Custom Search

Sep 13, 2009

จัดระเบียบ"จิต"


คอลัมน์ แทงก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
max@matichon.co.th
มติชน
วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

จำได้ว่าตอนสร้างบ้าน ได้บอกวิศวกรเจ้าของโครงการว่า
ช่วยเสริมคานรับน้ำหนักหนังสือให้หน่อยนะ

หลังจากบ้านสร้างเสร็จ ตอนไปเดินเลือกตู้หนังสือ
ก็เลือกตู้ใหญ่ๆ สูงๆ
คาดหวังไว้ในใจว่า
กว่าหนังสือจะเต็มตู้ ก็คงอีกนาน
ที่ไหนได้
เผลอแผล็บเดียว หนังสือหนังหาเต็มจนล้น
มันจะไม่เต็มตู้ได้อย่างไรล่ะครับ
วันๆ มีหนังสือออกมาเต็มไปหมด

แถมแต่ละปียังมีมหกรรมหนังสือ
มีสัปดาห์หนังสือ และงานขายหนังสือหลากหลาย

เดินเข้าไปครั้งใด ก็ต้องจ่ายสตางค์กันครั้งนั้น
หนังสือมันเลยเยอะแยะ เมื่อหนังสือมันล้น
เนื้อที่ไม่เพียงพอ
จะออกเงินซื้อตู้ใส่หนังสือเพิ่ม
ก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่คับแคบ

สุดท้ายก็ต้องหาวิธีการอื่นในการจัดการ
"นั่งคิดสักพัก ระลึกได้ถึงเรื่อง "5 ส.""
ใช่แล้วครับ "5 ส." ที่เป็นกระบวนการจัดระบบ
จัดระเบียบในองค์กร เพื่อให้เกิดความสะดวก
สะอาดแและปลอดภัยนั่นแหละ

วิธีการแบบ "5 ส." นี่น่าจะนำมาใช้กับตู้หนังสือของเราได้ดี
"เพราะ "5 ส." ประกอบด้วย สะสาง สะดวก
สะอาด สุขอนามัย และสร้างนิสัย"

"สะสาง" คือ เลือกเอาของที่ไม่ใช้ ออกจากของที่ใช้
แล้วเอาของที่ไม่ใช้นั้นไปทิ้ง

"สะดวก" คือ จัดวางข้าวของให้เป็นระเบียบ
สะดวกต่อการหยิบจับ

"สะอาด" คือ ทำความสะอาดนั่นแหละครับ
"สุขอนามัย" คือ รักษาความสะดวก
ความสะอาดที่ทำไว้แล้วให้อยู่ตลอดไป

ส่วน "สร้างนิสัย" ก็คือ
การปลูกฝังนิสัยให้เป็นคนมีระเบียบ
ท่องได้แล้ว
จำได้ไม่ยาก
ทีนี้ก็ถึงเวลาลงมือปฏิบัติ !
พี่น้องครับ การปฏิบัตินี่มันยากจริงๆ ครับพี่น้อง
โดยเฉพาะในหัวข้อ "สะสาง"
ซึ่งหมายถึงการเลือกเอา "ของที่ไม่ใช้"
ออกจาก "ของที่ใช้"
โอ้โห ... ยากสุดสุดเลยครับท่าน
เพราะจะเอาเล่มนั้นออกก็เสียดาย
จะเอาเล่มนี้ออกก็เสียดาย

จะเอาเล่มไหนๆ ออกก็เสียดายไปหมด
เพราะหนังสือทุกเล่มเย้ายวนชวนอ่านทั้งนั้น

กระทั่งวันหนึ่ง สำนักพิมพ์มติชนเอา
หนังสือบันทึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 มาให้ชม

ชื่อ WORLD WAR 2 IN PHOTOGRAPHS
แปลเป็นไทยว่า "บันทึกภาพประวัติศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2"
ริชาร์ด โฮล์มส รวบรวมและเรียบเรียง
นพดล เวชสวัสดิ์ แปล
หนังสือเล่มนี้เห็นแล้วปิ๊ง !
เป็นหนังสือรวมภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ไม่ได้รวมภาพเฉยๆ นะครับ
เขาได้เรียบเรียงบอกเล่าประวัติศาสตร์
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบมาด้วย
พลิกไปพลิกมาแล้วได้ไอเดีย
บ้านเรามีเนื้อที่จำกัด มีตู้เก็บหนังสือน้อย
ดังนั้น หนังสือที่อยู่ในตู้จึงควรเป็นหนังสือที่ "ต้องเก็บ"
ครับ
เปลี่ยนจากคำว่า "น่าอ่าน" มาเป็น "ต้องเก็บ"

คราวนี้ก็พอจะ "สะสาง" ได้ อย่าง
"บันทึกภาพประวัติศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2"
นี่จัดอยู่ในหนังสือที่ "ต้องเก็บ"
ครับ
ยังมีหนังสืออีกหลายประเภทที่
"ต้องเก็บ" ติดตู้หนังสือเอาไว้

หนังสือประเภทมหากาพย์อย่าง "อีเลียด"
ที่ว่าด้วยเรื่องสงครามเมืองทรอย

มหากาพย์ "โอดิสซี" ที่เป็นตอนต่อจากสงครามเมืองทรอย
มหากาพย์ "รามายณะ" หรือมหากาพย์ "มหาภารตะ"
หนังสือแบบนี้ถ้าใครมีอย่าไปทิ้งขว้างนะครับ
เพราะเป็นหนังสือที่เรา "ต้องเก็บ"

นอกจากนี้ยังมีหนังสือเกี่ยวกับความคิด
ปรัชญา ศาสนา อย่างเช่น
"พุทธธรรม" ของเจ้าคุณพระธรรมปิฎก

"คู่มือมนุษย์" ของท่านพุทธทาส "ปัญญาวิวัฒน์"
ของอาจารย์สมัคร บุราวาส
หนังสือแบบนี้ก็ "ต้องเก็บ"
อีกประเภทหนึ่งคือ หนังสือที่คนในโลกใบนี้
หรือคนในประเทศนี้ เขาร่ำลือรุ่นต่อรุ่นว่า "ต้องอ่าน"
อย่างเช่น "มังกรหยก" ของกิมย้ง
"ฤทธิ์มีดสั้น" ของโกวเล้ง

"สี่แผ่นดิน" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
"ผู้ชนะสิบทิศ" ของยาขอบ
"เพชรอุมา" ของพนมเทียน เป็นต้น
หนังสือเหล่านี้จัดอยู่ในจำพวกต้องมีติดไว้ในบ้าน
หรือห้องสมุด
ต้องเก็บเอาไว้เผื่ออ่านซ้ำ
และให้ลูกหลานอ่านต่อ

เพราะหนังสือเหล่านี้อธิบายถึงต้นความคิด
ต้นตำนาน และความเป็นมาของมนุษย์

"หนังสือเหล่านี้อธิบายยุคสมัย"
หนังสือเหล่านี้เปิดทางให้เราเข้าใจ และเข้าใจผู้อื่นว่าทำไม
และเมื่อเราเก็บหนังสือเหล่านี้ไว้แล้ว
ตู้หนังสือยังพอมีที่ว่าง
พื้นที่ตรงนั้นก็ใส่หนังสือที่คุณๆ ชื่นชอบลงไปเลย
การเก็บหนังสือก็แบ่งหมวดหมู่ตามแบบร้านที่เขาขายหนังสือ
หมวดประวัติศาสตร์ หมวดศาสนา
หมวดมหากาพย์ หมวดนิยายกำลังภายใน ฯลฯ

จัดเก็บเช่นนี้ได้ก็เข้าข่าย "ส.สะดวก"
จากนั้นก็ทำความสะอาดอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย
ก็เข้าข่าย "ส.สะอาด" "ส.สุขอนามัย" และ "ส.สร้างนิสัย"
ตรงตามหลักการ "5 ส." ไม่ผิดเพี้ยน "
แสดงว่า "5 ส." ไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ในองค์กรเท่านั้น"
"5 ส." สามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างอื่นๆ ได้อีก
อย่างเช่น "5 ส." นอกจากจะปรับมาใช้กับการจัดตู้แล้ว
อาจจะปรับใช้กับจิตใจของเราเองก็ได้
เพราะตามธรรมชาติของจิต
จะรับนั่นรับนี่เข้าไปอยู่ภายใน

รับเข้าไปมากๆ ก็ทำให้เใจว้าวุ่น
ใจเป็นปริวิตก ใจไม่สงบ ใจขุ่นมัว

แต่ถ้าเราสามารถ "สะสาง" คือ แยกแยะ
คัดเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อจิตใจทิ้งไป
สามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ
ที่คิดคำนึง
หมั่นทำบุญทำทาน เปล่งวาจาไพเราะ
ให้ใจสะอาด
ทำเช่นนี้ คิดเช่นนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน
ให้เป็นนิสัย
ทำเช่นนี้ได้ก็เหมือน
"จัดระเบียบจิต"ให้ผ่องใส

"กลายเป็นคนอุดมไปด้วยความสุข
เพราะรู้จักคิด พูด และทำแต่ในสิ่งที่ดีๆ"

"สวัสดี"


หน้า 17