Custom Search

Jun 27, 2016

บัณฑิต "ลิงจับหลัก"

ช่วงเวลา 4-5 เดือนที่ผ่านไปนี้มีบัณฑิตใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน และในจำนวนที่มีงานทำแทบทั้งหมดในขณะนี้อยู่ในสภาพของความกระวนกระวายใจหลายอย่าง ลองเข้าไปนั่งในใจของหนุ่มสาวเหล่านี้กันดู
 
ในขั้นแรก ผู้เข้าทำงานใหม่แทบทุกคนหวั่นไหวว่าจะไปทำงานอะไรให้เขาได้จนคุ้มค่าจ้าง อีกทั้งไม่มั่นใจว่าจะทำงานได้ และไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรให้นายจ้างตามที่เขาต้องการได้
 
เมื่อเข้าทำงานสักเดือนสองเดือนโดยทั่วไปก็เริ่มสบายใจขึ้น พอมองออกว่าตนเองมีค่าต่อนายจ้างอย่างไร เริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ดีจำนวนมากจะประสบสิ่งที่เรียกว่า culture shock กับการทำงาน กล่าวคือ ตกใจกับประสบการณ์ในการทำงาน เช่น ต้องตื่นเช้าไปทำงานตรงเวลา ต้องมีวินัยในการทำงาน แต่งตัวเรียบร้อย พูดจามีสัมมาคารวะ จะทำอะไรตามใจชอบอย่างที่เคยเป็นไม่ได้ ถูกดุว่าหรือดุด่าโดยลูกพี่หรือเจ้านาย ฯลฯ
 
สิ่งที่ทุกคนประสบ หากไม่เคยฝึกงานมาก่อนก็คือสภาพการณ์ที่ผิดไปจากที่คาดหวังไว้ สิ่งที่เคยนึกฝันว่าสถานที่ทำงานจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้คนจะดีและให้ความสำคัญแก่ตนเอง งานที่ทำตรงกับที่เรียนมา ฯลฯ ไม่เป็นความจริง ส่วนใหญ่ที่มีความสามารถในการปรับตัวก็จะทำใจได้เมื่อสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริง พวกที่ปรับใจไม่ได้ก็จะมีปฏิกิริยาหลายอย่าง เช่น ย้ายงานใหม่ ลาออก ทำงานอิสระเลิกทำงานโดยอยู่บ้านแทน ดิ้นรนเรียนต่อ ฯลฯ
 
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สำหรับบัณฑิตจำนวนมากที่อาจมีจำนวนถึง 2 ใน 3ของผู้ที่เรียนจบในปีนี้หรือประมาณ 2แสนคนจะบอกว่าไม่รู้เพราะยังหางานทำไม่ได้ สถิติของการหางานทำของบัณฑิตในปัจจุบันก็คือ 2ใน 10คน มีงานทำในเวลาหนึ่งปี (ผู้เขียนคิดว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป ถ้าใช้คำจำกัดการมีงานทำที่กว้างกว่านี้ เช่น ครอบคลุมไปถึงงานอิสระ ตัวเลขอาจอยู่ในระดับสูงกว่านี้พอควร ไม่ใช่เพียงแค่ 2)
 
จากการสังเกตด้วยตนเอง ผู้เขียนเชื่อว่าบัณฑิตที่หางานทำได้ยากหรือ “ทำงานต่ำกว่าระดับ” (ได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่บัณฑิตอื่นๆ ได้รับกัน) มักเป็นบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยขนาดเล็กในต่างจังหวัดในสาขา “โหล” เช่น บริหารธุรกิจ จัดการทั่วไป ฯลฯ กอบกับตลาดแรงงานในต่างจังหวัดเล็ก จ่ายค่าตอบแทนไม่สูง และบัณฑิตไม่มีทักษะในระดับที่ตรงกับความต้องการของตลาด
 
สำหรับบัณฑิตส่วนใหญ่จากมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่มีคุณภาพในกรุงเทพมหานครทั้งรัฐและเอกชนในแทบทุกสาขา การมีงานทำและได้ผลตอบแทนตรงกับระดับความรู้ความสามารถไม่ใช่เรื่องยากแม้แต่ในยามนี้ที่สภาพเศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้นอย่างแรง ไม่ว่าจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีผลโดยตรง จากอำนาจซื้อจากนักท่องเที่ยว จากการลงทุนจากต่างประเทศ ฯลฯ
 
สำหรับบัณฑิตเหล่านี้ซึ่งอยู่ในยุคของ “Me Generation” ที่เพิ่งทำงาน จิตใจว้าวุ่นเพราะมีโอกาสในการเลือกงานพอควร สิ่งที่ได้ยินคือการเปลี่ยนงานหลังจากการทำไปได้ 1-2เดือน หรือต่ำกว่านั้นเพื่อหาสถานที่ทำงานที่ “ดี” กว่า
 
“ดี” กว่าของบัณฑิตจำนวนมากก็คือเงินดี สวัสดิการดี ไม่ต้องเดินทางไกลมาก งานไม่หนักเกินไป ถ้าหายังไม่เจอก็จะทำงานไปพลางหาไปพลาง จนกว่าจะคิดว่าเจอ ในระหว่างทางก็ทำงานไปเรื่อยๆ โดยมิได้มุ่งมั่นบากบั่นมากนักเพราะใจคิดแต่จะย้ายเพื่อหางานใหม่ที่ ‘ดี’ กว่าอยู่ร่ำไป
 
การเรียนรู้งาน การพยายามเพิ่มคุณค่าของตัวเอง และการสร้างความไว้วางใจแก่ผู้เป็นนายและผู้ร่วมงานก็ย่อหย่อนไปเป็นธรรมดา เพราะใจมันไม่นิ่งเสียแล้ว บัณฑิตจบใหม่จำนวนมากทำงานในสภาวะจิตใจเช่นนี้
 
อย่างไรก็ดี ยังมีบัณฑิตจำนวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าแต่มีปัญญามากกว่า พวกนี้จะบากบั่นมุ่งมั่นทำงานที่ตนเองได้รับให้ดีที่สุด ถึงแม้จะไม่ใช่งานในฝันแต่ก็ไม่คิดจะย้ายงานในวันในพรุ่ง และถึงเงินจะไม่มากมายแต่หากเป็นงานที่ให้โอกาสที่ดีแก่ตนเองในการสร้างคุณค่าให้ตัวเองแล้ว พวกนี้จะทำงานเต็มที่ถึงแม้จะเป็นงานที่หนัก
 
กลุ่มที่มีปัญญานี้จะไปไกลในระยะยาวกว่าพวกชอบเล่น ‘ลิงจับหลัก’ เปลี่ยนงานเพื่อมองหางาน ‘เงินดี’ เพื่อสานฝันให้ตัวเองอย่างรวดเร็ว โดยหารู้ไม่ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ดีๆ ซึ่งเข้ามาอย่างรวดเร็วได้ (จะมีก็แต่น้ำท่วม หนี้ และความแก่เท่านั้น) ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปโดยอยู่บนพื้นฐานของความมีคุณค่าของตนเอง หรือพูดอย่างภาษาเศรษฐศาสตร์ก็คือการมีผลิตภาพ (productivity) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
คนในยุค Me Generation ส่วนใหญ่จะใจร้อน รอคอยอะไรไม่ค่อยได้ ครุ่นคิดแต่เรื่องจะ “ได้” โดยไม่ตระหนักว่าทุกอย่างมีต้นทุน (จะเก่งและรวยได้อย่างยั่งยืนก็ด้วยการเสียสละเวลา หยาดเหงื่อ และน้ำตา บากบั่นทำงานเพื่อเพิ่มพูนคุณค่าและผลิตภาพของตนเองเท่านั้น) โดยมีการมองชีวิตอย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า myopic กล่าวคือมองชนิดใกล้ๆ แคบๆ อย่างขาดวิจารณญาณที่ดี
 
