Custom Search

Jul 18, 2008

"สมเด็จย่า"









คอลัมน์ ระดมสมอง
คนไท ประชาชาติธุรกิจ
3 พฤศจิกายน 2548
ปีที่ 29 ฉบับที่ 3737 (2937)


วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
หรือที่ชาวไทยขานพระนาม ด้วยหัวใจเทิดทูนเคารพรักยิ่งว่า
"สมเด็จย่า"
พระนามเดิมว่า "สังวาลย์"
ได้มีพระประสูติกาลในครอบครัวของพระชนก ที่มีพระนามว่า "ชู"
และพระชนนีที่มีพระนามว่า "คำ" ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีอาชีพช่างทอง
ตั้งนิวาสถานอยู่ที่ธนบุรีละแวกวัดอนงคาราม
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงกำพร้าพระชนกตั้งแต่มีพระชนมายุไม่มากนัก
ต่อมาพระญาติได้นำขึ้นถวายตัวเป็นข้าหลวงรุ่นเด็ก ของสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ครั้นเมื่อมีพระชนมายุได้ 9 พรรษา
ก็ทรงกำพร้าพระชนนีอีก จึงทรงอยู่ในพระอุปการะของสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ
และสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ตลอดมา
ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราชจน
ครบหลักสูตร 3 ปี สามารถประกอบอาชีพได้ การที่ทรงเลือกศึกษาสายอาชีพ
ด้านนี้ถูกกับพระนิสัยมากเพราะทรงสุภาพอ่อนโยน มีพระเมตตาและขันติธรรม
ทรงเอื้ออาทรต่อบุคคลทั่วไป
การที่ทรงศึกษาตามเส้นทางอาชีพสายนี้จะว่าเป็นพระราชบุพเพสันนิวาสบันดาลก็เป็นได้
เพราะในเวลาต่อมาไม่กี่เดือนสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ได้พระราชทานทุนเล่าเรียน
เพื่อคัดเลือกนักเรียนพยาบาล ส่งไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา
ตามพระประสงค์ของพระราชโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช
กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งทรงส่งเสริมการศึกษาด้านการแพทย์
และการพยาบาลจนถึงขนาดที่พระองค์เอง
ได้ทรงตั้งทุนเล่าเรียนด้านการแพทย์อีกส่วนหนึ่งด้วย
ในขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์กำลัง
ทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนี้
อธิบดีกรมสาธารณสุขได้คัดเลือกนางสาวสังวาลย์และนักเรียนพยาบาล
อีกผู้หนึ่งส่งไปศึกษาต่อ เป็นเหตุให้ได้เฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช
ซึ่งทรงเป็นผู้ดูแลนักเรียนทั้งสองไปโดยปริยาย
ด้วยเหตุที่เป็นนักเรียนทุน ของพระราชมารดา
เมื่อพิจารณาถึงข้อที่ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราฯ ได้เคยเป็น
ข้าหลวงสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
พระเชษฐภคินีมาก่อนประกอบกับการที่มีพระสิริโฉมและพระจริยวัตรอันงดงาม
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงคุ้นเคย เสด็จไปทรงเยี่ยมบ่อยครั้ง
จนกลายเป็นที่สนิทเสน่หาในเวลาต่อมา
และเมื่อได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสตาม
กฎมณเฑียรบาล จนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว
นางสาวสังวาลย์ จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย และมีพิธีอภิเษกสมรส ที่วังสระปทุม
เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463
พระนามที่เรียกขานในเวลานั้นคือหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา
เมื่ออภิเษกสมรสแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา
เฉพาะสมเด็จพระศรีนครินทราฯนั้นได้ทรงศึกษาหลักสูตรเตรียมพยาบาล
ที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์
ต่อมาก็ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงเรียนที่สถาบัน เอ็ม. ไอ. ที.
ครั้นถึง พ.ศ. 2465 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
ทรงพระประชวรพระวักกะ (ไต) ทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จกลับประเทศไทยอีกครั้ง
เพื่อตามเสด็จพระเชษฐภคินีออกไปรักษาพระองค์ที่อังกฤษ
ใน พ.ศ. 2466 ราชสกุลมหิดลก็ได้ประสูติที่อังกฤษนั้นเอง
ได้รับพระราชทานพระนามว่า "ม.จ.กัลยาณิวัฒนา" ซึ่งในปลายปีเดียวกัน
ครอบครัวมหิดลทั้ง 3 พระองค์ก็ได้เสด็จกลับประเทศไทยอีก
โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ได้ทรงรับราชการในกระทรวงธรรมการ
ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยและข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป
รวมทั้งได้ทรงเป็นอาจารย์ในที่ต่างๆ หลายแห่งจนพระสุขภาพทรุดโทรมอย่างหนัก
แพทย์จึงได้ถวายความเห็นให้เสด็จไปรักษาพระองค์ในต่างประเทศ
จึงได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี เมื่อกลาง พ.ศ. 2468
ในปีเดียวกันนั้นเอง "ม.จ.อานันทมหิดล" สมาชิกพระองค์ใหม่แห่งราชสกุลมหิดล
ก็ประสูติที่เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ต่อมาได้ทรงย้ายไปประทับ
ที่มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกครั้งหนึ่งเพื่อทรงศึกษาต่อ
สมเด็จพระศรีนครินทราฯทรงเข้าศึกษาวิชาคหกรรมศาสตร์ ณ วิทยาลัยซิมมอนส์
ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ซึ่งต่อมาได้เฉลิมพระยศ
เป็นกรมหลวงสงขลานครินทร์และ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก
ก็ได้ทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต่อ
จนทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเกียรตินิยม
และในปี 2470 นั้นเองพระโอรสองค์สุดท้าย
ก็ได้ประสูติที่โรงพยาบาลในเมืองเคมบริดจ์ ตามพระบรมราชโองการ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีมาก่อนหน้านั้น
ม.จ.กัลยาณิวัฒนาและ ม.จ.อานันทมหิดล ได้เลื่อนพระยศ
เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
ส่วนพระโอรสองค์ใหม่ที่เพิ่งประสูติ ภายหลังพระบรมราชโองการ
จึงได้ดำรงพระยศเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
มาแต่แรกประสูติและได้รับพระราชทานพระนามว่า "ภูมิพลอดุลยเดช"
ใน พ.ศ. 2471 ครอบครัวมหิดลได้เสด็จกลับประเทศไทยด้วยความสำเร็จ
ทั้งในส่วนการศึกษาและชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์
นั้นทรงเป็น "นายแพทย์" ที่สมบูรณ์ และพร้อมที่จะทรงงานด้านการแพทย์
การสาธารณสุข ในเวลานั้นต้องถือว่าดำรงพระอิสริยยศสูง
และจัดอยู่ในลำดับผู้ทรงสิทธิสืบราชสันตติวงศ์เป็นลำดับแรกด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะและทรงเสียสละอย่างแรงกล้า
เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ทนทุกขเวทนาด้วยโรคภัยไข้เจ็บ
พระสุขภาพก็ทรุดโทรมลงอย่างหนัก จนสิ้นพระชนม์ ณ พระตำหนักวังสระปทุม
เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472
นับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ต้องทรงเป็นทั้งพระชนกและพระชนนีของพระโอรสธิดา 3 พระองค์
ต้องถวายพระอภิบาลและทรงอนุสาสน์สั่งสอนทั้งในส่วนการศึกษาเล่าเรียน
และความประพฤติการปฏิบัติพระองค์ ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาเคยตรัสเล่าในเรื่องต่างๆ ดังนี้
"สมเด็จพระพันวัสสาฯจะไม่ทรงเลี้ยงและแนะนำในชีวิตประจำวัน
จะทรงแนะนำในสิ่งที่สำคัญๆ เพราะทรงเกรงใจแม่ ทรงเห็นว่าแม่เลี้ยงอย่างมีระเบียบ
อย่างมีหลักวิชา ท่านก็ว่าต้องไม่ยุ่งด้วย คือเขาเลี้ยงของเขาตามแบบที่ถูกแล้ว"
"แม่ก็ได้เลี้ยงเราให้เป็นเด็กที่ดี เป็นเด็กที่มีมารยาท เมื่อเปลี่ยน (สถานะ)
แล้วก็เป็นเช่นเดิม คือต้องเป็นคนที่มีมารยาทดี นอบน้อมกับผู้ใหญ่
หรือแสดงตัวให้เรียบร้อยกับคนอื่น"
"แม่แทบจะไม่ต้องบอกว่า อย่าอยู่เฉยๆ เพราะเราทุกคนชอบทำอะไรกันเอง
ชอบคิดหาเกมเล่นกันเอง มีที่จะทำอะไรอยู่เสมอ บางทีตรงข้าม แม่จะต้องบอกพักเสีย...
อย่างไรก็ดี แม่ก็สนับสนุนให้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์
อย่างที่บ้านวิลล่าวัฒนา ใต้ถุนบ้านจะมีที่ทำเครื่องไม้ให้ทำงานไม้ได้ มีอุปกรณ์ครบ"
"ส่วนพระนิสัยอื่นๆ ที่ท่านได้ปลูกฝังนั้น ท่านก็ไม่ได้บอกว่านี่แม่จะมาสั่งสอน
เรื่องนั้นเรื่องนี้ ท่านเล่าไปถึงเรื่องคนนั้นคนนี้
และชี้ให้เห็นว่าคนนั้นน่าสงสารอะไรอย่างนี้แล้วท่านจะสอนคำว่าเมตตา กรุณา
แปลว่าอะไร คือเอาตัวอย่างเป็นนิทานหรือเรื่องจริงมาเล่าให้ฟังก่อน
และให้เข้าใจคำพวกนี้โดยแท้จริง"
"ในการประหยัดนั้นก็ได้จัดให้มีเงินค่าขนม...สัปดาห์ละครั้งตามอายุและก็ได้ไม่มากนัก
พอที่จะซื้อขนม พวกลูกกวาดหรือช็อกโกแลต แต่อาจจะซื้อหนังสือหรือของเล่น
ซึ่งของพวกนี้ต้องซื้อเอง...เราอยากได้อะไรก็ขอไป บอกว่า อยากได้ของเล่นพวกนี้
ท่านก็บอกว่า ถึงวันเกิดจะซื้อให้ จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ"
ในด้านการเสวย การประทับ พระองค์โปรดความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่หรูหรา
แม้เมื่อประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ในระยะหลังก็ประทับในอพาร์ตเมนต์ไม่ใหญ่โตกว้างขวาง
และพอพระทัยที่จะทรงปฏิบัติอย่างชาวพื้นเมืองธรรมดาทั่วไป
การไปประทับในสวิตเซอร์แลนด์ก็เนื่องด้วยพระสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่กว่า
เพราะเหตุอื่นดังที่เคยรับสั่งว่า เหมือนการเสด็จไปทรง "ชาร์จแบตเตอรี่"
เพื่อกลับมาทรงงานในประเทศไทยต่อ ซึ่งเมื่อเวลาเสด็จกลับมา
ภาพที่เราพบเห็นเสมอคือการที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่โน่นที่นี่ด้วยเฮลิคอปเตอร์
ไม่ได้ทรงอยู่ว่างเฉย และไม่โปรดที่จะประทับในกรุงเทพมหานคร
การปรากฏพระองค์ในท้องที่ทุรกันดารต่างๆ คือ "ขวัญและกำลังใจ"
ของผู้ปฏิบัติงานและประชาชนโดยแท้
อันที่จริงแล้ว การประทับอยู่ว่างเฉยมิใช่พระอัธยาศัย ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า
แม้ขณะประทับในสวิตเซอร์แลนด์ ก็โปรดการทรงพระอักษร
ทรงเข้าพระทัยภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ตลอดจนภาษาสันสกฤตอย่างดี
โปรดการปั้นพระพุทธรูป การปักภาพ การทำบัตรดอกไม้แห้งและงานศิลปะอื่นๆ
เพื่อพระราชทานบุคคลต่างๆ ดังที่รับสั่งว่าเวลาเป็นของมีค่า
ในระยะหลัง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประทับที่พระตำหนักดอยตุง
จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงามอากาศเย็นสบายถูกกับพระสุขภาพ
เหมาะแก่การสำราญพระราชอิริยาบถและการทรงงานด้านเกษตร ดังเคยรับสั่งว่า
จะเสด็จไปปลูกป่าที่ดอยตุง
ซึ่งก็ได้กลายเป็นโครงการระดับชาติที่บุคคลทุกวงการร่วมกันจัดปลูกป่าไม้ขึ้นใหม่
น้อมเกล้าฯถวายในเนื้อที่มหาศาลของดอยตุงให้เขียวขจีร่มรื่น ซึ่งมิใช่จะเป็นประโยชน์
แก่ประชาชนในภาคเหนือโดยตรงเท่านั้น
แต่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวมในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยทั้งมวล
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงยิ่งด้วยพระบุญญาธิการยากจักหาผู้ใดเสมอ
พระองค์ได้เจริญพระชนมายุมาถึง 5 รัชกาลแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า
ทรงผ่านเหตุการณ์ทั้งที่เป็นความสุข และที่นำมาซึ่งความวิปโยค
จนทรงเข้าพระทัยได้ดีถึงสภาพอันเป็นธรรมดาของโลก
ทรงดำรงพระองค์ได้หมดจดงดงามตั้งแต่เป็นกุลสตรีสามัญชน
เป็นหม่อมในสมเด็จเจ้าฟ้า เป็นพระราชชนนี สมเด็จพระราชชนนี
จนถึงเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีใน พ.ศ. 2513
บัดนี้ทรงสถิตในที่อิสริยยศสูงยิ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์
แต่ก็มิได้ทรงหวั่นไหวในความเปลี่ยนแปลงใด
กลับมีแต่จะทรงหนักแน่นมั่นคงในพระเมตตากรุณาธิคุณ พระขันติธรรม
และพระราชคุณธรรมอันได้ทรงบำเพ็ญอยู่แล้วมาโดยตลอด
ไม่เสื่อมคลายตราบจนสิ้นพระชนม์
ท่ามกลางความเศร้าโศกอาดูรของชาวไทยทั้งมวล
ลำพังแต่เพียงพระราชสถานะในที่สมเด็จพระบรมราชชนนี
ผู้ทรงคุณูปการของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐถึง 2 รัชกาล
ก็นับว่าทรงบุญญาธิการเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนอย่างเหลือล้นแล้ว
เมื่อประกอบเข้ากับพระราชกรณียกิจอันได้บังเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชน
เป็นอเนกปริยาย ก็ยิ่งเพิ่มพูนความเคารพรักเทิดทูนของประชาชน
ให้แน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ
วันนี้ ถึงแม้ว่าพระองค์ท่านจะทรงสถิตในที่สวรรค์สูงสุดแล้ว
แต่ปวงชนชาวไทยยังคงจดจำได้ถึงภาพพระองค์ท่าน
ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อทุกผู้คนและต่อผู้ยากไร้
ยากจะลืมเลือนไปได้เลย