Custom Search

Jul 15, 2007

‘ธุรกิจบัณฑิตย์’ ผ่าตัดใหญ่ บทเรียน ‘เศรษฐศาสตร์’

ผู้จัดการรายสัปดาห์
13 พฤษภาคม 2548 13:29 น.









ธุรกิจบัณฑิตย์-ผ่าตัดใหญ่ เนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน จับเหตุการณ์ประจำวันในชีวิตจริงมาสอนแทน
การพล็อตกราฟดีมานต์ ซัพพลาย หวังปูพรมคนรุ่นใหม่ เข้าถึงศาสตร์ได้ดีกว่าแค่ท่องจำแล้วมาสอบ
เปิดใจอธิการบดี ‘รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ’ยอมรับ แม้ไม่ถูกทฤษฎีเป๊ะ แต่ผู้เรียนได้ประโยชน์มากกว่า
ทั้งยังตอกย้ำภาพลักษณ์‘ธุรกิจบัณฑิตย์’ ให้เป็นแหล่งวิชาการเศรษฐศาสตร์ ที่เข้าถึงคนในวงกว้าง
“ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราเริ่มสอนวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน สำหรับทุกคณะ โดยไม่ใช้กราฟ ดีมานต์ ซัพพลาย ตัวเลขแล้ว
แต่จะอธิบายเป็นเรื่องราวให้เข้าใจว่า เศรษฐศาสตร์จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร”
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” เขาอธิบายต่อว่า การสอนเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านมามีปัญหา
เพราะผู้เรียนไม่ชอบตัวเลข เขียนกราฟ และพอเรียนไม่เข้าใจ ก็ท่องมาตอบ
ขณะที่หลักการเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง คือ การทำความเข้าใจกระบวนการเลือก การเปรียบเทียบระหว่างต้นทุน
ค่าเสียโอกาส ผลประโยชน์ตอบแทน
เพื่อการตัดสินใจที่ดีการเลือกลงทุน และการออม
“การออม ก็คือการเลือกว่าจะใช้เงินในอนาคตหรือในปัจจุบันเท่านั้นเอง
ถ้าใช้เงินในปัจจุบันมาก ก็ออมน้อยเป็นการเลือกว่าจะใช้เงิน ในปัจจุบันมากกว่าจะใช้ในอนาคต”
ตัวอย่างของเนื้อหาใหม่ที่จะสอนในวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน
เช่น ทำไมเสาไฟฟ้าที่ถูกชน
การไฟฟ้าจึงเก็บค่าเสาไฟฟ้าที่ราคา 200,000 บาท
แพงกว่าราคาเสาที่มีราคาเพียง 20,000 บาท?
เพราะเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์บอกว่า เวลาชนเสาไฟฟ้า
มันไม่ได้เสียหายแค่ 20,000 บาท
แต่อาจทำให้ไฟฟ้าบางส่วนในโรงงานดับ
ทำให้วัตถุดิบเสียหายได้ ทำไมจึงไม่ควรสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ?
ทำไมคนเมาจึงไม่ควรขับรถ? รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า
แนวคิดในการสอนเหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว
แต่ยังไม่เคยนำมาใช้อย่างจริงจัง
เพราะผู้สอนยังติดอยู่กับรูปแบบเดิม “ที่ธุรกิจบัณฑิตย์ ทำได้
เพราะมีคนรุ่นใหม่ที่เห็นแบบเดียวกัน 4-5 คน
และผมก็เข้าร่วมร่างหลักสูตรด้วย
เราคิดว่าสอนแบบเดิม นักศึกษาไม่ประสบความสำเร็จจบแล้ว
ได้แค่ท่องจำว่าอะไรคือเส้นกราฟ ดีมานต์ ซัพพลาย
จุดดุลยภาพ แต่ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีประโยชน์
แต่การสอนรูปแบบใหม่ เด็กจะรู้เลยว่าโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี
เพราะเขารู้ว่าทุกอย่างต้องมีการเลือก มีทั้งส่วนที่ได้และเสีย
จะเลือกอย่างไรให้ต้นทุนน้อยที่สุด”
อธิการบดีธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวต่อว่า
ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์คุ้นเคยกับ
การทดแทนคำพูดด้วยสมการคณิตศาสตร์ กราฟ
ซึ่งเป็นคำพูดที่ฟังไม่รู้เรื่อง
เหมือนภาษาศักดิ์สิทธิ์จนคนไม่กล้าถาม
“แต่วิธีสอนของผม ทำให้คนเข้าใจง่าย
ชนิดที่โอ้โห...เท่านี้เองเหรอ มันอาจดูไม่ศักดิ์สิทธิ์
และเสี่ยงต่อการได้รับคำวิจารณ์ว่าสิ่งที่พูดไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด
แต่ถ้าอธิบายเป็นสมการที่เข้มข้น แน่นอนว่าอาจถูกต้องทั้งหมด
แต่คนฟังแล้วไม่เข้าใจ”
รศ.ดร.วรากรณ์ อธิบายต่อถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับ
ความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ เพราะมีผลถึงการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
เช่น มีเงินออม แต่กลับไม่รู้ว่าจะนำเงินไปทำอะไร ไปไว้ที่ไหน
มีความเสี่ยงอย่างไรระหว่างฝากธนาคาร หรือเก็บไว้ที่บ้าน
“วิกฤติเศรษฐกิจช่วยได้เยอะ อดีตคนไม่รู้ NPL คืออะไร
ค่าเงินอ่อนคืออะไร แต่พอเจอกับตัวเอง มีความรู้เพิ่มขึ้นเยอะ
แต่ยังไม่เพียงพอต่อการเข้าใจนโยบาย ดังนั้น
พอได้ยินอะไรที่ผิดจากความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ เช่น
การประกันการว่างงาน การให้รายได้แก่เกษตรกรขั้นต่ำทุกคน
การควบคุมราคาสินค้าให้คงที่ แต่คนก็เชื่อ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพยายามแก้ไขมาตลอดชีวิต
ถ้าคนรู้มากขึ้น การถูกหลอกเชิงนโยบายจะน้อยลง”
อธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์กล่าว
การรุกปรับเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐานครั้งนี้
เป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง
ที่จะต่อภาพภารกิจที่พยายามทำให้เศรษฐศาสตร์
เป็นศาสตร์ที่เข้าใจง่าย สำหรับคนทั่วไปมาโดยตลอด
ที่ผ่านมาธุรกิจบัณฑิตย์ได้จัดตั้ง
สถาบันพัฒนาการศึกษาเศรษฐศาสตร์
เพื่อให้ความรู้เศรษฐศาสตร์ง่ายๆ กับประชาชน
ในเว็บไซต์ของสถาบันยังมีคำถาม
วัดความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ที่แปลมาจาก
Economics Literacy
ชุดคำถาม 20 ข้อเพื่อวัดความรู้พื้นฐานทาง
เศรษฐศาสตร์ระดับที่เรียกว่าอ่านออกเขียนได้
ของชาวอเมริกันด้วย นอกจากนี้
ยังมีโครงการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์
และทำค่ายเศรษฐศาสตร์สำหรับเยาวชน
ที่สอนวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ เพื่อประยุกต์ใช้ในการเลือก
และการตัดสินใจในชีวิต
“เราทำเพื่อสร้างการรับรู้เศรษฐศาสตร์อย่างง่ายๆ
ให้ประชาชน แต่พบว่ามีแต่นักศึกษาที่เตรียมตัวสอบเข้า
และมีประชาชนบางส่วนเท่านั้นที่สนใจ
มันดีกว่าเมื่อก่อนวิกฤติ แต่ไม่ดีมากเท่าที่เราคาดคิด”
