วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552
รายงานล่าสุดเรื่องน้ำของ Unesco ได้ชี้ให้เห็นปัญหา
และข้อเสนอแนะที่จะช่วยให้โลกหลุดพ้นจาก
สภาพที่น่าสังเวชในอนาคตอันใกล้
นั่นก็คือการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงสถานการณ์
ของน้ำในโลกเราเป็นดังนี้
ร้อยละ 97.5 เป็นน้ำเค็ม
ที่เหลือร้อยละ 2.5 เป็นน้ำจืด
และสองในสามของปริมาณนี้อยู่ในสภาพของน้ำแข็ง
ส่วนที่ไม่ใช่น้ำแข็งส่วนใหญ่ก็อยู่ใต้ดิน
น้ำบนดินในแม่น้ำ คูคลอง ห้วย ลำธาร ที่เราเห็นกันนั้น
เป็นส่วนน้อยอย่างยิ่งของน้ำในโลกด้วยความจำกัดของน้ำดังกล่าว
การต่อสู้เพื่อแย่งชิงน้ำของหมู่มวลมนุษย์จึงมีมาแต่โบราณกาล
คำว่า river (แม่น้ำ) มาจากคำในภาษาละตินว่า
ribalis ซึ่งหมายถึง rival (คู่แข่งหรือคู่ต่อสู้)
ปัจจุบันน้ำเป็นสาเหตุสำคัญของข้อขัดแย้ง
ไม่ว่าจะเป็นใน Darfur (ตะวันตกของซูดาน)
หรือในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับเพื่อนบ้านอาหรับ
ในเรื่องน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค
ตัวเลข UN ระบุว่าในปัจจุบันมีพลเมือง 1.3 พันล้านคน
หรือหนึ่งในห้าของประชากรโลกไม่มีน้ำสะอาดดื่ม
สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้มีคนเป็นโรคตายจากปัญหาน้ำดื่มปีละ 27 ล้านคน
หรือ 1 คนทุก 8 วินาทีรายงานสดๆ ร้อนๆ ฉบับนี้ชื่อ
Water in a Changing World
ระบุว่าในปี 2030 หรือ 21 ปีจากนี้
หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงใน "หลายเรื่อง" ที่เกี่ยวกับน้ำ
ประชาชนครึ่งโลกจะมีชีวิตอยู่ด้วยการขาดแคลนน้ำอย่างยิ่ง
ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นก็คือ
(1) การเพิ่มขึ้นของประชากร
จากจำนวนประชากร 6.6 พันล้านคนในปัจจุบัน
จะเพิ่มเป็น 9.1 พันล้านคนก่อน ค.ศ.2050
โดยการเพิ่มส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งหลายพื้นที่
(แอฟริกาเหนือ, ตะวันออกกลาง)
มีการขาดแคลนน้ำอยู่แล้วอัตราการเติบโตของประชากรเช่นนี้
หมายถึงความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
โดยแต่ละปีจะมีความต้องการน้ำจืดเพิ่มขึ้นปีละ 64,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
(2)การอพยพเข้าสู่เมืองของประชากรโลก
เมื่อมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น
ก็เป็นปัจจัยอีกตัวหนึ่ง คนอยู่ในเมืองเหล่านี้จะบริโภคเนื้อมากขึ้น
ซึ่งหมายถึงต้องการน้ำมากขึ้นกว่าเดิม
เนื่องจากการผลิตเนื้อใช้น้ำมากกว่าการผลิตผักเป็นอันมาก
(3) การผลิตพืชพลังงาน (Biofuels) ทดแทนการใช้พลังงาน
Hydrocarbons (น้ำมัน, ก๊าซ)
หมายถึงการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะธัญพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี
หรืออ้อยที่ใช้เป็นวัสดุหลักในการผลิต Ethanol เติบโตได้เพราะน้ำ
รายงานชี้ให้เห็นว่าทุกๆ 1 ลิตร ของ Biofuels
ต้องใช้น้ำเพื่อการผลิตถึง 2,500 ลิตร
ถ้ามีการนำแผนปลูกพืชทดแทนของทั้งโลกมารวมกัน
ก็จะต้องใช้น้ำจากที่กักเก็บเพิ่มขึ้นอีก 180 ลูกบาศก์กิโลเมตร
(กว้าง ยาว และลึก ด้านละ 180 กิโลเมตร)
และอีก 48,000 ล้านไร่ของพื้นที่เพาะปลูกการใช้น้ำและที่ดินเช่นนี้
จะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อประเทศที่มีพื้นที่มากๆ เช่น จีน อินเดีย
หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาในด้านพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อบริโภคและน้ำเพื่อดื่ม
(4) การขาดพลังสนับสนุนด้านการเมืองในทุกภาคส่วน
มายาวนานในเรื่องน้ำไม่ว่าจากประเทศใหญ่หรือ
จากองค์กรระหว่างประเทศดังนั้น จึงไม่มีนโยบายที่ชัดเจน
หรืองบประมาณสนับสนุนอย่างจริงจัง
(5) การขาดการจัดการที่ดีในเรื่องน้ำ
ตลอดจนการขาดการลงทุนอย่างเพียงพอในด้านน้ำ
ไม่ว่าการบุกเบิกหาแหล่งน้ำหรือดูแลรักษาแหล่งน้ำ
การขาดแคลนน้ำจะยิ่งทำให้ความยากจนในบางประเทศรุนแรงยิ่งขึ้น
ด้วยสุขภาพที่เลวร้าย ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมเลวร้ายลง
เกิดปัญหาขัดแย้งทางการเมือง
ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงจากการติดโรคที่เกี่ยวพันกับการขาดแคลนน้ำสะอาด
มีประเด็นหนึ่งในบ้านเราที่อาจมองข้ามไป
นั่นก็คือการสูญเสียน้ำไปมหาศาลจากการส่งออกสินค้าเกษตรในแต่ละปี
โดยประเทศที่นำเข้าเปรียบได้กับผู้ใช้
"น้ำเสมือน" (virtual water) ของบ้านเรา
เมื่อสินค้าเกษตรต้องใช้น้ำในการเติบโตและพืชเหล่านี้เติบโตในบ้านเรา
ดังนั้น จึงใช้น้ำของบ้านเรา เมื่อต่อมาถูกซื้อไปบริโภคในประเทศอื่น
การซื้อผลผลิตการเกษตรเหล่านี้ไปบริโภค
จึงเสมือนกับการบริโภคน้ำจากบ้านเราทางอ้อมนั่นเอง
ญี่ปุ่นนำเข้าธัญพืชและเนื้อสัตว์จากโลก
เป็นปริมาณมากเพื่อเป็นอาหารในแต่ละปี
ดังนั้น จึงเท่ากับว่าเป็นผู้ใช้ "น้ำเสมือน"
ของประเทศอื่นอย่างมหาศาลไปด้วย
มีการคำนวณว่าปีหนึ่งๆ ญี่ปุ่นใช้ "น้ำเสมือน"
ประมาณ 64,000 ล้านตันต่อปี
ถ้าญี่ปุ่นต้องผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้เองเชื่อว่า
จะเกิดการขาดแคลนน้ำขึ้นในประเทศเป็นแน่
ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก
จึงต้องใช้น้ำเป็นปริมาณมหาศาลในแต่ละปี
ดังนั้น การเป็นครัวโลกของไทยภายใต้สภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ
ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงมีต้นทุนสูง
เพราะหากเราไม่ผลิตมากเช่นนี้
เราอาจมีน้ำเหลือในบ้านเพื่อสร้างความชุ่มฉ่ำให้แก่ผืนดิน
และเหลือน้ำสำหรับการบริโภคของประชาชนในปัจจุบัน
และเหลือเก็บไว้สำหรับอนาคตได้ดีกว่าความก้าวหน้าในเรื่องน้ำ
ที่น่าพอใจก็คือการแปรรูปน้ำเค็มซึ่งมีอยู่มหาศาล
เป็นน้ำจืดอย่างกว้างขวางกว่าเดิมเป็นอันมาก
โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ดังที่มีการริเริ่มกันในอิสราเอล สิงคโปร์
ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย จีน อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ
ไม่ว่าจะหาแหล่งน้ำจืดเพิ่มอย่างใดก็ตามที
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เรามีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลนได้นานที่สุด
ก็คือการใช้น้ำอย่างสมประโยชน์
อย่างมีเหตุมีผลและอย่างตระหนักว่ามันมีต้นทุนเสมอ
หน้า 6