Custom Search

Dec 31, 2007

ของขวัญจากหลวงปู่ดุลย์ อตุโล




คอลัมน์ คุยกับประภาส

ประภาส ชลศรานนท์

มติชนรายวัน

8 ม.ค. 49

("แก่นธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล")







เทศกาลปีใหม่ผ่านไปแล้ว นับเป็นปีใหม่ที่ดีปีหนึ่งที่ยังได้ยินเสียงหัวเราะ
และได้เห็นรอยยิ้ม พิมพ์อยู่บนใบหน้าผู้คนเป็นส่วนใหญ่

ก็ได้อาศัยเทศกาล นี้ละครับที่ปีๆ หนึ่งได้กลับมาระลึกถึง
ผู้คนรอบข้างที่เราเคยผูกพัน ด้วยไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องชีวิต
แล้วก็นำของขวัญไปมอบให้กัน ของที่อยู่ในกระเช้าหรือในกล่องนี่

สำหรับผมแล้ว ผมว่าสำคัญน้อยกว่าความชุ่มชื่นหัวใจ
ที่ได้เห็นมนุษย์รู้สึกดีต่อกันใน บรรดาของขวัญทั้งหมดที่ผมได้รับในปีนี้
มีอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นชิ้นที่เมื่อ ผมเปิดออกดูแล้ว
พบแต่ความร่มรื่นในชีวิตผมจะแกะให้ท่านผู้อ่านดูกันครับ

ขณะที่หลวงปู่ เดินทางไปพักผ่อนที่วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี
มีพระเถระอาวุโสรูป หนึ่งจากกรุงเทพฯ คือ
พระธรรมวราลังการ
สนใจการฝึกกัมมัฏฐานอยู่แล้ว

ได้เข้ามาถามถึง ผลของการปฏิบัติ
ทำนองสนทนาธรรมกัน
และกล่าวถึงภาระของท่านว่า
มัวแต่ศึกษาและ บริหารงานการคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา
แล้วก็สนทนาข้อกัมมัฏฐานกับหลวง ปู่เป็นเวลานาน
ลงท้ายถามหลวงปู่สั้นๆ ว่า
ท่านยังมีโกรธ อยู่ไหม ฯ
หลวงปู่ตอบเร็วว่า
"มี แต่ไม่เอา"

คณะแม่ บ้านมหาดไทยโดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะ
ได้เคยนำคณะแม่ บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน
ได้ถือโอกาสแวะ นมัสการหลวงปู่
หลังจากกราบนมัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวง ปู่แล้ว

เห็นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย ก็รีบออกมา
แต่ก็ยังมีสุภาพ สตรีท่านหนึ่งถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า

"ดิฉันขอของดีจาก หลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ"
หลวงปู่จึงเจริญพรว่า
"ของดีก็ต้อง ภาวนาเอาจึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้ว
ใจก็สงบ กาย วาจา ก็สงบ แล้วกายก็ดี วาจาใจก็ดี เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง"

สุภาพสตรีท่าน นั้นจึงว่า
"ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาจะนั่งภาวนาได้
งานราชการ เดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะ"

หลวงปู่จึงต้อง อธิบายให้ฟังว่า

"การภาวนาต้องกำหนดดูที่ลมหายใจ
ถ้ามีเวลาสำหรับ หายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา"
…………………………………………………………………..

สุภาพสตรีท่าน หนึ่ง เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์
เมื่อฟังธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่ จบแล้ว
ก็อยากทราบถึงวิธีไว้ทุกข์ที่ถูกต้องตามธรรมเนียม โดยปรารภว่า

"คนสมัยนี้ไว้ทุกข์ไม่ค่อยจะถูกต้องและตรงกัน
ทั้งๆ ที่สมัย ร.6 ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างดีอยู่แล้ว เช่น
เมื่อญาติพี่น้อง หรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง
ก็ให้ไว้ทุกข์ 7 วันบ้าง 50 วันบ้าง 100 วันบ้าง
แต่ปรากฏว่าคนทุกวันนี้ทำอะไรรู้สึกลักลั่นกันไม่เป็นระเบียบ
ดิฉัน จึงขอเรียนถามหลวงปู่ว่า
การไว้ทุกข์ที่ถูกต้องนั้น ควรไว้อย่างไรเจ้าคะ"
หลวงปู่บอกว่า

"ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม"
…………………………………………………………………………

สำนักปฏิบัติ แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาของหลวงปู่นั่นเอง
อยู่ด้วยกันเฉพาะพระประมาณห้า หกรูป
อยากจะเคร่งครัดเป็นพิเศษ
ถึงขั้นสมาทานไม่พูดจากันตลอดพรรษา
คือ ไม่ให้มีเสียงเป็นคำพูดออกจากปากใคร
ยกเว้นการสวดมนต์ทำวัตร
หรือสวด ปาฏิโมกข์เท่านั้น
ครั้นออกพรรษาแล้ว
พากันไปกราบหลวงปู่เล่าถึงการ ปฏิบัติอย่างเคร่งของพวกตนว่า
นอกจากปฏิบัติข้อวัตรอย่างอื่นแล้ว
สามารถ หยุดพูดได้ตลอดพรรษาอีกด้วย

หลวงปู่ฟังแล้วยิ้มหน่อยหนึ่ง พูดว่า

"ดีเหมือนกัน เมื่อไม่พูดก็ไม่มีโทษทางวาจา
แต่ ที่ว่าหยุดพูดได้นั้น เป็นไปไม่ได้หรอก
นอกจากพระอริยบุคคล ผู้เข้านิโรธสมาบัติขั้นละเอียด
ดับสัญญาเวทนาเท่านั้นแหละที่ไม่พูดได้
นอก นั้นพูดทั้งวันทั้งคืน ยิ่งพวกที่ตั้งปฏิญาณว่า
ไม่พูดนั่นแหละยิ่งพูด มากกว่าคนอื่น
เพียงแต่ไม่ออกเสียงให้คนอื่นได้ยินเท่านั้นเอง"
…………………………………………………………….

หลวงปู่ชอบแนะนำ ส่งเสริมพระเณรให้ใส่ใจเรื่อง
ธุดงคกัมมัฏฐานเป็นพิเศษมีอยู่ครั้งหนึ่ง
พระสานุศิษย์มา ชุมนุมกันจำนวนมาก
ทั้งแก่พรรษาและอ่อนพรรษา
หลวงปู่ชี้แนวทางว่าให้ พากันไปอยู่ป่าหาทางวิเวก
หรืออยู่ตามเขาตามถ้ำเพื่อเร่งความเพียร
จะ ได้พ้นจากภาวะตกต่ำทางจิตบ้าง

ก็มีพระรูปหนึ่งพูดออกมาพล่อยๆ ว่า
"ผมไม่กล้าไปครับ เพราะผมกลัวผีหลอก"
หลวงปู่ตอบเร็ว ว่า

"ผีที่ ไหนเคยหลอกพระ มีแต่พระนั่นแหละหลอกผี
และตั้งขบวนการหลอกผีเป็นการใหญ่ เสียด้วย
คิดดูให้ดีนะ วัตถุสิ่งของที่ชาวบ้านเขาเอามาบริจาคทำบุญนั้น
แทบ ทั้งหมดล้วนทำเพื่ออุทิศส่งไปให้ผีทั้งนั้น
ผีพ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติพี่ น้องเขา
แล้วพระเราเล่าประพฤติตนเหมาะสมแล้วหรือ
มีคุณธรรมอะไรบ้าง ที่จะส่งผลให้ถึงผีได้
ระวังอย่ามาเป็นพระหลอกผี"
…………………………………………………………………

ก็มีพระนัก ปฏิบัติคณะหนึ่งจากภาคกลาง
ไปพักอยู่หลายวันเพื่อฟังธรรมและเรียนถาม กัมมัฏฐานกับหลวงปู่
พระรูปหนึ่งพรรณนาความรู้สึกของตนว่า

"กระผมเข้าหาครู บาอาจารย์มาก็หลายองค์แล้ว
ท่านก็สอนดีอยู่หรอก แต่ส่วนมากมักสอนแต่เรื่องระเบียบวินัย
หรือ วิธีทำกัมมัฏฐาน และความสุขความสงบอันเกิดจากสมาธิเท่านั้น
ส่วนหลวงปู่นั้นสอนทางลัด ถึงสิ่งสุดยอด อนัตตา สุญตา ถึงพระนิพพาน
กระผมขออภัยที่บังอาจถามหลวง ปู่ตรงๆ ว่า
การที่หลวงปู่สอนเรื่องนิพพานนั้น
เดี๋ยวนี้หลวงปู่ถึง นิพพานแล้วหรือยัง"

หลวงปู่ปรารภว่า
"ไม่มีอะไรจะถึง และไม่มีอะไรจะไม่ถึง"
…………………………………………………

ปัญญาโลกแตก ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ทั้งคนปัญญาดีและคนปัญญาอ่อน
นำมาถกเถียงกัน อย่างไม่เกิดประโยชน์และ
ตกลงกันไม่ได้สักทีว่าไก่กับไข่อย่างไหนเกิด ก่อน
ซึ่งส่วนมากเป็นการถามตอบเพื่อเถียงกันเล่น
แล้วจบลงไม่ได้ ก็ยังมีผู้นำไปถามโดยคิดว่าหลวงปู่คงไม่ตอบปัญหาแบบนี้
ในที่สุดก็ได้ ฟังคำตอบของหลวงปู่อย่างไม่เหมือนใครเลย คือ
วันหนึ่งพระเบิ้ม
เข้าไป ปฏิบัตินวดเท้าถวายท่านแล้วถามว่า

"หลวงปู่ ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน"
หลวงปู่บอกว่า "เกิดพร้อมกันนั่นแหละ"
………………………………………………………………………

ครั้งหนึ่งหลวง ปู่เคยบอกว่า การอยากรู้เรื่องนิพพาน
ก็เหมือนปลาถามเต่า มรรค ผล นิพพาน
เป็น สิ่งปัจจัตตัง คือ รู้เห็นได้ จำเพาะตนโดยแท้
ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง ผู้นั้นเห็นเอง
แจ่มแจ้งเองหมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง
มิ ฉะนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่ร่ำไป
แม้จะมีผู้สามารถอธิบายให้ลึกซึ้งอย่าง ไร
ก็รู้ได้แบบเดา สิ่งใดยังเดาอยู่สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน
แล้วหลวง ปู่ก็ว่าที่อุปมาอย่างปลาถามเต่าก็คือ
เต่าอยู่ได้สองโลก คือ โลกบนบกกับโลกในน้ำ
ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียว คือ ในน้ำ ขืนมาบนบกก็ตายหมด

"วันหนึ่ง เต่าลงไปในน้ำ
แล้วก็พรรณนาความสุข สบายบนบกให้ปลาฟัง
ว่ามันมีแต่ความสุขสบาย แสงสีสวยงาม
ไม่ต้องลำบาก เหมือนอยู่ในน้ำ ปลาพากันฟังด้วยความสนใจ
และอยากเห็นบก จึงถามเต่าว่าบนบกนั้นลึกมากไหม
เต่า ว่ามันจะลึกอะไร ก็มันบกเอ... บนบกนั้นมีคลื่นมากไหม
มันจะคลื่นอะไรก็มันบก เอ... บนบกนั้นมีเปือกตมมากไหม
มันจะมีเปือกตมอะไรก็มันบก ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม
เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ""

จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา"
………………………………………………………

หลวงปู่ที่ผม เล่าให้ฟังนี้
ท่านคือหลวงปู่ ดุลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์
ท่านเป็นศิษย์รุ่น แรกของหลวงปู่มั่น
พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายอรัญวาสีของสังคมไทย
หลวงปู่ ดุลย์ท่านละสังขารไปยี่สิบปีกว่าปีแล้ว
แต่ถึงทุกวันนี้ก็นับได้ว่าท่าน เป็นอริยสงฆ์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาศึกษาธรรม
และเดินตามรอยท่านอยู่เป็น จำนวนมากของขวัญชิ้นพิเศษสุดที่ผมพูดถึงก็คือ
หนังสือเล่มเล็กๆ ที่คุณแม่ผมได้มาจากการทำบุญที่สำนักสงฆ์แถวๆ บ้าน
ที่ผมยกตัวอย่างมา เล่าย่อๆ ให้ฟังนี้เป็นแค่ส่วนน้อยครับ
อยากให้หามาอ่านกันครับ
อ่าน แล้วเย็นกายเย็นใจดีจริงๆ
(ที่หลังปกหนังสือลงที่อยู่ไว้เพื่อติดต่อดังนี้ คุณสุภาพร 0-2513-3989)






100 ปี ไอน์สไตน์


ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

อี-เมลจากคุณ SARAVUTH...

ในปี ค.ศ. 2004 มีการกล่าวถึงการฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์ แต่ก็ได้ยินมาเช่นกันว่า
ปี 2004 ยังไม่ใช่ปี 100 ปี ไอน์สไตน์ที่แท้จริง ต้องเป็นปี 2005
จึงขอเรียนถามอาจารย์ว่า ที่ถูกต้องเป็นอย่างไรกันแน่

100 ปี ไอน์สไตน์ที่กล่าวถึงกันนั้นเป็นปี 2004 หรือปี 2005 และจริงๆ แล้ว ผมก็ยังไม่เข้าใจนักว่า 100 ปี ไอน์สไตน์ที่กล่าวถึงกันนั้น เป็น 100 ปี อะไรเกี่ยวกับไอน์สไตน์
เพื่อที่ผมและเพื่อนๆ จะได้ร่วมฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์ด้วย ถ้ายังไม่สายเกินไป?

ถูกต้องแล้วครับที่มีการกล่าวถึง 100 ปี ไอน์สไตน์กันมากในปี ค.ศ. 2004
และข้อสงสัยของคุณ Saravuth คงจะหายไปทันทีเมื่อทราบว่า การฉลอง 100 ปีของไอน์สไตน์ที่กำลังกล่าวถึงอยู่ขณะนี้ เป็นการฉลองอะไรที่เกี่ยวกับไอน์สไตน์

การฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์นี้ เป็นการฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี ของการเสนอหรือให้กำเนิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity) ของไอน์สไตน์
เมื่อปี ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) หรือเมื่อ 100 ปีมาแล้ว
ซึ่งเมื่อนับถึงปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ก็เป็นปีที่ถึงปี 100 ของกำเนิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ
แต่เมื่อนับถึงปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ก็ยังฉลอง 100 ปี

ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ได้อยู่ดี เพราะปี 2005
ก็เป็นปีที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพได้ถือกำเนิดมาแล้วครบ 100 ปีโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ทั่วโลกจึงฉลอง 100 ไอน์สไตน์กันทั้งปี ค.ศ. 2004 และปี ค.ศ. 2005 ครับ

จริงๆ แล้ว ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ มีสองภาค คือ ภาคพิเศษ
(เรียกทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ หรือ Special Theory of Relativity)
และภาคทั่วไป (เรียกทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป หรือ General Theory of Relativity) ภาคพิเศษเป็นภาคที่ไอน์สไตน์เสนอเมื่อปี ค.ศ. 1905 หลังจากนั้นสิบปี คือถึงปี ค.ศ. 1915
ไอน์สไตน์จึงเสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป

ดังนั้นการฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์ในปี ค.ศ. 2004 หรือ 2005 จริงๆ แล้ว
จึงเป็นการฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษของไอน์สไตน์
อย่างไรก็ตาม จากความสำคัญของทฤษฎีสัมพัทธภาพภาพพิเศษและหลักการพื้นฐานที่เหมือนกันของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งสองภาค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความเร็วของแสงว่า เป็นความเร็วคงที่ ไม่ขึ้นอยู่กับสภาพการเคลื่อนที่ของต้นกำเนิดแสงและผู้สังเกต

ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงจุดกำเนิดของทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ปี ค.ศ. 1905
จึงเป็นปีที่เป็นเสมือนกับจุดเริ่มต้นของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งหมด

ถ้าคุณ Saravuth และเพื่อนๆ ยังไม่ได้ร่วมฉลอง 100 ปีไอน์สไตน์ในปี ค.ศ. 2004 มา ปี ค.ศ. 2005 ก็ยังไม่สายเกินไปครับ

สมการ E = mc2 ที่มักเรียกกันเป็นสมการของไอน์สไตน์ เกี่ยวข้องกับ การฉลอง 100 ปี ไอน์สไตน์หรือไม่ครับ?

สมการ E = mc2 เป็นสมการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสสารกับพลังงาน เป็นสมการหรือผลที่สำคัญที่สุดสมการหนึ่งจากทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษของไอน์สไตน์ ดังนั้นถ้าจะฉลองปี 2004 หรือ 2005 เป็น 100 ปีของสมการ E = mc2 ก็ได้ และมีอยู่หลายกลุ่มหลายองค์กรทั่วโลกที่สนใจ เรื่องราวของไอน์สไตน์ก็ฉลองปี 2004 หรือ ปี 2005 เป็นการฉลอง 100 ปี สมการ E = mc2 ครับ

ไอน์สไตน์เคยคิดผิดไหมครับ ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์?

ไอน์สไตน์ได้รับการยกย่องเป็นอัจฉริยะ นักวิทยาศาสตร์ผู้ถ่อมตนที่สุด และในหนังสือ “ไอน์สไตน์ผู้พลิกจักรวาล” ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล (ผู้เขียน) และผมก็เห็นด้วย...
ยกย่องไอน์สไตน์เป็น “ยักษ์ใหญ่ใจดีผู้ไม่หลงตนเอง” เพราะไอน์สไตน์จะกล่าวอย่างถ่อมตนเสมอในความสำคัญหรือบทบาทของเขาต่อความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์
ซึ่งสรุปอย่างสั้นๆ ก็คือ ไอน์สไตน์ไม่คิดว่า ทฤษฎีของตนเอง ความคิดของไอน์สไตน์เอง จะต้องถูกต้องเสมอไป

ไอน์สไตน์ยอมรับว่า ในชั่วชีวิตของไอน์สไตน์ ก็คิดผิดอยู่บ่อยๆ หลายเรื่อง แต่เรื่องที่ไอน์สไตน์รับว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการคิดผิดที่ไอน์สไตน์เองเสียใจหรืออับอายที่สุดมีอยู่สองเรื่อง
เรื่องหนึ่งที่ไอน์สไตน์บอกว่า เสียใจที่สุด คือ การลงนามในจดหมายถึงอดีตประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ สหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของโครงการแมนฮัตตัน นำไปสู่การสร้างระเบิดอะตอมที่ถูกนำไปถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อ ปี พ.ศ. 2488 ...

อีกเรื่องหนึ่งที่ไอน์สไตน์บอกว่า เป็นการคิดผิดที่เขาอับอายที่สุด คือ การแก้สมการคำตอบจากการนำเอาทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของเขา ไปทดสอบใช้กับสภาพของจักรวาล
เมื่อปี พ.ศ. 2460

ซึ่งขณะนั้นเชื่อกัน (ในวงการวิทยาศาสตร์ ทั่วโลก) ว่าจักรวาลมีสภาพคงที่ ไม่ใช่จักรวาลแบบกำลังขยายตัว แต่ผลจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ออกมาว่า จักรวาลกำลังขยายตัว ไอน์สไตน์จึงแก้สมการคำตอบ โดยเพิ่มค่าคงที่ขึ้นมา เรียกว่า Cosmological Constant ซึ่งทำให้คำตอบจากทฤษฎีสัมพัทธภาพออกมาสอดคล้องกับความจริง (ที่เข้าใจกันอย่างผิดๆ ในขณะนั้น)

จนกระทั่งต่อมา เมื่อนักดาราศาสตร์โลกได้หลักฐานที่ชัดเจนว่า ความเข้าใจเดิมของวงการวิทยาศาสตร์ต่อสภาพของจักรวาลนั้นผิด เพราะจริงๆ แล้ว จักรวาลกำลังขยายตัว
ไอน์สไตน์จึงออกมายอมรับว่า การเพิ่มค่าคงที่ Cosmological Constant ของเขานั้น
ไม่จำเป็น

จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของไอน์สไตน์เขาเองก็กล่าวเสมอว่า ทฤษฎีหรือความคิดในเรื่องของวิทยาศาสตร์ของเขา ก็อาจผิดได้เสมอ เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเช่นนั้น
เนื่องจากมนุษย์เรา ไม่มีเครื่องมือใดๆ จะตรวจสอบได้ว่า ทฤษฎีหรือความคิดหรือองค์ความรู้ใดๆ ของวิทยาศาสตร์ เป็นที่สุดของความจริงแล้ว และสำหรับวงการวิทยาศาสตร์

การค้นพบหลักฐานข้อมูลหรือองค์ความรู้ใหม่ ที่ขัดแย้งหรือลบล้างทฤษฎีเก่า ความรู้เก่า มิใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด หากเป็นความก้าวหน้าเสียอีก ดังนั้น สำหรับ นักวิทยาศาสตร์นักคิดที่เชื่อหรือมั่นใจว่า ทฤษฎี ของไอน์สไตน์ผิด ก็ขอให้มุ่งมั่นเดินหน้าต่อ เพราะโอกาสที่จะสร้างทฤษฎีใหม่ หรือค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าของไอน์สไตน์ มีอยู่เสมอครับ

จะอธิบายอย่างไรเมื่อคนตั้งคำถาม ทำไมทำดีไม่ได้ดี : Prapas.com


ภาพประกอบ คุณ ชัย ราชวัตร

คุยกับประภาส

สวัสดีพี่ประภาส สามปีที่แล้วผมยังเป็นคนจบปริญญาตรีมีงานทำ รายได้ของผมเลี้ยงภรรยาและลูกหนึ่งคนสบายๆ แถมยังมีเหลือเอาไปทำบุญหรือบริจาคมูลนิธิต่างๆได้

ผมชอบทำบุญเพราะติดจากแม่มาตั้งแต่เด็กๆ มาวันนี้หลังจากที่เศรษฐกิจบ้านเราพังยับ
ผมก็เป็นบัณฑิตตกงานเหมือนเพื่อนจำนวนมากของผม อย่าเข้าใจผิดว่าผมยอมแพ้ชีวิต
ผมกลับมาอยู่บ้าน ผมขายรถเก๋งแล้วก็ซื้อรถกระบะมือสองมาขับรับส่งของ รายได้ก็พอกระเบียดกระเสียนอยู่ได้ ผมยังรอวันที่เศรษฐกิจของไทยจะดีเหมือนก่อนผมจะได้กลับไปทำงานใหม่ ปัญหาของผมไม่ได้อยู่ที่เศรษฐกิจ มันเป็นปัญหาทางจิตใจ

ผมเริ่มรู้สึกว่าผมเริ่มเป็นคนดีไม่ค่อยจะได้แล้ว เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับตั้งแต่ผมมาขับรถกระบะผมถูกตำรวจดักจับเรื่องวิ่งผิดเลนบ่อยมาก

บางทีก็ถูกจับเพราะบรรทุกของสูงเกินไป ผมถูกจับปรับถี่จนชักเบื่อ ตอนหลังๆนี้ผมยอมติดสินบนให้ตำรวจตรงที่ถูกจับเลย ทั้งๆที่ตัวเองไม่ชอบเลย และเหมือนถูกแกล้งตั้งแต่มาขับรถกระบะผมต้องผจญกับพวกขับรถ เห็นแก่ตัวมากขึ้น บางทีผมยอมไม่ได้ผมก็แสดงอาการเห็นแก่ตัวโต้ตอบกลับไปเลย ยอมรับครับว่าอารมณ์ผมเปลี่ยนไป ผมทำบุญน้อยลงด้วย
ในใจลึกๆผมยังอยากเป็นคนดีอยู่ สมัยหนุ่มๆผมเคยตั้งใจจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมให้มากๆเมื่อเรียนจบไปแล้ว แต่สถานะการณ์ของผมตอนนี้ทำไม่ได้เลย พอคิดเรื่องนี้ทีไร ภาพที่สังคมทำกับผมก็ผุดขึ้นมาทุกที ทำให้ผมไม่อยากทำดี ทุกวันนี้เวลาผมเห็นตำรวจดักจับมอเตอร์ไซค์ หรือตำรวจเรียกรถผมเวลาขับผิดเลนนิดๆหน่อยๆผมอยากขับรถแหกไฟแดงให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย พี่มีความคิดดีๆเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างมั้ยครับ ช่วยผมด้วย เมฆหมอก

. . . . . . . . . . .

(ตอบคุณเมฆหมอก)

สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนแสนสุข หนองมน ผมเคยถูกตีหน้าเสาธง ถูกตีพร้อมๆ
กลุ่มเพื่อนๆที่หนีโรงเรียนไปเที่ยวด้วยกันทั้งกลุ่ม นักเรียนรุ่นหลังๆนี่อาจจะแปลกใจว่ามีการทำโทษนักเรียนหน้าเสาธงด้วยหรือ

ในสมัยก่อนนี้การถูกตีหน้าเสาธงนี่น่าอายมากนะครับ เป็นการถูกทำโทษที่ทั้งเจ็บทั้งอาย
ผมถูกทำโทษตอนเช้าพอตกสายครูฝ่ายกิจกรรมก็ให้คนมาตามไปพบเพื่อไปช่วย
แต่งกลอนขึ้นบอร์ดใหญ่ของโรงเรียนเนื่องในวันสุนทรภู่ที่จะมาถึง

ตอนที่เขามา ตามนั้นก้นยังเจ็บอยู่เลย แล้วนี่ผมยังต้องเดินไปเผชิญหน้ากับครูคนที่หวดก้นผม ในห้องพักครูอีก ใจมันเต้นแรงอย่างไรพิกล

ผมยังจำความรู้สึกตรงนั้นได้ดี อารมณ์โกรธและความรู้สึกน้อยใจมีอยู่ในตัวเด็กชายประภาสเคล้ากันอยู่ ระหว่างทางที่เดินไปที่ห้องพักครูก็ยังคิดอยู่ตลอดเวลาว่า
จะไปเขียนกลอนให้โรงเรียนทำไมในเมื่อครูทำโทษประจานเราหน้าเสาธงให้ได้อับอายอย่างนั้น จะเรียกว่าโกรธโรงเรียนก็คงไม่ผิด

ผมว่าตอนนี้ คุณเมฆหมอกก็คงกำลังมีอาการไม่แตกต่างจากเด็กชายประภาสวันนั้นเท่าไร . . ใช่ไหมครับ และเมื่อกลับมาคิดเรื่องนี้ในวันนี้

ผมพบว่าคนเรามักเอาเรื่องสองเรื่องที่ ไม่เกี่ยวกัน มักเอาเหตุผลสองเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกันมาตัดสินอะไรบางอย่าง และผลการตัดสินมักออกมาแย่เสมอ จำกันได้ใช่ไหมครับ

ผมมักพูดเรื่องสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันบ่อยๆตรงพื้นที่นี้

“ความเคารพกับการวิเคราะห์วิจารณ์เป็นคนละเรื่องกัน”

ผมเขียนเรื่องนี้เมื่อครั้งมีคุณพี่คนหนึ่งเขียนมาค้านผมเรื่องการใช้สรรพนาม แทนตัวในภาษาพูดของไทย “เชื่อไม่เชื่อเป็นเรื่องหนึ่ง การศึกษาค้นคว้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ประโยคนี้เกิดขึ้นเมื่อเราคุยกันถึงเรื่องหมอดูและเรื่องผี

“ความผิดคือเรื่องหนึ่ง การให้อภัยคือเรื่องหนึ่ง”

เราคุยกันในเรื่องของครูคนหนึ่งที่ขโมยความฝันของเด็ก การให้อภัยเป็น
สิ่งควรทำในหมู่คนที่เจริญแล้ว แต่ความผิดไม่จำเป็นต้องหายไปมันควรยัง อยู่เพื่อเตือนใจ

“จะเลือกเพื่อนหรือเลือกแฟน?” จำเรื่องนี้ได้ใช่ไหมครับว่าทำไมต้องเลือก

มันคนละเรื่องกัน เราชอบเอามารวมกัน

คุณเมฆหมอกครับ ถึงบรรทัดนี้ผมคิดว่าคุณเมฆหมอกก็น่าจะพูดประโยคนี้
ออกมาอย่างสบายใจได้ว่า “การถูกตำรวจจับบ่อยๆหรือการถูกคนเห็นแก่ตัวบน ท้องถนนเอาเปรียบบ่อยๆ มันเป็นคนละเรื่องกันกับ การที่คุณจะทำดีเพื่อส่วนรวม”
หรือถ้าคุณเมฆหมอกจะพูดอีกทีว่า

“การที่ชีวิตตกต่ำลงกับการเป็นคนดีของสังคม เป็นคนละเรื่องกัน” ผมยิ่งยินดี

เราคงต้องแยกความโกรธและความน้อยใจในโชคชะตาออกไปจากความคิดดีๆ

ในตัวตนจริงๆของเรา น่าเสียดายออกครับอุตส่าห์มีความคิดดีๆอย่างนี้ อย่าให้ หลุดหายไปเลยครับ กลับมาที่เรื่องของเด็กชายประภาสต่อ

วันนั้นเด็กชายประภาสก็ไม่ได้คิดอะไรแยกแยะอย่างที่เราคุยกันวันนี้หรอกครับ
แต่มีอะไรบางอย่างก็ไม่รู้บอกเขาให้เขาช่วยงานโรงเรียนอย่างเต็มใจ

เขาแต่งกลอนอย่างสุดฝีมือ เขียนขึ้นบอร์ดด้วยลายมือตัวเองอย่างบรรจง
และเขาก็ระบายสีมันอย่างตั้งใจตลอดช่วงเวลาพักเที่ยง ความโกรธและความ
น้อยใจมันหายไปเมื่อไรไม่รู้ รู้แต่ว่าตกเย็นมีคนเห็นเขาเดินยิ้มไปเกือบทั่วโรงเรียน

สองวันต่อมา หน้าเสาธงที่เขาเคยถูกตีก้นทำโทษประจาน เขาได้รับเสียงตบมือ

จากนักเรียนทั้งโรงเรียน ครูใหญ่กล่าวชมเชยกลอนบทนั้นและพูดชื่อของ
เขาต่อหน้าแถวนักเรียน ยังครับเรื่องนี้ยังไม่จบ
อีกหนึ่งปีก่อนที่เขาจะจบจากโรงเรียนมัธยมแห่งนั้น

เด็กชายประภาสยังได้เดินไปยืนอยู่หน้าเสาธงต่อหน้าแถวนักเรียนอีกสองครั้ง
ครั้งแรกเขาขึ้นไปรับรางวัลจากครูใหญ่ในฐานะที่ไปตอบแข่งขันตอบปัญหาระดับจังหวัดได้รางวัลรองชนะเลิศ ส่วนอีกครั้งหนึ่งเขาถูกตีหน้าเสาธงอีกโทษฐานปีนรั้วโรงเรียนออกไปเที่ยวในตัวจังหวัด

ชีวิตคนเราก็อย่างนี้แหละครับคุณเมฆหมอก บางทีสังคมก็ตบมือให้เรา บางทีสังคมก็ตีก้นเรา แต่ไม่ว่าเราจะเจ็บก้นเท่าไรก็ตาม ความคิดที่จะทำอะไรดีๆ เพื่อสังคมไม่ควรหายไปจากใจเรา เพราะมันคนละเรื่องกัน

กระบวนการทางปัญญา : PRAWASE.COM

ศ.นพ.ประเวศ วะสี
www.prawase.com

๑. ฝึกสังเกต สังเกตในสิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ไปดูนก ดูผีเสื้อ หรือในการทำงาน การฝึกสังเกตจะทำให้เกิดปัญญามาก โลกทรรศน์ และวิธีคิด สติ-สมาธิ จะเข้าไปมีผลต่อการสังเกต และสิ่งที่สังเกต
---------------------------------------------------------------------------
๒. ฝึกบันทึก เมื่อสังเกตอะไรแล้วควรฝึกบันทึก โดยจะวาดรูปหรือ บันทึกข้อความ ถ่ายภาพ ถ่ายวีดิโอ ละเอียดมากน้อยตามวัยและ ตามสถานการณ์การบันทึกเป็นการพัฒนาปัญญา
---------------------------------------------------------------------------
๓. ฝึกการนำเสนอต่อที่ประชุม กลุ่ม เมื่อ มีการทำงานกลุ่ม เรา ไปเรียนรู้อะไรมาบันทึกอะไรมา จะนำเสนอให้เพื่อนหรือครูรู้เรื่อง ได้อย่างไร ก็ต้องฝึกการนำเสนอการนำเสนอได้ดีจึงเป็นการพัฒนา ปัญญาทั้งของผู้นำเสนอและของกลุ่ม
---------------------------------------------------------------------------
๔. ฝึกการฟัง ถ้ารู้จักฟังคนอื่นก็จะทำให้ฉลาดขึ้น โบราณเรียกว่า เป็นพหูสูตบางคนไม่ได้ยินคนอื่นพูด เพราะหมกมุ่นอยู่ในความคิด ของตัวเองหรือมีความฝังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเรื่องอื่นเข้าไม่ได้ ฉันทะ สติ สมาธิ จะช่วยให้ฟังได้ดีขึ้น
---------------------------------------------------------------------------
๕. ฝึกปุจฉา-วิสัชนา เมื่อมีการนำเสนอและการฟังแล้ว ฝึกปุจฉา-วิสัชนา หรือถาม-ตอบ ซึ่งเป็นการฝึกใช้เหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำ ให้เกิดความแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นๆ ถ้าเราฟังครูโดยไม่ถาม-ตอบ ก็ จะไม่แจ่มแจ้ง
---------------------------------------------------------------------------
๖. ฝึกตั้งสมมติฐานและตั้งคำถาม เวลาเรียนรู้อะไรไปแล้ว เรา ต้องสามารถตั้งคำถามได้ว่า สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นเกิดจากอะไร อะไรมีประโยชน์ ทำอย่างไรจะสำเร็จประโยชน์อันนั้น และมีการ ฝึกการตั้งคำถาม ถ้ากลุ่มช่วยกันคิดคำถามที่มีคุณค่าและมีความ สำคัญ ก็จะอยากได้คำตอบ
---------------------------------------------------------------------------
๗. ฝึกการค้นหาคำตอบ เมื่อมีคำถามแล้วก็ควรไปค้นหาคำตอบ จากหนังสือ จากตำรา จากอินเตอร์เน็ต หรือไปคุยกับคนเฒ่าคน แก่ แล้วแต่ธรรมชาติของคำถาม การค้นหาคำตอบต่อคำถามที่ สำคัญจะสนุกและทำให้ได้ความรู้มาก ต่างจากการท่องหนังสือ โดยไม่มีคำถาม บางคำถามเมื่อค้นหาคำตอบทุกวิถีทางจนหมด แล้วก็ไม่พบ แต่ถามยังอยู่ และมีความสำคัญ ต้องหาคำตอบต่อ ไปด้วยการวิจัย
---------------------------------------------------------------------------
๘. การวิจัย การวิจัยเพื่อหาคำตอบเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ เรียนรู้ทุกระดับการวิจัยจะทำให้ค้นพบความรู้ใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิด ความภูมิใจ สนุก และมีประโยชน์มาก
---------------------------------------------------------------------------
๙. เชื่อมโยงบูรณาการ ให้เห็นความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเอง ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง เมื่อเรียนรู้อะไรมาอย่าให้ความ รู้นั้นแยกเป็นส่วน ๆ แต่ควรจะเชื่อมโยงเป็นบูรณาการให้เห็นความเป็น ทั้งหมดในความเป็นทั้งหมดจะมีความงาม และมีมิติอื่นผุดบังเกิด ออกมาเหนือความเป็นส่วน ๆ และในความเป็นทั้งหมดนั้นมองให้ เห็นตัวเอง เกิดการรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความ เป็นทั้งหมดอย่างไร จริยธรรมอยู่ที่ตรงนี้ คือการเรียนรู้ตัวเองตาม ความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร
ดังนั้น ไม่ว่าการเรียนรู้อะไร ๆ ก็มีมิติทางจริยธรรมอยู่ในนั้นเสมอ มิติทางจริยธรรมอยู่ในความเป็นทั้งหมดนั่นเอง ต่างจากการเอา จริยธรรมไปเป็นวิชา ๆ หนึ่งแบบแยกส่วน แล้วก็ไม่ค่อยได้ผล ในการบูรณาการความรู้ที่เรียนรู้มาให้รู้ความเป็นทั้งหมด และเห็นตัวเองนี้ จะนำไปสู่อิสรภาพและความสุขอันล้นเหลือ เพราะ หลุดพ้นจากความบีบคั้นของความไม่รู้ การไตร่ตรองนี้จะโยงกลับไป สู่วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ว่าเพื่อลดตัวกู-ของกู และเพื่อการ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันจะช่วยกำกับให้การแสวงหาความรู้เป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว มิใช่เป็นไปเพื่อความกำเริบแห่งอหังการ มมังการ และเพื่อรบกวนการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ
---------------------------------------------------------------------------
๑๐. ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการ ถึงกระบวนการเรียนรู้และความรู้ ใหม่ที่ได้มาการเรียบเรียงทางวิชาการเป็นการเรียบเรียงความคิดให้ประณีต ขึ้น ทำให้ค้นคว้าหาหลักฐานที่มาที่อ้างอิงของความรู้ให้ถี่ถ้วนแม่นยำขึ้น การเรียบเรียงทางวิชากรจึงเป็นการพัฒนาปัญญาของตนเองอย่างสำคัญ และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป

ศ.น.สพ.ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์







ด้วยสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ ๔๖๙
เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้พิจารณาเห็นว่า
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
ประกอบด้วย คุณธรรม มีผลงานดีเด่น เป็นที่ประจักษ์ในวงวิชาการ
ได้อุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการและการศึกษาด้านสัตวแพทยศาสตร์
จนเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการสัตวแพทย์
ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญ สาขาวิชาสรีรวิทยาของสัตว์
และเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาการศึกษาสรีรวิทยาทางสัตวแพทยศาสตร์
สมควรจะได้รับการยกย่องในวงวิชาการเป็นแบบอย่างอันดีงามให้ผู้อื่นเจริญรอยตามต่อไป
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์
สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
รางวัลเหรียญทองจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ หลังจากจบการศึกษา
ได้เริ่มรับราชการโดยดำรงตำแหน่งอาจารย์แผนกสรีรวิทยา
คณะสัตวแพทยศาสตร์ กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
กระทรวงสารธารณสุข ได้เดินทางไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโทและเอก
จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ สหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ หลังจากที่กลับมารับราชการ
ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา
และดำรงอยู่ในตำแหน่งตลอดมาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘
ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ ภาควิชาสรีรวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๔
นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์
ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๖ - ๒๕๒๐ อีกด้วย
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์
ได้อุทิศตนในด้านการสอนและพัฒนาการศึกษาสาขาสัตวแพทยศาสตร์
โดยเป็นผู้ริเริ่มให้มีการสอนแผนใหม่
และมุ่งผลิตอุปกรณ์การสอนในวิชาสรีรวิทยา
จนเป็นผลดียิ่งต่อการศึกษาของนิสิต
และเป็นแบบอย่างการสอนสรีรวิทยาด้านสัตวแพทยศาสตร์ของประเทศไทย
นอกจากนั้นยังเป็นกำลังสำคัญ
ในการริเริ่มการเรียนการสอนแบบสหสาขาวิชาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก
จนเป็นผลดีต่อการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเป็นอย่างยิ่งด้วยลักษณะความเป็นครู
อาจารย์ที่ดี เป็นผู้ที่กอร์ปด้วยคุณธรรม จริยธรรม และเมตตากรุณาต่อนิสิตและผู้ร่วมงาน
ได้อุทิศตนและทุ่มเทความรู้วิชาการ
คำปรึกษาแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่วิชาชีพแก่บัณฑิตที่จบการศึกษา
ให้สามารถบรรลุสู่ความสำเร็จ

เมื่อพ้นจากตำแหน่งราชการประจำเนื่องจากเกษียณอายุราชการแล้ว
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์
ยังคงมาทำการสอนและแนะนำงานวิจัยแก่นิสิตทั้งระดับปริญญาตรีคณะสัตวแพทยศาสตร์
และระดับปริญญาโทสหสาขาสรีรวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดมา นับเป็นตัวอย่างแบบฉบับที่ควรดำเนินรอยตาม
ในด้านการศึกษาวิจัย ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์
เป็นผู้ผลิตผลงานด้านการวิจัยสาขาสรีรวิทยา เป็นจำนวนมาก
ซึ่งได้รับการเผยแพร่และอ้างอิงทั้งในวารสารวิชาการและตำรา
เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
นอกจากนั้นผลงานวิจัยดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการพัฒนากิจการโคนมของประเทศ

นับได้ว่า ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์ เป็นผู้เชี่ยวชาญ
ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ทางด้านวิชาการ
เป็นผลดียิ่งต่อวิชาชีพสัตวแพทยศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
ด้วยลักษณะความเป็นผู้นำที่ดีของศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์
ในขณะดำรงตำแหน่งคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์
ได้บริหารการศึกษาให้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบ วินัย
โดยได้รับความร่วมมือและความสามัคคีจากบุคลากรใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี
ได้บริหารงานการศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
โดยเฉพาะโครงการช่วยเหลือการผลิตสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตให้กับประเทศเวียตนาม
ด้วยความสามารถ คุณงามความดีและอุทิศตนอย่างสูง
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์
ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสัตวแพทย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๒๗
จากสัตวแพทย์สมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์
เป็นศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม และจริยธรรม
ได้ทำคุณประโยชน์แก่คณะสัตวแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และประเทศชาติ สมควรได้รับการยกย่องในวงวิชาการและวิชาชีพ
สัตวแพทย์
สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้
ได้รับพระราชทานปริญญาสัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
เพื่อเป็นเกียรติสืบไป



ระเบียบการพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
แผนกสัตวแพทยศาสตร์

ก. วัตถุประสงค์

เพื่อส่งเสริมการศึกษาชั้นสูงทางสัตวแพทยศาสตร์
โดยสนับสนุนให้ผู้ได้รับพระราชทานทุน
ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้


ข. ผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก

1. มีสัญชาติไทย
2. อายุไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ ในวันสิ้นปีปฏิทินในปีที่คัดเลือก

3. ได้รับปริญญาสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม
หรือได้รับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.25

4. มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะไม่เป็นอุปสรรคในการศึกษาต่อในต่างประเทศ
5. มีความประพฤติดี มีคุณธรรมสูง มีมนุษยสัมพันธ์ดี
และมีความภักดีต่อประเทศชาติและพระมหากษัตริย์

6. มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี โดยมีใบรับรองแพทย์ที่คณะกรรมการแผนกฯ กำหนด

ค. วิธีพิจารณาการพระราชทานทุน

1. คณะกรรมการแผนกสัตวแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล
เป็นผู้ดำเนินการสรรหาผู้ที่สมควรจะได้รับพระราชทานทุน
โดยพิจารณาคัดเลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติข้อ ข.

2. คณะกรรมการแผนกฯ จะพิจารณาคัดเลือกตามแนวทางต่อไปนี้
* ผลการศึกษา
* การสัมภาษณ์ หรือวิธีอื่นๆ ที่คณะกรรมการเห็นสมควร
* ผู้ที่มีความประสงค์จะเป็นอาจารย์ในคณะสัตวแพทยศาสตร์
หลังจากจบการศึกษามาแล้วจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

* มีความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่ง มีความประพฤติดี
มีสติปัญญาความคิดริเริ่ม และเข้าใจปัญหาของประเทศเป็นอย่างดี

3. คณะกรรมการแผนกฯ จะนำชื่อผู้ที่เห็นสมควรได้รับพระราชทานทุน
เสนอคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ เพื่อพิจารณาและ
นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ

เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยชี้ขาด
4. คณะกรรมการแผนกฯ จะเสนอชื่อผู้ที่เห็นสมควรจะได้รับพระราชทานทุนปีละ 1 คน
ในกรณีที่เห็นสมควรเกินกว่า 1 คน จะเสนอขอพระราชทานเพิ่มเป็นรายๆ ไป

5. ในปีใดที่คณะกรรมการแผนกฯ และ/หรือคณะกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ
เห็นว่าไม่มีผู้สมควรจะได้รับพระราชทานทุน จะงดไม่เสนอชื่อผู้ใดก็ได้


ง. หลักเกณฑ์ในการรับพระราชทานทุน

1. ไปศึกษาในระดับมหาบัณฑิตจนถึงปริญญาดุษฎีบัณฑิตหรือ
เทียบเท่าปริญญาดุษฎีบัณฑิต (ประเภทวุฒิบัตร)
ในสาขาวิชาที่คณะกรรมการแผนกฯ กำหนด
ในสถาบันที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำ
ได้ และต้องเป็นสถาบัน
ที่คณะกรรมการแผนกฯ ให้ความเห็นชอบ

2. ก่อนออกเดินทางจากประเทศไทยจะต้องให้สถาบัน
ที่เลือกไปศึกษาตอบรับแล้ว และทดสอบภาษาได้ถึงระดับที่สถาบันการศึกษาต้องการ

3. ผู้ที่ได้รับทุนจะไปศึกษาต่อเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปีในระดับมหาบัณฑิต
และไม่เกิน 3 ปีในระดับดุษฎีบัณฑิต ในกรณีที่มีความจำเป็นและ
ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแผนกฯ
อาจต่ออายุของทุนได้ไม่เกินคราวละ 1 ปี

4. คณะกรรมการแผนกฯ มีสิทธิเสนอให้มูลนิธิฯ
ยกเลิกการให้ทุนถ้าการประเมินผลระหว่างการศึกษาปรากฏว่า
ผู้รับทุนมีความประพฤติไม่สมควร หรือมีผลการศึกษาต่ำกว่า
จากที่เป็นอยู่โดยปกติ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

5. ผู้ได้รับทุนพึงกลับมาทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษา
และวงการสัตวแพทย์ในประเทศไทย

6. ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วติดต่อกรรมการและเลขานุการของ
คณะกรรมการแผนกสัตวแพทยศาสตร์
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ สมชัย พงศ์จรรยากุล
คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนพหลโยธิน
เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์
579-0113 ต่อคณบดี (6203, 6207)

คณะกรรมการแผนกสัตวแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อายุส พิชัยชาญณรงค์ ประธานกรรมการ
นายสัตวแพทย์ ดร.อุดม จารุตามระ กรรมการ
นายสัตวแพทย์ ปิยะ อรัญยกานนท์ กรรมการ
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ สงคราม เหลืองทองคำ กรรมการ
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เชิดชัย รัตนเศรษฐากุล กรรมการ
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ สมชัย พงศ์จรรยากุล กรรมการและเลขานุการ
และผู้ประสานงาน


วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
เวลา 16:00 น.

เสด็จออกแทนพระองค์ ณ อาคารชัยพัฒนา
พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ อายุส พิชัยชาญณรงค์
ประธานกรรมการแผนกสัตวแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล
พร้อมคณะ นำนางสาวสุกัลยา อัศรัสกร ผู้ได้รับพระราชทาน
ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกสัตวแพทยศาสตร์ ประจำปี ๒๕๔๙
เข้าเฝ้า ฯ เพื่อกราบถวายบังคมลา
ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท - เอก สาขาเวชศาสตร์คลินิก (Clinical Sciences)
ณ มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา





สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์อายุส พิชัยชาญณรงค์


วันที่ 20 เมษายน 2553 เวลา 17.12 น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ
ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์อายุส พิชัยชาญณรงค์ ณ เมรุวัดธาตุทอง
ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2553 สิริอายุ 85 ปี


ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์อายุส พิชัยชาญณรงค์
เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2467 ที่จังหวัดเชียงใหม่
เป็นบุตรของ พันเอกพระยาพิชัยชาญณรงค์ (พาสน์)
กับคุณหญิงพิชัยชาญณรงค์ (อรุณ)
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
โดยได้เกียรตินิยมอันดับ 1 รางวัลเหรียญทอง
แล้วจึงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ตรี แผนกสรีรวิทยา
ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
กระทรวงสาธารณสุข ต่อมาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก สาขาสัตวแพทยศาสตร์
ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ สหรัฐอเมริกา
แล้วกลับมารับราชการต่อ โดยได้โอนไปเป็นอาจารย์สอนวิชาสรีรวิทยา
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อยมาจนเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่ง
หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์
ซึ่งตลอดระยะเวลาได้อุทิศตนในการถ่ายทอดวิชา
ให้แก่ศิษย์อย่างเต็มกำลังความ รู้ความสามารถ
และทำประโยชน์ให้แก่ภาควิชาเป็นอย่างยิ่ง


นอก จากนี้ยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการ
เพื่อเลื่อนตำแหน่งของคณะสัตวแพทยศาสตร์อีกหลายมหาวิทยาลัย
ตลอดจนเป็นประธานกรรมการแผนกสัตวแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล
ซึ่งในปี 2527 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสัตวแพทย์ดีเด่น
จากสัตวแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
อีกทั้งได้มีโอกาสถวายการรักษาสัตว์เลี้ยงในพระองค์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลายครั้ง


ด้านชีวิตครอบครัวได้สมรสกับนางจำรัสรัตน์ สกุลเดิม ประนิช มีธิดา 1 คน



Dec 30, 2007

มองอนาคตการเมืองแบบรัฐศาสตร์ 'ฟ้าเปิด' หรือ 'มรสุม'

ภาพประกอบ คุณชัย ราชวัตร
มติชน
31 ธันวาคม 2550
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=552


'..ทั้งหมดมันเกิดบทเรียนกับทุกฝ่าย คือความทุกข์ยากที่เกิดมา 2 ปี ตั้งแต่ยุบสภา รัฐประหาร ความอึดอัด เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกคนมีบทเรียน เป็นเรื่องความรู้สึกสำนึกของนักการเมือง และทหารว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ..'

