Custom Search

Apr 8, 2009

ยารักษาเศรษฐกิจชะงัด


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2552
มีคนสงสัยกันว่าเศรษฐศาสตร์มียาชนิดเดียว
รักษาโรคเศรษฐกิจซบเซาคือการใช้จ่ายเท่านั้นหรือ
คำตอบก็คือมียาหลายชนิดหลากหลายสีและรส
แต่ทั้งหมดใช้ตัวยาเดียวกัน ท่ามกลางยาต่างๆ
นี้มียาของเยอรมนีอยู่ชนิดหนึ่งที่ดูจะมีหน้าตาแปลกออกไปอย่างน่าสนใจ
ยานั้นมีชื่อว่า Kurzarbeit "Kurzarbeit" แปลตัวตรงก็คือ
short work หรือทำงานสั้น
ซึ่งหมายถึงการทำงานสั้นลงแทนที่จะต้องให้ออกจากงานไปทั้งหมด
โดยรัฐออกเงินชดเชยรายได้ส่วนที่สูญไปจากการไม่ได้ทำงานเป็นบางส่วน
เงินชดเชยนี้มาจากภาษีอากรที่แรงงานถูกเก็บก่อนหน้าและสะสมไว้เป็นกองทุน
ประเทศยุโรปหลายประเทศมีระบบเช่นนี้ดังคำที่ธนาคารโลกเรียกว่า
social safety net เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน
ซึ่งตรงข้ามกับโมเดลของสหรัฐอเมริกาที่
การจ้างงานเป็น 1 หรือไม่ก็ 0 คือจ้างหรือไม่ก็ปลดออกไปเลย
โดยมีเงินชดเชยการว่างงานไม่มีระบบครึ่งๆ กลาง ๆ
ข้อถกเถียงเรื่องความเด่นและความด้อยของ 2 ระบบนี้มีมานานแล้ว
ฝั่งอเมริกาและเอเชียตะวันออกตลอดจนประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่
เอียงมาทางโมเดลอเมริกา
คนกลุ่มนี้เชื่อว่าการพยายามปกป้องการจ้างงานตลอดจนให้ผลประโยชน์
จากการถูกเลิกจ้างมากมายนั้นไม่เป็นผลดี
เพราะยามเศรษฐกิจดีนายจ้างไม่อยากจ้างเพราะหากจ้างแล้วจะมีปัญหาผูกพันต่อไป
ยามต้องการเลิกใช้แรงงาน (เมื่อสองปีก่อนมีการต่อต้านกฎหมายฝรั่งเศสครั้งใหญ่
ทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาลเสนอให้มีการจ้างงานแบบไม่ถาวรได้
กล่าวคือ ไม่เข้ามาอยู่ในระบบเช่นนี้)
นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังต้องมีการบริหารเงินกองทุน
ที่เก็บไปจากแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งฐานข้อมูล
ระบบการจัดเก็บ ตลอดจนการนำเงินกองทุนไปลงทุนอีกด้วย
มิฉะนั้นจะเป็นปัญหาหนักต่อภาครัฐ
ประเด็นที่เป็นจุดด้อยอีกประการก็คือความไม่คล่องตัวของระบบการจ้างงาน
ทำให้เศรษฐกิจขาดกลไกที่คล่องตัวในการขยายการผลิตหรือลดการผลิต
เพราะขาหนึ่งถูกผูกติดอยู่กับระบบสวัสดิการของแรงงานที่ผูกพันสูง
และมีต้นทุนสูงด้วย
ยุโรปนั้นถูกผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สองอย่างหนัก
เห็นความลำบากของผู้คนทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นความมุ่งมั่นให้ผู้คนไม่ประสบความลำบาก
ดังเช่นที่เคยเห็นจึงมีสูง ระบบสวัสดิการแรงงานเช่นนี้
จึงเป็นคำตอบสหภาพแรงงานยุโรปเข้มแข็งมาก
จนสามารถกดดันออกกฎหมายแรงงานต่างๆ
ที่เป็นประโยชน์ เช่น ชั่วโมงทำงาน ค่าล่วงเวลา สัญญาการจ้างงาน
สวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ
แต่ก็เป็นความจริงที่ทำให้ขาดความคล่องตัวของเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้ไม่นานในยุโรปบางประเทศ
การลดราคาพิเศษของสินค้าในห้างสรรพสินค้ายังไม่อาจทำได้
ไม่นับเรื่องเวลาปิดเปิดห้างสรรพสินค้าที่จำกัดอย่างมาก
ปัจจุบันหลังจากเป็น EU แล้วข้อจำกัดเหล่านี้ถูกผ่อนปรนจนดีขึ้นกว่าเก่าเป็นอันมาก
โมเดลของอเมริกาอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเสรีนิยมของระบบเศรษฐกิจ
หากธุรกิจใดล้มเหลวก็สามารถเลิกจ้างได้ทันที
(เราได้ยินประโยค "you are fired" หรือ "คุณถูกไล่ออกแล้ว"
จากปากนายจ้างอย่างง่ายดายกันบ่อยๆ
ในภาพยนตร์ซึ่งมาจากความจริงในสังคมอเมริกัน)
ในการประชุม G-20 ที่เพิ่งจบไป ข้อขัดแย้งหลักระหว่างสหรัฐอเมริกา
กับประเทศกลุ่มยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุดของ 20 ประเทศ
ก็คือวิธีร่วมมือกันแก้ไขเศรษฐกิจซบเซาที่มีคนตกงานทั่วโลก
สหรัฐอเมริกาต้องการสร้างแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกันของทั้ง 20 ประเทศ
เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
ซึ่งจะทำให้ชะลอการเลิกจ้างและเกิดการจ้างงานใหม่
อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศยุโรประมัดระวังเรื่องงบประมาณขาดดุล
จากการใช้เงินมากมายกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่เห็นด้วย
และต้องการสร้างระบบการควบคุมการเงินที่เข้มข้นกว่าเดิมแทน
(การไม่ดูแลวาณิชธนกิจ หรือ investment bankers
อย่างรัดกุมเพียงพอของสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยสำคัญของวิกฤตการเงิน
ในสหรัฐอเมริกาและลามไปทั่วโลก)
กลุ่มประเทศยุโรปบอกว่าพวกเขามี social safety net
(ที่พวกนิยมตลาดเสรีเยาะเย้ยว่าเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ)
ดีพอจนจำนวนคนว่างงานไม่ใช่ปัญหาใหญ่
เงินจากการช่วยเหลือของรัฐแก่แรงงาน
ก็คือเงินที่ไหลเข้าไปอย่างอัตโนมัติกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว
ซึ่งไม่ต่างไปจากการกระตุ้นโดยตรงของสหรัฐอเมริกาผลของ G-20
ที่ออกมาจึงไม่เด่นชัดในเรื่องการร่วมมือกันกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน
ยกเว้นเงินที่ให้ IMF ไว้เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนากู้
ผลสำคัญที่ได้จาก G-20 คือการยืนยันการประสานร่วมมือกัน
แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดขึ้น
(พูดอีกอย่างว่าสัญญาว่าจะร่วมมือกันหรือวางแผนว่าจะวางแผน)
สำหรับเยอรมนีเองภายใต้ Kurzarbeit ปีนี้
คาดว่าจะจ่ายเงิน 2,850 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับแรงงาน 250,000 คน
ซึ่งเป็นเงินที่น้อยมากเมื่อเทียบกับแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 787,000 ล้านเหรียญ
ของสหรัฐอเมริกาเยอรมนีมีประชากรเพียง 82 ล้านคน
ขนาดเศรษฐกิจประมาณ 3.32 ล้านล้านเหรียญ
เทียบไม่ได้กับสหรัฐอเมริกาที่มีประชากรถึง 300 ล้านคน
และมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 14.334 ล้านล้านเหรียญ
แต่ IMF ได้ชี้ว่าเยอรมนีมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีของตนเองสูง
ถึงร้อยละ 1.5 ของ GDP สูงกว่าฝรั่งเศสที่มีเพียงร้อยละ 0.7 ของ GDP
และไม่ห่างสหรัฐอเมริกาที่รายจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดสูง
ถึงร้อยละ 2 ของ GDP
นอกจาก Kurzarbeit แล้ว เยอรมนีกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงด้วยเช่นกัน
วิธีหนึ่งคือ "แจกเงิน" ผ่านการซื้อรถยนต์ใหม่ กล่าวคือ
ใครที่เอารถยนต์เก่ามาขายเพื่อซื้อรถใหม่จะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐถึง 3,400 เหรียญ
ซึ่งทำให้ยอดขายรถพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 22 จากปีก่อน
สิงคโปร์ก็ "แจกเงิน" ด้วยวิธีให้ rebate ดังเช่นที่สหรัฐอเมริกาเคยใช้อยู่บ่อยๆ
กล่าวคือ ถ้าซื้อสินค้าบางอย่างที่รัฐระบุก็จะได้เงินสดกลับคืนมาจำนวนหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงด้วยการใช้จ่ายของรัฐบาล
หรือระบบสวัสดิการแรงงานของยุโรปที่ลดวันทำงาน
แต่รัฐจ่ายเงินชดเชยบางส่วนให้ ก็ล้วนใช้ตัวยาเดียวกัน
คือการใช้จ่ายเป็นตัวรักษาถึงนโยบายเงินก็เถอะ การเพิ่มปริมาณเงิน
(พิมพ์ธนบัตรเพิ่มหรือปล่อยสินเชื่อให้ง่ายเข้า) หรือลดอัตราดอกเบี้ย
ก็มุ่งผลสุดท้ายให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจเช่นกัน
การลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้
(ก) ต้นทุนการกู้ยืมลดลงจนมีการกู้เงินมาใช้จ่ายมากขึ้น
(ข) รัฐบาลสามารถกู้ยืมเพื่อเอามาใช้จ่ายได้มากขึ้น
เพราะภาระดอกเบี้ยลดน้อยลง
(ค) การได้รับดอกเบี้ยน้อยลงจะชักจูงให้
ผู้คนใช้จ่ายเงินกันมากขึ้น
ไม่รีรอเพราะมัวเสียดายดอกเบี้ย ฯลฯ
ตัวยาหรือการใช้จ่ายของภาครัฐใช้ได้ผลมายาวนาน
นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ผู้ย้ำความสำคัญของยาตัวนี้ก็คือ John Maynard Keynes
ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เสียชีวิตไป
ครบ 63 ปีพอดีในเดือนเมษายนนี้
ไม่ว่าใครจะปรุงตัวยาเก่าด้วยการปรับสี ปรับกลิ่น เรียกชื่อใหม่
หรือใช้ตัวยาบางอย่างเพิ่มเติมเพื่อลดอาการข้างเคียงของมัน
แต่ยังไงเสียก็ยังเป็นตัวยาศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิมอยู่นั่นแหละ
หน้า 6