Custom Search

Mar 10, 2009

เขียนถึงคนเขียนเพลงชื่อ…ดี้-นิติพงษ์

>>> เฉลียง <<<



ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 พฤษภาคม 2561
คอลัมน์ เครื่องเคียงข้างจอ
ผู้เขียน วัชระ แวววุฒินันท์
เผยแพร่ วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2561



เครื่องเคียงข้างจอ วัชระ แวววุฒินันท์

เขียนถึงคนเขียนเพลงชื่อ…ดี้-นิติพงษ์

“…เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจอย่างเธอ
เมื่อไหร่ที่เจอ ยังคิดว่าเธออยู่ในฝัน…”

นักร้องเพลงคาราโอเกะทั้งหลายคงคุ้นเคยกับเนื้อร้องนี้ดี ใช่แล้วครับ…

มันคือท่อนฮุกของเพลง “แพ้ใจ” เพลงดังเพลงหนึ่งของสาวใหม่ เจริญปุระ

และเป็นหนึ่งในหลายร้อยเพลงจากฝีมือการเขียนคำร้องโดย ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค

รวมทั้งเพลงดังที่หลายองค์กรเอาไว้ใช้ร้องให้เกิดความฮึกเหิมเวลาประชุมประจำปี

อย่างเพลงที่มีท่อนฮิตว่า “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน…”

หรือเพลงแนวจิ๊กโก๋อกหักอย่าง “ได้อย่างเสียอย่าง” “ยินยอม” ของอัสนี โชติกุล

ซึ่งหากจะนับเพลงดังๆ จากฝีมือการเขียนของดี้-นิติพงษ์ ก็คงต้องใช้ทั้งหน้ากระดาษทีเดียว

นั่นเป็นเครื่องแสดงว่า เขาเป็นนักแต่งเพลงตัวจริงของวงการคนหนึ่ง

ถ้าหากเป็นสมัยก่อน เขาก็จะเรียกดี้ว่า “ครูเพลง”

“ครูดี้” มีแววการเป็นนักแต่งเพลงมาตั้งแต่เด็ก เขาเป็นเด็กเมืองลิง “ลพบุรี”

เป็นลูกคนเล็กของพี่น้องร่วมครึ่งโหล พี่ชายคนโตแก่กว่าเขา 1 รอบ

ดังนั้น เขาจึงโตมากับการได้ยินเพลงสากลฮ็อตฮิตที่เหล่าพี่ๆ เปิดฟัง นอกจากเพลงไทยที่พ่อกับแม่ฟังเองอยู่เป็นประจำ

ดี้จึงรู้จักเพลงมาก และเป็นเหมือน “ต้นทุน” ที่ทำให้เขากลายเป็นนักแต่งเพลงเช่นทุกวันนี้

ไม่เท่านั้น เขายังเสริมทักษะด้วยการเล่นกีตาร์ เครื่องมือจีบสาวในยุคก่อนนั้น แม้จะไม่สามารถยืนยันว่าเขาจีบติดหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ ดี้ได้ติดใจเสน่ห์ของโน้ตดนตรีเข้าให้แล้ว

เมื่อเขาเข้ามาเป็นนิสิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่มีบรรยากาศของความสนุกสนาน

ครึกครื้นเป็นทุนเดิม เขาจึงมีความสุขกับการได้เล่นดนตรีอยู่เนืองๆ

จากการเป็นสมาชิกของวงดนตรี “กระเทียมเจียว”

ที่กลุ่มเพื่อนได้รวมตัวกันเล่นสนุกๆ โดยดี้รับหน้าที่เป็นมือกีตาร์ของวง

เขาได้มีโอกาสแสดงต่อหน้าธารกำนัลบ้างก็อย่างงานรับน้องของคณะ

งานลอยกระทงที่เวทีหน้าคณะ

หรือแสดงเวลาไปโชว์ตามโรงเรียนหรืองานต่างๆ ที่เขาจ้าง

สมัยก่อนมีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่คงหาไม่ได้แล้วในยุคนี้ คือ งานดูหนังรอบพิเศษ

