Custom Search

Apr 19, 2009

เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ สร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน



ข่าวสังคม-สตรี
ไทยรัฐ
20 เม.ย. 52

หนังสือเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาศักยภาพ
ด้านต่างๆให้กับผู้อ่าน ยิ่งอ่านมากก็ย่อมรู้มาก
และสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอ่านไปใช้ให้เกิดประโยชน์
หากแต่น่าเสียดายที่
ผลการสำรวจสถิติการอ่านหนังสือของคนไทย
มีผู้ไม่อ่านหนังสือถึง 22.4 ล้านคน หรือ
เกือบ 40% ของประชากรทั้งประเทศ
การปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย
จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันผลักดันอย่างจริงจัง
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จึงจัดกิจกรรมสนทนา
“สร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน...คิด เขียนและเรียนรู้”
เพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้รับทราบเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์
และนำไปใช้เป็นแนวทางในการสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับลูกของตนเองได้
นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป หรือ “พี่ปอง” กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
ผู้ริเริ่มโครงการ Book start กล่าวว่า
หนังสือมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กๆในทุกด้าน
ทั้งสติปัญญา ภาษา สังคม
โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่โอบกอดลูกไว้พร้อมกับอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
ความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกจะเกิดขึ้น
ซึ่งจะเป็นการปูพื้นฐานทางอารมณ์และจิตใจที่มั่นคงให้กับลูกได้เป็นอย่างดี
จากประสบการณ์ในวงการหนังสือกว่า 26 ปี
และได้ทำงานคลุกคลีอยู่กับเด็กๆมายาวนาน
“พี่ปอง” ได้ฝากเคล็ดลับง่ายๆสำหรับพ่อแม่ว่า

สิ่งแรกที่จะสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านได้สำเร็จ คือพ่อแม่ต้องเป็นนักอ่าน
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก หากแต่ไม่ยากเกินกว่าที่พ่อแม่จะทำได้
ความรักลูกจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีในการสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านได้
สำหรับคัมภีร์สำคัญที่จะช่วยให้ลูกรักเป็นนักอ่านได้ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด
“สร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน” ด้วยกฎเหล็ก
“ต้อง 11-7 อย่า”
สำหรับ “ต้อง 11” นั้น
ประกอบด้วย
1. ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี
2. ต้องมีมุมหนังสือในบ้าน
3. ต้องเลือกสรรหนังสือสมวัย
4. ต้องใส่ใจชวนไปอ่าน
5. ต้องชื่นชมกันและกันเสมอ
6. ต้องนำเสนออย่างมีความสุข
7. ต้องหากิจกรรมสนุกๆมาประกอบ
8. ต้องชอบต่อยอดความคิด
9. ต้องไม่คิดถึงวัย
10. ต้องใช้เวลาพอดี
11. ต้องมีระเบียบชีวิต

ส่วน “7 อย่า” ประกอบด้วย
1. อย่ายัดเยียด
2. อย่าหวังสูง
3. อย่ากังวล
4. อย่าจ้องสอน
5. อย่าถามมาก
6. อย่าขัดคอ
7. อย่าเบื่อหน่าย
เมื่อรู้เคล็ดลับของการสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านแล้ว
เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายก็คือ “หนังสือ” ซึ่งหนังสือ
สำหรับเด็กก็คงหนีไม่พ้น “นิทาน” นั่นเอง
เพราะนิทานถือได้ว่าเป็นกุศโลบายชั้นเยี่ยม
ที่จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กได้รู้จักคิด วิเคราะห์
ได้ฝึกการเขียนและเรียนรู้เรื่องต่างๆจากนิทานสอนใจ
เพื่อนำไปพัฒนาสมองและเสริมสร้างพัฒนาการ
ในด้านต่างๆของเด็กได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ หรือ “ป้ากุล”
อาจารย์ประจำสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก
ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ซึ่งเป็นนักเล่านิทานและนักเขียนนิทานสำหรับเด็ก กล่าวว่า
การเล่านิทานและอ่านหนังสือให้เด็กฟังบ่อยๆ
จะช่วยให้เด็กๆมีนิสัยรักการอ่าน มีสมาธิ มีสติ มีปัญญา
จึงอยากให้พ่อแม่ ครู และผู้ใหญ่ช่วยกันพัฒนาเด็กๆด้วยการเล่านิทาน
และอ่านหนังสือให้เด็กฟังกันมากๆ
เพราะการอ่านไม่เพียงแต่จะเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้
และศักยภาพด้านต่างๆให้กับผู้อ่านเท่านั้น
หากแต่ยังช่วยขัดเกลาให้เป็นคนมีจิตใจที่อ่อนโยน
อีกทั้งยังสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย.