Custom Search

Dec 31, 2008

Titanic : ไททานิค


เรือโดยสาร "ไททานิค" จัดเป็นเรือโดยสารที่หรูหราประเภท
เรือสำราญขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น ออกแบบ
สร้างประกอบโดยอู่ต่อเรือของบริษัท Harland and Wolff
ประเทศ North Ireland ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๑๑
มีระวางขับน้ำ ๔๖,๓๒๘ ตัน มีเครื่องจักรไอน้ำที่มีกำลังแรงถึง ๔๖.๐๐๐ แรงม้า
สามารถทำความเร็วสูงสุดในการเดินทางได้ถึง ๒๔ น็อต
โดยมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงถึง ๗.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การเดินทางเที่ยวนี้เป็นการเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ข้ามมหาสมุทแอตแลนติก
จากเมืองเซาท์แธมตัน ประเทศอังกฤษไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
โดยเริ่มถอนสมอออกเดินทางเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ค.ศ.๑๙๑๒ เวลา ๑๓.๓๐ น.
มีผู้โดยสารและพนักงานประจำเรือทั้งสิ้นประมาณ ๒,๒๑๗ คน
ความใหญ่โตมโหฬารมีรูปลักษณะแข็งแกร่งทนทานมหาศาลนี้
ทำให้บริษัทเจ้าของเรือมีความภาคภูมิใจมากถึงกับขนานนามเรือลำนี้ว่า
"Unsinkable Ship หรือ เรือที่ไม่มีวันจม"
และชื่อของเรือ "ไททานิค" นั้นก็ได้นำมาจากคำว่า "Titan"
ซึ่งเป็นชื่อของอสูรเทพที่ทรงพลัง บุตรของเทพเจ้า Uranus และ Gaia
ตามเทพนิยายกรีกโบราณ
ในระหว่างการเดินทางนับตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายนฯ เป็นต้นมา
เรือ "ไททานิค" ได้รับสัญญาณวิทยุเตือนภัยให้ระวัง
เรื่องภูเขาและกลุ่มก้อนน้ำแข็งที่ปรากฏลอยอยู่เกลื่อนกลาด
ทั่วไปในเส้นทางการเดินทางจากเรือลำอื่นๆ มาโดยตลอด
เมื่อคืนวันที่ ๑๔ เมษายนฯ เวลา ๒๒.๓๐ น.
พนักงานวิทยุประจำเรือ "คาลิฟอร์เนียน"
ซึ่งกำลังติดอยู่ในกลุ่มก้อนน้ำแข็งห่างจากเรือ "ไททานิค"
ประมาณ ๑๙ ไมล์ทางเหนือ ได้ส่งสัญญาณเตือนภัยให้แก่เรืออื่นๆ
ซึ่งกำลังเดินทางอยู่ในเส้นทางที่ใกล้เคียงให้ระมัดระวังภัยพิบัติที่
อาจจะเกิดจากการชนภูเขาน้ำแข็งภายในบริเวณนี้ได้
ขณะที่กำลังเรียกขานเรือ "ไททานิค"
เพื่อแจ้งให้ระมัดระวังเหตุภัยพิบัตินี้เช่นกัน
ก็ได้รับสัญญาณตอบกลับมา
ในลักษณะที่ไม่ค่อยสุภาพว่า
"...ให้หยุดเตือนเสียที
เพราะสัญญาณเข้าไปรบกวนการทำงาน
(ของเขา)กับ Cape Race..."
พนักงานวิทยุประจำเรือ "คาลิฟอร์เนียน"
จึงเลิกทำการติดต่อ
และปิดเครื่องวิทยุเมื่อเวลา ๒๓.๓๐ น.
เมื่อเวลาประมาณ ๒๓.๔๐ น.
ด้วยความเร็ว ๒๒ น็อตครึ่ง
เรือ "ไททานิค" ได้พุ่งเข้าชนภูเขาน้ำแข็งซึ่งมีความสูงพ้นระดับน้ำ ๕๕-๖๐ ฟิต
ที่ Longitude 50o 14' W Lattitude 41o 27' N
ทำให้ตัวเรือแตกน้ำทะเลไหลท่วมท้นเข้ามาในตัวเรือมีระดับสูงกว่า
กระดูกงู ๑๔ ฟิต ภายใน ๑๐ นาที
แล้วไหลทะลักเข้าไปสู่ห้องต่างๆอย่างรวดเร็วเป็นเหตุให้เรือเริ่มอับปาง
พนักงานวิทยุประจำเรือฯ ได้ส่งสัญญาณวิทยุแจ้งเหตุร้าย
ขอความช่วยเหลือไปยังเรือและสถานีฝั่งในอาณาบริเวณ
เรือหลายลำที่ได้รับสัญญาณวิทยุขอความช่วยเหลือจากเรือ "ไททานิค"
จึงเปลี่ยนเส้นทางมุ่งหน้าไปยังสถานที่เกิดเหตุโดยเร็ว
วันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ.๑๙๑๒ เวลา ๐๐.๐๕ น.
กัปตันเรือ "ไททานิค" ได้สั่งสละเรือใหญ่ เรือลำนี้
ถึงแม้ว่าจะได้เตรียมเรือชูชีพไว้จำนวนมาก
แต่ก็สามารถจุได้เพียง ๑,๑๗๘ คนเท่านั้น
ในจำนวนผู้โดยสารและพนักงานประจำเรือทั้งหมด ๒,๒๑๗ คน
และถึงแม้ว่า จะมีเรือหลายลำเข้าไปช่วยเหลือได้ในระยะเวลาอันสั้น
๒ นาฬิกา ๒๐ นาที ของวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ.๑๙๑๒
เรือทั้งลำจมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
การอับปางของเรือ "ไททานิค" ครั้งนี้ก็ยังเป็นเหตุโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่
ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง ๑,๕๑๓ คน

