Custom Search

May 31, 2017

ความรัก ชีวิต และความตาย ในทรรศนะของ ‘นิรุตติ์ ศิริจรรยา’

FRONTMAN 
ความรัก ชีวิต และความตาย ในทรรศนะของ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ลูกผู้ชายวัย 70 ปี กำลังเริ่มขึ้น


‘เกร็ดชีวิต 70 ปีบนความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง’

ด้วยวัยวุฒิระดับนี้ ทำให้ทุกคำพูดจากนิรุตติ์นั้นคมคาย แฝงข้อคิด หากไม่ใช่คนที่ใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชนย่อมทำไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างการใช้ชีวิตประจำวันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามกลับแก่ผู้ฟังได้อย่างน่าสนใจ

เป็นที่รู้กันว่านิรุตติ์ ศิริจรรยากินข้าววันละมื้อมา 22 ปีแล้ว ถ้าถามว่ากินมื้อไหน เขาตอบทันทีว่า มื้อที่หิว “หิวก็กิน ผมเห็นพวกคุณกินกันห้ามื้อ มันหิวจริงหรือเปล่า”

หรืออย่างเครื่องดื่มที่แทบจะติดมือตลอดเวลาคือกาแฟดำ ไม่ใส่น้ำตาล ซึ่งเขาเคยดื่มราวๆ 10 แก้วต่อวัน ปริมาณขนาดนี้จะแพ้ก็แค่คนอิตาเลียนเท่านั้น “จะเยอะหรือไม่เยอะ มันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตในวันนั้นยังไง คุณทำงานมาก เหงื่อออกมาก คุณก็อาบน้ำมาก คุณไม่ค่อยได้ทำงาน เหงื่อไม่ค่อยออก คุณอาบน้ำห้าขัน สิบขันก็พอ เหมือนกัน ทำไมต้องกำหนดว่ากินกี่ถ้วย ผมเห็นมนุษย์ที่ทำงานอยู่กับผม เดี๋ยวมันก็โอวัลตินเย็น น้ำแดง น้ำอัดลม ชาเย็น แล้วมันกินกี่อย่าง ทำไมไม่มีใครไปเพ่งเล็ง ของผมแค่น้ำเปล่ากับกาแฟ ไม่ต้องเย็น ไม่ต้องใส่น้ำแข็งก็ได้ ผมง่ายมาก ทุกวันนี้เหลือแค่สามถึงห้าถ้วย ไม่เกินนั้น กินข้าวเย็นสักสี่ห้าโมง ผมก็จบแล้ว ผมดื่มกาแฟแบบนี้มาตั้งแต่อายุสิบหก แล้วมันก็ไม่เกิดเอฟเฟ็กต์อะไรกับร่างกายเรา ถ้าคุณไม่รู้ตัวคุณเองว่าทำแบบนี้แล้วมันไม่ดีกับตัวเองหรือไม่ คุณก็สมควรไปเกิดใหม่” เขาตะเบ็งเสียงสู้กับเสียงเครื่องยนต์ของรถตู้ที่วิ่งด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง “และนี่เป็นสิ่งเดียวที่ผมดื่ม เพราะผมไม่ดื่มเหล้า ผมเลิกดื่มตั้งแต่อายุ 30 จนตอนนี้เลิกมา 40 ปีแล้ว”

เวลา’ จะช่วยเยียวยาทุกอย่าง

“เด็กหนุ่มมักมองไปที่อนาคต แต่คนแก่มักคุยกันเรื่องอดีต คุณเป็นคนแก่ที่หมกมุ่นกับอดีตไหม”

“ถ้าไม่มีใครถาม ผมก็ไม่เล่า ผมไม่รื้อฟื้น ผมอยู่กับโลกปัจจุบัน เราเก็บเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเพื่อให้เรารู้สิ่งที่ผิด แล้วอย่าไปทำมันอีก เราแก้ไขอดีตไม่ได้ ที่ทำได้คือเราแก้ไขวันนี้ เพราะวันนี้คืออดีตของวันพรุ่งนี้”

หนึ่งในประเด็นที่หลายคนอยากรู้และมักถามนิรุตติ์อยู่เสมอคือความรู้สึกหลังจากที่เขาสูญเสียภรรยาจากอุบัติเหตุ จนทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่อเมริกาและหายไปจากวงการบันเทิงถึงหกปีครึ่ง

“จนถึงตอนนี้ คุณจัดการกับอดีตเรื่องนี้ได้ดีขึ้นไหม”

“ก็ดีขึ้น แต่ใช้เวลาพอสมควร นั่นเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมได้ทบทวนตัวเอง อย่างที่บอกว่าเราแก้ไขอดีตไม่ได้และมันก็เกิดขึ้นแล้ว ตอนเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ตื่นขึ้นมายังคิดว่า ฝันไปหรือเปล่า แต่ทั้งหมดเรารู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นเรื่องจริง และไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง ตอนนั้นเราคิดทบทวนว่า ทำไม ทำไม ทำไม แต่ไอ้คำว่าทำไมนั้นน่ะ มันทำไปแล้ว โดยที่เราไม่ได้เป็นคนทำ เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำเพราะเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และคนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็พูดไม่ได้แล้วเพราะว่าเขาตายไปแล้ว แต่เรายังไม่ตายหนิ แล้วไง จะฆ่าตัวตายตามหรอ แล้วมันได้อะไร เราต้องเผชิญหน้ากับมัน ทำความเข้าใจกับตัวเองว่าต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ ต้องใช้เวลาเท่านั้นเอง เวลาเท่านั้น เมื่อไหร่เราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราเคยอยู่กับเขาก็กลับมาเมืองไทย แค่หกปีครึ่งผมก็อ่อนแอมากแล้วนะ ผมอ่อนแอมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะมีสิ่งที่รอผมอยู่ ต้นไม้รอผมอยู่ บ้านรอผมอยู่ แม้เขาจะพูดไม่ได้ คนงานก็ยังรอคนที่จะเป็นเสาหลักอยู่ หกปีครึ่งมันนานพอแล้ว จึงตัดสินใจขายบ้านที่อเมริกาและกลับมาเริ่มใหม่ดีกว่า”

‘ความตายร่ายระบำ ชวนเต้นรำกับชีวิต’

“ผ่านชีวิตมา 70 ปี มีอะไรในโลกนี้ที่คุณยังต้องกลัวอีกไหม”

“ผมไม่ค่อยจะกลัวอะไร เราก็ใช้ชีวิตของเราไปในทุกๆ วัน ถ้าจะกลัวว่าพรุ่งนี้อาจไม่มีงานทำ หรือแก่แล้วจะกินอะไร ผมไม่กังวลเลย เพราะสุดท้าย มนุษย์เราก็กินได้แค่อิ่ม คุณจะกินพระกระโดดกำแพง ขาหมูหมั่นโถว หรือข้าวน้ำพริกผักต้ม ก็ได้แค่อิ่ม ให้เรารู้อยู่ รู้เป็นก็เท่านั้น”

“แม้กระทั่งกับความตาย?” ผมถาม

“ยิ่งไม่กลัวใหญ่เลย” เขายักไหล่ “ผมไม่เคยคิดถึงความตาย เพราะว่าถ้ามันจะตายเมื่อไหร่ มันก็ตายได้ ผมอาจจะนอนหลับไปคืนนี้ แล้วพรุ่งนี้ผมไม่ตื่นก็ได้ ถ้ามัวแต่กลัว ผมก็ไม่ต้องนอนสิ ถ้าชีวิตติดอยู่กับความกลัว คุณจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ชีวิตคุณต้องดำเนินไปตลอด คุณต้องไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น แต่มันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้ากลัวว่าฉันยังไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ มีเวลา ก็ทำซะเดี๋ยวนี้ อย่าผลัด”


นิรุตติ์ ศิริจรรยา จบประโยคด้วยการจิบกาแฟอึกใหญ่ อำลาแสงสุดท้ายด้วยน้ำเสียงทรงพลังอย่างที่ได้ฟังในภาพยนตร์ เจือรอยยิ้มละมุนพร้อมต้อนรับความไม่จีรังของสังขาร ปิดท้ายด้วยนัยน์ตาสีเทาที่ชวนให้นึกถึงมารดา กำลังจ้องเขม็งตาต่อตา แฝงความทระนงให้รู้ว่าชีวิตไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวสิ่งใดอีกต่อไปแล้ว

ติดตามเรื่องราวและแฟชั่นเซตเพิ่มเติมได้ในนิตยสารแอลเมนประเทศไทยฉบับมิถุนายน

เรื่อง: กรกฎ อุ่นพาณิชย์
บรรณาธิการแฟชั่น: ณภัทร สุทธิธน
ภาพ: พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์
หัวหน้าผู้ช่วยสไตลิสต์: นัฐพล กล้าหาญ
ผู้ช่วยสไตลิสต์: สิทธิโชค ทรายคำ
แต่งหน้า และทำผม: บัณฑิต บุญมี
สถานที่: Rachamankha

May 30, 2017

Studio Ghibli



‘สวยสู้ชีวิต’..อดีตมิสวีลแชร์‘ภัทราวรรณ พานิชชา’สร้างฝันไม่ง่าย..แต่ ‘ฉันทำได้!’


ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เรื่องเพื่อ เผยแพร่ (เพื่อให้กำลังใจทุกคน)
ต้นเรื่องจาก
https://www.dailynews.co.th/article/366540

ร่างกายตอนนั้น ขยับอะไรไม่ได้เลย เวลาจะสื่อสารกับใครก็ต้องใช้วิธีเขียน และกะพริบตาเพื่อสื่อความหมายแทน หลังจากรักษาตัวอยู่ระยะหนึ่ง อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ โดยสามารถขยับแขน มือ และร่างกายบางส่วนได้
อาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2558 เวลา 05.29 น.

“แม้เราจะพิการ เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถวีลแชร์ แต่เราใช้ชีวิตปกติได้ และทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้เหมือนคนปกติ ที่สำคัญ เราก็มีสิทธิที่จะทำ...ให้ฝันของเราเป็นจริง ได้เหมือนคนทั่วไป” ...เป็นเสียงจากความรู้สึกของ “ชมพู่-ภัทราวรรณ พานิชชา” สาวสวยเจ้าของรางวัล “Miss Wheelchair Thailand” ปี ค.ศ. 2012 ที่ไม่ยอมปล่อยให้ความพิการฉุดรั้ง “ชีวิตคิดบวก” ของเธอไว้ ซึ่งล่าสุด สาวสวยคนนี้เพิ่งเป็นบัณฑิตป้ายแดงหมาด ๆ โดยเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร หลังเรียนจบคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งวันนี้ทีม “วิถีชีวิต” มีเรื่องราวชีวิตของเธอคนนี้มานำเสนอ...

ชมพู่-ภัทราวรรณ ในวัย 24 ปี เล่าว่า เธอเป็นคน อ.พล จ.ขอนแก่น สำหรับความพิการนี้ ไม่ได้เป็นตั้งแต่กำเนิด แต่มาพิการหลังประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชน ซึ่งเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาลนั้น นึกถึงกี่ครั้งก็ยังจำได้ไม่มีวันลืม โดยเธอเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ตอนนั้นอายุ 16 ย่างเข้า 17 ปี เพิ่งเรียนจบชั้น ม.4 กำลังจะขึ้นชั้น ม.5 ช่วงนั้นโรงเรียนปิดเทอมแล้ว แต่เธอมีนัดกับเพื่อนเพื่อไปสอบซ่อมบางวิชาที่ค้างอยู่ โดยตอนเช้าเพื่อนได้ขับรถมอเตอร์ไซค์มารับเธอที่บ้าน หลังจากทำภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ตอนจะกลับบ้านได้เจอเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งกำลังยืนรอพ่อมารับกลับบ้าน จึงเข้าไปคุยและยืนรอเป็นเพื่อน แต่รออยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง พ่อของเพื่อนคนนั้นก็ยังไม่มารับ เธอจึงชวนเพื่อน ๆ กลับด้วยกัน โดยนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปด้วยกัน 3 คน

“ถนนต่างจังหวัดจะเป็นถนนสองเลนที่รถวิ่งสวนกัน วันนั้นรถเราวิ่งไปตามไหล่ทาง และยืนยันว่าไม่ได้ขับเร็วด้วย ช่วงเกิดเหตุมีรถสิบล้อคันหนึ่งขับไล่หลังเรามาด้วยความเร็วมาก และทางข้างหน้ามีรถยนต์คันหนึ่งจอดอยู่ ตอนนั้นลังเลใจว่าจะยังไงดี จะแซงรถสิบล้อแล้วเบี่ยงออกเพื่อหลบรถยนต์ หรือเลือกขับอยู่ตรงกลางทางระหว่าง 2 เลนดี ซึ่งความลังเลนี้เอง ทำให้รถที่เราขี่หลบไม่พ้นรถยนต์คันนั้น แล้วที่สุดรถสิบล้อก็ชนเข้าด้านหลังรถมอเตอร์ไซค์เต็มแรง และเราเป็นคนที่เจ็บหนักที่สุด เพราะนั่งอยู่ในตำแหน่งสุดท้าย” ...ชมพู่ เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น...ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอ

พลิกชีวิตเด็กสาวคนนี้ให้ไม่เหมือนเดิม

เธอเล่าต่อไปว่า... หลังประสบอุบัติเหตุก็ถูกนำตัวไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ จากนั้นได้ถูกส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด เนื่องจากร่างกายบอบช้ำจากอุบัติเหตุมาก กับสภาพตอนนั้น ชมพู่เล่าว่า... เธอมีอาการไหปลาร้า ซี่โครง และกระดูกสันหลังหัก โดยซี่โครงที่หักนั้นไปทิ่มปอดจนทะลุ ขณะที่กระดูกสันหลังที่หักยังไปกดทับเส้นประสาทอีกด้วย ซึ่งเธอต้องรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูนานถึง 7 วัน

“ร่างกายตอนนั้น ขยับอะไรไม่ได้เลย เวลาจะสื่อสารกับใครก็ต้องใช้วิธีเขียน และกะพริบตาเพื่อสื่อความหมายแทน หลังจากรักษาตัวอยู่ระยะหนึ่ง อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ โดยสามารถขยับแขน มือ และร่างกายบางส่วนได้ แต่ส่วนล่าง โดยเฉพาะที่ขาทั้งสองข้างนั้น กลับขยับเขยื้อนไม่ได้เลย ตอนนั้นเริ่ม ๆ รู้แล้วว่า เราจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียวนะ” ...เป็นความรู้สึก ณ ช่วงเวลานั้น ที่เธอได้เล่าให้ทีม “วิถีชีวิต” รับฟัง

ช่วงที่ถูกย้ายมารักษาอาการที่ห้องพิเศษ เธอบอกว่าเหมือนกลับไปเป็นเด็กทารกอีกครั้ง เพราะต้องฝึกนั่ง หัดทรงตัว เหมือนเด็กเล็ก ๆ ฝึกใหม่หมด โดยคุณหมอบอกว่าต้องทำกายภาพบำบัดเป็นประจำทุกวัน ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถึงจะรู้ว่าร่างกายของเธอนั้นจะฟื้นตัวได้ดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง ยังพอมีความหวังที่จะรักษาตัวให้หาย เพื่อกลับมาเป็นคนเดิมอยู่ จนเวลาผ่านไป 6 เดือน คุณหมอจึงบอกให้ครอบครัวรับตัวเธอกลับไปรักษาต่อที่บ้าน

“ตอนนี้เองที่เหมือนฟ้าถล่ม เพราะคุณหมอได้แจ้งอาการด้วยประโยคสั้น ๆ ว่าการรักษาทุกอย่างสิ้นสุดแล้ว และร่างกายของเราก็คงฟื้นฟูได้แค่นี้ เราคงไม่สามารถกลับมาเดินได้อีกต่อไป ได้ยินแค่นั้นแหละ ร้องไห้ออกมาเลย ร้องหนักมาก ร้องทั้งวันทั้งคืน ยอมรับว่าไม่เคยเสียใจอะไรเท่านี้มาก่อนในชีวิต เพราะตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา เราอยู่ด้วยความหวังมาตลอดว่าเราจะหาย” ...เป็นความรู้สึกตอนนั้น ที่เธอบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากจะหาคำพูดใด ๆ มาอธิบายอารมณ์ ณ วินาทีนั้น

อย่างไรก็ดี สาวสวยดีกรี “มิสวีลแชร์ ปี 2012” อย่าง ชมพู่ บอกว่า...สิ่งที่ทำให้กลับมามีแรงฮึดสู้อีกครั้ง คือ เมื่อร้องไห้หนักจนถึงจุดหนึ่ง จึงหันกลับมามองว่า ต่อให้ร้องไห้จนน้ำตาหมดก็คงไม่มีประโยชน์ เพราะชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไปอยู่ดี ซึ่งมีอยู่ประโยคหนึ่ง ที่แว่บเข้ามาในหัว คือ เราจะเป็นอะไร จะเสียใจแค่ไหน แต่โลกก็ยังคงหมุนต่อไป แล้วจะมัวมานั่งเสียใจทำไม เพราะยังมีคนที่รักและพร้อมช่วยเธออีกมากมาย ซึ่งถ้าตัวเธอท้อ คนเหล่านั้นก็คงหมดกำลังใจที่จะร่วมสู้ไปกับเธอด้วยเช่นกัน

“เมื่อคิดได้ จึงพยายามปรับใจให้ยอมรับ หลังประสบอุบัติเหตุต้องหยุดเรียนไป 1 ปี เพื่อรักษาตัว พอหายดีจึงกลับมาเรียนต่อจนจบชั้น ม.ปลาย ใช้เวลาเรียน 2 ปี จากนั้นก็สอบเข้าเรียนปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ตอนนั้นมีปัญหา เพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวยให้คนพิการ จึงสละสิทธิไป ยอมรับว่าเคว้งมาก แต่พยายามหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต จนพบว่า ที่ธรรมศาสตร์รับนักศึกษาพิเศษด้านต่าง ๆ จึงสมัครสอบตรงในโควตานักศึกษาพิการ แต่สอบไม่ติด เพราะเลือกคณะเข้ายากเกินไป แต่ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ สุดท้ายจึงลองสอบแอดมิชชั่นอีกครั้ง ครั้งนี้สอบติด และได้เข้าเรียนสมใจ”

“ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย” สาวชมพู่ เล่าว่า ตลอด 4 ปี เธอใช้ชีวิตเหมือนนักศึกษาปกติทุกอย่าง ทั้งเรียน และร่วมทำกิจกรรมเสมอ แต่สิ่งที่ประทับใจ คือ ที่ธรรมศาสตร์มีทุกอย่างที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ อาทิ รถเข็นไฟฟ้า สภาพของอาคาร ซึ่งช่วยทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนอื่นมากนัก ซึ่งตอนที่เรียนที่นี่ เธอต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง ตั้งแต่ล้างจาน กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้าเอง ทั้ง ๆ ที่ตอนอยู่ที่ขอนแก่น เธอแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะมีคนคอยช่วยทุกอย่าง ซึ่งสำหรับเธอแล้ว การที่ได้ออกมาเผชิญโลกกว้างแบบนี้ ช่วยทำให้เธอแข็งแกร่งมากขึ้น

“ก็มีบ้างที่คนจะมองเราด้วยหางตา หรือมองด้วยสายตาเชิงดูถูก แต่ก็ไม่เคยเก็บมาคิดใส่ใจ เพราะคนที่คิดดี ปรารถนาดีกับเรานั้นมีมากกว่า และคนที่ชื่นชมและยังให้กำลังใจเรา ก็ยังมีอีกมากมาย” ...สาวชมพู่ กล่าว

สวย-เก่ง แถมมีดีกรี “ดาวมหาวิทยาลัย+มิสวีลแชร์” เราอดไม่ได้ที่จะถามถึง “มุมความรัก” ชมพู่ ยิ้ม ก่อนตอบว่า... “มีแฟนแล้ว และแฟนก็รับได้ในสิ่งที่เราเป็น” พร้อมทั้งบอกว่า เธอเองก็เหมือนกับคนทั่วไป คือต้องการแค่ใครสักคนที่รับเธอได้ในสิ่งที่เป็น อย่างไรก็ดี ความรักไม่จำเป็นต้องมีแต่เรื่องชู้สาว เพราะความรักนั้นยังมีรูปแบบอื่น ๆ อีกตั้งมากมาย ส่วนในเรื่องของ “ความสวยความงาม” นั้น ก็ต้องมีบ้างนิดนึง ตามประสาผู้หญิง และเธอก็เป็นคนชอบแต่งหน้าแต่งตัว ซึ่งแรงบันดาลใจนี้ มาจากช่วงที่กระแสบิวตี้บล็อกเกอร์มาแรง ทำให้สนใจเรียนรู้วิธีและเทคนิคการแต่งหน้าเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง

ในฐานะ “ตัวแทนของผู้พิการ” คนหนึ่ง เธอบอกว่า ผู้พิการไม่ใช่คนไร้ความสามารถ ดังนั้น อย่าตัดสินเพียงแค่เห็นว่าพวกเธอเป็นผู้พิการ เพราะจริง ๆ แล้วในสังคมมีผู้พิการที่เก่ง และมีความสามารถอยู่มากมาย ซึ่งสิ่งที่ผู้พิการต้องการจริง ๆ ไม่ใช่ความเห็นใจ ไม่ใช่ความสงสาร แต่อยากได้รับโอกาสจากสังคม ให้ผู้พิการได้พิสูจน์ความสามารถ แสดงศักยภาพ มากกว่า

“พวกเราต้องการแค่นี้จริง ๆ” ...เธอย้ำ

ด้วยความที่เป็น “สาวคิดบวก” ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ก็ทำให้เธอคนนี้เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คน และถูกยกย่องเป็น “เน็ตไอดอลสู้ชีวิต” โดย ชมพู่ เล่าว่า มีคนเข้ามาขอคำแนะนำ คำปรึกษา ทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต เป็นประจำ นอกจากนั้น ก็ยังมีหลายคนที่เข้ามาถามเกี่ยวกับการแต่งหน้าแต่งตัวด้วย

“มีเข้ามาถามประจำค่ะ เรื่องการสร้างกำลังใจ การใช้ชีวิต บางคนก็ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการแต่งหน้า แต่งตัว (หัวเราะ) แต่ที่ดีใจและปลื้มใจที่สุดคือ มีคนบอกว่าเรื่องราวของเราทำให้เขาฮึด และมีพลังที่จะลุกขึ้นมาสู้ชีวิตอีกครั้ง” ...เป็นเรื่องราวผ่านคำบอกเล่าจาก “สาวสวย+เก่ง...แถมสู้ชีวิต” คนนี้...

“ชมพู่-ภัทราวรรณ พานิชชา”.

สุรางค์รัตน์ เจนการ : เรื่อง / สุนิสา ธนพันธสกุล : ภาพ




เรื่องดีๆที่ให้กำลังใจ 




May 28, 2017

เจาะใจ : ฌอน บูรณะหิรัญ | พลังแห่งการคิดบวก




จากอดีตเด็กนอกที่ชีวิตติดลบ ไม่มีเพื่อนจนอายุ 17 
โดนรังแกทุกวัน ต่อยตีจนเข้าคุก
สู่นักคิดสร้างแรงบันดาลใจที่มีคนติดตามนับล้าน
เรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจที่อาจเปลี่ยนมุมมองชีวิต
และวิธีคิดให้คุณกลายเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม
จากชายหนุ่มผู้ถูกพูดถึงมากในโลกออนไลน์
"ฌอน บูรณะหิรัญ"

คนค้นฅน : จากสลัมสู่จักรวาร | FULL (26 ธ.ค.60)



