Custom Search

Oct 10, 2007

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ


เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมว่า เวลาประมาณ 9.00 น.เศษ วันที่ 10 ตุลาคม
พระพรหมมังคลาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปคือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ได้มรณภาพลงที่โรงพยาบาลศิริราช
หลังจากที่เข้ารับการรักษาอาการอาพาธตั้ง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สิริอายุ 96 ปี

ประวัติ
พลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เกิดที่ตำบลคูหาสวรรค์
อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2454
เดิมมีนามว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ
หลังใช้ชีวิตฆราวาสจนมีอายุได้ 18 ปี
ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุปนันทนาราม จ.ระนอง
โดยมีพระระณังคมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเป็น
พระภิกษุที่วัดนางลาด อ.เมือง จ.พัทลุง
โดยมีพระจรูญกรณีย์เป็นอุปัชฌาย์เมื่อปี พ.ศ. 2474

พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) เดิมชื่อ
ปั่น นามสกุล เสน่ห์เจริญ เป็นบุตรของนายวัน-นางคล้าย เสน่ห์เจริญ
มีพี่ชาย 1 คน พี่สาว 2 คน และน้องสาว 1 คน

วัยเด็ก

เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

จากนั้นย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง
จนจบชั้น ม.3ในสมัยนั้น แล้วไม่ได้ศึกษาต่อ
เพราะมีอุปสรรคทางบ้าน บิดาป่วย ต้องลาออกเพื่อช่วยเหลือครอบครัว

วัยหนุ่ม
ติดตามหลวงลุงไปประเทศมาเลเซีย
แล้วกลับมาทำงานเหมืองแร่และสวนยางที่ภูเก็ต
อายุ 18 ปี บรรพชาเป็นสามเณร
ที่วัดอุปนันทาราม ตำบลเขานิเวศน์ จังหวัดระนอง
ได้เป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประชาบาล เงินเดือนๆ ละ 25 บาท
และได้เรียนนักธรรมไปด้วย
สอบนักธรรมตรีได้ที่ 1 ทั้งมณฑลภูเก็ต
หัวข้อกระทู้ธรรมในการสอบครั้งนั้น คือ
'น สิยา โลกวฑฺฒโน-ไม่ควรเป็นคนรกโลก'
อายุ 20 ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ที่วัดนางลาด ตำบลเขาเจียก อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
โดยมี พระครูจรูญกรณีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์

เทศน์ครั้งแรก
ที่วัดปากนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ร่วมธุดงค์ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ที่ประเทศพม่ากับพระภิกษุชาวอิตาเลี่ยนชื่อ 'พระโลกนาถ'
ไปจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม
ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาส
(พระธรรมโกศาจารย์) ปัจจุบันมรณภาพแล้ว)
และท่าน บ.ช.เขมาภิรัต
(พระราชญาณกวี อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร ปัจจุบันมรณภาพแล้ว)
เป็น 'สามสหายธรรม' ร่วมงานเผยแพร่พระพุทธศาสนากันมาตั้งแต่บัดนั้น
ศึกษาภาษาบาลีที่วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร
จนสอบได้ประโยค 4แล้วเกิดสงคราม มหาเอเซียบูรพา
จึงไม่ได้เรียนต่อประโยค 5 ไปจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อ 13 เมษายน 2492 เริ่มเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยการปาฐกถาธรรม
โดยสร้างโรงมุงใบตองตึงขึ้นในที่ของชาวบ้าน
เทศน์ทุกวันอาทิตย์และวันพระ
ออกเทศน์ตามหมู่บ้านโดยรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง
และเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์ชาวเหนือ
จนมีชื่อขึ้นที่เชียงใหม่ในนาม ("ภิกขุ ปัญญานันทะ")
ผู้สนับสนุนคนสำคัญคือ เจ้าชื่น สิโรรส
ท่านเผยแพร่ธรรมะอยู่ที่เชียงใหม่
โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดอุโมงค์
นานถึง 11พรรษา (พ.ศ.2492-2502)
เดินทางไปเผยแพร่ธรรมยังทวีปยุโรป
และร่วมประชุมกับขบวนการศีลธรรมโลก (M.R.A.)
ที่เมืองโคช์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นที่ "พระปัญญานันทมุนี"
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2499
กรมชลประทานอาราธนานิมนต์มาเป็น
เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์
ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

23 พฤษภาคม 2503 - ทำพิธีเปิดวัด
อัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐานบนแท่นในพระอุโบสถ
และเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรีประกาศแต่งตั้ง "พระปัญญานันทมุนี"
เป็นเจ้าอาวาส วัดชลประทานรังสฤษฏ์
เริ่มปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนาให้เป็นไปเพื่อส่งเสริมสติปัญญา
ตามหลักการที่ว่า 'เป็นระเบียบ เรียบง่าย ประหยัด และได้ประโยชน์'
3 สิงหาคม 2503 แสดงพระธรรมเทศนา
ถวายแด่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
ณ พระตำหนักจิตรลดารโรฐาน
ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัฌาย์ และได้บวช ม.ล.ชอบ อิศรศักดิ์
เป็นคนแรก เมื่อ 6 พฤษภาคม 2506
12 สิงหาคม 2512 -เริ่มเปิดสอน
พุทธศาสนาวันอาทิตย์แก่เยาวชน
โดยอาศัยสถานที่ของโรงเรียนชลประทานสงเคราะห์
จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๒๗
เมื่ออาคารโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สร้างเสร็จแล้ว
จึงได้ย้ายมาเรียนมาสอนกันภายใน
วัดชลประทานรังสฤษฏ์
ได้รับพระราบทานสมณศักดิ์
เป็นที่ "พระราชนันทมุนี" เมื่อ 5 ธันวาคม 2514
ได้แสดงธรรมเทศนาถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ๒๕๑๘
ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
19 ธันวาคม 2518 -ได้แสดงพระธรรมเทศนา
ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,
สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชนีนาถ, องคมนตรี
และรัฐมนตรีทุกท่าน ในพระราชพิธี
พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รามาธิบดีอันมีศักดิ์
ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ได้รับรางวัล 'สังข์เงิน' เป็นเกียรติในฐานะ
พระภิกษุผู้เผยแพร่ธรรมะยอดเยี่ยมประจำปี 2520
จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย
ได้รับรางวัล "นักพูดดีเด่น" ประจำปี 2520
ประเภทเผยแพร่ธรรม
จากสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย
เมื่อ 27 พฤษภาคม 2521
เริ่มแสดงปาฐกถาธรรม ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน
สถานีวิทยุกระจายเสียง แห่งประเทศไทย
ถ่ายทอดทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2521
ได้รับปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์)
จากมหาจุฬาลงกรณ์ ราชวิทยาลัย
เมื่อ 9 มกราคม 2524เริ่มโครงการ "พระธรรมทายาท"
อบรมพระภิกษุให้เป็นนักเผยแผ่ธรรมะที่ดี
เป็น "ธรรมทายาท" มิใช่ "อามิสทายาท" ของพระบรมศาสดา
ได้รับถวายปริญญาสังคมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์)
จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ 30 สิงหาคม 2530
ได้รับปริญญาคุรุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์)
จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทรวิโรฒ
เมื่อ 30 สิงหาคม 2532 และ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาทิ
จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์ ฯลฯ.
ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์
เป็นที่ "พระธรรมโกศาจารย์" เมื่อ 5 ธันวาคม 2517
เป็นเจ้าคณะภาค 18 เมื่อปี พ.ศ.2540
ศึกษาหาหลักธรรมหลังจากอุปสมบทได้ไม่นาน
ได้เดินทางไปศึกษาหาหลักธรรมในบวรพุทธศาสนา
หลายจังหวัดที่มีสำนักเรียนธรรมะ เช่น
นครศรีธรรมราช สงขลา และกรุงเทพมหานคร
จนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นที่ 1
ของสังฆมณฑลภูเก็ต และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท
และเอกในปีถัดมาที่ จ.นครศรีธรรมราช
จากนั้นท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านภาษาบาลี
จนสามารถสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค
ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร
แต่เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
ทำให้หลวงพ่อต้องหยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านั้น
แล้วเดินทางกลับพัทลุงภูมิลำเนาเดิม
และได้เริ่มแสดงธรรมในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้