อ่านเพิ่มเติม :





ความเหนื่อย-ความเสี่ยง


หนุ่มเมืองจันท์
ฟาสฟู้ดธุรกิจ
มติชน
12 ธันวาคม 2545

อ่านนิตยสารสารคดีเล่มใหม่หรือยังครับมีบทสัมภาษณ์ดีๆ
ชิ้นหนึ่งในเล่มนี้เป็นบทสัมภาษณ์
"สุพจน์ ธีระวัฒนชัย"หนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่ของ
โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง แฮ่ม...เพื่อนสนิทของผม...
ไม่ใช่สิ ตอนนี้ต้องเรียกว่า "เพื่อนตาย"
คือ ตอนแรกเราเป็นเพื่อนกันธรรมดาเรียนคณะเดียวกัน
ทำกิจกรรมมาด้วยกันแต่พอ "พจน์"
ประสบความสำเร็จจากโรงเบียร์ เริ่มร่ำรวยผมก็เริ่มยกระดับเขาเป็น "เพื่อนสนิท"
ประเภทที่พอใครเอ่ยถึง "โรงเบียร์"ผมก็จะมีอุทานเสริมบททันที
"โรงเบียร์ของเพื่อนสนิทของผม"...ประมาณนั้นและพอเขาลงทุนในธุรกิจใหม่
"คาราบาวแดง"ทำท่าจะร่ำรวยกว่าเดิมอีก
ผมก็เลยให้เกียรติ "พจน์" เป็น "เพื่อนตาย"โดยที่ "พจน์" ไม่รู้สึกตัวเลย
ล่าสุดมีอีกรายหนึ่งเป็นเพื่อนที่ทำกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์
ชื่อ "ต้อย" มนตรี ฐิรไฆไท
ผมเจอกับ "ต้อย" ครั้งสุดท้ายตอนที่เขาจะทำหนังสือ
"เมคมันนี่"คุยกันตอนนั้นก็รู้ว่าประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากทีเดียว
แต่พออ่านบทสัมภาษณ์ใน
"กรุงเทพธุรกิจ"เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรู้ว่าเขามีหุ้นบริษัทผลิตพัดลมแห่งหนึ่ง
ประมาณ 6.8 แสนหุ้นราคาหุ้นละ 330 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 220 ล้านบาท
โหย...ฐานะอย่างนี้เป็นเพื่อนธรรมดาไม่ได้แล้วขั้นต่ำต้องเป็น "เพื่อนสนิท"
คาดว่าถ้าได้นั่งคุยกันอีก 1-2 ครั้งน่าจะยกระดับเป็น "เพื่อนตาย" อีกคนหนึ่งได้
กลับสู่เรื่องเดิมผมอ่านบทสัมภาษณ์ "พจน์"
...แฮ่ม... "พจน์" เพื่อนตายของผมแล้วชีวิตของมัน
ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลยแต่โรยด้วยดอกกุหลาบ
พร้อมก้านที่ยังไม่ลิดหนาม"ความสำเร็จ" ในวันนี้ คือ
ผลจากการทำงานหนักตั้งแต่เด็ก
ชอบตอนไปสัมภาษณ์งานที่ห้างเมอร์รี่คิงส์ในใบสมัคร
ให้กรอกว่ามีประสบการณ์ทำงานกี่ปี "พจน์" กรอกไปเลยแบบมั่นใจ 10 ปี
ก็ทำงานตั้งแต่อายุ 13 จนถึง 22
ประสบการณ์ทำงานก็ต้อง 10 ปีสิ
มีคำถามหนึ่งที่ทุกคนสงสัย
ทำไมถึงกล้าตั้งโรงเบียร์ขนาด 1,000
ที่นั่งในขณะที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ (ปี 2542)
"ทำแค่ 200 ที่ คุณเหนื่อยเท่ากับขาย 1,000 ที่"
เป็นคำตอบของ "พจน์" ตามด้วยเหตุผลอื่นๆ อีก
แต่ผมสะดุดใจในประโยคนี้เพราะเคยได้ยินจากนักธุรกิจใหญ่หลายคน
ประเภทที่เคยผ่านการ "THINK BIG" มาก่อน