หนึ่ง-จักรวาล มีวันนี้ได้เพราะเพียรพยายาม จากขอเล่นฟรี สู่นักดนตรีแถวหน้า

วันที่ 15 ตุลาคม 2560

หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม
ผู้โด่งดังเป็นที่รู้จักของมหาชนจากบทบาท
คอมเมนเตเตอร์รายการ I Can See Your Voice
และ The Mask Singer
แต่ก่อนหน้านั้นเขาเป็นนักเปียโน เป็นนักเรียบเรียงดนตรี
เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นมิวสิกไดเร็กเตอร์ เป็นแทบจะทุกตำแหน่ง
ในกระบวนการผลิตดนตรีและเป็นอย่างมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับ
ในแวดวงดนตรีมานานหลายปี
จากความสำเร็จอันปรากฏขึ้นมาเด่นชัดในช่วงเวลาปีสองปีนี้
ทำให้หนึ่ง จักรวาล เป็นนักดนตรีงานชุกที่ผู้จัด
อยากคว้าตัวเขาไปขึ้นเวที ไม่เฉพาะเวทีคอนเสิร์ต
และรายการประกวดร้องเพลงเท่านั้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้หนึ่งได้ข้ามสายมาขึ้นเวทีสัมมนา
“Passion To Profit พลิกมุมคิด…สร้างธุรกิจให้ติดลม”
ซึ่งหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์
บนเวทีนี้วิทยากรทุกคนเป็นนักธุรกิจ
ยกเว้นหนึ่ง-จักรวาลคนเดียวที่เป็นนักดนตรี
แต่ที่ทีมจัดงานเลือกเขามา
ให้เขาแชร์ประสบการณ์ชีวิตที่ต้องอดทนและเพียรพยายาม
อย่างมากกว่าจะประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ฟัง
ให้ได้เห็นว่าในการทำธุรกิจอาจจะเจออุปสรรคมากมาย
คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่คนทำธุรกิจต้องมีก็คือความอดทน
และความพยายาม
หนึ่งเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงชีวิตวัยเด็กว่าบ้านอยู่ในสลัมคลองเตย
พ่อเป็นคนขาพิการ ทำงานขับรถรับจ้างเลี้ยงครอบครัว
ส่วนแม่เป็นคนไม่มีการศึกษา ไม่มีอาชีพ ฐานะทางบ้านยากจน
และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นยุคมืดสุด ๆ
ของสลัมคลองเตยที่เต็มไปด้วยยาเสพติด
ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น หนึ่งบอกว่า
“งง ๆ อยู่เหมือนกันที่รอดมาได้ เพื่อนรุ่นเดียวกัน
ตอนนี้เสียชีวิตหมดแล้ว เพราะว่าทุกคนติดยา”
แต่ฟังต่อไปก็รู้ว่าที่เขารอดมาได้ ไม่ใช่ความบังเอิญ
แต่เขามีสิ่งหนึ่งเป็นแสงสว่างนำทางก็คือ “ดนตรี”
ที่เขาซึมซับมาจากพ่อซึ่งเป็นครูสอนร้องเพลง
ให้นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง
อย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, รุ่งเพชร แหลมสิงห์,
ชินกร ไกรลาศ, สายัณห์ สัญญา, พุ่มพวง ดวงจันทร์
“ในสมัยนั้นเราไม่คิดว่านักร้องเหล่านี้คือซูเปอร์สตาร์
เราเด็กมาก ไม่รู้เรื่อง ผมนั่งฟังคุณพ่อร้องเพลง
เห็นคุณพ่อสอนคุณอาแต่ละคน พ่อบอกว่าวิธีการเล่นดนตรี
การร้องเพลง คือการจินตนาการ
บ้านเราไม่มีตังค์ซื้อคีย์บอร์ดหรือเครื่องดนตรีสักอย่าง
ไม่มีตังค์ส่งเสียเราเรียนดนตรี ให้เราใช้จินตนาการ
ใช้หูฟังและสังเกต
ในชีวิตช่วงหนึ่งเคยมีคีย์บอร์ดตัวเล็ก ๆ
ที่ไม่สามารถเล่นคอร์ดได้ เล่นได้ทีละตัว
เวลาคุณพ่อสอนคุณอาร้องเพลง
ก็บอกให้เรากดโน้ตตาม ให้เราหาจากเสียงนั้นให้เจอ
พ่อบอกให้สังเกต พยายามเก็บบรรยากาศตรงนั้น
แล้วดึงเสียงพวกนั้นมาสู่จินตนาการของเรา
ทำตามคุณพ่อไปเรื่อย ๆ สักพักหนึ่งพ่อก็บอกให้ทำวงลูกทุ่งเล็ก ๆ
ตอนอายุ 7 ขวบ ให้ไปเล่นตามบ้านเพื่อนพ่อ งานโกนจุก
งานขึ้นบ้านใหม่ งานวันเกิด ผมเล่นออร์แกน
มีคุณอาแต่ละท่านมาร้องเพลงให้ ทุกวันของการเล่น
เราได้เห็นผู้คนมากมายผลัดกันหมุนเวียนเข้ามาร้องเพลง
ร้องโดยที่ไม่ถามผมสักคำว่าผมเล่นได้รึเปล่า
(เรียกเสียงหัวเราะดังทั่วห้อง)
เล่นทุกวันจนรู้สึกว่าผูกพัน ผมคิดว่าต้องเอาตัวรอดแต่ละวันให้ได้
มันก็เลยเป็นเกมอย่างหนึ่งของผม เพลงไหนเล่นได้ก็เล่นไป
เล่นไม่ได้ก็ต้องเล่นให้ได้ เล่นมั่วไป”
นั่นคือชีวิตวัยเด็กของหนึ่ง จักรวาล
จากนั้นเขาได้เรียนดนตรีจริงจังตอน ม.1 ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์
“พ่อบอกให้ไปเรียนเปียโน ไปวันแรก ครูถามว่าใครจะเรียนเปียโน
ทุกคนยกหมดเลย มีผมคนเดียวที่ไม่ยก
เพราะผมไม่รู้จักเปียโน
ผมรู้แต่ว่าไอ้ที่ผมเล่นที่บ้านมันคือคีย์บอร์ดและออร์แกน
แล้วผมก็โดนจับเรียนไวโอลิน จบเอกไวโอลินมา”
แต่เขาก็พยายามขวนขวายหาวิธีเรียนเปียโนจนได้
“วิธีการเรียนเปียโนของผมคือ ไปแอบดูครูซ้อมครับ
เราไปเล่นเองไม่ได้ เพราะว่ากฎเหล็กของวิทยาลัยนาฏศิลป์
คือห้ามจับเครื่องมือที่ไม่ใช่วิชาเอกของเรา
วันที่สองของการเรียน ผมมาโรงเรียนเช้ามาก ตีห้าครึ่ง
ผมได้ยินเสียงเปียโนลอยมา
ผมก็เดินตามเสียงเปียโนไปถึงห้องซ้อมเปียโน
มีครูท่านหนึ่งนั่งเล่นเปียโนอยู่
มีหนังสือเพลงอยู่ข้างหน้า เราเข้าไปไม่ได้ก็แอบดูจากข้างหลัง
แล้วก็เอาเงินที่หาได้จากการเก็บเศษกระดาษ เศษเหล็ก
เก็บขวดชั่งกิโลขายไปซื้อหนังสือโน้ตเพลงเล่มนี้
แล้วกลับมาที่เดิม แอบฟังครูเล่นเปียโน
เปิดหนังสือหน้าเดียวกันแล้วยืนมอง
แล้วก็แอบมาเล่นอีกห้องหนึ่ง
คิดว่าถ้าครูได้ยินแล้วมาด่าก็ไม่เป็นไร
ยอมครั้งแรกที่ได้นั่งเก้าอี้เปียโน เปิดหนังสือ อ่านโน้ตไม่ออก
ซื้อมาทำไม แล้วคำสอนของพ่อเข้ามา
เวลาเล่นดนตรีอะไรก็แล้วแต่ …ฟัง
เราก็กลับไปดูว่าครูเปิดหน้าไหนแล้วฟังว่าเสียงเป็นยังไง
แล้วสังเกตว่าเสียงแบบนี้โน้ตมันเป็นแบบนี้
แล้วก็กลับไปเล่นอีก วิ่งไปวิ่งมาแบบนี้อยู่ 3 เดือน
แต่ในใจคิดว่าเราจะทำแบบนี้ตลอดชีวิตไม่ได้
เราต้องเข้าใจให้เร็วที่สุด ก็เลยเอาตัวไปลงสนามจริง
ขอพ่อแม่ไปเล่นในคาเฟ่เดือนแรกเล่นโดยไม่เอาเงิน
ไปนั่งอยู่ข้างมือคีย์บอร์ด เพลงไหนเล่นได้ก็ขอเขาเล่น
เพลงไหนเล่นไม่ได้ก็นั่งดูแล้วถามเขา
พอเดือนที่สองเริ่มมีวิชาความรู้ ย้ายไปเล่นอีกที่หนึ่ง
แต่เตรียมใจไว้แล้วว่าโดนนักร้องด่าแน่นอน
ก็เป็นไปตามความตั้งใจ นักร้อง 10 คนรุมด่า
เพราะเล่นได้บ้างไม่ได้บ้าง 3 เดือนเสียงด่าเงียบ
มันเหมือนเป็นพี่น้องกันแล้ว เขาบอกวันนี้เล่นไม่ได้ไม่เป็นไร
เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เล่นได้ แต่ในความรู้สึกเรามันไม่ได้ ใจต้องสู้
มันเหงาไม่มีใครด่า
ก็คิดว่าต้องไปที่ที่หนักกว่านี้ ไปอีกคาเฟ่หนึ่ง
มีนักร้อง 20 คนเหตุการณ์ก็เหมือนเดิมครับ 3 เดือน
เสียงด่าเริ่มเงียบ ก็ต้องไปหาที่อื่น”
หนึ่งเล่นดนตรีกลางคืนมาเรื่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์พัฒนาฝีมือ
จากเล่นคาเฟ่ ขยับไปเล่นผับคนจีนที่ลูกค้ามีแต่คนจีน
เล่นไปเรื่อย ๆ
ได้ไปเล่นดนตรีให้ศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียง
แล้วเริ่มมีทักษะความสามารถในการทำเพลงเอง
“ความสามารถด้านการเป็นมิวสิกไดเร็กเตอร์
มันมาจากผมอยากแต่งเพลงได้ ทำดนตรีได้
ตามความฝันของพ่อ
แต่เราไม่มีปัญญาไปเรียน
เราก็อาศัยประสบการณ์จากสิ่งที่เราได้โอกาส
สมมุติผมเล่นให้ศิลปินท่านหนึ่ง
เวลาขึ้นคอนเสิร์ตแต่ละครั้งต้องแกะเพลงเล่นตามในแผ่น
แต่ผมรู้สึกว่าเล่นทุกวันมันเบื่อครับ
และคิดว่าถ้าเราแก่แล้วใครจะมาจ้างเราต่อ
เราเลยคิดว่าต้องเอาเวลาที่มีอยู่ทำให้มันมีค่าที่สุด
ด้วยความซนก็เอาเพลงมานั่งทำที่บ้าน
(เอาเพลงเดิมมาเรียบเรียงดนตรีใหม่) แล้วก็ซ้อมกับเพื่อน
ผมโดนเพื่อนด่าว่าทำทำไมวะ ทำไปก็เหนื่อยเปล่า
ผมก็ไม่เป็นไร วันนี้ทำฟรีแต่วันหน้าคงไม่ฟรีหรอก”
หนึ่งบอกว่า ศิลปินหลายคนที่เขาร่วมงานด้วย
มีส่วนในการสร้างชื่อเสียงความสำเร็จของนักดนตรีชื่อ
หนึ่ง จักรวาล เขาอธิบายว่า
ตัวเขาเองเป็นเพียงนักดนตรีคนหนึ่ง
หากนักร้องที่อยู่หน้าเวทีไม่ให้เกียรติพูดถึง
และแนะนำชื่อเขาให้คนดูได้ยิน
ก็คงไม่มีใครสนใจนักดนตรีที่เล่นอยู่ด้านหลังนักร้อง
แต่เขาได้รับเกียรติจากศิลปินทุกคนที่เอ่ยชื่อเขาจนผู้ชมคุ้นชื่อ
นอกจากการเล่นดนตรีหาเงินช่วยครอบครัวแล้ว
หนึ่งก็มีแพสชั่นเกี่ยวกับดนตรีอย่างแรงกล้าเหมือนนักดนตรีคนอื่น ๆ
เขาเล่าว่า เวลาซื้อเทปมาแกะเพลง
เขาอ่านเครดิตคนทำเพลงในปกเทปแล้วจดชื่อนักดนตรี
โปรดิวเซอร์ มิวสิกไดเร็กเตอร์
รายชื่อทีมงานทำเพลงที่เขาได้ยินชื่อบ่อย ๆ
และจดรายชื่อศิลปินที่เขาอยากร่วมงานด้วยใส่สมุดไว้
“ผมคาดหวังไว้ว่าวันหนึ่งผมจะออกตามล่าฮีโร่ของผมทุกคน
ลิสต์ยาวมาก จนวันนี้ผมได้ครบหมดทุกคนแล้ว
คนสุดท้ายที่เก็บได้คือ พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์”
หนึ่งเล่าอย่างมีความสุข
จากนักดนตรีที่ตั้งเป้าจะขึ้นเวทีเล่นดนตรีกับฮีโร่ของตัวเอง
วันนี้ หนึ่ง จักรวาล เป็นฮีโร่ที่นักดนตรีมากมายอยากร่วมเวทีด้วย
ช่วงท้ายของเวทีพูดคุยวันนั้น ป๊อด โมเดิร์นด็อก
ขึ้นมาร้องเพลงโดยมีหนึ่งเป็นคนบรรเลงดนตรี
หลังจบเพลงป๊อดพูดถึงหนึ่งว่า
“เขาเป็นนักดนตรีที่มีความแพรวพราวมาก
ผมคิดว่าเขาเป็นตัวจริงของวงการดนตรี และเป็นผู้ที่มีความเพียร
เป็นผู้ที่แสดงตัวตนออกมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
จนทุกคนเห็นในวันหนึ่ง
มวลประชาชนทั้งหลายอาจจะเพิ่งเห็นพี่หนึ่งในช่วงที่ผ่านมา
แต่จริง ๆ พี่หนึ่งทำมานานมากแล้ว
แล้ววันหนึ่งสิ่งที่พากเพียรมันก็ได้ปรากฏออกมา”
หนึ่งเสียงจากศิลปินดังที่การันตีความเป็นคนดนตรีคุณภาพของ
หนึ่งจักรวาล ได้ครอบคลุมทุกแง่มุม




ช่างบาส ซ่อมกีต้าร์




ดอน ซ่อมได้



ยูมิน ช่างซ่อมกีตาร์







May 26, 2017

MR.TEAM














คอลเลคชันหมีพูห์ในดวงใจ

ปลุกปลอบกำลังใจให้หญิงแกร่ง ธีรา ดำรงรัตน์ กับความผูกพันอันยาวนาน

เรื่อง : วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี
http://40plus.posttoday.com/lifestyle/4690/






“ธีรา ดำรงรัตน์” หรือเปรม เจ้าของร้านดอกไม้น่ารัก “นีซ” ย่านบองมาร์เช ถนนประชานิเวศน์ ในหนึ่งวันของสาวเก่งแน่นเอี๊ยดด้วยตารางงาน จับตัวเปรมได้จึงต้องถามว่ามี “คนข้างกาย” ไว้คอยช่วยงานหรือไม่ เปรมตอบว่ามี แต่ไม่ใช่คน

ข้างกายเป็นตุ๊กตา “หมีพูห์” ซึ่งอดีตผูกพันกับเปรมอย่างลึกซึ้ง นำมาซึ่งงานอดิเรกตลอดชีพ นั่นคือการสะสมคอลเลคชั่นหมีพูห์นั่นเอง
จบเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วไปเรียนต่ออังกฤษ ทำปริญญาโทและปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์รวม 3 ใบ จากจุดนี้เองที่ทำให้เกิดเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างคนกับหมีตุ๊กตาที่คาดไม่ถึง

เรื่องราวเกิดขึ้นในวันคืนอันแสนเหงา ณ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ วอร์วิค เมืองโคเวนทรี ตึกเรียนทุกหลังอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี ที่นี่คนไทยน้อยแถมแสงอาทิตย์รีบจางหายทั้งที่ไม่ทันจะเย็นย่ำ บรรยากาศหนาวเย็นชวนหดหู่

“คิดถึงคุณพ่อคุณแม่และคุณปู่มาก ประกอบกับช่วงแรกเมื่อถึงอังกฤษ ต้องปรับตัวทั้งด้านภาษาอารมณ์ความเป็นอยู่ บางทีถึงกับร้องไห้”

เป็นถึงเหลนคุณพระวรกิจโภคาทร นายอากรกระทรวงการคลังมหาสมบัติ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีหัวจิตหัวใจเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม เจ้าความรู้สึกคิดถึงบ้านก็จู่โจมอยู่ลึกๆ หมีพูห์ตัวแรกยืนส่งสายตามองเปรมอยู่ในร้านขายตุ๊กตาหมีใกล้หอพัก

ความเหงา ความว้าเหว่ บวกความคิดถึงบ้าน ทำให้ตัดสินใจควักกระเป๋าซื้อหมีพูห์ตัวแรกมานอนกอดเพื่อขอความอบอุ่นทางใจ เพื่อนซักคนก็ยังไม่มีในตอนนั้น พูห์น้อยจึงถือเป็นมิตรคนแรกบนเกาะอังกฤษ

Winnie-the-Pooh (1926) และ The House at Pooh Corner (1928) วรรณกรรมคลาสสิก ซึ่งประทับอยู่ในความทรงจำของเยาวชนทั่วโลก ธีราก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่นึกว่าวันหนึ่ง ตัวละครเอกจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตอย่างคาดไม่ถึง

ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ได้เงินค่าแรงชั่วโมงละ 4.5 ปอนด์ เท่านั้น ใช้จ่ายอย่างกระเหม็ดกระแหม่ที่สุด หากตุ๊กตาหมีกลายเป็นความจำเป็น (ทางอารมณ์) ที่ซื้อไว้ปลุกปลอบกำลังใจ จากตัวแรกที่กัดฟันซื้อก็มาถึงตัวที่ 2 ที่ 3 ค่อยๆ เก็บสะสมมาเรื่อย

ปัจจุบันกลับเมืองไทยแต่งงานมีครอบครัวแล้ว แต่ด้วยความรักความผูกพันก็ยังสะสมตุ๊กตาหมีพูห์จากทั่วโลก นับตุ๊กตาในคอลเลคชั่นมีมากกว่า 40 ตัวแล้ว

“ต้องขอบคุณทุกตัวที่ให้ความรู้สึกที่ดีเสมอมา โดยเฉพาะตัวแรกซึ่งมีโอกาสได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในช่วงที่ยากที่สุดของชีวิต” เปรมกล่าวขอบคุณบรรดาหมีๆ

40 กว่าตัวดีไซน์หลากหลาย เช่น ตัวหนึ่งมีไขลานที่ส่งเสียงดนตรี นอกจากนี้ก็มีพูห์จาก ไครส์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เป็นพูห์ที่มีรังผึ้งอยู่ด้วย ตัวนี้ไขลานแล้วจะเอียงหัวไปมาได้ ส่งเสียงร้องกล่อมแสนไพเราะ เจ้าหมีขนสั้นสีเหลืองทอง ผู้มีใบหน้าอ่อนเยาว์และมองโลกด้วยแววตาเฝ้าฉงน


