาตุเสีย ทั้งธาตุเขาและธาตุเรานั้นแหละ
ความโกรธก็อาจหายไป เพราะไม่รู้ว่าจะไปโกรธส่วนไหน
เพราะแต่ละส่วนก็ไม่ใช่ตัวตน
หากเป็นเพียงธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟแค่นั้นเอง ขันธ์ 5
(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แค่นั้นเอง
เช่น เพราะคิดว่านายแมวมันด่ากูจึงโกรธ แต่ถ้าคิดแยกธาตุเสียว่า
ส่วนไหนเป็นนายแมว รูปหรือ เวทนาหรือ สัญญาหรือ วิญญาณหรือ
ดินหรือน้ำหรือ ไฟหรือ ลมหรือ ก็เปล่าทั้งเพ
มันเป็นเพียงแค่ธาตุสี่ ขันธ์ 5 เท่านั้นเอง
นายแมวนายหมูอะไรหามีไม่ เมื่อไม่มีนายแมวนายหมู
คำด่ามันจะมีได้อย่างไร เมื่อไม่มีคำด่าแล้วจะโกรธทำไม
ในทำนองเดียวกัน ที่เรียกว่า “กู” ก็เพียงประชุมแห่งธาตุสี่ ขันธ์ 5 เท่านั้นเอง
เมื่อแยกส่วนจนหมดแล้ว ก็ไม่มี “กู” ที่ไหนแล้วเราจะโกรธอยู่ทำไม

พูดถึงตอนนี้ นึกถึงหลวงพ่อคูณสมัยท่านยังไม่ดังเปรี้ยงปร้างอย่างสมัยนี้
หลวงพ่อท่านเดินทางไปกับศิษย์สองสามรูป
ผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ญาติโยมก็ยกมือไหว้
นั่งยองๆ แล้วถามว่า “หลวงพ่อไปไหนมาคร้าบ"หลวงพ่อคูณก็เดินเฉย
ไปได้อีกหน่อยโยมคนหนึ่งก็ถามอีกว่า “หลวงพ่อไปไหนมาคะ”
หลวงพ่อก็เฉยเช่นเดียวกัน จนลูกศิษย์ถามว่า
“หลวงพ่อ โยมถาม ทำไมไม่ตอบ” หลวงพ่อพูดว่า
“กูไม่มา แม่มันจะถามใครหว่า”
(ถ้ากูไม่มาเสียแล้ว จะถามใครเล่า)
เออจริงสินะ ถ้าไม่มีกู แล้วคำถามมันจะมีได้อย่างไร
ก็ให้คิดเสียว่า กูไม่มาก็แล้วกัน
คำถามจะได้ไม่มี
เวลาโกรธใครสักคนก็ให้พิจารณาแยกธาตุดังว่ามาข้างต้นนั้น
ความโกรธอาจหายไปได้
ถ้าลองทั้ง 9 วิธีแล้วยังไม่หาย
ก็ตัวใครตัวมันละครับ
หน้า 29

"จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ"

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม (16) อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สำคัญหรือไม่



คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
(เรื่อง & ภาพ)
วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552


คอลัมน์นี้ขีดวงไว้ว่าให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องกรรม
เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจชัดขึ้นว่า กรรม
ในความหมายของพระพุทธศาสนานั้นคืออย่างไร
เชื่ออย่างไรจึงจะนับว่าไม่ผิดหลักพระพุทธศาสนา
ก็ได้เขียนมาหลายตอนแล้ว วนไปวนมาอยู่นั่นแล้ว
เพราะว่าที่จริงแล้ว เรื่องของกรรมมันมีนิดเดียวเท่านั้นเอง
เขียนครั้งสองครั้งก็หมดเนื้อหา แต่ถ้าจะให้ "บรรเลง" ต่อไปไม่รู้จบ
แบบนวนิยาย 300 ตอนจบ ก็เห็นจะต้องประยุกต์
หรือขยาย ตลอดจน "ใส่ไข่" ให้มากๆ อย่างนี้ละก็ได้
มีผู้ไปเรียนถามท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
พระเถระนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาว่า
การเชื่อในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ถูกต้องหรือไม่ท่านเจ้าคุณตอบว่า
"ถ้าเชื่อแล้วไม่ให้เสียหลักกรรมก็ใช้ได้"ท่านอธิบายว่า
ในขณะที่เราเชื่อเรื่องลึกลับมหัศจรรย์ หรือเรื่องเหนือสามัญวิสัยของคนทั่วไป
เช่น เชื่อภูตผีวิญญาณ เชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
เราไม่เพียงแต่เชื่อแล้วบวงสรวงอ้อนวอนขอให้สิ่งเหล่านั้นช่วยอย่างเดียว
แต่เรากระทำด้วย ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เสียหลักกรรม
นับว่าใช้ได้อยู่ขอยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ในสังคมไทยเรานี้แหละ
คนมักเชื่อเรื่องเทวดา ที่มากที่สุดก็คือ พระภูมิเจ้าที่ เวลาสร้างบ้านใหม่
ก็จะตั้งศาลพระภูมิแล้วก็เอาของไปเซ่นไหว้
จุดธูปบูชาเป็นประจำดูเหมือนแทบไม่ค่อยมีบ้านไหนที่ไม่ตั้งศาลพระภูมิ
(มีเหมือนกัน แต่มีน้อย บ้านผมก็ไม่ตั้ง)
คนที่เชื่อเรื่องพระภูมิเจ้าที่มีอยู่ 2 ประเภท คือ
1.ประเภทที่หนึ่ง เชื่อว่าพระภูมิมีอิทธานุภาพบันดาลอะไรทุกอย่างให้เราได้
จึงเฝ้าอ้อนวอนขอพรขอโชคจากพระภูมิมิได้ขาด
ทำอะไรสำเร็จ ก็ยกให้ว่าเพราะพระภูมิท่านบันดาลให้
หรือประสบความขัดข้องอะไรบางอย่างก็คิดว่า
เพราะตนเองล่วงเกินพระภูมิเจ้าที่ หรือไม่เอาใจใส่ท่านเท่าที่ควร
ท่านจึงทำโทษเอา

2.ประเภทที่สองนี้ คือเชื่อว่าพระภูมิเจ้าที่ก็มีจริง
อาจมีส่วนในการบันดาลอะไรให้คนผู้เซ่นไหว้บ้าง
หรืออย่างน้อยก็เป็น "กำลังใจ" ให้ผู้ที่กราบไหว้
แต่ความเจริญหรือเสื่อม ความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิตของแต่ละคนนั้น
เนื่องมาจากการกระทำเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าคนประเภทที่สองนี้
ไม่ปฏิเสธพระภูมิเจ้าที่
แต่ถือพระภูมิเจ้าที่เป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งของชีวิตเท่านั้น
ไม่ใช่ "ทั้งหมด" ของชีวิตคนที่เชื่อพระภูมิเจ้า
ที่ประเภทหลังนี้แหละที่ท่านว่า "ไม่เสียหลักกรรม"
คือให้ความสำคัญแก่การกระทำ
การสร้างสรรค์ของคนมากกว่าการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์
ภายนอกคนประเภทแรกเป็นพวก"คอยโชคชะตา"
หรือ "ปล่อยไปตามดวง"
คนประเภทหลังเป็นพวก "ลิขิตชีวิตตนเอง"
พฤติกรรมที่แสดงออกมาของคนสองประเภทนี้จะต่างกัน
ประเภทแรกจะเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ค่อยกระตือรือร้น
ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง เพราะอะไรๆ ก็หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมด
ประเภทที่สองจะเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง ขยันขันแข็ง
ไม่งอมืองอเท้าขอยกนิทานชาดกเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม
พระราชาสองพระองค์ทำศึกสงครามกัน ยังไม่มีใครแพ้ใครชนะรบกันเหนื่อยแล้ว
ก็พักรบแล้วก็รบกันต่ออยู่อย่างนี้มานานนับปี
วันหนึ่ง ฤๅษีผู้มีอภิญญาตนหนึ่งไปพบพระอินทร์
ฤๅษีถามพระอินทร์ว่า รู้ข่าวพระราชาสองพระองค์รบกันไหม
พระอินทร์ตอบว่า มีอะไรบ้างล่ะที่โยมไม่รู้
เครือข่ายดาวเทียมของโยมก็กว้างไกล สื่อต่างๆ ก็มีครบ
ทำไมจะไม่รู้ ไม่แค่นั้นนะ โยมรู้กระทั่งว่า
ในที่สุดพระราชาองค์ไหนจะชนะ"องค์ไหน"
หลวงพ่อฤๅษีอยากรู้บ้าง"ก็องค์ที่ครองเมืองทางตะวันออกนั่นแหละจะชนะ"
ฤๅษีได้บอกเรื่องนั้นแก่ศิษย์ผู้ใกล้ชิด
แล้วข่าวก็แพร่ไปถึงพระกรรณของพระราชาทั้งสองพระองค์
องค์ที่ได้รับการทำนายว่าจะรบชนะก็ดีใจ
เฉลิมฉลองชัยชนะล่วงหน้ากันเอิกเกริก
ฝ่ายพระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ ก็เสียใจพักหนึ่ง
แต่ก็คิดได้ว่า คนเราเกิดมามีสองมือสองเท้า มีมันสมองเหมือนกัน
เราต้องคิดหาทางเอาชนะให้ได้ คิดดังนี้แล้วก็ไม่ประมาท
คอยฝึกปรือนักรบของตนให้ชำนิชำนาญการรบยิ่งขึ้น
ให้กำลังใจแก่กองทัพ วางแผนเพื่อการต่อสู้ครั้งต่อไปอย่างรัดกุม
เมื่อถึงคราวประจัญบานกันจริงๆ กองทัพของพระราชาที่ถูกทำนายว่า
จะแพ้กลับชนะ ตีกองทัพของพระราชาอีกองค์แตกกระจุย
พระราชาผู้ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ ก็มาต่อว่าฤๅษี
หาว่าทำนายทายทักส่งเดช ไม่รู้จริงแล้วก็อุตริทายผิดๆ
ไหนว่าข้าพเจ้าจะชนะไง ทำไมมันถึงแพ้เขาย่อยยับอย่างนี้
ฤๅษีก็หน้าแตกไปตามระเบียบ
ไปต่อว่าพระอินทร์หาว่าเป็นต้นเหตุให้แกหน้าแตก
พระอินทร์ตอบว่า ที่ทายนั้นไม่ผิดดอก
ถ้าหากว่าพระราชาสองพระองค์นั้นปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
เมื่อรบกัน องค์ที่โยมว่าจะชนะนั้นต้องชนะแน่
แต่บังเอิญว่า องค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้
พยายามอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงกองทัพของตนด้วยความไม่ประมาท
ในขณะที่อีกองค์มัวแต่เลี้ยงฉลองกันอยู่
เรื่องมันจึงกลับตาลปัตรพระอินทร์พูดเชิงสอนฤๅษีว่า
ทุกอย่างย่อมสำเร็จได้ด้วยความเพียร
คนที่พากเพียรพยายามอย่างสูงสุด เทวดาก็รั้งเขาไว้ไม่ได้
นิทานก็คือนิทาน แต่สาระของนิทานมันมี
ต้องอ่านไปคิดไปจึงจะรู้ว่า "สาระ" อยู่ที่ไหนในเรื่องนี้ท่านเน้นว่า
อำนาจการกระทำด้วยความพากเพียรพยายามนั้นอยู่เหนือ
การดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือสามัญวิสัยใดๆ
ยิ่งถ้าเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดแล้ว
แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้การกระทำด้วยความพากเพียรพยายามนี้แหละ
พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ "กรรม" นั้นเองเราจะเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
เรื่องลึกลับอะไรก็เชื่อได้ แต่เชื่อแล้วอย่างอมืองอเท้า นั่งรอนอนรอ
หรือสวดอ้อนวอนให้สิ่งเหล่านั้นช่วยเราอย่างเดียว
เชื่อแล้วต้องทำสิ่งที่ควรทำอย่างเต็มความสามารถด้วย
โดยเอาความเชื่อนั้นเป็นแรงบันดาลใจ เชื่ออย่างนี้ไม่ผิด
ไม่เสียหายอะไรยกตัวอย่าง เช่น นักมวยแชมป์โลกคนหนึ่ง
เขานับถืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระเครื่องสมเด็จฯโตมาก
ก่อนจะขึ้นชกทุกครั้งเขาจะไหว้สมเด็จฯโต ขอพรสมเด็จฯโต
ขอให้เขาชกชนะ และเขาก็ชนะคู่ต่อสู้เรื่อยมา
รักษาเข็มขัดแชมป์ไว้ได้นานเป็นประวัติการณ์
เขาเชื่อมั่นในอภินิหารของสมเด็จฯโต
แต่ขณะเดียวกัน เขามิได้อยู่เฉยๆ เขาขยันฝึกซ้อมมิได้ขาด
จะชกกับใครก็มิได้ประมาท ศึกษาจุดด้อยจุดเด่นของคู่ต่อสู้ชกอย่างใช้มันสมอง
แล้วเขาก็ประสบชัยชนะเรื่อยมาถามว่า
แชมป์โลกคนนี้สามารถรักษาแชมป์ไว้ได้ยาวนาน
เพราะอภินิหารของสมเด็จฯโต หรือว่าเพราะ "กรรม" (การกระทำ) ของเขา
ตอบว่า เพราะทั้งสองอย่างนั้นแหละ
แต่ปัจจัยใหญ่อยู่ที่การกระทำของเขาเอง
อภินิหารของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกนั้นเป็นเพียงปัจจัยสนับสนุน
ความเชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของนักมวยคนนี้ ไม่เสียหลักกรรม
(อย่างที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกว่า) เป็นเรื่องดี มิได้เสียหายอะไร
ส่วนคนอื่น ใครจะเชื่ออะไรนั้นก็เชื่อไปเถิด
ขอให้ปฏิบัติต่อความเชื่อนั้นตามแนวของหลักกรรมก็เป็นอันว่าใช้ได้
หน้า 6