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นสัญลักษณ์ของ 'อารยะขัดขืน' ของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549
เพราะการแสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ด้วยการ 'ฉีกบัตร'
ซึ่งต่อมาได้เกิดชนวนรัฐประหาร 19 กันยายน 2550 ทำให้ประเทศไทยถูกปกคลุมไปด้วย
'เมฆหมอก' ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา
การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นเหมือนสายลมที่พัดพาเมฆหมอกให้เลือนหายไปจากท้องฟ้าเมืองไทย เป็นความหวัง ความสุข และความหมายของคนไทยทั้งประเทศ
หากแต่เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคพลังประชาชน ที่ใครก็รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุนด้านกำลังใจอยู่ ได้ที่นั่งมากถึง 233 ที่นั่ง ทำให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสภาพการณ์ดังกล่าว ทำเอาหลายคนหนักใจว่า ความวุ่นวายทางการเมืองจะยุติลงหรือไม่

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร เปิดมุมมองในทรรศนะผ่าน 'มติชน' เพื่อมองทิศทางอนาคตการเมืองไทยในปี 2551

- มองอนาคตการเมืองไทยภายใต้แกนนำอย่างพรรคพลังประชาชนอย่างไร
พรรคพลังประชาชน หากจะตั้งรัฐบาล ก็ต้องพยายามลดประเด็นความเปราะบางทางการเมือง เพราะการยืนยันว่าจะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ และการนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะเป็นเงื่อนไขที่พรรคเล็กยังตั้งแง่อยู่ นอกจากนี้เงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหว และจะเกิดการประท้วง เกิดการสนับสนุนให้ปะทะกันของฝูงชน อาจนำไปสู่การนองเลือด การสิ้นอายุขัยของรัฐบาลโดยเร็ว และสิ้นอายุของประชาธิปไตยอีกครั้ง เพราะจะมีคนขึ้นมารักษาความสงบ ซึ่งอาจชอบธรรมกว่า 19 กันยา 49 ด้วยซ้ำ เพราะมันนองเลือดชัด ขณะที่ 19 กันยา 49 ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ว่า จะมีการนองเลือดจริงหรือไม่ และทหารก็มีบทเรียนแล้วว่า ถ้ามีการเคลื่อนไหวปะทะกันก็ต้องปล่อยให้นองเลือด
ถ้าจะให้ประเทศเดินไปได้ด้วยดีภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน นายสมัคร
(สุนทรเวช) ก็ต้องคิดให้ดีว่าผลประโยชน์ของพรรคคืออะไร ระหว่างการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ และ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หรือจะเป็นการทำให้พรรคเติบโตเข้มแข็ง นำนโยบายที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจมาเร่งทำเพื่อแก้ความเดือดร้อนประชาชน ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่แทรกแซงเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ และนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย การเมืองไทยจะเดินหน้าปกติ และผมเชื่อว่า อาจอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง และถ้าแสดงฝีมือดีก็จะอยู่ได้นานกว่านั้น แต่ปัญหาสำคัญคือ ตอนนี้เศรษฐกิจอยู่ในขาลงสุดท้าย ก็ต้องให้เขาเร่งพิสูจน์ฝีมือในการแก้ปัญหา สถานการณ์ในเงื่อนไขนี้ทำให้เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

- นั่นหมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์ปิดประตูตั้งรัฐบาลสนิทแล้ว
พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสตั้งรัฐบาลได้น้อยมาก คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ควรบอกคุณอภิสิทธิ์ให้เลิกคิดเถอะ เพราะถ้ารวมทุกพรรคเล็กตอนนี้จะได้ 247 เสียง ซึ่งมันเสียวไส้จะล่ม เพราะ ส.ส.บางคนไปเป็นรัฐมนตรีก็ไม่สามารถโหวตในสภาได้ ยกเว้นพรรคพลังประชาชนจะเจอใบแดง ใบเหลือง จนสรุปสุดท้ายเหลือ ส.ส.ราว 210 คน อันนี้จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แต่การที่ กกต.จะให้ใบแดงได้ ต้องมีหลักฐานแน่นหนานะอย่าลืม

- แต่เป้าหมายของพรรคพลังประชาชนดูเหมือนจะอยู่ที่การช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และนิรโทษกรรม 111 คน
นายสมัคร ประกาศกับสื่อต่างประเทศว่า จะทำทั้ง 2 เรื่อง แต่นายสมัคร ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ 'มติชน' ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม ว่า จะไม่ยุบ คตส. ส่วนวันที่ 23 ธันวาคม หลังเห็นภาพรวมของผลการเลือกตั้ง นายสมัคร ก็ไม่ได้พูดประเด็นนี้ ผมเชื่อว่า นายสมัคร ในฐานะเป็นนักการเมืองที่ซื่อสัตย์กับตัวเองเยอะ คงเชื่อว่า คะแนนที่ได้มาขนาดนี้ อย่างน้อยก็เป็นฝีมือการจัดการบริหารของตัวเองด้วย นอกจากนี้ ข้ออ้างที่จะไม่ไปยุ่ง 2 เรื่องนั้นมีและดีพอสมควร คือจะไม่ทำให้พรรคเป็นพรรคการเมืองของบุคคล ใครมาก็ได้ ขอให้สืบสานนโยบายไทยรักไทย เช่นที่สืบสานได้โดยพรรคพลังประชาชน
นอกจากนี้ การนิรโทษกรรม ถามว่า คนในพรรคพลังประชาชนที่เป็นรัฐมนตรีแล้ว จะไปนิรโทษกรรม 111 คนนั้นทำไม เพราะคนเหล่านั้นก็จะมาเป็นรัฐมนตรี ฉะนั้นพิสูจน์ฝีมือดีกว่า และรอเวลาไป 3-4 ปี อาจมีเลือกตั้ง 2-3 ครั้ง ก็รักษาฐานพลังประชาชนไว้ เวลานั้นคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ก็มาแทนนายสมัครได้ หรือจะเป็นคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็มาแทนได้ แถมมีโอกาสที่จะเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่คู่กับพรรคประชาธิปัตย์ได้ในอนาคตด้วย ซึ่งทางเลือกนี้มันเป็นประโยชน์กับทุกคน รวมถึงตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะถ้าคิดกันไกลๆ ว่า พรรคนี้อยู่ได้ยาวเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งขึ้นมาก็จะดูเป็นบุคคลอ้างอิง แต่ถ้าให้ช่วยแก้คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตอนนี้ มันจะล้มกันไปหมด ผมเชื่อว่า คนในพรรคพลังประชาชนจะยึดผลประโยชน์ประชาชนมากกว่า

- แต่ยุทธศาสตร์พรรคพลังประชาชนก็เกาะเกี่ยวภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตลอดในช่วงหาเสียง
การพยายามช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ และพยายามยุบ คตส. จะทำให้เกิดวิกฤตแน่ แม้แต่คนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนเอง เขาก็อยากให้พรรคแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ให้เป็นตามกระบวนการศาล อันนี้คนที่เลือกพรรคพลังประชาชนเขาก็พูดกันเยอะ คือมันเป็นเรื่องการใช้เหตุผลว่า ผลประโยชน์ของฉันคืออะไร ของรากหญ้าคืออะไร ไม่ใช่ไปช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วเกิดความวุ่นวายทางการเมือง และจะทำให้ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายพังพินาศไปหมด จริงอยู่ในช่วงหาเสียง ก็เป็นยุทธศาสตร์ ถ้านายสมัครบอกว่า ผมอิสระ ไม่สนใจ พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่มีใครเลือกหรอก ที่คนเขาเลือกเพราะใช้ภาพลักษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ กับอีก 111 คน แต่ตอนนี้มันไม่จำเป็นแล้ว อาจจะมองว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล (นิ่งคิด) ผมคิดว่า คงไม่ใช่การทรยศทางการเมือง แต่เป็นไปตามยุทธศาสตร์การหาเสียงมากกว่า แต่ตอนนี้ เมื่อชนะมาแล้วจะไปช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวหรืออีก 111 คนเท่านั้นได้อย่างไร เพราะมีประชาชนที่เดือดร้อนอีกเยอะ

- คนชนชั้นกลางยอมรับผลการเลือกตั้งแบบนี้ได้หรือ
รับได้เลย (พูดสวน) สิ่งสำคัญคือเสถียรภาพของรัฐบาล ผมคิดว่า คนชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะรู้ว่า เมื่อคะแนนเป็นอย่างนี้ก็ยอมรับ และเฝ้าดู แต่ถ้าจะบอกว่า โกง แล้วอยากได้คุณอภิสิทธิ์ ก็ต้องพูดว่า 'อยากได้ก็ได้ไป คะแนนมาแบบนี้จะทำอย่างไร' ทั้งนี้ถ้าพรรคพลังประชาชนแสดงฝีมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับพื้นฐานก่อน ผมคิดว่าคนไทยก็รับได้ ตอนพรรคไทยรักไทยมาใหม่ๆ ก็ชนชั้นกลางนี่แหละที่เทคะแนนให้

- กลุ่มที่เคยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง นักวิชาการ จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมใต้น้ำหรือไม่
ไม่หรอก เพราะเขาจะมุ่งไปที่ คตส.และศาล โอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สู้คดีมีอยู่ ถ้าไม่กลับมาสู้ก็หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้าย ผมคิดว่า กลุ่มที่ไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณ จะรอให้กระบวนการยุติธรรมทุกอย่างดำเนินการไป ส่วนคุณสมัคร จะไปอำนวยความสะดวกให้เขากลับมาอย่างคน ก็ทำไปเลย แต่อย่าแทรกแซง เพราะจะเป็นชนวนความวุ่นวาย

- ระบอบการเมืองที่ข้าราชการขุนนางได้อำนาจมาหลังรัฐประหาร แต่คะแนนออกมาที่พลังประชาชนอย่างท่วมท้น คน 2 กลุ่มนี้จะต่อสู้กันอย่างไร
ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ การจะมีเมกะโปรเจ็คต์ซ่อนเร้นยาก รัฐบาลทำงานยากขึ้น และไม่กลัวว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญเคร่งครัดมาก อย่างไรก็ดี ภายใต้ 233 เสียง และเป็นรัฐบาลมาจากประชาชน ก็คงมีความอิสระพอสมควร และขึ้นกับภาวะผู้นำของนายกฯคนใหม่ด้วย
ส่วนที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกลไกทำให้เกิดอำมาตยาธิปไตย ผมคิดว่าผู้วิจารณ์ไม่ได้ดูรัฐธรรมนูญจริงๆ เพราะฝ่ายบริหารจะอ่อนแอเมื่อฝ่ายบริหารทำผิดกติกา หรือพยายามโกง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา ต้องใช้เงินอย่างไร มีผลดีผลเสียอย่างไร ผมคิดว่า ดีมากเพราะบังคับให้ทำงานอย่างเคร่งครัด ส่วนเรื่อง ส.ว.แบบผสม ถ้าทุกอย่างคลี่คลายแล้ว ประชาชน นักการเมืองแสดงให้เห็นว่า การเลือกตั้ง ส.ว.คืออะไร หน้าที่ ส.ว.คืออะไร ก็น่าจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมดได้
ส่วนฝ่ายทหารก็คงอยู่ในกรม กอง เพียงแต่อย่ามายุ่งกับเขา อย่ามายุ่งกับ คตส.และนิรโทษกรรม ซึ่งถ้าวันหนึ่งพลังประชาชนบริหารดี ใครๆ ก็ยอมนิรโทษกรรมให้
แต่เรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ คงยอมกันไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

- ปากของคุณสมัคร จะมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน
ปากของคุณสมัคร ไม่ได้ทำให้พ้นจากผู้ว่าฯกทม.คราวนั้น คุณสมัคร รู้แหละว่าควรจะทำอย่างไร อย่างพูดกับสื่อกรณีเสพเมถุน แล้วทำอะไรคุณสมัครได้ล่ะ อย่างมากเขาก็ถูกด่า ประณาม ไปเรื่อยๆ แต่การบริหารเป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นตัวชี้เสถียรภาพ ซึ่งถ้าอยู่ไป 1 ปีครึ่งแล้วเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่เสียหาย ถ้าเป็นการเปลี่ยนตามครรลองประชาธิปไตย คือ ลาออก จับขั้วใหม่ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ โอเค เสถียรภาพรัฐบาลอาจไม่ค่อยดี แต่เสถียรภาพการเมืองแข็งโป๊ก เพราะมันเปลี่ยนตามครรลอง แต่ที่ผ่านมาบ้านเรามีปัญหาเพราะเสถียรภาพรัฐบาลก็ไม่ดี แถมเสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่ดี เพราะทุกอย่างมันถึงทางตันหมด เลือกตั้งก็มีปัญหา

- อาจารย์เชื่อว่า ปัญหาการเมืองที่สุมๆ อยู่หมดสิ้นไปแล้วหรือ?
หมด..หมดอย่างน่าอัศจรรย์ จากฝีมือความสามารถของพรรคพลังประชาชน และ (เน้นเสียง) จากฝีมือของการทำรัฐประหาร เพราะเรื่องทั้งหมดมันเกิดบทเรียนกับทุกฝ่าย คือความทุกข์ยากที่เกิดมา 2 ปี ตั้งแต่ยุบสภา รัฐประหาร ความอึดอัด เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกคนมีบทเรียน เป็นเรื่องความรู้สึกสำนึกของนักการเมือง และทหารว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ นอกจากนี้ หากสังเกตจะพบว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีคนมาลงคะแนนถึง 74% อาจเพราะเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าด้วยส่วนหนึ่ง และ กกต.ก็ฉลาดที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปแบบสบายๆ ทั้งนี้การเลือกตั้งที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า รัฐประหารไม่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายทางการเมืองขนาดที่เคยบอกๆ กันว่า จะไม่ไปลงคะแนน แต่เมื่อถึงวันจริง คนก็ไปลงคะแนนเยอะ
ที่สำคัญก่อนหน้านี้นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์บางคนบอกว่า การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนด จะทำให้เป็นพรรคการเมืองเบี้ยหัวแตก รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งผลก็ออกมาว่า ไม่จริง เพราะในที่สุดในระบบเลือกตั้ง กับพฤติกรรม วิธีคิด การคิดเรื่องเหตุเรื่องผลของประชาชน ทำให้เหลือพรรคใหญ่ 2 พรรค และพรรคเล็กไม่กี่พรรค แปลว่า คนไทยกับประชาธิปไตยมีการพัฒนาขึ้นเยอะมาก

- หมายความว่า ฟ้าเปิดแล้ว สำหรับอนาคตการเมืองไทย
ใช่ แต่ถ้าคุณสมัคร ยังคิดไม่ออก และจะเป็นนอมินีจริงๆ ก็คงพาให้ทุกอย่างลงเหวหมด
หรือถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน
พยายามให้พรรคพลังประชาชนช่วย ก็จะพาลงเหว แต่ถ้าคุณสมัคร ไม่แตะ 2 เรื่องนี้
ก็ไม่ได้หมายความว่าหักหลังพ.ต.ท.ทักษิณ
เพราะเป็นยุทธศาสตร์การเลือกตั้งซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

- การเมืองไทยจะเหมือนหลังปี 2544 หรือไม่ ที่คนชื่นมื่น
ไม่เหมือน..เพราะรัฐธรรมนูญต่างกัน จิตสำนึกคนเปลี่ยนแปลงไป
ที่จะไม่บ้าเห่ออะไรง่ายๆแล้ว ขณะที่ปี 2544 บ้าเห่อกับหัวหน้าพรรคจบดอกเตอร์
เป็นตำรวจ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีอดีตฝ่ายซ้ายที่เป็นเอ็นจีโอเก่า
โห...ตอนนั้นมันครบเครื่องทุกอย่างที่คนทั่วๆ ไปจะหลงใหลไปได้
แต่ตอนนั้นผมไม่ไว้ใจเขาตั้งแต่ต้นแล้ว มีอย่างที่ไหน มาถึงก็เจอเรื่องซุกหุ้นกันตั้งแต่แรก
แต่วันนี้ผมคิดว่า คนทั่วไปก้าวหน้าขึ้นเยอะ

Dec 28, 2007

อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ~ช่างปั้น


สมลักษณ์ ปันติบุญ
Somluck Pantiboon

ประวัติส่วนตัว
20 กุมภาพันธ์ 2500
อ. เชียงของ
จ. เชียงราย

ที่อยู่“เครื่องปั้นดินเผาดอยดินแดง”
จ. เชียงราย
โทรศัพท์ 053-705291 , 706128

การศึกษา
- สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยเขตภาคพายัพ จ. เชียงใหม่
- เรียนกับอาจารย์ Lwao Onuma จังหวัด Lwata 1 ปีครึ่ง
- เรียนกับอาจารย์ Tarouemon Nakazato The 13 เป็นเวลา 3 ปี

การแสดงผลงานที่สำคัญ
- Nitten Exhibition, Tokyo Metropolitah ArtMuseum,
Tokyo- Arts And Crafts Exhibition, Fukuoka ArtMuseum, Fukuoka 6 ครั้ง
- The 6 Th National Ceramics Exhibition, Bangkok
- The 19 Th Flether Challenge AwardExhibition, Auckland Museum,
Auckland,New Zealandแสดงงานเดี่ยว
- เสรี อาร์ต แกลเลอรี่
- Akane แกลเลอรี่ ซิสึโอกะ ญี่ปุ่น
- Kawatoku แกลเลอรี่โมริดกกะ ญี่ปุ่น
- วัดสวนผักกาด มาราศีแกลเลอรี่ กรุงเทพฯ
- สุรพล แกลเลอรี่ กรุงเทพฯ

รางวัล

- งานเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ 2 ครั้ง
- Asian Arts And Crafts Exhibition,Fukuoka Art Museum
ได้รับรางวัล 4 ครั้ง
- The 19 Th Fletcher Challenge awardExhibition,
Auckland, New Zealand ได้รางวัล 3 ครั้ง

Artist Statement
As a full-time potter, I am aware of the fact that my life, my clay works and nature are inseparable and interdependent.
The surrounding nature sustains me and my work, with essential natural materials for pottery-making-clay and glazes.
Clay comes from nearby mountains or rice paddies where farmers dig to make a fishpond. For glazes I use locally available ashes (wood ash, rice straw and husk ashes or ashes from any vegetation around) and red clay from the grounds of my studio.
I incorporate traditional Thai methods and techniques to my contemporary works, for example, for forming and designing, a pounding method still used by village potters in Southeast Asia. I also deliberately make and use celadon and ash glazes which were unique to the Suwankalok style, the highlights of Thai ceramic history, during the Sukhotai period, about 700 years ago.
To me, clay is like a canvas and glazes like paint, inert until put into use. It is the task of a potter to produce art objects from these materials. In my view, it is not the glaze formula or the method of making nor the temperature that makes a good pot. It is the potter's vision and development in pottery-making that results in the effective use of materials and the creation of a good pot. When potters know through experience how to use the natural materials around them, there is an unlimited opportunity to produce creative works with clay.



คุยกับ สมลักษณ์ ปันติบุญ เจ้าของบ้านดอยดินแดง
เรื่อง/ ปิ่นอนงค์ ปานชื่น
ภาพ/เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร
ที่มา : http://www.oknation.net/blog/tastesunday/2009/07/13/entry-2


แม้ สมลักษณ์ ปันติบุญ เจ้าของบ้านดอยดินแดง
จะออกตัวว่างานของเขาเปลี่ยนแปลงอะไรโลกไม่ได้เลยก็ตาม
แต่อย่างน้อยที่สุดบ้านที่มีผนังผสมด้วยดินแดงในพื้นที่
ก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย
ทั้งนี้ยังไม่รวมผลงานศิลปะและธรรมชาติแวดล้อม
ที่มีความเชื่อมโยงเป็นหนึ่ง เดียวกัน

ดิน ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในงานเครื่องเคลือบดินเผา
สำหรับศิลปินเซรามิคชาวเชียงราย สมลักษณ์ ปันติบุญ
กล่าวว่า เขาหลงรักดินของท้องถิ่น
ดินสีแดงที่เขานำมาใช้สร้างบ้านและสร้างสรรค์ผลงาน
เครื่องเคลือบดินเผาที่ รู้จักกันในนาม ดอยดินแดง

หลังจากเรียบจบเทคโนโลยีวิทยาเขต เทคนิคภาคพายัพ เชียงใหม่
แล้วเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเซรามิค
กับอาจารย์ Twao Onuma
และ Tarouemon Nakagato เป็นเวลา 5 ปี
สมลักษณ์กลับบ้านที่เชียงรายแล้วมาพบดินแดงคุณภาพเหมาะ
ในการใช้งานที่บ้าน ป่าอ้อ ตำบลนางแล
จึงตัดสินใจซื้อที่จำนวน 9 ไร่ สร้างเป็นบ้าน
สตูดิโอและช้อป ขึ้นเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

บ้านดินแดง

"เดิมที่นี่เป็นป่าชะอม ต้นไม้ที่เห็นในวันนี้เป็นต้นที่ปลูกขึ้นมาใหม่
บางส่วนก็ขึ้นเองตามธรรมชาติ งานของผมเป็นงานคราฟท์
เป็นศิลปะที่ทำด้วยมือสืบเนื่องจากของโบราณ
ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผม ส่วนงานเซรามิคอาร์ต
เป็นงานที่ตอบสนองตนเองเป็นสำคัญ"


ศิลปินอธิบาย ถึงงานเซรามิคของดอยดินแดงที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
กล่าวคือ งานเซรามิคประเภทเครื่องถ้วย จาน ชาม
ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร รวมไปถึงแจกัน กระถาง
และเครื่องประดับตกแต่งอาคาร กับผลงานศิลปะ

ที่แฝงไปด้วยความรู้สึก จินตนาการ และเทคนิคเฉพาะตน


"ในการทำงานผมใช้ดินที่มีอยู่ในท้องถิ่นเนื่องจากเชียงรายมีภูเขาเยอะ
วัตถุดิบที่นำมาใช้ก็ได้มาจากในท้องถิ่นนี่ล่ะ
ไม่ว่าจะเป็นขี้เถ้าฟาง ขี้เถ้าไม้ไผ่
ล้วนเป็นวัตถุดิบสำคัญในการนำมาเคลือบผิวให้เกิดสีสัน
อย่างเช่นสีฟ้าก็ได้จากขี้เถ้าฟาง ขี้เถ้าไม้ไผ่


ส่วนดินแดงที่อยู่ใน ดิน เราก็นำมาทำฝาผนังสีอุ่นๆ
โดยผสมเข้าไปในปูนเลย หลายคนคิดว่าเราสร้างบ้านดินแต่ไม่ใช่

เหตุผลที่ใช้ดินผสมเข้าไปในปูนคือ
การประหยัด ร้านขายสีทาบ้านไม่ชอบ
เพราะผนังบ้านแบบนี้เริ่มแพร่หลาย" เจ้าของบ้านเล่ายิ้มๆ


"ตอนที่เราทำบ้านเราก็ขุดดินขึ้นมาแยกไว้เลย 1 กอง
สำหรับทำสีผนัง เน้นที่ประหยัด สิ่งแวดล้อมดี
โจทย์ของเราคือ ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย"


แหล่งเรียนรู้


การ ทำงานโดยยึดแบบแผนโบราณด้วยการขึ้นรูป
ภาชนะด้วยมือ และใช้เทคนิคการปั้น เผา เคลือบที่
เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลายเป็นจุดเด่นและจุดแข็ง

ที่ทำให้เหล่านักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจงานศิลปะแขนงนี้

ติดต่อขอเข้าชมการทำงานอยู่แทบทุกวัน


บ้าน ดอยดินแดงในวันนี้จึงมีทั้งโรงปั้นที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชม
ได้ชมวิธีการทำ งานและสามารถสอบถามพูดคุยกับช่างได้อย่างใกล้ชิด
รวมทั้งยังสามารถพูดคุยกับศิลปินถึงวิธีคิด

และขั้นตอนการทำงานศิลปะได้ หากมีการนัดหมายล่วงหน้า

นอกจากนี้ยังมีสตูดิโอของศิลปิน ห้องแสดงงานเซรามิคอาร์ต
ห้องแสดงสินค้าประเภทตกแต่ง ช้อปสำหรับขายสินค้าประเภทเทเบิ้ลแวร์
และล่าสุดเจ้าของบ้านได้เปิดมุมร้านกาแฟ
ไว้อำนวยความสะดวกสำหรับแขกที่มา เยือนอีกด้วย


"สำหรับนักศึกษาที่เข้ามาดูงาน
บางคนถามว่างานปั้นมืออย่างนี้จะอยู่รอดได้มั้ย

เราก็พยายามสอนเขาเรื่องการพึ่งพาตัวเอง
การเป็นศิลปินต้องรู้จักพึ่งตัวเอง

ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักการพึ่งพาอาศัยกันด้วย
ถ้าเราใช้ชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมได้ ทำงานดี อยู่รอดแน่นอน"


อยู่กับธรรมชาติอย่างกลมเกลียว

สมลักษณ์เล่าว่า เมื่อสองสามปีก่อน
เขาเริ่มสนใจในการเพาะกล้าไม้ ไม้ป่า ไม้ผลบ้าง
และมาจริงจังตอนซื้อต้นชาหลายพันธุ์
มาปลูกในเนื้อที่ 1 ไร่ เพื่อเป็นงานอดิเรก


"ชอบความเขียวชอุ่มของต้นชา ชอบดื่มชา
และอาชีพของผมเป็นคนทำถ้วยชาม ถ้วยชา กาแฟอยู่แล้ว

ปลูกชาเอาไว้ต้อนรับแขกบ้าง ดื่มเองบ้าง

ปี แรกๆ ซื้อต้นชามาจากแม่สลองขึ้นได้ 3 ปีแล้ว
เขียวชอุ่มทั้งปี มี 2-3 ชนิด แต่ปีถัดไป
เราจะปลูกเพิ่มเติมเราคงจะไม่จำเป็นต้องซื้อต้นชาอีกแล้ว
เพราะเห็นเมล็ดชาขึ้นเต็มต้นไปหมด
ชาบางชนิดเอาเมล็ดไปเพาะชำต้นอ่อนจากกิ่งชา

ที่ตัดออกมาจากต้นที่แก่ และไม่แปลกใจแต่อย่างใด
ที่มีคนพูดว่าชาของเขาทั้งหมดหลายร้อยหลายพันไร่
เกิดจากต้นชาหลังสวนของเขาเอง

การปลูกต้นชากลายเป็นงานอดิเรกที่ผมรักและชอบไปทีเดียว
และอีกอย่างหนึ่งที่ชอบที่สุด คือ การเก็บสะสมเมล็ดของต้นไม้ป่า
เมล็ดของไม้ผล และพืชพันธุ์ธัญญาหาร
มันช่างมีรูปร่างที่แปลก มีปริมาตรที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เหมือนเป็นงานประติมากรรม
ออร์แกนิค ฟอร์มที่เกินกว่ามนุษย์จะคิดได้เลยทีเดียว"


ใบชาที่ปลูกไว้เป็นงาน อดิเรก กลายมาเป็นชาร้อนกลิ่นหอม
ให้แขกผู้มาเยือนดื่มท่ามกลางความร่มเย็นของแมกไม้
ที่ดูเหมือนป่าขนาดย่อม และอีกไม่นานที่ร้านกาแฟเปิดใหม่
ก็จะวางขายชาดอยดินแดงผลผลิตจากงานอดิเรก


ส่วน เมล็ดพันธุ์ที่เก็บสะสมไว้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้
ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานเซรามิคชุดล่าสุด

The Still Voice of the Forest
ที่เคยนำมาจัดแสดงที่ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
และนำมาจัดแสดงในสตูดิโอดอยดินแดงในขณะนี้

ในงานแสดงผลงานชุดนี้ สมลักษณ์ได้ให้ความเห็นต่อ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทั่วโลกเอาไว้อย่างน่าคิดว่า


" ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะเกิดจากค่านิยม
การบริโภคนิยมของมนุษย์โลก

และการจัดการที่จะให้ความสมดุลของธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมกลับคืนมานั้น ดูจะหมดหนทาง
ถ้าเป็นอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้ แต่สำหรับผมแล้ว
ผมยังมีความหวังทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
เพื่อสนองตอบต่อตนเองและเท่าที่ตัวผมเอง จะทำได้
และยังมีความหวังกับมนุษย์ร่วมโลกที่อุทิศแรงกายแรงใจ
และมีความคิดไปในทำนอง
เดียวกันซึ่งมีจำนวนมากขึ้น และมากขึ้นทั่วทั้งโลก

ตัวผมเอง ผมยังมีต้นกล้าแห่งความหวัง
ต้นกล้าไม้ต้นหนึ่งก็คงเปรียบเหมือนมนุษย์หนึ่งคน
ถ้าได้เพาะบ่มให้ดี มีดินมีน้ำที่ดีก็จะเติบโต
เป็นต้นไม้แห่งความหวังได้
ผลิดอกออกผลต่อไปจนไม่มีที่สิ้นสุด

จุดหมายในการทำงานของผมครั้งนี้
ก็เพื่อการตอบสนองตนเองเป็นสำคัญ
แต่อย่างน้อยถ้างานของผมทำให้ผู้คนได้รำลึกถึง
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ตัว เองอาศัยอยู่บ้าง
ผมก็มีความพอใจและถือว่าบรรลุความสำเร็จอย่างสูงสุดแล้ว
เพราะงานของผมเปลี่ยนแปลงอะไรโลกไม่ได้เลย"


มาถึงบรรทัดนี้แล้วไม่แปลกใจเลย

ที่บ้านดอยดินแดงไม่เคยขาดแคลนผู้มาเยือน


หมาย เหตุ :

ดอยดินแดง เครื่องปั้นดินเผา
49 หมู่ 6 ซอย 3
บ้านป่าอ้อ
ถ.พหลโยธิน
ต.นางแล
อ.เมือง
จ.เชียงราย 57100
โทร.0-5370-5291 เปิด 08.30-16.00 น.
ทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์
(6 กม.จากสนามบินเชียงรายมุ่งหน้าไปทาง อ.แม่สาย
ดอยดินแดงจะอยู่ทางด้านขวามือในซอยเดียวกับ
หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว เข้าซอยประมาณ 2 กม.)






เป็นอยู่คือ - ปั้นเพื่อปล่อย 28Jan12
บ้านดอยดินแดง ปั้นดินปั้นทรายให้เป็นงานศิลป์