"งานใหญ่ งานเล็ก เหนื่อยเท่ากัน"
เป็นคำตอบเพื่อบอกว่าเมื่อจะเหนื่อยทั้งทีลงแรงก็เท่ากัน
จะทำธุรกิจเล็กๆ ไปทำไม ลงทุนขนาดใหญ่ดีกว่าเพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่า
นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะต้องผ่านหลักคิด
แบบนี้มาอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงจังหวะที่ก้าวกระโดดคือ
คิดถึง "ความเหนื่อย" มากกว่า "ความเสี่ยง"
ลงทุนน้อยเหนื่อยเท่ากับลงทุนมาก แต่ลงทุนมาก
"เสี่ยง" มากลงทุนน้อย "เสี่ยง" น้อย ลงทุนน้อย
ถ้า "ขาดทุน"ก็อยู่ในขนาดที่ยังพอหาทางจัดการได้
แต่ถ้า "ลงทุน" มากเวลาขาดทุนจะหนักหนาสาหัส
ในช่วงที่ชีวิตยังไม่ถึงเพดานบินนักธุรกิจส่วนใหญ่จะผ่านวิธีคิดที่ให้น้ำหนักกับ
"ความเหนื่อย"มากกว่า "ความเสี่ยง"
อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิตต่อให้เป็นนักธุรกิจที่ "อนุรักษนิยม"
เพียงใดก็ตามแต่ทันทีที่ถึง "เพดานบิน" คือ
ร่ำรวยมากแล้วนักธุรกิจส่วนใหญ่มักจะให้น้ำหนักกับ
"ความเหนื่อย"เท่าเทียมหรือน้อยกว่ากับ "ความเสี่ยง"
ตัวอย่างที่ดี คือ"ทักษิณ ชินวัตร" ช่วงที่ลุ่มๆ ดอนๆ
เขาจะ THINK BIG เสมอใช้กลยุทธ์ "ใหญ่กลบเล็ก"
ในการทำธุรกิจ เป็นหนี้อยู่เท่าไรจะลงทุนใหม่ใหญ่กว่าเดิม
ถ้าสำเร็จก็จะสามารถใช้ "หนี้เก่า" ได้และมี "กำไร" ด้วย
เพราะหากลงทุนครั้งใหม่ในขนาดเท่ากับการลงทุนครั้งเก่าที่ล้มเหลว
ดีที่สุดก็เพียงแค่ใช้หนี้ได้แต่ไม่มีกำไร
ในอดีต "ทักษิณ" คิดแบบนั้นแต่วันนี้หลังจาก
เป็นคนร่ำรวยที่สุดในประเทศแล้วการลงทุนของกลุ่มชิน คอร์ป
จะคิดถึง "ความเสี่ยง"มากกว่า "ความเหนื่อย" ไม่มี "ใหญ่กลบเล็ก"ให้เห็นอีกแล้ว
กลยุทธ์สู่ "ความสำเร็จ" นั้นเหมือน "เสื้อ"
"เสื้อ"ที่สวยขึ้นอยู่กับตัวเสื้อและคนใสเราจะหลงผิดทุกครั้งเวลา
ที่เห็นนางแบบหรือนายแบบใส่เสื้อผ้าตัวไหนสวยแล้ว
สรุปว่าถ้าเราใส่เสื้อตัวนี้ เราจะหล่อหรือสวยเหมือนที่เห็นในหนังสือ
ลืมไปว่าชีวิตใครชีวิตมัน รูปร่างใครรูปร่างมัน "กลยุทธ์"หรือ
"วิธีคิด" ของนักธุรกิจแต่ละคนก็เหมือนกับ "เสื้อ"ที่สวมพอดีตัวสำหรับคนคนนั้น
ถ้าใครจะเอามาใส่บ้างก็ต้องพิจารณาว่าตัวเราเหมาะสมกับ "เสื้อ" ตัวนั้นไหม
ความสำเร็จของคนอื่นมีให้ "เรียนรู้" ไม่ใช่ "บูชา"
เหมือนเห็น "เสื้อ" สวย ก็ต้องเอาความงามของ "แบบ"หรือ
"เนื้อผ้า" ของเสื้อสวยตัวนั้นมาประยุกต์ใช้กับตนเองไม่ใช่เอามาสวมแบบ
"เสื้อสำเร็จรูป"วันหนึ่งผมแวบไปโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
ไปนั่งพิสูจน์ว่าเบียร์ยังรสชาติเหมือนเดิมหรือไม่วันนั้น
คาดว่าผมใส่นาฬิกาที่มีแต่เข็มนาทีไปจึงไม่รู้ว่ากี่โมงยาม
"คุยกับ "พจน์" อย่างเมามันฉลองตำแหน่ง "เพื่อนตาย"
ที่ผมมอบให้มารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนที่ไฟเปิดสว่างเด็กเริ่มกวาดพื้นทำความสะอาด
พื้นโรงเบียร์นั้นเป็นไม้เก่าจึงมีร่องให้เศษอาหารเล่นซ่อนแอบ
กับคนกวาดระหว่างที่นั่งคุยกันอยู่นั้น "ตาที่สาม" ของ "พจน์" เริ่มทำงาน
"น้อง ขอไม้จิ้มฟันหน่อย" เด็กคนนั้นรีบหยิบไม้จิ้มฟันมาส่งให้
"พจน์" คงนึกว่าเศษมอลล์จากเบียร์สดติดฟัน
"พจน์" ไม่รับ แต่ชี้ไปที่พื้น
"ลองเอาไม้จิ้มฟันเขี่ยดูสิเศษอาหารมันจะออกไหม"
เห็นความละเอียดของ "พจน์"
แล้วผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าความสำเร็จของคนเรา
นอกจาก THINK BIG หรือกล้าคิดการใหญ่แล้ว
บางครั้งก็ยังต้องลงรายละเอียดในเชิงปฏิบัติด้วย
อย่าลืมว่าเขื่อนใหญ่บางทีอาจพังทลายจากรูรั่วเพียงแค่รูเข็ม
ผมสะกิด"มด" เจ้าแม่โรงเบียร์ ลูกน้องของ "พจน์"
"รู้ชื่อจริงของพจน์หรือเปล่า"
"มด" ทำท่าแปลกใจกึ่งสงสัย"
เขาเป็นญาติกับ สุทธิชัย หยุ่น"
ผมทำท่ามีลับลมคมนัยชื่อจริง
"สุพจน์ ยิบ" ละเอียดยิบจริงๆ

"จอหงวน" ปราชญ์แห่งความอร่อย...จากฮ่องกงแท้ๆ (Review)

ที่มา: http://www.naewna.com/news.asp?ID=105046

“จอหงวน” ร้านอาหารจีนกวางตุ้งที่เรากล่าวถึงอยู่ภายใต้การบริหารของหนุ่มนักธุรกิจร้านอาหารมือดี สุพจน์ ธีระวัฒนชัย ที่ทำให้โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงติดอยู่ในเอลิสต์ของร้านอาหารและผับชื่อดังแห่งยุค “จอหงวน” ฉีกรูปแบบร้านอาหารจีนสไตล์กวางตุ้งในบ้านเรานอกจากจะออกแบบตกแต่งบรรยากาศในร้านให้ดูทันสมัยมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนร่วมสมัยแล้ว ที่นี่ยังมีครัวเปิด 360 โชว์การทำบะหมี่สดด้วยวิธีนวดแป้งแบบโบราณให้นักชิมได้สัมผัสวัฒนธรรมการทานอาหารจีนที่ละเอียดลึกซึ้งให้ทั้งความอร่อย โภชนาการและสุขภาพไปพร้อมๆ กันนั่นเพราะอาหารกวางตุ้งมีความหลากหลายและเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจเริ่ม
ตั้งแต่การทำเส้นบะหมี่ตำรับกวางตุ้งที่แตกต่าง โดยเฉพาะวิธีนวดแป้งท่า “ขี่ม้า” ที่ใช้ไม้ไผ่ลำโตเป็นอุปกรณ์สำคัญเป็นท่านวดแป้งแบบโบราณที่ยังคงสืบทอดมาถึงทุกวันนี้
ทำให้ได้แป้งเนื้อเหนียวและแน่น เมื่อนำไปรีดเป็นเส้นบะหมี่กลมก็จะได้เส้นขนาดเล็ก เหนียวนุ่มเลยการันตีได้ว่าเส้นบะหมี่ที่ ร้าน

“จอหงวน” อร่อยไม่เหมือนใคร ไม่ต่างกับเกี๊ยวแบบกวางตุ้งมีเปลือกนอกสีขาว ห่อจีบเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว หรือที่รู้จักกันในชื่อWonton (วันดัน) ซึ่งเกาะฮ่องกงดูจะเป็นที่เดียวที่ทำเกี๊ยวชนิดนี้จนเลื่องชื่อก็มีให้ลิ้มลองที่ “จอหงวน” เช่นกัน

ทั้งบะหมี่และเกี๊ยวตำรับกวางตุ้งกลายมาเป็นเมนูเด่นของร้านเช่น บะหมี่คากิพะโล้ บะหมี่เปรี้ยวหวานเกี๊ยวฮ่องกง (ต้นตำรับ) เกี๊ยวหมูสับปวยเล้ง นอกนั้นก็เป็นเมนูใหม่ๆที่หาทานได้ยากในกรุงเทพฯ อย่างผักลวกราดซอสพิเศษจากฮ่องกงห่านย่างฮ่องกงรสเด็ด ซุปสาลี่แอปเปิ้ล โจ๊กกุ้งสดเปลือกส้ม โจ๊กสำปปั้น ก๋วยเตี๋ยวหลอดปาท่องโก๋ ไชเท้าทรงเครื่องทอด ฯลฯเป็นเมนูอาหารกวางตุ้งสุดเทรนดี้ ทานง่าย อร่อยแบบต้นตำรับที่สำคัญไม่ต้องเสียเวลาไปไกลถึงเกาะฮ่องกงลองหมุนไปสำรองที่นั่งได้ที่ 0-2631-1919

"นโยบาย" สู่ "ปฏิบัติ" คือคำตอบ

วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2552

กลุ่มคนที่เจ็บปวดจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะผู้ใช้แรงงาน
เจ้าของ SME"s ประชาชนทั่วไป ฯลฯ เท่านั้น
หากนักเศรษฐศาสตร์เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เจ็บปวด
จากการไร้ความสามารถในการพยากรณ์วิกฤตที่กล่าวกันว่า
ร้ายแรงที่สุดในประเทศพัฒนาแล้วนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ข้อความวิจารณ์นักเศรษฐศาสตร์ในเว็บไม่ว่าจาก Blogs ใดๆ
ในระดับโลกกำลังกระหึ่มด้วยคำวิจารณ์อาชีพนี้ว่าไม่มีใครออกมาเตือนว่า
จะมีวิกฤตที่รุนแรงได้ขนาดนี้
ที่มีการเตือนกันก็เพียงผลจากฟองสบู่แตกในอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา
แต่ไม่มีใครพยากรณ์การเชื่อมต่อของผลกระทบ
จากภาคอสังหาริมทรัพย์นี้สู่สถาบันการเงิน สถาบันประกัน
จนสู่ภาคการผลิตไปทั่วโลกคำพูดสุดเจ็บปวดก็คือ
นักเศรษฐศาสตร์ควรทิ้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้คนอื่นและตัวเอง
ไปแก้ไขวิชาการของตัวเองจะดีกว่าวิกฤตครั้งนี้เชื่อกันว่า
จะทำให้เกิดการทบทวนทิศทางของการศึกษา
และวิจัยเศรษฐศาสตร์ขึ้นครั้งใหญ่ในระดับโลก
ผู้สนใจข้อวิจารณ์นี้กรุณาดู
The Global Edition of The New York Times
อยู่ใน International Herald Tribute
ฉบับ 24-25 ธันวาคม 2008
หันมาดูปัญหาเศรษฐกิจในบ้านเรา
ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเศรษฐกิจที่จะแก้ไขปัญหา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินเพิ่มเติมงบประมาณ
ระหว่างปี 100,000 ล้านบาท และเงินที่สมควรเร่งใช้จ่ายอีก
200,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวน 100,000 ล้านบาท
เป็นการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน
และเกิดผลกระทบด้านบวกต่อประชาชนในชนบทและคนฐานะปานกลางในเมือง
ถึงแม้ว่าจะถูกวิจารณ์ว่าเป็น "ประชานิยม" แต่ก็เป็น "ประชานิยม"
ที่สอดคล้องกับช่วงจังหวะที่ระบบเศรษฐกิจต้องการ "ยาฉีด"
เข็มใหญ่ที่อัดเข้าไปในกลุ่มคนเหล่านี้พอดีในระดับนโยบายการกระตุ้นการจ้างงาน
การส่งเสริมภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว
การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบ SME"s และประชาชนทั่วไป
การสนับสนุนอุตสาหกรรมส่งออก การผ่อนปรนเงื่อนไขที่รัดรึงการกู้ยืม ฯลฯ
เป็นหนทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยากที่จะหาคนขัดแย้งอย่างไรก็ดี
มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งของฝรั่งที่เข้าท่าว่า
The devil is in the details
หรือเรื่องยากลำบากยิ่งก็คือการลงไปในรายละเอียด
ซึ่งในเรื่องนี้ขอตีความไปในทำนองว่าเรื่องยากยิ่ง
ก็คือรายละเอียดของการปฏิบัติหรือ
การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
พูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือจะทำอย่างไรให้เงิน 300,000 ล้านบาท
ออกไปถึงมือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
ตรงจุดตามที่ตั้งใจ และไม่รั่วไหลเกินกว่าที่จะรับได้
(การรั่วไหลชนิดแท่งไอติมดูดนั้น
ยากที่จะหายไปข้ามคืน
แต่ก็ไม่ควรยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย)
เงิน 300,000 ล้านบาทนี้จะไปอาละวาดไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ
ก่อให้เกิดการผลิตและรายได้อีก 3-4 เท่าตัวในที่สุด
เนื่องจากรายจ่ายของคนหนึ่งจะเป็นรายได้ของอีกคนหนึ่ง
เมื่อภาครัฐจ่ายเงินออกไปเพื่อสร้างการผลิต
เงินนั้นก็จะกลายเป็นรายได้ของบางคน
และคนเหล่านี้เมื่อจ่ายรายได้ออกมาเพื่อการบริโภค
รายจ่ายนั้นก็จะกลายเป็นรายได้ของคนอื่นๆ อีกดังนี้เรื่อยไป
เมื่อนับรายได้ของทุกคนที่ได้รับเพิ่มขึ้นรวมกัน
ก็จะเป็นหลายเท่าของเงิน 300,000 ล้านบาทที่จ่ายออกไปครั้งแรก
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รู้จักกันในนามของ multiplier effects
หัวใจของความสำเร็จ (ล้มเหลว)
ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือการนำนโยบายออกไปปฏิบัติ
กล่าวคือมีการเบิกจ่ายเงินอย่างรวดเร็วโดยผู้เบิกจ่ายสามารถอนุมัติได้อย่าง
ถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการและ
ความร่วมมือของข้าราชการความสามารถในการทำให้
เกิดการจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ฝีมือ" ในการจัดการเศรษฐกิจนั่นเอง
รัฐบาลที่แล้วมัวแต่ "รำมวย" ว่าจะใช้เงิน 100,000 ล้านบาทอย่างไร
ตกลงกันไม่ได้จนไม่มีโอกาสได้ใช้
รัฐบาลใหม่เข้ามาจึงเป็นโอกาสที่จะได้แสดง "ฝีมือ" ให้ประจักษ์
เพราะระบบเศรษฐกิจขณะนี้กำลังต้องการการอัดฉีดอย่างยิ่ง
งานนี้ไม่หมูเพราะ The devil is in the details
แต่ก็สามารถทำได้ ประเทศอื่นๆ เขาก็เผชิญปัญหาแบบเดียวกับเรา
และเขาก็ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้เล่า
หน้า 6

Dec 27, 2008

Happy New Year!


คอลัมน์ English Today
สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มติชน
28 ธันวาคม 2551

ในวันส่งท้ายปีเก่า (New Year"s Eve) คือวันที่ 31 ธันวาคมนั้น
ผู้คนทั่วโลกต่างพากันเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขนี้กันอย่างเต็มที่
เพื่อต้อนรับปีใหม่ที่จะมาถึง โดยจัดงานเลี้ยงหรืองานนับถอยหลังเข้าสู่วันปีใหม่
ตอนใกล้เที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม (เคานต์ดาวน์)
งานฉลองเทศกาลปีใหม่ที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุดงานหนึ่งคือ
งานปีใหม่ที่ย่านไทม์สแควร์ ใจกลางมหานครนิวยอร์ก
ซึ่งมีผู้คนนับล้านคนมาร่วมงานในแต่ละปี โดย 1 นาทีก่อนถึงเวลาเที่ยงคืน
ลูกบอลขนาดใหญ่จะค่อยๆ ถูกหย่อนลงมา
พร้อมกับการนับถอยหลังของฝูงชนและ
เมื่อลูกบอลลงมาแตะพื้น
ข้อความปีใหม่บนจอภาพดิจิตอลขนาดยักษ์จะสว่างขึ้น
และผู้คนที่มาร่วมชุมนุมกันอยู่บริเวณนั้นจะสวมกอด จุมพิต
และกล่าวอวยพร Happy New Year!
ซึ่งกันและกันสำหรับเพลงที่นิยมร้องกัน
ในตอนเที่ยงคืนของวันขึ้นปีใหม่คือ
เพลงโอลด์ แลง ซาย (Auld Lang Syne)
ซึ่งในบ้านเรานำมาใส่เนื้อร้องเป็นเพลงสามัคคีชุมนุมที่น้องๆ หลายคนคงเคยได้ยินกัน
ส่วนชื่อเพลง Auld Lang Syne นั้น
มีความหมายว่า "the good old days"
หรือช่วงวันเวลาที่ดีๆ ในอดีตค่ะ
ส่วนในวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ (New Year"s Day)นั้น
คนอเมริกันมีความเชื่อดั้งเดิมว่า
ผู้ที่มาเยือนในวันปีใหม่สามารถนำโชคดี (good luck)
หรือโชคร้าย (bad luck) มาให้ตลอดทั้งปี
และถ้าคนแรกเป็นชายผมดำรูปร่างสูงแล้วล่ะก็
จะโชคดีเป็นพิเศษทีเดียว
ส่วนอาหารที่ชาวอเมริกันจำนวนมากนิยมบริโภคในวันปีใหม่
เพราะถือว่าจะนำโชคดีมาให้ได้แก่ถั่วแบล๊คอาย (black-eyed peas)
หมู (hog) และกะหล่ำปลี (cabbage)
ซึ่งสองอย่างหลังนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง (prosperity) ค่ะ
ถึงตรงนี้ขอถือโอกาสกล่าวสวัสดีปีใหม่กับน้องๆ ว่า
May you have a very happy and prosperous New Year!
(ขอให้มีความสุขและความเจริญรุ่งเรืองในวันปีใหม่) นะคะ
หน้า 24


เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม (10) ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ ในพระพุทธศาสนา

