Custom Search

Jul 27, 2007

Heart Attack

รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อเกิด Heart Attack จะช่วยตัวเองอย่างไรก่อนถึงแพทย์
ผมได้รับอีเมลลูกโซ่ที่ส่งมาจาก คุณมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นเพื่อนผม โดย คุณมนูญ ศรีโสภณ เป็นผู้เผยแพร่คนแรก ผมเห็นว่ามีประโยชน์อย่างมากเพราะอาจเกี่ยวกับความเป็นความตายของตนเองและของคนที่เรารัก จึงได้เขียนเพิ่มเติมบางส่วนและขอนำมาเผยแพร่ต่อครับ

ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง เอาแค่เบาะๆ 3 อย่าง
(ก) ถ้าเราเอาเส้นเลือดสารพัดประเภทในร่างกายของเรามาต่อกัน มันจะพันรอบโลกได้ถึงสองครั้ง (พันรอบโลกหนึ่งครั้งคือความยาวประมาณ 40,000 กิโลเมตร)
(ข) เลือดของเราทั้งหมดในร่างกายในแต่ละวันจะต้องเดินทางผ่านสารพัดเส้นเลือดในร่างกายจากหัวใจซีกหนึ่งไปอีกซีกหนึ่ง เป็นระยะทางถึง 270,370 กิโลเมตร
(ค) ในหนึ่งปีเลือดจำนวนประมาณ 3.1 ล้านลิตร จะถูกปั๊มผ่านหัวใจของเราด้วยการเต้นประมาณ 100,800 ครั้งต่อวัน และ 36.8 ล้านครั้งต่อปี

หัวใจต้องทำงานหนักเช่นนี้ก็ยังไม่กระไร แต่ถ้าหากมีก้อนเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ เหตุการณ์ไม่คาดฝันซึ่งอาจเกิดได้กับทุกคนก็คือหัวใจซึ่งเป็นกล้ามเนื้อ เต้นระส่ำไม่เป็นจังหวะหรือหยุดทำงานเพราะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงดังที่เรียกว่า heart attack
การแพทย์ได้คิดค้นวิธีฉุกเฉินช่วยคนเกิด heart attack ก่อนที่จะถึงมือแพทย์ดังที่เรียกว่า CPR (cardiopulmonary resuscitation) ดังภาพที่เราเห็นผู้ป่วยนอนหงาย มีคนช่วยเอามือดันต้นคอจากด้านล่างให้จมูกเชิดขึ้น เอามือบีบจมูกและใช้ปากประกบปล่อยลมหายใจเข้าไป (ในลมหายใจออกมีออกซิเจนอยู่ร้อยละ 6) ในร่างที่หัวใจอาจหยุดเต้นแล้วแต่สมองยังไม่ตาย ซึ่งหากสมองขาดออกซิเจนเกินกว่า 4-5 นาทีก็จะเกิดสภาวะที่สมองถูกทำลายและกลับมาสภาพเดิมไม่ได้
CPR นั้นกระทำโดยคนอื่นเพื่อช่วยเหลือคนเกิด heart attack คำถามก็คือ ถ้าตัวเราเองเกิด heart attack ขึ้น จะช่วยตัวเองอย่างไร?
สมมุติว่าท่านเกิดรู้สึกปวดแน่นและเจ็บกลางอกอย่างมากขึ้นมาทันที และค่อยๆ ลามไปถึงบ่า ไหล่ และกราม หัวใจก็เต้นไม่เป็นจังหวะ ซึ่งเป็นอาการของ heart attack คำแนะนำใหม่ของแพทย์ก็คือ ให้กระทำสิ่งต่อไปนี้เพื่อประทังไปก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์
(ก) อย่าตกใจจนเกินเหตุ จงตั้งสติให้ดี
(ข) สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ หนึ่งครั้ง
(ค) ไอออกมาอย่างหนักๆ เร็วๆ หลายๆ ครั้งอย่างต่อเนื่องกัน
(ง) กลับมาทำข้อ (ข) และ (ค) ซ้ำอีก โดยกระทำทุกๆ 2 วินาที
(จ) ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าถึงมือแพทย์
ลมหายใจลึกๆ จะช่วยทำให้มีออกซิเจนและช่วยให้เลือดไหวเวียน ส่วนการไอแบบดุเดือดจะกระเทือนไปถึงทรวงอกและอาจมีผลช่วยกระตุ้นให้หัวใจทำงานอย่างเป็นจังหวะอีกครั้ง
คำแนะนำใหม่นี้มาจากบทความซึ่งตีพิมพ์ในวารสารหมายเลข 240 ของ Journal of General Hospital Rochester
ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์กรุณาเผยแพร่ต่อไปด้วยครับ เพราะหากช่วยชีวิตได้แม้หนึ่งชีวิตก็น่าภูมิใจแล้ว และเป็นกุศลอย่างแท้จริง