Custom Search

Oct 7, 2007

ทันโลกด้วย "The World is Flat" : Dr. Varakorn Samakoses


อาหารสมอง
วีรกร ตรีเศศ

Varakorn@dpu.ac.th
มติชนรายสัปดาห์

วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2549


ในโลกของเราที่นอกจากไม่มีอะไรจะฟรีแล้ว
ยังแสนแคบอีกด้วยเพราะเทคโนโลยีเป็นสำคัญนั้น
มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความแคบให้เห็นอยู่หลายเรื่อง
อย่างน่าแปลกใจ และอย่างสามารถเอาไปคิดต่อให้เกิดประโยชน์


อินเดียและจีนสองยักษ์ใหญ่ของโลกด้วยประชากร 1,000 ล้านคน
และ 1,300 ล้านคนตามลำดับ เป็นแหล่งของ
outsourcing
(การจ้างไปผลิตบางส่วนของสินค้า
หรือการจ้างให้ทำบริการ) และ offshoring
(การจ้างผลิตสินค้าทั้งชิ้นนอกประเทศ)
ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา บางประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯลฯ


เมืองบังกะลอร์ของอินเดีย (อยู่ใกล้เมืองที่ผู้นับถือท่านไสบาบาเขาไปกัน)
เป็นแหล่งของสองสิ่งข้างต้น โดยเฉพาะในเรื่อง IT
มีบริษัทใหญ่ของสหรัฐอเมริกาไปตั้งเคียงข้างบริษัทท้องถิ่น
ที่คนอินเดียร่วมทุนกับต่างประเทศ หรือคนท้องถิ่นเป็นเจ้าของเองอยู่มากราย
อินเดียในแต่ละปีมีคนจบมหาวิทยาลัย 2.5 ล้านคน
(มีวิศวกรอยู่ 350,000 คน) จบ MBA 90,000 คน


นัก IT ของอินเดียชั้นยอดอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่จบจาก
India Institute of Technology ที่มีชื่อเสียงซึ่ง
เข้าเรียนได้ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะมีที่นั่งจำกัดแต่มีคนเก่งนับล้านคน
ต้องการเข้าเรียน ในแต่ละปี

หนึ่งในสามของคนที่จบจะไปเป็นวิศวกรในสหรัฐอเมริกา
จีนนั้นมีเมืองต้าเหลียน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปักกิ่ง
เดินทางโดยเครื่องบินใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง


ต้าเหลียนตั้งอยู่ใกล้ญี่ปุ่น มีผู้พูดภาษาญี่ปุ่นได้จำนวนพอควร
มีสถาบันอุดมศึกษา 22 แห่ง มีนักศึกษา 200,000 คน
หนึ่งในสามของนักศึกษาเรียนภาษาญี่ปุ่น
ต้าเหลียนเป็นเมืองที่กำลังรับงาน outsourcing
ในด้านบริการจากญี่ปุ่นมากขึ้นทุกวัน
ตัวอย่าง outsourcing และ offshoring
อันเป็นผลจากความแคบลงของโลกมีดังนี้

(1) ในปัจจุบันคนอินเดีย รับจ้างตรวจแบบภาษีเงินได้
ของคนอเมริกันกว่าปีละ 500,000 ราย
โดยบริษัทตรวจภาษีในอเมริกาส่งไฟล์ที่เป็นข้อมูล
ซึ่งลบชื่อเจ้าของมาให้แรงงานอินเดียตรวจแทน
ด้วยค่าจ้างต่ำกว่ากัน 3-5 เท่า โดยผู้จ้างไม่รู้แม้
แต่น้อยว่า คนอินเดียเป็นคนตรวจแบบให้


