คอลัมน์ รื่นรม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
ภาพ/เรื่อง
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552
ความเป็นผู้คงแก่เรียน ท่านใช้ศัพท์ว่า "พาหุสัจจะ"
มาจากคำว่า "พหุสุต" (ไทยเขียน พหูสูต) แปลว่า ผู้ได้ยินได้ฟังมาก ศัพท์ "พหุสุต"
เมื่อลงปัจจัยใน ภาวตัทธิต ตามไวยากรณ์บาลีแล้ว
รูปศัพท์จะแปลงเป็น "พาหุสัจจะ" แปลว่า ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมากไม่ใช่แปลว่า
"มีสัจจะมาก" ดังคนบ้าไม่รู้บาลีบางคน แปลแล้วตะแบงจะให้มันถูกให้ได้พูดมา
ทั้งหมดนั้นชาวบ้านอาจไม่เข้าใจ แต่ถ้าจะอธิบายเปรียบเทียบกับภาษาอื่นคงพอเข้าใจได้
เช่น คำภาษาอังกฤษว่า friend (เพื่อน) ใส่ปัจจัย ship
ต่อท้ายตามหลักไวยากรณ์อังกฤษเป็น friendship (ความเป็นเพื่อน)พหุสุต
เทียบได้กับคำ friend พาหุสัจจะ เทียบได้กับ friendship
ฉะนี้แลความเป็นคนคงแก่เรียน หรือคนเรียนมากรู้มาก เป็นความรู้ระดับต้น
เป็นความรู้สะสมที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ท่องจำไว้ได้ พูดสั้นๆ
ว่าเป็น "ความรู้จำ" มิใช่ "ความรู้เห็น"อย่างหลัง (ความรู้เห็น)
เป็นความรู้ระดับญาณ (การหยั่งรู้ความจริง) ซึ่งเกิดจากการฝึกฝนทางจิต
มิใช่การท่องบ่นสาธยาย ดังพาหุสัจจะพาหุสัจจะมีมากเท่าใด
จะทำให้มีหูตากว้างขวาง เฉลียวฉลาด มีความเชื่อมั่นในตัวเอง
องอาจ กล้าหาญในสังคม ยิ่งคงแก่เรียนในหลายๆ ด้านยิ่งองอาจมากขึ้น
ใครจะพูดจะคุยถึงเรื่องอะไรก็สนทนาตอบโต้กับเขาได้หมด
และสนทนาตอบโต้ได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่รู้นั่นนิดรู้นี่หน่อยแบบเป็ด
ใครพูดเรื่องอะไรก็รู้เหมือนกัน
แต่รู้ไม่จริง เหมือนเป็ดนั่นแหละ บินก็ได้ ว่ายน้ำก็ได้ วิ่งก็ได้ ร้องหรือขันก็ได้
แต่ไม่ได้เรื่องสักอย่าง ดีอย่างเดียว เอาไปตุ๋นกินเคล็ดลับของการเป็นพหูสูต
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 ขั้นตอน ใครอยากเป็น "คัมภีร์เดินได้" ลองฝึกฝนตามนี้คือ
ขั้นตอนที่หนึ่ง ฟังให้มาก อ่านให้มาก ศึกษาค้นคว้าให้มาก
สมัยก่อนการศึกษาค้นคว้า อาศัยการฟังอย่างเดียว
แต่สมัยนี้สื่อที่ให้ความรู้มีทุกอย่าง ต้องใช้ทั้งตาทั้งหูให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด
อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ แนะว่า มีอะไรขวางหน้าอ่านให้หมด
แล้วเราจะได้ความรู้แปลกๆ ใหม่ๆ เสมอ
ขั้นตอนที่สอง
จดจำสาระสำคัญ หรือใจความใหญ่ๆ ได้ อ่านมาก ฟังมากอย่างเดียวไม่พอ
ต้องจับประเด็นให้ได้ จับสาระสำคัญให้ได้ แล้วจดจำไว้
บางคนอ่านหนังสือมากมายครั้นถามว่าหนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร
เขียนดีไหม ตอบไม่ได้ อย่างนี้ถึงอ่านหมดห้องสมุดก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ขั้นตอนที่สาม ท่องให้คล่องปากแบบอาขยาน
ตรงไหนสำคัญหรือประทับใจท่องไว้เลยให้คล่อง
เหมือนพระท่องบทสวดมนต์นั่นแหละ
นักเรียนรุ่นก่อนเขาเกณฑ์ให้ท่องบทอาขยานเป็นเล่มๆ
และก็จำเอาไปใช้จนเฒ่าจนแก่ไม่ลืม สมัยนี้ไม่ให้ท่องอะไรเลย
ดัดจริตจะให้เด็กคิดเป็น ไม่ต้องท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง
เอาเข้าจริงก็ไม่ได้คิด ท่องก็ไม่ได้ท่อง โง่กว่าเดิมอีก
ขั้นตอนที่สี่ คิดสร้างภาพในใจให้แจ่มชัด อ่านเรื่องใดให้วาดภาพ
ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นให้ชัดเจนแล้วจะไม่มีทางลืม อาจารย์เสถียร โพธินันทะ
ท่านว่า ท่านอ่านพระนเรศวรชนช้าง มองเห็นภาพชัดเจนจนไม่ลืม
เวลานำไปพูดเหมือนกับกำลังบรรยายภาพที่เห็นกับตาให้คนอื่นฟัง
นี่คือเคล็ดลับข้อที่สี่ขั้นตอนที่ห้า อ่านมากฟังมาก
