Custom Search

Mar 30, 2009

เจ้าฟ้า ในดวงใจ แห่ง วชิราวุธวิทยาลัย



ยังความปลาบปลื้มมาสู่ ชาว วชิราวุธวิทยาลัย อีกวาระหนึ่ง เมื่อได้ทราบความว่า
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พระราชธิดาพระองค์เดียวใน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
จะเสด็จมาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพักผ่อนพระอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์
ซึ่งการเสด็จมาครั้งนี้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระวรกาย
ที่ต้องการให้ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถในบรรยากาศอันร่มรื่น
โดยเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 52 ที่ผ่านมา
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งจากวังรื่นฤดี สุขุมวิท 38
มายังวชิราวุธวิทยาลัย
เมื่อเสด็จถึง นายสาโรจน์ ลีสวรรค์
ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยพร้อมคณะครูอาจารย์
บุคคลากรของโรงเรียน
เฝ้ารับเสด็จ ณ
ลานพระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
บริเวณหน้าหอประชุม จากนั้นเสด็จไปทรงสักการะ
พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชบิดาผู้สถาปนาโรงเรียน
ถวายพวงมาลัยของส่วนพระองค์
ทอดพระเนตรหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย
และเสด็จต่อไปยังสนามหญ้าข้างหอประชุม
ทอดเพระเนตรหมู่อาคารต่างๆ
เพื่อประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ราวครึ่งชั่วโมง
ในการนี้ ยังได้พระราชทานพระอนุญาตให้คณะผู้มาเข้าเฝ้าฉายพระรูปหมู่
ณ สนามข้างหอประชุม
จากนั้นทรงฉายพระรูปหน้าหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัยเป็นที่ระลึก
แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จกลับวังรื่นฤดี
ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์
ได้เสด็จมาวชิราวุธวิทยาลัยหลายวาระโอกาสด้วยกัน
ส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จมาในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศ
ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี
และจะเสด็จมาในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ที่จบการศึกษาไปแล้ว ซึ่งทั้ง 2 โอกาสนี้
เป็นการปฏิบัติพระภารกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำทุกปี
ตั้งแต่เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร นอกจากงานที่เสด็จแทนพระองค์แล้ว
ชาววชิราวุธวิทยาลัยยังได้เฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
ในโอกาสที่เสด็จมาโรงเรียนเป็นการส่วนพระองค์อีกหลายต่อหลายครั้ง
แสดงถึงความผูกพันของพระราชธิดาพระองค์เดียวในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6
ที่ทรงมีต่อโรงเรียนแห่งนี้เรื่อยมา
อาทิ การที่คณะผู้บริหารและนักเรียนวชิราวุธฯ
รุ่นแล้วรุ่นเล่าได้จัดงานถวายเลี้ยงพระสุธารสชากลางแจ้ง
ในบรรยากาศของงานเลี้ยงสังสรรค์และ
งานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำบนหอประชุมโรงเรียน
เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ (24 พ.ย.)
ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ และ 6 รอบ
ซึ่งครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ พระราชทานทุนทรัพย์ให้แก่
โรงเรียนเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ต่อไป ยังความซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น

ในช่วงหลังแม้พระพลานามัยของ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ

จะไม่แข็งแรงสมบูรณ์
ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติพระภารกิจ
อย่างที่เคยเป็นมาได้
ถึงอย่างนั้นความร่วมแรงร่วมใจ
ของชาววชิราวุธฯ
ในการแสดงความจงรักภักดี
ต่อพระองค์ก็มิได้เสื่อมคลาย
คณะผู้บริหาร อาจารย์
และนักเรียน
ยังคงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเข้า
เฝ้าทูลเกล้าฯถวายเครื่องเสวย ณ วังรื่นฤดี และพระตำหนักพัชราลัย หัวหิน
เมื่อยามแปรพระราชฐานอยู่ไม่เคยขาด พร้อมทั้งจัดวงดนตรีไทย และวงหัสดนตรีไปบรรเลงถวายโดยนักเรียนวชิราวุธฯในโอกาสสำคัญต่างๆ ด้วยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้ทรงพระเกษมสำราญให้สมกับที่ทรงเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าที่ทรงเป็นดั่ง "ดวงใจ"
ของชาววชิราวุธวิทยาลัยทุกคน
ทรงฉายพระรูปหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระราชบิดา














ประทับอยู่ในท่ามกลางสนามหญ้าอันเขียวขจีของโรงเรียน

ทรงพักผ่อนอิริยาบถ ณ บริเวณด้านหน้าหอประชุมโรงเรียน

Mar 28, 2009

จุดหมายที่ปลายเท้า


ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
"หนุ่มเมืองจันท์"
มติชนสุดสัปดาห์
วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

เผลอแป๊บเดียวงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเวียนมาถึงอีกแล้วครับ
ถึงวาระนี้ผมรู้เลยว่าท่านผู้อ่านอยากให้เขียนเรื่องอะไร
แนะนำหนังสือเล่มใหม่ของผมใช่ไหม??
ก็ได้ครับ จำใจจริงๆ
หนังสือชุด "ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ" เล่มนี้เป็นเล่มที่ 13 แล้ว
ทำสถิติเท่าเทียมกับหนัง "บ้านผีปอบ" พอดี
เล่มนี้ "ตุ๊-นก" น้องที่สำนักพิมพ์ออกคำสั่งว่าอยากได้เรื่องเกี่ยวกับ
การให้กำลังใจคนที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ
ขอแค่นี้สบายมาก...จัดให้ครับ ทุกครั้งที่มีวิกฤต
เราจะรู้สึกเหมือนกับคนที่เดินฝ่า "ความมืด"ไม่รู้ว่าจะก้าวเดินไปทางไหนดี
และไม่มั่นใจว่าจะออกจาก "ความมืด" ได้หรือไม่"ความมืด" นั้นไม่น่ากลัวเท่ากับ
"ทัศนคติ" ต่อ "ความมืด"และ "จินตนาการ" ในทางลบของเรา
"ความหวัง" และ "กำลังใจ" จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในเวลานี้
ดังนั้น ทุกครั้งที่มีน้องมาปรึกษาปัญหา
ผมจะแนะนำหลักคิดในการฝ่า "ความมืด" 2 เรื่อง
เรื่องแรก อย่าตัดสินใจอะไรในช่วงที่เรามีอารมณ์...โกรธ น้อยใจ เสียใจ
หรือหมดอาลัยตายอยากห้ามตัดสินใจเด็ดขาด
เพราะช่วงนั้นน้ำหนักของ "อารมณ์" มากกว่า "เหตุผล"
ตัดสินใจไปแล้วอาจได้แค่ความสะใจระยะสั้น
แต่ไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดเรื่องที่สอง
ให้ถือหลักการแก้ปัญหาเหมือนกับการเดินในความมืดยิ่งมืดเท่าไร
เราจะยิ่งก้าวช้าๆ อย่างระมัดระวังมากเท่านั้น"ใจ" อาจกำหนดทิศทางแต่
"สมาธิ" จะอยู่กับ "ปลายเท้า" ที่เหยียบย่างลงไป
อย่าเสียเวลามองย้อนกลับไปโหยหากับอดีตที่ผ่านไปแล้ว
หรือฝันถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงต้องทำตัวเป็นนักเต้นบัลเล่ต์ทำตัวให้สนุกบนปลายเท้าให้ได้
พอสั่งได้เรื่องหนึ่ง "ตุ๊-นก" ก็เริ่มเรื่องที่สอง
คราวนี้ไม่ได้สั่ง ทั้งสองคนอ้างว่าเป็นคำขอร้องแต่ห้ามปฏิเสธ
"ไม่เอาชื่อ...ตั้งใจมากอยากเอารูปขึ้นปก"ครับ
ผมประกาศในคำนำ "ไม่ตั้งใจแต่ทำไมจึงสุข" หนังสือเล่มก่อนหน้านี้ว่าเล่มใหม่ผมจะใช้ชื่อ
"ตั้งใจมากอยากมีรูปขึ้นปก"เรื่องนี้มีตำนานครับปกเล่มที่แล้ว
"ก้า" ที่ออกแบบปกเอารูปผมไว้ที่สันปก
ด้วยเหตุผลว่าชื่อหนังสือบอกชัดเจนว่า
"ไม่ตั้งใจ"ถ้าเอารูปขึ้นปก ก็แสดงว่า "ตั้งใจ"ผิดคอนเซ็ปต์ชื่อหนังสือ
ผมจึงประกาศกร้าวในคำนำผู้เขียนว่าจะตั้งชื่อหนังสือเล่มใหม่แบบไม่ให้
"ก้า" อ้างเหตุผลได้เลย"ตั้งใจมากอยากมีรูปขึ้นปก"กะเอารูปตัวเองขึ้นปกแบบเต็มๆ เสียที"
ทำไมใช้ชื่อนี้ไม่ได้" ผมถาม "ตุ๊-นก""เราต้องการหนังสือที่ให้กำลังใจคนอ่าน
ไม่ใช่หนังสือเอาแต่ใจตัวเองของนักเขียน
"เอ๊ะ...น้องพูดตรงเกินไปหรือเปล่าแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่มันก็พูดอ้อมๆ ได้
"ตุ๊-นก" พูดจบก็เดินหนีเลยทิ้งให้ผมต้องคิดชื่อหนังสือใหม่คิดตั้งหลายชื่อ
แต่ยังไม่ชอบจนแวบหนึ่ง
ผมนึกถึงเรื่องการเดินในความมืดนึกถึงการมองใกล้ๆ แค่ "ปลายเท้า""ปลายเท้า"
เป็น "รอยต่อ" ระหว่าง "ปัจจุบัน" กับ "อนาคต"
สังเกตไหมครับว่าทุกครั้งที่เราจะก้าวเดินเราจะลงน้ำหนักที่ "ปลายเท้า"
หรือแม้แต่ตอนที่หยุดนิ่ง ถ้าเราต้องการที่มองไกลไปอนาคตการเขย่งยืนก็ต้องพึ่งพา
"ปลายเท้า"ยิ่งคิด ผมยิ่งชอบ "ปลายเท้า"แล้วประโยคนี้ก็แวบเข้ามา
"จุดหมายที่ปลายเท้า"
หลังจากคำว่า "จุดหมายที่ปลายเท้า"
แวบเข้ามาในปลายสมอง ผมก็นึกถึงคำใกล้เคียง
"จุดหมายที่ปลายคาง"แบบนี้ต้องเป็นหนังสือแอ็กชั่น
ประมาณ "จา พนม"เล่นจริง เจ็บจริง
แต่ถ้าต้องการให้ติดเรต R แบบ "อมร"ต้อง..."จุดหมายที่ปลายลิ้น"
สุดท้ายเมื่อนึกถึงภาพลักษณ์ที่เปี่ยมด้วยสาระของตัวเองแล้ว
"จุดหมายที่ปลายเท้า" ดีที่สุดแม้ชื่อจะเปลี่ยนไปจากที่ตั้งใจไว้เมื่อเล่มที่แล้ว
แต่เป้าหมายของผมก็ยังเหมือนเดิมต้องเอารูปนักเขียนขึ้นปกตามคำเรียกร้องของผู้อ่าน
ที่ผมได้ยินทาง "ลมปราณ" มานานแสนนานหลังจากบอกชื่อหนังสือกับ "ก้า" แล้ว
ผมก็กระซิบยืนยันวัตถุประสงค์เพื่อผู้อ่านของผม
"นะ ก้านะให้ผู้อ่านสมหวังหน่อยเถอะ"
"ก้า" คิดนิดนึงแล้วตั้งคำถาม
"พี่ไม่กลัวคนอ่านจะตีความอะไรผิดๆ หรือ"
"ผิดตรงไหน"
"คิดดูสิ หน้าปกมีรูปหน้าพี่ แล้วมีคำอธิบายข้างล่างว่า...จุดหมายที่ปลายเท้า"
ผมสะดุ้งจริงดิ คำว่า "ปลายเท้า" ตัวใหญ่เบ้อเริ่มแต่มีหน้าผมเป็น "จุดโฟกัส"
มันจะคิดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากความละม้ายคล้ายคลึงจินตนาการต่อได้เลย
ว่าพจนานุกรมฉบับมติชนต้องบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นอย่างแน่นอน
จากที่เคยมีคำด่าว่าหน้าเหมือน "ส้น TEEN"
คราวนี้คนไทยก็จะได้ศัพท์ด่าคำใหม่หน้า ปลาย TEEN"
แล้วอธิบายความหมายด้วยใบหน้าของผม
แม้จะสามารถตีความในแง่ดีว่าเป็นช่วง "ปลาย" ของวัย "TEEN"
แต่คำนวณแล้วคนที่คิดในแง่ดีแบบนี้คงมีไม่เท่าไรได้ไม่คุ้มเสียผมนำเรื่องนี้ไปปรึกษา
"น้ายงค์" ด้วยความหวั่นเกรงว่าผู้อ่านจะผิดหวัง
"น้ายงค์" พยักหน้าอย่างเห็นใจก่อนเสนอทางแก้ไข
"ถ้ามีใครถามว่าทำไมไม่มีรูปบนปก ก็ให้ตอบแบบเซ็นว่า...จุดหมายอยู่ใต้เท้า"
น้ายงค์แนะ"แค่ดึงรองเท้าขึ้นก็เห็นแล้ว"
หน้า 24












ร่องรอย"ความดี"



คอลัมน์ แท็งก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
มติชน
วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552
ภาพ/เรื่อง มติชน



"เย็นย่ำวันที่ 18 มีนาคม สัปดาห์ก่อน" ที่บริเวณสนามหญ้าด้านหลังอาคารเก่าแก่
ซึ่งเคยเป็นที่ทำการกระทรวงพาณิชย์แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนรู้จักกันในนามของ
"มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ"
"ที่ตรงนั้น "มติชน"ขออาศัยใช้เป็นสถานที่จัดงานเปิดตัวหนังสือ ชื่อ "รอยลูกปัด" ครับ"
หนังสือเล่มนี้
"คุณหมอบัญชา พงษ์พานิช" เป็นคนเขียนคุณหมอบัญชา
นอกจากจะเป็นผู้หลงใหลในธรรมแล้ว
ยังหลงใหลในประวัติศาสตร์ชาติไทย
และโบราณคดีอีกด้วยในงานเปิดตัวหนังสือ
คุณหมอเล่าว่า
ระหว่างลงไปช่วยเพื่อนมนุษย์ที่ประสบภัย "สึนามิ" ทางภาคใต้
เมื่อปีกระโน้น
คุณหมอได้พบกับ "ลูกปัดโบราณ" กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
ในท้องถิ่นและนับจากนั้นเป็นต้นมา
คุณหมอก็เริ่มศึกษาแกะรอย จวบจนถึงวันนี้
สิ่งที่คุณหมอค้นคว้าและศึกษา ได้ปรากฏออกมาเป็นรูปเล่มรวม
เป็นหนังสือที่ชื่อ "รอยลูกปัด" หนังสือเล่มนี้ "สำนักพิมพ์มติชน"
จัดพิมพ์ "บริษัทงานดี จำกัด" จัดจำหน่ายภายในหนังสือได้บรรจุเรื่องราวมากมาย
บอกเล่าเรื่องราวลูกปัดโบราณที่ค้นพบในประเทศไทยลูกปัดที่ว่า
มีทั้งลูกปัดที่ทำด้วยหิน ลูกปัดที่ทำด้วยแก้ว
และลูกปัดทองคำลูกปัดแต่ละลูก
มีทั้งรูปทรงกลม รูปทรงรี รูปสี่เหลี่ยม
แม้กระทั่งรูปทรงอักษรตัว "ซี" ก็ยังเรียกว่าเป็นลูกปัดนอกจากนี้ ยังพบว่า
ลูกปัดบางจำพวกสามารถพบเห็นได้ทั่วโลกบางจำพวกสามารถพบเห็นเฉพาะบางภูมิภาค
และอีกไม่กี่ชนิดที่พบเห็นได้เฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้นใครที่ได้เห็น
และได้อ่านประวัติภายในหนังสือเล่มนี้ คงจะระลึกนึกถึงค่าของลูกปัดโบราณ
เพราะนอกจากจะมีรูปโฉมที่สวยงามเหมาะแก่การนำมาเป็นเครื่องประดับแล้ว
"ลูกปัดเหล่านี้ยังบอกเล่าความเป็นมาของมนุษย์บนดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้อีกด้วยครับ"
เข้าใจว่า ก่อนหน้านี้คงมีใครหลายคนที่รู้เรื่อง
และพยายามศึกษาค้นคว้าลูกปัดโบราณของไทยมาก่อน
แต่มีไม่กี่คนบันทึกเป็นหนังสือแบบจริงๆ จังๆ
คุณหมอบัญชานี่แหละครับ
ที่ได้ค้นคว้าและถ่ายทอดสิ่งที่ศึกษาลงไว้ในเล่มนำเสนอ "ของเก่า"
ในรูปเล่มแฟชั่น"สมัยใหม่"
โก้...ไม่หยอก
"แถมข้อเขียนยังสะกิดเตือนเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ไม่เคยมองเห็นคุณค่าของลูกปัดโบราณ"
"ให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองในอดีตกาล ผ่านลูกปัดโบราณเหล่านี้"
ความจริงแล้ว ลูกปัดโบราณที่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย
เป็นวัตถุโบราณที่มีคุณค่าติดตัวมานานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา
ไม่ใคร่จะมีผู้คนสนใจคุณค่าในตัวลูกปัดโบราณเหล่านั้นนักคงเหมือนกับ
โน้ตเพลงของนักประพันธ์เพลงคลาสสิค ที่อุดมด้วยคุณค่าทางดนตรี
แต่ไม่มีใครสนใจกระทั่งกาลเวลาผ่านไป จึงค่อยมีผู้พบเห็นคุณค่า
และนำผลงานชิ้นเยี่ยมของนักประพันธ์เพลงคลาสสิคคนนั้น
ออกเผยแพร่ผู้คนในโลกใบนี้จึงรู้จัก
และซึมซับคุณค่าของผลงานดังกล่าว
"ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้เรารู้ว่า คุณความดี
และคุณค่าที่เราสั่งสม กระทำกันมานั้น ไม่ได้สูญหายไปไหน"
เพียงแต่ บางครั้งการกระทำคุณความดีของเรานั้น ยังไม่มีผู้พบเห็น
หรืออาจจะเป็นเพราะยังไม่มีใครเห็นคุณค่าในการกระทำของเรา
เหมือนลูกปัดโบราณที่สั่งสมคุณค่าในตัวเองมานาน
แต่บังเอิญว่าที่ผ่านมายังไม่มีผู้ใดสนใจ
ผู้คนจึงยังไม่รับรู้คุณค่าของลูกปัดโบราณ
จนวันหนึ่งคุณหมอบัญชาไปพบเห็น
และสัมผัสได้ถึงคุณค่าของลูกปัดโบราณเหล่านั้น
คุณหมอบัญชาจึงนำเรื่องราวต่างๆ มาบอกต่อๆ กัน
ทำให้พวกเราคนไทยรับทราบถึงคุณค่าของลูกปัดโบราณดังนั้น
ใครบางคนที่กำลังรู้สึกท้อแท้
บ่นว่าทำดีไม่ได้ดีขอเถียง....เพราะความดีที่ทำนั้นไม่ได้สาบสูญหายไปไหน
"ทำดีนั้นย่อมได้ดีอยู่แล้ว" "เพียงแต่บางครั้ง
"ความดี" ที่เราทำ หรือ "คุณค่า" ที่เราสร้างสรรค์ ยังไม่มีใครรับรู้"
กระทั่งวันหนึ่ง มีคนที่มองเห็นความดีที่เราทำ มีคนที่สนใจคุณค่าที่เรามี
วันนั้นแหละครับ พวกเขาจะหยิบยกความดีและคุณค่าของเราขึ้นมาพูดเผยแพร่
ให้ผู้คนได้รับรู้ให้กว้างขวางขึ้น
"เหมือนลูกปัดโบราณที่เคยปนเปื้อน
อยู่ในดินและโคลน
มานานนับร้อยนับพันปี"
แต่คุณค่าของลูกปัดโบราณก็มิได้เสื่อมสูญ
"จนวันหนึ่งมีคนเห็นคุณค่าของมัน เฝ้าติดตามและแกะรอยความเป็นมาของมัน"
แล้วกลับมาบันทึกเป็นเรื่องเป็นราวให้ลูกหลานบนผืนแผ่นดินได้อ่าน"
อย่างหนังสือที่ชื่อ "รอยลูกปัด" นี่ไงล่ะครับ"
"สวัสดี"
หน้า 17

การบำรุงบิดามารดา



คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

คราวนี้มาว่าถึงการบำรุงบิดามารดา
อันนับเป็นสูตรแห่งความสำเร็จในชีวิตประการหนึ่ง
ได้ยินคำว่า "บำรุง" คงนึกไปถึงการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี
เลี้ยงให้อ้วนท้วนสมบูรณ์อะไรทำนองนั้น
ความจริงการบำรุงก็คือการเลี้ยงดู อ้วนหรือไม่อ้วนไม่เห็นท่านบอกไว้
อย่างผมนี่ผอมโดยกำเนิดอยู่แล้ว
ถึงลูกจะเลี้ยงดีปานใดก็คงไม่อ้วนขึ้นมาได้ ถ้าไปกำหนดว่าลูกต้องเลี้ยงพ่อแม่ให้อ้วน
ลูกผมแกคงน้อยใจที่ทำไม่ได้ความเป็นพ่อแม่เป็นได้สองชั้น คือ
เป็นโดยธรรมชาติ แต่งงานมีลูกออกมาก็เป็นพ่อแม่โดยอัตโนมัตินี่อย่างหนึ่ง
เป็นโดยคุณธรรม คือให้กำเนิดมาแล้วเลี้ยงลูกให้เจริญเติบโตนี่อีกอย่างหนึ่ง
พ่อแม่จึงนับว่ามีบุญต่อลูกถึงสองชั้นพระพุทธองค์ตรัสว่า
"พ่อแม่เป็นพรหม เป็นเทวดาองค์แรก เป็นอาจารย์คนแรก เป็นผู้ควรบูชาของบุตร"
เพราะเหตุใดจึงว่าเช่นนั้น เพราะพ่อแม่เป็นผู้ให้ลูกมีโอกาสลืมตาดูโลก (ทัสเสตาโร)
ถ้าอุแว้ออกมา พ่อแม่ใจร้ายจับหักคอโยนทิ้งก็คงไม่มีโอกาสได้เห็นโลกใช่ไหมครับ
นี่แลคือเหตุผลประการหนึ่ง
ประการที่สอง พ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงดูลูก อดหลับอดนอน
ป้อนน้ำป้อนข้าวตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย ทะนุถนอมด้วยความรักสุดชีวิตจิตใจ
ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม (โปสกา)
ประการที่สา เลี้ยงดูต่อเนื่องมาจนลูกเติบโต
คอยปกปักรักษาป้องกันอันตราย ให้การศึกษาเล่าเรียน
แต่งงานแต่งการให้เป็นฝั่งเป็นฝา บางรายยังอุปถัมภ์ต่อเนื่องไปจนถึงลูกของลูก
(ก็หลานนั่นแหละ) หรือถึงเหลนก็มี (อาปาทกา)การบำรุงพ่อแม่ทำอย่างไรจึงจะถูกหลัก
พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เสร็จทำตามเป็นใช้ได้ มีดังนี้ครับ-เลี้ยงดูท่าน
ไหนๆ ท่านก็เลี้ยงเรามาจนโต เวลาท่านแก่เฒ่ามาก็เลี้ยงท่านตอบ-ช่วยกิจการของท่าน
เอาเป็นธุระช่วยเหลือกิจการของท่าน ไม่เพิกเฉยดูดาย-ดำรงวงศ์สกุล มีครอบครัว
มีบุตรสืบสกุลวงศ์ให้ยาวนานหรือพยายามรักษาชื่อเสียงของวงศ์สกุล
ไม่นำความเสื่อมเสียมาให้แก่วงศ์สกุล-ทำตัวให้เป็นทายาทที่ดี มรดกใดๆ
ที่พ่อแม่ภาคภูมิใจมอบให้แก่ลูกไม่เท่ามรดกแห่งความดี
ถ้าลูกประพฤติตนเป็นพลเมืองดี ตั้งหน้าทำมาหากินโดยสุจริตชอบธรรม
ก็นับว่าทำตนสมเป็นทายาทที่ดีของสกุลวงศ์
มีลูกเช่นนี้พ่อแม่ตายตาหลับ-เมื่อท่านตายไป ทำบุญอุทิศให้
ลูกที่ดีไม่เพียงแต่ปรนนิบัติขณะท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
ท่านล่วงลับไปแล้วก็แสดงความกตัญญูกตเวทีให้ปรากฏ
ด้วยการทำบุญอุทิศให้ ตามหลักศาสนานี่คือการ "ตอบแทน" เล็กๆ น้อยๆ
ต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณมหาศาลเท่านั้น บุญคุณอย่างอื่นอาจทดแทนหายกันได้
แต่พระคุณที่พ่อแม่มีต่อลูกไม่มีทางทดแทนได้พ่อแม่มีบุญคุณมหาศาล
เกินกว่าจะทดแทนให้หมดไปได้ มิใช่พูดลอยๆ นะครับ มีพระพุทธวจนะตรัสไว้ที่หนึ่งว่า
ถึงลูกจะมีอายุ 100 ปี แบกพ่อแม่ ป้อนข้าวป้อนน้ำ
ให้พ่อแม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะรด ปรนนิบัติอย่างดีตลอด 100 ปี
ก็ไม่สามารถทดแทนคุณของพ่อแม่ได้คงไม่มีใครทำอย่างนั้นจริงๆ ดอก
สมมุติว่ามีคนทำจริงถึงขนาดนั้น ก็ยังไม่ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณพ่อแม่ได้หมด
ยกเว้นอย่างเดียวคือ การช่วยพ่อแม่ที่เป็นมิจฉาทิฐิให้กลายเป็นสัมมาทิฐิ
หรือโปรดพ่อแม่ให้บรรลุธรรมได้นั่นแหละ จึงจะนับว่าได้ตอบแทนคุณพ่อแม่ได้หมด
ดังกรณีพระสารีบุตรเถระพระสารีบุตรนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีปัญญามากแล้ว
ยังได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีความกตัญญูเป็นเลิศ
ท่านนับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์องค์แรกที่ชักนำให้ท่านเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
รู้ว่าอาจารย์อัสสชิอยู่ ณ ทิศใด เวลาจะนอน ท่านจะหันศีรษะไปทางทิศนั้น
เพื่อถวายความเคารพแก่อาจารย์ ท่านทำถึงขนาดนั้นนะครับที่ท่านทำอย่างนี้
คิดอีกทีท่านคงไม่ทำเพื่อตัวท่านเองเท่านั้น หากทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังด้วย
หมายความว่า แสดงตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตาม
เพื่อเชิดชูคุณธรรมคือความกตัญญูกตเวที
ถ้าโลกนี้มีคนที่รู้คุณคนและตอบแทนคุณคนมากเท่าใด
ก็จะมีแต่ความดีงามและสงบสุขมากเท่านั้นพระสารีบุตรท่านเป็นบุตรพราหมณ์มิจฉาทิฐิ
การที่ท่านมาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พ่อแม่มิได้เห็นดีเห็นงามด้วยนัก
ตอนหลังท่านชักนำน้องชายให้ออกบวชถึงสองคน
พ่อแม่ยิ่งไม่พอใจ แต่ไม่รู้จะทัดทานอย่างใดจึงหาทางป้องกัน
ยังเหลือลูกชายคนเล็กอีกคนชื่อ เรวตะ จึงจับแต่งงานตั้งแต่ 7 ขวบ
แต่ก็รั้งเรวตะไม่ได้ แต่คราวนี้มิใช่พี่ชายใหญ่พาไปบวช
บุญกุศลเก่าของเรวตะชักพาไปเอง ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งกล่าวอวยพร
หันไปพูดกับเจ้าสาวว่า ขอให้หนูอายุยืนเหมือนยายนะจ๊ะ
เรวตะถามว่า ยายคนไหน เขาชี้ไปที่ผู้หญิงแก่หง่อมคนหนึ่ง
จึงถามประสาเด็กว่า แล้วภรรยาผมต่อไปจะเป็นอย่างนี้หรือ
ได้รับคำตอบว่า ใครอยู่จนถึง 100 ปี เป็นอย่างนี้ทุกคน
จึงเกิดความกลัวอย่างหนัก หาโอกาสหนีไปบวชในที่สุด
เข้าใจว่าบิดาพระสารีบุตรเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว
เพราะตอนที่จัดงานแต่งงานให้เรวตะ น้องชายคนเล็กของท่าน
ไม่มีพูดถึงบิดาท่านเลยเมื่อพระสารีบุตรจวนจะนิพพาน (ตาย) นึกถึงมารดาว่า
ยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ จึงกราบทูลลาพระพุทธเจ้ากลับไปเยี่ยมมารดาที่บ้านเกิด
เพื่อเทศน์โปรดโยมมารดาครั้งสุดท้าย ไปถึงอาการท่านกำเริบหนักแล้ว
ท่านนอนพักอยู่ที่ห้องที่ท่านเกิด มารดาเห็นแสงวูบวาบๆ ตลอดทั้งคืน
เช้าขึ้นมาถามพระลูกชายว่าแสงอะไร พระลูกชายบอกว่า
เทวดามานมัสการท่าน โยมมารดาพอทราบว่า
พระลูกชายของตนใหญ่กว่าเทวดาก็มีความปีติยินดีเป็นล้นพ้นพระสารีบุตรรู้ว่า
ถึงตอนนี้โยมมารดามีจิตใจเลื่อมใสและเชื่อความสามารถของลูกชายแล้ว
(ก่อนนี้ไม่เชื่อเลย พระลูกชายมาหาถึงกับตะเพิดไล่ก็เคยมี)
จึงได้แสดงธรรมให้โยมมารดาฟัง
เทศน์จบโยมมารดาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลปลดเปลื้องหนี้ค่าน้ำนม
ทดแทนบุญคุณของผู้บังเกิดเกล้าหมดสิ้นแล้ว
ท่านก็นิพพานครับ ลูกที่ทำได้ดังพระสารีบุตรนี้เท่านั้น
จึงจะทดแทนพระคุณอันมหาศาลของพ่อแม่ได้
หน้า 6

Mar 26, 2009

กอดทองคำไว้กับบ้าน


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552

วิกฤต ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่ขาดเหตุขาดผลอย่างผิดปกติ
จนทำให้เกิดวิกฤตแก่ตนเอง หนักยิ่งขึ้น
ผมกำลังพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้
ที่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยกำลังมี
พฤติกรรมเกี่ยวกับทองคำที่แปลกประหลาดจนอาจเป็นอันตรายแก่ตนเองได้
ทองคำ เป็นสิ่งมีค่าที่มนุษย์เชื่อถือมาไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ปี
จนอาจเป็นโลหะชนิดแรกที่มนุษย์ใช้ในการประดับและประกอบพิธีกรรม
คำจารึกอียิปต์ในพีระมิดบันทึกไว้ชัดเจนถึงความสำคัญ
และเราก็ได้เห็นสิ่งงดงามที่ทำด้วยทองคำในหลุมฝังศพโบราณ
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันจีนก็ ผลิตเหรียญทองคำสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า Ying Yuan
และชาวโรมันก็รู้จักวิธีสกัดทองคำจากสินแร่จนผลิตได้เป็นกอบเป็นกำ
และตลอดประวัติศาสตร์ทองคำเป็นตัวแทนของความมั่งคั่งเพราะเป็นสิ่งที่ทุกคน
พร้อมใจยินดีรับเป็นตัวแทนของอาหาร หนี้สิน สิ่งตอบแทน ค่าจ้าง ฯลฯ
เชื่อกันว่าทองคำที่ผลิตกันออกมาทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
หากรวมกัน ทั้งหมดแล้วก็จะมีขนาดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมกว้างยาวและสูง 20.2 เมตร
หนัก 158,000 ตัน ทองคำมีความอัศจรรย์อย่างหนึ่งคือ
มีลักษณะกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Homogeneous)
ในคุณภาพซึ่งต่างจากโลหะ หรือเพชร หรืออัญมณีอื่นๆ
ซึ่งมีคุณภาพแตกต่างกันมากตั้งแต่ ค.ศ.1880 เป็นต้นมา
ประเทศแอฟริกาใต้เป็นแหล่งผลิตทองคำที่ใหญ่สุดของโลก
ร้อยละ 50 ของทองคำทั้งหมดที่ผลิตกันออกมามีที่มาจากแอฟริกาใต้
(ในปี 1970 ผลผลิตจากแอฟริกาใต้สูงถึง 1,000 ตัน
ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 79 ของผลผลิตโลก)
ในปี 2007 ผลผลิตของแอฟริกาใต้มีประมาณ 272 ตัน
จึงถูกแซงโดยจีนที่ผลิตได้ 276 ตัน
การแซงหน้าครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีประเทศอื่นแย่งการเป็นแชมป์
ผลิตทองคำของโลกไปนับตั้งแต่ ค.ศ.1905 เป็นต้นมา
ผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ในโลกปัจจุบันคือสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย เปรู
(เหมืองในรัฐเนวาดา และเซาท์ดาโกตา ของสหรัฐอเมริกา
สัพพลาย 2 ใน 3 ของทองคำที่ใช้กันในสหรัฐอเมริกา)
มีผู้พยายามผลิตทองคำจากน้ำทะเล
แต่ยังไม่สำเร็จเนื่องจากมีเนื้อทองคำอยู่ต่ำมากคือ (1-2 ส่วนต่อ 10 พันล้านส่วน)
ในขณะที่เหมืองทองคำบนดินมีเนื้อทองคำต่ำสุดคือ 5,000 ส่วนต่อ 10 พันล้านส่วน
หรือครึ่งกรัมต่อน้ำหนักหินที่ขุด 1,000 กิโลกรัมทองคำ
เป็นสินแร่ที่ขาดแคลนเพราะมีผู้ต้องการใช้มากกว่ามีให้ใช้
ดีมานด์ของทองคำพุ่งสูงขึ้นเมื่อจีนและอินเดียมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมาก
และในประเทศเหล่านี้ทองคำเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและวัฒนธรรม
วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008
ทำให้เกิดความไม่แน่นอนจนช่วยผลักให้ความต้องการทองคำพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
ราคาทองคำจึงสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งว่ากันว่าต้นทุนโดยเฉลี่ยของ
ทองคำจากการขุดและสกัดออกมาเป็นเนื้อทองอยู่ที่
ประมาณ 238 เหรียญสหรัฐต่อทรอยเอาซ์
(หน่วยของทองคำโดย 1 ทรอยเอาซ์ หนัก 31.1034768 กรัม
ดังนั้น 1 บาทของทองไทยจึงหนัก 0.4887 ทรอยเอาซ์)
แต่ก็ผันแปรพอควรโดยขึ้นอยู่กับลักษณะของเหมืองและคุณภาพของสินแร่
อย่างไรก็ดี ราคาของทองคำปัจจุบันขึ้นไปใกล้ 1,000 เหรียญต่อทรอยเอาซ์
หรือประมาณเกือบ 16,000 บาทต่อหนึ่งบาทนับตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา
ทองคำมีราคาผันแปรอย่างมาก ต่ำสุดคือ 252.90 เหรียญต่อทรอยเอาซ์
ในปี 1999 ขึ้นไปถึง 850 เหรียญในปี 1980 และขึ้นไปสูงกว่า 1,000 เหรียญ
ในเดือนมีนาคม 2008ในสภาพการณ์
เศรษฐกิจปั่นป่วนทั่วโลกโดยมีสาเหตุมาจากการขาดธรรมาภิบาลของ
investment bankers ในสหรัฐอเมริกา
และการขาดการควบคุมกำกับดูแลที่ดีของทางการสหรัฐอเมริกาตลอด
จนความโลภโมโทสันของมนุษย์ทั่วโลกและความไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้ (ignorance)
ในเรื่องการลงทุนใน ตราสารหนี้แบบใหม่ๆ
คนอเมริกันจำนวนมากเกิดความไม่ไว้วางใจสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
ไม่ไว้วางใจภาครัฐ ไม่ไว้วางใจธนาคาร ฯลฯผู้ซื้อทองคำแท่งและเหรียญ
ที่เป็นตัวแทนของความมั่งคั่งต่างๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ลงทุนในทองคำ
แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ นักเก็งกำไร (speculators)
และนักเก็บ (hoarders) ประเภทแรกซื้อขายแบบปกติและในตลาดล่วงหน้า
ปัจจุบันประกอบธุรกรรมกันบนจอคอมพิวเตอร์ ไม่มีการถือครองทองคำจริง
พวกนี้หวังสร้างกำไรระยะสั้น ส่วนประเภทหลังต้องการทองคำของจริง
เพื่อเก็บไว้หากมีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้น
ในอนาคตอันใกล้ปัจจุบัน "นักเก็บ" ประเภทหลังมีจำนวนมากขึ้นทุกที
เพราะไม่ไว้วางใจสถานการณ์ พวกเขาเชื่อว่า
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโอบามาจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ รุนแรง
หากถือทองคำไว้ก็จะไม่เจ็บตัวเพราะราคาจะปรับตัวตามเงินเฟ้อ
และหากการแก้ไขปัญหาล้มเหลว อย่างไรเสียก็ไม่หนีต้องพึ่งพาทองคำอีกที่
เลวร้ายกว่านี้ก็คือพวกเขาไม่ไว้ใจธนาคาร กลัวการลักขโมย
(ค่าเช่าเซฟธนาคารก็มีราคาสูงและหากประกันอีกก็จะสิ้นเปลืองเงินมาก)
กลัวการฉ้อฉลโดยธนาคารและ CEO (ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย)
กลัวว่าหากธนาคารมีปัญหาจะสกัดกั้นไม่ให้เขาเปิดตู้เซฟเอาทองคำออกมาได้ ฯลฯ
ทางออก ก็คือเอามาเก็บไว้ที่บ้านเพื่อความอุ่นใจ
ผู้คนจำนวนมากซื้อตู้เซฟมาเก็บทองคำแท่งและเหรียญจนตู้เซฟขายดีมาก
(บริษัทขายตู้เซฟโฆษณาว่า "มันเป็นธนาคารที่ไม่มีวันปิด")
โดยไม่สนใจที่จะเช่าตู้เซฟของธนาคารไว้เก็บทองคำและของมีค่า
ปรากฏการณ์ นี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจของคนอเมริกันที่มีต่อสถาบันต่างๆ
ไม่หวังพึ่งคนอื่นนอกจากตนเอง เพราะมีบทเรียนที่เจ็บปวดให้เห็นตำตา
อย่างไรก็ดี สิ่งที่คนอเมริกันเหลานี้ไม่รู้จักก็คือ "กลุ่มไอ้หมูสกปรก"
ที่เจาะเซฟในประเทศไทยได้เงินไปนับร้อยๆ ล้านบาท
(น่าสงสัยอย่าง ยิ่งว่า
(ก) ทำไมคนบางคนจึงรวยกันได้ถึงขนาดนั้น
(ข) ทำไมจึงเก็บเงินสดไว้นับสิบๆ ล้านบาท โดยไม่หวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ย? และ
(ค) เงินเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไรและมีการเสียภาษีกันครบถ้วนหรือไม่?
ถ้าเป็นบางประเทศ ป่านนี้สรรพากรตรวจสอบกันสนุกไปแล้ว)
ไม่หวังพึ่งใครและไม่ไว้วางใจคนอื่นก็ดีอยู่หรอก
แต่การกอดทองคำมูลค่ามากๆ ไว้กับบ้านก็เท่ากับ
เป็นการเชื้อเชิญอาชญากรเข้าบ้านโดยแท้
หน้า 6

Mar 24, 2009

กระเป๋าวิเศษ


คอลัมน์ แท็งก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ

มติชน

max@matichon.co.th

วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552


เคยอ่านหรือเคยชมภาพยนตร์การ์ตูน "โดเรมอน" หรือเปล่าครับ
ใช่แล้ว! โดเรมอนที่บางคนเขาเรียกว่า "โดราเอมอน"
นั่นแหละครับ
โดเรมอน หรือโดราเอมอน ในภาพยนตร์การ์ตูนเป็นหุ่นยนต์แมว
แต่ดันกลัวหนูสุดชีวิต

เสน่ห์ของโดเรมอน นอกจากจะเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลโนบิตะ
พระเอกตามท้องเรื่องแล้ว
โดเรมอนยังมีกระเป๋าวิเศษติดตัวด้วย
วันก่อนสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี
ต้อนรับปิดเทอมด้วยการนำภาพยนตร์การ์ตูนโดเรมอนมาฉายให้ดูอีกครั้ง
โดเรมอนตัวนั้นยังเป็นโดเรมอนตัวเดิมครับ
โดเรมอนที่เห็นยังมีกระเป๋าวิเศษอยู่เหมือนเดิม
"กระเป๋าโดเรมอนมีคุณสมบัติพิเศษตรงที่กว้างใหญ่ไพศาล
สามารถใส่อะไรลงไปก็ได้ทั้งนั้น"
และสิ่งที่บรรจุอยู่ในกระเป๋าโดเรมอน
ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์...ใหม่ล้ำสมัย
อย่าง ค็อปเตอร์ไม้ไผ่ ประตูกาลเวลา หรือไฟฉายย่อส่วน เป็นต้น
จำได้ว่าเด็กหลายคนอยากได้กระเป๋าวิเศษใบนี้
เพราะคิดว่าถ้ามีกระเป๋าใบนี้แล้ว

จะสามารถหยิบสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ออกมาใช้ได้ ...สบายๆ
แต่พอกาลเวลาผ่านไป หลายคนก็ลืมความฝันเหล่านั้นไปหมด
เพราะเข้าใจแล้วว่า นั่นเป็นเพียงแค่การ์ตูน
กระเป๋าโดเรมอนไม่มีจริงในโลก
นี้
"แต่หากเราไม่ติดยึดที่รูปลักษณ์ของกระเป๋าวิเศษ"
แล้วกลับมาลองให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของกระเป๋าวิเศษใบนั้น
เราก็จะพบว่า พวกเราทุกคนมีสิ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ
กับกระเป๋าโดเรมอนเหมือนกัน
เราเรียกมันว่า "ความคิด" ครับ
""ความคิด" ที่ว่านี่แหละครับที่มีคุณสมบัติเหมือนกับกระเป๋าโดเรมอน"
"ความคิด" มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลสุดหยั่งคาด
"เราสามารถบรรจุบ้านทั้งหลังไว้ใน "ความคิด" สามารถใส่โลกทั้งใบ

หรือใส่จักรวาลทั้งหมดลงในความคิดของเราได้อย่างไม่จำกัด"
ขอเพียงให้เราได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น หรือได้สัมผัส
ไม่ว่าสิ่งที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัส จะมีขนาดใหญ่โตปานใด
จะมีความซับซ้อนแค่ไหน
เราก็ยังสามารถจับใส่ "ความคิด" ของเราได้หมดสิ้น
เห็นไหมว่า คุณสมบัติของ "ความคิด" เหมือนกับ
"กระเป๋าวิเศษ" ของโดเรมอนเปี๊ยบเลย
ส่วนสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่อยู่ในกระเป๋าวิเศษโดเรมอนนั้น
โดเรมอนต้องไปขวนขวายหามาใส่เอาเอง
คือต้องไปสรรหาหรือสรรสร้างมาก่อน

แล้วจึงมาเก็บเอาไว้ในกระเป๋า
เพื่อนำไปใช้งานในยามที่ต้องการ

ก็เหมือนกับพวกเราอีกนั่นแหละครับ
แม้ความคิดจะมีคุณสมบัติพิเศษ
คือมีพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล

"แต่พวกเราทุกคนจะต้องเป็นคนขวนขวายหาสิ่งต่างๆ
มาใส่ไว้ในความคิดด้วยตัวเอง"
เพื่อว่าวันหนึ่งเมื่อถึงคราวที่ต้องการ
เราจะได้นำเอาสิ่งที่เก็บไว้นั้นมาใช้
"เหมือนอย่างคำบอกเล่าของอาจารย์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา"

อาจารย์อาจอง เป็นดอกเตอร์ชาวไทยที่สร้างชื่อเสียง
ระบือไกลที่องค์การนาซา สหรัฐอเมริกา
เพราะก่อนหน้านี้ ตอนสหรัฐอเมริกากำลังคึกเรื่องดวงดาว
ได้พยายามนำยานอวกาศไปลงดาวเคราะห์อื่นๆ
นอกเหนือจากดวงจันทร์
แต่ลงไม่ได้ครับ !
เพราะชาวโลกไม่สามารถควบคุมระบบลงจอดได้
แต่อาจารย์อาจอง นักวิทยาศาสตร์คนไทยกลับคิดได้
อาจารย์อาจองเล่าให้ใครต่อใครฟังว่า
ก่อนจะคิดประดิษฐ์ระบบควบคุมการจอดของยานอวกาศได้
ท่านและทีมงานต้องทำการศึกษา และวิจัยอย่างหนัก
"การศึกษาและวิจัยคือการขวนขวายหาสิ่งดีๆ ใส่เข้าไปในความคิด"
แต่แม้จะศึกษาและวิจัยเช่นไร ก็ยังไม่สามารถคิดค้นระบบที่ต้องการได้
กระทั่งวันหนึ่ง อาจารย์อาจอง ตัดสินใจขึ้นเขาไปนั่งสมาธิ
นั่งนิ่งๆ หายใจลึกๆ อยู่ 4 วัน
พอเข้าสู่วันที่ 5 สิ่งต่างๆ ที่บรรจุอยู่ใน "ความคิด" ก็เริ่มสำแดงฤทธิ์
เกิดปรากฏการณ์แวบขึ้นมาในสมอง
"ในที่สุดอาจารย์อาจองก็สามารถคิดค้นระบบที่
ช่วยให้ยานอวกาศลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ"
ทั้งหมดเป็นผลพวงจาก "กระเป๋าวิเศษ" ของมนุษยชาติ...
และก็เหมือนกับขั้นตอนการเกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ อื่นๆ ที่เราเห็นกันอยู่
"ทุกๆ อย่างล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจาก "ความคิด" ของมนุษยชาติทั้งนั้นแหละครับ"
เหมือนโดเรมอนหยิบเอาสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ออกมาจากกระเป๋าวิเศษเปี๊ยบเลย
ดังนั้น ใครที่เคยฝันว่าอยากมีกระเป๋าวิเศษเหมือนโดเรมอน
วันนี้ขอให้ภูมิใจเถอะครับว่า พวกเรามีกระเป๋าวิเศษอยู่ติดกับตัวมาโดยตลอด
เพียงแต่บางคนลืมที่จะขวนขวายหาสิ่งดีๆ ใส่เข้าไปในกระเป๋าวิเศษใบนี้
อีกหลายคน แทนที่จะใส่สิ่งดีๆ เข้าไป กลับใส่แต่สิ่งร้ายๆ เข้าไปแทน
พวกเขาและเธอเหล่านั้น จึงไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ขึ้นมาได้
ตรงกันข้ามกับอีกหลายคนที่ขยันขันแข็ง
ในการขวนขวายหาสิ่งดีๆ มาใส่ไว้ข้างในความคิดของตัวเองตลอดเวลา
คนเหล่านี้แหละครับที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ออกมาให้เห็นเราได้เห็น
เหมือนโดเรมอนที่สามารถสรรหาสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่
ออกมาให้พบเห็นได้ตลอดเวลา
สวัสดี

หน้า 17

ศิลปะ และ วินัย


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

สูตรแห่งความสำเร็จในชีวิตที่ผมจะกล่าวในอาทิตย์นี้มี 2 ข้อ
ด้วยกัน คือ ศิลปะ และวินัย

สิปปะ หรือ ศิลปะ คำนี้คนไทยสมัยนี้จะเข้าใจอย่างไร
ก็ช่างเถอะนะครับ แต่ในมงคล 38 ประการนี้
ท่านอธิบายเน้นหนักไปในทางการเป็นช่าง
หรืออีกนัยหนึ่งคือ "ทำเก่ง ทำเป็น"
พาหุสัจจะ (ความคงแก่เรียน)
นั้นเป็นเรื่องของ "นักรู้" แต่สิปปะ หรือศิลปะ
เป็นเรื่องของ "นักทำ"
รวมสองอย่างเข้าด้วยกันเรียกว่า "ศิลปวิทยา" คนมีศิลปวิทยา
จึงหมายถึงคนที่รู้เรื่องนั้นๆ อย่างดีและทำได้อย่างดีด้วย

คนที่รู้เรื่องแกงส้มอย่างดี อธิบายบอกส่วนผสมปรุงแต่งฉอดๆ
แต่พอให้ทำแกงส้มดูบ้าง เงอะๆ งะๆ แถมยังรสชาติไม่เอาไหน
อย่างนี้เรียกได้เพียงว่า เป็นพหูสูตในเรื่องการทำแกงส้ม

อีกคนรู้ดีด้วยว่า แกงส้มต้องทำอย่างไร ใส่อะไรลงไปบ้าง
และสามารถแกงส้มออกมามีรสชาติเอร็ดอร่อยดีด้วย
อย่างนี้เรียกว่าเป็น "ผู้มีศิลปวิทยาในเรื่องแกงส้ม"

สุภาษิตบทหนึ่งว่า
"รู้อะไรให้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล"
ว่ากันว่าเป็นวาทะของสุนทรภู่ จริงหรือไม่จริงก็ช่างเถอะครับ
เอาเป็นว่าสุภาษิตอย่างนี้แหละจำกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง
สุภาษิตบทนี้มิได้หมายความเพียงการเรียนรู้อย่างเดียว
หากครอบคลุมถึงการทำด้วย เช่น รู้เรื่องแกงส้ม ต้องแกงส้มเป็น
และแกงได้อร่อยเหาะด้วย อย่างนี้เกิดผลแน่นอน

ขอให้ฝีมือดีเสียอย่าง
คุณจะไปหลบมุมตั้งร้านขายอยู่ในตรอกซอกซอยลึกขนาดไหน
ก็จะมีคน "ซอกแซก" และ "ซอกซอน" ตามไปกินจนได้นั่นแหละครับ
บางทีอยู่ไกลเป็นร้อยๆ กิโล ยังอุตส่าห์นั่งรถไปกินเลยครับ
ไม่เชื่อถาม "อาหม่อม" ถนัดศรีของผมดูสิครับ

ทำไมคนจึงต้องลงทุนขับรถไปกินไกลๆ เพื่อจะกินแกงส้มถ้วยเดียว
คำตอบคือ คนทำเขามี "ศิลปะ" ในเรื่องแกงส้ม เรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน
(เดี๋ยวจะหาว่าได้สปอนเซอร์แนะนำแต่แกงส้ม)

เพราะฉะนั้น
ผู้รู้จึงกล่าวว่า สาธุ โข สิปฺปกํ นาม อปิยาทิสกีทิสํ =
ขึ้นชื่อว่าศิลปะอย่างไหนก็ได้ดีทั้งนั้น
เรื่องอะไรก็ตามขอให้เชี่ยวชาญเถิดมีประโยชน์ทั้งนั้น
อาชีพที่สุจริตอะไรก็ได้ครับ ทำให้เก่งให้เชี่ยวชาญแล้วจะเจริญแน่นอน
แต่อย่าใช้ไปในทางทุจริตเบียดเบียนคนอื่นล่ะ
นั่นมันทางฉิบหายครับ