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551
ภาพประกอบ: มติชน

จุดเด่นของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งคือ
คำสอนที่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นดับไป ตามเหตุปัจจัย
ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอยๆ
โดยไม่มีเหตุปัจจัยคำสอนที่ว่านี้เรียกหลายอย่าง
บางทีก็เรียกว่าไตรลักษณ์
(ลักษณะ 3 ประการ หรือ ลักษณะที่ปรากฏในสรรพสิ่งเหมือนๆ กัน)
มี 3 ประการ คือ
1.สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ถาวร แปรเปลี่ยนไปตามกาล
และดับไปตามกาลเวลา
ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล
มีแต่ในคำพูดเล่นสำนวนเท่านั้น
2.สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมา ล้วนคงอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้แม้วินาทีเดียว
ที่เราเห็นว่ามันคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงเลยนั้น
เพราะ "ความถี่" แห่งการเปลี่ยนแปลงมันสูง มันเร็วมาก
จนมองไม่เห็นว่ามันเปลี่ยน ดุจมองเปลวไฟที่เกิดดับ
เกิดดับ ตลอดเวลา เป็นเปลวเดียวไม่เกิด ไม่ดับเลยฉะนั้น
3.สรรพสิ่งเป็นเพียง "ก้อนธรรมชาติ"
ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์ประกอบต่างๆ เท่านั้น
ตราบใดที่องค์ประกอบเหล่านั้นยังคงทำงานร่วมกันอยู่
สิ่งนั้นก็ดำรงอยู่ได้ แท้ที่จริงหามี "ตัวตน"
ที่แท้ไม่ยกตัวอย่างคนเรานี่แหละ ไม่ต้องยกอื่นไกล
ที่เรียกว่า "คน" ที่เรียกว่า นายดำ นายแดงนั้น
เป็นเพียงส่วนประกอบขององค์ประกอบขององค์ประกอบ 5 ส่วน
อันเรียกว่า "ขันธ์ 5" คือส่วนที่เป็นรูปธรรม
คือร่างกาย อันประกอบขึ้นจากดิน น้ำ ลม ไฟส่วนที่เป็นนามธรรม
คือการรับรู้ ความจำได้หมายรู้ ความรู้สึกต่างๆ
และความคิดปรุงแต่งต่างๆ พูดสั้นๆ ว่ารูปกับนาม หรือรูปธรรม
กับนามธรรมส่วนประกอบเหล่านี้มันเองก็ไม่เที่ยงแท้
แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ถึงเวลาอันสมควรมันก็ดับสลายไป
ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครบังคับมันได้
เช่น ถึงคราวมันเสื่อมไปตามกาล ฟันที่แข็งแรงดี มันก็โยกคลอน
ผมที่ดำสลวยมันก็หงอก ผิวหนังที่เต่งตึงมันก็เหี่ยวย่น หย่อนยาน
ใครห้ามมันได้ล่ะขนาดวิ่งไปหาหมอศัลยกรรม ดึงนั่น ปะนี่
ก็เพียงชะลอไว้ชั่วครู่ชั่วกาลเท่านั้น
บางคนทำแล้วแทนที่จะสวยจะดีกว่าเดิม กลับน่าเกลียดไปกว่าเดิมก็มี
(ฉีดซิลิโคนให้หน้าอกเต่งตึง ไม่ทันไร
มันละลายห้อยโตงเตงเป็นฟักแฟงเสียอีกแน่ะ น่ากลุ้มแทนชะมัด)
เมื่อส่วนประกอบแต่ละอย่างมันไม่เที่ยงแท้ถาวร
เป็นไปตามกฎธรรมดา จะหา "ตัวตน" ที่แท้จริงได้แต่ที่ไหน
นายนั่น นางนี่ ก็เพียงคำสมมุติเรียกกันเท่านั้นเอง
เอาเข้าจริงนายนั่น นางนี่ก็ไม่มี
บางครั้งพระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียกหลักคำสอนที่ว่านี้ว่า
"ปัจจยาการ" (อาการที่เป็นปัจจัย อาการที่มันอาศัยกันเป็นไป)
ท่านสอนหลักกว้างๆ ว่า"เมื่อสิ่งเหล่านี้มี สิ่งเหล่านั้นก็มี
เพราะสิ่งเหล่านี้เกิด สิ่งเหล่านั้นก็เกิดเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี
สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้ดับ
สิ่งเหล่านั้นก็ดับ"นี้เป็น "สูตร" กว้างๆ คำอธิบายก็คือ
ทุกอย่างเป็น "ปัจจัย" (อิงอาศัยกัน) ไม่มีอะไรอยู่ได้ลอยๆ ต่างหาก
โดยไม่อิงอาศัยสิ่งอื่นและเพราะมันอิงอาศัยกันอย่างนี้
จึงไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวร หรืออยู่ได้โดดๆ
สมัยเป็นเด็ก ผู้ใหญ่เล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง
ตอนนั้นก็ไม่รู้ดอกว่านิทานมันสอนอะไร มารู้เอาเมื่อโตแล้วนิทานมีอยู่ว่า
อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายต่างก็ทำหน้าที่ของตัวไม่ก้าวก่ายกัน
เมื่อมันทำหน้าที่ของตัวโดยสมบูรณ์ ร่างกายก็เป็นไปได้ตามปกติ
ไม่ติดขัด หรือขัดข้องอะไร อยู่มาวันหนึ่ง อวัยวะต่างๆ เหล่า
เกิดถกเถียงกันขึ้นมือ คุยโม้กับเพื่อนว่า
ในบรรดาอวัยวะเหล่านี้ ข้า (มือ) สำคัญที่สุด
ที่คนไม่ตายก็เพราะกินอาหาร ถ้าข้าไม่หยิบอาหารเข้าปาก
คนก็ตายแหงแก๋แล้วเท้า เถียงว่า ไม่จริงดอก
ข้าต่างหากสำคัญกว่า ถ้าข้าไม่เดินไปหาอาหาร
เอ็งก็ไม่มีปัญญาหยิบอาหารใส่ปากตา บอกว่า
ข้าต่างหากมีความสำคัญ ถ้าตามองไม่เห็น ถึงจะมีตีน มีมือ
มันก็หยิบไม่ถูกหรอกเว้ยปาก เถียงว่า พวกท่านล้วนหาความสำคัญไม่
ข้า (ปาก) ต่างหาก ถ้าข้าไม่อ้าปากรับอาหาร
จ้างก็ไม่มีทางอิ่ม อดตายแหงๆ ฟันก็บอกว่า
ถึงเอ็งจะอ้ารับอาหาร ถ้าข้าไม่เคี้ยว ก็ไม่มีทางกินอาหารได้
ตายอยู่ดีแหละกระเพาะ เถียงว่า ถึงเอ็งเคี้ยวกลืนอาหารเข้าไป
ถ้าข้าไม่ทำหน้าที่ย่อย ก็ท้องอืดตายแน่นอน
เพราะฉะนั้น ข้า (กระเพาะ) สำคัญกว่าใครเว้ยตูด เถียงว่า
อะไรๆ ก็สู้ข้าไม่ได้ดอก ถึงกระเพาะจะย่อยอาหาร
เหลือแต่กาก แต่ขี้ ถ้าข้าไม่ระบาย ออกรูก้นแล้ว รับรองเน่าตาย
เหม็นยิ่งกว่าหมาเน่าลอยน้ำอีก อย่ามัวแต่เถียงกันเลย
เชื่อเถอะข้า (ตูด) สำคัญที่สุดเมื่ออวัยวะทั้งหลายถกเถียงกันอย่างนี้
ไม่มีใครยอมใคร ในที่สุดก็ประท้วง ไม่ทำหน้าที่ของตัว
วันเวลาผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ "คน" (อันเป็นองค์รวมของอวัยวะทั้งหมด)
ก็ล้มป่วยลง และสิ้นชีวิตเพราะขาดอาหารในที่สุด"สาระ"
ที่นิทานเรื่องนี้สื่อให้รู้ก็คือ อวัยวะทุกส่วน ต่างต้องอาศัยกัน
อยู่โดยลำพังไม่ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างทำงานร่วมกัน "คน" ก็อยู่ได้
ไม่ตาย แต่ถ้าแต่ละฝ่ายขัดแย้งกัน "คน" (ที่เป็นองค์รวม)
ก็อยู่ไม่ได้เช่นกันนี้แหละครับคือหลัก "ปัจจยาการ"
(อาการที่ทุกสิ่งอาศัยกันเป็นไป)
หลักคำสอนนี้สามารถนำมาปรับใช้กับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้