(2) คนอินเดียทำงาน call center ในบังกะลอร์ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน
ทำหน้าที่รับคำบ่น ให้คำปรึกษา (ติดตามหากระเป๋าที่หาย จากไฟลต์การบิน)
สอนการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เสนอขายบัตรเครดิต
ติดตามการชำระเงิน จองร้านอาหาร ฯลฯ ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่าคนอเมริกันหลายเท่า
คนอเมริกันที่โทรศัพท์ฟรีเข้าไปติดต่อขอความช่วยเหลือ
จากบริษัทผู้ขายสินค้า และบริการ ไม่รู้ว่าตนเองกำลังโทร.ไปบังกะลอร์
และคนที่พูดด้วยนั้นคือ คนอินเดีย
(มีการฝึกหัดให้พูดสำเนียงอเมริกัน ถึงแม้จะไม่เหมือนทีเดียว
แต่ก็ให้ความรู้สึกดีกว่าสำเนียงอินเดีย)

(3) บริการเลขานุการจากอินเดียราคาเพียงเดือนละ
150 เหรียญสหรัฐ ช่วยทำ Power-Point ค้นหาข้อมูล
พิมพ์จดหมาย ทำกราฟข้อมูล จองตั๋วหนัง จองสนามกอล์ฟ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ทำได้แสนง่ายดายผ่านค่าโทรศัพท์ที่แสนถูก


(4) E-Tutoring หรือบริการสอนหนังสือเพิ่มเติมตัวต่อตัว
ให้แก่เด็กอเมริกันโดยครูอินเดียในค่าจ้างเพียงชั่วโมงละ 15-20 เหรียญสหรัฐ
(ถ้าเป็นครูอเมริกันก็ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 100 เหรียญสหรัฐ)
ทุกเย็นจะมีการสอนกันข้ามทวีปผ่านจอคอมพิวเตอร์
ช่วยอธิบายการบ้าน (ใช้ Voip หรือโทรศัพท์ผ่านคอมพิวเตอร์)
ให้การบ้านเพิ่มเติม ฯลฯ

(5) ภาพจาก CAT หรือ MRI สามารถอ่านข้ามทะเลโดยหมออินเดีย
หรือหมอออสเตรเลีย เพื่อเป็นความเห็นที่สอง
นอกเหนือจากหมออเมริกันที่อ่าน และวินิจฉัยแล้ว
เวลาอินเดียต่างจากตะวันออกของอเมริการาว 12 ชั่วโมง
ดังนั้น เมื่อส่งภาพไปอินเดียแล้วในขณะที่หมออเมริกัน
นอนหลับนั้นหมออินเดียก็ทำงาน และเมื่อหมออเมริกันตื่นขึ้น
งานก็วางอยู่บนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว


(6) การวิเคราะห์ผลประกอบการของบริษัทขนาดกลาง
กระทำโดยพวกจบ MBA ของอินเดียให้แก่สื่ออเมริกัน
เพื่อให้สื่อมีเวลาเพียงพอ สำหรับการวิเคราะห์บริษัทขนาดใหญ่ได้ลึกซึ้ง
และทำให้สื่อสามารถรายงานวิเคราะห์การเงิน
ที่ครบถ้วนของทุกบริษัทที่อยู่ในความสนใจ

(7) สถาปนิกญี่ปุ่นจ้างคนจีนในต้าเหลียนให้รันโปรแกรม CAT
ซึ่งเป็นภาพสามมิติของบ้านที่ออกแบบแล้ว
ให้ลูกค้าดูด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าในญี่ปุ่นหลายเท่า


(8) หมอญี่ปุ่นวิเคราะห์ความเจ็บไข้ของคนป่วย
ด้วยการเขียนเป็นลายมือ และอัดเสียงพูดบนเทป
หากจะเขียนเป็นรายงาน ก็ต้องใช้เวลานานเป็นสัปดาห์
แต่เมื่อจ้างคนจีนข้ามประเทศพิมพ์ออกมา
พร้อมกับถอดคำพูดเป็นตัวพิมพ์ ก็สามารถทำได้สำเร็จ
ข้ามคืนในราคาที่แสนถูก
สหรัฐอเมริกาก็มีตัวอย่างของ outsourcing ที่น่าสนใจ
เช่น งานการจองตั๋วทั้งหมดของสายการบินโลว์คอสต์ Jet Blue
กระทำโดยแม่บ้าน 400 คน ที่ผ่านการอบรม
และทำงานอยู่ที่บ้านในเมือง Salt Lake City รัฐ Utah
แม่บ้านเหล่านี้ทำงานกันอาทิตย์ละ 25 ชั่วโมง
โดยไม่ต้องมีโต๊ะทำงาน สามารถทำงานบ้าน
และเลี้ยงลูกไป พร้อมกับรับโทรศัพท์จองตั๋ว

