Custom Search

Jul 31, 2007

อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ. 2546) สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี)







อ.วนิดา พึ่งสุนทร

เกิดเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ ที่กรุงเทพมหานคร
จบการศึกษาปริญญาศิลปบัณฑิต (สถาปัตยกรมไทย)

และได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง(สถาปัตยกรรมไทย)
จาก
มหาวิทยาลัยศิลปากร
เข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

เป็นอาจารย์
และสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญ
ด้านสถาปัตยกรรมประเพณี

อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้มากมาย
ล้วนเป็นที่ยอมรับ สะท้อนถึงเอกลักษณ์
ของสถาปัตยกรรมไทยที่โดดเด่นและมีคุณค่า
ผลงานมีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่

มาผสมผสานเป็นรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะตน

เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยได้อย่างเหมาะสม
กับความต้องการในยุคสมัยปัจจุบัน

ผลงานที่สำคัญ

เช่น พระมหาธาตุเฉลิมราชย์ศรัทธา
(ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ)

วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สาธารณรัฐอินเดีย
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน

และห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี วัดจันเสน จังหวันครสวรรค์

พิพิธภัณฑ์บ้านวัดม่วง

จังหวัดราชบุรีโรงเรียนพระปริยัติธรรม

และพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราชฯ

วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)จังหวัดกำแพงเพชร

เมรุลอยเพื่อพระราชทานเพลิง
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)

สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง จังหวัดเชียงใหม่

และสถาปัตยกรรมแบบประเพณีอื่น ๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาค้นคว้ารูปแบบสถาปัตยกรรมไทยท้องถิ่น
เขียนเป็นบทความทางวิชาการถ่ายทอด
และเผยแพร่ให้ความรู้แก่นักศึกษา เช่น

การศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมบริเวณทะเลสาบสงขลา
พื้นที่ถิ่นภาคใต้เป็นเอกสารประกอบการ
สัมมนาทางวิชาการความหลากหลายของเรือนพื้นถิ่นไทย เป็นต้น

เคยได้รับประกาศเกียรติคุณผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น

ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเภทบุคคลจาก 
คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น
ด้านสถาปัตยกรรมไทยประเภทบุคคล
จากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย
ศิลปินดีเด่นกรุงเทพมหานคร สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม
จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ปัจจุบัน หลังเกษียณอายุราชการแล้วได้รับแต่งตั้ง
เป็นอาจารย์ผู้ชำนาญพิเศษทางด้านสถาปัตยกรรมไทย
มหาวิทยาลัยศิลปากร และยังคงสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ
ให้ความรู้ทางวิชาการสถาปัตยกรรมไทย
และเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังได้ดำเนินรอยตามต่อไป

อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร
จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ
สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี)
ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๖




http://thefasa.com/2007/10/talk-wanida/ 
บทสัมภาษณ์ อ.วนิดา พึ่งสุนทร 
Written by admin 

เมื่อวันก่อน โอ๋(45) ได้มีโอกาสพูดคุยกับ อ.วนิดา
เกี่ยวกับเกร็ดสนุกๆ ของอาจารย์ ที่อ่านไปก็เพลินไป
ไม่เชื่อลองดูครับ เมษายน 2548 
สัมภาษณ์ อ.วนิดา พึ่งสุนทร โดยโอ๋ รุ่น 45


เข้าเรียนที่นี่ได้ไงคะ อาจารย์
เมื่อครูจบจากราชินี ครูตั้งใจจะเข้าธรรมศาสตร์ แต่ไม่มีเพื่อนเรียน เห็นว่า มหาวิทยาลัยศิลปากรมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็เลยมาสมัครสอบ
ปี 2500 ตอนนั้น อ.พระพรหมเป็นคณบดี ได้เรียนกับอาจารย์พระพรหม อ.หม่อมมิตร อ.ชม้อย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลป์ เมื่อได้เข้ามาตอนนั้นนักศึกษาน้อย รุ่นนึงก็ 8-9 คน ครูเป็นรุ่นที่ 3 พี่ม้าเป็นรุ่นแรก แต่ครูเป็นผู้หญิงรุ่นแรกของคณะฯ เป็นโชคดีที่ได้เรียนกับ อ.ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลป์ทั้งหมด
3 ปีแรก อ.พระพรหมเป็นคณบดี เป็นช่วงสถาปัตยกรรมไทย พอช่วงปี 4-5 อ.อัน เป็นคณะบดี มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เรียนทั้งสองอย่าง คือ เรียนทางสถาปัตยกรรมไทยด้วย และเรียนทางสากลด้วย เพราะว่าช่วงแรกที่เปิดนั้นเปิดเฉพาะอนุปริญญา เพราะฉะนั้นพวกพี่ม้า พี่หลอง พี่เวศ (อ.ประเวศ) รุ่นนั้นยังไม่จบปริญญา ก็จบแค่อนุปริญญา แล้วใครที่จะมาเรียนต่อปริญญาก็ต้องมาต่อปี 4 พร้อมครู
เพราะฉะนั้น พี่ม้า อ.ประเวศ พี่หลอง พี่งาม ก็จะเป็นรุ่นพี่แล้วมาเป็นรุ่นเดียวกันด้วย

เมื่อก่อนตอนเข้าเรียนมีประเพณีรับน้องไหมคะ
ประเพณีรับน้องก็จะเป็นแบบรวมทั้งมหาวิทยาลัย ตอนนั้นมหาวิทยาลัยยังเล็กจะรับน้องรวมกันทั้งหมด ทั้งจิตรกรรม ถาปัด โบราณ เดคคอเรท ตอนนั้นมีแค่นี้
แล้วมีกิจกรรมแปลกๆ ตอนรับน้องไหมคะ
ไม่มีอะไรแปลกๆ ก็ขึ้นไปแสดงบนเวที ให้บอกชื่อ ไม่มีอะไรมากมาย
มีเฮฮาไหมคะอาจารย์
มีเฮฮาเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีการละเล่นอะไรมากมายนัก มีอาหาร ปาร์ตี้เล็กน้อย
มีไปมีตติ้ง หรือไปต่างจังหวัดกันไหมคะ
ไม่มี มีเลี้ยงกันถึงกลางคืน เพราะสมัยก่อนรุ่นครูกับคณะอื่นๆ จะสนิทกัน นอกจากมีรับน้องด้วยกันแล้ว เวลาเรียนหนังสือ มีวิชาพื้นฐานเรียนด้วยกัน เช่นทฤษฎีสี ประวัติศาสตร์ เรียนด้วยกันกับคณะอื่นๆ ซึ่งเรียนกับท่าน อ.ศิลป์ พีระศรี เพราะฉะนั้นก็จะสนิทกัน และคนน้อยด้วย
อยากรู้เรื่องสนุกๆ สมัยวัยเรียน
คือสนิทกันก็จริง แต่คณะถาปัดกับจิตรกรรมจะไม้เบื่อไม้เมากัน บางทีก็ยกพวกตีกัน ไม่ใช่เรื่องตลกหรอก ไม่ถึงกับตีกัน ทะเลาะกัน
สมัยนั้นเค้าฮิตไปเที่ยวไหนกันคะ
ในสมัย อ.อัน ?
เวลาเรียนสมัยก่อน ครูเรียนในโรงเรียน เป็นอาคารเรียนชั้นเดียวหลังคามุงสังกะสี แล้วเพื่อนครู จากโรงเรียนราชินี ไข่มุก (คุณไข่มุก ชูโต) เขาเรียนประติมากรรม อยู่ตึกสองชั้นข้างๆ ที่นี่พวกถาปัด ก็ส่งเสียงหนวกหู เขาก็เอากระป๋องสีปาลงมาบนหลังคา ก็เป็นที่รู้กัน คือเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน แต่ส่วนตัวแล้วก็สนิทกัน มีพี่ๆ ที่จิตรกรรม แยะที่เข้ามาคุมสอบ เวลาสอบคนคุมสอบก็คือรุ่นพี่ที่คณะจิตรกรรม ..พี่หยัด (อ.ประหยัด)
พอปิดเทอมที่จะไปต่างจังหวัดเนี่ย สมัย อ.อัน เข้ามาแล้ว อ.อัน ก็จะพาไป ส่วนใหญ่ก็จะพาไปเชียงใหม่ พอปิดเทอมทีนึงก็จะพากันไป ไปปีละครั้งสองครั้ง

สมัยนี้เค้าไปเที่ยวเธคกัน สมัยก่อนมีที่เที่ยวอะไรแนวนี้บ้างไหมคะ
ไม่มีเลย ครูไม่เคยรู้จักเลย เธคเค้าเป็นยังไงกัน
แล้วมีเต้นลีลาศไหมคะ
ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นครูเลยเต้นรำไม่เป็น เดี๋ยวนี้ก็ยังเต้นไม่เป็น สมัย อ.อัน เข้ามาเป็นคณบดี อ.อันก็….
ที่บอกว่าเรียนสากลด้วยนี่ก็จะมี อ.เรืองศักดิ์ อ.ประสม รังสิโรจน์ เข้ามาสอนทางด้านสถาปัตยกรรมหลัก ตอนเรียนจบแล้ว อ.เรืองศักดิ์ ก็จะมีให้ไปช่วยงานที่บ้าน พอง่วงๆ อ.เรืองศักดิ์ก็เอาโต๊ะเขียนแบบออก เอาห้องเขียนแบบเนี่ยมาเป็นห้องเต้นรำ แล้วก็จะสอนครูเต้นรำ ครูเต้นไม่เป็นก็เลยไม่เต้น

แล้วตอนนั้นเค้าฟังเพลงแนวไหนกันคะ
เพลงสุนทราภรณ์ .. สมัยนั้นสนุก สมัน อ.อัน เสาร์-อาทิตย์ก็จะมาทำงานที่คณะ บางที อ.อัน ก็จะเอารถไปเที่ยว ไปที่มวกเหล็กบ้าง ไปเช้าเย็นกลับ ไปเที่ยวธรรมชาติ
สมัยนี้เค้ามีกิ๊ก สมัยนั้นมีไหมคะ
สมัยก่อนจะว่ามีหรือไม่มีมันก็ มีบ้างอะนะ แต่ว่าสมัยก่อนนั้นเค้าไม่เปิดโอกาสที่จะไปไหนสองคน เพราะว่าเรียนกันอยู่ห้องนึงมีแค่ 8-9 คน ไปไหนทีก็ไปกันหมด 9 คน ไปไหนๆ ก็ 9 คน มี อ.คณะอื่นจะเข้ามาคุยก็ พวกเพื่อนๆ รุ่นพี่ พี่ม้าเนี่ยก็จะคอยกัน เพราะฉะนั้นทางจิตรกรรมก็จะเรียกพวกพี่ม้า อ.ประสงค์ ว่าเป็นพวกไม้กันหมา ก็ไม่มีโอกาสจะไปไหนลำพัง บางที่ก็ไม่ใช่ 9 คน 10 คน บางทีมีรุ่นพี่ เวลาไปไหนก็ไปกันหมด ตอนครูเรียนปี 5 ยังไม่ทันจบ อ.อัน ก็บรรจุครูให้เป็นอาจารย์ด้วย ตอนนั้นวุฒิอนุปริญญา ได้เงินเดือน 750 เอง เรียนไปด้วยได้เงินเดือนไปด้วย เสาร์-อาทิตย์ก็มาช่วย อ.อันเขียนแบบ ทำตึกเรียนของโรงเรียนนาฏศิลป์ คณะรับมาทำ ก็อย่างที่บอกว่างๆ ก็ไปเที่ยวด้วยกัน
พอเรียนจบแล้ว มีความรู้สึกประทับใจอะไรที่เกิดขึ้นระหว่างเรียนบ้างไหมคะ
ระหว่างเรียนก็… เรียกว่าทั้งคณะรุ่นนึงมี 5 คนมั่ง 8 คนมั่ง จนรุ่น อ.อร เข้ามา ตอนนั้น อ.อร ปี 1 ครูปี 5 รุ่นนั้นมาหน่อย ก็ 10 กว่าคน ทุกคนก็เลยสนิทสนมกันหมด เป็นกันเองหมด
หลังจากนั้นคนเข้าเรียนก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ
ใช่ ครูเกือบจะไปอยู่คณะจิตรกรรม อ.คณะจิตรกรรม บอกว่าผู้หญิงเรียนถาปัดไม่ไหวหรอก มันยาก ชวนให้ไปเรียนจิตรกรรม ประติมากรรม แล้ว อ.ศิลป์ ก็ยินดีจะรับ พอ อ.พระพรหมรู้ข่าวเท่านั้น อ.พระพรหม เรียกมาสวดเลย
พอจบแล้ว อ.ทำอะไรต่อคะ
ก็เป็นอาจารย์มาตลอด สอนมาตั้งแต่ 2505 จนตอนนี้ก็ 45 ปี จะว่าจำเจมั๊ย สอนก็ไม่ได้จำเจอะไร ต้องค้นคว้าอยู่ตลอด และสิ่งที่ไม่จำเจคือก็จะเปลี่ยนหน้าลูกศิษย์มาเรื่อยๆ
อาจารย์ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของคณะมาตลอด ..อาจารย์ว่าเป็นยังไงบ้าง
สมัยก่อนเนี่ย อาจารย์กับลูกศิษย์สนิทกันมาก พวกลูกศิษย์จะเรียก ?แม่นิด แม่นิด? สนิทกันมากๆ ?แม่นิดไม่มีตังค์กินข้าวขอตังค์ไปกินข้าว? อะไรแบบนี้ ลูกศิษย์ก็จะเข้ามาคุยตลอด สนิทกันมากกว่าปัจจุบัน คนมันน้อย เดี๋ยวนี้เยอะแยะไปหมด อาจจะเรียนวิชาการมาหน่อย สมัยก่อนมีวิชาปูนปั้น แกะสลักไม้ ลายรดน้ำด้วย แล้วไปไหนก็น้อยคน ไปไหนไปกันหมด ทั้งอาจารย์ ลูกศิษย์ ไปต่างจังหวัดกันเรื่อย
แล้วประเพณีรับน้องมันเริ่มตั้งแต่สมัยไหน
ครูก็ไม่แน่ใจนะ พอมีนักศึกษาแต่ละคณะมากขึ้น จะรับพร้อมกันหมดก็ไม่ไหว กว่าจะเรียกชื่อ กว่าจะรายงานตัว เมื่อสามสี่คณะ จิตรกรรมเปิดเป็นคณะแรก ถาปัดกับโบราณเปิดพร้อมกัน และก็มัณฑนศิลป์ ช่วงครู อย่างรุ่นครู 8 คน แต่ละคณะปีนึงรวม 4 คณะ ก็ยังไม่เท่าร้อยคนเหมือนปัจจุบัน น้องใหม่ 40-50 คน จะรับรวมกัน เวลารับก็จะใส่กระโปรงและผ้าผูกสีเวอริเดี้ยน คือชุดรับน้อง
แล้วมีแต่งชุดไทยไหมคะ
ชุดไทยตอนนั้นรู้สึกว่ายังไม่มีนะ มีแค่กระโปรงและผ้าผูกสีเวอริเดี้ยน และทุกคณะจะเป็นแบบนี้หมด ไม่มีการแบ่งแยก เรียนก็เรียนด้วยกัน ประวัติศาสตร์ศิลป์ ทฤษฎีสี เรียนกับ อ.ฝรั่ง ก็คือ อ.ศิลป์ แต่ก่อนเรียกกัน อ.ฝรั่ง
ช่วงรับน้องและตอนเรียนแต่งตัวยังไงคะ
ก็ชุดเวอริเดี้ยนเฉพาะตอนรับน้อง ตอนเรียนธรรมดาก็กระโปรงดำ เสื้อขาว แต่งฟอร์มตลอดปี
มีแฟชั่นไหมคะ
อาจเพราะครูเป็นผู้หญิงคนเดียวก็เลยไม่รู้จะแฟชั่นไปทำไม ชุดเป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัย มีเข็มขัด มีกระดุม เสื้อ กระโปรง หัวเข็มขัดกับกระดุมเป็นพระพิฆเนศ รู้สึกจะเป็นอย่างนั้น
มีเรื่องเล่าที่เป็นความลับไม่มีใครรู้ไหมคะ
ความลับยังไง
ก็แบบว่าแอบไปทำหรือเล่นอะไรในคณะ หรือเรื่องเด็ดที่เพื่อนๆ แอบเฮฮากัน
ไม่มีหรือจำไม่ได้ เพราะสมัยนั้นไม่โลดโผนหรอก ไปไหนทีก็แทบทั้งคณะ ทั้งคณะก็ไม่กี่คน ตอนครูเพิ่งเริ่มเป็นอาจารย์ พวก อ.อัน ก็ให้ผู้หญิงบางคนที่ขี่จักรยานไม่เป็นนั่งรถไฟไปรอรับที่เชียงใหม่ แล้วมีพวกผู้ชายที่แข็งแรงหน่อยขี่จักรยานจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ แต่ขากลับขี่ไม่ไหวต้องเอาขึ้นรถกลับ (หัวเราะ… ทางนั้นก็มาสัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นพวกที่ขี่จักรยาน ว่านักศึกษาขี่จักรยานมาจากกรุงเทพฯ ก็สนุกสนาน
ไปแทบทุกเทอมเลยไหมคะ
ก็ไปแทบทุกเทอมเลย โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ อ.อัน จะมีรถ 6 ล้อ รถกระบะ ถังน้ำ 20 ลิตร สองสามถังตั้งบนรถ 6 ล้อ แล้วก็เล่นน้ำกัน ของเรารถสูงด้วย สนุกสนานกัน แล้วไปถึง ปีนึงอยู่บ้านในเมือง ปีนึงอยู่บ้านนอกเมือง ปีนึงอยู่บ้านริมปิง บางครั้งก็อยู่บนดอยสุเทพด้วย บ้าน อ.อัน มีกี่แห่ง พวกครูไปอยู่กันหมด พวกครูอยู่บ้าน อ.อัน แล้วพวกผู้ชายอยู่บ้าน อ.อัน ตรงเชิงสะพานนวรัตน์ จะมีตึก 3 ชั้น เป็นตึกของทางราชการเหมือนไปอยู่วัด คือบ้าน อ.อัน เล็ก อยู่กันหมดไม่พอ ผู้ชายไปอยู่ทางนู้นหมด แล้วก็มองจากบ้าน อ.อัน ไปก็เห็น บางที่เค้าใส่ผ้าขาวม้าตัวเดียววิ่งกัน (หัวเราะ… พอเวลาไปถึงนู้น พวกผู้ชายเค้าไปจีบนางงามกัน เพราะบ้าน อ.อัน ชื่อบ้านเวฬุวันมั้ง อันนั้นจะมีปลูกต้นไม้แยะ มีดอกไม้ เขาก็จะเก็บดอกไม้หอมๆ เอามาห่อใบไม้ไปให้ แต่ก็ไม่กล้าเอาไปให้สาวขายผ้าไหม ครูจะเป็นคน ?อ้ะ เอาดอกไม้มาให้ คนนั้นเค้าฝากมานะ? ครูเป็นทูตไปช่วยเค้าจีบ สมัยก่อนก็สนุกสนานกัน
เมื่อก่อนมีการทำงานที่สตูดิโอคณะแบบข้ามคืนเหมือนสมัยนี้ไหม
ก็มีแต่ไม่ถึงกับอยู่ค้าง แต่พวกผู้ชายเค้าคงจะอยู่บ้างเหมือนกัน ช่วงหลังๆ แต่พวกครูอยู่อย่างมาก็แค่ห้าทุ่มสองยาม เพราะว่าครูสมัยก่อนครูขึ้นรถเมล์ไม่เป็น จากโรงเรียนราชินีมานี่มีที่บ้านมารับมาส่ง เพราะฉะนั้นเค้าจะต้องมารับมาส่ง ก่อนสร้างตึนี้ตึกจิตรกรรมมันยาวเข้ามา เป็นตึกเก่า แล้วเค้าบอกว่าผีดุ แต่ก็มีพวกค้าง แต่ครูไม่ได้ค้าง
สุดท้ายนี้ อาจารย์มีอะไรฝากถึงนักศึกษาปัจจุบันหรือนักศึกษาที่กำลังเข้ามาใหม่บ้างไหม คะ ทั้งในแง่ของการเรียนและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
ในเรื่องของนักศึกษาปัจจุบันนี้ไม่ค่อยสนิทกับครูบาอาจารย์มากเท่าไร มีสารทุกข์สุกดิบอะไรก็ไม่รู้ สมัยก่อนจะรู้หมดสารทุกข์สุขดิบของนักศึกษา คนนี้ไม่มีเงินกินข้าวนะ เอาล่ะ เดี๋ยวมาไถครูแล้ว บางทีจะไปเที่ยวกันนะ รุ่นหลังๆ เนี่ย ก็ไม่ถึงกับรุ่นหลังๆ รุ่นกลางๆ รุ่นอ้อ อารยา เชาว์กระจ่าง ว่าจะไปเที่ยว ?แม่นิดขอเงินห้าร้อยจะไปเที่ยวกัน? อะไรเงี่ย ชอบมาไถ ก็จะสนิทกันเหมือนลูกหลาน เพราะฉะนั้นก็จะเหมือนกับดูแล มีสารทุกข์สุกดิบก็จะมาเล่าอะไรยังไงกัน ปัจจุบันคนแยะ เพราะฉะนั้นก็จะไม่ค่อยได้ทราบสารทุกข์สุกดิบของนักศึกษาเท่าไหร่ ครูก็ไม่มีโอกาสที่จะช่วย เพราะไม่รู้คนนี้เป็นยังไง ขัดสนอะไร ช่วงนี้เงินยังไม่ส่งมา ต้องใช้เงิน ก็ไม่รู้ เพราะนักศึกษาแยะมาก ก็เลยไม่ได้ดูแลทั่วถึง สมัยก่อนคนน้อยดูแลทั่วถึง เพราะฉะนั้นนักศึกษาปัจจุบันนี้มีอะไรให้ช่วยก็มาบอก อย่างสมัยก่อนที่บอกสนิทอาจารย์ก็ดูแลได้ สมัยนี้ต้องปกครองตัวเอง บางทีพ่อแม่ก็อยู่ต่างจังหวัด ต้องทำมาหากิน ไม่ได้ดูแลทั่วถึง เพราะฉะนั้นต้องดูแลตัวเองนะ ฝากไว้ด้วย อย่าเที่ยวมากต้องแบ่งเวลาให้เป็น แล้วเวลาจะทำงานมีโปรเจกต์ ฉมังนักล่ะพวกนี้ ให้งานแรกๆ ค่อยมาตรวจกัน จะมาตรวจเอาอาทิตย์สุดท้าย ตรวจจนกระทั่งถึงทุ่มกว่า สองทุ่ม ตรวจกันจนมืดค่ำ แล้วบางทีก็พัฒนาแบบไม่ทัน ถ้าเมื่อเราเขียนแบบสักแต่ว่าพอสอบได้มันไม่มีความชำนาญ พอเราพัฒนาแบบไม่ได้ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ไม่รู้จะพัฒนาไปทางไหน ก็เพราะแบบนี้ ก็ขอให้ขยันๆ ดูแลตัวเองด้วย และขอให้โชคดีทั้งนักศึกษาเก่า ใหม่ หรือเพิ่งจบอย่างเราอะนะ ให้มีความสุขความเจริญต่อๆ ไป
ขอบคุณค่ะอาจารย์ ถ่ายรูปสวยๆ สักรูปนะคะ
หนึ่ง ส่อง ซ้าม…! ขอบคุณค่ะ

ค่ะ :22:









Jul 28, 2007

ศ. เจริญ วรรธนะสิน แนะอ่านสามก๊ก


สามก๊ก ตอน จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า

คำถามก็คือว่าคนที่อ่านสามก๊ก เกิดความสงสัยว่าจะเอาไหนฉบับไหนมาใช้ดี
มีคนบอกว่าอ่านสามก๊ก 3 จบ คบไม่ได้ ตนอ่าน 7 จบ รับรองว่าคบได้แน่นอน
ถามว่าถ้าอย่างนั้นจะอ่านของใครดี แนะนำว่าให้อ่าน
สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน

แต่ฉบับวณิพกที่ยาขอบเขียนก็มีเสน่ห์มาก
สามก๊กที่ มรว.คึกฤทธิ์ เขียนก็ทำให้ตนรู้สึกทึ่งเหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังมีของท่านอื่นอีก ที่น่าสนใจก็คือ
คนเดียวกันอ่านแล้วยังให้ข้อคิดไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง
ส่วนคนที่อ่านพร้อมกับคนอื่นความคิดก็ยังไม่เหมือนกัน
นี่คือเสน่ห์ของสามก๊ก


สามก๊กพูดถึงเสน่ห์ของผู้นำ การทำศึกสงครามเมื่อ 1,800 ปีก่อน
ได้อย่างละเอียดและแยบยล ทำให้คนอ่านเรียนรู้ได้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของผู้นำ
อ่านหลายจบยิ่งดีทำให้เรานึกถึงเรื่องราวของสามก๊กมาเทียบกับคนที่เราเจอ
คิดดูซิว่าเมื่อ 1,800 ปีก่อนไม่มีโทรศัพท์ ดาวเทียม ทางเดียวในการหาข่าวคือ
ส่งคนไปสืบหาความจริงโดยใช้ม้าเร็ว
แต่ที่น่าทึ่งคือ ผู้นำแต่ละคนอ่านความคิดซึ่งกันและกัน ที่อยู่ห่างไกลกันออก
ไม่ว่าจะเป็นผู้นำก๊กไหนก็ตาม จะมีความรู้ในแต่ละก๊กเป็นอย่างดี
พวกกุนซือทั้งหลายเป็นนักอักษรศาสตร์ทั้งนั้น ความรู้ดีของขงเบ้งเป็นยอดอัจฉริยะอยู่แล้ว
ซึ่งอาวุธสำคัญการศึกษาของผู้นำแต่ละคน
ต้องมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และ จิตวิทยาเป็นอย่างดี
ตนเชื่อว่านักธุรกิจหลายคนที่อยู่ในพื้นที่นี้ มีคุณสมบัติผู้นำเหมือนในเรื่องสามก๊กทั้งนี้
ตนจะยกตัวอย่างเอกลักษณ์หรือจุดเด่นของผู้นำแต่ละคน


เริ่มจากเล่าปี่ ที่ยาขอบให้สมญานามว่า ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น
ควบคุมอารมณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่คำพูดของเล่าปี่ท่านสุภาพสตรีอาจไม่ชอบ
โดยได้พูดไว้ว่า พี่น้องเหมือนแขนขา ลูกเมียเหมือนเสื้อผ้า
เพราะเล่าปี่ให้ความสำคัญกับพี่น้องเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังอ่อนน้อมถ่อมตน สมถะ มักน้อย ความคิดลึกซึ้ง สายตากว้างไกล
ยึดถือในอุดมการณ์
เล่าปี่บอกว่าเมื่อเราตกอับต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แม้แต่ศัตตรูก็ยังเมตตา
กวนอู เล่าปี่ เตียวหุย สามพี่น้องร่วมสาบาน

ในชั่วชีวิตตนบอกได้เลยว่า ไม่มีใครทำเรื่องสามก๊กได้ดีเท่าประเทศจีนอีกแล้ว
จีนใช้งบประมาณในการสร้างกว่า 500 ล้านบาท
ซึ่งผู้ที่เคยศึกษาและเปรียบเทียบบุคลิกภาพผู้นำในสามก๊ก
จะเห็นว่าตัวละครในภาพยนตร์
มีความใกล้เคียงกับตัวละครในภาพยนตร์ที่ทำออกมาเป็นอย่างมาก
โจโฉ ผู้ยอมฆ่าคนทั้งโลก แต่ไม่ยอมให้โลกทรยศ
ถ้าเราได้ดูภาพยนตร์หรืออ่านหนังสือ จะรู้สึกซาบซึ้งมาก
โจโฉสร้างความเป็นผู้นำด้วยลำแข้งของตัวเอง เป็นคนเด็ดขาดแต่ขี้ระแวง
ซุนฮก ยอดเสนาธิการผู้ปรับเปลี่ยนชีวิตของโจโฉ
ตั๋งโต๊ะ จอมทรราชเผด็จการ
ลิโป้ นักรบยอดเยี่ยมแห่งยุค
จอมกตัญญูสามพ่อซุนเช็ก พี่ชายซุนกวน ใช้ความเป็นผู้นำสถาปนารัฐง่อก๊ก
ซุนกวน ผู้นำง่อก๊ก มีความเชื่อว่าผู้นำไม่ต้องทำเองทุกเรื่อง ขอเพียงรู้จักใช้คน
ขงเบ้ง ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร ต้นตำหรับยุทธศาสตร์สามก๊ก
คนนี้แหละคืออาจารย์ของตน สามารถทำสงครามได้โดยไม่มีคนเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว
ขงเบ้งถือเป็นผู้บัญชาการรบคนแรก ที่ใช้ธรรมชาติมาเป็นข้อได้เปรียบในการทำสงคราม
โดย ได้รับการแนะนำเรื่องนี้จากภรรยา ที่แม้หน้าตาจะไม่สวยงาม แต่ก็มีความฉลาดเฉลียวมาก ตลอดชีวิตของขงเบ้ง เป็นช่วงที่มีการช่วงชิงอำนาจกันสูงมาก ซึ่งขงเบ้งไม่ใช้บัณฑิตที่แค่รู้หนังสือ แต่เป็นปราชญ์ที่เป็นผู้พลิกแผ่นดินก็ว่าได้
ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้กุนซือไม่ต้องออกไปทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง
แต่สมัยก่อนไม่ใช่ อาจารย์ขงเบ้งฆ่าคนโดยใช้จิตวิทยาการยั่วยุ เป็นนักการพูดที่ฉลาด รู้ชั้นเชิงในการเจรจา แต่จากการวิเคราะห์ข้อบกพร่องการเป็นผู้นำ
การบริหารบุคลากรของขงเบ้ง พบว่าเป็นคนที่ชอบทำอะไรด้วยตนเอง
ฉลาดจนลูกน้องตามไม่ทัน
นอกจากนี้ ขงเบ้งไม่ ได้สร้างตัวแทน และยังขาดศิลปะในการมอบหมายงาน เลือกที่รักมักที่ชัง จุดแข็งของขงเบ้งที่กลายเป็นข้อด้อยคือ เป็นผู้นำที่เข็มงวดเกินไปจะไม่มีบริวาร หรืออาจกล่าวได้ว่า น้ำใสเกินไปปลาอยู่ไม่ได้
กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ มีความซื่อสัตย์ กล้าหาญ แต่ขาดยุทธศาสตร์จนกลายเป็นความบ้าบิ่น
อิวซิ่ว ผู้คอขาดเพราะซี่โครงไก่ รู้ใจนายได้ แต่อย่ารู้ทันนาย
ตันหลิม ผู้ทรนงในวิชาชีพ เตือนใจนักบริหารทั้งหลายว่า ทำงานอะไรแล้วต้องทำให้เต็มที่ เช่น เป็นนักการตลาด หรือเป็นนักธุรกิจ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดทั้งนี้

เมื่อ เสร็จจากบรรยายแล้ว ศ.เจริญ ยังเปิดโอกาสให้มีการซักถาม และได้มีผู้ตั้งคำถามว่า กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุทธศาสตร์ที่ควรใช้จะเป็นอย่างไร ซึ่ง
ศ.เจริญ ตอบว่า ควรใช้ยุทธศาสตร์ของขงเบ้งกับม้าเจ๊ก เนื่อง จากตนมองว่า 3 จังหวัดก็ต้องการอยู่อย่างสันติเช่นเดียวกัน เพียงแต่เรื่องนี้ต้องอาศัยเวลา และต้องมีการใช้ยุทธศาสตร์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในการแก้ไขปัญหา

อ่าน สามก๊ก ฉบับคนขายชาติ เรือง วิทยาคม




  • Credit : http://www.manager.co.th/Home/samkok.asp (not active)








Jul 27, 2007

Heart Attack

รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อเกิด Heart Attack จะช่วยตัวเองอย่างไรก่อนถึงแพทย์
ผมได้รับอีเมลลูกโซ่ที่ส่งมาจาก คุณมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นเพื่อนผม โดย คุณมนูญ ศรีโสภณ เป็นผู้เผยแพร่คนแรก ผมเห็นว่ามีประโยชน์อย่างมากเพราะอาจเกี่ยวกับความเป็นความตายของตนเองและของคนที่เรารัก จึงได้เขียนเพิ่มเติมบางส่วนและขอนำมาเผยแพร่ต่อครับ

ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง เอาแค่เบาะๆ 3 อย่าง
(ก) ถ้าเราเอาเส้นเลือดสารพัดประเภทในร่างกายของเรามาต่อกัน มันจะพันรอบโลกได้ถึงสองครั้ง (พันรอบโลกหนึ่งครั้งคือความยาวประมาณ 40,000 กิโลเมตร)
(ข) เลือดของเราทั้งหมดในร่างกายในแต่ละวันจะต้องเดินทางผ่านสารพัดเส้นเลือดในร่างกายจากหัวใจซีกหนึ่งไปอีกซีกหนึ่ง เป็นระยะทางถึง 270,370 กิโลเมตร
(ค) ในหนึ่งปีเลือดจำนวนประมาณ 3.1 ล้านลิตร จะถูกปั๊มผ่านหัวใจของเราด้วยการเต้นประมาณ 100,800 ครั้งต่อวัน และ 36.8 ล้านครั้งต่อปี

หัวใจต้องทำงานหนักเช่นนี้ก็ยังไม่กระไร แต่ถ้าหากมีก้อนเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ เหตุการณ์ไม่คาดฝันซึ่งอาจเกิดได้กับทุกคนก็คือหัวใจซึ่งเป็นกล้ามเนื้อ เต้นระส่ำไม่เป็นจังหวะหรือหยุดทำงานเพราะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงดังที่เรียกว่า heart attack
การแพทย์ได้คิดค้นวิธีฉุกเฉินช่วยคนเกิด heart attack ก่อนที่จะถึงมือแพทย์ดังที่เรียกว่า CPR (cardiopulmonary resuscitation) ดังภาพที่เราเห็นผู้ป่วยนอนหงาย มีคนช่วยเอามือดันต้นคอจากด้านล่างให้จมูกเชิดขึ้น เอามือบีบจมูกและใช้ปากประกบปล่อยลมหายใจเข้าไป (ในลมหายใจออกมีออกซิเจนอยู่ร้อยละ 6) ในร่างที่หัวใจอาจหยุดเต้นแล้วแต่สมองยังไม่ตาย ซึ่งหากสมองขาดออกซิเจนเกินกว่า 4-5 นาทีก็จะเกิดสภาวะที่สมองถูกทำลายและกลับมาสภาพเดิมไม่ได้
CPR นั้นกระทำโดยคนอื่นเพื่อช่วยเหลือคนเกิด heart attack คำถามก็คือ ถ้าตัวเราเองเกิด heart attack ขึ้น จะช่วยตัวเองอย่างไร?
สมมุติว่าท่านเกิดรู้สึกปวดแน่นและเจ็บกลางอกอย่างมากขึ้นมาทันที และค่อยๆ ลามไปถึงบ่า ไหล่ และกราม หัวใจก็เต้นไม่เป็นจังหวะ ซึ่งเป็นอาการของ heart attack คำแนะนำใหม่ของแพทย์ก็คือ ให้กระทำสิ่งต่อไปนี้เพื่อประทังไปก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์
(ก) อย่าตกใจจนเกินเหตุ จงตั้งสติให้ดี
(ข) สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ หนึ่งครั้ง
(ค) ไอออกมาอย่างหนักๆ เร็วๆ หลายๆ ครั้งอย่างต่อเนื่องกัน
(ง) กลับมาทำข้อ (ข) และ (ค) ซ้ำอีก โดยกระทำทุกๆ 2 วินาที
(จ) ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าถึงมือแพทย์
ลมหายใจลึกๆ จะช่วยทำให้มีออกซิเจนและช่วยให้เลือดไหวเวียน ส่วนการไอแบบดุเดือดจะกระเทือนไปถึงทรวงอกและอาจมีผลช่วยกระตุ้นให้หัวใจทำงานอย่างเป็นจังหวะอีกครั้ง
คำแนะนำใหม่นี้มาจากบทความซึ่งตีพิมพ์ในวารสารหมายเลข 240 ของ Journal of General Hospital Rochester
ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์กรุณาเผยแพร่ต่อไปด้วยครับ เพราะหากช่วยชีวิตได้แม้หนึ่งชีวิตก็น่าภูมิใจแล้ว และเป็นกุศลอย่างแท้จริง

Jul 22, 2007

ผู้รอบรู้ใจคน

ผู้จัดการรายสัปดาห์
29 กันยายน 2548 18:06 น.

๐ จะดีแค่ไหนถ้างานของเราคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้กลับสู่โลกของความเป็นจริง และทำให้คนได้เข้าใจกัน ?
๐ เมื่อแท้จริงชีวิตของคนหนึ่งคน ไม่ได้มีค่าแค่ตัวเขาเอง แต่ยังมีความหมายต่อคนอื่นด้วย
๐ “จิตแพทย์” ผู้ไขความลับที่ซ่อนลึกอยู่ในจิตใจคน
“ศ.ดร.นายแพทย์วิทยา นาควัชระ”
จิตแพทย์ชื่อดังสะท้อนวิถีทางบนอาชีพนี้
แม้ว่า โดยทั่วไปการหารายได้เลี้ยงตัวและความรวยจะเป็นเป้า
หมายของการทำงานหรือการเลือกอาชีพเป็นอันดับแรก
แต่สำหรับหลายๆคนเลือกอาชีพด้วยความต้องการช่วยเหลือคนอื่นหรือสังคมอีกด้วย
ซึ่งแน่นอนว่า “แพทย์” เป็นอาชีพที่มีโอกาสทำได้มาก
แต่ “จิตแพทย์” จะมีความแตกต่าง และน่าสนใจอย่างไร?
“Smart Job” ได้พูดคุยเกี่ยวกับอาชีพจิตแพทย์ในหลายแง่มุมกับ
“ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วิทยา นาควัชระ”
จิตแพทย์มือ
อาชีพระดับแนวหน้าของเมืองไทย
เริ่มด้วยคุณสมบัติของคนที่คิดจะเป็นจิตแพทย์
คุณหมอบอกว่า ข้อสำคัญต้องมีความสนใจ
ในด้านจิตใจของมนุษย์ อยากวิเคราะห์ได้
อยากเข้าไปช่วยเหลือ และต้องใจกว้าง
เพราะสิ่งแรกที่มนุษย์ทั่วไปรู้สึกคับข้อง
ก็คือการไม่ชอบที่ใครคิดไม่เหมือนเรา
ขณะที่อาชีพนี้จะต้องเจอกับมนุษย์หลากหลาย
ที่คิดไม่เหมือนเรา
นอกจากนั้น ยังต้องประกอบไปด้วย
การหมั่นหาความรู้ใส่ตัวมากๆ
รู้จักผสมผสานระหว่างการใช้เหตุผลและอารมณ์
มีบุคลิกน่าเชื่อถือ รักษาความลับ
ย่อความเป็น จับประเด็นเป็น
รวมทั้งมีทักษะในการถ่ายทอดและ
สอนให้คนเห็นประโยชน์และเอาไปใช้
จึงจะมีโอกาสบรรลุผลสำเร็จ
แต่ปัจจุบันความสนใจที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ก็ยังคงน้อยอยู่
คิดว่าเพราะเป็นงานหนึ่งของหมอที่ได้เงินน้อยมาก
เมื่อเทียบกับหมออื่นๆ
และเมื่อเทียบกับผู้บริหารระดับสูงอีกทั้ง
ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก
ยิ่งกว่านั้นอุปสรรคใหญ่มาจากอคติ
ของคนที่มาหาและของคนทั่วไปมีมาก
การทำหน้าที่ของจิตแพทย์จึงเหมือน
กับการปิดทองหลังพระ
เพราะแม้ว่าจะมีคนดังมาหาก็บอกออกไปไม่ได้
เพราะเขาไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่ารู้จัก
แต่ก็มีลูกค้ามากขึ้นที่ใจกว้าง
บางครั้งก็บอกและแนะนำเพื่อน
แต่ถ้าเป็นหมออื่นๆ เช่น ผ่าตัดโรคหัวใจ
เป็นข่าวซุบซิบ ประชาสัมพันธ์ทางอ้อมได้มากกว่า
ประเทศที่พัฒนามากก็ยังมีอคติแบบนี้
แต่น้อยกว่าประเทศที่พัฒนาน้อย
อย่างที่นิวยอร์คมีคนกล้าบอกว่า
ฉันมีจิตแพทย์ประจำตัว
แต่สำหรับเมืองเล็กๆยังมีอคติได้ง่ายกว่าแพทย์สาขาอื่น
เพราะปกติคนกลัวการถูกวิเคราะห์
และการมองจากสังคมว่าเพี้ยน
อย่างไรก็ตาม
การสร้างความสำเร็จสำหรับคนที่ชอบ
และรักจะเป็นจิตแพทย์
สามารถประยุกต์โดยผสมผสานความเป็นตัวตน
ความใจกว้าง การหาความรู้ใส่ตัว
แล้วกระจายแนวความคิด และความรู้ออกไปสู่สังคม
อย่างเช่น การจัดทัวร์ท่องเที่ยวแบบสุขภาพจิตดี
มีบรรยายสั้นๆ บรรยากาศสบายๆ
หรือการออกกำลังกายนำแอโรบิค
หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสม
สนุกสนานมาใช้
แต่อย่าหวังว่าจะรวย เพราะมีโอกาสผิดหวัง
แต่ถ้าคิดว่าจะได้ทำงานที่พอใจ
รู้สึกมีความสุข และสนุกกับงาน
ก็จะได้อย่างนั้น
เพราะงานนี้เป็นการเปิดโลกอีกใบหนึ่ง
ที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ล้วนๆ (Pure Science)
ซึ่งเป็นพื้นฐานที่หมอทุกคนต้องเรียนอยู่แล้ว
เพื่อให้อยู่ในกรอบของความเป็นจริง
ยังปนกับความเป็นศิลปิน
มีการสร้างสรรค์ด้วย
ส่วนคนที่จะเป็นจิตแพทย์ไม่ได้
ก็คือ คนใจอ่อน
เมื่อฟังแล้วเอาความทุกข์ของคนไข้
มาเป็นความทุกข์ของตัวเอง
หรือดึงเอาตัวเองไปผูกพันมากๆ
หรือถ้าเมื่อคนที่มาหาแล้วชื่นชมหมอมาก
แล้วหมอเกิดความสนใจ
เอาใจช่วยมากเกินไป
ตรงนี้เป็นอันตรายที่สำคัญมาก
เพราะอาจจะทำให้แนะนำผิดได้
จากอคติที่เกิด อย่างเช่น
เพื่อนหรือคนที่เรารักมาเล่าเรื่อง
อาจจะเกินจริงไปตามอารมณ์ความรู้สึกแต่ละช่วง
อาจจะหวานจ๋อยในตอนชอบ
แต่ตอนเกลียดจินตนาการในแง่ลบ
เพราะฉะนั้น หมอต้องไม่จิตอ่อน โอนเอนง่าย
๐ ปฏิบัติการคลายทุกข์

หมอวิทยาบอกว่า การช่วยเหลือ “ผู้ทุกข์ทางจิต”
มีหลายวิธี สำหรับจิตแพทย์ (psychiatrist)
เป็นแพทย์แขนงหนึ่ง
ซึ่งต่างกับนักจิตวิทยา (psychologist)
ตรงที่สามารถให้ยาได้ด้วย อย่างเช่น
ยาลดความเศร้า ลดความกังวล
ลดความเป็นโรคจิต
เพราะคิดไม่ดีจึงเกิดสารเคมีไม่ดีหลั่งในสมอง
ส่วนการทำจิตบำบัด โดยการพูดคุย
ซักประวัติ เพื่อให้รู้กลไกลและ
ปัญหาเบื้องลึกในระดับจิตใต้สำนึก
แล้วเอามาทำเป็นวงจรชีวิต
ซึ่งเทคนิคของแพทย์แต่ละคนต่างกันได้
แล้วจึงใช้พฤติกรรมบำบัด ให้รู้ว่า
ชีวิตของเขามีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง
ให้ปรับเปลี่ยนแนว
ความคิดนิดนึงเพราะเปลี่ยนมากไม่ได้
ซึ่งจะทำให้เขายอมรับตัวเองได้มากขึ้น
และจะดำเนินชีวิตได้เหมาะสมขึ้น
อย่างเช่น ถ้าพ่อแม่ลูกมาหา
ต้องใช้ครอบครัวบำบัด
ช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างครอบครัว
เพราะแต่ละคนมีความต้องการ
ความเข้าใจ และปัญญา ไม่เท่ากัน
ไม่เหมือนกันต้องทำให้เกิด
ความเอื้ออาทรที่จะรักกันต่อไป...
ส่วนใหญ่บำบัดเพื่อให้เกิดความคิดที่ดี
ที่เหมาะสม เพื่อให้สารความสุขหลั่ง
ไม่ทุกข์ ไม่ต้องใช้ยา เช่น
ถามผู้ทุกข์ว่าจะไปเที่ยวกันไม๊ ?
เขาตอบว่าไม่ไปเพราะเพลีย
แต่พอบอกว่าผู้หญิงที่เขาชอบอยู่จะไปด้วย
ความเพลียหายไปได้ เพราะสารความสุขหลั่ง
แต่ถ้าบอกว่าเจ้าหนี้ไปด้วย
เขารู้สึกป่วยมากขึ้นทันที
ถ้าคนที่พร้อมจะคิดแง่ลบ
เจ้าคิดเจ้าแค้น โกรธง่าย ใจน้อย ผิดหวัง เครียด
สารความเครียดหลั่งง่าย แต่คนที่คิดเป็น
ใส่จินตนาการดีเข้าไป ลดความทุกข์
ทำให้สารความสุขหลั่งได้
จะอย่างไรก็ตาม

การจะดูแล“ผู้ทุกข์ทางจิต”
ต้องแยกให้ได้ว่าอยู่ในประเภทไหน
ประเภทเกิดความขัดแย้งในความคิด
ประเภทบุคลิกภาพแปรปรวน ประเภทโรคประสาท
หรือสุดท้ายประเภทโรคจิต
ซึ่งคนที่เป็นโรคจิตจะถอยหลังสู่ความเป็นเด็กมากขึ้น
สร้างโลกของตัวเองมากขึ้น
เมื่อเป็นแล้วไม่หายขาด แต่ดีขึ้น
ส่วนที่ไม่ใช่โรคจิตมีโอกาสหายขาด และอยู่ในสังคมได้
๐ แนวทางสู่เป้าหมาย
สำหรับแนวทางที่นำมาใช้แตกออกได้เป็น 3 ทาง
ทางแรก การรักษา
ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการที่เรียนมา
ทางที่สอง การพัฒนา ซึ่งอาจจะใช้วิธีการฝึกอบรม
และทางที่สาม การป้องกัน
เพราะรู้จิตใจของมนุษย์เป็นเบื้องลึก
นำแนวคิดหลักจิตวิทยา หลักการบริหาร
และความสามารถในการวิเคราะห์ได้ลึกกว่า
มาใช้เป็นแนวคิดในเชิงพัฒนามนุษย์ได้ลึกซึ้ง
กว่านักฝึกอบรมคนอื่น
เพราะคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าหมอทำได้แค่การรักษา
แต่ที่จริงทำด้านการพัฒนา และป้องกันได้ด้วย
เพราะฉะนั้น หมอวิทยาจึงทำทั้ง 3 แนวทาง
แต่ช่วงแรกในชีวิตการทำงานในโรงพยาบาล
มีผู้ป่วยมาก และต้องใช้การรักษา
ใช้เวลาหมดไปกับการทำเรื่องเดิมๆ
ความคิดสร้างสรรค์ไม่เกิด ทำให้ในช่วงหลัง
เปิดคลินิคสุขภาพจิต
และจัดตั้งสถาบันพัฒนาตนเองและนักบริหาร
จึงมีโอกาสใช้การพัฒนาและป้องกันมากขึ้น
โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความสนใจไปที่กลุ่มผู้ใหญ่
การทำงานของหมอวิทยา มีหลายบทบาท
ทั้งจิตแพทย์ อาจารย์ นักบริหาร นักคิด
นักเขียน รวมทั้ง นักพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม
ซึ่งปัจจุบันยังมีผลงานเขียนใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ
เรื่องที่เขียนก็มีหลายแบบแนวจิตวิทยาประยุกต์
ที่มากคือ เรื่องของชีวิต ความสุข ความสำเร็จ
แฝงจิตวิทยา แฝงคุณธรรมศาสนาปรัชญา
“ผมจะมี How To ให้ด้วย ขมวดตอนท้าย
เพราะเราวิเคราะห์วิจารณ์คน
ก็เหมือนกับการขุดหลุม
เพื่อดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น
เมื่อดูแล้วต้องกลบให้เขาด้วย
ไม่ใช่ฝากให้สังคมให้ใครช่วยคิดต่อ
แปลว่าขุดแล้วไม่กลบ”
หมอวิทยาบอกถึงจุดเด่นของงานเขียนและเรื่องที่เล่า
แล้วยังชี้ถึงสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จว่า
เป็นเพราะการเป็นคนชอบอ่านหนังสือ
ศึกษาหาความรู้ใส่ตัว และที่สำคัญ
กล้าพอที่จะลงมือทำ

สำหรับคนที่ไม่ลงมือ หมายถึง
การเป็นคนที่มีบุคลิกไม่กล้า
ไม่เชื่อมั่นตัวเอง ไม่ภูมิใจตัวเอง
ซึ่งไม่ดีทั้งต่อตนเองและส่วนรวม
เพราะคนไทยมักจะส่งเสริมให้คนมีจินตนาการ
แต่มีเงื่อนไขของความภูมิใจในตัวเองมากมาย
ว่าจะต้องเป็นคนเรียนเก่ง
ถึงขนาดได้เกียรตินิยมยิ่งดี
ทำงานประสบความสำเร็จสูง
และช่วยเหลือสังคมได้มาก

“เงื่อนไขเยอะมาก และตัวอย่างก็เป็นคนเก่งๆ
ทั้งนั้น ทำให้คนไทยส่วนมากกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจตัวเอง
ผมโต้กระแสนี้ ผมมีคำๆ นี้
‘ภูมิใจและมั่นใจตัวเอง ตามความเป็นจริง’
ไม่ต้องรอคอย เราได้แค่ไหนแค่นั้น
เก่งมากดีมากแล้ว ใครไม่ชอบเราช่างเขา
แต่เรายังชอบความเป็นตัวเราขณะนี้
รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง
อย่างนี้ก็มีความสุข ตรงนี้สำคัญ
และเป็นแบบของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ใครจะนำไปใช้ก็ได้
แล้วเมื่อทุกคนทำดีหมด ทำเต็มที่ ส่วนรวมก็ดี
ส่วนคนขี้เกียจกับขี้โกงก็จะเจริญยาก
ตาม"กฎแห่งกรรม"
หมอวิทยาให้ข้อคิดที่น่าสนใจสำหรับทุกคน
การเรียน “จิตแพทย์”
เป็นการเรียนรู้เรื่องจิตใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง
รู้ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์
ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตที่สำคัญ
และยังนำไปใช้ได้ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ตาม
แต่ไม่ได้มีการสอนเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ
ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับความคิดจิตใจของคน
แต่สำหรับหมอวิทยา นอกจากจะเรียนรู้เรื่อง
“กาย” กับ “จิตใจ” อย่างชำนาญแล้ว
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ยังเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อง “จิตวิญญาณ”
จากการศึกษาศาสนาพุทธ
หลังจากที่เคยศึกษาศาสนาคริสต์มาก่อนแล้ว
และนำหลัก “อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา”
มาใช้ผสมผสาน เพื่อหาคำตอบให้กับ
“ผู้ทุกข์” ด้วยความเป็น “จิตแพทย์”
ผู้รอบรู้เรื่องจิตใจมนุษย์

๐ ก่อนเป็นหมอ
หนทางที่หมอวิทยาก้าวมาเป็นจิตแพทย์
เริ่มมาจากการเป็นเด็กเรียนดี
เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม
และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท
และเลือกเรียนแพทย์ตามความนิยม
ในสมัยก่อนที่มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ศิริราช
จากนั้นจึงไปเรียนต่อสาขากุมารเวชศาสตร์
ที่เม้าท์ไซไน เมดิคอลสคูล , คลีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา
แต่พบว่าไม่ต้องการจะเป็นกุมารแพทย์
และได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนให้เรียนต่อในสาขาจิตเวชศาสตร์
ที่เมาท์ไซไน เมดิคอลสคูล , นิวยอร์คซิตี้ สหรัฐอเมริกา
จนได้รับวุฒิปริญญาเอก ผู้ชำนาญด้านจิตเวชศาสตร์

พูดคุยอย่างไรให้คนชอบ

ผู้จัดการรายสัปดาห์
29 มิถุนายน 2550 18:19 น.

ผมเคยพบคนที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ
หลายๆ คนบางคนเป็นคนมีเสน่ห์ คุยแล้วชอบ
บางคนพอเริ่มคุยก็เดินหนีห่างออกมา
ไม่ชวนให้อยากคุยด้วยเลย
การพูดคุยให้เป็นนี้ เป็นทักษะที่ควรหัดให้มีเอาไว้
เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพและมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
ทำให้ได้มิตรภาพมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การงานและสังคมที่ดีต่อไป
ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำที่เลือกเอาไปใช้ได้ครับ

1.สร้างความมั่นใจให้ตัวเองก่อน โดยให้เชื่อว่าตัวเราเอง
และทุกคนรวมทั้งคนที่เราจะพูดด้วยก็เป็นคน "เก่งมาก-ดีมาก"
ตามสภาพเป็นจริงของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน
และไม่ต้องเปรียบเทียบกัน เราจะชอบตัวเองและชอบคนอื่นๆ
ด้วย
ถ้ามองข้ามข้อบกพร่องของตัวเองหรือของคนอื่นได้
ก็ให้มองข้ามเสีย เขาต้องรับผลกรรม ตามกฎแห่งกรรม

2. สร้างภาษากายที่บวก (+) ซึ่งคนจะชอบ
เป็นลักษณะบุคลิกภาพแบบเปิดตัว เปิดเผยเช่น ยิ้มแย้ม
พร้อมพยักหน้า สบตา พร้อมจะกล่าวคำพูดบางอย่างที่แสดง
ถึงความสนใจและเป็นมิตร เช่น ดีจัง โอ้โห ใช่แล้ว
ไม่ยืนกอดอก เอามือล้วงกระเป๋า ขัดคอ หรือส่ายหน้า
ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกภาพแบบ "ปิดตัว"

3. ถ้าอยากแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมือนใคร
ก็ให้รอจังหวะให้เขาพูดให้จบก่อน แล้ว กล่าวว่า
ที่อีกฝ่ายพูดก็น่าสนใจดี แต่อยากเสนอแนวคิดอีกทางหนึ่ง
โดยใช้ภาษา พูดธรรมดาและมีสีหน้ายิ้มๆ ไม่ต้องแสดงสีหน้า
คำพูด ที่เอาจริงเอาจัง หรืออยากเอาชนะ จะกลายเป็นการสร้างศัตรู

4. การเริ่มต้นคุยกับคนใหม่ ๆ หรือคนแปลกหน้า ให้คุยเรื่องเบาๆ
ที่ทุกคนสามารถร่วมคุยได้ ให้เริ่มจากสิ่งที่มองเห็นในขณะนั้น
เช่น ดิน ฟ้า อากาศ การตกแต่งสถานที่ เรื่อง อาหาร
การท่องเที่ยว สุขภาพ กีฬา เป็นการเปิดฉากการสนทนา
เพื่อจะได้รู้ว่าเขาชอบคุยเกี่ยวกับอะไร แล้วจึงสานต่อ
ถ้าเขาไม่อยากคุยด้วยเพราะเหตุใดก็ตาม จงถอยห่างออกมา
และอย่าถือสาเขาเลย เขาอาจมีปัญหาส่วนตัวของเขาก็ได้

5.ให้ความสำคัญคู่สนทนา จงหาโอกาสชมเชยเขาบ้าง
ถ้าไม่รู้จักตัวตนเขาลึกซึ้ง ก็ให้ชมสิ่งของใช้ของเขาที่แลดุดีก็ได้
เช่น เขาซื้อของชิ้นนี้จากที่ไหน แลดูดีมาก
แต่อย่าให้เกินความจริงจนรู้สึกเป็นการป้อยอ
ถ้านั่งโต๊ะรับประทานอาหารด้วยกัน
ควรแสดงความเอื้อเฟื้อโดยหยิบขวดเกลือ พริกไทย น้ำตาล นม
ส่งให้คนข้างเคียงตามความเหมาะสมด้วย

6. อย่าพูดเรื่องปมด้อยของเขาเด็ดขาด
แม้จะมองเห็นและเป็นความจริง ก็ห้ามพูด เช่น
ความอ้วน ดำ เตี้ย ฯลฯ และอย่านำปมด้อยของตัวเองมาเล่าด้วย
เพราะเขาจะไม่ชอบเราทั้งกรณี แม้ปากจะบอกว่าไม่ถือๆ ก็ตาม

7. อย่าถามเรื่องส่วนตัวที่ลึกซึ้ง เช่น สถานภาพสมรส รายได้

8. กระจายความสนใจและการพูดคุยไปสู่คนอื่นบ้าง
ไม่ใช้ตั้งหลักคุยกับใครสักคนที่ชอบเป็นคนสำคัญ
ทำให้ขาดโอกาสรู้จักคนอื่น ๆ ถ้ามีคนที่รู้จักกันเข้ามาร่วมวงสนทนา
อย่าลืมแนะนำให้เขารู้จักกับคนที่เราคุยอยู่แล้วด้วย

9.ให้โอกาสคู่สนทนาพูดคุยถึงตัวเขาเองด้วย
ไม่พูดคุยถึงตัวเรามาก ถ้าเบื่อคู่สนทนาที่ชอบพูดถึงตัวเอง
หรือครอบครัวของเขานานไป ก็เปลี่ยนเรื่องคุย หรือเลี่ยงไปที่อื่น

10.อย่าชมเชยตัวเอง อย่าวิจารณ์ตัวเอง อย่าผูกขาดการพูดอยู่คนเดียว

11. ควรมีอารมณ์ขันระหว่างคุย แต่อย่าให้ลามก หรือโหดร้าย ไม่นินทาคนอื่น

12. เป็นผู้ฟังที่ดี อย่าสร้างศัตรู

13. สร้างความรู้สึกดีๆตอนจากกัน
ด้วยคำขอบคุณที่ได้ความรู้บางอย่างจากเขา
หรือ พูดว่าคงมีโอกาสดีๆ ได้พูดคุยกับเขาอีก
ปากมีไว้พูดคุย เพื่อสร้างมิตร สร้างความสุข
และสมองมีไว้คิด เพื่อสร้างสรรค์
จงใช้ปากและสมองให้ดีเวลาพูดคุยกับคนอื่น
เพื่อสร้างมิตร และสร้างสรรค์ครับ









ชีวิตกับเป้าหมายและความสำเร็จ


สัมภาษณ์ คุณโสภณ สุภาพงษ์

สัมภาษณ์และถอดบทสัมภาษณ์ โดย วิจักขณ์ พานิช



คุณโสภณ: เวลาที่เราเข้ามาที่นี่ จะมีสิ่งนึงที่เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้สึกตัวเลย ก็คือ เรารู้สึกปลอดภัย คนรอบๆเนี่ย เรารู้สึกได้เลยว่าเรากำลังอยู่ในสังคมปลอดภัย เค้าเหมือนญาติชนิดนึงที่เรียกได้ว่า ญาติธรรม ในชีวิตเราถูก package ว่าญาติเนี่ยจะต้องเกี่ยวเนื่องกับพ่อแม่พี่น้อง ในชีวิตจริงๆแล้วไม่ใช่ คือ มนุษย์ทุกคนเป็นญาติ ความทุกข์เกิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นตามความจริง พอมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ไปโทษมันว่าทำให้เราทุกข์ ที่จริงไม่ใช่ ความทุกข์เกิดจากสิ่งที่เราคาด ถ้าเมื่อไหร่เราคาดผิดจากความจริง เราอาจจะสุข อาจจะทุกข์ แสดงว่าเราไม่เข้าใจความจริง มันมีบางอย่างที่คลุมจิตใจเราจนทำให้เราไม่เห็นความจริง ถ้าเราจิตใจสะอาดเราจะมองความจริงได้ชัด แล้วสิ่งที่ทำให้เรามัวไปหมด มันก็คือ ความอยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ อยากมี อยากให้เค้ารัก มันเกินความจริงของสิ่งที่มันเป็น เรามองไม่เห็นมัน การมีใจสะอาดก่อนเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลย เราถึงจะมองเห็นความจริง แล้วชีวิตมันก็จะสุขน้อย ทุกข์น้อย การไม่เห็นความจริงทำให้เราเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ โอ้โหแล้วมันจะแรง เพราะเรามองอย่างที่อยาก ไม่ได้มองความจริง เพราะฉะนั้นความทุกข์ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง มันเกิดจากสิ่งที่เราคาด เราโง่เอง คาดไม่ตรงกับเรื่องจริง บางทีในเรื่องเดียวกัน อีกคนสุขอีกคนทุกข์ แสดงว่ามันมาจากที่คาด ลองสังเกตตรงนี้ดูแล้วเราจะมองทุกอย่างได้แจ่มใส เราเองต่างหากที่ผิดที่ ผิดความคิด สวนโมกข์นี่จะให้เรื่องความจริงได้เยอะ หากมองได้ตามความจริง ก็จะพ้นทุกข์


วิจักขณ์: ผมมีคำถามเรื่องนึงที่อยากจะถามคุณโสภณครับ เพื่อนผมหลายคนมีความเชื่อในการที่จะแสวงหาความสำเร็จในชีวิต และหลายคนที่มองธุรกิจเป็นคำตอบ คุณโสภณทำงานด้านธุรกิจ เป็นประธานบริษัทมากมายกว่ายี่สิบแห่ง อยากถามว่าคุณโสภณมีวิธีการทำธุรกิจอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไรให้สามารถทำธุรกิจได้โดยที่ไม่ต้องรู้สึกว่ายุ่งหรือเป็นทุกข์


คุณโสภณ: ผมเคยไปเมืองนอกอยู่สองเดือน กลับมาแล้วพบว่าบริษัทเค้ามีกำไรมากขึ้น ก็เลยรู้เลยว่าไม่ต้องมีเราก็ได้ ที่จริงแล้วเราไปยึดกับตัวเรามากไป ทิ้งไว้ให้คนอื่นเค้าบ้าง ผมสังเกตดูนะครับ มนุษย์จะมีวิถีคิดกับการใช้ชีวิตอยู่สามระดับ ที่เราคุ้นเคย เราจะใช้ชีวิตกับระดับที่ต่ำสุด คิดว่าอำนาจและเงินเท่านั้นที่ถูกต้อง เราจะทำอะไรเพราะมันเป็นอำนาจชั้น ตำแหน่งชั้น หรือทำอะไรเพราะมันได้เงิน ได้กำไร เราก็จะวัดว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรเพียงเพราะอำนาจกับเงิน แต่ชีวิตมนุษย์ก็มีอีกระดับนึงที่ดีขึ้นไปหน่อย ก็ใช้กับระดับของ...ผมเรียกว่า Conventional Truth คือ ระดับของการใช้เหตุใช้ผล ใช้วิชา ใช้กฎหมาย เพื่อให้เราอยู่ด้วยกันโดยใช้กติกานี้ แต่ต้องสังเกตดูว่าเรื่องเหตุผลและวิชา มักจะมาจากว่าคนมีอำนาจเขียนขึ้นมา บางทีมันก็มาใช้ไม่ได้ เวลาที่อาจารย์หมอประเวศไปอวยพรคู่บ่าวสาวในงานแต่งงาน อาจารย์ก็จะบอกว่า ขอให้มีครอบครัวที่มีความสุข ขอให้คู่บ่าวสาวประสบความสำเร็จ ถ้ามีปัญหากันอย่าใช้เหตุใช้ผล ขอให้ใช้ความรักและหน้าที่ นี่เป็นระดับที่สามของมนุษย์ คือ ทำตามศีลธรรมและความเป็นมนุษย์ ว่าเรามีหน้าที่ เพราะเหตุผลบางทีมันถูกอ้างขึ้นมาเพื่อเอาชนะ มันเป็นอาวุธที่ซ่อนเร้นมากกว่าอาวุธตามปกติด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแม่เนี่ยก็จะทำอะไรตามหน้าที่ ผมเคยถามรัฐมนตรีรัฐบาลที่แล้วว่า ถ้าท่านคิดว่าอำนาจและเงินเท่านั้นที่ถูกต้องเนี่ย แล้วเราจะเอาแม่ไปไว้ที่ไหน แม่ไม่ได้ทำอะไรโดยใช้อำนาจ ไม่ได้ทำเพราะว่าได้กำไร และบางครั้งแม่ก็ไม่มีเหตุไม่มีผล แต่เรารักแม่ ผมก็รักแม่เพราะแม่ร่วมสุขร่วมทุกข์ แม่ทำตามหน้าที่เสมอ ไม่ได้บอกว่ามันผิดมันถูก มันดีมันเลว


เพราะฉะนั้นมันมีความคิดอยู่สามระดับ แม่จะใช้ระดับบน เพราะฉะนั้นในชีวิตจริงๆ เราควรจะใช้ความคิดทางหลักศีลธรรมศาสนาเป็นตัวตั้ง แล้วเราก็มาใช้กำหนดเหตุกำหนดผล กำหนดวิชาความรู้ ตัวบทกฎหมาย แล้วเราก็ทำธุรกิจหากินเลี้ยงชีพในระดับที่สามภายใต้กรอบนั้น ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ทำในลักษณะนี้ก็จะเป็นธุรกิจแบบช่วยกัน เพราะวิถีคิดมันถูกควบคุมด้วยร่วมสุขร่วมทุกข์หลักศาสนาทางธรรมชาติ เพราะฉะนั้นที่ผมดูแลธุรกิจเยอะเลย แล้วบอกอย่างไม่อายเลยนะว่า เวลาผมจุกเข้า จะต้องตัดสินใจอะไรเดี๋ยวนั้นเนี่ย ผมจะนึกว่าถ้าผมเป็นแม่ผมจะตัดสินใจตรงนี้ยังไง คนอ่อนแอต้องได้ก่อนเสมอ แล้วไม่เคยผิด มันจะเป็นอะไรที่ระยะยาว เรานอนหลับ เค้านอนหลับ มันเป็นความสุขที่ระยะยาวมาก แล้วไม่เคยผิดครับ ถึงแพ้ก็แพ้ด้วยกันด้วยความสุขทั้งหมด ไม่เคยผิดครับความคิดแบบแม่เนี่ย ถ้าเรากลับมาดูในโลกจริงๆ ในศาสนาอิสลาม เค้าก็จะใช้หลักศาสนาเป็นตัวตั้ง แล้วก็มาใช้เป็นหลักกฎหมาย มาใช้ทำการค้าขาย ที่นี้ในความคิดของตะวันตกที่เป็นทุนนิยมเนี่ย มีหลักเศรษฐกิจหรือหลักเศรษฐศาสตร์เดิมเนี่ยมันก็ดีนะ มันหมายถึง เป็นกระบวนการที่ทำให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่มันด้วยการที่ใช้ทุนนิยมเข้ามาเนี่ย มันไม่มีที่สิ้นสุด มันก็กลายเป็นว่าจุดจบมันก็คือ ความเป็นอยู่ของบางคนดีขึ้นมาก แต่ส่วนใหญ่แย่ลง มันเป็นอีกรูปนึงเลย เพราะมันไม่สิ้นสุด ไม่มีพอเหมาะ เพราะฉะนั้นมันก็เกิดปัญหาของทุนนิยมแล้วมันก็ไม่จบ ทรัพยากรก็ถูกใช้ไปเรื่อยๆ ชั้นปล้น ชั้นใช้ ข้างเดียว เพราะฉะนั้นมันไม่มีหลักสมดุล เป็นหลักที่สุดๆ ทุกอย่างมันเป็นที่สุดหมด เมื่อมันไม่สมดุลวันนึงมันก็แย่แบบนี้


แต่ถ้าเราเริ่มด้วยหลักศาสนาเนี่ย เราจะคิดในลักษณะที่ว่า เราอยู่ร่วมกันได้ทั้งหมด งั้นเวลาที่ผมทำธุรกิจผมก็มองอย่างนั้นมากกว่า ผมก็มองว่าการที่เข้าไปอยู่ในบริษัท ทุกบริษัทเลยนะอันแรกเลยที่ผมตั้งก็คือว่า หนึ่ง สภาพการทำงานที่มีความสุข อันที่สอง ขอมีส่วนร่วมในความอยู่ดีกินดีของสังคมไทย ผมจะตั้งอยู่สองอัน กำไรเป็นผลพลอยได้ ผลจากการมีความสุขแล้วเราค่อยมีกำไร เราไม่ได้ตั้งกำไรแล้วฆ่ากันตายหมด ทุกข์หมด ที่จริงแล้วมันยั่งยืนกว่า การร่วมสุขร่วมทุกข์ ในเวลาที่เราทุกข์จริงๆแล้วเราก็ยังมีความสุขที่ยังได้ร่วมทุกข์กับคนที่เรารัก เหมือนแม่เนี่ย อยากจะเจ็บ อยากจะทุกข์แทนลูก แม่ไม่มีเหตุผลฮะ แต่รู้อย่างเดียวว่าแม่จะอยู่ข้างลูก ความสุขของแม่คือขอให้ได้ทุกข์แทนลูกแม้ลูกมันจะเลวยังไงก็เถอะ นั่นเป็นความสุขที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นเวลาทำงานผมจะใช้อย่างนั้น อยู่ข้างเดียวกัน ถ้าผิดเราผิดด้วยกัน แล้วเราจะเดินออกมาจากตรงนั้นพร้อมๆกัน แบบนั้นผมคิดว่าผมมีความสุขกว่า เพราะฉะนั้นความหมายทั้งหมดของการจัดการคือ เราจะเอาความสัมพันธ์ที่บ้าน มาใช้ในที่ทำงาน เราจะไม่เอาความสัมพันธ์แบบที่ทำงานมาใช้ที่บ้าน ไม่งั้นบ้านพัง แต่คนไทยเราลืม แล้วไปรับเอามาเฉยๆ หลายคนก็เอาความคิดจากที่ทำงานมาใช้ที่บ้าน แล้วก็บ้านแตกบ้านพังเยอะแยะ ผู้หญิงหลายคนกลับบ้านก็เป็นประธานไม่เลิก ผลก็คือบ้านแตก เพราะมันไม่ใช่ความสัมพันธ์ปกติของมนุษย์ ผมก็คิดว่ามันได้ประโยชน์แล้วมันง่ายด้วย ถ้าเราคุยกับใครเรื่องอย่างนี้ ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจง่าย ทุกคนก็อยากแต่ก็ไม่กล้า ไปที่ไหนผมจึงต้องบอกว่า ผมก็อยากจะทำให้ที่นี่เป็นบ้าน เมื่อเวลาอะไรเกิดขึ้น เราไม่ต้องถามว่าใครเป็นคนทำ เราจะถามว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วมันจะแก้ไขร่วมกันไปได้ยังไง คนเขาก็จะมีกำลังใจ หรือเราจะลงโทษใคร เราก็รู้ว่าเราทำไปเพราะหน้าที่ ไม่ได้ทำเพราะเราเกลียด เราอยากจะสะใจ แต่เพราะเรามีหน้าที่ว่าเขาจะต้องไม่ไปกระทบคนอื่น เช่นเขาโกง เขาคอรัปชั่น ถ้าเราปล่อยไว้มันก็สูญเสียหมด เราก็ต้องคุยกับเขาตรงๆว่าเขาต้องถูกลงโทษแล้วนะ เพราะมันเป็นหน้าที่นะ แล้วเขาก็จะพอใจ เพราะว่าวันรุ่งขึ้นเขาจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับจะมองตาคนอื่นได้อย่างสนิทใจ ได้เกิดใหม่มีอิสรภาพ มีชีวิตใหม่ ตามหน้าที่ของเค้าก็ถูกแล้วที่ต้องโดนลงโทษ แล้วเขาก็สบายใจ แทนที่จะหลบๆซ่อนๆ มองตาใครไม่สนิท พอเป็นเช่นนี้เขาก็ควรถูกลงโทษ ที่คนอื่นก็รู้ด้วย เราจึงเข้าใจว่าทำไมทางคริสต์เขาถึงต้องมีการแก้บาป กับใครสักคนนึง ถ้ามีแม่ก็พูดกับแม่ ถ้าไม่มีแม่ก็พูดกับพระ เพราะแม่เนี่ยถึงเราจะสารภาพว่าเราผิดยังไง แม่ก็จะเราอยู่ข้างเราเสมอ แล้วเราทำที่ทำงานเราอย่างนั้น ทุกคนก็จะเข้าใจหน้าที่ร่วมกัน ถ้าเราแข็งแรงกว่าเราก็มีหน้าที่ต่อเค้าที่อ่อนแอกว่า


เพราะฉะนั้นอยากจะบอกว่า ไม่ใช่เราปฏิเสธธุรกิจ แต่ให้เราอยู่ในกรอบนั้น เรายังมีที่ให้ทำอีกเยอะ แต่ไม่ใช่เราไปบอกว่า ไปศึกษาแล้วพบว่าบ่อนเสรีดี พนันบอลดี แล้วก็มาตั้งกฎเกณฑ์กฎหมายแล้วเราก็ไปละเมิดศีลธรรม นี่เป็นการคิดแบบอำนาจกับเงิน มันก็อ้างเหตุผลไปได้เพื่อบอกว่าสิ่งนั้นดี จริงๆแล้วเรารู้ เรารู้ทันที เพราะเรื่องอย่างนี้ ถามเราเราก็ไม่อยากให้ลูกเราทำ เพียงเพราะความอยากได้เงิน ความมีอำนาจ มันทำให้เรามองไม่เห็น ถ้ามองอย่างเข้าใจ เราก็จะรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแท้จริงเกิดมาจากอะไร พวกที่คิดแบบนี้เราก็ไม่โกรธเขา แต่เรารู้ว่าความจริงมันคือยังไง สี่งที่เกิดมันมาจากรากอะไร ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนเค้า เราต้องเติมปัจจัยอะไรให้เค้าได้กลับมาคิดได้ถูกต้อง การเห็นความจริงเนี่ยช่วยเยอะเลย

Jul 20, 2007

ชื่อดีเซ็นสวยช่วยเสริมบารมี

: ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ สู่โลกแห่งความเป็นจริง


พระเครื่อง: คม ชัด ลึก
13 เมษายน 2550 20:00 น.

http://news.swu.ac.th/newsclips/doc/200721038.pdf

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน รัฐมนตรีที่ได้รับโปรดฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านนี้ นอกจากจะมีคำว่า ดร.ซึ่งย่อมาจาก ดอกเตอร์แล้ว

ท่านยังมีวิทยฐานะถึง รองศาสตราจารย์ อีกด้วย ดังนั้นหากจะเขียนชื่อท่านพร้อมคุณวุฒิอันทรงเกียรติอย่างเต็มภาคภูมิก็ต้องเขียนว่า รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ วรากรณ์ สามโกเศศ หรือจะใช้อักษรย่อ รศ.ดร.วรากรณ์ ก็ได้ครับ

แต่ “ตะวันณา” ขอเรียกท่านว่า อาจารย์วรากรณ์ก็ล่ะกันครับ เพราะเป็นลูกศิษย์ประเภท “ครูพักลักหลับ” เอ๊ย... ขอพระอภัยมณี ครูพักลักจำ จากคอลัมน์อาหารสมองในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ จนมีความรู้รอบตัวมากขึ้นอีกหลายด้าน

ศิลปักษรในลายเซ็นของอาจารย์วรากรณ์ เป็นศิลปักษรที่บ่งบอกถึงการเป็นคนช่างคิดช่างฝันช่างจินตนาการนะครับ ดูได้จากการเริ่มต้นของลายเซ็นซึ่งเป็นวงกลมค่อนข้างใหญ่ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ อ อ่าง แต่เป็น ว แหวน (ก็ขอฝากท่านที่มีชื่อที่ขึ้นต้นด้วย ว แหวน หรือ อ อ่าง ดูไว้เป็นตัวอย่างนะครับ) และเป็น ว แหวนที่ไม่มีหัวแหวนปรากฏอยู่ บ่งบอกว่า

หากอาจารย์คิดหรือฝันหรืออยากจะทำอะไรแล้ว หากมีโอกาสที่จะได้ทำตามที่คิดที่ฝัน ท่านจะตัดสินใจทันที โดยไม่มีอาการลังเล หรือ จดๆ จ้องๆ ในทำนองว่า จะเอาหรือไม่เอาดี ทำนองนั้น

บทพิสูจน์เรื่องนี้อยู่ที่ตลอดระยะเวลาที่ท่านเป็นอาจารย์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำแห่งหนึ่งนั้น ท่านมีความคิดความฝันอยากจะแก้ปัญหาของประเทศไทยอย่างเต็มเปี่ยม ทันทีที่มีโอกาสหรือได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้มาช่วยว่าการ ท่านก็ตกปากรับคำทันที และที่สำคัญคือ การลงมือทำโดยไม่ต้องพูด เหมือนรัฐมนตรีบางคนที่ช่างพูดแต่ไม่ค่อยทำ

ศิลปักษรที่ตามมาเป็นเส้นสายที่พลิ้วไหวไปมาต่อจากอักษร ว แหวน นั้น บ่งบอกว่าอาจารย์เป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวคล้ายบรรดาศิลปินทั้งหลายที่รักและชอบในศิลปะ เป็นคนที่มีอารมณ์ขันอยู่ในที และมองโลกในแง่ดีอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเป็นผู้ที่ให้เกียรติคนรอบข้างอย่างทั่วถึง คือพร้อมที่จะรับฟังเสียงของคนอื่น อย่างคนที่เคารพและเข้าใจในคำว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างดี

ศิลปักษรในนามสุกล ที่มีรูปลักษณ์เริ่มจากล่าง ทะยานขึ้นไปเบื้องบน แล้วเลื่อนไหลไปอย่างเนิบนิ่มนั้น บ่งบอกว่า อาจารย์ยังมีโอกาสที่จะก้าวไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้อีกหลายอย่าง เพราะรูปทรงวงกลมรีที่ปรากฏในตอนบนของลายเซ็นนามสกุลนั้น สะท้อนว่า ความฝันของท่านที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกนั้นเป็นความฝันเป็นความคิดที่เยี่ยม และมีโอกาสที่จะเป็นจริงได้ไม่ยากนัก

กราบเรียนอาจารย์วรากรณ์ ครับ “ร้อยลี้ ย่อมต้องมีก้าวแรก” ฉันใด อนาคตทางการเมืองของท่านก็เป็นเช่นนั้นแหละครับ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ท่านดำรงอยู่นี้ ย่อมเสมอก้าวแรกบนถนนการเมืองที่เป็นจริงเป็นจังกว่าครั้งก่อนๆ ครับ

ยามนี้ ยามที่ประเทศชาติและบ้านเมือง เสมือนหนึ่งว่าจะขาดคนดีมีความสามารถเพื่อเป็นผู้นำของประเทศลงไปทุกวันนั้น เมื่อเห็นท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือคุณครูในภูมิภาคแก้ปัญหาหนี้สินที่พอกพูนอยู่แล้ว จึงเริ่มอุ่นใจและเชื่อว่า คำกล่าวว่า กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดีนั้น ไม่ใช่คำกล่าวที่เลื่อนลอยอย่างแน่นอน

Jul 16, 2007

วิพากษ์เศรษฐกิจ กับ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ


20. 12 . 2548


สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ openbooks ขอเชิญร่วมเสวนา “วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง ค้นหาตัวตนสังคมไทย” วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2548 ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 2 ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 13.30 น. ถึง 18.00 น. 14.00 – 16.00 น. ร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน ในหัวข้อ “วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง” จากนั้น 16.15 – 18.00 น. ร่วม “ค้นหาตัวตนสังคมไทย” กับ อ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานล่าสุด “ผ่านพบไม่ผูกพัน” และ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน “ภูมิปัญญามูซาชิ: วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ” ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 13.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักพิมพ์ openbooks โทร. 0-2669-5145-6


วิพากษ์เศรษฐกิจ พิศการเมือง ตอนที่ 2 : รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
Submitted on Tue, 2005-12-20 09:33

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ประชาไทเสนอตอน "พิศการเมือง" ครานี้ก็ถึงคิวของการ "วิพากษ์เศรษฐกิจ" ซึ่งหนอนหนังสือนักเศรษฐศาสตร์นามว่า รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะเป็นผู้วิพากษ์เศรษฐกิจซึ่งกำลังร้อนแรงไม่แพ้เรื่องการเมืองขาลง ด้วยว่ารัฐบาลเพิ่งประกาศเปิดทางให้นานาประเทศเข้ามา "ลงแขก" ช่วยประเทศไทยพัฒนาความจำเป็นพื้นฐานระดับ เมกะโปรเจ็กต์ อีกทั้งตัวเลขจีดีพี ที่ขึ้นลงตามวาจาสิทธิ์ของท่านผู้นำนั้นสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจของชาวบ้านตาดำๆ ได้จริงหรือไม่ เชิญหาคำตอบได้....อ้อ คนช่วยซักข้อสงสัยยังเป็น อ.ปกป้อง จันวิทย์ คนเดิม

อาจารย์วรากรณ์ครับ 1 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์การเมืองไทยคร่าวๆ เป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ห้องประชุมนี้เป็นห้องศักดิ์สิทธิ์นะครับ เป็นห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยมายาวนานมากและห่างจากห้องนี้ไปเป็นห้องที่ทำงานของท่านผู้ประศาสน์การ จึงต้องบอกก่อนว่าที่ผมจะพูดนี้ไม่ได้จะทำลายท่าน (นายกฯ) เพราะใครก็ทำลายท่านไม่ได้ ยกเว้นท่านจะทำลายตัวท่านเอง ที่พูดวันนี้ด้วยความปรารถนาดีในฐานะนักวิชาการผมคิดว่าที่อาจารย์ปกป้องถามว่า ทำไมทักษิณจึงพลิกผันไปมากมายในช่วงเวลาอันสั้น มี 2-3 ประเด็นนะครับ

ประเด็นแรกก็คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์พูดกันมายาวนานก็คือว่า "ไม่มีอะไรทำให้คนล้มเหลวได้เท่ากับความสำเร็จ" (Nothing failed like success) นี่เป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเจงกิสข่าน ริชาร์ด นิกสัน อเล็กซานเดอร์มหาราช หรือแม้แต่จอมพลสฤษดิ์ หรือจอมพลถนอมนะครับ ก็คือว่าเวลาที่คนเราประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งที่ตามมาเป็นธรรมดาก็คือความหยิ่ง มั่นใจว่าตนเองทำถูกต้องทั้งหมด

ผมคิดว่าความสำเร็จของท่านใน 2-3 ปีแรกที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นต่อจากที่ทำไว้ก่อนหน้านั้นได้ ผมเชื่ออย่างหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ถ้าก่อนหน้านั้นไม่มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแนวที่คุณธารินทร์ (นิมมานเหมินทร์) ทำอย่างเข้มข้นมากในเรื่องของการบริหารจัดการ ก็ไม่มีทางที่คุณทักษิณจะฟื้นเศรษฐกิจได้

ทีนี้ความสำเร็จของคุณทักษิณก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่น เช่น สามารถเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศไทยภายในระยะเวลา 10 ปีได้ มันไม่ใช่ธรรมดา เพราะฉะนั้นคนธรรมดาที่ประสบความสำเร็จได้ด้วย สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ด้วย และสามารถเป็นนายกฯได้ด้วย ย่อมมีความมั่นใจเกินกว่าธรรมดาแน่นอน และจุดนี้เองก็นำไปสู่สิ่งที่คนไทยรู้สึกว่าเป็นการครอบงำ ไม่ว่าในเรื่องขององค์กรต่างๆ ที่ถูกครอบงำซึ่งในสายตาคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กินแกลบนะครับ ขอใช้คำพูดของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์หน่อยคือ "มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ" นะครับ ครั้งแรกอาจจะเชื่ออย่างที่ตัวเองอยากจะเชื่อ แต่เมื่อนานๆ เข้าก็กลัว และหวาดระแวง เพราะคนรวยกับคนที่มีอำนาจมากนั้นน่าระแวง เมื่อถึงจุดนี้ก็ทำให้คนกรุงเทพฯ เริ่มระแวงและอยากรู้อยากเห็นขึ้นมา

ปรากฏการณ์คุณสนธิทำให้เกิดโมเมนตัมมากที่สุด ซึ่งผมเองก็รู้สึกอย่างงั้นๆ ในตอนแรกที่จัดที่หอประชุมเล็ก อาจารย์ปกป้องโทรศัพท์มาบอกผมว่าไม่เคยเจอคนแน่นขนาดนี้มาก่อน ผมคิดว่าที่แน่นอย่างนั้นเพราะคนส่วนใหญ่อยากรู้อยากเห็นครับ อยากรู้อะไรที่ลึกๆ มากกว่าที่เห็นด้วยสายตา เพื่อจะตอบสนอง เพื่อจะตอกย้ำความระแวงที่ตัวเองมีอยู่แล้วว่ามันจริงไหม นี่คือปัจจัยที่ทำให้คนเริ่มมองคุณทักษิณในอีกทางหนึ่ง

และประเด็นสุดท้ายอย่างที่อาจารย์เอนกพูดคือ การเมืองไม่ใช่เรื่องของจริง มันเป็นเรื่องของ Perception คือการรับรู้รับทราบ คนที่เห็นการเมืองเป็นอย่างไรนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจริงนะครับ เป็นภาพลวงตาที่เกิดขึ้นมา เช่น ประธานาธิบดีเคนเนดี ที่คนทั่วโลกชื่นชมบูชามากว่าเป็นประธานาธิบดีที่ดีนั้น จริงๆ แล้วท่านก็ไม่ได้ทำอะไรเลยนะครับ เป็นประธานาธิบดีเพียง 2 ปีเท่านั้นเอง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 1960 แล้วก็เสียชีวิตในปี 1962 แต่ว่าคนประทับใจลึกซึ้งยาวนานมากเพราะ Perception ที่ได้คือความเป็นคนหนุ่มเป็นคนที่มีความคิดความอ่านก้าวหน้ามาก มันจึงฝังลึกเข้าไปในความทรงจำ แล้วมนุษย์นั้นเชื่ออย่างที่ตัวเองอยากจะเชื่อนะครับ เพราฉะนั้นเมื่อนายกฯทักษิณสามารถทำการตลาดให้คนเชื่อว่าเป็นนายกที่เหนือกว่าที่ประเทศไทยเคยมีมา และเป็นคนฉลาด เป็นคนที่มีความสามารถ รวมทั้งสอดคล้องกับทิศทางของโลกที่มองเห็นว่านักธุรกิจเป็นคนที่ฉลาด มีความสามารถ ซึ่งเมื่อก่อนนี้นักการเมืองไทยจะระแวงเศรษฐีนะครับ ซึ่งคุณทักษิณเมื่อเข้าสู่การเมืองช่วงแรกก็ถูกระแวง แต่ยุคหลังเศรษฐกิจของโลกทำให้นักธุรกิจนั้นเป็นคนสมาร์ท ถ้าคุณรวยได้แปลว่าต้องเก่งแน่นอน ตรงนี้แหละครับที่เป็นฐานอำนาจของนายกฯ

แต่เมื่อพลิกผันความเชื่อไปก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า สิ่งทั้งหลายที่ทำไปนั้นเป็นการตลาดเกือบทั้งนั้น คนก็เริ่มคิดแล้วว่าภาพที่เราเคยเห็นเป็นภาพลวงตา จุดนี้ละครับที่ถูกตอกย้ำด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตอกย้ำด้วยปัญหาของการคอร์รัปชั่น เรื่องของ ปตท. กฟผ. หุ้นของ ปตท. จาก 30 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 270 เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ใครก็ตามที่ซื้อหุ้น ปตท. สัก 1 ล้าน มาขายหุ้นตอนนี้ก็ได้กำไรไปแล้ว 30 ล้านบาท คนก็เริ่มคิดแล้วว่า ถ้ากระจายหุ้น กฟผ. ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นกี่เท่า แล้วคนก็เริ่มพูดกันในประเด็นต่างๆ ของ กฟผ. ก็ยิ่งตอกย้ำความระแวง แล้วก็ยิ่งเห็นว่าเป็นการตลาดมากกว่าเรื่องความจริง จึงทำให้เกิดภาวะความเป็นขาลงมากยิ่งขึ้น


ผมเองพยายามสังเกตจากคนธรรมดา ที่มหาวิทยาลัยของผมก็มีการทำโพลเยอะมากทีเดียว แต่เนื่องจากว่าไม่อยากทำโพลการเมืองมาก แต่เราทำดูเอง ก็จะเห็นว่าคนทั่วไปเริ่มมีความสงสัย มีความระแวง ดูอย่างการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. สิครับ คุณปวีณานำมาตลอด ใครๆ ก็รู้ว่าคุณปวีณานำมาตลอดจนกระทั่งช่วงอาทิตย์ท้ายๆ คะแนนเริ่มตก เพราะคนเริ่มเห็นภาพแล้วว่า ไม่ใช่คนอิสระ แต่มีพรรคไทยรักไทยอยู่ข้างหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2-3 วันหลังคนเห็นเดินด้วยกันคะแนนก็ไปทันที เพราะความหวาดระแวงถูกต้องย้ำด้วยหลักฐานแล้วยิ่งทำให้คนระแวงมากยิ่งคน และเมื่อ Perception ของคนพลิกผันไปแล้ว มองเห็นขาลงก็จะเป็นขาลง ความเปราะบางของรัฐบาลทักษิณไม่ได้มาจากการเมืองข้างนอกหรือฝ่ายค้าน แต่เป็นความเปราะบางที่มาจากการเมืองภายในพรรคไทยรักไทยเอง และมาจากการกระทำของตัวนายกเอง

จอมพลถนอมนั้นมีอำนาจอยู่แป๊บเดียวเท่านั้นเองก็หมดอำนาจไป ผมรับราชการในปี 2513 ก่อนที่จะมีการปฏิวัติ ก็ไม่มีทีท่าเลยว่าจอมพลถนอมจะหลุดจากอำนาจ แต่มันเกิดจากลูกชายท่านซึ่งเป็นลุกเขยของจอมพลประภาสด้วยไปพังป้อมตำรวจ แล้วก็จับผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คน เรื่องก็เลยไปกันใหญ่จากน้ำผึ้งหยดเดียวกลายเป็นเรื่องราวต่อมาจนกระทั่งถึงกับต้องออกนอกประเทศไป ซึ่งในต้นปีนั้นไม่มีใครคิดเลยว่าจะเกิดขึ้น


อาจารย์คิดว่าความรับรู้ของคนเปลี่ยน ทิศทางการเมืองที่คนมองคุณทักษิณก็จะแย่ลงๆ แล้วมันจะยิ่งลงหนัก หรือว่าจะพลิกกลับแล้ว ถ้าจำได้ช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่คุณสนธิจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่ธรรมศาสตร์แล้วก็ย้ายไปที่สวนลุมใหม่ๆ นั้น ความขมึงเกลียวทางการเมืองจะดูรุนแรงมากนะครับ ผมว่าสถานการณ์อาจจะเริ่มคลี่คลายลงหลังวันที่ 4 ธันวาคม ผมไม่ได้ไปที่สวนลุมนะครับ แต่คาดว่าคนเริ่มเบาบางลง กระแสตอนนี้จะไปทางไหน จะหนักขึ้น แล้วถึงจุดขมึงเกลียว แล้วไปจบที่ตรงไหน

ผมไม่มองว่าเป็นความเขม็งเกลียว เพราะว่าคนที่ฟังคุณสนธิไม่ได้อยู่ที่สวนลุมนะครับ ผมคิดว่าอีกมากอีกหลายเท่าที่ฟังคุณสนธิอยู่ที่บ้าน ซึ่งผมคิดว่ามีเป็นหมื่นๆ เพราะฉะนั้นจะไปวัดที่สวนลุมอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ที่ผมว่าไม่เขม็งเกลียวก็เพราะว่าไม่มีเงื่อนไขให้ลุกฮือแบบ 14 ตุลา ที่จะขับไล่คุณทักษิณ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องของความเชื่อถือที่ลดลงในใจ จากที่คิดว่าเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้รู้ มีความสามารถเหนือคนอื่น แต่ที่สุดก็เป็นคนธรรมดาเป็นนายกธรรมดา และเรื่องความระแวงต่างๆ ก็มากขึ้น เช่นเรื่องคอร์รัปชั่น คนก็จะรับรู้มากขึ้นๆ แล้วก็ค่อยๆ เหมือนน้ำแข็งละลายมากกว่าการทุบน้ำแข็งทันที

อาจารย์มองว่าปรากฏการณ์สนธิอย่างมากก็คือการทำลายความชอบธรรมการดำรงอยู่ของคุณทักษิณ ไม่นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง

เรื่องการเมืองผมมีความรู้น้อยนะครับ แต่ผมคิดว่าคุณสนธิเป็นเหมือนกับรถยนต์ เป็นพาหนะที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เร่งเร็วขึ้น ความรู้สึกในใจคนนั้นมี แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครเอาสะพานมาทอดให้ คุณสนธินั้นเป็นเครื่องมือที่เปิดเผยสิ่งต่างๆ ตอกย้ำความสงสัยต่างๆ แต่โดยตัวคุณสนธิเองนั้น หากไม่มีอะไรใหม่ๆ มาทำให้คนตื่นเต้นอยากรู้ต่อเนื่องไปในที่สุดก็คงจบ


เวลานี้น่าเป็นห่วงหลายอย่างนะครับ เงินเฟ้อมากขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลเริ่มมีปัญหา ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และอื่นๆ เป็นสัญญาณบอกเราหรือเปล่าว่านี่เป็นปากทางของวิกฤตครั้งใหม่หรือเปล่า หรือเป็นแค่วัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นขาลงปกติธรรมดา

ผมคิดว่าประเด็นแรกที่ผมอยากพูดก็คือ ถ้าพูดอย่างเป็นธรรม วิกฤติเศรษฐกิจแบบที่ล่มสลายไปในปี 2540 นั้น โอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกในปีหน้าหรือ 2 ปีข้างหน้านั้นแทบจะไม่มี เพราะว่าสิ่งที่จะทำให้มันเกิดความผันผวนอย่างนั้นได้ก็คือค่าเงิน ซึ่งเราไม่มีปัญหาแน่นอนเพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ถึง ห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คือเก็บสะสมมาเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะเกิดสภาวะที่เงินตราต่างประเทศไม่เข้ามาก็ยังสามารถนำเงินส่วนนี้มาพยุงราคาของดอลล่าร์ไว้ได้ เพราะฉะนั้น ความปัจจุบันทันด่วนเรื่องนี้คงจะไม่มี


ประเด็นที่ 2 ที่จะไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็คือว่าเงินเฟ้อที่ราคาน้ำมันจะขึ้นไปสูงถึงขั้น บาร์เรลละ 100-200 เหรียญสหรัฐในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าก็คงไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น ความปั่นป่วนที่จะเกิดอย่างปัจจุบันทันด่วนจนกระทั่งประชาชนจะเดือดร้อนมหาศาลก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น


ประเด็นที่ 3 เรื่องการว่างงาน ถ้าคิดจะเห็นคนว่างงานเต็มไปหมด ไม่มีอะไรจะทำ ได้แต่บีบสิวแล้วก็เกาหลังนั้น ผมคิดว่าเราคงจะไม่เห็นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า การส่งออกของเราถึงแม้จะขยายตัวไม่มากแต่ก็ไปได้ในระดับหนึ่งนะครับ ภาครัฐเองก็ยังมีเงินที่จะเอามาหนุนให้ขยายตัวได้ ส่วนดอกเบี้ยที่จะพุ่งพรวดไปเกินกว่า 4-7 เปอร์เซ็นต์ ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นที่จะรุนแรงในปีหรือ 2 ปี ผมว่าคงไม่น่าจะมี แต่ถ้าจะมีก็จะมาจากไข้หวัดนกระบาดซึ่งหากกลายพันธุ์เป็นการติดต่อระหว่างคนสู่คนก็จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนไปหมด และเงินตราจากต่างประเทศที่จะเข้ามาจากการท่องเที่ยวในปี 2 ปีนี้ก็จะเริ่มเป็นปัญหา แต่มันจะไม่เกิดผลทันทีใน 2 ปีข้างหน้า แต่จะอ้อยอิ่งไปถึงปีที่ 3 ปีที่ 4


ประเด็นต่อมาคือสงคราม ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาบุกรุกอิหร่าน หรือระเบิดปรมาณูระหว่างปากีสถานกับอินเดีย เกาหลีใต้กับเกาหลีเหนืออะไรก็แล้วแต่ ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ที่จะเป็นปัจจัยปัจจุบันทันด่วน แต่ผมคิดว่าทุกคนเมื่อรู้ว่าตัวเองใช้ระเบิดปรมาณูในขณะที่อีกฝ่ายก็มีเหมือนกัน ก็จะทำให้เกิดความเกรงกลัว ดังนั้นปัจจัยนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น


ฉะนั้นวิกฤติอย่างปัจจุบันทันด่วนที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะ 2 ปีข้างหน้าผมคิดว่าปิดประตูได้


ถ้ามันจะเกิดขึ้นในกรณีที่ 2 คือวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อย่างที่อาจารย์ปกป้องพูดก็จะมาจากการที่เราส่งออกไม่ได้ อำนาจซื้อจากคู่ค้าของเราซื้อไม่ได้ คือเกิดวิกฤติในอเมริกา ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ คือเรื่องวิกฤติเกี่ยวกับบ้าน ปัญหาของโลกที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือความไม่สมดุลกันในระดับโลกที่คนเอเชียเกินดุลการค้ามาก เช่น จีน ซึ่งสะสมเงินทุนสำรองไว้เพราะว่าเกินดุลการค้า ส่งออกไปอเมริกามากกว่าที่ซื้อจากอเมริกา และเอาเงินเหล่านี้ไปซื้อหลักทรัพย์ในอเมริกา เพราะว่าเป็นการลงทุนที่เชื่อถือได้มาก เมื่อหลักทรัพย์ของอเมริกามาอยู่ในมือประเทศต่างๆ เงินก็ไหลเข้าไปสู่อเมริกาอย่างมหาศาล ก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยในอเมริกาต่ำ ทำให้เกิดคนที่จะกู้ยืมซื้อบ้าน ลงทุนซื้อบ้าน และอำนาจซื้อก็ไม่หมดไป ก็เกิดการเก็งกำไรขึ้น ราคาบ้านก็เพิ่มราคาขึ้นเป็นเท่าตัว 2 เท่าตัว หรือบางแห่งเพิ่มถึง 3 เท่าตัว ถ้าฟองสบู่นี้แตก อำนาจซื้อที่จะมีก็หายไปทันที อำนาจที่จะมาซื้อสินค้าจาประเทศไทย หรือประเทศเอเชียอื่นๆ ก็จะหายไปด้วย ก็จะส่งออกไม่ได้ และทำให้เกิดปัญหาของความผันผวนขึ้น


อีกปัจจัยหนึ่งก็คือประเทศจีนซึ่งเป็นมหายักษ์ของภูมิภาคนี้ ถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นมาในประเทศจีน (ซึ่งก็คงไม่เกิดขึ้นมาในระยะสั้น) ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทกระทั่งทำให้เกิดปัญหาในประเทศ มีการประท้วงการต่อสู้กัน เป็นหมื่นๆ ครั้งในปีที่ผ่านมาแต่ไม่เป็นข่าวมาก ถ้าหากปัญหานี้ขยายวงกว้างก็จะเป็นปัญหาการเมืองของโลก และจะกระทบต่อประเทศไทยได้ เพราะว่าจีนกับไทยนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

อาจารย์มองว่า ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมาจากปัจจัยจากต่างประเทศ

ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดอย่าง 14 ตุลา เพราะปัจจัยยังไม่ถึงระดับนั้น และคนไทยในยุค 14 หรือ 6ตุลา ก็เหลือไม่มาก คนรุ่นใหม่ก็คงไม่ยอมลำบาก เดือดร้อน ยอมตากแดดตากฝน ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่อยากจะอยู่ที่บ้าน ประท้วงทางอินเตอร์เน็ตมากกว่า ส่งแมสเสจถึงกันอย่างนั้นมากกว่า ไม่ต้องดูอะไรมากหรอกครับ ดูม็อบครูก็ได้ อยู่ได้อย่างมากแค่ 2 วันเท่านั้นเอง เพราะครูไม่ยอมตากแดดตากฝนหรอกครับ การที่จะเดินขบวนแบบต่อสู้กัน ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในระยะสั้น เว้นเสียแต่ว่าการคอร์รัปชั่นนั้นกว้างขวางหลากหลายอย่างที่อาจารย์อเนกใช้คำว่า "ย่ามใจ" มากเกินไปจนเกิดความรู้สึกในทางลบมากเหลือเกิน


อาจารย์มองโลกในแง่ดีผิดวิสัยนักเศรษฐศาสตร์นะครับ

เดี๋ยวผมจะพูดในแง่ไม่ดีในระดับบุคคล แต่ก่อนจะพูดตรงนั้น ผมขอพูดในประเด็น จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ก่อน ที่มีการถกเถียงกันมากเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจว่ามีการปั้น จีดีพี อะไรต่างๆนั้น ผมอยากเล่าให้ฟังว่า จีดีพี นั้นพยากรณ์กันอย่างไร แล้วท่านอาจจะเห็นว่ามันเลื่อนลอยมากน้อยแค่ไหน


ตัวเลข จีดีพี หรือมูลค่าการผลิตในประเทศทั้งหมดใน 1 ปี เวลาที่พยากรณ์หรือคำนวณนั้น ไม่มีใครรู้ว่าถูกหรือผิด ไม่มีใครรู้จนกว่าจะผ่านไป 3-4 ปี ถึงจะมาประเมินว่าที่เคยประเมินไว้นั้นต่ำไปหรือมากไป นี่ผมพูดแทนนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องเศร้ามากนะครับ นักเศรษฐศาสตร์ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจวันนี้เป็นอย่างไรต้องขอเวลาอีก 3 เดือนจงจะบอกได้ว่าเศรษฐกิจวันนี้เป็นอย่างไร เพราฉะนั้นคำพยากรณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ก็ดีกว่าคำพยากรณ์อากาศของเราสมัยก่อนที่ว่า ในท้องฟ้ามีเมฆ ในทะเลมีคลื่น แบบนั้นน่ะครับ นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายก็คงยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะว่ากว่าจะรู้ข้อมูลเพื่อใช้ในการพยากรณ์ก็ต้องใช้เวลา

ฉะนั้นเมื่อ จีดีพี พิสูจน์ไม่ได้ก็สามารถจะเสกให้มันเป็นอย่างไรก็ได้ คิดดูสิครับว่าท่านนายกมีวาจาศักดิ์สิทธิ์มาก ท่านบอกว่าเศรษฐกิจต้องขยายตัวเท่านั้น มันก็จะเป็นจริงอย่างที่ท่านบอก

ทำไม จีดีพี จึงเลื่อนลอย จีดีพี นั้นประกอบด้วย 3ส่วนนะครับ คือรายได้ ค่าเสื่อมราคา และภาษีทางอ้อม

รายได้ก็แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ รายได้ภาคเกษตร รายได้ภาคอุตสาหกรรมและบริการ และรายได้ภาครัฐบาล


ถามว่ารายได้จากภาคเกษตรจะรู้ได้อย่างไรครับ ต้องทำบัญชีหรือครับ ไม่ใช่นะครับ มันมาจากการพยากรณ์ทั้งนั้นแหละครับ ที่เรียกว่า guestimate คือ guest บวกกับ estimate น่ะครับ มันเป็นประมาณการจะบวกมากบวกน้อยผมก็บวกได้ทั้งนั้นแหละ


รายได้จากอุตสาหกรรม กว่าจะรู้ตัวเลขจริงก็ไปปีหน้านะครับ อีก 6-7 เดือน แต่เมื่อผมต้องคำนวณ จีดีพี ของปีนี้ ก็อย่างว่าละครับ guestimate อีกเหมือนกัน อาจจะมีการโทรศัพท์ไปถามอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ซึ่งรวมๆ แล้วคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ แต่อีก 40 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องประมาณการเอานะครับ

รายได้ภาคบริการยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะรวมเอารายได้ของคนเล็กคนน้อยไว้หมด คนขายไข่ปิ้ง คนขายส้มตำ ผมจะไปถามได้ยังไงว่าวันนี้ขายไข่ปิ้งไปกี่ฟองขายส้มตำไปกี่ครก ก็ต้องประมาณการอีกเช่นเดียวกัน

รายได้ภาครัฐบาล วิธีคำนวณก็คือเอาเงินเดือนมารวมกัน ถือว่าเป็นผลผลิตของภาคราชการ เพราะฉะนั้นถ้าผมเพิ่มเงินเดือนข้าราชการมากๆ ก็ถือว่ารายได้ของภาครับเพิ่มขึ้น


ส่วนค่าเสื่อมราคาก็เป็นตัวสำคัญว่าท่านคิดอย่างไรก็ได้ ภาษีทางอ้อมถ้าระยะเวลา 1 ปี ก็พูดลำบากแต่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น 3 เดือน ก็สามารถแต่งตัวเลขได้ คือจะคำนวณจากตัวเลขที่เก็บได้หรือจะคำนวณตัวเลขที่จะเก็บเข้ามาด้วยก็ได้ ฉะนั้นตัวเลขของไตรมาสต่างๆ ก็คลาดเคลื่อน

เพราะฉะนั้นตัวเลข จีดีพี ไม่มีความสามารถในการวัดได้ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นผมจะบอกว่า จีดีพี 3 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4 เปอร์เซ็นต์ ป่วยการเถียงครับ เพราะไม่มีใครรู้ และก็สามารถจะทำให้เป็น 5 เปอร์เซ็นต์ก็ได้


อาจารย์พูดถึงความสามารถในการเล่นแร่แปรธาตุตัวเลข แล้วอย่างนี้ชาวบ้านจะรู้ตัวเองได้ไหมว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจเริ่มแย่ เมื่อไหร่เศรษฐกิจเริ่มดี

มันก็ไม่ถึงกับแล่นแร่แปรธาตุหรอกครับ แต่ก็เป็นการตั้งสมมติฐานคือมันสามารถทำให้ จีดีพี สูงหรือต่ำได้ตามสมมติฐานน่ะครับ เช่น สมมติมูลค่าของวัว ผมก็ทำให้คนไทยบริโภคมากขึ้นหรือน้อยลงเพื่อทำให้มูลค่าของวัวเพิ่มขึ้น นี่เป็นตัวเลขที่เป็นสีเทา


ฉะนั้นตัวเลขก็ไม่ได้สะท้อนความจริงของระบบเศรษฐกิจ แล้วมีตัวอะไรที่จะบอกชาวบ้านได้ไหม

ในระดับมหภาคเราพอจะวางใจได้ว่ามันไม่ผันผวน แต่คำถามก็คือว่าในระดับของประชาชนคนเดินดินมันเป็นไปตามตัวเลขไหม ผมคิดว่าเป็นไปในทางตรงกันข้าม


ตัวบ่งชี้สภาพเศรษฐกิจของชาวบ้านก็คือการพิจารณาว่า เราใช้เงินไปเท่าไหร่ แล้วเดือนต่อมาเราใช้เงินเพิ่มขึ้นกว่าเก่าเท่าไหร่ มันก็กลายเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าตัวเลข 6.9 หรือ 5.9 ก็เช่นเดียวกัน ต้องพิจารณาว่าผมเอาอะไรไปใส่ให้มันบ้าง ถ้าค่าเช่าบ้านไม่เพิ่มขึ้นผมไม่ใส่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าค่าเช่าบ้านเพิ่มขึ้นมาก มันก็ดูเหมือนค่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นตัวเลขเงินเฟ้อมันก็วัดไม่ได้จนกว่าจะดูด้วยตัวเอง ว่าตัวเองลำบากมากกว่าเก่าหรือเปล่า

ถ้าดูในระดับบุคคล ปัจจัยแรกที่เราบอกได้ทันทีและแน่ชัดเลยก็คือ หนี้เพิ่มขึ้น ในระดับคนธรรมดาที่ทำงานโรงงานหรือระดับชาวบ้าน ไม่ต้องสงสัยแม้แต่น้อยเลย ถ้าใครเข้าไปในชนบทหรือไปคุยกับคนที่อยู่แถวปทุมธานีจะบอกได้ทันทีว่ามีปัญหาในเรื่องของค่าครองชีพ


ปัจจัยต่อมาไปถามคนธรรมดาตามร้านค้า ผมไปถามคนธรรมดาที่ขายของในตลาดต้นพยอม หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มา ทุกคนบ่นเหมือนกันหมดเลย เพราะตอนที่ผมไปนั้นตลาดเงียบมากเลย ผมก็ถามว่ามันเงียบอย่างนี้เหรอ เมื่อก่อนมันไม่เงียบอย่างนี้นี่ แม่ค้าก็บอกว่าเงียบอย่างนี้มา 2 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าดูเศรษฐกิจในระดับบุคคลก็ต้องไปดูว่าการค้าขายคึกคักแค่ไหน


ปัจจัยที่ 3 โรงรับจำนำ โรงรับจำนำเป็นตัวสะท้อนที่ดีมากเลย อย่านับเมษายนกับพฤษภาคมนะครับเพราะ 2 เดือนนั้นเป็นเดือนที่คึกคักที่สุด เนื่องจากโรงเรียนเปิด พ่อแม่จำนวนไม่น้อยจะต้องเข้าโรงรับจำนำ


ปัจจัยที่ 4 ที่ผมสังเกตเห็นก็คือว่า คน กินมาม่ามากขึ้นกว่าปกติ ถือเป็นตัวชี้ที่ดี คือถ้ากินมาม่ามากขึ้นกว่าปกติแล้ว เป็นอันชัดเจนว่าคงไม่ได้กินของอย่างอื่นมากขึ้น เพราะมาม่าราคาถูก กินง่าย


หากวิเคราะห์จากสิ่งที่ผมสังเกตเอาเองจากปัจจัยที่พูดมา ผนวกกับตัวเลขหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเฉลี่ยจากประมาณ 40,000-50,000 เมื่อ 4-5 ปีก่อนมี เพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในระดับบุคคล และการทำมาหากินของคนทั่วไปเริ่มลำบากมากขึ้น


ในความเห็นผมสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจระดับมหภาคอยู่ได้และคนข้างล่างบางกลุ่มอยู่ได้ ก็คือ 1.เงินที่รัฐอัดเข้าไป 2.การบริโภค 3.การลงทุนภาคเอกชน และ 4.ภาคต่างประเทศ (ส่งออกและนำเข้า) และ เครื่องยนต์ตัวแรก (เงินจากภาครัฐที่อัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ) ทำงานมาหนักมากเลยใน 4 ปีที่ผ่านมา โดยการยุให้คนมีหนี้มากขึ้น มีการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนของภาคเอกชนมันไม่ได้ขยายตัวมากมายเหมือนที่คาดหวังไว้ เพราะฉะนั้นก็เป็น 4 เครื่องยนต์แต่ทำงานเพียง 2 เครื่องยนต์เท่านั้นเอง


สำหรับภาคต่างประเทศนำเข้ากับส่งออกนั้น เมื่อก่อนทำงานดีมากโดยเฉพาะ 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมามันขยายตัวถึง 24-25 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาไตรมาสหลังมีอาการส่งออกมีปัญหา แต่ภาครัฐพยากรณ์ว่าปีหน้าจะขยายตัวถึงร้อยละ 20 แต่ของธนาคารโลกดูว่าจะขยายตัวอย่างดีก็ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นในภาคของการขับเคลื่อนของต่างประเทศจะมีปัญหา สุดท้ายที่รัฐบาลแน่ใจและคุมได้คือการขับเคลื่อนโดยรายจ่ายของภาครัฐ

ประเด็นที่รายจ่ายภาครัฐที่รัฐบาลจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลาย ผมได้อ่านบทความของอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ซึ่งถูกใจผมมากเลย ท่านบอกว่าถ้ารัฐบาล เอาโครงการทั้งหลายมาวางแล้วให้คนต่างชาติมาช่วยลงทุน ก็คงเป็นรัฐบาลที่เขลามากเลย

ท่านลองจินตนาการดูว่าสมมติท่านเพิ่งปลูกบ้านเสร็จ ท่านอยากจะเทซีเมนต์รอบบ้าน ทำสนามหญ้า ต่อเติมบ้านเล็กน้อย ทำไฟฟ้า ทำประปา อะไรต่างๆ แล้วท่านเปิดกว้างบอกใครก็ตามที่อยากเป็นช่างเชิญมาประมูลในบ้านผมเลย ท่านลองหลับตาวาดภาพดูสิครับ ท่านจะได้คำตอบที่นักเศรษฐศาสตร์หรือที่นักคณิตศาสตร์เรียก Optimum ไหมครับ มันจะเป็นไปไม่ได้เลยเพราะคนที่วางท่อประปาก็จะวางท่อประปาให้มันแพงสุดเท่าที่จะแพงได้ เพราะว่าผลประโยชน์มันกำไรของเขาไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนที่อยู่ที่บ้าน มันเป็นหน้าที่ของคนที่อยู่ที่บ้านที่จะต้องบอกว่าต้องการท่อประปาใหญ่เล็กแค่ไหน จะต้องเป็นเอสลอนหรือท่อประปาเหล็กหรือท่อประปาสแตนเลส เพื่อที่จะได้อยู่ในงบประมาณของตัวเองแล้วทำให้เกิดประโยชน์ที่สุด แล้วเชื่อมต่อกับระบบน้ำทิ้งอย่างไร


และผู้รับเหมาก็ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผลประโยชน์ของผู้รับเหมาไม่จำเป็นต้องเป็นผลประโยชน์ของเจ้าของบ้าน ฉะนั้น บ้านของผมก็จะเป็นบ้านที่วุ่นวายเลอะเทอะที่สุดเพราะมันมีหลายโครงการมาก ดังนั้นเมกะโปรเจ็กต์เป็นเรื่องน่าห่วงมากเพราะว่าเพียงสนามบินสุวรรณภูมิแห่งเดียวที่ใช้เงินต่ำกว่าที่ผ่านมาเกือบ 10 เท่า หรือบ่อบำบัดน้ำเพียงไม่กี่หมื่นล้านบาท เราก็เห็นชัดว่าสนามบินสุวรรณภูมินั้นแร้งลงมาแล้วไม่รู้กี่ฝูง แล้วเมกะโปรเจ็กต์ซึ่งใหญ่กว่านั้นเกือบ 10 เท่า ผมไม่รู้ท่านจะเห็นมหาฝูงแร้งอีกกี่ฝูงที่มาลง


ปัญหาเรื่องการจัดการของสังคมเราเป็นปัญหาอย่างยิ่ง สนามบินสุวรรณภูมิผมเล่าได้เลย ผมมาทำงานที่ธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2513 รัฐบาลจะสร้างสนามบินหนองงูเห่า พวกผมประท้วงกันเพราะเห็นว่ายังไม่สมควรในตอนนั้น เนื่องจากสนามบินอื่นก็มี สนามบินหนองงูเห่าไม่รู้งูลอกคราบไปไม่รู้กี่รอบจนกระทั่งกลายเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ จาก 2513 เป็น 2548 จะเปิด 2549 ใช้เวลาทั้งหมด 36 ปีสำหรับสนามบินเดียวมูลค่าประมาณแสนกว่าล้าน แล้วท่านคิดดูครับรถไฟฟ้าเท่าไหร่ 4-5 แสนล้านบาท แล้วยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้เลย แล้วมาเปิดให้คนมาประมูลเองดูซิว่าตรงไหนชอบไม่ชอบ ผมก็ดูแล้วมันก็ดูเก๋มากเลย แต่ลึกลงไปแล้วมันไม่ได้ให้คำตอบซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่เป็นเจ้าของบ้าน แล้วยังจะกลายเป็นความวุ่นวายเรื่องการจัดการที่มากที่สุด

เพียงโปรเจ็กต์เดียวของสุวรรณภูมิซึ่งเงินน้อยกว่านี้ 10 เท่าก็เห็นแล้วว่าคอร์รัปชั่นมันเกิดขึ้น ตั้งแต่เรื่องถมที่จำได้ไหมครับ พรรคอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกันถมที่เลยแล้วก็ไล่มา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ รถไฟฟ้าใต้ดินเราไม่ได้ยินเรื่องราวของความรั่วไหลมาก ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า


เรื่องการทำรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ ถ้าใครเชื่อว่าทำได้ผมคิดว่าคงจะเป็นคนที่ไร้เดียงสามากเลย เพราะสร้างรถไฟฟ้าแค่สายเดียวก็รถติดกันวินาศสันตะโรแล้ว ถ้าสร้าง 10 สายแล้วมีเงินพร้อมๆ กัน สุดท้ายจะออกมาเป็นแบบสายโฮปเวลล์นะครับ เพราะว่าการที่สร้างรถไฟสายหนึ่งมันจะต้องดูความเป็นไปได้ว่ามีคนขึ้นตลอดวันไหม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมก็จริงแต่มันอยู่ได้ในเชิงการเงินไหม คนไม่ได้ขึ้นรถไฟทั้งวันนะครับในบางจุด ขึ้นแต่เช้ากับเย็นแล้วตอนกลางวันทำยังไง เสาร์อาทิตย์ทำยังไง จุดนี้ผมกังวลมากเลย แล้วเรื่องของเมกกะโปรเจ็กต์ จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน


อาจารย์บอกว่าในระดับมหภาคยังไม่น่ามีปัญหา แต่ระดับบุคคลอาจจะมีปัญหา แล้วการประกาศโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐนี่เป็นบริบทใหม่ ทีนี้อาจารย์บอกว่าวิกฤตเศรษฐกิจแบบเดิม เช่น ค่าเงินลดอย่างฉับพลัน นำมาซึ่งปัญหาหนี้ต่างประเทศเพิ่มจำนวนขึ้นมากแบบวิกฤตการณ์แบบ 2540 ไม่น่าเกิดขึ้น แต่มีโอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบใหม่ไหมที่มีเนื้อหาใหม่ๆ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นแบบเกาหลีใต้ ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตการณ์เงิน 2540 วิฤตเศรษฐกิจก็เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างมาตลอดเวลาในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก มีโอกาสไหมที่ทักษิโณมิกส์นำเราไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เราไม่เคยเจอ นักเศรษฐศาสตร์ยังไม่ได้ผลิตองค์ความรู้มารองรับมัน

คือผมมองอะไรไม่เกิน 2 ปี แม้แต่ปีเดียวก็ผิดแล้ว 6 เดือนก็ผิดแล้วว่ากันตรงๆ เพราะว่าปัจจัยภายนอกมันเปลี่ยนตลอดเวลา ถ้าผมดูในระยะเวลาปีเดียวผมคิดว่าหนี้ส่วนบุคคลจะเป็นปัญหาต่อไป เรื่องของหนี้สาธารณะที่ได้ทำไว้มากๆ ใช้จ่ายมากๆ จะเป็นปัญหาต่อไปกับประเทศไทย การใช้จ่ายหลายโครงการที่มากมายจะเป็นผลต่อประเทศไทยแต่เกินกว่า 2 ปีข้างหน้า ในปี 2 ปีข้างหน้ายังไม่เห็นผล

รูปแบบของวิกฤตที่เกิดขึ้นใหม่ผมเชื่อว่ามาจากระดับคนธรรมดามากกว่าที่ระดับมหภาค อาจจะเป็นเรื่องของปัญหาการทำมาหากินและความร่ำรวยมันย้ายไปอยู่ในกลุ่มคนชั้นกลางคนชั้นสูงที่มีรายได้มากๆ แต่ว่าคนข้างล่างโดยอย่างยิ่งในบางท้องถิ่นจะมีความคับแค้นมากขึ้น แล้วถ้าการส่งออกของเราไม่เป็นไปตามเป้าอย่างที่เคยเป็น สะดุดสักปีนึงเหมือนรัฐบาลยุคบรรหาร ผมคิดว่าปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ อาจารย์อเนกพูดว่าใครก็เป็นนายกฯ ได้ผมก็ไม่ได้ดูถูกคุณบรรหาร แต่ถ้าพูดถึงความสามารถในเชิงวิชาการคุณบรรหารก็มีความจำกัดมาก แต่คุณบรรหารก็สามารถเป็นนายกฯ ได้เช่นเดียวกัน แต่บังเอิญท่านมาเลือกปีที่ส่งออกไม่ได้เลย การขยายตัวเป็นศูนย์


ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ อาจารย์เห็นว่ามีนโยบายเศรษฐกิจอะไรหรือไม่ที่ทักษิโณมิกส์ละเลย และควรจะทำใน 3-4 ปีข้างหน้า

ที่ผมเห็นก็ไม่มีอะไรทักษิโณมิกส์ มันก็แค่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักธรรมดาๆ ที่นักศึกษาทั้งหลายเรียนกัน แต่ว่ามาทำรูปแบบให้เหมือนกับว่าเป็นเรื่องใหม่ โอ้โห ตื่นเต้น คนไม่รู้จักมาก่อน อย่างเช่น คำว่า Dual track คำนี้มีตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 แล้วละครับ ก็คือ ทดแทนการนำเข้าแล้วก็ส่งออก มันก็มีแค่นั้น ไม่มีอะไรตื่นเต้น แต่ว่ามันกลายเป็น term ที่ทำให้คนดูใหม่ เพราะว่ามันเป็นเศรษฐศาสตร์การตลาด เป็นสาขาใหม่เช่นเดียวกับที่อาจารย์วุฒิพงษ์ (เพรียบจริยวัฒน์) บอกคือ สาขาศิลปะใหม่ที่เกิดขึ้น คือ วิจิตรโจรกรรม จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรใหม่ เป็นของเก่าเพียงแต่ว่าเอามาพูดใหม่เท่านั้นเอง

อาจารย์ปกป้องถามว่ามีอะไรนโยบายอะไรที่ควรทำ ถ้าไม่ทำจะเป็นปัญหาของประเทศ ผมคิดว่าเรื่องควบคุมการใช้จ่าย ขณะนี้เข้าใจว่ารัฐบาลเริ่มตระหนักแล้วว่าปัญหาเรื่องการการใช้จ่ายเงินที่เคยใช้อย่างมากในอดีต ขณะนี้เริ่มจะเป็นปัญหาแล้ว ใน 4-5 ปีมานี้ภาษีอากรก็เก็บได้มาก แล้วการใช้จ่ายก็สามารถทำได้ แล้วหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นท่านอยากให้อยู่ที่ร้อยละ 50 ของจีดีพี จริงๆ แล้วนักวิชาการก็รู้ว่าคำจำกัดความมันเปลี่ยนไป คำว่าหนี้สาธารณะมันเปลี่ยนไป หนี้ของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นหนี้สาธารณะหรือเปล่า ถ้าเอาหนี้ของรัฐวิสาหกิจไปใส่ด้วยว่าเป็นหนี้สาธารณะมันก็เกินร้อยละ 50 ไปแล้ว ปัญหาที่ควรจะทำในความเห็นผมเรื่องการจ่ายของภาครัฐ จำเป็นต้องทำเพราะถ้าไม่ทำการจ้างงานจะเป็นปัญหาขึ้นทันที TDRI เคยศึกษาว่าถ้าปีใดการเจริญเติบโตเศรษฐกิจต่ำกว่าร้อยละ 4.5 แล้ว บัณฑิตทั้งหลายที่จบออกไปจะไม่มีงานทำทุกคน แรงงานที่เข้าสู่ตลาด แรงงานที่ไม่ดี แรงงานไม่มีฝีมือก็จะไม่มีงานทำเช่นกัน แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัว 4.5 ขึ้นไปทุกคนจะมีงานทำ อันนี้เป็นการวิจัยของ TDRI เมื่อหลายปีก่อน


ทีนี้ถ้าหากต่ำกว่า 4 ปัญหาจะเกิดขึ้น ทำอย่างไรจึงจะได้ตัวเลข จีดีพีถึงจะ 4 ก็ต้องขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งก็คือ เมกะโปรเจ็กต์ นี่ละครับคือตัวที่ต้องการขับเคลื่อน แต่ผมตั้งคำถามหลายครั้งและเขียนด้วยความสงสัยว่าทำไมต้องคิดถึงแต่คนกรุงเทพฯ ทำไมถึงต้องเอา 5 แสนล้านบาทมาสร้างรถไฟ 10 สาย ทำไมไม่สร้างรถไฟรางคู่ ถ้าสร้างรถไฟรางคู่คนทั้งประเทศจะได้ ขอซัก 2 สายจาก 10 สายมาทำรถไฟรางคู่ เพราะปัจจุบันรถไฟในประเทศไทย 90 เปอร์เซ็นต์เป็นรางเดี่ยวนะครับ เวลาสวนทางทางกันต้องรอตามสถานีต่างๆ รถก็ช้า ค่าขนส่งแพงด้วย แต่ถ้าทำให้เป็นรางคู่เหมือนถนน 4 เลนวิ่งสวนทางกันได้ตลอดเวลา การเดินทางด้วยรถไฟเป็นการเดินทางที่ประหยัดและรวดเร็วด้วย และเป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ เป็นการเอาเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศแทนที่กระจุกอยู่เฉพาะคนกรุงเทพฯ ซึ่งผมคิดว่าในแง่ของความเป็นธรรมมันไม่เกิดขึ้น และในแง่ของประสิทธิภาพก็ไม่เกิดขึ้นด้วย

ประวัติ อาจารย์  ปกป้อง จันวิทย์