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว ธุรกิจบัณฑิตย์ยังจัดสรรงบประมาณ
อีกปีละ 4 ล้านบาท เพื่อทำงานวิจัย ผลจากการศึกษา วิจัย
ส่วนใหญ่ทางมหาวิทยาลัยได้ย่อยเป็นข้อมูลที่เข้าใจง่าย
เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งยังสนับสนุนให้มีตำแหน่งศาสตราภิชาน ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมา
มีผู้ได้รับตำแหน่งนี้แล้ว 3 ท่าน เช่น
ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ได้รับตำแหน่งปรีดี
พนมยงค์ศาสตราภิชาน
ตำแหน่งนี้สำคัญตรงที่ครอบครัวของผู้ให้ตำแหน่งเป็นผู้มอบเงิน
ให้แก่ผู้ที่เชิญมาดำรงตำแหน่งเพื่อสนับสนุนการทำวิจัย
แม้ภาพลักษณ์ของธุรกิจบัณฑิตย์
อาจไม่เด่นด้านการสอนเศรษฐศาสตร์
เพราะที่นี่เด่นด้านบริหารธุรกิจ และนิติศาสตร์
แต่เรียกว่าเป็นแหล่งรวมนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง
ระดับอดีตคณบดีจากมหาวิทยาลัยรัฐ
เพื่อผลิตองค์ความรู้ และให้บริการทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง จาก‘วรากรณ์’ ถึง ‘พอล ครุกแมน’
อีกบทบาทหนึ่งของ‘รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ’
ที่โดดเด่นไม่แพ้การเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
คือ การเป็นคอลัมนิสต์ผู้แปลงบทความทางเศรษฐศาสตร์ให้เป็นอาหารสมองที่ย่อยง่าย
เสริฟได้กับคนบนท้องถนนทั่วไป
เขาแสดงทัศนะถึง ศ.ดร. พอล ครุกแมน
ศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน
แห่งมหาวิทยาลัย Princeton
รัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่เป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังในนิตยสาร New York Times
ผู้ได้ชื่อว่ามีลีลาการเขียนเศรษฐศาสตร์ให้เข้าใจง่ายชนิดที่คนทั่วไป ไม่ต้องปีนบันไดอ่านเหมือนกัน ไว้ว่า
“ครุกแมนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมาก
เป็นทั้งตัวเก็งรางวัลโนเบล
และนักเศรษฐศาสตร์ที่อื้อฉาวเช่นเดียวกัน
ทั้งยังเป็นคนที่มีความสามารถในการเขียนเศรษฐศาสตร์ให้คนธรรมดาเข้าใจได้”
“มีอยู่หลายประเด็นที่คาดหวังจะได้ศึกษาจากครุกแมน
คือวิกฤติการเงิน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินของจีนที่ตรึงราคาไว้
กับดอลล่าร์ เพราะในขณะที่ค่าเงินดอลล่าร์ตกลงไป
ค่าเงินจีนย่อมตกลงไปด้วย
เรื่องของการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย ที่ทำกันเป็นทวิภาค
ว่าจะมีความขัดแย้งกับพหุภาคีหรือไม่?
อย่างไร? ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้
จากการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับอีกหลายๆ
ประเทศที่กำลังทำอยู่ บทบาทของจีนที่มีต่อภูมิภาคเอเชีย
และผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ และไทย
ควรเตรียมรับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร?
ควรมีนโยบายเข้าไปแทรกแซงค่าเงินมากน้อยอย่างไร?”
รศ.ดร.วรากรณ์ บอกว่า ครุกแมนเป็นนักวิชาการ
ที่เข้าใจเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างดี
เพราะเป็นคนแรกที่ให้ความสนใจเรื่องธรรมชาติของ
ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และเรื่องราวของวิกฤติการเงิน
ทั้งยังสามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายได้ด้วย
แม้ว่าความสามารถของครุกแมนจะเป็น
เรื่องที่ใครหลายคนประจักษ์กันดีอยู่แล้ว
แต่ความน่าสนใจของครุกแมน ที่ รศ.ดร.วรากรณ์ ทิ้งท้ายไว้
คือ ความเป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงความคิดเห็น
เพราะมองว่า บุคลิกของคนแบบนี้
จะสร้างให้สังคมเกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้้