Jan 28, 2009

เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม (5) กรรมเหนือหมอดู


คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
17/09/2006

ผมเป็นศิษย์โหร แต่มิได้เป็นโหร

หลวงพ่อเจ้าคุณพระภัทรมุนี หรือมหาอิ๋น
เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ธนบุรี (สมัยนั้น)
เป็นโหราจารย์ชั้นยอด

สมัยนั้นมีโหราจารย์ที่ดังอยู่เพียงสองท่านเท่านั้น คือ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ)
ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช อีกรูปหนึ่งคือพระภัทรมุนี
แต่โหรสมัยก่อนเขามิได้ทายส่งเดช อย่างหลวงพ่อเจ้าคุณพระภัทรมุนี
ท่านเป็นที่ปรึกษาทางจิตใจให้แก่ศิษย์มากกว่าเป็นหมอดู
เรื่องประเภทไหนควรทาย ไม่ควรทายท่านมี "จรรยาบรรณ"
บางทีกว่าจะทายได้สักราย ท่านคำนวณแล้วคำนวณอีกถึงสองสามวันก็มี
ไม่แน่ใจท่านก็ไม่ทาย

มีเรื่องเล่าว่า หนุ่มสาวคู่หนึ่งจูงมือมาให้หลวงพ่อกำหนดวันแต่งงานให้
ท่านดูๆแล้ว บอกว่าท่านไม่สามารถให้ฤกษ์ได้
ขอให้ไปหาสมเด็จฯวัดสระเกศ สองคนก็ไปหาสมเด็จฯ และก็ได้ฤกษ์ไป
มีผู้ถามสมเด็จฯภายหลังว่า ทำไมเจ้าคุณอิ๋นไม่ให้ฤกษ์
สมเด็จฯบอกว่า "เจ้าคุณท่านดูแล้วสองคนนี้จะอยู่ด้วยกันไม่ตลอด
แต่อาตมาถือว่า เขาเป็นคู่กันต้องได้แต่งงานกัน
ส่วนต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงให้ฤกษ์แต่งไป"
ถูกทั้งสองรูป

รูปหนึ่งมองว่าถ้าจะแต่งงานกันก็ควรไปได้ตลอด
อีกรูปหนึ่งมองว่า ดวงมันเป็นคู่กันก็ต้องได้แต่งงานกัน
ส่วนจากนั้นไป จะอยู่ด้วยกันยืดหรือไม่ เป็นเรื่องของทั้งสองคน แล้วแต่จะมอง
เมื่อผมสอบเปรียญเก้าประโยคได้แล้ว
หลวงพ่อพยายามชักจูงให้ผมเรียนโหราศาสตร์
ผมก็ยืนยันว่า ไม่อยากเป็น "หมอดู"
หลวงพ่อบอกว่าโหร มิใช่หมอดู
เราศึกษาโหราศาสตร์ให้เชี่ยวชาญ

เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต ไม่จำเป็นต้องพยากรณ์ใคร
คล้ายจะบอกว่า โหราศาสตร์ กับพยากรณ์ศาสตร์แยกกันได้
แต่ผมก็เห็นโหรส่วนมากท่านก็พยากรณ์ทั้งนั้น

ผมแย้งว่าพระพุทธเจ้าท่านตำหนิเป็น "ติรัจฉานวิชชา" มิใช่หรือ
ท่านตอบว่า ถ้าเอาคำจำกัดความว่า ติรัจฉานวิชชาคือ
วิชชาที่ขวางต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
เณรเรียนนักธรรมบาลี ก็เข้าเกณฑ์นี้ทั้งนั้น
ผมจำนนท่าน แต่ผมก็ไม่ยอมเรียนอยู่ดี
ไม่งั้นป่านนี้เป็นหมอดูแม่นๆ ไปแล้ว
หลวงพ่อเล่าว่า ปราชญ์โบราณท่านเรียนโหราศาสตร์ทั้งนั้น
สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4
สมเด็จมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นต้น
ก็ทรงเชี่ยวชาญโหราศาสตร์ทั้งนั้น
แต่ก็ไม่เห็นท่านใช้โหราศาสตร์พยากรณ์ใครเป็นอาชีพ
แล้วท่านก็เล่าเรื่องที่ต่างๆ ให้ผมฟังแล้วก็ตื่นเต้นด้วยความดีใจ
ที่ได้รับรู้เรื่องราวเก่าๆ ชนิดจะไปหาอ่านที่ไหนไม่ได้
ก่อนทรงศึกษาโหราศาสตร์นั้น พระวิชรญาณ
(สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4)
ทรงได้รับพยากรณ์จากหลวงตาเฒ่ารูปหนึ่งดูเหมือนชื่อ
ทอง แห่งวัดตะเคียนว่า
จะได้ราชสมบัติแน่นอน รับสั่งว่าให้เป็นจริงเถอะ
จะสมนาคุณอย่างงามเลย แล้วในที่สุดก็ทรงได้ขึ้นครองราชย์จริงๆ
ทรงรำลึกถึงหลวงตาเฒ่าวัดตะเคียนขึ้นมา ตั้งพระทัยจะไปนมัสการ
ก็ทรงทราบว่า หลวงตาเฒ่ามรณภาพไปนานแล้ว
จึงทรงปฏิสังขรณ์เป็นการบูชาคุณหลวงตาเฒ่าแล้ว
พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดมหาพฤฒาราม (แปลว่า วัดที่สร้างถวายพระผู้เฒ่า)
เมื่อทรงเชี่ยวชาญในโหราศาสตร์แล้ว
ก็มิได้ทรงใช้วิชาโหราศาสตร์ทำนายทายทักอะไร
นอกจากทรงวิพากษ์วิจารณ์ดวงพระชาตาของพระราชโอรสบางองค์
ดังทรงวิจารณ์ดวงพระชาตากรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ที่โหรทั้งหลายว่าเป็นดวงแตก เอาดีไม่ได้ ว่าถ้าถอดดวงให้ละเอียดแล้ว
กลับเป็นดวงดีอย่างยิ่งเป็นต้น
และทรงสามารถใช้โหราศาสตร์แก่เคล็ดได้อีกด้วย
ดังทรงเห็นว่าดวงพระชาตาพระอนุชาธิราชแข็งมาก
จะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เมื่อถูกอัญเชิญลาสิกขาเพื่อไปครองราชย์
พระองค์จึงทรงสถาปนาพระอนุชาธิราชให้เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่า
พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ากันว่าทรงแก้เคล็ดทางโหราศาสตร์
สองสามวันมานี้มีข่าวโหร หรือหมอดูแม่นชื่อ หมอดูอีที (ขอประทานโทษถ้าฟังมาผิด)
เป็นชาวพม่า ทำนายดวงนักการเมืองดังๆ มามาก
หลายท่านก็ว่าทำนายได้แม่นยำ
อย่างป๋าเหนาะท่านว่า ท่านเองก็เคยให้หมอดูอีทีทำนาย แม่นมาก
"ขนาดเงินกระเป๋าผม ยังทายได้เลยว่า มีใบพัน ใบห้าร้อย
ใบร้อยกี่ใบๆ และแต่ละใบเลขอะไร"
แล้วท่านเล่าต่อ หมอเขาก็เตือนว่า
ระวังจะถูกหลักหลัง ดวงทำบุญคนไม่ขึ้น
หมอยังบอกว่าใครควรคบไม่ควรคบ
ถึงตรงนี้เสียงนักข่าวแทรกขึ้นว่า
"แล้วหมอบอกหรือเปล่าว่าคนหน้าเหลี่ยมไม่ให้คบ"
ป๋าท่านก็บอกว่าไม่เอาแล้วๆ อย่าถามมาก อะไรประมาณนั้น
หมอดูที่ทายแม่นยังกับตาเห็น มีมาทุกยุคทุกสมัย
แต่ส่วนมากทายอดีตและปัจจุบันค่อนข้างแม่น
แต่ทายอนาคตไม่ค่อยแม่น นานๆ จะทายอดีตค่อนแม่นยำ

ดังกรณีซินแส มองหน้าพระหนุ่มสองรูปกำลังเดินบิณฑบาตอยู่
แล้วก็หัวเราะชอบใจ พระหนุ่มสองรูปถามว่า หัวเราะอะไร ซินแสตอบว่า
"ลื้อสองคงนี้จะได้เป็นพระเจ้าแผ่งลิง (แผ่นดิน)"
แล้วก็หัวเราะเห็นฟันเหลือง
คราวนี้ พระคุณเจ้าทั้งสองรูปหัวเราะบ้าง
ดังกว่าเสียงของซินแส ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้อย่างไร
สองคนเป็นพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน!
ถ้าซินแสแกมีอายุยืนยาวจนได้เห็นว่าอดีตพระหนุ่มสองรูปนั้น
ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจริง คือ พระสินได้เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระทองด้วงได้เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
แกก็คงหัวร่อชอบใจที่แกพยากรณ์แม่นจริงๆ
ทำไมการพยากรณ์อดีตจึงแม่น พยากรณ์อนาคตไม่แม่น
ตอบง่ายนิดเดียว เพราะชีวิตคนมิได้ขึ้นอยู่กับโหราศาสตร์เป็นเงื่อนไขอย่างเดียว
มันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยอีกมากมาย
อดีตนั้น "นิ่ง" แล้ว ไม่มีเงื่อนไขอะไรมาผลักดันให้เป็นอื่นได้
เพราะฉะนั้น การทำนายทายทักจึงมักจะตรง
แต่ปัจจุบันและอนาคต มันยังเคลื่อนไหวเพราะเหตุปัจจัยอีกหลายอย่าง ยังไม่นิ่ง
เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ "กรรม" (การกระทำ) ของคนๆ นั้นเอง
เขาทำทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดีคละกันไป
สิ่งเหล่านี้แหละมีแนวโน้มจะให้ผลในอนาคต ไม่ว่าดี หรือไม่ดี
พูดอีกนัยหนึ่ง เราเป็นผู้กำหนดอนาคตเราเอง
ถ้าต้องการให้ชีวิตเป็นไปอย่างใด
ก็ต้องสร้างเงื่อนไขที่ดีๆ ไว้ให้มาก
แล้วอนาคตจะไปดีเอง
ตรงข้ามถ้าสร้างแต่เงื่อนไขไม่ดี
อนาคตก็เป็นไปตามนั้น
ลองฟังนิทานชาดกนี้ดู
พระราชาสองเมืองทำสงครามกัน ผัดกันแพ้ผลัดกันชนะ
ถึงฤดูฝนก็หยุดพักสิ้นฤดูฝนก็รบใหม่ เป็นอย่างนี้มานาน
จนมีคนไปถามฤๅษีว่า พระราชาองค์ไหนจะชนะ
ฤๅษีก็ไปถามพระอินทร์อีกต่อ
พระอินทร์บอกว่าพระราชาเมือง ก.จะชนะ เมือง ข.จะพ่ายแพ้
ข่าวนี้ก็ไปเข้าพระกรรณของพระราชาทั้งสององค์ที่ได้รับคำ
ทำนายว่าจะชนะ ก็ดีใจ ประมาท เลี้ยงฉลองกันมโหฬารตั้งแต่ยังไม่รบ
ไม่ฝึกปรือกองทัพให้พร้อม สบายใจว่าจะชนะแน่
ส่วนพระราชาที่หมอทำนายว่าจะแพ้ ก็ไม่ยอมถอดใจ
ตั้งหน้าตั้งตาฝึกปรือกองทัพอย่างเข้มงวด
วางแผนรุกแผนรับไว้อย่างพร้อมสรรพ
เมื่อถึงคราวรบจริง เรื่องก็กลับตาลปัตร
ฝ่ายที่ว่าจะชนะ ก็ถูกตีกระจุย ฝ่ายที่ว่าจะแพ้ ก็กำชัยชนะไว้ได้
พระราชาองค์ที่ฤๅษีว่าจะชนะ จึงไปต่อว่าฤๅษีหาว่าทำนายส่งเดช
ฤๅษีก็หน้าแตกไปตามระเบียบ จึงไปต่อว่าพระอินทร์หาว่าทายซี้ซั้ว
ทำให้แกผู้นำคำทำนายไปเผยแพร่เสียหน้า
พระอินทร์กล่าวว่า
"ไม่ผิดดอก ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของมัน
พระราชา ก.จะชนะแน่นอน แต่บังเอิญว่ามีเงื่อนไขใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ
ความพากเพียรพยายามฝึกฝนฝึกปรือกองทัพของพระราชาเมือง ข.
การณ์จึงกลายเป็นตรงกันข้าม"
แล้วพระอินทร์จึงกล่าวปรัชญาว่า
"คนที่พยายามจนถึงที่สุดแล้ว แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้"
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของเหลียวฝาน ที่มิสโจ แปลไว้ในหนังสือ
โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน ที่พิมพ์เผยแพร่มาหลายครั้งแล้ว
เหลี่ยวฝานเดิมชื่อเสวียห่าย ได้พบผู้เฒ่าข่ง
ผู้เฒ่าทำนายว่าจะได้เป็นขุนนาง ปีไหนจะเป็นอย่างไรบอกไว้หมด
และว่าท่านเหลี่ยวฝานจะไม่มีบุตร และจะตายเมื่ออายุได้ 53 ปี
คำพยากรณ์ของท่านผู้เฒ่า แม่นยำมาตลอด
จนท่านคิดว่าชะตาชีวิตคนเราถูกฟ้าดินกำหนดมาแล้ว
ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เลยไม่คิดที่จะขวนขวายพยายามต่อไป
ปล่อยให้เป็นไปตามฟ้าลิขิต ต่อมาท่านได้พบพระเถระนาม ฮวิ๋นกุ
ท่านได้สอนว่า ชะตาชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อนาคตเราต้องสร้างเอง
คนทำดีชะตาก็ดี ทำชั่วชะตาก็ชั่ว
เมื่อต้องการอนาคตดี ต้องทำดี ถ้าประกอบแต่ความไม่ดี
แม้ชีวิตดีมาแล้วก็กลายเป็นร้ายได้
เหลี่ยวฝานได้เล่าคำทำนายของท่านผู้เฒ่าให้พระเถระฟัง
ว่าที่ท่านทำนายไว้ถูกต้องแม่นยำมาตลอด
ยังเหลือแต่สองข้อสุดท้าย คือจะไม่มีบุตร และสิ้นชีวิตเมื่ออายุ 50
พระเถระกล่าวว่า ให้ตั้งปณิธานว่าจะทำดีให้มาก สั่งสมบารมีให้มาก
ไม่ยอมตนอยู่ในอิทธิพลของคำพยากรณ์ต่อไป
บุญกุศลใดที่ทำด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ แม้กระทำครั้งเดียว
ก็เท่ากับกระทำหมื่นครั้งทีเดียว
ท่านก็เชื่อพระเถระ ตั้งหน้าทำแต่ความดีงาม
สำรวจความดีความชั่วของตนเองว่า
วันหนึ่งๆทำความชั่วอะไรบ้าง ความดีอะไรบ้าง
แล้วพยายามลบความชั่วด้วยความดีเรื่อยๆ
จนมีความดีเพิ่มมากขึ้น แล้วท่านก็ชนะชะตาชีวิต
คือได้บุตรชายคนหนึ่ง เมื่อถึงอายุ 50 ปี
ก็มิได้ตายดังคำทำนายของผู้เฒ่าข่ง
อยู่มาถึงอายุ 69 ปี
ท่านจึงแน่ใจว่า คนเราถ้าไม่ขวนขวายพยายาม
ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของฟ้าดิน
แต่กรรมเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดอย่างแท้จริง
นั่นคือเราต้องสร้างอนาคตของเราเอง
คนที่พยายามพึ่งตัวเองด้วยการกระทำแต่ความดีถึงที่สุดแล้ว
ย่อมอยู่เหนือโชคชะตา
ถ้าใครคิดว่าชีวิตถูกลิขิตมาอย่างใดก็ย่อมเป็นอย่างนั้น
แก้ไขไม่ได้เลย ผู้นั้นถึงจะเป็นคนคงแก่เรียนเพียงใด
ก็นับว่าโง่อยู่นั้นเอง


