Custom Search

Jan 4, 2009

ชุมชนในร้านกาแฟของ ศักดิ์ชัย จันทร์กระจ่าง

เล็กนั้นงาม
วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล


ครวญ คิดถึงถิ่นป่าซาง
สวยเกินคำคนเขาอ้าง
ป่าซางแดนนี้มีมนต์
ใคร แม้เคยได้มาสักหน
แล้วต้องพร่ำเพ้อกังวล
ถึงสาวหน้ามนโฉมเจ้าสะคราญ
โอษฐ์ พริ้มดังหนึ่งคันศร
สวยงามสะอางพลิ้วอ่อน
ดั่งนางอัปสรลาวัลย์
ลอย โฉมมาในลำห้วยนั้น
พิศร้างบัง-งง-งัน
แลเห็นทรงนั้นอั๋นอวบขาวนวล



เสียงเพลงล่องลอยมาจากด้านท้ายของรถปิคอัพสีเหลือง

ที่จอดอยู่หน้าบริษัทเทพนิธิ ริมถนนบรรพปราการ

เข้ากับบรรยากาศอันหนาวเย็นของยามเช้าเมืองเชียงราย

ครั้นเมื่อเดินเข้ามาใกล้จึงรู้ว่านั่นคือร้านกาแฟโฟล์คซองที่เพื่อนพูดถึง

รถคันนี้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นร้านกาแฟโบราณเล็กๆ

มีลูกค้านั่งจับจองอยู่ทุกโต๊ะ

ขณะชายวัยกลางคนผมยาวกำลังกรีดกรายกีต้าร์บรรเลง

บทเพลงของสุรพล สมบัติเจริญ อย่างได้อารมณ์

ทั้งที่ดูจากภายนอกเขาน่าจะร้องเพลงเพื่อชีวิตมากกว่า

แต่นั่นไม่สำคัญเพราะเราควรจะมองดูคนจากข้างใน

คงเหมือนกับที่สุนัขจิ้งจอกเคยบอกเจ้าชายน้อยว่า

“สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยดวงตา”

แต่ต้องมองด้วยหัวใจ และเหมือนที่เขากำลังบอกกับเรา...

ศักดิ์ชัย จันทร์กระจ่าง

ลองหลับตาดูสิ แล้วจินตนาการย้อนกลับไปสู่
บรรยากาศของเมืองเชียงรายเมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว
มวลหมอกชื้นล่องลอยจนมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า
อากาศหนาวเหน็บกระดูก ผู้คนมีน้ำใจไมตรี
หลังจากเรียนจบและได้มีโอกาสมาออกค่ายอาสาฯ
ได้มาสัมผัสกับบรรยากาศอันแสนงาม
ให้หวนนึกถึงช่วงวัยเด็กที่อยู่ในกรุงเทพฯ
ได้มีโอกาสใส่เสื้อกันหนาว ได้นั่งผิงแดดนอกห้องเรียน
ทำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจเลือกมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่
“บรรยากาศเมื่อ ๒๕ ปีก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ อากาศหนาว
มีหมอกทุกเช้า พอมาเห็นแล้วเราติดใจ
โดยเฉพาะอัชฌาสัยของคนที่นี่น่ารัก มีเสน่ห์ และเป็นกันเอง
พอดีโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งมีอัตราว่าง
ผมเอากระเป๋าติดตัวมาใบเดียว ตั้งแต่ขึ้นมาผมยังไม่ได้กลับบ้านเลย”
สอนหนังสืออยู่ช่วงหนึ่ง จึงได้พบว่าระบบการศึกษา
ไม่ได้สอนให้คนรู้สึกหวงแหนหรือภาคภูมิใจในความเป็นรากเหง้าของตัวเอง
“พอพวกเขาเข้ามาอยู่สังคมเมืองก็เกิดความละอายในความเป็นชาวเขา
อย่างน้องที่มาช่วยงาน ถามเขาว่าเป็นชาวอาข่าใช่ไหม
เขาบอกไม่ใช่ ‘เพราะเดี๋ยวนี้ผมไม่ได้อยู่บนดอยอีกแล้ว ผมอยู่ในเมือง’
ทำให้เราเห็นว่าระบบการศึกษามันล้มเหลว
มันไม่ได้สร้างให้คนมีความภาคภูมิใจในความเป็นชนเผ่า
หรือความเป็นล้านนาของเรา”
ครั้นมาทำงานเป็นเอ็นจีโอ ก็เกิดความรู้สึกแปลกแยก
“พอลงไปลึกแล้วเราเห็นอะไรมากขึ้น และรู้สึกว่ามันไม่เข้ากับเรา”
แล้วอะไรคือการศึกษาที่แท้ที่เขาเชื่อมั่น ศักดิ์ชัยบอกว่า
“โดยหลักผมดูจากพระพุทธเจ้า พอบรรลุอริยสัจจ์สี่
พระองค์ทรงไปหาอาฬารดาบสและอุทกดาบส ผู้เป็นอาจารย์
แต่อาจารย์เสียไปก่อน จึงไปหาปัญจวัคคีย์ พระองค์ทรงเข้าไปหาคน
พระองค์ใช้เวลากับคนเยอะมาก นี่คือการศึกษาที่แท้
และการศึกษาอย่างนี้ทำให้คนรู้จักชีวิต แก้ไขปัญหาชีวิตเป็น มองทะลุ
ทุกวันนี้คนมองแต่เปลือก มันดีในแบบของมัน
แต่มันล้มเหลวในอีกด้านหนึ่ง...อย่างที่นี่เขาพยายามทำถนนวัฒนธรรม
ตอนเช้าจะมีการใส่บาตร
แต่ลึกๆ ราชการเขาต้องการแค่ให้คนมองเห็นภาพเท่านั้น
เพราะการทำถนนวัฒนธรรมต้องสร้างคนให้มีวัฒนธรรมก่อน
เราต้องตีกรอบให้ชัดว่าวัฒนธรรมของเราคือความเป็นล้านนา
ถ้าเราไม่อนุรักษ์ความเป็นล้านนา เราล้มเหลวหมด
แต่ถามว่าสถาปัตยกรรมล้านนาอยู่ที่ไหน
วิถีชีวิตความเป็นล้านนาอยู่ที่ไหน เราจะไปดูได้ยังไง
ภาษาคำเมืองนับวันยิ่งถดถอย ชุดม่อฮ่อมก็เริ่มเลือนหาย
ตรงนี้เป็นความน่ากลัวที่เราถูกทุนและค่านิยมผิดๆ รุกคืบเข้ามา
แต่ไม่รู้ว่าทางราชการเขาจะมองเห็นหรือเปล่า
ถ้าเขาจะทำถนนวัฒนธรรม ต้องเอาคนก่อน
ถ้าพลาดจากคนแล้ว มันเหมือนมีเครื่องจักรพันล้าน
แต่คนไม่มีทักษะการพัฒนา มันก็ไม่สามารถทำอะไรได้”
ด้วยตระหนักว่าตนไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมในภาพรวมได้
เขาจึงเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่มานั่งดื่มกินกาแฟที่ร้าน
มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน
และการจะส่งเสริมให้คนล้านนาหันมา
มองเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมของตน
ศักดิ์ชัยบอกว่าสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง
“อย่างแรก ถ้าสังเกตดีๆ ผมจะยกมือไหว้
เป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง
การยิ้มแย้มแจ่มใส
การให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา
อันนี้เป็นฐานรากของความเป็นไทยที่บอกว่าสยามเมืองยิ้ม”


และยิ่งเขาไม่ได้มีเฉพาะลูกค้า

ที่เป็นคนพื้นถิ่นเท่านั้น
ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยว
ซึ่งจะทำให้พวกนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส
ถึงวิถีการดำรงอยู่จริงๆของผู้คน
“เพราะนักท่องเที่ยวเขาไม่ได้มาดูว่า
ถนนสะอาดหรือเปล่า
แต่เขามาดู
ชีวิตพื้นถิ่นของคนที่นี่ว่าเป็นอย่างไร”








จุดเริ่มต้นของการทำร้านกาแฟ
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความชื่นชอบบรรยากาศของร้านกาแฟ
สังคมที่พูดคุยกันได้ และไม่มีพิษมีภัย
บวกรวมกับความรักในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่
อยากสร้างสิ่งดีๆ ที่พอจะทำได้
นั่นคือการสร้างสังคมในแบบชุมชนร้านกาแฟโบราณ
เหมือนสมัยวัยเด็กที่เขาได้มีโอกาสเห็นพวกอาเจ็กมานั่งพูดคุยกัน
ศักดิ์ชัยฝันอยากจะเห็นภาพเหล่านั้นกลับมาอีกครั้ง
เพราะนับวันสังคมแบบนี้จะยิ่งเลือนหายไป
“คุณรู้จักบ้านสมัยก่อนที่มีนอกชานใช่ไหม
ร้านกาแฟก็เหมือนกับนอกชานบ้านที่เขาจะมานั่งกินข้าว
หรือมานั่งพักผ่อน ฟังวิทยุทรานซิสเตอร์
หลังเหน็ดเหนื่อยมาจากการงาน ผมอยากให้ร้านกาแฟเป็นแบบนี้
เป็นที่ที่เขาจะได้พัก ผ่อนคลาย คิดอะไรก็ได้ตามที่เขาชอบ”
ศักดิ์ชัยบอกว่า ลักษณะร้านกาแฟต้องสะท้อนลักษณะเจ้าของร้าน
และวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ เพราะร้านกาแฟเป็นสังคมเล็กๆ
ที่คนสามารถมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้
“หลายคนถามผมว่า ทำไมไม่ทำใส่กระติกขาย ๑๐ บาทๆ
ผมบอกว่าถ้าทำอย่างนั้นผมจะเสียสังคม
หรือมีคนมาถามขอเซ๊งแสนห้า ผมไม่เอา เพราะทุกเดือนผมเจอเซลส์แมน
มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ความสำคัญตรงนี้มีค่าเท่าไหร่”
เพราะสิ่งสำคัญสำหรับเขามิใช่เพื่อเงิน แต่คือเป้าหมายของชีวิต
เหมือนคำพูดที่บอกว่า
“การทำร้านกาแฟ เป้าหมายไม่ใช่เพื่อเงิน
แต่เป็นความสัมพันธ์ ความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ถ้าผมได้ตรงนี้ เงินมันก็มาเอง”
เขายังบอกอีกว่า
“ทุกวัน ที่นี่จะเป็นเหมือนโรงเรียนแห่งหนึ่ง
สมมุติถ้าผมต้องการเงิน ผมอาจจะมีปัญหากับลูกน้อง
เพราะถ้าคนเยอะมันทำไม่ทัน ครั้นกลับไปบ้านก็เป็นทุกข์
ต้องมานั่งคิดใคร่ครวญว่าถ้าเขามีความรู้
มีการศึกษาเขาคงไม่มาเป็นลูกน้องเรา แล้วจะทำยังไง
ผมเรียนรู้ทุกวัน ลูกน้องก็เป็นครูผม
เรียนรู้จากสิ่งที่เขาสะท้อนกลับมา อย่างลูกน้องมาทำงาน
ก็เป็นการฝึกทักษะการใช้ชีวิต ฝึกให้รู้จักเป็นคนมีอัชฌาสัยดี
มีมนุษยสัมพันธ์ดี นี่คือโรงเรียนของผม เราเรียนรู้จากกันและกัน”
ด้วยมุมมองเช่นนี้ ศักดิ์ชัยมองว่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งที่ผ่านเข้ามา
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน หากเราพร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้
“ผมไม่เคยคิดว่าผมออกมาทำงาน แต่ผมออกมาพบกับคน คุยกับคน
มาแลกเปลี่ยนทัศนคติ เราถือว่าเราทำบุญมาด้วยกัน
คนหกสิบกว่าล้านคน ไม่มีทางที่คนเราอยู่ๆ จะมาเจอกันตรงนี้
แต่วันหนึ่งเราได้มาเจอกันตรงนี้ แสดงว่าเรามีวาสนาต่อกัน
ฉะนั้นสิ่งที่เขานำพาเข้ามา ประสบกาณ์ชีวิต ทัศนคติ
มันมีสิ่งให้เราได้เรียนรู้อีกเยอะ ซึ่งตรงนี้เงินซื้อไม่ได้
มหาวิทยาลัยก็ไม่เคยสอน มหาวิทยาลัยสอนให้เราจบมาเป็นลูกจ้างแค่นั้น
ไม่ได้สอนให้เราได้รู้จักชีวิต รู้จักแก้ปัญหาชีวิต”
ยังมีอีกสิ่งหนึ่งนอกเหนือจากการได้มีโอกาสเรียนรู้จากผู้คนที่ผ่านเข้ามา
นั่นคือมิตรภาพ
“กับคนบางคน เราจะเจอเขาแค่ครั้งเดียว
เราไม่มีโอกาสได้เจอเขาอีกแล้ว
ถ้าเราไม่ทำดีกับทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
เราจะไม่มีโอกาสได้ทำอย่างนั้นอีก”
ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่เขาขายกาแฟอยู่ตรงนี้
พยายามสร้างสังคมที่สามารถพูดคุยกันได้
หลีกเลี่ยงการกระทบปะทะกับบรรดาร้านค้าต่างๆ
แม้จะเคยถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา เช่นเอาดินมาหยอดรูกุญแจบ้าง
ปล่อยลมยางบ้าง แจ้งเทศกิจบ้าง
ทั้งที่เขามีใบอนุญาตขายของตามที่สาธารณะถูกต้องตามกฎหมาย
แต่เขาก็เลือกทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องดีงาม
ด้วยปรารถนาให้เกิดสังคมที่มีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
“ผมเจอมาเยอะ แต่ไม่มีปัญหา ผมไม่ได้โต้ตอบ
แต่ถึงเวลาตำรวจมีงานผมก็ไปช่วย
เวลาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มานั่งกินกาแฟที่นี่
เราก็เทคแคร์เต็มที่ นี่คือการตอบโต้โดยเอาด้านบวกเข้าหา”
ชีวิตประจำวันของคนขายกาแฟที่ดูเหมือนจะวนเวียนอยู่
กับการซื้อและขายกาแฟ
ต้องเตรียมแป้งปาท่องโก๋ตั้งแต่ตอนเย็น
ตอนเช้าเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการขายชา กาแฟ โอวัลติน
และอาหารเช้าแบบง่ายๆ เช่น ไข่ลวก ไข่กระทะ ขนมปังปิ้ง ฯลฯ
จนได้เวลาปิดร้านก็กลับไปพักผ่อน
ตอนเย็นจะออกมานั่งคุยกับเพื่อน เล่นอินเตอร์เน็ต ดูแลหมา
และเล่นดนตรี นอกจากความสุขง่ายๆ ที่เขามีให้กับตัวเองแล้ว
เขายังส่งมอบความสุขให้กับลูกค้าที่เดินทางผ่านมายังร้านกาแฟของเขาด้วย
นอกจากจะมีเพลงให้ฟัง มีหนังสือให้อ่านแล้ว
ยังมีเสียงดนตรีที่ร้องบรรเลงมาจากหัวใจของลูกผู้ชายคนหนึ่ง
ศักดิ์ชัยบอกว่า
“ดนตรีเป็นยารักษาใจ เช้าๆ ตื่นขึ้นมาได้ฟังเพลงไพเราะ
ได้บรรยากาศที่ดี ใจก็ดีไปด้วย พอใจดีร่างกายก็ดี ร่างกายดี
ตอนแปดโมงไปทำงานก็ทำงานได้ดี พองานดี เงินดี ครอบครัวมันก็ดี
เราเริ่มจากสิ่งเล็กๆ สิ่งที่ผมให้เป็นสิ่งเล็กๆ ในการเริ่มต้นของเช้าวันใหม่”
การเล่นดนตรีสดๆ ดูจะเป็นเอกลักษณ์ของร้านกาแฟโบราณแห่งนี้ไปเสียแล้ว
หรือแม้แต่การเลือกเปิดเพลงเขาก็จะให้ความสำคัญกับลูกค้า
รวมทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในแต่ละเช้าอีกด้วย
“เช้ามืดผมจะเปิดเพลงบรรเลงของไทยและต่างประเทศ
พอสายหน่อยถ้าเป็นผู้ใหญ่สี่สิบขึ้นไปก็จะเป็นเพลงสุนทราภรณ์
สุเทพ วงศ์กำแหง
หรือสุรพล สมบัติเจริญ ถ้าเป็นวัยรุ่นเราก็มีเพลงอีกแนวหนึ่ง
ฉะนั้นการเปิดเพลงก็จะดูลูกค้าเป็นหลัก หรือการร้องเพลงผมก็จะดูลูกค้าว่าเป็นยังไง
เพราะการร้องเพลง ทุกร้านไม่มีใครทำ แต่ทำไมผมทำ
ไม่ใช่เพราะผมเก่งกีตาร์หรืออยากจะโชว์ออฟ
แต่ผมอยากให้เมื่อแรกเห็นที่เขาเดินเข้ามาแล้วเกิดความประทับใจ
พอเขาประทับใจสิ่งที่เขาได้ไปคือด้านบวก”
เมื่อถามถึงความสุข ศักดิ์ชัยบอกว่าความสุขไม่ใช่เรื่องไกลตัว
“ความสุขเป็นเรื่องข้างในตัว อย่าไปหาความสุขข้างนอกตัว
พยายามหาความสุขข้างใน ถ้าขืนไปหาความสุขข้างนอกตัวตายเลย
พอเห็นคนนั้นรวย มีรถหรู เราก็ตะกายอยากได้ ต้องเริ่มจากข้างในก่อน
เราอยู่ตรงนี้ทำยังไงให้มีความสุข หนึ่งเราต้องกลับไปที่สติ
ต้องระลึกรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน ภาษาพุทธเขาบอกให้อยู่กับปัจจุบันขณะ
ต้องรู้ว่าปัจจุบันขณะคืออะไร ผมตระหนักรู้ว่าผมอยู่อย่างนี้
มีอาชีพขายกาแฟ ผมจะทำยังไงให้เกิดประโยชน์ ให้ผมเจริญขึ้น
คนรอบข้างผมก็เจริญขึ้น คือเอาประโยชน์เข้ามาจับ
ถ้าขายไม่ดีก็ต้องรู้ว่าขายไม่ดี
ที่ไม่ดีก็เพราะเศรษฐกิจมันเป็นอย่างนี้ ก็ต้องยอมรับ”
ท้ายที่สุดแล้ว ในความคิดฝันของชายผู้ขายกาแฟมาตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี
นอกจากสิ่งที่ทำมาตลอดแล้ว ศักดิ์ชัยบอกว่าเขาเองก็มีความฝันเหมือนคนอื่นๆ
“ผมมีความฝันอยากจะทำเป็นร้านเหมือนกัน
แต่ไม่ใช่ร้านกาแฟสดซึ่งคนในระดับสูงเท่านั้นที่เข้าได้
ถ้าเราอยากให้คนเข้ามาทุกวัน เราต้องขายไม่แพง
ถ้าคนมาทุกวันเราก็จะได้สังคม
ผมอยากให้มีร้านกาแฟที่คนทุกวัยเข้ามาได้
ใครก็ได้ ไม่ต้องรวยนัก ไม่ต้องหรู
เป็นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามา
นี่คือฝันลึกๆ ของผม แต่ไปได้แค่ไหนผมไม่รู้เหมือนกัน
ปีหน้าจะห้าสิบแล้ว ก็ค่อยเป็นค่อยไป”