ขอให้มีกำลังใจที่ดีต่อไปนะ













May 22, 2017

เราสองคนบนทางแห่งรัก Ost.ทางเดินแห่งรัก | มิสเตอร์ทีม |



ศิลปิน มิสเตอร์ทีม
คำร้อง วัลยา พระคุ้มครอง
ทำนอง Vincent
เรียบเรียง สมา ทรงสถิตย์สกุล





เหตุระเบิด ในรพ.พระมงกุฏเกล้า

วันที่ 22 พฤษภาคม 2017
จากเหตุระเบิดในช่วงสายวันที่ 22 พ.ค. ภายในร.พ.พระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี กทม. เบื้องต้นพบกลุ่มควันจำนวนมากที่บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โดยมีทหารได้เข้าควบคุมพื่นที่ โดยใช้สารเคมีดับ ขณะเดียวกันได้ลำเลียงผู้บาดเจ็บออกจากจุดเกิดเหตุจำนวนหลายราย

May 20, 2017

“ดี้ นิติพงษ์”เล่าในวันฝนตก...จู่ๆพระองค์ก็ลงจากรถพระที่นั่ง พระกลดเป็นแค่สัญลักษณ์ไม่ช่วยกันฝน ท่านเกรงใจพสกนิกรมาก ท่านรักคนไทย

Publish 2017-05-18 07:40:10


“ดี้ นิติพงษ์”เล่าในวันฝนตก...จู่ๆพระองค์ก็ลงจากรถพระที่นั่ง พระกลดเป็นแค่สัญลักษณ์ไม่ช่วยกันฝน ท่านเกรงใจพสกนิกรมาก ท่านรักคนไทย




จากกรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง เวลา 17.30 น.เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วเสด็จออกชานหน้าพระอุโบสถทรงจุดธูปเทียนบูชาสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทักษิณอุโบสถพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้า ฝ่ายใน จำนวน 3 รอบ แล้วเสด็จขึ้นพระอุโบสถทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 จบแล้ว พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระราชาคณะถวายอดิเรก ออกจากพระอุโบสถ โดยภายหลังจากการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ บริเวณถนนหน้าพระลานตั้งแต่ประตูวิเศษไชยศรีถึงศาลหลักเมือง 
ล่าสุดนิติพงษ์ ห่อนาค หรือ พี่ดี้ ศิลปินนักแต่งเพลงชื่อดังของเมืองไทย อดีตสมาชิกและหัวหน้าวงวงเฉลียง และนักแต่ง และเคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจดนตรี ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และผู้บริหารค่ายสหภาพดนตรีได้ออกมาบอกเล่าถึงเรื่องราวความประทับต่อเหตุการณ์วันฝนตกในคืนวันวิสาขบูชา ถึงในหลวงรัชกาลที่10 พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ โดยเนื้อหาทั้งหมดที่พี่ดี้ พูดถึงนั้นระบุว่า
“เรารักราชวงศ์จักรี เห็นในหลวง รัชกาลที่ ๑๐  ทรงเวียนเทียนวิสาขบูชา..กับพระธิดา จู่ๆ ก็ลงจากรถพระที่นั่ง....ฝนตก ทรงพระดำเนินตั้งแต่ถนนหน้าพระลาน จนถึงศาลหลักเมือง ทรงเปียกแน่นอน...พระกลด เป็นแค่สัญลักษณ์ แต่ไม่ช่วยกันแดดกันฝนได้สักเท่าไหร่ดอก ยืนยันที่ฉันคิดเสมอมา... พระเจ้าแผ่นดิน ทรงเกรงใจพสกนิกร เท่าที่พสกนิกรจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน... พระบรมชนกของพระองค์ท่าน...มีพระราชภารกิจตั้งแต่สิบเก้าพรรษาจนถึงแปดสิบเก้าพรรษา... วันนี้ รัชกาลที่สิบ ต้องทรงรับพระราชภาระต่อจากพระบรมชนก....ในวันที่บุคคลทั่วไป ข้าราชการ มีอายุที่ต้องเกษียณ ต้องพักแล้ว แต่กลับต้องเป็นงานใหม่และงานใหญ่ สำหรับพระองค์ท่าน ที่ต้องรับราชภาระ มหามรดกแห่งชาติมานั่งคิดกันเถิด...ว่าจะทรงต้องเครียดขนาดไหน ทรงเป็นรัชทายาทด้วย ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งด้วย
ขอให้ช่วยกันให้กำลังพระทัยให้มาก
ฉันเชื่อว่า ท่านรักคนไทย เกรงใจคนไทยมาก
และด้วยความที่ท่านทรงเป็นทหาร มีวินัยสูงสุด
ท่านกำลังจะทำให้ดีที่สุด
ขอให้คนไทย ช่วยให้กำลังพระทัยท่านเถิดนะ
ขอบคุณข้อมูล : นิติพงษ์ ห่อนาค


อนุสนธิจากข้อเขียนสถานะเฟซบุคที่ฉันเขียนเล่าเรื่องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จทรงเวียนเทียนวันวิสาขบูชาและเสด็จพระราชดำเนินทรงทักทายประชาชนกลางสายฝน...
....ฉันไม่ทราบจริงๆ ว่ามีการแบ่งปันไปกว้างขวางเพียงใด มีเพื่อนบางท่านส่งมาให้ดูว่ามีหลายเพจแบ่งปันไปให้คนไทยจำนวนมากได้อ่าน ได้ซาบซึ้งกับพระมหากรุณาธิคุณ....
....และที่ทำให้ฉันตกใจระคนปลาบปลื้มจนบรรยายความรู้สึกมิได้...นั่นคือ
...ข้อเขียนนั้น ถึงพระเนตรพระกรรณ...!
....สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้อ่านข้อเขียนนั้นด้วย...


เช้าวันนี้..ฉันได้รับโทรศัพท์จากข้าราชบริพารระดับสูง แจ้งให้ทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งต่อทุกท่านที่ร่วมอ่านร่วมแบ่งปันร่วมถวายพระพรในเฟซบุค ดังข้อความต่อไปนี้ ( ท่านผู้ที่โทรมาบอกให้ฉันจดตาม ในขณะที่ฉันมือไม้สั่น ทำอะไรไม่ถูก )
"ทรงรู้สึกปลาบปลื้มในน้ำใจและความปรารถนาดีที่ท่านทั้งหลายได้แสดงต่อพระองค์ท่าน ทำให้พระองค์ท่านมีกำลังพระทัยที่จะปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับท่านทั้งหลายด้วยความสุขและเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติและประชาชน

ส่วนในโอกาสนี้ ทรงฝากคำขอบใจและพระราชทานกำลังใจมาสู่ทุกท่านในโอกาสนี้
อนึ่ง ได้ทรงรับสั่งเพิ่มเติมว่ามิได้เป็นการลำบากแต่ประการใดที่จะเสด็จพระราชดำเนินทรงทักทายประชาชนในโอกาสต่างๆ ตรงกันข้าม ทรงเกรงใจและห่วงใยที่ประชาชน ได้อดทนนั่งรอเฝ้าท่ามกลางสายฝนจริงๆ"
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงข้าพระพุทธเจ้าเหล่าพสกนิกรทางสังคมออนไลน์ และชาวไทยทุกผู้ทุกนามอย่างหาที่สุดมิได้

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้านายนิติพงษ์ ห่อนาค



May 19, 2017

ดาวกระดาษ



ชื่อเพลง : ดาวกระดาษ
ศิลปิน : ปนัดดา เรืองวุฒิ
คำร้อง : สารภี ศิริสัมพันธ์
ทำนอง : เรืองกิจ ยงปิยะกุล
เรียบเรียง : สุวัธชัย สุทธิรัตน์




10 อย่างที่ต้องทำถ้าอยากก้าวหน้า

May 15, 2017

ยิ่งศักดิ์ ยิ่งแซ่บ (11 เม.ย. 60) : โอ วรุฒ วรธรรม (2512-2561)

ชีวิตใหม่ของ ‘ธีรภาพ โลหิตกุล’ วันที่เริ่มฟื้นจากพาร์กินสัน


โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม 
ไลฟ์สไตล์
13 พฤษภาคม 2560 เวลา 10:21 น.

“อาการสั่นทำให้ผมทำอะไรไม่ได้ อ่านหนังสือ ทำงาน เขียนหนังสือไม่ได้ ซึ่งเราเขียนมาทั้งชีวิต เลี้ยงครอบครัวมาก็ด้วยการเขียน เดินทางค้นคว้าเรื่องต่างๆ แต่นี่มาเขียนไม่ได้ ก็เริ่มรู้สึกว่าควบคุมมือซ้ายไม่ได้ จึงเข้าสู่การรักษาพาร์กินสันโดยการทานยา คนที่เป็นโรคนี้หมอบอกว่า หน่วยผลิตสารที่ควบคุมกล้ามเนื้อมันหยุดผลิต อย่าง มูฮัมหมัด อาลี ที่เป็นเพราะถูกคู่ต่อสู้ชก พอหลบหมัดก็โดนก้านสมอง

"...ข้างซ้ายผมอ่อนแรง การรักษาตอนแรก เมื่อขาดโดปามีนก็กินเข้าแทนแล้ว แรงก็มาตามปกติ ดังนั้น 7-8 ปีแรก ไม่มีใครทราบว่าผมเป็น แต่มาปีที่ 9 และ 10 พอทานยาแล้ว แรงไม่มาแล้วมีอาการสั่นเกร็งมากขึ้น ทำให้นอนไม่ได้” ธีรภาพบอกว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มนอนได้น้อยลง บางครั้งก้าวขาไม่ออก ไม่มีแรงถึง 3-4 ชั่วโมง ทำงานไม่ได้ แม้แต่จะช่วยเหลือตัวเองเวลาเข้าห้องน้ำก็ยาก ทุกคนในบ้านก็ต้องลำบากไปด้วย แค่จะนั่งบนเตียงต้องให้คนช่วยยกขาขึ้นกระทั่งต้นปีที่ผ่านมาอาการเริ่มหนัก เรียกว่า ป่วยกันทั้งบ้าน เพราะเวลาจะเข้าห้องน้ำแต่ละครั้ง ต้องกดกริ่งเรียกตอนตีสองตีสี่ ทุกคนสะดุ้งตื่นกันหมด

การรักษาของธีรภาพใช้วิธีฝังเข็มควบคู่กัน แม้จะรู้ว่าแก้พาร์กินสันไม่ได้ แต่เขาคิดว่า เพื่อดูแลสุขภาพองค์รวมของตับ ม้าม หัวใจ ให้ยืนสู้กับมัน เป้าหมายสำคัญคือ ทำทุกอย่างเพื่อให้นอนได้ ถ้านอนหลับดี ร่างกายก็จะดีตาม แต่ถ้านอนไม่ได้ อาการจะหนัก

“ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ในความรู้สึก เรารู้เลยว่า ถ้าอยู่คนเดียว จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า” ธีรภาพ นึกย้อนด้วยความหดหู่
ทุกอย่างย่อมมีจุดเปลี่ยน สำหรับธีรภาพ คือ การได้ไปพบหมอที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เขาเล่าว่า ตอนนั้นหมออ่านประวัติว่ากินยาเท่าไร และเป็นมานานแค่ไหน ถึงกับอุทานว่า กินยาเยอะมาก และคงดูแลไม่ได้

ขอให้ไปพบกับอาจารย์หมอด้านพาร์กินสันโดยตรงของศูนย์พาร์กินสันของโรงพยาบาลศิริราช ก็ยิ่งรู้สึกแย่เข้าไปอีก แต่หมอก็ให้ลองทานยานอนหลับอีกตัว แม้จะรู้สึกเบื่อเพราะได้รับยานอนหลับมาหลายขนาน ทว่าครั้งนี้ ดีขึ้น หลับยาวเป็นปกติ
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ 4 เดือนมาแล้ว อาการสั่นเกร็งจากพาร์กินสันลดลงไป 80% จนตัดสินใจ กลับมาทำกิจกรรมต่างจังหวัดครั้งแรกในรอบ 2 ปี

“ช่วงที่ได้รางวัลศิลปินแห่งชาติเมื่อปี 2558 ผมเป็นพาร์กินสันหนักจนออกไปบรรยายร่วมงานของกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้เลย การที่เราทำงานไม่ได้เป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้ อยู่กับบ้านจนรู้สึกเบื่อ นอนก็ไม่หลับ และปกติเป็นคนเดินทางรายได้ก็แทบจะไม่มีเหลือ
แต่ดีที่คนรอบข้างลูก ภรรยา และแม่บ้านที่ทำงานที่บ้านเข้าใจและมาช่วย จึงรู้สึกไม่โดดเดี่ยว”

เปิดสำนักพิมพ์ส่วนตัว ทำกิจกรรมความดีของสังคม 

การได้ออกเดินทางไปพูดที่ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นการออกต่างจังหวัดครั้งแรกหลังจากป่วยหนัก ธีรภาพ บอกว่าเหมือนได้ชีวิตกลับคืนมา เมื่อทุกอย่างเริ่มฟื้นก็เริ่มคิดฟื้นโครงการต่างๆ

หนึ่งในนั้น คือ การจัดตั้งสำนักพิมพ์ส่วนตัว โดยไม่จัดจำหน่ายผ่านระบบสายส่งมีตัวเขากับภรรยา และทีมงานบางส่วนที่เคยทำงานมาร่วมกันทำ ตอนนี้ถือเป็นระยะเริ่มแรก

“เราอยากทำงานที่เรารักและคิดที่จะทำหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ผมเลยตั้งสำนักพิมพ์ขึ้น ชื่อว่า เรือนพิมพ์แม่ชอบ บางคนอาจคิดว่า ขณะที่หนังสือกำลังทยอยปิดตัวลง เรากลับเปิดสำนักพิมพ์ แต่ผมตั้งใจจะไม่ใช้ระบบพิมพ์แบบเก่า
ที่ว่า พิมพ์แล้วต้องส่งให้สายส่งซึ่งต้องเสียค่าสายส่งถึง 45% เลยใช้วิธีพิมพ์แล้วจำหน่ายเองโดยการแจ้งข่าวผ่านสื่อโซเชียลควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรม สัมมนา เช่น จะทำหนังสือเรื่องในหลวงของเราก็จะรณรงค์เรื่องให้คนไทยมีความเพียรดั่งพระมหาชนก
อาจจะจัดประกวดเรื่อง คนเพียร ที่เราเชื่อว่า มีอยู่ทั่วประเทศ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าว

แม้สุขภาพจะดีขึ้น แต่ธีรภาพก็เตือนตัวเองอยู่เสมอว่ายังไม่หายดี 
ดังนั้น จะไม่เร่งหรือกดดันตัวเองในการปิดต้นฉบับ ทุกอย่างจะต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ เดิมทีเขาตั้งใจจะเปิดตัวหนังสือสองเล่มในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เล่มแรก คือ “ในหลวงของโลก ในหลวงของเรา” และ "ภาพประวัติและพระราชกิจธรรมของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20”  แต่เสร็จไม่ทัน คงรอไปเปิดในงานหนังสือเดือน ต.ค. 2560 แทน


ไม่กลัวความเสี่ยงจากการทำหนังสือหรือ? 
“เราไม่ได้มั่นใจว่า จะประสบความสำเร็จ 100%  เพราะทุกอย่างต้องมีอุปสรรค และความเสี่ยง แต่ประเมินแล้วว่า สิ่งที่จะทำ มีปัจจัยเสี่ยงน้อยและโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนมีแน่
รวมทั้งพี่ชายคนกลางของผม ท่านเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชลประทาน ท่านทำหนังสือเผยแพร่ให้กับหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ มานาน ฉะนั้น ท่านก็จะมีเครดิตกับทางโรงพิมพ์ค่อนข้างสูง เราก็อาจจะขอเครดิตจากทางโรงพิมพ์นานซักหน่อย
ซึ่งก็จะทำให้เราพอมีเวลาที่จะขับเคลื่อนในการจำหน่ายหนังสือด้วยตัวของเราเอง โดยไม่ต้องไปฝากสายส่งและเสียค่าวางแผนหนังสือมาก ประกอบกับประสบการณ์ในการทำกิจกรรมที่ผ่านมาก็คิดว่ามีอยู่พอสมควร

“ผมจะทำน้อยลง แต่จะประสานงานมากขึ้น แต่ละเล่มจะมีบรรณาธิการคอยดูแล ผมจะคอยตรวจขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะตีพิมพ์ และผมก็บอกตัวเองว่า ถ้าทำแล้ว ป่วยอีกเราก็จะไม่ทำ ดังนั้น 2-3 ทุ่ม จะต้องขึ้นนอน คุณต้องไม่คิดอะไรแล้ว
แม้บางวันเรายังทำไม่ได้แต่ก็ต้องพยายาม เพราะในช่วงแรกระบบของหนังสือยังไม่เข้าที่ เราก็มีความเครียดอยู่บ้าง แต่จากการที่เราเป็นหนักๆ มาก็ทำให้เรารู้ว่า ถ้าปล่อยวางไม่ได้ คุณก็จะแย่ ถ้าจะนอนแล้ว ผมยังค้างคา
ผมจะเตรียมดินสอมาจด แล้วจบ ถ้าไม่จด มันก็ค้างคาอยู่ในใจตลอดเวลา”