ปัจจุบันเรียกงานลักษณะแบบนี้ที่มีมากขึ้นทุกทีว่า Homesoureing
(ในอเมริกามีคนทำงานลักษณะนี้กันถึง 23.5 ล้านคน
หรือร้อยละ 16 ของแรงงานทั้งหมด)
มีสองสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
ลดลงมากจนทำให้งานลักษณะที่กล่าวมา
สามารถทำข้ามประเทศได้ สาเหตุแรก
มีการลงทุนกันมากมายวางสายเคเบิลใยแก้วข้ามทวีป
ในทศวรรษ 1990 วางพาดลงไปในทะเลมหาสมุทร
และขึ้นมาบนบกไปทั่วสารทิศ จนมีมากเกินไปอย่างไม่พอดีกับการใช้
จนถึงกับทำให้ธุรกิจใหญ่หลายราย
ล้มละลายต้องตัดราคาการใช้แข่งกันเพื่อให้พออยู่ได้
ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของชาวโลกในปัจจุบัน
สาเหตุที่สอง เมื่อเกิดการพังทลายในตลาดหุ้นของหุ้น
ประเภทไฮเทคที่เรียกว่า Dot-com bust
อันเนื่องมาจากเก็งกำไรกันอย่างสุดสุด

ในยุคกลางทศวรรษ 1990 บริษัทที่ถูกกระทบ
ก็พยายามตัดค่าใช้จ่าย หันไปหันมาก็พบว่า outsourcing
หรือจ้างผลิตในอินเดียเป็นวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่าย
บริษัท GE (General Electric)
จึงเป็นผู้นำในปลายทศวรรษ 1990
ต่อมาบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาก็ตามไปอินเดียกันเป็นแถว
เมื่อเกิดความกลัวเรื่อง Y2K ก่อนถึงปี 2000
กล่าวคือ เกรงว่าคอมพิวเตอร์จะก๊งเมื่อถึงปี ค.ศ.2000
เพราะคอมพิวเตอร์ส่วนหนึ่ง รู้จักเลข 99 ว่าคือปี 1999
แต่พอถึงปี 2000 ก็จะเป็นเลข 00 ซึ่งมันไม่รู้จัก
อาจเข้าใจว่าเป็นปี 1900 ก็จะเกิดปัญหารวนขึ้น
จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้
งาน Y2K นี้นัก IT อินเดียรับจ๊อบไปเต็มๆ
เพราะรับช่วงงานมาจากบริษัทอเมริกันอีกต่อหนึ่ง


ข้อมูลทั้งหมดที่ผมเขียนในวันนี้เอามาจากหนังสือชื่อ
The World is Flat (2005) โดย Thomas Friedman

หนังสือที่ดังระเบิดจนขายได้เกือบ 2 ล้านเล่มแล้ว

ขณะนี้มีเวอร์ชั่นภาษาไทยแล้ว คุณรอฮีม ปรามาท
แห่งมติชนเป็นผู้แปลอย่างน่าอ่านมาก
ถ้าใครอยากเข้าใจเรื่อง supply chain
หรือห่วงโซ่อุปทานอย่างสนุก ต้องไม่พลาดหนังสือเล่มนี้
ซึ่งมีการพูดถึงกรณีของ Wal-Mart (ร้านสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก)
หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลอีกมากมายที่ทันสมัย
และหลายคนไม่เคยรู้มาก่อนเพื่อให้ก้าวทันโลก