Custom Search

Apr 22, 2009

บทเรียนจากการจลาจล


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552




การชุมนุมของคนเสื้อแดงและการจลาจล
ที่เกิดขึ้นให้บทเรียนหลายประการ
ที่น่าสนใจและพึงสำเหนียกสำหรับทุกฝ่าย
บทเรียนแรกก็คือปัญหาที่ทางวิชาการ
เรียกว่าPrincipal-agent problem
(ปัญหาเรื่องตัวหลักกับตัวแทน)
เมื่อคนต้องการขายบ้านหรือให้เช่าบ้าน
หรือขายรถยนต์โดยมีการจ้างเอเย่นต์เป็นตัวแทน
ตัวหลัก (เจ้าของ) มักเชื่อว่าเอเย่นต์จะดูแลผลประโยชน์ให้ตนเองอย่างดีที่สุด
เพราะได้รับผลประโยชน์เป็นส่วนแบ่งของรายได้
แต่ในความเป็นจริงแล้วเอเย่นต์ไม่ทำอย่างดีที่สุด
เพื่อประโยชน์ของตัวหลักเนื่องจากเอเย่นต์มีแรงจูงใจที่ต่างไปจากที่ตัวหลักเข้าใจ
เช่น เอเย่นต์เป็นตัวแทนของตัวหลักหลายราย
มักเลือกทำงานให้รายที่ให้ผลประโยชน์สูงก่อน
และเลือกกระทำในลักษณะที่ทำให้ตนเองได้รับผลประโยชน์สูงสุดโดยตัวหลักไม่รู้
ทึกทักเอาว่าเอเย่นต์จะดูแลผลประโยชน์ให้เป็นอย่างดี
จึงมั่นใจและคอยจนแห้งตายไปก่อนที่จะขายหรือให้เช่าได้
ในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ปัญหา Principal-agent นี้ครอบคลุมไปถึงเรื่องผู้ถือหุ้น (ตัวหลัก)
กับผู้บริหารบริษัท (เอเย่นต์) ประชาชน (ตัวหลัก)
กับผู้แทนราษฎรหรือรัฐบาล (เอเย่นต์)
นายจ้าง (ตัวหลัก) กับลูกจ้าง (เอเย่นต์)
และผู้ชุมนุม (ตัวหลัก) กับแกนนำ (เอเย่นต์)
หัวใจของปัญหาอยู่ตรงที่ตัวหลักไม่สามารถบังคับหรือจูงใจได้เพียงพอ
หรือไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพว่าเอเย่นต์
ทำงานเป็นตัวแทนให้ตนเองได้อย่างดีที่สุดหรือไม่
การที่ทั้งสองฝ่ายได้รับข้อมูลไม่ทัดเทียมกัน
หรือที่เรียกว่า asymmetric information
(ภาษาแขกที่ใช้โดยคนไทยเรียกว่า "สารสนเทศอสมรูป")
กล่าวคือเอเย่นต์จะรู้ข้อมูลดีกว่าตัวหลักเสมอ
เป็นลักษณะประกอบที่ทำให้เกิดปัญหา Principal-agent
ขึ้นในกรณีของการว่าจ้างเป็นตัวแทนทำธุรกิจ
เอเย่นต์จะมีข้อมูลที่กว้างขวางและลึกซึ้งกว่าตัวหลัก
หรือผู้ว่าจ้างในเรื่องราคา สินค้า คู่แข่ง คุณภาพของสินค้าคู่แข่ง
รสนิยมของผู้ซื้อ ฯลฯ
ทั้งนี้ เนื่องจากธรรมชาติของงานที่แต่ละฝ่ายทำ
เอเย่นต์ทำอยู่ทุกวันจึงมีความรู้และมีความเชี่ยวชาญกว่าตัวหลัก
ที่นานปีทีหนจึงจะกระทำในการชุมนุมประท้วง
ผู้ชุมนุมบางส่วนอาจรู้ข้อมูลลึกๆ เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการชุมนุม
แต่ถึงกระนั้นก็ตามจะไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ
เกี่ยวกับการชุมนุมอย่างแน่นอน
เมื่อผู้ชุมนุมรวมกันอยู่ในที่เดียวหรือกระจายอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
จึงไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกของการชุมนุม
ที่เรียกกันว่า "หลอก" ผู้ชุมนุม
จึงหมายถึงการที่ผู้ชุมนุมไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงอย่างทัดเทียมกับแกนนำ
ทั้งโดยการตั้งใจปิดบังและถูกปิดตา
โดยธรรมชาติของการชุมนุมอยู่ในที่ใดที่หนึ่งปัญหา Principal-agent เกิดขึ้นเสมอ
และเกิดได้โดยง่ายเพราะแกนนำต่างคนก็ต่างมีวาระซ่อนเร้นของตนเอง
อยู่โดยธรรมชาติของการนำชุมนุม ผู้ชุมนุม (ตัวหลัก) ไม่อาจล่วงรู้ได้ครบถ้วน
ดังนั้น "การเข้ารกเข้าพง" ของผู้ชุมนุมกล่าวคือมัวแต่ไว้วางใจอย่างผิดๆ
ว่าแกนนำจะทำเพื่อประโยชน์ของผู้ชุมนุมอย่างแท้จริงจึงเกิดขึ้น
(เช่น โกธรแค้นว่าชุมนุมกันมาหลายวันจู่ๆ ก็ยอมสลายอย่างง่ายดาย)
ผู้เคยเข้าชุมนุมจะรู้ว่าในขณะชุมนุมนั้น ข้อมูลส่วนใหญ่จะซึมซับ