จำได้คล่องปากและเจนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว
ต้องนำเอามา "ย่อย" ให้เป็นความคิดและทฤษฎีของตัวเอง พูดสั้นๆ
ก็คือนำเอาไปประยุกต์ใช้นั่นแหละครับ
ทำได้ครบสูตรนี้รับรองว่าเป็นผู้คงแก่เรียนแน่นอนความรู้ระดับสุตะ
หรือ "ความรู้จำ" ใครมีมากก็เรียกว่า พหูสูต ทำให้แกล้วกล้า
องอาจในการโต้ตอบสนทนา ไม่เกี่ยวกับการตรัสรู้มรรคผลนิพพาน
พูดให้เข้าใจง่าย คือ คนรู้มากไม่จำเป็นต้องบรรลุอรหัตง่าย
และเร็วกว่าคนที่มีความรู้น้อยเลย ตรงกันข้าม
บางครั้งอาจทำให้ล่าช้ากว่าที่ควรเป็นก็ได้ยกตัวอย่าง พระสารีบุตร
พระโมคคัลลานะ ก่อนบวชทั้งสองท่านนี้เป็นศิษย์อาจารย์สญชัย
เจ้าสำนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในเมืองราชคฤห์
พระสารีบุตรมีปัญญามากกว่า คงแก่เรียนกว่าพระโมคคัลลานะ
แต่บรรลุอรหัตช้ากว่าพระโมคคัลลานะอีกตัวอย่างหนึ่ง
พระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นพหูสูต
จดจำพุทธวจนะได้มากกว่าใคร เพราะติดสอยห้อยตามพระพุทธองค์ไปทุกหนทุกแห่ง
พระองค์แสดงธรรมอะไรให้ใครฟัง ทรงจำไว้ได้หมด
แต่พระองค์ก็บรรลุแค่โสดาปัตติผลเท่านั้น
กว่าจะได้เป็นพระอรหัตก็หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว
แต่ความรู้มากก็เป็นดาบสองคม ใช้ไม่ดีก็เป็นอันตราย
เพราะคนที่รู้มากนั้น มันมีอีกอย่างหนึ่งมากตามมาด้วย อะไรรู้ไหมครับ?
"อติมานะ" จะตามมาด้วยอติมานะ คือ ความถือตัวว่าวิเศษกว่าคนอื่น
ไปไหนใครๆ ก็ยกย่องว่า "ปัญญาชน" บ้าง "พระไตรปิฎกเดินได้" บ้าง
ก็ย่อมจะครึ้มอกครึ้มใจ และสำคัญว่า "กูแน่ กูคนเดียวคือความถูกต้อง"
แล้วก็ดูถูกคนอื่นว่า โง่ หรือเรียกให้สะใจว่า "งี่เง่า"
เมื่อคิดผิดเห็นผิดอย่างนี้ ก็นำไปสู่การปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะ
"ทุคฺคติปรายโน" (มีทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า) หมายถึง
ตกนรกนั่นแหละครับ พูดไปทำไมให้ฟังยากชาวประมงเมืองสาวัตถีคนหนึ่งไปทอดแห
ได้ปลาใหญ่สีเหมือนทองมาตัวหนึ่ง ตัดสินใจนำเข้าเมือง
เพื่อถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลชาวเมืองรู้เรื่องเข้าต่างมามุงดู
และเดินตามชาวประมงคนนั้นไปยังพระราชนิเวศน์เป็นจำนวนมาก
พระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรแล้วเห็นเป็นเรื่องประหลาด
จึงตรัสรับสั่งให้นำปลาทองตัวนั้นไปถวายพระพุทธองค์ทอดพระเนตร
พระพุทธองค์ตรัสกับปลาเบาๆ ปลามันอ้าปากขึ้น ทำปากพะงาบๆ
คล้ายจะพูดอะไรออกมา แต่เจ้าประคุณเอ๋ย พอมันอ้าปากขึ้นเท่านั้น
กลิ่นเหม็นได้กระจายจากปากมันเหม็นคลุ้งไปทั่วพระเชตวัน
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า ทำไมปลาตัวนี้ปากเหม็นร้ายกาจปานฉะนี้
พระพุทธองค์ตรัสว่า ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ
ปลาตัวนี้เป็นพระพหูสูตคงแก่เรียน ถูกลาภสักการะครอบงำ คือ
พอมีคนยกย่องนับถือมากเข้าก็หลงลืมตัว สำคัญว่า คนอื่นรู้ไม่เท่าตัว
หนักเข้าถึงกับกล้าแสดงธรรมวิปริตผิดเพี้ยนกันใหญ่โต ด่าว่าผู้ทรงศีลอื่นๆ
ว่าโง่เง่าเบาปัญญา พอตายไปจึงไปเกิดในนรกตลอดกาลยาวนาน
เศษกรรมยังไม่สิ้น ดลบันดาลให้มาเกิดเป็นปลาปากเหม็นตัวนี้แหละ"
แล้วเพราะอะไรมันจึงมีสีทองงามนัก พระเจ้าข้า" เสียงหนึ่งกราบทูลถาม
"เพราะเธอทรงจำพระพุทธวจนะเป็นพหูสูต
สวดสรรเสริญพระพุทธคุณและสั่งสอนคนอื่น อานิสงส์จากความดีส่วนนี้ยังมีอยู่
จึงส่งผลให้มีสีทอง"ครับ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ให้เลือกเอา
จะเอาผิวสวยงามดังทอง หรือปากเหม็น หรือจะเอาทั้งสองอย่าง
ก็เชิญตามสบายเถอะครับ
หน้า 6