Custom Search

Apr 1, 2009

ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง...พระอารมณ์ขันของพระเทพฯ

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“ตั้งแต่จัดงานมาสองสามครั้ง ก็ชักคิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน
เป็นช่างภาพใหญ่ขึ้นมา แต่ก็มีคนมาเตือนว่าถ้าอยากจะทำต่อไป
ควรจะเรียนซักหน่อย ถ่ายภาพจริงๆ ถ่ายยังไงที่ถูกต้อง
ก็ท่าทางขึ้งขังว่าจะเรียนถ่ายภาพ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้เรียน”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ตรัสขึ้นอย่างถ่อมพระองค์

เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเปิด
นิทรรศการแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
“ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง Always Roaming with a Hungry”

นิติกร กรัยวิเชียร ผู้ถวายงานด้านการถ่ายภาพในพระองค์ได้บอกเล่าว่า ความสนพระทัยในการถ่ายภาพของสมเด็จพระเทพฯ
เกิดขึ้นเนื่องมาจากทรงต้องการนำมาเป็นแบบในการเขียนภาพ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ทรงโปรดปราน
และเพื่อบันทึกเหตุการณ์และความทรงจำเก็บเอาไว้

“พระองค์ท่านไม่ว่าจะเสด็จไปที่ไหนก็ตาม จะมีสมุดบันทึกติดพระองค์ไปเสมอ ทรงจดบันทึกเรื่องราวที่พบเห็นในแต่ละวันตลอดเวลา ภาพถ่ายก็เป็นส่วนช่วยจำในเรื่องเหล่านั้น”
โดยความสนพระทัยในเรื่องการถ่ายภาพของสมเด็จพระเทพฯ
ได้ทวีขึ้นในช่วงปีเศษๆ
ที่ผ่านมานี้
หลังจากที่มีนักข่าวหญิงจากประเทศจีนคนหนึ่งนามว่า
ริต้า เจ้า(Rita Zhau)เดินทางมาทำข่าวงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2549 และเธอได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ
พร้อมกราบบังคมทูลว่า นอกเหนือจาการมาทำข่าวในประเทศไทยแล้ว เธอยังต้องการมาถ่ายภาพเรื่องราวในเทศไทยไปจัดนิทรรศการที่กรุงปักกิ่งด้วย
เมื่อเธอทราบว่าสมเด็จพระเทพฯ
ทรงเสด็จไปเยือนประเทศจีนบ่อยครั้งเหลือเกิน
และเป็นเวลายาวนานถึง 25 ปี นับตั้งแต่ ปี 2524 -2549 และน่าจะทรงถ่ายภาพเกี่ยวกับประเทศจีนเก็บเอาไว้ไม่มากก็น้อย เธอจึงได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ
นำภาพถ่ายฝีหัตถ์ไปจัดแสดงในวาระเดียวกัน

จึงทำให้เกิดนิทรรศการภาพถ่าย“ร้อยภาพ คล้องใจ ไทย-จีน” นิทรรศการแสดงผลงานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพฯ
และผลงานภาพถ่ายของ ริต้า เจ้า ขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์โสว่ตู
(Capital Museum) กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในเดือนเมษายน พ.ศ.2550
ต่อเนื่องมาถึงการจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จากประเทศจีน
ผ่านนิทรรศการ “แสงคือสี สีคือแสง”ณ สยามพารากอนในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 ,
นิทรรศการ Bharata in Reflection ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงฉายที่ประเทศอินเดีย
ณ ศูนย์ศิลปะแห่งชาติอินทิรา
คานธี
กรุงนิวเดลีในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2550
และนิทรรศการ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงฉายที่ประเทศจีนและอินเดีย
ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2550 ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพ
กระทั่งนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพฯ
ได้ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง

เมื่อ กรุงเทพมหานคร,สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม,สมคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ได้รวบรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จำนวน 230 ภาพ ที่ทรงฉายในระหว่างการเสด็จเยือนไปยังสถานที่ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ
ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2547- เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2551
ได้แก่ ประเทศไทย,สหรัฐอเมริกา,อิหร่าน,สหราชอาณาจักร,อิตาลี,ลาว,อุสเบกิสถาน,
เยอรมนี,กัมพูชา,นิวซีแลนด์,จอร์แดน,สวีเดน,ญี่ปุ่น,เวเนซูเอลา,อียิปต์,สิงคโปร์,
อินเดีย,ฝรั่งเศส,จีน,กานา,และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
มาจัดแสดงในนิทรรศการ “ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง Always Roaming with a Hungry” ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม – 24 สิงหาคม พ.ศ.2551
ณ บริเวณชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน
สมเด็จพระเทพฯได้ตรัสถึงที่มาของชื่อนิทรรศการว่า
ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง ในภาษาไทย
เปรียบเสมือนชีวิตของพระองค์เองที่ต้องหมุนไปข้างหน้า
ส่วนภาษาอังกฤษ Always Roaming with a Hungry เป็นประโยคที่นำมาจากบทกวีในสมัยศตวรรษที่ 19 ของลอร์ดเทนเนสัน ผู้หยิบเอาคำพูดของยูลิซิส ตัวเอกในวรรณกรรมเรื่องโอเดสซีของโฮเมอร์
มาแต่งเป็นบทกวี
บทกวีบทนั้นได้ถ่ายทอดเรื่องราวของยูลิซิสผู้ต้องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า รักการผจญภัยไปในที่ต่างๆ โดยจะไม่ยอมมีชีวิตที่เหี่ยวแห้งอยู่กับบ้าน
ซึ่งยูลิซิสได้กล่าวขึ้นประโยคหนึ่งว่า
I am become a name for Always Roaming with a Hungry Heart
“ก็เลยรู้สึกว่าดีเหมือนกัน เอาคำพูดตรงนี้มาเป็นชื่อเรื่องดีกว่า และเขาก็พูดในบทกวีด้วยว่า การที่เขาได้ออกไปในที่ต่างๆ ทำให้เขาได้พบกับผู้คนต่างๆ และวัฒนธรรม การปกครอง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาได้พบได้หล่อหลอมเป็นตัวเขาเอง กวีเยอรมันก็กล่าวเอาไว้ว่า คนที่พระเจ้ารัก พระเจ้าจะให้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก บางทีคิดไปคิดมา ตัวเองเดินทางเหนื่อยเหลือเกิน เราคงเป็นคนที่พระเจ้ารักมากเลย ถ้าพระเจ้าไม่รัก พระเจ้าจะตอกตะปูตรึงไว้ที่บ้าน อยู่ในรู ไม่ได้รู้ได้เห็นอะไร”
สมเด็จพระเทพฯทรงตรัสว่า
ครั้งหนึ่งเคยทูลต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ถึงจุดหมายของชีวิตว่า
“อยากจะออกไปสู่โลกกว้าง ให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้
ท่านคิดว่าเป็นความคิดที่ผิด ควรจะอยากช่วยเหลือมนุษย์มากกว่า
ก็ไม่ได้ทูลว่า จริงๆก็อยากช่วย แต่ว่าอยากไปแบบซามูไรพเนจร
หรือว่าจอมยุทธพเนจรในทีวี ได้ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ได้เที่ยวแล้วก็ได้งานด้วย”
ในฐานะที่ทำหน้าที่กรรมการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย นิติกร กรัยวิเชียร บอกเล่าว่าภาพถ่ายที่ถูกรวบรวมมาจัดแสดง ผู้ชมจะเสมือนได้ติดตามสมเด็จพระเทพฯไปในที่ต่างๆ
และรับรู้ได้ว่าพระองค์ทรงมองโลกอย่างไร “จะเห็นว่ามีหลายๆรูปที่สะท้อนถึงพระบุคคลิกภาพได้อย่างชัดเจนว่า ทรงเป็นผู้ที่มีพระอารมณ์ขัน และมองโลกในแง่ดี”

ที่มา: http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000092221