เข้าไปในผู้ชุมนุมผ่านแกนนำเท่านั้น
เนื่องจากข้อมูลจากภายนอกถูกปิดกั้นโดยอัตโนมัติและโดยความจงใจของแกนนำ
อารมณ์ร้อนอย่างขาดเหตุผลจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก
บทเรียนที่สองคือความเป็นจริงของกฎในโลกตะวันตกที่เรียกว่า
Jame"s Law ซึ่งระบุว่า "มนุษย์ทั่วไปจะเชื่ออย่างที่ตัวเองปรารถนาจะเชื่อ"
หรือพูดเป็นภาษาจิตวิทยาว่า
Perception is selective (เราเลือกที่จะรับรู้รับทราบ)
ข้อเท็จจริงนี้ทำให้มนุษย์จำนวนมากไม่เคยเห็นว่าตนเองมีจุดบกพร่อง
เห็นว่าลูกของตนเองเลอเลิศที่สุด
คนที่เรารักชื่นชมนั้นดีที่สุดไม่มีอะไรตำหนิได้เลย
เสียงร้องเพลงของเรานั้นเพราะสุดสุด (คนอื่นคิดว่าเป็นเสียงวัวกำลังถูกเชือด)
"ความรักทำให้ตาบอด" เมื่อรักใครแล้วอะไรๆ ของเขาก็ ดีหมด ฯลฯ
ลักษณะทางจิตวิทยาของมนุษย์เช่นนี้
จึงทำให้มนุษย์ถูกหลอกง่ายที่สุดและคนที่หลอกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือตนเอง
เฉพาะมนุษย์ที่มีปัญญา มีสติ และสามารถยอมรับจุดอ่อนของตนเองได้เท่านั้น
จึงจะสามารถก้าวพ้น Jame"s Law ไปได้
การที่รัฐบาลบอกว่าไม่มีคนตายโดยถูกทหารยิง
คนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีวันมีสติและมีปัญญาจึงไม่เชื่อและไม่เชื่อไปตลอด
สำหรับคนกลุ่มนี้นอกจาก Jame"s Law จะทำงานได้อย่างแข็งขันแล้ว
ความมีเหตุมีผลก็ยังออกไปทางหน้าต่างอีกด้วย
("ถึงไม่เห็นศพ ไม่มีคนมารายงานว่าหาย ก็มั่นใจว่ามีคนตายโดยทหารยิงแน่นอน
และไม่ใช่ยิงด้วยปืนฉีดน้ำด้วย")ภาครัฐจึงจำเป็นต้องทำงานหนักสู้กับ Jame"s Law
ในเรื่องคนตายที่ถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานตรงข้ามกับสิ่งที่ภาครัฐบอก
กฎนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลาในทุกประเทศ
(เช่น ประธานาธิบดีเคเนดี้ถูกฆ่าโดยกลุ่มคนที่วางแผนมาเป็นอย่างดี
การมีสัตว์ประหลาด Loch Ness ในทะเลสาบในสกอตแลนด์สามเหลี่ยมเบอมิวดา
UFO พญานาคมีอยู่ใต้ลำโขง ฯลฯ)
บทเรียนสุดท้ายก็คือข้อมูลข่าวสารและผู้นำประเทศที่มีความสามารถ
ในการสื่อสารกับประชาชนเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาการจลาจล
ลองจินตนาการว่าถ้านายกฯอภิสิทธิ์ ไม่ออกมาให้ข่าวบ่อยๆ
โดยชี้แจงอย่างชัดเจน จริงใจ และมั่นใจในการควบคุมสถานการณ์หรือพูดสั้นๆ
ก็คือมีความเป็นผู้นำแล้ว สถานการณ์ปัจจุบันจะกลียุคปานใด
เพราะความสับสนของข้อมูล ข่าวลือ การขาดข้อมูล
ปัญหา Principal-agent การทำงานของ Jame"s Law ฯลฯ
จะร่วมกันแสดงมหาอิทธิฤทธิ์
ถ้าจะขอบคุณผู้ตั้งใจก่อการจลาจลสักคนน่าจะเป็น
ผู้คิดเอารถขนก๊าซ 3 คัน คันละ 8 ตัน มาจอดข้างโรงพยาบาลสงฆ์ใกล้แฟลตดินแดง
และในซอยรางน้ำ
เพราะเป็นสิ่งที่สังคมนี้รับไม่ได้กับจิตใจที่เป็นอกุศลกับคนไทยด้วยกันเองขนาดนั้น
จนทำให้คนที่มีใจเป็นกลางหันหลังให้กับผู้ชุมนุม
นี่คือบทเรียนแห่ง "ความเว่อร์" ที่สุดอันตราย
โอบามา (อายุ 46 ปี) ถึงแม้จะอยู่ในช่วงฮันนีมูนกับสื่อ
แต่ก็มีเสียงเล็ดลอดออกมาเหมือนกันว่า Perhaps he has not got what it takes
(เขาอาจไม่มีกึ๋นเพียงพอที่จะทำงานได้)
เหมือนที่คนอเมริกันและ
คนทั้งโลกมอบความปรารถนาดี
และไว้วางใจให้เสียงบ่นนี้ก็อาจเป็น
เพราะเขายังไม่ได้มีโอกาสพิสูจน์ให้เห็น
แต่สำหรับโอบามาร์ค (อายุ 44 ปี) นั้น
แค่เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 4 เดือนก็ได้
มีโอกาสพิสูจน์ให้เห็นแล้ว
ดังสำนวนฝรั่งที่เรียกว่า
He has proved his mettle
หรือมีความสามารถและมีความมุ่งมั่นเพื่อจะเอาชนะสิ่งที่ยากได้
หน้า 6