ซึ่งก็มักจะเป็นรอบเช้า เรียกว่าคนที่มาดูต้องมาตั้งแต่ 7 โมงเช้าเพื่อดูหนังกัน

ส่วนใหญ่เป็นการจัดเพื่อหาเงินเข้าโรงเรียนบ้าง

หรือเพื่อสนับสนุนกิจกรรมนั่นนี่บ้าง

คิดอะไรไม่ออกก็จัดกิจกรรมที่ว่านี่แหละเป็นที่นิยมดี

ทีนี้ก่อนจะดูหนังก็มักจะมีโชว์พิเศษให้ได้ชมกันเป็นออร์เดิฟก่อน

ดี้และผองเพื่อนก็ได้มีโอกาสไปแสดงโชว์ที่ว่าอยู่เนืองๆ ซึ่งกิจกรรมที่แสดงนั้น

ก็มักจะมีเพลงเป็นส่วนหนึ่งด้วย และดี้ก็จะรับหน้าที่ในการเล่นกีตาร์และร้องเพลง

ส่วนเพลงที่เขามักใช้เล่นประจำก็คือเพลง “yesterday” ของวงเดอะบีตเทิลส์

จนพรรคพวกแซวว่ารู้จักอยู่เพลงเดียวเหรอ

สําหรับดี้ ภาพที่ทุกคนคุ้นชินเสมอ ก็คือภาพเขาสะพายกีตาร์โปร่งแล้วเดินดีดไปมาอย่างสบายใจราวกับวณิพก

อย่างตอนเย็นๆ ที่พวกเพื่อนซ้อมรักบี้กันเหน็ดเหนื่อยอยู่ในสนาม

เขาก็เดินดีดกีตาร์อยู่ข้างสนามอย่างอารมณ์ดี โดยมีรุ่นน้องสาวๆ

มารุมฟังและชื่นชม เป็นที่หมั่นไส้ของเพื่อนๆ อย่างมาก

ดี้เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เขาจึงรู้จักคำสวยๆ ความหมายดีๆ และหลากหลายการใช้

นั่นทำให้เมื่อเขาได้มีโอกาสเขียนเพลงก็เลยมีต้นทุนของ “คำ”

ตุนไว้เยอะ ซึ่งต้องมาจากการอ่านเยอะ ดูเยอะ ฟังเยอะ และที่สำคัญต้องรู้จักสังเกต

ต่อมาเมื่อดี้ได้มีโอกาสเขียนเพลงอย่างจริงจัง ต้นทุนที่สูงของเขาจึงทำให้เขาสามารถเขียนเพลงออกมาได้ไพเราะ ซาบซึ้ง โดนใจ

และติดหู อย่างที่เรารู้สึกกับหลายๆ เพลงของเขา

ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ดี้มีคือ “การเล่าเรื่อง”

เพราะเพลงหนึ่งเพลงก็คือการเล่าเรื่องเรื่องหนึ่งใน 4 ท่อนเพลง

จะเล่ายังไงให้น่าสนใจ ชวนฟัง และกิ๊บเก๋โดนใจไม่ใช่ของง่าย

ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนไม่เป็นอุปสรรคสำหรับดี้เลย

หากใครได้เคยติดตามอ่านหน้าเฟซบุ๊กของดี้ซึ่งเขามักจะเขียนบทความแสดงความคิดเห็น

หรือความรู้สึกกับประเด็นต่างๆ ที่พบเห็นมา

หรือเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม เขาจะมีวิธีการเล่าเรื่องได้น่าอ่าน ชวนติดตาม และมีอารมณ์ขัน

กลวิธีการเขียนของเขานั้น ดี้สมมุติตัวละครขึ้นมา 2 ตัว คือ ทิดเอิบ กับ แม่ประไพ

ให้เป็นบุคคลที่ 2 ที่เขาจะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง

จนคนที่ติดตามประจำจะรู้สึกคุ้นเคยกับทิดเอิบกับแม่ประไพนี้ไปด้วยราวกับญาติสนิท

ส่วนเรื่องที่เขียนนั้นมีตั้งแต่เรื่อง หมาที่เลี้ยงไว้ที่ชื่อเฉาก๊วย ไปจนถึงเรื่องการบ้านการเมือง

