คอลัมน์ แท็งก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
มติชน
max@matichon.co.th
23 มีนาคม 2551
ทุกวันนี้พวกเราหลายคนต้องตื่นขึ้นมาด้วยความหดหู่
หันไปทางไหนก็มีแต่คนบ่นเรื่องแย่ๆ ให้ฟัง เปิดโทรทัศน์ตอนเช้า
ก็พบว่าราคาน้ำมันสูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทองราคาโด่งไปกว่าหมื่น
ราคาหมู ราคาสินค้า ทยอยกันขอขึ้นราคากันเพียบ
เข้าวงสนทนาก็มีแต่เรื่องค่าใช้จ่ายกับรายได้ที่ไม่สมดุลกัน
พูดคุยเรื่องการเมืองก็หวั่นๆ จะทะเลาะเบาะแว้ง
บรรยากาศแบบนี้ อาจทำให้เราตกกับดักความเป็นทุกข์กันได้ง่ายๆ
ฉะนั้น สัปดาห์นี้เราลองมาเสาะแสวงหา "ความสุข" กันอีกสักครั้งเถอะครับ
เสาะหาให้พบว่า "ความสุข" นี่อยู่ที่ไหน และทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิด "ความสุข"
เริ่มต้นจากการเปิดอินเตอร์เน็ต แล้วพิมพ์คำว่า "ความสุข" เข้าไป เป็นไงครับ
คำว่า "ความสุข" มีให้เห็นบานตะเกียง และในจำนวน "ความสุข" ที่ปรากฏ
สายตาก็ไปปะกับผลการศึกษาของนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา
ที่ได้ค้นคว้าศึกษากระบวนการเกิดความสุข
ผลการศึกษาพบว่า
คนที่มีความสุขคือคนที่มีความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
หรือคนที่แอบฝันเล็กๆ น้อยๆ ไว้ในใจ
หรือคนที่มีเป้าหมายอยู่ในใจ
หรือคนที่มีเพื่อนและญาติพี่น้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
และคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เออ ต่างชาติเขาก็ค้นหากระบวนการเกิดความสุขเหมือนกับเรา
แล้วประเทศไทยเราล่ะ อะไรที่ทำให้เกิดความสุขบ้าง
จากการประมวลผลที่เร็วจี๋ของระบบคอมพิวเตอร์
ทำให้พบว่า เมื่อปี 2548 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ได้ทำการสำรวจความสุขของคนไทยแล้วพบว่า
คนที่จังหวัดมหาสารคาม
เป็นคนที่มีความสุขมากที่สุด
ตอนนั้น นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์
ท่านเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต
ท่านระบุถึงสาเหตุที่ทำให้คนจังหวัดมหาสารคามมีความสุข
มากกว่าคนจังหวัดอื่นว่า อาจเป็นเพราะคนในพื้นที่นั้น
เน้นความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่นในครอบครัว
สังเกตไหมครับว่า "ความสุข" ของชาวต่างชาติ
กับ "ความสุข" ของคนไทยนั้นมีอะไรที่เหมือนๆ กัน
ไม่เชื่อลองเอาผลการศึกษาทั้งสองชิ้นมาเทียบเคียงกันดูสิครับ
แล้วเราจะพบว่า "ถ้อยคำ" ที่แสดงให้เห็นถึงที่มาของความสุข
คือ
"การมีความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์"
"การมีความฝันในใจ"
"การมีเป้าหมาย"
"การมีเพื่อนและญาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต"
"การออกกำลังกาย"
"การมีความรัก"
"การมีความเข้าใจ"
และ "มีความอบอุ่น"
สังเกตอีกครั้งนะครับ
จะเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความสุขนั้น
ไม่ได้เกิดจากใครอื่นเลยครับ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากตัวเราเองทั้งนั้น
นอกจากนี้ เรายังพบอีกว่า คนที่จะมีความสุขได้
เขาและเธอเหล่านั้นต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี
คนที่จะกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ได้เขาต้องเห็นใจผู้อื่น
คนที่จะมีความฝันในใจได้ เขาต้องมีความหวัง
คนที่จะมีความรัก มีความเข้าใจ และความอบอุ่นได้
ต้องเป็นคนที่อยู่ในช่วงของการมองโลกในแง่ดี
ใช่แล้วครับ การมองโลกในแง่ดีนี่แหละที่ทำให้คนเรามีความสุข
เหมือนกับที่ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เคยสั่งสอน
ความสุขของคนเราแบ่งเป็น 5 ระดับ
1.เป็นความสุขจากการเสพวัตถุ คือ พอสนองความอยากได้แล้วก็สุข
2.เป็นความสุขจากคุณธรรม คือ สุขเพราะกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
3.เป็นความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ
คือ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
4.เป็นความสุขจากการปรุงแต่ง คือ คิดดี คิดสร้างสรรค์ และ
5.เป็นความสุขที่เหนือจากการปรุงแต่ง
การมองโลกในแง่ดีก็คือการปรุงแต่งแต่สิ่งดีๆ
และสร้างสรรค์ให้กับชีวิต การมองในสิ่งสร้างสรรค์
ก็คือการสร้างความฝันเล็กๆ ให้ตัวเอง การกำหนดเป้าหมายในชีวิต
การมองคนอื่นอย่างเข้าใจ เกิดความรัก ความกรุณาต่อมนุษย์ร่วมโลก
คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นได้จากตัวเราเองครับ
ถือเป็นปัจจัยภายในที่เราควบคุมเองได้
ดังนั้น แม้ว่า เมื่อเราตื่นขึ้น เราจะพบกับข่าวร้าย
หรือเมื่อเข้าวงเสวนา เราจะได้ยินแต่เรื่องแย่ๆ
แต่สังเกตไหมว่า สิ่งแย่ๆ ที่ว่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยภายนอก
ถ้าปิดหูปิดตาเสีย เราไม่ต้องรับฟังเรื่องร้ายๆ
เราก็สามารถป้องกันสิ่งที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ได้
แต่ใครเล่า จะดำรงชีวิตด้วยการปิดหูปิดตาตัวเองอยู่ร่ำไป
เพราะธรรมชาติของคนคือการเปิดรับสิ่งต่างๆ ในโลกด้วยความอยากรู้
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันสิ่งร้ายๆ จากภายนอก
ก็คือการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ในเมื่อความทุกข์คือสิ่งร้ายๆ จากภายนอก
เราก็สร้างความสุขขึ้นจากภายใน การปรุงแต่งจิตใจให้สร้างสรรค์
มองโลกในแง่ดีนี่แหละคือวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างความสุขขึ้นมาได้
ส่วนใคร ผู้ใด จะปรุงแต่งจิตใจของตัวเองด้วยวิธีการเยี่ยงไร
จะเป็นการตั้งความหวัง ความฝัน หรือการคิดช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก
หรือการให้ความรักความเข้าใจแก่ผู้อื่น ก็สุดแล้วแต่นะครับ
เพียงขอให้ผลสุดท้ายที่ออกมาคือความสุขของทุกคนก็พอใจแล้ว
สวัสดีครับ