บุรุษเปลี้ย (คนแคระ) คนหนึ่งดีดก้อนกรวดเก่งมาก
ดีดใส่ใบไม้บนต้นไม้ฉลุเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ได้สวยงาม
แกอาศัยศิลปะนี้เลี้ยงชีพอย่างสบาย
วันหนึ่งพระราชาทรงนำเขาเข้าวัง ซ่อนไว้หลังม่าน
ให้ดีดขี้แพะใส่ปากปุโรหิตพูดมากคนหนึ่งโดยเขาไม่รู้ตัว
กว่าจะรู้อะไรเป็นอะไรก็กลืนขี้แพะจนเต็มพุง
ตั้งแต่นั้นมา ปุโรหิตปากมากกลายเป็นคนพูดน้อย
"จอมยุทธ์แคระ" ได้รับพระราชทานรางวัลมากมาย

ชายคนหนึ่งเรียนศิลปะนี้จากจอมยุทธ์แคระ
ด้วยความคะนองมือ ดีดกรวดเข้าหูพระปัจเจกพุทธองค์หนึ่ง
ก้อนกรวดเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แม่นยังกับจับวาง
พระปัจเจกพุทธปรินิพพาน (ในที่นี้แปลว่าตาย)
ในเวลาต่อมา ไอ้หมอนั่นยังไปคุยว่า
ตัวเองดีดกรวดแม่นมากเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาท่านนี้ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย
ถ้าไม่บอกไม่มีใครรู้นะว่าท่านนี้ตายเพราะตน
เลยถูกประชาชนประชาทัณฑ์ตาย สมน้ำหน้า

แค่กรวดธรรมดาๆ ถ้าดีดเก่งชำนาญอย่างจอมยุทธ์แคระก็เอาตัวรอดได้
แต่ถึงจะเก่งกาจอย่างไร
ถ้าใช้ความเก่งนั้นในทางที่ผิดก็ประสบหายนะ
ดุจดังชายคนที่สองในนิทานนี้แล

สูตรแห่งความสำเร็จในชีวิตข้อต่อไปคือ
วินัยที่ศึกษาดีแล้ว
คำว่า "วินัยที่ศึกษาดีแล้ว"
มิใช่เพียงการเรียนรู้เกี่ยวกับระเบียบวินัย ว่ามีอะไรบ้าง
แต่หมายถึงการฝึกอบรมตนให้มีระเบียบวินัยด้วย

คำว่า "ศึกษา" คำนี้มักจะมีปัญหาสำหรับคนไทย
คือมักแปลกันว่า "การเล่าเรียน"
ที่จริงแล้ว ความหมายของคำเดิมหมายเอาการปฏิบัติการลงมือกระทำ
หรือการฝึกฝนอบรมตน
เพราะฉะนั้น
เมื่อพูดถึงวินัยที่ศึกษาดีแล้ว
จึงมุ่งไปที่วินัยที่ฝึกฝนอบรมดีแล้ว
หรือความมีวินัยนั้นเอง
พูดถึงวินัยก็นึกถึงอีกคำหนึ่งที่มักใช่คู่กันคือ ศีล
สองคำนี้คล้ายกัน แต่ขอบเขตกว้างแคบไม่เท่ากัน

ศีล หมายเอาข้อห้าม ข้อบังคับ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สิกขาบท"
วินัย หมายถึง ระบบทั้งหมด ที่ฝึกหัดอบรมคนอันครอบคลุมถึงศีล
หรือสิกขาบทด้วย
อย่างในกรณีของพระภิกษุ
ถ้าพูดถึงศีล (หรือสิกขาบท) ของภิกษุ ก็หมายถึงข้อห้าม 227 ข้อ
แต่ถ้าพูดถึงวินัยของพระภิกษุก็หมายถึงข้อบังคับ 227 ข้อนั้นด้วย
ทั้งระเบียบแบบแผนอื่นๆ ที่พระสงฆ์จะพึงปฏิบัติเพื่อให้เหมาะ
แก่การเป็นบรรพชิตที่ดีงามด้วย

ขอโทษที่ต้องอธิบายศัพท์แสงยืดยาว
เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจร่วมกัน
เรื่องของพระของเจ้าก็ยุ่งยากอย่างนี้แหละ
ถ้าไม่ตกลงกันก่อนว่า คำนี้หมายถึงอย่างนี้
เดี๋ยวจะกลายเป็นการพูดคนละเรื่องเดียวกัน

ผู้รู้ท่านหนึ่งพูดว่า วินัยก็คือ "แบบ"
ที่หล่อหลอมให้คนเป็นคนดีมีคุณค่าในสังคมเห็นว่า
ท่านพูดเข้าท่าดีจึงขอจำฝีปากท่านมาขยายให้ฟัง

ดินเหนียวตามท้องไร่ท้องนา
มันก็คือดินธรรมดาๆ หาค่าอันใดมิได้
แม้เศษดินเพียงนิดเดียวติดเท้าขึ้นมาเรือนใคร
เขาก็รังเกียจหาว่าทำให้บ้านเรือนเขาสกปรก

แต่ถ้าเอาดินเหนียวนั้นมากดเข้าไปในแบบที่เขาทำไว้
เช่น แบบตุ๊กตา แล้วแกะออกมาเป็นตุ๊กตาที่งาม น่ารัก
ใครเห็นใครก็อยากได้ ได้ไปแล้วนำไปตั้งอวดใครต่อใครอย่างภาคภูมิใจ
มันก็ดินเหนียวที่เคยรังเกียจนักหนานั่นแหละ
แต่ทำไมคราวนี้จึงกลายเป็นของมีค่า น่าดู น่าชมได้ถึงขนาดนั้น

หรือเศษโลหะที่คนเขาเอาโยนทิ้งตามที่ต่างๆ
ครั้นช่างหล่อเขาเอาไปหลอมเข้ากับแบบออกมา
เป็นพระพุทธรูปสวยสดงดงาม
ใครเห็นใครก็กราบไหว้บูชา เดิมก็เศษเหล็กไร้ค่านั่นเอง
แต่ทำไมจึงกลายเป็นวัตถุเคารพอันทรงคุณค่า

เพราะ "แบบ" ใช่ไหม ที่ทำให้ดินเป็นตุ๊กตา
ทำเศษโลหะให้เป็นพระปฏิมา
ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ
วินัยนับว่าเป็นแบบที่ทำคนให้มีคุณค่า
วินัยนี่แหละที่ทำให้พลเรือนเป็นทหาร
วินัยนี่แหละที่ทำให้ลูกหลานชาวบ้านเป็นเณรเป็นพระ
แม้คนเหล่านี้จะมีอายุน้อยปูนลูกปูนหลาน
ญาติโยมแก่ๆ ยังยกมือไหว้ อย่าว่าแต่สามัญชนเลย
แม้องค์พระมหากษัตริย์ยังเคารพ
นี่มิใช่อิทธิพลของวินัยดอกหรือ

อยากเป็นคนมีคุณค่าและประสบความสำเร็จในชีวิต
ก็จงทำตนให้มีระเบียบเถอะครับ
พระก็รักษาวินัยของพระ คฤหัสถ์ก็รักษาวินัยของคฤหัสถ์
อย่าให้ผิดเพศภาวะเข้าก็แล้วกัน

หน้า 6

Mar 18, 2009

อนาคตของน้ำในโลก


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

รายงานล่าสุดเรื่องน้ำของ Unesco ได้ชี้ให้เห็นปัญหา
และข้อเสนอแนะที่จะช่วยให้โลกหลุดพ้นจาก
สภาพที่น่าสังเวชในอนาคตอันใกล้
นั่นก็คือการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงสถานการณ์
ของน้ำในโลกเราเป็นดังนี้
ร้อยละ 97.5 เป็นน้ำเค็ม
ที่เหลือร้อยละ 2.5 เป็นน้ำจืด
และสองในสามของปริมาณนี้อยู่ในสภาพของน้ำแข็ง
ส่วนที่ไม่ใช่น้ำแข็งส่วนใหญ่ก็อยู่ใต้ดิน
น้ำบนดินในแม่น้ำ คูคลอง ห้วย ลำธาร ที่เราเห็นกันนั้น
เป็นส่วนน้อยอย่างยิ่งของน้ำในโลกด้วยความจำกัดของน้ำดังกล่าว
การต่อสู้เพื่อแย่งชิงน้ำของหมู่มวลมนุษย์จึงมีมาแต่โบราณกาล
คำว่า river (แม่น้ำ) มาจากคำในภาษาละตินว่า
ribalis ซึ่งหมายถึง rival (คู่แข่งหรือคู่ต่อสู้)
ปัจจุบันน้ำเป็นสาเหตุสำคัญของข้อขัดแย้ง
ไม่ว่าจะเป็นใน Darfur (ตะวันตกของซูดาน)
หรือในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับเพื่อนบ้านอาหรับ
ในเรื่องน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค
ตัวเลข UN ระบุว่าในปัจจุบันมีพลเมือง 1.3 พันล้านคน
หรือหนึ่งในห้าของประชากรโลกไม่มีน้ำสะอาดดื่ม
สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้มีคนเป็นโรคตายจากปัญหาน้ำดื่มปีละ 27 ล้านคน
หรือ 1 คนทุก 8 วินาทีรายงานสดๆ ร้อนๆ ฉบับนี้ชื่อ
Water in a Changing World
ระบุว่าในปี 2030 หรือ 21 ปีจากนี้
หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงใน "หลายเรื่อง" ที่เกี่ยวกับน้ำ
ประชาชนครึ่งโลกจะมีชีวิตอยู่ด้วยการขาดแคลนน้ำอย่างยิ่ง
ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นก็คือ
(1) การเพิ่มขึ้นของประชากร
จากจำนวนประชากร 6.6 พันล้านคนในปัจจุบัน
จะเพิ่มเป็น 9.1 พันล้านคนก่อน ค.ศ.2050
โดยการเพิ่มส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งหลายพื้นที่
(แอฟริกาเหนือ, ตะวันออกกลาง)
มีการขาดแคลนน้ำอยู่แล้วอัตราการเติบโตของประชากรเช่นนี้
หมายถึงความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
โดยแต่ละปีจะมีความต้องการน้ำจืดเพิ่มขึ้นปีละ 64,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
(2)การอพยพเข้าสู่เมืองของประชากรโลก
เมื่อมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น
ก็เป็นปัจจัยอีกตัวหนึ่ง คนอยู่ในเมืองเหล่านี้จะบริโภคเนื้อมากขึ้น
ซึ่งหมายถึงต้องการน้ำมากขึ้นกว่าเดิม
เนื่องจากการผลิตเนื้อใช้น้ำมากกว่าการผลิตผักเป็นอันมาก
(3) การผลิตพืชพลังงาน (Biofuels) ทดแทนการใช้พลังงาน
Hydrocarbons (น้ำมัน, ก๊าซ)
หมายถึงการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะธัญพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี
หรืออ้อยที่ใช้เป็นวัสดุหลักในการผลิต Ethanol เติบโตได้เพราะน้ำ
รายงานชี้ให้เห็นว่าทุกๆ 1 ลิตร ของ Biofuels
ต้องใช้น้ำเพื่อการผลิตถึง 2,500 ลิตร
ถ้ามีการนำแผนปลูกพืชทดแทนของทั้งโลกมารวมกัน
ก็จะต้องใช้น้ำจากที่กักเก็บเพิ่มขึ้นอีก 180 ลูกบาศก์กิโลเมตร
(กว้าง ยาว และลึก ด้านละ 180 กิโลเมตร)
และอีก 48,000 ล้านไร่ของพื้นที่เพาะปลูกการใช้น้ำและที่ดินเช่นนี้
จะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อประเทศที่มีพื้นที่มากๆ เช่น จีน อินเดีย
หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาในด้านพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อบริโภคและน้ำเพื่อดื่ม
(4) การขาดพลังสนับสนุนด้านการเมืองในทุกภาคส่วน
มายาวนานในเรื่องน้ำไม่ว่าจากประเทศใหญ่หรือ
จากองค์กรระหว่างประเทศดังนั้น จึงไม่มีนโยบายที่ชัดเจน
หรืองบประมาณสนับสนุนอย่างจริงจัง
(5) การขาดการจัดการที่ดีในเรื่องน้ำ
ตลอดจนการขาดการลงทุนอย่างเพียงพอในด้านน้ำ
ไม่ว่าการบุกเบิกหาแหล่งน้ำหรือดูแลรักษาแหล่งน้ำ
การขาดแคลนน้ำจะยิ่งทำให้ความยากจนในบางประเทศรุนแรงยิ่งขึ้น
ด้วยสุขภาพที่เลวร้าย ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมเลวร้ายลง
เกิดปัญหาขัดแย้งทางการเมือง
ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงจากการติดโรคที่เกี่ยวพันกับการขาดแคลนน้ำสะอาด
มีประเด็นหนึ่งในบ้านเราที่อาจมองข้ามไป
นั่นก็คือการสูญเสียน้ำไปมหาศาลจากการส่งออกสินค้าเกษตรในแต่ละปี
โดยประเทศที่นำเข้าเปรียบได้กับผู้ใช้
"น้ำเสมือน" (virtual water) ของบ้านเรา
เมื่อสินค้าเกษตรต้องใช้น้ำในการเติบโตและพืชเหล่านี้เติบโตในบ้านเรา
ดังนั้น จึงใช้น้ำของบ้านเรา เมื่อต่อมาถูกซื้อไปบริโภคในประเทศอื่น
การซื้อผลผลิตการเกษตรเหล่านี้ไปบริโภค
จึงเสมือนกับการบริโภคน้ำจากบ้านเราทางอ้อมนั่นเอง
ญี่ปุ่นนำเข้าธัญพืชและเนื้อสัตว์จากโลก
เป็นปริมาณมากเพื่อเป็นอาหารในแต่ละปี
ดังนั้น จึงเท่ากับว่าเป็นผู้ใช้ "น้ำเสมือน"
ของประเทศอื่นอย่างมหาศาลไปด้วย
มีการคำนวณว่าปีหนึ่งๆ ญี่ปุ่นใช้ "น้ำเสมือน"
ประมาณ 64,000 ล้านตันต่อปี
ถ้าญี่ปุ่นต้องผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้เองเชื่อว่า
จะเกิดการขาดแคลนน้ำขึ้นในประเทศเป็นแน่
ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก
จึงต้องใช้น้ำเป็นปริมาณมหาศาลในแต่ละปี
ดังนั้น การเป็นครัวโลกของไทยภายใต้สภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ
ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงมีต้นทุนสูง
เพราะหากเราไม่ผลิตมากเช่นนี้
เราอาจมีน้ำเหลือในบ้านเพื่อสร้างความชุ่มฉ่ำให้แก่ผืนดิน
และเหลือน้ำสำหรับการบริโภคของประชาชนในปัจจุบัน
และเหลือเก็บไว้สำหรับอนาคตได้ดีกว่าความก้าวหน้าในเรื่องน้ำ
ที่น่าพอใจก็คือการแปรรูปน้ำเค็มซึ่งมีอยู่มหาศาล
เป็นน้ำจืดอย่างกว้างขวางกว่าเดิมเป็นอันมาก
โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ดังที่มีการริเริ่มกันในอิสราเอล สิงคโปร์
ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย จีน อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ
ไม่ว่าจะหาแหล่งน้ำจืดเพิ่มอย่างใดก็ตามที
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เรามีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลนได้นานที่สุด
ก็คือการใช้น้ำอย่างสมประโยชน์
อย่างมีเหตุมีผลและอย่างตระหนักว่ามันมีต้นทุนเสมอ
หน้า 6

สร้าง"สุข"มาป้องกัน"ทุกข์"



คอลัมน์ แท็งก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
มติชน
max@matichon.co.th
23 มีนาคม 2551


ทุกวันนี้พวกเราหลายคนต้องตื่นขึ้นมาด้วยความหดหู่
หันไปทางไหนก็มีแต่คนบ่นเรื่องแย่ๆ ให้ฟัง เปิดโทรทัศน์ตอนเช้า
ก็พบว่าราคาน้ำมันสูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทองราคาโด่งไปกว่าหมื่น
ราคาหมู ราคาสินค้า ทยอยกันขอขึ้นราคากันเพียบ
เข้าวงสนทนาก็มีแต่เรื่องค่าใช้จ่ายกับรายได้ที่ไม่สมดุลกัน
พูดคุยเรื่องการเมืองก็หวั่นๆ จะทะเลาะเบาะแว้ง
บรรยากาศแบบนี้ อาจทำให้เราตกกับดักความเป็นทุกข์กันได้ง่ายๆ
ฉะนั้น สัปดาห์นี้เราลองมาเสาะแสวงหา "ความสุข" กันอีกสักครั้งเถอะครับ
เสาะหาให้พบว่า "ความสุข" นี่อยู่ที่ไหน และทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิด "ความสุข"
เริ่มต้นจากการเปิดอินเตอร์เน็ต แล้วพิมพ์คำว่า "ความสุข" เข้าไป เป็นไงครับ
คำว่า "ความสุข" มีให้เห็นบานตะเกียง และในจำนวน "ความสุข" ที่ปรากฏ
สายตาก็ไปปะกับผลการศึกษาของนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา
ที่ได้ค้นคว้าศึกษากระบวนการเกิดความสุข
ผลการศึกษาพบว่า
คนที่มีความสุขคือคนที่มีความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
หรือคนที่แอบฝันเล็กๆ น้อยๆ ไว้ในใจ
หรือคนที่มีเป้าหมายอยู่ในใจ
หรือคนที่มีเพื่อนและญาติพี่น้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
และคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เออ ต่างชาติเขาก็ค้นหากระบวนการเกิดความสุขเหมือนกับเรา
แล้วประเทศไทยเราล่ะ อะไรที่ทำให้เกิดความสุขบ้าง
จากการประมวลผลที่เร็วจี๋ของระบบคอมพิวเตอร์
ทำให้พบว่า เมื่อปี 2548 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ได้ทำการสำรวจความสุขของคนไทยแล้วพบว่า
คนที่จังหวัดมหาสารคาม
เป็นคนที่มีความสุขมากที่สุด
ตอนนั้น นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์
ท่านเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต
ท่านระบุถึงสาเหตุที่ทำให้คนจังหวัดมหาสารคามมีความสุข
มากกว่าคนจังหวัดอื่นว่า อาจเป็นเพราะคนในพื้นที่นั้น
เน้นความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่นในครอบครัว
สังเกตไหมครับว่า "ความสุข" ของชาวต่างชาติ
กับ "ความสุข" ของคนไทยนั้นมีอะไรที่เหมือนๆ กัน
ไม่เชื่อลองเอาผลการศึกษาทั้งสองชิ้นมาเทียบเคียงกันดูสิครับ
แล้วเราจะพบว่า "ถ้อยคำ" ที่แสดงให้เห็นถึงที่มาของความสุข
คือ
"การมีความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์"
"การมีความฝันในใจ"
"การมีเป้าหมาย"
"การมีเพื่อนและญาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต"
"การออกกำลังกาย"
"การมีความรัก"
"การมีความเข้าใจ"
และ "มีความอบอุ่น"
สังเกตอีกครั้งนะครับ
จะเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความสุขนั้น
ไม่ได้เกิดจากใครอื่นเลยครับ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากตัวเราเองทั้งนั้น
นอกจากนี้ เรายังพบอีกว่า คนที่จะมีความสุขได้
เขาและเธอเหล่านั้นต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี
คนที่จะกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ได้เขาต้องเห็นใจผู้อื่น
คนที่จะมีความฝันในใจได้ เขาต้องมีความหวัง
คนที่จะมีความรัก มีความเข้าใจ และความอบอุ่นได้
ต้องเป็นคนที่อยู่ในช่วงของการมองโลกในแง่ดี
ใช่แล้วครับ การมองโลกในแง่ดีนี่แหละที่ทำให้คนเรามีความสุข
เหมือนกับที่ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เคยสั่งสอน
ความสุขของคนเราแบ่งเป็น 5 ระดับ
1.เป็นความสุขจากการเสพวัตถุ คือ พอสนองความอยากได้แล้วก็สุข
2.เป็นความสุขจากคุณธรรม คือ สุขเพราะกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
3.เป็นความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ
คือ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
4.เป็นความสุขจากการปรุงแต่ง คือ คิดดี คิดสร้างสรรค์ และ
5.เป็นความสุขที่เหนือจากการปรุงแต่ง
การมองโลกในแง่ดีก็คือการปรุงแต่งแต่สิ่งดีๆ
และสร้างสรรค์ให้กับชีวิต การมองในสิ่งสร้างสรรค์
ก็คือการสร้างความฝันเล็กๆ ให้ตัวเอง การกำหนดเป้าหมายในชีวิต
การมองคนอื่นอย่างเข้าใจ เกิดความรัก ความกรุณาต่อมนุษย์ร่วมโลก
คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นได้จากตัวเราเองครับ
ถือเป็นปัจจัยภายในที่เราควบคุมเองได้
ดังนั้น แม้ว่า เมื่อเราตื่นขึ้น เราจะพบกับข่าวร้าย
หรือเมื่อเข้าวงเสวนา เราจะได้ยินแต่เรื่องแย่ๆ
แต่สังเกตไหมว่า สิ่งแย่ๆ ที่ว่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยภายนอก
ถ้าปิดหูปิดตาเสีย เราไม่ต้องรับฟังเรื่องร้ายๆ
เราก็สามารถป้องกันสิ่งที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ได้
แต่ใครเล่า จะดำรงชีวิตด้วยการปิดหูปิดตาตัวเองอยู่ร่ำไป
เพราะธรรมชาติของคนคือการเปิดรับสิ่งต่างๆ ในโลกด้วยความอยากรู้
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันสิ่งร้ายๆ จากภายนอก
ก็คือการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ในเมื่อความทุกข์คือสิ่งร้ายๆ จากภายนอก
เราก็สร้างความสุขขึ้นจากภายใน การปรุงแต่งจิตใจให้สร้างสรรค์
มองโลกในแง่ดีนี่แหละคือวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างความสุขขึ้นมาได้
ส่วนใคร ผู้ใด จะปรุงแต่งจิตใจของตัวเองด้วยวิธีการเยี่ยงไร
จะเป็นการตั้งความหวัง ความฝัน หรือการคิดช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก
หรือการให้ความรักความเข้าใจแก่ผู้อื่น ก็สุดแล้วแต่นะครับ
เพียงขอให้ผลสุดท้ายที่ออกมาคือความสุขของทุกคนก็พอใจแล้ว
สวัสดีครับ