ที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=353121

ที่มา: สานแสงอรุณ ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๕ กันยายน-ตุลาคม ๒๕๕๑
*นำไปเผยแพร่ต่อ กรุณาอ้างอิงที่มา*











ไข่เพื่อชีวิต ร้านกาแฟโบราณเชียงราย
บรรยากาศยามเช้าปราศจากความวุ่นวายจากรถรา
ภาพผู้คนดำเนินชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่รีบร้อน
ช่างเป็นเสน่ห์ของเชียงราย
เสน่ห์ที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ
การออกได้ออกมาสัมผัสอากาศอันบริสุทธิ์ในตอนเช้าๆ
เป็นการชาร์ตแบตเตอรี่ให้ร่างกายอีกวิธีหนึ่ง
และคงจะดีไม่น้อยหากเช้านี้ได้แวะเติมพลัง
ก่อนที่จะเริ่มแอ่วเมืองเชียงรายกันต่อ
สองตาจึงเริ่มสอดส่ายหาของอร่อยตลอดสองข้างทาง
ส่วนภายในหูก็ยังแว่วเสียงเพลงเมนูไข่
บทเพลงพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ
ที่ฟังมาตั้งแต่เมื่อคืน ดังนั้นเป้าหมายของฉันนาทีนี้คือ
อาหารเช้าประเภทเมนูไข่ เท่านั้น
เดินอยู่พักใหญ่เท้าทั้งสองข้างก็มาหยุดตรงหน้ารถ
หรือจะเรียกว่าหน้าร้านก็ไม่ผิด เพราะร้านกาแฟโบราณเชียงราย
ของ คุณศักดิ์ชัย จันทร์กระจ่าง อยู่ในรถสีเหลืองคันเก๋า
ซึ่งจอดประจำอยู่บนถนนบรรพปราการมานับสิบปีแล้ว
พอมองเข้าไปข้างในรถจะเห็นอุปกรณ์ทำครัวอยู่เต็มไปหมด
ทั้งยังมีพ่อครัวเป็นหนุ่มผมยาว ผ้าโพกหัวแต่งกายเยี่ยงนักร้องเพื่อชีวิต
กำลังสาละวนกับการชงกาแฟทั้งร้อน เย็น
แลเห็นผู้ช่วยอีกคนนั่งทอดปาท่องโก๋อยู่ใกล้ๆ
ร้านนี้ถือว่าเป็นเจ้าแรกที่ขายกาแฟสดในเชียงราย
ฉะนั้นเรื่องความอร่อยของกาแฟคงไม่ต้องพูดถึง
ส่วนเรื่องอาหารการกินก็เป็นแบบง่ายๆ ที่เด็ดที่สุดคือ
ไข่กระทะ อัดแน่นไปด้วยหมูยอ ไส้กรอก ปูอัด หมูสับ
แบบชนิดที่ว่าไม่หวงเครื่อง โรยหน้าด้วยผักชีและต้นหอมซอย
ก่อนจะเพิ่มแตงกวากับมะเขือเทศหั่นแว่นไว้ให้รับประทานคู่กัน
เมนูนี้สนนราคาก็อยู่แค่ 30 บาทเท่านั้น ข้างๆ กันก็มี
ขนมปังปิ้งทาเนยหนึ่งแผ่น ราคา 10 บาท
พร้อมทั้ง ปาท่องโก๋ทอด ร้อนๆ ตัวละบาทอีก 10 ตัว
ที่ถูกนำออกมาเสิร์ฟก่อนใครเพื่อน
นอกจากนี้ทางร้านยังมีชาร้อนบริการจากใจอีกหนึ่งกาฟรีๆ
และถ้าหากจะให้อาหารเช้ามื้อนี้เต็มอิ่มยิ่งขึ้นจะขอเพลงเพราะๆ
พร้อมเสียงกีตาร์จากเจ้าของร้าน เค้าก็ยินดีเล่นให้ฟัง
ก่อนกลับอย่าลืมอ่านข้อคิดประจำวัน
ที่ชายผมยาวเจ้าของร้านบรรจงเขียนด้วยลายมือบนกระดานดำ
ข้อความหยิกแกมหยอกนั้นเรียกรอยยิ้มได้ไม่น้อย...
ถ้าใครอยากรู้ว่าแต่ละวันเค้าจะเขียนข้อคิดอะไรบ้าง
คงต้องตามไปอ่านถึงเชียงรายแล้วล่ะ
ร้านกาแฟโบราณเชียงราย ตั้งอยู่บนถนนบรรพปราการ
ฝั่งตรงข้ามกับร้านอาหารไทยราชบุรี เปิดตั้งแต่เวลา 05.00 น.
และปิดก่อนเที่ยง ใครอยากมาลองทานกาแฟที่นี่
แต่มาไม่ถูกก็สามารถสอบถามเส้นทางได้ที่
โทร. 08-6118-0044 หรือ 0-5374-8408

ติดตามอ่านได้ในนิตยสาร Voyage ฉบับเดือนธันวาคม 2551