สนามหลวง



ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
หนุ่มเมืองจันท์
มติชน
12 สิงหาคม 2548

ตอนงาน HAPPY BOOK DAY
ตะลอนทัวร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผมนั่งคุยกับ พี่วาณิช จรุงกิจอนันต์ พี่นิวัติ กองเพียร
และ "ก้า" อริณธรณ์ นักเขียนและหัวหน้าวงบาสเก็ตแบนด์
ที่ทำเพลง HAPPY BOOK DAY ให้กับสำนักพิมพ์มติชน
ตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน
"ก้า" เพิ่งพาทีมงานไป "สนามหลวง" ไม่ใช่ "สนามหลวง"
ที่หน้าวัดพระแก้วนะครับ แต่เป็นค่ายเพลงสนามหลวง
บริษัทใหม่ในเครือแกรมมี่ที่จับกลุ่มวงดนตรีแบบ "อินดี้"
"ก้า" พาวงบาสเก็ตแบนด์ไปที่ตึกแกรมมี่
ไปนั่งรออยู่ในห้องใหญ่ห้องหนึ่งระหว่างที่รอ
เขาก็บ่นกับเพื่อนว่าทำไมให้รอห้องใหญ่ขนาดนี้สักพักหนึ่งก็มีคนหน้าตาคุ้นๆ
เดินเข้ามา แล้วก็มานั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ครับ
ทั้งวงตกใจกันทั่ว มองหน้ากันงงๆ ไม่นึกว่าคนที่เขาจะมาเจรจาด้วยคือ "ไพบูลย์"
"บาสเก็ตแบนด์" เป็นวงอินดี้ที่มีเทปออกมาแล้ว 2 ชุด
ในแวดวงกลุ่มแฟ็ตเรดิโอ หรือกลุ่มเพลงอินดี้จะรู้จักเขาดี
แต่ด้วยความดังหรือด้วยปริมาณเทปที่ขายได้ "ไพบูลย์"
ไม่น่าจะเสียเวลามาเจรจากับ "บาสเก็ตแบนด์"
อึกอักไม่รู้จะคุยอะไรอยู่พักใหญ่
ก่อนจะเริ่มสนทนากันเรื่องระบบธุรกิจ เป็นระบบธุรกิจแบบใหม่
ไม่ต้องเซ็นสัญญาอยู่ในสังกัดให้อึดอัดทำเดโมเทปเพลงเอง
อยากแต่งอยากร้องอย่างไร...ทำ "แกรมมี่"
จะรับผิดชอบด้านการผลิต การโฆษณาประชาสัมพันธ์
และการวางจำหน่ายระบบแบ่งผลประโยชน์ก็ค่อนข้างจูงใจ
"เพลงชุดที่ผ่านมาขายได้กี่แผ่น" ไพบูลย์ถาม
"ประมาณ 5,000 ครับ"ก้าตอบ
"อากู๋" หัวเราะ ตบไหล่ "ก้า"
"ดีแล้ว คราวนี้จะได้รู้จักว่าหลักหมื่นเป็นอย่างไร"


ผมได้ยินชื่อค่ายเพลงนี้จาก "ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม" มาพักหนึ่งแล้ว
เขาเคยเล่าว่าจะทำค่ายเพลงอินดี้ชื่อ "สนามหลวง" เป็นสนามหญ้ากว้างใหญ่
ไม่มีเส้นข้างห้ามออกเหมือนสนามฟุตบอล "อินดี้" คืออิสระ
อยากทำอะไรก็ทำผมไม่รู้ว่าเหตุผลแท้จริงที่ทำ
"สนามหลวง" คืออะไรถ้าวิเคราะห์เชิงธุรกิจ
ก็น่าจะมาจากเหตุผล 3 เรื่อง เรื่องแรก รูปแบบการทำงานแบบ
"อุตสาหกรรมเพลง" ของแกรมมี่มี "จุดอ่อน" เป็น "จุดอ่อน"
แบบเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรม เจอสินค้า "แฮนด์เมด"
พอเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ความกล้าทดลองก็จะน้อยลงนั่นคือ
เหตุผลที่ทำให้ "เบเกอรี่มิวสิค"
ที่ต่อมายกทีมออกแปลงกายเป็น "เลิฟ อิส" เติบโตขึ้น
เรื่องที่สอง ความสำเร็จของ "บอดี้สแลม" และ "บิ๊กแอส"
ซึ่งล้วนแต่เคยเป็นวงอินดี้มาก่อนสะท้อนให้เห็นว่า "ของจริง"
วันนี้ขายได้
เรื่องที่สาม "ไพบูลย์" รู้สึกว่า "แกรมมี่" ใหญ่จนยากจะปรับวัฒนธรรมองค์กร
"ความมั่นคง" ทำให้พลังแห่งความฮึกเหิมลดน้อยลงชนะมา 99 ครั้ง
จะชนะเพิ่มอีกครั้งก็ไม่ตื่นเต้นแล้ว
เขาอาจต้องการสร้าง "แกรมมี่ 2" ที่มีวัฒนธรรมแบบ "รุ่นใหม่"
เหมือนกับตอนที่ "แกรมมี่" เริ่มต้นใหม่ๆเป็นวัฒนธรรมแบบ "ซิลลิคอน วัลเลย์"
ของ "ไมโครซอฟท์"
ระบบงานของ "สนามหลวง" จึงอิสระ แต่ทำงานหนัก
ไม่มีระดับชั้นการบริหารมากนัก เป็นการบริหารแบบแนวราบชั้นเดียว
แฮ่ม...ไม่มีชั้น-วรรณะ "สนามหลวง" จึงเป็น "ไฟติ้งแบรนด์" ของ "แกรมมี่"
สำหรับงานเพลง "อินดี้" เป็นสนามทดลอง "ของใหม่"
และถ้าวงไหนประสบความสำเร็จและต้องการไปเล่นแบบ "สนามใหญ่"
เขาก็สามารถยกระดับเข้าสังกัดแกรมมี่แบบ "บอดี้สแลม" หรือ "บิ๊กแอส"
ได้ตามปกติ "แกรมมี่" จะทำเพลงแบบ "อุตสาหกรรม"
มีการแบ่งฝ่ายกันทำ คือ ฝ่ายแต่งเพลงก็รับหน้าที่แต่งเพลง
แต่งกันเป็นทีม สามารถปรับปรุงเนื้อร้อง-ทำนองกันได้แยกเป็นส่วนๆ
ทั้งทีมดนตรี ฝ่ายเครื่องแต่งกาย ฝ่ายออกแบบท่าเต้น ฯลฯ
ทำเป็นระบบอุตสาหกรรม แต่ "สนามหลวง" ไม่ใช่ครับ"ไพบูลย์" ใช้วิธีการใหม่
เขาให้ "แก๊ก" มุขเอก จงมั่นคง กับ "พี" รวมพร ถาวรอธิวาส
ไปหาข้อมูลเบื้องต้น "แก๊ก" เป็นลูกชายของ "บุษบา ดาวเรือง"
กรรมการผู้จัดการใหญ่แกรมมี่ และ "สันติสุข จงมั่นคง"
กรรมการบริหารของแกรมมี่ถือว่า "ลูกไม้" หล่นข้างต้นจริงๆ
"แก๊ก" จบด้านดนตรีจากต่างประเทศ ทำเพลงอินดี้อยู่พักหนึ่ง
ก่อนที่จะเข้ามาเป็น "ครีเอทีฟ กรุ๊ปเฮด" ของ "สนามหลวง
ส่วน "พี" รวมพร เป็นพีอาร์เก่าของแกรมมี่ผมเคยเจอเธอครั้งหนึ่ง
ตอนที่ทีมพีอาร์ "แกรมมี่" มาที่ "มติชน" "พี" จบมาด้านเศรษฐศาสตร์
และเป็นคนชอบฟังเพลงหลากหลายแนว
ปัจจุบันเป็นผู้บริหารคนหนึ่งของค่ายสนามหลวง
ภารกิจที่ "ไพบูลย์" มอบหมายคือไปศึกษาพวกวงอินดี้ทั้งหลาย
ว่าเขามีความต้องการอย่างไร
อยากเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในเครือหรือเปล่าต้องการ "ความอิสระ"
เรื่องการแต่งเพลงเองเล่นเอง หรือเปล่า ฯลฯ
ตั้งโจทย์ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางตอบสนองความต้องการ
ของพวกวงอิสระเหล่านี้
ความได้เปรียบของ "แกรมมี่"คือมีความพร้อมด้านการผลิต
การจัดจำหน่ายและการประชาสัมพันธ์แต่ที่ "อากู๋" ต้องการ
คือ รสชาติใหม่ของดนตรีให้อิสระแก่นักร้องนักดนตรี
ที่มีความสามารถแต่งเพลงเอง-ร้องเองทีมงานอาจเสนอความเห็นบ้าง
แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจจะอยู่ที่ "ศิลปิน"
งานนี้กะเล่นกับ "ของจริง" "ไพบูลย์" คงอยากสัมผัสบรรยากาศแปลกๆ ใหม่
เขาจึงลงมาคุมเอง และคุยกับศิลปินเองเขาเคยเล่าว่าคุยกับวงอินดี้วงหนึ่งระหว่างคุย
ศิลปินวงนั้นก็โยกตัว ขยับขาไปมา
มือก็ตบหน้าขาเป็นจังหวะช่างเป็นศิลปินที่มีดนตรีในหัวใจจริงๆ
"ไพบูลย์"ถามว่าขายซีดีแผ่นละเท่าไร
ศิลปินวงนั้นบอกราคามา"แล้วได้ส่วนแบ่งเท่าไร" เขาก็บอกตัวเลขมา
"ไพบูลย์" ก็เล่าให้ฟังว่าถ้ามาอยู่กับ "สนามหลวง"
ทางแกรมมี่จะรับผิดชอบด้านการผลิตและการตลาดทั้งหมดเขาพยักหน้าเข้าใจ
ก่อนเสนอการแบ่งสรรผลประโยชน์แบบ "อินดี้"
"แต่ผมขอส่วนแบ่งเท่าเดิมนะครับ"
"ไพบูลย์"อึ้งไปพักใหญ่ เพราะเป็นการเจรจาธุรกิจที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน
"เอ้อ...แล้วพี่จะได้อะไรล่ะ" เขารำพึงผมไม่รู้ว่าการเจรจาจบลงแบบไหน
แต่นึกเล่นๆ ว่าถ้าเป็น "อินดี้" ของแท้
บางทีเขาอาจจะตอบในมุมที่ "ไพบูลย์" คิดไม่ถึง"ได้แสดงน้ำใจไงครับ"
"อากู๋" บอกความหมายของ "สนามหลวง"
ในอีกมุมหนึ่งกับนักข่าว"สนามหลวง" เป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่
มีอิสระ แฮ่ม...และมีคนเล่นว่าวเยอะ
ฟังภาพสนามหลวงในมุมขำ-ขำของ "ไพบูลย์"
แล้วบางทีความหมายของค่าย "สนามหลวง"
แท้จริงอาจเป็นแบบนี้ "ความสุข" จาก "ความอิสระ"
...ที่ทำได้ด้วยมือคุณเอง



Jan 24, 2009

เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม (14) เรื่องของวาสนา

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
(เรื่องและภาพ)
วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552

ภาษาไทยของเรานั้น ส่วนมากได้รับอิทธิพลมาจาก
ภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาบาลีสันสกฤตมากกว่าภาษาอื่น
สังเกตได้จากคำศัพท์ที่ใช้สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวัน จะมีภาษาบาลี
หรือสันสกฤตมากเป็นพิเศษ บางคำเรานำมาใช้นานจนชินหูชินตา
จนลืมว่าเป็นภาษาต่างชาติไปเลยก็มีชื่อและนามสกุลของคนไทย
ส่วนมากมีรากมาจากภาษาสองภาษาดังกล่าวข้างต้นทั้งนั้น
ขอประทานโทษ ขอยกคนดังมาเป็นตัวอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา
ไม่มีคำไทยสักคำเลย บรรหาร เป็นคำสันสกฤต ศิลป ก็สันสกฤต อาชา
เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต ทักษิณ ชินวัตร ชิน เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต
นอกนั้นเป็นคำสันสกฤตถามว่า
ทำไมคำบาลีและสันสกฤตจึงมามีอยู่ในภาษาไทยมากมายปานนั้น
คำตอบก็คือ เพราะทั้งสองภาษานี้ติดมากับพระพุทธศาสนา
ซึ่งแพร่มาสู่ภูมิภาคแถบนี้ เมื่อคนไทยรับเอาพระพุทธศาสนา
มาเป็นศาสนาประจำชาติ ภาษาทั้งสองนี้ก็เลยมาปะปนกับภาษาไทยด้วย
เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะทราบว่า
เดิมทีพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน (เถรวาท)
ซึ่งใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาศาสนาแพร่เข้ามาก่อน
ในราวพุทธศตวรรษที่ 3 ในยุคนั้นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา
อยู่ที่จังหวัดนครปฐมในปัจจุบันนี้ต่อมาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานตามเข้ามา
มหายานถือภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศาสนา
คนไทยก็เลยได้อิทธิพลจากภาษาสันสกฤตอีก กอปรกับศาสนาพราหมณ์ฮินดู
ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตก็แพร่เข้ามาสมทบอีกด้วย
ภาษาสันสกฤตจึงหยั่งรากลึกยิ่งขึ้นแม้ว่าจากสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา
พระพุทธศาสนาที่ประชาชนคนไทยนับถือจะเป็นฝ่ายหินยาน (เถรวาท)
และภาษาบาลีเองพระภิกษุสามเณรก็เล่าเรียนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็ตาม
ยังมีอิทธิพลต่อภาษาไทยน้อยกว่าภาษาสันสกฤตอยู่ดีพูดง่ายๆ ก็ว่า
ภาษาสันสกฤตครองความเป็นแชมป์ว่าอย่างนั้นเถอะ
การนำภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาของตนของคนไทย
มิได้เอามาทั้งดุ้น หากเปลี่ยนแปลงรูปและเสียง
พร้อมทั้งเปลี่ยนความหมายด้วยในบางครั้ง
ยกตัวอย่างเช่นคำข้างต้นวาสนา เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต อ่าน "วา-สะ-นา"
ไทยเราอ่านเพื่อให้เข้ากับหูไทยๆ ว่า "วาด-สะ-หนา"
ความหมายเดิมเขา หมายถึง "สิ่ง" ที่สั่งสมอยู่ในจิตสันดานยาวนานมาก
นอนเนื่องอยู่ภายในจิตเราแน่นแฟ้นและลึกมาก จนแกะไม่ออก
เทียบกับคำไทยว่า สันดาน
นั่นแหละครับในทางพระพุทธศาสนา วาสนา มิใช่เรื่องดีนัก ว่ากันว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงละวาสนาได้ พร้อมกับกิเลสทั้งปวง
พระอรหันต์นั้นละได้เฉพาะกิเลสเท่านั้น ไม่สามารถละวาสนาได้
ว่ากันอย่างนั้นแต่ "วาสนา" ในความหมายไทยๆ กลับเป็นเรื่องดี คือ
หมายถึง บุญญาบารมี บางทีก็พูดควบคู่กันว่า "บุญวาสนา"
ใครที่ประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต คนเขากล่าวขวัญถึงว่า
"เขา (หรือเธอ) มีบุญวาสนา" หรือ "เป็นวาสนาของเขา (หรือเธอ) นะ"
อะไรทำนองนี้
มีเรื่องเล่าในแวดวงผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่ 2 เรื่อง
แสดงถึงอิทธิพลของวาสนา ทั้งสองเรื่องนี้ เคยเขียนถึงมาแล้ว
แต่จำไม่ได้ว่าเขียนเมื่อใด เขียนที่ไหน (ผมมันคนเขียนหนังสือมากซะจนจำไม่ได้)
วันนี้ขอนำมา "ฉายซ้ำ" อีกก็คงไม่ว่ากัน ข้อมูลเก่า
แต่นำเสนอใหม่ (อย่างน้อยก็ใหม่หนึ่งอย่างละน่า)
เรื่องแรกคือ เรื่องพระปิลินทวัจฉะ ท่านผู้นี้มีคำพูดติดปากว่า "วสลิ" (แปลว่า ไอ้ถ่อย)
พบใครก็จะถามว่า "ไปไหนมา ไอ้ถ่อย" "สบายดีหรือ ไอ้ถ่อย" อย่างนี้เสมอ
คำพูดดูจะเป็นคำหยาบ ไม่สุภาพ แต่จิตใจท่านมิได้หยาบไปด้วย
ท่านพูดด้วยจิตเมตตา เป็นคำพูด "ติดปาก" ท่าน แก้ไม่หาย
ชาวบ้านที่รู้ว่าอะไรก็ไม่ถือสาท่าน ยกให้ท่าน นอกจากคนต่างถิ่นเท่านั้น
ที่ได้ยินเข้า อาจฉุนว่าพระอะไร (วะ) พูดคำหยาบ
แต่เมื่อทราบความจริงแล้วก็มิได้ถือสาคงเหมือนกับหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่
เมืองโคราชกระมังครับ ท่านก็ติดคำ "กู" "มึง" เวลาสนทนา
หลวงพ่อคูณนั้นเป็นที่รู้กันว่า ท่านเป็นพระมีเมตตามาก
คนเขาเอาเงินเอาทองมาถวายเท่าไร ท่านก็นำไปสร้างโรงเรียน
สร้างโรงพยาบาล และสาธารณสถานหมด ไม่เก็บไว้ร่ำรวยจนเป็น "พระเสี่ย"
เหมือนดังเกจิดังอื่นๆ ท่านพูด กูมึง กับใคร ก็ไม่มีใครถือว่าเป็นคำหยาบ
กลับฟังแล้วน่ารักเสียอีกตรงกันข้าม ถ้าหลวงพ่อคูณท่านเปลี่ยนมาพูดคำไพเราะ
กับใครเข้า ใครคนนั้นคงตกใจ นึกว่าหลวงพ่อด่าแน่นอน
ฮิฮิย้อนกลับมาพูดถึงหลวงพ่อปิลินทวัจฉะต่อ
วันหนึ่งท่านเห็นชายคนหนึ่งขับเกวียน บรรทุกดีปลีผ่านมา จึงร้องถามว่า
"บรรทุกอะไร ไอ้ถ่อย" ชายคนนั้นพอได้ยินดังนั้นก็ฉุนกึกทันที
พระอะไรวะ พูดจาไม่เข้ารูหูคน จึงตะโกนตอบด้วยเสียงขุ่นๆ ว่า
"บรรทุกขี้หนูเว้ย"เขาขับเกวียนไปเรื่อยๆ หารู้ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับดีปลีของตน
พอไปถึงตลาดนัดกลางเมือง ก็จอดเกวียน
เตรียมขนดีปลีลงมาวางขายปรากฏว่า ดีปลีได้กลายเป็นขี้หนูหมดเลย
ประชาชนมามุงดูกันด้วยความประหลาดใจว่า คนพิเรน (ไม่มี ทร การันต์นะครับ)
อะไรวะ เอาขี้หนูมาขาย ชายหนุ่มเจ้าของดีปลีก็ทำอะไรไม่ถูก
ยืนเซ่ออยู่พักใหญ่ ได้เล่าเรื่องราวให้คนที่มามุงดูฟัง
ชายคนหนึ่งบอกเขาว่า คงเป็นเพราะเขา (ชายหนุ่ม)
ล่วงเกินพระอรหันต์เข้า จึงได้เกิดเรื่องเช่นนี้
ทางที่ดีควรไปกราบขมาท่านเสียไม่รอช้า
ชายหนุ่มกลับไปกราบขอขมาท่าน ท่านยิ้ม กล่าวว่า
"ไม่เป็นไร ไอ้ถ่อย อาตมายกโทษให้"เมื่อเขากลับมา ก็ปรากฏว่า
ขี้หนูได้กลายเป็นดีปลีตามเดิมอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องพระสารีบุตรอัครสาวก
ว่ากันว่าท่านมีอารมณ์ศิลปิน หรือถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็ว่า
มีอารมณ์โรแมนติคมิใช่น้อย คือเวลาท่านพบสถานที่ที่สวยงดงาม
ท่านคล้ายจะ "ลืมตัว" ไปพักหนึ่งวันหนึ่งท่านเดินทางผ่านป่าแห่งหนึ่ง
พร้อมภิกษุจำนวนมาก ท่านเห็นลำธารใส ไหลเย็น
ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรอันร่มรื่น ท่านก็กระโดดหย็องแหย็งๆ
ด้วยความดีใจพระสงฆ์ที่ติดตามเห็นเช่นนั้น ก็ไม่สบายใจ
แต่ไม่กล้าพูดอะไร เพียงแต่นึกตำหนิในใจว่า
พระอัครสาวกผู้ใหญ่ ทำไมทำอย่างนี้ ไม่เหมาะสมเอาเสียเลย
เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา
พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าพระสงฆ์เหล่านั้นคิดอะไรอยู่
จึงตรัสกับพวกเธอว่า"ภิกษุทั้งหลาย
เราทราบว่าพวกเธอคิดอย่างไรกับสารีบุตร สารีบุตรทำอย่างนั้น
มิใช่เพราะ "ติด" ในความสุนทรีย์ของบรรยากาศ
แห่งภูมิประเทศที่เธอพบเห็นดอก
หากแต่เป็น "วาสนา" ของเธอ"แล้วพระองค์ก็ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า
ในอดีตกาลอันนานไกลโพ้น
พระสารีบุตรเคยเกิดเป็นลิงติดต่อกันหลายร้อยหลายพันชาติ
มาชาตินี้จึงติด "วาสนา" ของลิงมา คือชอบเต้นหย็องแหย็งๆ
เมื่อมีความดีใจ ว่ากันอย่างนั้นเรื่องอย่างนี้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ทางพระศาสนา
ถึงจะเป็นคัมภีร์รุ่นหลังจากพระไตรปิฎก ฟังๆ ไว้ ก็ไม่เสียหลาย
ปุถุชนคนสามัญอย่างเราท่าน ภูมิปัญญาหรือความสามารถ
ยังห่างไกลเกินกว่าจะไปชี้ว่า เรื่องนี้จริงไม่จริง เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้
จริงไหมครับว่ากันไปแล้ว เรื่องนี้เป็นวิบากหรือ
ผลของการกระทำที่ทำสืบเนื่องกันยาวนานจน
"ติด"ตัวไปไม่รู้กี่อสงไขยกัปว่าอย่างนั้นเถอะ ติดจนแกะไม่ออก
แม้ว่ากิเลสตัณหาจะละได้ แต่ "สิ่ง" ที่ว่านี้กลับละไม่ได้
ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเพราะฉะนั้น
บางคนจึงมี "วาสนา" แปลกๆ แก้ไม่หาย ดังพระปิลินทวัจฉะ
และพระสารีบุตร เป็นต้น หรือที่เห็นชัดๆ ก็หลวงพ่อคูณนั่นแหละ
วาสนาของท่านชอบพูดคำสมัยพ่อขุน และมีท่านั่งพิเศษคือนั่งยองๆ
ไม่ชอบนั่งพับเพียบเหมือนพระภิกษุทั่วไปเมื่อมีคนถามว่า
ทำไมหลวงพ่อชอบนั่งยองๆ หลวงพ่อตอบว่า กูไม่ชอบดอก ไอ้หลานเอ๊ย
มันนั่งของมันอย่างนี้เองเมื่อถามอีกว่า
นั่นสิครับหลวงพ่อ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้
หลวงพ่อตอบด้วยสำเนียงชาวโคราชว่า
"กูว่ามันเป็นท่าเตรียมพร้อม คือ กูจะลุกยืนก็ลุกได้ทันที
กูจะนั่งพับเพียบก็นั่งได้ทันที นั่งยองๆ นี่ก็มันดีแท่ๆ เด๊"
หน้า 6