Custom Search

Jul 22, 2007

ผู้รอบรู้ใจคน

ผู้จัดการรายสัปดาห์
29 กันยายน 2548 18:06 น.

๐ จะดีแค่ไหนถ้างานของเราคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้กลับสู่โลกของความเป็นจริง และทำให้คนได้เข้าใจกัน ?
๐ เมื่อแท้จริงชีวิตของคนหนึ่งคน ไม่ได้มีค่าแค่ตัวเขาเอง แต่ยังมีความหมายต่อคนอื่นด้วย
๐ “จิตแพทย์” ผู้ไขความลับที่ซ่อนลึกอยู่ในจิตใจคน
“ศ.ดร.นายแพทย์วิทยา นาควัชระ”
จิตแพทย์ชื่อดังสะท้อนวิถีทางบนอาชีพนี้
แม้ว่า โดยทั่วไปการหารายได้เลี้ยงตัวและความรวยจะเป็นเป้า
หมายของการทำงานหรือการเลือกอาชีพเป็นอันดับแรก
แต่สำหรับหลายๆคนเลือกอาชีพด้วยความต้องการช่วยเหลือคนอื่นหรือสังคมอีกด้วย
ซึ่งแน่นอนว่า “แพทย์” เป็นอาชีพที่มีโอกาสทำได้มาก
แต่ “จิตแพทย์” จะมีความแตกต่าง และน่าสนใจอย่างไร?
“Smart Job” ได้พูดคุยเกี่ยวกับอาชีพจิตแพทย์ในหลายแง่มุมกับ
“ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วิทยา นาควัชระ”
จิตแพทย์มือ
อาชีพระดับแนวหน้าของเมืองไทย
เริ่มด้วยคุณสมบัติของคนที่คิดจะเป็นจิตแพทย์
คุณหมอบอกว่า ข้อสำคัญต้องมีความสนใจ
ในด้านจิตใจของมนุษย์ อยากวิเคราะห์ได้
อยากเข้าไปช่วยเหลือ และต้องใจกว้าง
เพราะสิ่งแรกที่มนุษย์ทั่วไปรู้สึกคับข้อง
ก็คือการไม่ชอบที่ใครคิดไม่เหมือนเรา
ขณะที่อาชีพนี้จะต้องเจอกับมนุษย์หลากหลาย
ที่คิดไม่เหมือนเรา
นอกจากนั้น ยังต้องประกอบไปด้วย
การหมั่นหาความรู้ใส่ตัวมากๆ
รู้จักผสมผสานระหว่างการใช้เหตุผลและอารมณ์
มีบุคลิกน่าเชื่อถือ รักษาความลับ
ย่อความเป็น จับประเด็นเป็น
รวมทั้งมีทักษะในการถ่ายทอดและ
สอนให้คนเห็นประโยชน์และเอาไปใช้
จึงจะมีโอกาสบรรลุผลสำเร็จ
แต่ปัจจุบันความสนใจที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ก็ยังคงน้อยอยู่
คิดว่าเพราะเป็นงานหนึ่งของหมอที่ได้เงินน้อยมาก
เมื่อเทียบกับหมออื่นๆ
และเมื่อเทียบกับผู้บริหารระดับสูงอีกทั้ง
ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก
ยิ่งกว่านั้นอุปสรรคใหญ่มาจากอคติ
ของคนที่มาหาและของคนทั่วไปมีมาก
การทำหน้าที่ของจิตแพทย์จึงเหมือน
กับการปิดทองหลังพระ
เพราะแม้ว่าจะมีคนดังมาหาก็บอกออกไปไม่ได้
เพราะเขาไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่ารู้จัก
แต่ก็มีลูกค้ามากขึ้นที่ใจกว้าง
บางครั้งก็บอกและแนะนำเพื่อน
แต่ถ้าเป็นหมออื่นๆ เช่น ผ่าตัดโรคหัวใจ
เป็นข่าวซุบซิบ ประชาสัมพันธ์ทางอ้อมได้มากกว่า
ประเทศที่พัฒนามากก็ยังมีอคติแบบนี้
แต่น้อยกว่าประเทศที่พัฒนาน้อย
อย่างที่นิวยอร์คมีคนกล้าบอกว่า
ฉันมีจิตแพทย์ประจำตัว
แต่สำหรับเมืองเล็กๆยังมีอคติได้ง่ายกว่าแพทย์สาขาอื่น
เพราะปกติคนกลัวการถูกวิเคราะห์
และการมองจากสังคมว่าเพี้ยน
อย่างไรก็ตาม
การสร้างความสำเร็จสำหรับคนที่ชอบ
และรักจะเป็นจิตแพทย์
สามารถประยุกต์โดยผสมผสานความเป็นตัวตน
ความใจกว้าง การหาความรู้ใส่ตัว
แล้วกระจายแนวความคิด และความรู้ออกไปสู่สังคม
อย่างเช่น การจัดทัวร์ท่องเที่ยวแบบสุขภาพจิตดี
มีบรรยายสั้นๆ บรรยากาศสบายๆ
หรือการออกกำลังกายนำแอโรบิค
หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสม
สนุกสนานมาใช้
แต่อย่าหวังว่าจะรวย เพราะมีโอกาสผิดหวัง
แต่ถ้าคิดว่าจะได้ทำงานที่พอใจ
รู้สึกมีความสุข และสนุกกับงาน
ก็จะได้อย่างนั้น
เพราะงานนี้เป็นการเปิดโลกอีกใบหนึ่ง
ที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ล้วนๆ (Pure Science)
ซึ่งเป็นพื้นฐานที่หมอทุกคนต้องเรียนอยู่แล้ว
เพื่อให้อยู่ในกรอบของความเป็นจริง
ยังปนกับความเป็นศิลปิน
มีการสร้างสรรค์ด้วย
ส่วนคนที่จะเป็นจิตแพทย์ไม่ได้
ก็คือ คนใจอ่อน
เมื่อฟังแล้วเอาความทุกข์ของคนไข้
มาเป็นความทุกข์ของตัวเอง
หรือดึงเอาตัวเองไปผูกพันมากๆ
หรือถ้าเมื่อคนที่มาหาแล้วชื่นชมหมอมาก
แล้วหมอเกิดความสนใจ
เอาใจช่วยมากเกินไป
ตรงนี้เป็นอันตรายที่สำคัญมาก
เพราะอาจจะทำให้แนะนำผิดได้
จากอคติที่เกิด อย่างเช่น
เพื่อนหรือคนที่เรารักมาเล่าเรื่อง
อาจจะเกินจริงไปตามอารมณ์ความรู้สึกแต่ละช่วง
อาจจะหวานจ๋อยในตอนชอบ
แต่ตอนเกลียดจินตนาการในแง่ลบ
เพราะฉะนั้น หมอต้องไม่จิตอ่อน โอนเอนง่าย
๐ ปฏิบัติการคลายทุกข์

หมอวิทยาบอกว่า การช่วยเหลือ “ผู้ทุกข์ทางจิต”
มีหลายวิธี สำหรับจิตแพทย์ (psychiatrist)
เป็นแพทย์แขนงหนึ่ง
ซึ่งต่างกับนักจิตวิทยา (psychologist)
ตรงที่สามารถให้ยาได้ด้วย อย่างเช่น
ยาลดความเศร้า ลดความกังวล
ลดความเป็นโรคจิต
เพราะคิดไม่ดีจึงเกิดสารเคมีไม่ดีหลั่งในสมอง
ส่วนการทำจิตบำบัด โดยการพูดคุย
ซักประวัติ เพื่อให้รู้กลไกลและ
ปัญหาเบื้องลึกในระดับจิตใต้สำนึก
แล้วเอามาทำเป็นวงจรชีวิต
ซึ่งเทคนิคของแพทย์แต่ละคนต่างกันได้
แล้วจึงใช้พฤติกรรมบำบัด ให้รู้ว่า
ชีวิตของเขามีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง
ให้ปรับเปลี่ยนแนว
ความคิดนิดนึงเพราะเปลี่ยนมากไม่ได้
ซึ่งจะทำให้เขายอมรับตัวเองได้มากขึ้น
และจะดำเนินชีวิตได้เหมาะสมขึ้น
อย่างเช่น ถ้าพ่อแม่ลูกมาหา
ต้องใช้ครอบครัวบำบัด
ช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างครอบครัว
เพราะแต่ละคนมีความต้องการ
ความเข้าใจ และปัญญา ไม่เท่ากัน
ไม่เหมือนกันต้องทำให้เกิด
ความเอื้ออาทรที่จะรักกันต่อไป...
ส่วนใหญ่บำบัดเพื่อให้เกิดความคิดที่ดี
ที่เหมาะสม เพื่อให้สารความสุขหลั่ง
ไม่ทุกข์ ไม่ต้องใช้ยา เช่น
ถามผู้ทุกข์ว่าจะไปเที่ยวกันไม๊ ?
เขาตอบว่าไม่ไปเพราะเพลีย
แต่พอบอกว่าผู้หญิงที่เขาชอบอยู่จะไปด้วย
ความเพลียหายไปได้ เพราะสารความสุขหลั่ง
แต่ถ้าบอกว่าเจ้าหนี้ไปด้วย
เขารู้สึกป่วยมากขึ้นทันที
ถ้าคนที่พร้อมจะคิดแง่ลบ
เจ้าคิดเจ้าแค้น โกรธง่าย ใจน้อย ผิดหวัง เครียด
สารความเครียดหลั่งง่าย แต่คนที่คิดเป็น
ใส่จินตนาการดีเข้าไป ลดความทุกข์
ทำให้สารความสุขหลั่งได้
จะอย่างไรก็ตาม

การจะดูแล“ผู้ทุกข์ทางจิต”
ต้องแยกให้ได้ว่าอยู่ในประเภทไหน
ประเภทเกิดความขัดแย้งในความคิด
ประเภทบุคลิกภาพแปรปรวน ประเภทโรคประสาท
หรือสุดท้ายประเภทโรคจิต
ซึ่งคนที่เป็นโรคจิตจะถอยหลังสู่ความเป็นเด็กมากขึ้น
สร้างโลกของตัวเองมากขึ้น
เมื่อเป็นแล้วไม่หายขาด แต่ดีขึ้น
ส่วนที่ไม่ใช่โรคจิตมีโอกาสหายขาด และอยู่ในสังคมได้
๐ แนวทางสู่เป้าหมาย
สำหรับแนวทางที่นำมาใช้แตกออกได้เป็น 3 ทาง
ทางแรก การรักษา
ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการที่เรียนมา
ทางที่สอง การพัฒนา ซึ่งอาจจะใช้วิธีการฝึกอบรม
และทางที่สาม การป้องกัน
เพราะรู้จิตใจของมนุษย์เป็นเบื้องลึก
นำแนวคิดหลักจิตวิทยา หลักการบริหาร
และความสามารถในการวิเคราะห์ได้ลึกกว่า
มาใช้เป็นแนวคิดในเชิงพัฒนามนุษย์ได้ลึกซึ้ง
กว่านักฝึกอบรมคนอื่น
เพราะคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าหมอทำได้แค่การรักษา
แต่ที่จริงทำด้านการพัฒนา และป้องกันได้ด้วย
เพราะฉะนั้น หมอวิทยาจึงทำทั้ง 3 แนวทาง
แต่ช่วงแรกในชีวิตการทำงานในโรงพยาบาล
มีผู้ป่วยมาก และต้องใช้การรักษา
ใช้เวลาหมดไปกับการทำเรื่องเดิมๆ
ความคิดสร้างสรรค์ไม่เกิด ทำให้ในช่วงหลัง
เปิดคลินิคสุขภาพจิต
และจัดตั้งสถาบันพัฒนาตนเองและนักบริหาร
จึงมีโอกาสใช้การพัฒนาและป้องกันมากขึ้น
โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความสนใจไปที่กลุ่มผู้ใหญ่
การทำงานของหมอวิทยา มีหลายบทบาท
ทั้งจิตแพทย์ อาจารย์ นักบริหาร นักคิด
นักเขียน รวมทั้ง นักพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม
ซึ่งปัจจุบันยังมีผลงานเขียนใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ
เรื่องที่เขียนก็มีหลายแบบแนวจิตวิทยาประยุกต์
ที่มากคือ เรื่องของชีวิต ความสุข ความสำเร็จ
แฝงจิตวิทยา แฝงคุณธรรมศาสนาปรัชญา
“ผมจะมี How To ให้ด้วย ขมวดตอนท้าย
เพราะเราวิเคราะห์วิจารณ์คน
ก็เหมือนกับการขุดหลุม
เพื่อดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น
เมื่อดูแล้วต้องกลบให้เขาด้วย
ไม่ใช่ฝากให้สังคมให้ใครช่วยคิดต่อ
แปลว่าขุดแล้วไม่กลบ”
หมอวิทยาบอกถึงจุดเด่นของงานเขียนและเรื่องที่เล่า
แล้วยังชี้ถึงสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จว่า
เป็นเพราะการเป็นคนชอบอ่านหนังสือ
ศึกษาหาความรู้ใส่ตัว และที่สำคัญ
กล้าพอที่จะลงมือทำ

สำหรับคนที่ไม่ลงมือ หมายถึง
การเป็นคนที่มีบุคลิกไม่กล้า
ไม่เชื่อมั่นตัวเอง ไม่ภูมิใจตัวเอง
ซึ่งไม่ดีทั้งต่อตนเองและส่วนรวม
เพราะคนไทยมักจะส่งเสริมให้คนมีจินตนาการ
แต่มีเงื่อนไขของความภูมิใจในตัวเองมากมาย
ว่าจะต้องเป็นคนเรียนเก่ง
ถึงขนาดได้เกียรตินิยมยิ่งดี
ทำงานประสบความสำเร็จสูง
และช่วยเหลือสังคมได้มาก

“เงื่อนไขเยอะมาก และตัวอย่างก็เป็นคนเก่งๆ
ทั้งนั้น ทำให้คนไทยส่วนมากกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจตัวเอง
ผมโต้กระแสนี้ ผมมีคำๆ นี้
‘ภูมิใจและมั่นใจตัวเอง ตามความเป็นจริง’
ไม่ต้องรอคอย เราได้แค่ไหนแค่นั้น
เก่งมากดีมากแล้ว ใครไม่ชอบเราช่างเขา
แต่เรายังชอบความเป็นตัวเราขณะนี้
รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง
อย่างนี้ก็มีความสุข ตรงนี้สำคัญ
และเป็นแบบของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ใครจะนำไปใช้ก็ได้
แล้วเมื่อทุกคนทำดีหมด ทำเต็มที่ ส่วนรวมก็ดี
ส่วนคนขี้เกียจกับขี้โกงก็จะเจริญยาก
ตาม"กฎแห่งกรรม"
หมอวิทยาให้ข้อคิดที่น่าสนใจสำหรับทุกคน
การเรียน “จิตแพทย์”
เป็นการเรียนรู้เรื่องจิตใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง
รู้ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์
ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตที่สำคัญ
และยังนำไปใช้ได้ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ตาม
แต่ไม่ได้มีการสอนเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ
ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับความคิดจิตใจของคน
แต่สำหรับหมอวิทยา นอกจากจะเรียนรู้เรื่อง
“กาย” กับ “จิตใจ” อย่างชำนาญแล้ว
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ยังเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อง “จิตวิญญาณ”
จากการศึกษาศาสนาพุทธ
หลังจากที่เคยศึกษาศาสนาคริสต์มาก่อนแล้ว
และนำหลัก “อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา”
มาใช้ผสมผสาน เพื่อหาคำตอบให้กับ
“ผู้ทุกข์” ด้วยความเป็น “จิตแพทย์”
ผู้รอบรู้เรื่องจิตใจมนุษย์

๐ ก่อนเป็นหมอ
หนทางที่หมอวิทยาก้าวมาเป็นจิตแพทย์
เริ่มมาจากการเป็นเด็กเรียนดี
เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม
และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท
และเลือกเรียนแพทย์ตามความนิยม
ในสมัยก่อนที่มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ศิริราช
จากนั้นจึงไปเรียนต่อสาขากุมารเวชศาสตร์
ที่เม้าท์ไซไน เมดิคอลสคูล , คลีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา
แต่พบว่าไม่ต้องการจะเป็นกุมารแพทย์
และได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนให้เรียนต่อในสาขาจิตเวชศาสตร์
ที่เมาท์ไซไน เมดิคอลสคูล , นิวยอร์คซิตี้ สหรัฐอเมริกา
จนได้รับวุฒิปริญญาเอก ผู้ชำนาญด้านจิตเวชศาสตร์