Mar 14, 2009

แค่คืบเท่านั้น




คอลัมน์ แท็งค์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
มติชน
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552
ภาพ: I_AM_SUD_YOD

สัญญากับครอบครัวเอาไว้ว่า จะหาเวลาว่าง
พาไปเที่ยวชมหิ่งห้อย ณ อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
กันผัดวันประกันพรุ่งกันมาหลายครั้ง
กระทั่งสัปดาห์ที่แล้ว จึงมีโอกาสได้ทำตามสัญญา
ห้าชีวิตขับรถฝ่าแดดมุ่งตรงไปอัมพวาช่วงบ่ายๆ วันศุกร์
ใช้เวลาไม่นานก็ถึงเป้าหมาย"โฮมสเตย์ชื่อ
"บ้านแม่อารมณ์" คือที่พักของพวกเรา"
ที่นั่นเป็นบ้านริมน้ำ เจ้าของเป็นลูกๆรวม 7 คนของคุณแม่อารมณ์
แต่ละคนมีงานมีการทำแล้วล่ะครับ
แต่เปิดบ้านแม่เป็นโฮมสเตย์เพื่อรวมตัวพี่น้องทั้ง 7
ให้แวะมาเจอะเจอหน้าค่าตากันบ้าง
"บ้านแห่งนี้ได้จดทะเบียนเป็นมรดกแห่งเอเชียไปเมื่อปี 2551"
ดังนั้น ใครที่เข้ามาแวะพักที่บ้านแห่งนี้ต้อง "ปรับตัวเข้าหาบ้าน"
พวกเราเลยทำตัวเป็นเหมือนเจ้าของบ้านหิวน้ำก็ไปกดน้ำกินกันเอง
อยากกินโอวัลติน-ชา-กาแฟ ก็ต้องเดินไปชง และหยอดเงินในกระปุก
หากใครหิวข้าวตอนกลางดึก มีมาม่า ไวไว โจ๊ก ไว้บริการ"แต่ต้องมาทำเอง
ไม่มีบริกรให้บริการ"เสร็จแล้วก็หยอดเงินใส่ตู้ตกเย็นมีตลาดน้ำยามบ่ายของอัมพวา
เปิดบริการชาวบ้านพายเรือมาขายอาหาร ขนม น้ำ และอื่นๆ ราคาสุดถูก
ก๋วยเตี๋ยว-ข้าว จานละ 10 บาท มะพร้าวสวนหวานชื่นใจลูกละ 10-15 บาท
ราคาถูกๆ แบบนี้ ทำให้ต้องจดจำเอาไว้ว่า
มาคราวหน้า
อย่าพก"แบงก์ใหญ่" แตก "แบงก์ยี่สิบ"
หรือพกเหรียญสิบมาเยอะๆ ท่าจะดีกว่าพออาทิตย์ลับขอบฟ้า
มีกิจกรรมไฮไลต์คือ ล่องเรือดูหิ่งห้อยแม้ว่าตอนที่ไปเยือนอัมพวา
ถือเป็นเวลาที่ไม่เหมาะเท่าใดนักเพราะเป็นคืนข้างขึ้น น้ำก็ขึ้นไม่สูง
ทำให้เรือเข้าไปไม่ใกล้ฝั่ง
"แต่ก็สามารถเห็นความงามของหิ่งห้อยบนต้นไม้เยอะแยะ"
ลุงตือเจ้าของบ้านที่ทำหน้าที่ไก๊ด์บอกว่า
ชาวอัมพวาต้องช่วยกันรักษาน้ำให้สะอาดเพราะหิ่งห้อยไข่ในน้ำ
ถ้าน้ำสกปรก หิ่งห้อยก็ไม่ไข่ จำนวนหิ่งห้อยก็ลดลงสถานที่แห่งนี้
ก็จะไม่ได้รับความนิยมเหมือนอย่างที่เป็นอยู่
ตอนเช้าตรู่มีพระภิกษุพายเรือออกบิณฑบาตผ่านชานหน้าบ้าน
ตรงนั้นจะมีถังบรรจุข้าวสารอาหารแห้งเตรียมไว้ให้ใส่บาตร
ใครใส่เท่าไหร่ก็จำไว้ แล้วมาจ่ายเงินให้เจ้าของบ้านทีหลังได้
"ใช้ระบบซื่อสัตย์สุจริต !"
ตกสายหน่อยมีบริการขับขี่รถจักรยาน
ท่องเที่ยววัดวาอาราม
สวนลิ้นจี่
ศูนย์อนุรักษ์แมวไทย
ศูนย์ผลิตเครื่องเบญจรงค์
ระหว่างทางมีลูกหลานชาวบ้านละแวกนั้น
ใช้เวลาว่างเป็นไก๊ด์นำเที่ยวแบ่งเงินค่า
เช่ารถจักรยานไปเป็นค่าขนมบ่ายโมงกว่าๆ
ได้เวลากลับ
พกพาเอาความประทับใจมาเต็มกระเป๋า
แถมยังได้รู้สำนึกระลึกได้ว่า
บางทีคนเราก็คุ้นเคยของมีค่ารอบๆ ตัว
จนมองไม่เห็นค่าของมัน
เหมือนไก่ได้พลอย เหมือนวานรได้แก้ว
"ทำให้เราพลาดโอกาส !"
ไม่เหมือนชาวชุมชนอัมพวาที่มองเป็นสิ่งรอบๆ ตัวว่า
มีค่ามองเห็นวิถีริมคลองที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ทุกวี่ทุกวันว่า
มีค่ามองเห็นว่า
แม่น้ำลำคลองเป็นธรรมชาติที่สมควรบำรุงรักษาให้สะอาด
ไม่เน่าเหม็น
มองเห็นคุณค่าหิ่งห้อยที่ส่องแสงวับวับ
ในยามค่ำคืนเห็นคุณค่าวัดวาอาราม
สวนเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชน
"คนเราพอเห็นค่าของสิ่งรอบๆ ตัวเราก็จะเห็นโอกาสตามมา"
เมื่อเห็นโอกาสก็สามารถนำพาโอกาสนั้น
ไปทำอะไรต่อมิอะไรได้อีกเยอะครับตัวอย่างเช่น
ชาวชุมชนอัมพวาเห็นคุณค่าของสิ่งรอบๆ ตัว
ชาวชุมชนอัมพวาจึงเห็นโอกาสร่วมกันชักชวนนักท่องเที่ยวให้มาแวะ
เพื่อสัมผัสธรรมชาติและวิถีชุมชนนำเงินเข้าชุมชนจำนวนมหาศาล
ดังนั้น ชุมชนไหนจะเอาเป็นแบบอย่างก็ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆ
ขอเพียงให้มองไปรอบๆ
แล้วค้นหาของดีมีคุณค่าในชุมชน
ซึ่งมีอยู่เยอะแยะบางแห่งมีธรรมชาติสวยงาม
บางแห่งมีวัดวาอารามเก่าแก่
บางแห่งมีพืชพรรณมากหลาย
บางแห่งมีประวัติศาสตร์มายาวไกล
บางแห่งเป็นต้นกำเนิดของผู้มีชื่อเสียง
บางแห่ง....บางแห่ง... บางแห่ง.... มีสารพัด
"ชุมชนใดสามารถเห็นคุณค่าของสิ่งรอบข้าง ชุมชนนั้นก็จะเห็นลู่ทางและโอกาส"
มันก็เหมือนกับการทำงานของพวกเราอีกนั่นแหละรอบๆ ตัวเรา
มีเพื่อนร่วมงานหลากหลายใช่ไหม
แต่ละคนล้วนมีความสามารถที่แตกต่าง
บางคนเก่งงานวิชาการ
บางคนเชี่ยวชาญงานบริหาร
บางคนถนัดด้านบันเทิง
บางคนขยันเป็นนักปฏิบัติ
ขณะที่อีกหลายคนชอบคิดชอบวางแผน
"ทุกคนล้วนมีคุณค่าของตัวเอง"
เพียงแต่บางครั้งเรามองข้ามคุณค่าของคนรอบๆข้างของเราไป
บางครั้งเราไปเห็นคุณค่าของ "คนนอก" มากกว่า "คนใน"
ทำให้เราเสียโอกาส
ดังนั้นอย่ามัวเสียเวลา เสียโอกาสกันอยู่เลยครับ
ลองมองไปที่เพื่อนร่วมงานของเรานี่แหละ
มองพวกเขาจนค้นพบคุณค่า
แล้วเราก็จะพบว่า
โอกาสสู่ความสำเร็จมันไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม
"แค่คืบนี่เอง!"
"สวัสดี"
หน้า 17