ไม่เว้นแม้แต่เขียนถึงนายกฯ ตู่ของเราในเชิงเตือนต่างๆ

แม้ช่วงหลังเขาจะใช้ทักษะในการเขียนอักษรลงในเฟซบุ๊ก มากกว่าการเขียนบทเพลงเหมือนที่เคยทำมา

แต่เขาก็ไม่ได้ลืมเลือนความเชี่ยวชาญในการเขียนเพลงแต่อย่างใด เพราะมันได้เก็บสะสมมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี

เป็นเหมือนโรคประจำตัวเรื้อรังอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่จะกำจัดทิ้งได้ง่ายๆ

และตอนนี้ดี้ก็ได้ใช้ทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ของการเป็น “นักเขียนเพลง”

ของเขาในการถ่ายทอดวิชาการเขียนเพลงตามแบบฉบับของเขาออกมาให้คนได้เรียนรู้

ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่มีซะล่ะ ที่ครูเก่งๆ จะยอมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับลูกศิษย์หรือคนอื่นๆ ง่ายๆ

เป็นทักษะการสอนที่เหมาะกับยุคสมัยนี้ คือ การสอนออนไลน์

คือ สะดวกในการเข้าถึงเนื้อหาบทเรียน ว่างเมื่อไหร่ก็เปิดดูเพื่อเรียนรู้ได้ทุกเมื่อ

ดูแล้วไม่เข้าใจย้อนมาดูอีกกี่หนก็ได้ ที่ว่านี้เป็นคอร์สออนไลน์ที่ชื่อ MyOneClass

ที่ผมเคยเขียนถึงไปเมื่อ 2-3 ฉบับก่อน ในชื่อคอร์สว่า “เขียนเพลงแบบ ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค”

ผมต้องขอบอกว่า ดี้ได้ใช้ประสบการณ์ที่มาจากการทำงานล้วนๆ มาถ่ายทอดให้ฟัง ซึ่งหาฟังได้ไม่ง่าย

ในคอร์สจะมีคนที่เป็นนักเรียนตัวอย่างได้เขียนเพลงขึ้นมาตามหลักทฤษฎีที่ดี้ได้สอนไว้

ซึ่งก็ทำได้ไม่เลว แต่ดี้ได้ชี้ ได้กา ได้วง ให้เห็นถึงจุดที่ต้องแก้ไขต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

“คนเขียนเพลงบางคน เขียนแล้วเหมือนบ่นไปเรื่อยๆ หาเรื่องที่จะเล่าจริงๆ ไม่ได้”

ดี้แชร์ให้ฟัง

“บางคนเขียนเพลงส่งให้มาดู ดูแล้วต้องย้อนถามว่านี่กำลังเขียนข่าวอาชญากรรมเหรอ”

สำหรับคนที่จะมาเรียนคอร์สออนไลน์ที่ว่านี้ ขอให้มี 3 อย่างนี้ 1.มีความสนใจ 2.รู้จักภาษา 3.ชอบฟังเพลง

จะมีพื้นฐานดนตรีด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีก็เป็นแต้มต่อให้เร็วขึ้น

ในหลักสูตรดี้ได้สอนเป็นเรื่องแรกๆ เลยว่า จะเขียนเพลงให้ใครร้อง

อันนี้เราต้องรู้เสียก่อนและต้องรู้ไปถึงบุคลิกลักษณะ นิสัย สันดาน

สิ่งที่คนคนนั้นเป็น วิธีการมองโลก ยิ่งรู้จักคนที่จะร้องเพลงของเรามากเท่าไหร่ยิ่งดี

ต้องสแกนกันให้ชัดราวกับหาคู่แต่งงานยังงั้นเชียว

นี่เองที่ทำให้เพลงที่เขาเขียน จึงดูเข้าปากตรงบุคลิกกับคนที่ร้องจังเลย

ราวกับเป็นคนที่ร้องเป็นคนเขียนเพลงเองก็ไม่ปาน เพราะถ้าจะพูดถึงเพลงอกหัก

คำพูด ท่าทีที่เบิร์ด-ธงไชย จะใช้ร้อง คงไม่เหมือนกับคำพูดท่าทีของป้อม-อัสนี

หรือถ้าเป็นวงนูโวก็จะออกไปอีกรสชาติหนึ่ง เป็นต้น

มีแนวทางหลายอย่างที่เขาได้แนะนำสอนเอาไว้ แต่ที่ดูจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดคือ “ความประทับใจ”

ที่เพลงๆ นั้นจะโดนใจคนฟัง อันนี้ต้องอยู่ที่ความชำนาญ ประสบการณ์ การฝึกฝน

อยู่พอสมควร ซึ่งในคอร์สออนไลน์นี้ดี้ก็ได้มีแนะนำไว้

หากใครสนใจจะลุกขึ้นมาเขียนเพลงบ้าง โดยไม่ต้องตั้งใจจะยึดเป็นอาชีพ

แต่สามารถให้เรามีทักษะติดตัว เวลาที่นึกสนุกอยากเขียนเพลงจีบสาว

อยากแต่งเพลงให้ภรรยา อยากเขียนเพลงให้เพื่อนเป็นที่ระลึกเวลาต้องแยกย้ายกันไปเรียน

หรือแม้แต่แต่งเพลงให้บริษัท ก็สามารถเข้าไปเรียนรู้จากคอร์สนี้ได้

เข้าไปดูได้ครับที่ www.myoneclass.com บางทีบทเพลงฮิต 100 ล้านวิวเพลงต่อไปอาจมาจากฝีมือคุณก็ได้




รักเธอเสมอ

เนื้อเพลง: นิติพงษ์ ห่อนาค

ศิลปิน: อัสนี-วสันต์ โชติกุล

วันคืนที่เนิ่นนาน
อาจผ่านชีวิตคน

อาจเปลี่ยนใจ
คน
ให้เวียนหมุนไป
ทำเราจากกันห่าง
ไม่เคยโทษใคร
มันเป็นเงื่อนไขของกาลเวลา
วันวานของเรา
แม้มันไม่คืนกลับมา
แต่อยากจะบอกให้เธอรู้ว่า
ฉันยัง...ห่วงใย
ใจก็ยังคิดถึงเธอ
เหมือนแต่ก่อนเป็นมาเสมอ
แม้ว่าเธอจากฉันไป
ฉันยัง...เฝ้าดู
และอยากจะรู้ความเป็นไป

เพราะว่าฉัน
รักเธอดังเดิม
เธอคงจะได้เจอ
เจอคนอีกหลายหลาก
ต้องเจอกับรัก
อีกสักเท่าไหร่
มีวันที่ดีกว่า
และวันช้ำใจ
จนเจอกับใครที่ดีสักคนนั้น

ยังไงยังไง
ก็คงไม่คืนกลับมา
แต่อยากจะบอกให้เธอรู้ว่า
ฉันยัง...ห่วงใย
ใจก็ยังคิดถึงเธอ
เหมือนแต่ก่อนเป็นมาเสมอ
แม้ว่าเธอจากฉันไป
ฉันยัง...เฝ้าดู
และอยากจะรู้ความเป็นไป

เพราะว่าฉัน
รักเธอดังเดิม
ถึงจะนาน...นานเท่าไร
ฉันขอพอใจขอเป็นอย่างเดิม
ไม่ต้องการจะทนเห็นเธอต้องเหนื่อย
ไม่ต้องการจะทนเห็นเธอลำบาก

ได้
แต่คอยเอาใจช่วยเธอทุกอย่าง
อยากให้เธอมีคนที่สวยงาม
รักเธอเสมอ
นานเท่าไรยังรักเธอ
เหมือนแต่ก่อน
เป็นมาเสมอ
แม้ว่าเธอจากฉันไปฉันยังเฝ้าดู
และอยากจะรู้ความเป็นไป

เพราะว่าฉัน
รักเธอ
รักเธอเสมอ
นานเท่าไรยังรักเธอ
เหมือนแต่ก่อน

เป็นมาเสมอ....