รวมทั้งเดินทางไปจำพรรษาที่วัดสีตวนาราม
และวัดปิ่นบังอร รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย
ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่นี้ก็ได้ศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน
เพื่อเป็นพื้นฐานในการเผยแพร่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป
เผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศพ.ศ. 2475
หลวงพ่อมีโอกาสร่วมเดินทางไปประเทศพม่า
กับพระโลกนาถชาวอิตาลีสหายธรรม
ร่วมเดินทางแสวงบุญไปประเทศอินเดียและทั่วโลก
โดยผ่านทางประเทศพม่าด้วยเท้าเปล่าเพื่อเป็นพุทธบูชา
แต่เมื่อเดินทางถึงประเทศพม่าก็ต้องเดินทางกลับ
ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2476
หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ในต่างประเทศหลายประเทศ จนหลวงพ่อได้ชื่อว่า
เป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทย
ที่ได้เดินทางไปประกาศธรรมในภาคพื้นยุโรป
สหายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุพ.ศ. 2477
หลวงพ่อได้เดินทางไปจำพรรษากับพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
และร่วมเป็นสหายธรรมดำเนินการเผยแพร่หลักธรรมที่แท้จริง
ตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ประกาศธรรมแก่ชาวบ้านที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2492
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่
และได้เริ่มแสดงธรรมในทุกวันอาทิตย์
และวันพระที่พุทธนิคม จ.เชียงใหม่
พร้อมกันนี้หลวงพ่อได้เขียนบทความต่างๆ
ลงในหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือธรรมะขึ้นจำนวนหลายเล่ม
นอกจากนี้ หลวงพ่อได้เดินทางไปประกาศธรรมแก่ชาวบ้าน
ชาวเขาโดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียง
จนชื่อเสียงของหลวงพ่อดังกระฉ่อนไปทั่ว จ.เชียงใหม่
ในนาม "ภิกขุปัญญานันทะ"
ในยุคนี้เองที่หลวงพ่อได้ก่อตั้งมูลนิธิ "เมตตาศึกษา"
ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ และบำเพ็ญศีล
กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย
วัดชลประทานรังสฤษฎ์ในปี พ.ศ. 2502
ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน
ในสมัยนั้น ระหว่างที่ไปเยือนเชียงใหม่มีความประทับใจ
ในลีลาการสอนธรรมะแนวใหม่ของหลวงพ่อ
จึงเกิดความศรัทธาปสาทะในหลวงพ่อ
และในขณะนั้นกรมชลประทานได้สร้างวัดใหม่ขึ้น
ชื่อ "วัดชลประทานรังสฤษฎ์" ที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
จึงได้อาราธนาหลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาส
ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 จนถึงปัจจุบัน
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
ได้ดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
โดยวิธีที่ท่านได้เริ่มปฏิวัติรูปแบบการเทศนาแบบดั้งเดิม
ที่นั่งเทศนาบนธรรมาสน์ถือใบลาน
มาเป็นการยืนพูดปาฐกถาธรรมแบบพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน
พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุผลร่วมสมัย ทันต่อเหตุการณ์
เป็นการดึงดูดประชาชนให้หันเข้าหาธรรมะได้เป็นเป็นอย่างมาก
ซึ่งในช่วงแรกๆ ได้รับการต่อต้านอยู่บ้าง
แต่ต่อมาภายหลังการปาฐกถาธรรมแบบนี้
กลับเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจนถึงบัดนี้
เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวว่า
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจะไปปาฐกถาธรรมที่ใด
ก็จะติดตามไปฟังกันเป็นจำนวนมาก
จนในที่สุดหลวงพ่อได้รับอาราธนา
ให้เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ต่างๆ
และเทศนาออกอากาศทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียง
และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้รับอาราธนาไปแสดงธรรมในต่างประเทศ
เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น
และยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและกล่าวคำปราศรัย
ในการประชุมองค์กรศาสนาของโลกเป็นประจำอีกด้วย

โดยที่หลวงพ่อท่านเป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย
ได้สร้างงานไว้มากมายทั้งด้านศาสนาสังคมสงเคราะห์
ตลอดจนงานด้านวิชาการ ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้รับการเสนอชื่อ
ให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมาย
และเป็นประธานในการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประโยชน์แก่
พระพุทธศาสนาและสังคม เช่น
สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน
เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกโรงพยาบาล กรมชลประทาน 80 ปี (ปัญญานันทะ)
และเป็นประธานในการดำเนินการจัดหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม
ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่
แม้ว่าคำสอนของหลวงพ่อจะเป็นคำสอนที่ฟังง่ายต่อการเข้าใจ
แต่ลึกซึ้งด้วยหลักธรรมและอุดมการณ์อันหนักแน่นในพระรัตนตรัย
หลวงพ่อปัญญานันทภิภขุ
เป็นหนึ่งในบรรดาภิกษุผู้มีชื่อเสียง และเปี่ยมด้วยคุณธรรมเมตตาธรรม
ผู้นำคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมสำหรับชนทุกชั้นที่จะเข้าถึง
หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่กล้า
ในการปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนา ของชาวไทย
ที่ประกอบพิธีกรรมหรูหรา ฟุ่มเฟือย โดยเปลี่ยนเป็นประหยัด
มีประโยชน์และเรียบง่าย
ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้รับการขนานนามว่า
'ผู้ปฏิรูปพิธีกรรมของชาวพุทธไทย' ในปัจจุบัน
เหตุเกิดที่ ทำ...พูด...คิด (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)
ความปกติทางร่างกายนั้น เกิดจากจิตปกติก่อน
ถ้าจิต ปกติแล้ว ร่างกายก็พลอยปกติไปด้วย อะไรๆ ในร่างกาย มันเรียบร้อย
ถ้าร่างกายไม่เรียบร้อย สมองทำงานไม่เรียบร้อย ตับไตไส้พุงก็ไม่เรียบร้อย
ล่อแหลมต่อการที่จะเป็นโรคประสาท
อันนี้มันเกิดจากความคิดผิดปกติของจิต
ที่ปล่อยให้สิ่งภายนอกครอบงำ ไม่เป็นไท
ไม่มีอิสรภาพ ไม่เป็นตัวเอง จึงต้องควบคุมไว้
มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา เวลาทำงานก็รู้อยู่ที่งาน
เวลาหยุดงานก็รู้อยู่ที่จิตที่ความคิดของเรา
อะไรที่เป็นฝ่ายอกุศล เช่น ราคะ โทสะ โมหะ ริษยา อารมณ์อะไร
ที่เรียกว่า กิเลสประเภทต่างๆ เราควรจะรู้จักมันไว้... พออะไรเกิดก็รู้
เช่นจะโกรธแล้ว จะเกลียดอีกแล้ว จะริษยาอีกแล้ว คอยว่ามันไว้
พอมันจะเกิดขึ้น เราไม่เอา ไล่มันออกไปบ่อยๆ ทำนานเข้าจิตมันคล่อง
พอคล่องตัวแล้วมันไม่เกิดไม่กล้ามาแล้ว
มาทีไรถูกน็อกทุกที มันก็ถอยไป ไม่ยุ่งกับเราต่อไป
เราก็จะอยู่ได้สงบทุกกาลทุกเวลา
ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เรามีจิตใจสงบ
ใครจะมาด่าเราก็เฉยๆ เขาบอกว่าคนนั้นคนนี้นินทาไม่เป็นไร
เรื่องธรรมดา ไม่มีอะไร
ถ้าเราไม่โกรธไม่เกลียดใคร จะรู้สึกว่ามันมี
ความสุขสบายใจเหลือเกินในสภาพอย่างนั้น
ขณะที่เรามีใจสงบนั่นแหละ พระมีในใจของเรา ศาสนาอยู่กับเรา
การรักษาพระศาสนา ก็คือ
การรักษาตัวเราให้มีจิตใจสงบ
รู้เท่ารู้ทันต่อปัญหาของชีวิต
อะไรเกิดขึ้นเราก็แก้ได้
ไม่ต้องไปเที่ยวบนบานศาลกล่าว
ไม่ต้องไปขอให้ใครสะเดาะความทุกข์ความโศกให้เรา
เราเป็นหมอของเรา เอง เราแก้ของเราเองด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า
ไม่ต้องไปใช้ให้คนอื่นทำให้
คนที่ให้คนอื่นทำให้ คือ ยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นอะไร
เลยต้องไปขอร้องให้สะเดาะเคราะห์สะเดาะโศกให้หน่อย อย่างนี้เป็นตัวอย่าง
เราสะเดาะของเราเองด้วยปัญญาของเรา ด้วยสติของเรา
แล้วสิ่งนั้นมันไม่มารบกวนให้เกิดปัญหาต่อไป
นี่แหละ คือ ประโยชน์ของพระศาสนา...
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐)
(จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 78 เม.ย. 50
โดยพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
คัดลอก: ผู้จัดการออนไลน์

ทำสิ่งที่หลวงพ่อปัญญาชอบ พระพยอมสอนชาวพุทธคิด
[11 ต.ค. 50 - 07:16]
พระพิศาลธรรมพาที หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว
กล่าววันนี้ (11 ต.ค.) ในรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้"
ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อสมท กรณีพระพรหมมังคลาจารย์
หรือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤฤษฏ์
มรณภาพด้วยโรคปอดอักเสบ และไตวายเฉียบพลัน
เช้าวานนี้ ว่า ทุกคนต้องอย่าตกใจว่าเราเสียแล้ว
แต่ต้องมองให้ได้ ต้องคิดร้ายให้กลายเป็นดี ว่า
จะได้อะไรตามมาอีกมากในเสียหนนี้ อาทิ
กระทรวงศึกษาธิการจะเสนอให้องค์การยูเนสโก
ประกาศยกย่องให้หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก
หรือ การได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้ซีดี เทป
หนังสือของหลวงพ่อทุกคืนที่ไปร่วมงานศพ
และได้ข้อคิดจากเทศน์ เทป หนังสือต่างๆเหล่านั้น
เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวต่อว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ทำประโยชน์มามากเพียงพอแล้ว จึงไม่ควรไปทรมานสังขารท่าน
อาตมาก็จะตั้งหน้าตั้งตาเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
จะไม่ไปเสียเวลาร่วมงานของท่านมากนัก
วันนี้จะกราบศพของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
จากนั้นก็จะไปเทศน์ต่อ ทำงานสืบทอด อุทิศส่วนกุศลให้ท่าน
ไม่ไปเฝ้าศพท่าน โดยอาจจะไปเป็นเจ้าภาพสวดเทศน์สักคืน
จากนั้นเทศน์เผยแผ่พระพุทธศาสนาอุทิศส่วนกุศลให้ท่านทุกวัน
นี่คือสิ่งที่ท่านชอบที่สุด เราต้องทำสิ่งที่ท่านชอบที่สุด