ปัจจุบันการทำกิจวัตรประจำวันของศิลปินแห่งชาติผู้นี้ไม่ได้รบกวนครอบครัวมาก สามารถลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำเองได้ เขาเล่าว่า ปกติจะตื่น 7 โมง จะเริ่มทานยาพาร์กินสันชุดแรกเพื่อทำให้มีแรง จากนั้นรอครึ่งชั่วโมงถึงจะเดินได้เป็นปกติ

และก็ทานอาหาร เช่น กล้วยน้ำว้าซัก 1-2 ลูก แต่ตอนหลังมากินอินทผลัม 1-2 เม็ด เป็นพืชที่ชาวมุสลิมใช้หลังจากถือศีลอดมาทั้งวัน ถ้ากินอาหารมื้อหนักเลยจะไม่ไหว ตามด้วย นมถั่วเหลือง และไปออกกำลังกายด้วยการกวาดใบไม้หน้าบ้าน
ฟังข่าว อาบน้ำ ทานข้าว  9 โมงก็เริ่มทำงาน 11.30 น. กินยารอบต่อไป แล้วพัก ทานข้าว ทำงานรอบบ่าย พอถึง 16.30 น. กินยา แล้วทำงานเขียนหนังสือ ส่งต้นฉบับ วางแผนเรื่องสำนักพิมพ์ กระทั่ง 18.30 น. จะหยุดแล้วออกไปเดินออกกำลังกาย
อาบน้ำทานข้าว สวดมนต์ นอน 21.30 น.
การได้กลับมาอ่าน เขียน เกร็ดความรู้ทางวัฒนธรรม ทำให้ธีรภาพมีความสุขที่ได้เผยแพร่ความรู้ยังสังคม ปกติก่อนที่จะป่วย ต้องส่งต้นฉบับเดือนละ 8-10 ชิ้น ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร  เมื่อไม่สบายก็ลดอยู่ที่ 4 ชิ้นต่อเดือนแทน
“งานเขียนที่มีรายได้น้อยกว่างานเขียนจิตอาสานะ” ธีรภาพ เล่าติดตลกพลางว่า “บางชิ้นเพื่อนฝูงขอให้ช่วยเขียน มันก็อดไม่ได้เพราะช่วยกันมา 7-8 ปี เช่น นิตยสาร ฟรีก๊อบปี้ จ.สุราษฎร์ธานี ชื่อว่า @Surat เขียนช่วยเขามา  7 ปี ไม่มีรายได้ แต่ก็ถือว่าช่วยกัน เพราะช่วงชีวิตหนึ่งผมเคยเข้าป่าที่สุราษฎร์ธานี จึงคิดว่า สุราษฎร์ธานีมีบุญคุณกับผม น้ำ ข้าว สุราษฎร์ธานี เลี้ยงผม อะไรที่ช่วยได้ก็ช่วย แต่ว่าช่วงที่สุขภาพเราไม่ดี ก็ขอลดงานเขียนลง”
มุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้ บทบาท ศิลปินแห่งชาติ ในปีหน้า ธีรภาพ จะครบ 60 ปี ฝันของเขาจากนี้ คือ การได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีให้กับคนรุ่นต่อไปให้ได้มากที่สุด และในฐานะศิลปินแห่งชาติ ยิ่งต้องทำให้กับประเทศชาติ “ตัวเราแม้ได้รับรางวัลหรือได้รับการเชิดชูหรือไม่ก็ตาม

ก็คิดว่าเมื่อเราผ่านประสบการณ์มาแล้ว เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำ อะไรที่เราเคยผิด เราจะต้องไม่มาผิดซ้ำ ฉะนั้น งานอีกประเภทที่ดูเหมือนไม่มีอะไรแต่ก็มาบ่อย ก็คือ การเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ งานนี้จะไม่เคยปฏิเสธเลยนอกจากไม่ไหวจริงๆ
หลายมหาวิทยาลัยโทรมาขอให้เป็นที่ปรึกษา เอาหนังมาฉายให้ดูแล้วก็วิจารณ์ อันนี้ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ ยิ่งได้รับให้เป็นศิลปินแห่งชาติก็ยิ่งมีความรู้สึกว่า ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ทำให้เราโก้หรู แต่มันเป็นภารกิจที่จะต้องทำให้แผ่นดิน เราจะทำเท่าที่ทำได้” 
เขาเล่าว่า ปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเผยแพร่โครงการสัญจรของกระทรวงวัฒนธรรมได้ แต่เด็กๆ ก็มาหาเราได้ ช่วงไหนมีแรง ก็จะวิจารณ์ให้เขา หนังสือบางเล่ม เช่น กว่าจะเป็นสารคดีที่เขียนขึ้น ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาไปอ่าน

เพราะเต็มไปด้วยประสบการณ์ ฉะนั้นบทบาทการถ่ายทอดประสบการณ์จึงถือเป็นภารกิจทั้งในส่วนที่เป็นจิตอาสาและอาจหารายได้เลี้ยงชีพได้
การถ่ายทอดความรู้สำหรับธีรภาพไม่เพียงแต่จะทำให้กับสถาบันการศึกษา แต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ในเชิงประวัติศาสตร์ก็จะแพร่เผยให้กับสาธารณชนรู้ ซึ่งใกล้ๆ กรุงเทพฯ มีแหล่งวัฒนธรรมมากมาย เช่น ปทุมธานี นนทบุรี มีภาพจิตรกรรม
รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมโดยศิลปินมอญเขียนไว้อย่างงดงาม แต่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

“ตั้งแต่ป่วยมาผมเก็บวัดเล็กวัดน้อยและก็ค้นพบความงดงาม สิ่งดี และนำมาเผยแพร่ให้คนได้ทราบ เช่น วัดคฤหบดี ที่ฝั่งธนฯ มีพระพุทธรูปที่ชื่อว่า พระแซกคำ มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชของลาว เราก็เอาเรื่องเหล่านี้มาผูกโยงเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีกับเพื่อนบ้าน
ฉะนั้นในภารกิจการถ่ายทอด การเขียนสารคดีลึกๆ แล้วยังมีเรื่องของการที่เราอยากจะสร้างทัศนคติที่ดีของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ บาดแผล ความทรงจำที่ไม่ดี จากสงครามในอดีต ความดูถูกเหยียดหยามกัน
ก็จะพยายามทำภารกิจอันนี้ให้ดีที่สุด”

งานเขียนของ ธีรภาพ ไม่เพียงแต่ปรากฏใน นิตยสาร สารคดีเล่ม จนได้รางวัลมามากมาย เมื่อโลกเปลี่ยนจากกระดาษมาสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เฟซบุ๊กในการเผยแพร่มากขึ้น เพราะเข้าถึงผู้คนได้กว้างขวาง
เขาบอกว่า เฟซบุ๊กเป็นอาวุธสำคัญอีกชิ้นที่ได้ถ่ายทอดหรือทำภารกิจที่อยู่ในใจ เช่น เผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมที่เราถนัด การสร้างพระเมรุมาศ ถวายพระเพลิงพระบรมศพที่สนามหลวง มาจากไหน ก็มีที่มาเดียวกับเขาพระสุเมรุ นครวัด 

เพียงแต่นครวัดเป็นเมรุมาศที่สร้างอย่างถาวร ของไทยเป็นเมรุมาศชั่วคราว ทั้งหมดเชื่อมโยงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเรามีวัฒนธรรมร่วมเดียวกันซึ่งรับมาจากที่อื่นและก็ไม่ต้องมาเถียงกันว่า เป็นของใคร เพราะไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของอินเดีย

“ในเฟซบุ๊กเดี๋ยวนี้เราหาคลิปนักเรียนตีกันง่ายกว่าวิธีการแทงหยวก เมื่อสิ่งเหล่านี้มันมีเยอะเราก็ทำหน้าที่ช่วยสมดุลด้วยการเอาด้านที่งดงามมานำเสนอ คนที่ทำอะไรที่ดีๆ เช่น เมย์ รัชนก ยกมือไหว้ทุกครั้งหลังจบเกม จนสมาคมแบดมินตันอินเดีย เขียนจดหมายมาชื่นชม เราก็ได้พูดถึง เราไม่ได้มองโลกสวย” 

เส้นทางชีวิตในช่วงใกล้เลขหก ธีรภาพ มีความหวังให้ร่างกายแข็งแรงพอที่จะต้านโรคพาร์กินสัน แม้โรคนี้จะไม่หายขาด แต่ก็จะลดยาให้น้อยลง ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการเดินทางโดยชวนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไปจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดแบบจิตอาสาอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง