Custom Search

Sep 27, 2009

สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ

คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
หนุ่มเมืองจันท์







มีชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง ของ น.พ.เทอดศักดิ์ เดชคง
ที่ผมชอบมาก
“สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ" เป็นหนังสือแนวจิตวิทยาที่สอนคน
ให้มองโลกในแง่ดีและมีความสุข ในภาวะที่
"น้ำมันแพง-ดอกเบี้ยสูง-การเมืองสับสน"
ที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นมรสุมระลอกใหญ่ที่ทำให้
เศรษฐกิจไทยเกิดภาวะกระตุก
ผมนึกถึงชื่อหนังสือของหมอเทอดศักดิ์ขึ้น มาทันที
“สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ" ในวันนี้การสร้าง "กำลังใจ"
เพื่อเดินหน้าต่อไป เป็นเรื่องสำคัญมาก
ถ้ามัวคิดว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเลวร้าย
และเสียเวลากับการตั้งคำถามในทำนอง
ที่ว่าถ้าทำอย่างนี้ ปัญหาคงไม่เกิด
ถ้าทำอย่างนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคงจะดีกว่านี้
เสียเวลากับ "อดีต" มากกว่า "ปัจจุบัน" และ "อนาคต"
แต่หลักคิดที่ว่า "สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ"




เป็นหลักคิดเพื่อไม่ให้เราเสียเวลากับ การฟื้นฝอยหาตะเข็บมากเกินไป
เดินหน้าสู่อนาคตดีกว่า เหมือนที่ "อนันต์ อัศวโภคิน" แห่งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
บอกหลักคิดในเรื่องที่ดินกับเพื่อนร่วมงานเสมอ "ที่ดินแปลงไหนที่เราซื้อแล้ว ดีเสมอ"
คือ ถ้าซื้อแพงกว่าคู่แข่ง เราก็ไม่สามารถย้อนหลังกลับไปต่อราคาใหม่ได้
หรือพอซื้อไปแล้ว หน่วยงานรัฐ กลับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเป็นแบบ "วันเวย์"
เราก็จะเปลี่ยนให้เป็น "ทูเวย์" ก็ไม่ได้ การคิดแบบทำร้ายตัวเองด้วยการบอกตัวเองว่า
"ไม่น่าซื้อที่ดินแปลงนี้เลย" คิดแบบนี้ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น
สู้คิดแบบมองไปข้างหน้า ทำให้ที่ดินแปลงนี้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด
ทำให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ "เงื่อนไข"หรือ "ปัจจัย"
บางอย่างเป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุม อย่างเช่น ราคาน้ำมัน
หรืออัตราดอกเบี้ยของแบงก์ ที่เราไปกำหนดอะไรไม่ได้เลย เวลาที่เอาไปคิดว่า
ทำไมน้ำมันถึงขึ้นราคา ทำอย่างไรให้ราคาน้ำมันลดลง
สู้นำเวลานั้นไปคิดว่าทำอย่างไรให้ ต้นทุนการขนส่งเราเพิ่มขึ้นให้น้อยที่สุด
หรือคิดในเกม "ลดต้นทุน" ไม่ได้ก็ต้องคิดในเกม "เพิ่มรายได้"

ทำอย่างไรจะเพิ่มรายได้ ให้มากกว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
ในการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นเกมชีวิต หรือเกมเศรษฐกิจ
"ขวัญ" และ "กำลังใจ" เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เคยได้ยินหลัก "6 ไม่"
ของคุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ของ "ไอซีซี" ในเครือสหพัฒน์ไหมครับ

"ไม่เหนื่อย ไม่กลัว ไม่ท้อ ไม่มีปัญหา ไม่ยาก ไม่เครียด" หลัก "6 ไม่"
เกิดขึ้นตอนวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ตอนนั้นมีแต่ "ข่าวร้าย"
เต็มบ้านเต็มเมือง คุณบุญเกียรติจึงใช้การ "สั่งจิตใต้สำนึก"
ด้วยหลัก "6 ไม่" บอกตัวเองเป็นประจำ บอกลูกน้องตลอดเวลา
ให้คิดทุกเรื่องในทางบวก งานหนักก็ไม่เหนื่อย งานยากก็ไม่กลัว
และไม่ท้อ งานมีอุปสรรคมากมาย ก็คิดว่าไม่มีปัญหา ไม่ยาก
ที่สำคัญ คือ ต้องไม่เครียด เรื่องนี้สำคัญนะครับ ผมเชื่อเสมอว่า
"เราคือสิ่งแวดล้อมของคนอื่น" ใครก็ตามที่มีนิสัย "ขี้วีน" หรือ
"หน้าตาบอกบุญไม่รับ" และคิดเสมอว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา
ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น คนนั้นคิดผิด เพราะรังสีอำมหิตของเราจะแผ่กระจาย
ให้คนรอบข้างที่สัมผัสรู้สึกได้ และก่อให้เกิดบรรยากาศที่อึดอัดในที่ทำงาน
ดังนั้น ถ้าเจ้านายระดับสูงสุดอย่าง "บุญเกียรติ" สั่งจิตตัวเองให้ "
ไม่เครียด" ลูกน้องย่อมทำงานอย่างสบายใจ ด้วยความเชื่อในหลักจิตวิทยาแบบ
"คิดทางบวก" นี้เอง ทำให้เวลาใครถามคุณบุญเกียรติ ว่าทำอย่างไร "ไอซีซี"
จึงฝ่าวิกฤตปี 2540 มาได้ หนึ่งในคำตอบของ "บุญเกียรติ" ก็คือ หลัก "6 ไม่"
อย่าลืมนะครับ ... ไม่เหนื่อย ไม่กลัว ไม่ท้อ ไม่มีปัญหา ไม่ยาก ไม่เครียด
...ที่ดินแปลงไหนที่เราซื้อแล้ว ดีเสมอ และ...
สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ




เรื่อง สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดีเสมอ
ผู้แต่ง ายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง
สำนักพิมพ์ มติชน





เป็นหนังสือรวมบทความเพื่อการดูแลและพัฒนาจิตใจ ของนายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง
แห่งสำนักพัฒนาสุขภาพจิต ทำขึ้นเพื่อการมองโลกอย่างสดใส
มองทุกสิ่งทุกประสบการณ์อย่างเป็นประโยชน์
ได้รวบรวมทัศนคติการมองโลกด้านบวกจากกรณีต่างๆ
ให้แง่คิดการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข โดยยึดเอาบทเรียนที่เกิดขึ้น
ไม่อาจหลีกเลี่ยงให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจ
เรื่องราวที่ยกเป็นตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้เป็นกรณีศึกษา
สามารถนำไปดัดแปลง เรื่องบางเรื่องอาจจะหนักหนาสาหัสกับชีวิต
ยากจะทำใจได้ แต่ถ้าใช้สติปัญญาทลายกำแพง
มองโลกด้านลบให้คุณ หามุมมองดีๆจากเรื่องที่เลวร้ายที่สุดของเรื่องนั้น
เราจะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เลวร้ายสุดขั้ว ยังมีประโยชน์เจือปนอยู่
การแก้ปมปัญหา ย่อมทำให้คนเราไม่ย่อท้อหรือหวาดกลัว
กับการเผชิญหน้าอุปสรรค ทั้งปวง.... ที่สำคัญ......
เราอยากจะลองยอมรับความจริงหรือเปล่า
ถ้าเลือกจะมีความสุขหรือเลือกสิ่งที่มีประโยชน์
กับตนเองสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมดีเสมอ