คอลัมน์ถอดเสื้อกาวน์
นวพรรษ บุญชาญ
เดลินิวส์
1 พย. 51
คอลัมน์ “ถอดเสื้อกาวน์”ในวันนี้ จะพามาทำความรู้จัก
กับอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต“หมอประเวศ”
ศ.นพ.ประเวศ วะสี หรือที่คนทั่วไปเรียกท่านติดปากว่า
“ราษฎรอาวุโส”
“ผมคิดว่า การอ่านทำให้ชีวิตเปลี่ยนเป็นเรื่องบังเอิญ
มิใช่ว่าผมดีอะไรหรอก ผมก็เป็นลูกชาวบ้านที่จนๆเด็กจนๆ
ไม่มีใครมีสตางค์ติดตัวเลยแต่ก็รู้สึกสนุกไม่รู้สึกว่ามีปมด้อย
ไม่เหมือนสมัยนี้ สังคมเปลี่ยนไป
เด็กสมัยใหม่มีความทุกข์และเครียด
เพราะเป็นสังคมวัตถุนิยม บริโภคนิยม”
หมอประเวศ กล่าว
สมัยก่อนสตางซื้อของไว้เล่นไม่มีเลย แต่ก็มีของเล่นเยอะ
เพราะทำกันเองเล่นสนุกสารพัดทั้ง ทอยกระเบื้อง ไม้หึ่ง
ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองจน ไม่มีใครสนใจว่าใครเกิดวันอะไร
เพราะไม่มีใครสนใจ
ผมก็เหมือนเด็กธรรมดาทั่วไป บังเอิญว่าย่าผมอายุ 80 กว่าๆ
ท่านอ่านหนังสือไม่ออก
แต่อยากฟังนิยายผมเป็นหลาน อายุ 6-7 ขวบ เพิ่งเริ่มอ่านหนังสือ
อยู่แถวนั้นพอดี ก็ถูกเรียกยกมาอ่านให้ย่าฟัง ทีนี้หนังสือพิมพ์สมัยก่อนจะลงนิยายจีน
เช่น จอยุ่ยเหม็ง ชิยิ่นกุ้ย เจ็งฮองเฮา เราก็รู้เรื่องมั่งไม่รู้เรื่องมั่ง เพราะยังเด็ก
บางตอนย่าก็หัวเราะบอกว่า มันแก้เผ็ดกัน เราก็ไม่เข้าใจ
ยังจำ ได้แก้เผ็ดมันแปลว่า ว่าอะไร ย่าก็บอกให้ฟัง
เอ๊ะ อ่านไปแล้วมันสนุก พอย่าไม่ใช้ ก็ไปอ่านเอง พอไปอ่านเอง
ก็จะไม่มีหนังสืออ่าน เพราะเป็นเด็กที่จนๆ ก็ดูตามถุงกล้วยแขก
ถุงที่เขาห่อหนังสือ เผอิญอีกแหละ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นรุ่นสาวเขาพอมีสตางค์บ้าง
เขาก็ไปซื้อนวนิยายมาอ่าน เยอะเชียว ทิ้งไว้หลังบ้านเป็นกอง
ผมก็เข้าเสพ อายุยงไม่ถึงสิบขวบเลย อ่านสนุก อ่านตั้งแต่เช้าจรดเย็นก็ได้
นุ่งโสร่ง นอนเปลอ่าน ผู้ใหญ่เดินผ่านไปมาก็ทัก
เด็กคนนี้อ่านอยู่ได้ทั้งวัน
ตอนประถมผมเรียน รร.บ้านนานอกอยู่ในป่า
พอเรียนม.1 ต้องมาเรียนที่จังหวัด พี่ผมอยู่ม.6
เขาเห็นผมอ่านหนังสือพวกนี้ก็คอยไล่ไม่ให้อ่าน
เขากลัวผมจะสอบตก ผมก็ไปแอบในซอกที่บ้านย่า
เป็นซอกแคบๆ ติดกับตรอกที่ชาวบ้านเขาลงอาบน้ำ
แล้วผมก็เอาเสื่อมากั้นไม่ให้เขาเห็น ก็จะอ่าน เพราะความสนุก
แต่มันก็พาเราไปเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องกังฉิน ตงฉิน ขันที
เรื่องเมืองเชียงอาน การสอบจอหงวน อะไรร้อยแปด
ทำให้เกิดจินตนาการและความคิดจากการอ่าน
อ่านหนังสือสนุกนะ โดยเฉพาะเด็กถ้าได้อ่านนิทานสนุกๆ และมีคติ
ผมคิดว่าการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ความรู้กว้างขวาง
เข้าใจเรื่องซับซ้อน แต่คนไทยอ่านน้อย เพราะว่าเราเป็นเมืองร้อน
จะอยู่นอกบ้าน พออยู่นอกบ้านก็อ่านไม่ได้ แต่เมืองหนาวต้องอยู่ในบ้าน
ก็จะต้องอ่าน สมัยนี้จะมีเรื่องซับซ้อนเยอะ ถ้าเราไม่อ่านจะไม่เข้าใจ
แค่ดูอย่างเดียวหรือฟังอย่างเดียวไม่ได้
ดังนั้นคิดว่าจะต้องฝึกนิสัยการอ่านของคนไทยขึ้นมาให้ได้
ปัจจุบันเรามีหนังสือดีๆน้อย การแปลก็น้อย การเขียนก็น้อย
เพราะคนอ่านน้อย ก็วนอยู่อย่างนี้ รัฐต้องเข้ามาช่วย
ให้มีคนเขียนมากๆ แปลมากๆ ไม่มีสตางค์ซื้อก็แจกไปเลย
ให้ไปถึงหมู่บ้าน รัฐต้องใจกล้า และลงทุนเพื่อให้คนไทยรักการอ่าน
เพราะเจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้านจะมีคนชอบอ่านอยู่ แต่ไม่มีหนังสืออ่าน
ปัจจุบันคุณหมออ่านหนังสือประเภทใด และใช้เวลาในการอ่านนานแค่ไหน?
คุณหมอประเวศ บอกว่า ถ้ามีเวลาก็อ่าน เห็นอะไรก็หยิบมาอ่าน
เพราะอ่านแล้วมีความสุขมันสนุกทุกเรื่อง
ผมอยากเห็นเด็กเรียนหนังสือสนุก และมีความสุข
เพราะปัจจุบันหลักสูตรมันบีบคั้น ดังนั้นอย่าไปเน้นว่าต้องเรียนวิชานั้นวิชานี้
เรื่องศาสนาผมก็ศึกษาเยอะ ทุกคืนก่อนนอนอ่านพระไตรปิฎก
อ่านแล้วก็มีความสุข ทำให้รู้เรื่องราวต่างๆ เป็นอะไรก็หยิบมาอ่าน
นวนิยายก็อ่านบ้างเล็กน้อย อ่านในสกุลไทย
เพราะภรรยาซื้อ ก็ไปอ่านของเขา คนเขียนเก่งๆ ก็มี ทำให้เราเห็นคุณค่านวนิยาย
เพราะว่าอ่านง่าย อ่านสนุก และได้คติ
ยอมรับว่าผมโตขึ้นมาไม่มีศิลปะในหัวใจ อาจจะเป็นเพราะอ่านเยอะ
ตั้งแต่ตอนก่อนสิบขวบ ก็อาจจะทำลายส่วนนั้นไป
ผมก็ไม่รู้ตัวหรอก ตอนผมเรียนจบหมอ มีพยาบาลคนหนึ่งที่ รพ.ศิริราช
อายุมากกว่าผม บอกว่าหมอประเวศไม่เคยเป็นเด็กหรอก
ชีวิตไม่เคยเป็นหนุ่ม เป็นผู้ใหญ่เลย คิดอะไรแบบผู้ใหญ่ มันก็มีข้อเสีย
เพราะว่าเด็กก็ควรเป็นเด็ก
ลิเก ละคร หนัง โขน ผมไม่ต้องการดู ไม่รู้เป็นเพราะอ่านหนังสือมาก
หรือเป็นเพราะแม่ พ่อกับแม่ผมจะไม่เหมือนกัน พ่อจะชอบสีซออยู่ริมภูเขา
แม่จะคอยกระแหนะกระแหนว่าไม่เป็นเรื่องเป็นราว
แม่จะพูดกรอกหูว่าต้องขยัน เรื่องพวกนั้นไร้สาระ
ทำให้ผมไม่มีศิลปะในหัวใจและไม่รู้เรื่องบทบาทศิลปะ
แต่ตอนหลังเจริญสติได้จากธรรมะก็เลยรู้เรื่องคุณค่าของความงามของศิลปะ
ตอนนี้ก็รู้คุณค่าของศิลปะแล้ว ว่ามีความสำคัญ
แม้อายุจะย่างเข้าสู่ปีที่ 78 แล้ว แต่ “หมอประเวศ” ยังหน้าตาสดชื่น
ร่างกายแข็งแรง บอกเคล็ดลับว่า ผมออกกำลังกายทุกเช้าและเย็น
โดยตอนเช้าจะเอาถุงทราย 2 ลูกวางที่ขา และยกขาขั้งละ 20 ครั้ง
และไปวิดพื้นต่ออีก 20 ครั้ง หรืออาจห้อยโหนออกกำลังแขน
จากนั้นมาก็อ่านหรือเขียนหนังสือ
ส่วนตอนเย็นถ้ามีเวลาทุก 6 โมงเย็น ผมจะจ๊อกกิ้ง
ผมจ๊อกกิ้งอยู่หลายสิบปีเหมือนกัน แต่ตอนนี้หยุดแล้ว
เพราะเข่าไม่ดี ก็เปลี่ยนมาเดินแทนวันละ 3 กม. เดินไปด้วย
แกว่งแขนแรงๆสองข้างไปด้วย ผมเดินทีสิบสองรอบ
รอบหนึ่งผมแกว่งแขนประมาณ 350 ครั้ง เดินสิบสองรอบก็ตกประมาณ 4,200 ครั้ง
หรือถ้ามีโอกาสก็จะไปว่ายน้ำที่ศิริราชว่ายประมาณ 20 รอบ หรือ 1 กม.
ผมอยากให้คนหนุ่มสาวสนใจออกกำลังกาย
ดูผมเป็นตัวอย่างแก่ขนาดนี้ยังออกกำลังกายทุกวัน
ดูคุณหมอกินอยู่ง่ายๆ?
“หมอประเวศ” บอกว่า โอ๊ย ผมกินง่าย กินได้หมด
ผมว่าอาหารไทยดีนะ ข้าว น้ำพริก ผัก แกง ไม่มีไขมัน ไฟเบอร์เยอะ
มีเมนูโปรดมั้ย?
“หมอประเวศ” บอกว่า ภรรยาผมยังไม่รู้เลย (หัวเราะ)
อย่างถามผมว่า จะดื่มชาหรือกาแฟผมบอกไม่รู้
ตอบไม่ถูก ตอนแต่งง่านใหม่ๆ ถามอะไรก็ไม่รู้ เขา (ภรรยา) จะฉุนเฉียวมาก (หัวเราะ)
มีคติพจน์เตือนใจอย่างไร?
“หมอประเวศ”กล่าวว่า ผมมีคติพจน์เยอะตั้งแต่ 10 ขวบ
ผมจะยึดมั่นในเรื่องความดี ความขยัน แต่ก็ทำให้เกิดปัญหา
ไปเรียนเมืองนอกและกลับมาทำงานที่ศิริราช เรียนมาเยอะ
แต่ละวิชาสนุก ได้เปิดโลกใหม่ แต่ชีวิตจริงไม่เหมือนกับที่เราคาดหวัง
ผมเกลียนคน 2 ประเภท คือ “คนขี้โกง” กับ “คนขี้เกียจ” ซึ่งมีให้เกลียดได้เยอะ
ตอนหลังรู้สึกตัวก็ปล่อยๆว่า เราไม่ควรเสียเวลากับความทุกข์ ความเกลียด
ชีวิตก็เปลี่ยนเป็นชีวิตที่รุ่มรวยความสุข
พออายุมากขึ้นก็สนใจเรื่องศาสนา เจริญสติ จิตใจดี สบาย
ความหงุดหงิดรำคาญก็ไม่มีในตัว พอไม่มี เราอยู่สบาย
เห็นอะไรก็เป็นความงามไปหมด ก็อยากให้คนอื่นเจอ
เสียดายถ้าใครเกิดมาแล้วไม่เคยได้เจอ
รู้สึกอย่างไรกับคำว่า “ราษฎรอาวุโส”?
“หมอประเวศ” บอกว่าไม่เคยเรียกตัวเอง
แต่สื่อมวลชนเป็นคนเรียก
ที่จริงคำนี้ไม่มีอะไรภาษาอังกฤษเรียก " ซีเนียร์ซิติเซ่น"
คนแก่ทุกคนอายุ 60 ปีขึ้นไปก็เป็นแล้ว
อ่าน
>ประวัติ