ถ้าพูดให้ทันสมัยก็คือ คนเหล่านี้เป็นเหยื่อของสิ่งที่เรียกว่า survivorship bias (Rolf Dobelliบัญญัติศัพท์นี้ใน The Art of Thinking Clearly, 2013) กล่าวคือมีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติสู่ภาพลวงตาว่าความสำเร็จได้มาโดยง่ายในพริบตาเหมือนที่เห็นนางงาม นักแสดง และนักร้อง ร่ำรวยอย่างรวดเร็วในสื่อ โดยหารู้ไม่ว่าโดยแท้จริงแล้วมีคนอีกเป็นจำนวนแสนๆ และล้านๆ คนที่ล้มเหลว แต่ผู้คนไม่เคยรับรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้ สื่อทำให้เห็นแต่เฉพาะผู้ประสบความสำเร็จซึ่งคนทั่วไปมีความเป็นไปได้ในการพบความสำเร็จต่ำมากๆ
 
ที่น่าสมเพชก็คือ คนใจร้อนเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของคนฉลาดกว่าที่เข้าใจความใฝ่ฝันและความต้องการ ‘ได้’ อย่างรวดเร็วจนสามารถหาประโยชน์และเอาเปรียบได้เป็นอย่างดี
 
คำถามก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเตือนบัณฑิตประเภท ‘ลิงจับหลัก’ ให้เข้าใจความจริงของชีวิตว่าความยั่งยืนของความมั่งคั่งในชีวิตนั้นอยู่ที่ใด? ใครที่พยายามจะเตือนก็จงเตรียมรับความผิดหวังไว้มากๆ เพราะคนเหล่านี้มัก ‘ฟังแต่ไม่ได้ยิน’ เนื่องจากหูของเขาอื้อ จะไม่รับฟังคำสอนหรือคำเตือนของผู้ใดนอกเสียจากว่าคำพูดเหล่านั้นตรงกับสิ่งที่เขาอยากได้ยิน
 
คนขาดปัญญาก็เสมือนคนขาดวัคซีนชีวิต มีโอกาสที่จะรับเชื้อ ‘ถูกเอาเปรียบ’ หรือ ‘ถูกหาประโยชน์’ จนช้ำใจหรือเสียผู้เสียคนได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ
 

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์...

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 26 ส.ค. 2557

Jun 8, 2016

เซ็กส์ ความรัก และความควรจะเป็น



มติชนรายวัน

พฤ. 24 มี.ค. 54

วรากรณ์ สามโกเศศ

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
(รวม 3 หน้า)


http://kobkij.blogspot.com/2011/03/blog-post.html




นับตั้งแต่มีหญิงชายเกิดขึ้นมาในโลก
ความช้ำใจของหญิงและชายก็เป็นเงาคู่กันกับการมีสองเพศ
สาเหตุหลักของน้ำตาก็เพราะทั้งสองฝ่ายมีความต้องการและมีความคิดแตกต่างจากกัน
แต่ว่าแต่และฝ่ายมักทึกทักเอาว่าอีกเพศหนึ่งคิดเหมือนตนเอง
ดังนั้นถ้า แต่ละฝ่ายเข้าใจจุดสำคัญของความไม่เหมือนกันแล้วความชอกช้ำก็อาจลดน้อยลงไป
มนุษย์ยืน 2 ขามีหน้าตาเหมือนมนุษย์ปัจจุบันนี้ตั้งแต่เมื่อ 150,000 ปีก่อน
ก่อนหน้านี้และ 150,000 ปีที่ผ่านมา ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์ผู้ชายมีหน้าที่สำคัญคือ procreate
หรือผลิตลูกเพื่อให้ขยายเผ่าพันธุ์ให้ได้มากที่สุด นอกจากมนุษย์ตาย
เพราะสัตว์ร้ายง่ายดายเนื่องจากไม่มีเขี้ยวงาแล้วก็ยังตายด้วยสารพัดโรคอีก แถมภัยธรรมชาติอีกมากมาย
ผู้ชายจึงเปรียบเสมือนถูกฝังชิบไว้ในสมองให้นึกถึงเรื่องสำคัญอยู่เสมอ
เรื่องหนึ่งนั่นก็คือการมีเซ็กส์ ถ้าไม่มีความต้องการทางเพศก็ไม่มีการ procreate
ถ้าไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจทางเพศ (ถ้าน่าเบื่อหน่ายเหมือนการออกกำลังกายแล้วมนุษย์สูญพันธุ์แน่นอน) แล้ว ก็คงไม่มีมนุษยชาติ
ธรรมชาติจึงสร้างให้ชายสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงได้ ในเวลาใดก็ได้ ในฤดูใดก็ได้
(สัตว์นั้นจะผสมพันธุ์ตามฤดูกาล) และกับคนแปลกหน้าได้โดยไม่ต้องมีความรัก
ในทางตรงกันข้ามหญิงนั้นธรรมชาติสร้างมาให้เป็นผู้ให้กำเนิดทารก
สัญชาติญาณของการเป็นแม่จึงมีสูง ต้องการดูแลลูกตนเองและคนรอบข้าง
ต้องการความรักความอ่อนโยน มีความใฝ่ฝันที่จะมีคนรักที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี ต้องการคนที่ฉลาดและมีทรัพยากรที่จะดูแลเธอและลูกได้มาเป็นคู่
หนังสือชื่อ The Mating Game(Why Men Want Sex & Woman Need Love โดย
Alsan Barbara Pease (2010)
และ The Male Brain โดย Louann Brizendine (2010)
เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของการเขียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายชิ้นนี้
ฮอร์โมนชาย testosterone มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเด็กชายให้เป็นหนุ่มและทำให้เรื่องเพศเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต
ระหว่างอายุ 9 ถึง 15 ปี ระดับของฮอร์โมน testosterone
ในเลือดจะมีปริมาณเพิ่มถึง 20 เท่าตัว และลดลงเป็นลำดับเกือบเป็นเส้นตรงจนถึง 100 ปี
สิ่งพื้นฐานที่ผู้ชายต้องการเสมอจากผู้หญิงก็คือ
(1) เซ็กส์
(2) บริการพื้นฐานเรื่องอาหาร ดูแล การเป็นแม่ ฯลฯ
(3) มีคนรักใคร่และเป็น “หมายเลขหนึ่ง” เสมอ
(4) มีเวลาที่จะอยู่คนเดียวโดยไม่ถูกคู่รบกวน
ไม่ว่าผู้ชายคิดหรือทำอะไรก็ตามจะกรองผ่านความต้องการ 4 อย่างนี้เสมอ
เซ็กส์นั้นอยู่ในทุกอณูของความคิดของผู้ชายตั้งแต่เด็กจนแก่เนื่องจากชิบถูกฝังมาอย่างนั้นโดยธรรมชาติเพื่อprocreate
เหตุที่ต้องการบริการพื้นฐานของชายก็เพราะความอยู่รอดของตนเองในถ้ำแต่
ดึกดำบรรพ์นั้นจำเป็นต้องมีบริการนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาต้องเป็น “หนึ่ง” เสมอ
และปรารถนาที่จะมีเวลาเป็นอิสระของตนเองอีกด้วย เพื่อสรวลเสเฮฮากับเพื่อนหรือเล่นของเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน
(“เด็กกับผู้ใหญ่ผู้ชายแตกต่างกันตรงราคาของเล่น”)
สำหรับผู้หญิงนั้นเธอต้องการ 5 สิ่งจากผู้ชาย
(1) ความรัก (2) ความซื่อสัตย์ (3) ความเมตตากรุณา (4) ความผูกพัน และ (5) การศึกษาและความฉลาด
ถ้าขาดความรัก ความซื่อสัตย์ และความผูกพัน คู่ของเธอก็คงทิ้งไปถ้ำอื่นจนหาความมั่นคงในชีวิตไม่ได้
เพราะคงถูกทิ้งให้เธอและลูกอดตายแน่นอน เธอต้องการคนที่มีทรัพยากรและมีความเมตตากรุณาที่จะแบ่งให้เธอและลูก
ถ้าฝ่ายชายไม่ฉลาดไม่มีอาหารที่เก็บตุนไว้มาแบ่งแชร์กับเธอ ก็ไม่เอามาเป็นคู่
การเลือกคนฉลาดมาเป็นพ่อของลูกจึงเท่ากับเป็นการคัดสรรยีนส์ที่มีคุณภาพโดยธรรมชาติจนสามารถสืบทอดมนุษยชาติ
(มนุษย์ทำสิ่งที่อัศจรรย์ด้านเทคโนโลยีได้ แต่ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติและเอาชนะใจตนเองได้) มาจนถึงทุกวันนี้ได้
โดยทั่วไปชายนั้นถูกขับเคลื่อนด้วย “สมองที่อยู่ข้างล่าง”
จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จนหญิงหลงเชื่อว่าชายคิดเหมือนตนคือมีความรัก ความซื่อสัตย์
ความผูกพันเป็นพื้นฐาน รักกันไม่เสื่อมคลาย แต่เมื่อความตื่นเต้นหายไป “สมองที่อยู่ข้างล่าง”
ของชายก็ทำงานใหม่ไปเรื่อย ๆ และหญิงก็ช้ำใจไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนผู้ชายนั้นไม่ใช่ความรัก หากเป็นเซ็กส์
ถ้าหญิงรู้ว่าชายต้องการอะไรอย่างแท้จริง ก็จะระวังความรู้สึกของตัวเอง
ระวังการตกหลุมหลอกตัวเองว่าเขารักเธอ ซื่อสัตย์ต่อเธอ ผูกพันกับเธอ ความช้ำใจก็จะลดลงไปได้มาก
ชายก็เช่นเดียวกัน หากรักหญิงคนนั้นอย่างแท้จริงและตระหนักว่า
ตนเองถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งใดแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนความคิดและระวังตัวเองที่จะไม่ทำให้หญิงที่รักเจ็บช้ำ
ถ้าแต่ละฝ่ายเข้าใจสิ่งปรารถนาพื้นฐานของกันและกันเช่นนี้
น้ำตาคงจะไม่ไหลท่วมโลกเช่นทุกวันนี้อันเนื่องมาจากหญิงเข้าใจว่าชายรักเธอ
เหมือนที่เธอรักเขา และหญิงมองข้ามการชอบความตื่นเต้นโลดโผนแปลกใหม่ของเขาไป
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์ความเป็นจริงของชายและหญิงทั่วไป
ดังที่เรียกว่า positive statement (พูดว่ามันคืออะไร เช่น ฝนตกเมื่อวาน)
ไม่ใช่ข้อความที่เรียกว่า normative statement (พูดว่ามันควรจะเป็นอะไร เช่น ฝนไม่ควรตกเมื่อวาน)
การศึกษาอบรมบ่มเพาะทำให้ชายไม่จำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนตลอดเวลาด้วยเซ็กส์
ความมีศีลธรรมจรรยาควรข่มความปรารถนาพื้นฐานที่จะ procreate ของมนุษย์ได้
ผู้ชายสามารถมีรักจริง มิได้มุ่งหวังแต่เพศสัมพันธ์ มีความผูกพัน มีความซื่อสัตย์ได้
และก็ควรเป็นเช่นนั้นเพื่อทำให้ความรักที่เขามีต่อหญิงนั้นยั่งยืนเพราะสนองตอบสิ่งที่เธอต้องการ
ชายชาตรีที่แท้จริงจึงควรมีสมองอยู่ในที่ ๆ ควรจะเป็นของมัน
ไม่เคลื่อนย้ายลงมาต่ำกว่าเอวจนทำให้เกิดปัญหาชีวิตส่วนตัว ปัญหาครอบครัว
และสร้างความเจ็บช้ำระกำใจให้แก่หญิงที่เป็นเพศเดียวกับแม่

ธรรมสอนใจ กรรมเรื่องคู่