เป็นอย่างดีสังคมจะอยู่อย่างสันติสุข มีความเจริญก้าวหน้า
ก็เพราะแต่ละคนมีส่วนสำคัญ และสำคัญทัดเทียมกัน
ในการสร้างสรรค์จรรโลง คนละไม้คนละมือไม่มีใครสำคัญที่สุดเพียงคนเดียว
ไม่มีใครไร้ค่าโดยสิ้นเชิงทุกคนมีความสำคัญและมีส่วนร่วมเสมอๆ
กันพูดภาษาพระก็ว่า ทุกคนต่างเป็น "ปัจจัย" หรือทุกคนต่างอิงอาศัยกัน
ในอันที่จะสร้างสรรค์ จรรโลงสังคมให้เจริญก้าวหน้า
และประสบสันติสุขคำสอนเรื่องปัจจยาการ ทำให้เรามองกว้าง มองลึก
เข้าใจความจริงครบถ้วนสมบูรณ์ในบางโอกาส
พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "หลักแห่งเหตุผล"
โดยแสดงครบชุดในหลักอริยสัจ 4
คือทุกข์ และ นิโรธ เป็น ผลสมุทัย และ มรรค เป็น
เหตุทรงชี้ว่า ความทุกข์ (ปัญหาของชีวิตทุกรูปแบบ)
ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันมีเหตุเป็นแดนเกิด
และเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดนั้นก็คือ ตัณหา (ความทะยานอยาก)
ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น
ในสิ่งที่ยังไม่ได้ ยังไม่มี ยังไม่เป็น,
ไม่ว่าจะอยากให้สิ่งที่น่าปรารถนาที่ได้แล้ว มีแล้ว เป็นแล้ว คงอยู่ตลอดไป,
หรือไม่ว่าอยากสลัดทิ้งสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป
สรุปว่า ความอยากของคนนี้แหละเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ทรงชี้ต่อไปว่า
การหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น มีได้
และมิใช่ว่าอยู่ๆ ทุกข์จะหมดไป ต้องมีสาเหตุที่ทำให้หมด
สาเหตุแห่งการดับทุกข์นั้นก็คือ
การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8
(คือความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การกระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ
พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ)
หลักเหตุผลนี้ พระอัสสชิเถระได้สรุปลงด้วยโศลกสั้นๆ ว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต (อาห)เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที
มหาสมโณสิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งสิ่งเหล่านั้น
และการดับเหตุแห่งสิ่งเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้พระอัสสชิ
เป็นน้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์
ถูกส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนาร่วมกับพระอรหันต์ 60 รูป
หลังจากได้ไปทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองราชคฤห์
และประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน จึงเดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า
เช้าวันหนึ่งพระอัสสชิออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์
เด็กหนุ่มชื่อ อุปติสสะ ศิษย์ของเจ้าลัทธิชื่อ สัญชัย เวลัฏฐบุตร
พบเข้า รู้สึกประทับใจในบุคลิกอันงามสง่าและสำรวมของท่าน
จึงเข้าไปสนทนาด้วยอุปติสสะ ขอให้พระอัสสชิแสดงธรรมให้ฟัง
พระอัสสชิ ออกตัวว่า ตัวท่านเพิ่งจะบวชไม่นาน
ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดาร จึงกล่าวโศลกสั้นๆ
ดังข้างต้นไม่ว่าจะเป็นหลักปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท)
ไม่ว่าจะเป็น หลักไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น
หลักอริยสัจ 4 ล้วนเน้นประเด็นตรงกัน
1.สรรพสิ่งมิได้เกิดขึ้นลอยๆ มีเหตุมีปัจจัยทำให้เกิด
2.ปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้มาจาก "เหตุ" เพียงเหตุเดียว
หากมาจาก "ปัจจัย" หลายๆ อย่างรวมกันเข้า
3.เมื่อรู้ว่าสรรพสิ่งจะเกิด หรือดับ เพราะเหตุและปัจจัยหลายอย่าง
เมื่อต้องการความเจริญก้าวหน้าในทางใด
จึงควรสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้ก่อเกิดผลในทางนั้น
4.ไม่ควรนั่งรอ นอนรอโชคชะตา หรือการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์
โดยมิได้ลงมือสร้างสรรค์ด้วยความพากเพียรพยายามของตน
ชาวพุทธที่เชื่อมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
จะเชื่อในกฎแห่งการกระทำ (กรรม)
มากกว่าจะนอนรอโชคชะตา หรือความหวังลมๆ แล้ง
เพราะเชื่อว่าคนเราจะเจริญหรือเสื่อม ขึ้นอยู่กับการกระทำของเขาเอง
ดังนิทานชาดกเรื่องต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง
พระราชาของสองแว่นแคว้นทำสงครามแย่งชิงอาณาจักรกัน
การสู้รบดำเนินไปเป็นเวลานาน ไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะ
จนต้องพักรบ แล้วก็เริ่มรบกันใหม่ เป็นระยะๆ ฤาษีตนหนึ่ง
ได้ฌานเหาะเหินเดินอากาศได้ วันหนึ่งเหาะไปพบท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์)
จึงถามพระอินทร์ว่า พระราชาทั้งสององค์ที่กำลังสู้รบกันอยู่นั้น
ใครจะชนะพระอินทร์บอกว่า พระราชา ก.
จะชนะฤาษีจึงนำความมาเล่าให้ศิษย์คนหนึ่งฟัง
ต่อมาคำทำนายนั้นได้ล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของพระราชาทั้งสอง
พระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ ก็ประมาท
นึกว่าตนจะชนะอยู่แล้ว จึงไม่ใส่ใจปรับปรุงกองทัพให้เตรียมพร้อม
ส่วนพระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้
ก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนกองทัพของตนให้เชี่ยวชาญในกระบวนการสู้รบ
ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท
กองทัพของตนจึงพร้อมที่จะเข้าสู่สงครามทุกเมื่อ
เมื่อถึงวันสู้รบกันอีกครั้ง พระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ
ประสบความพ่ายแพ้ยับเยินฤาษีเองก็เสียหน้าที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามคำทำนาย
จึงไปต่อว่าพระอินทร์ที่บอกตนเช่นนั้น พระอินทร์บอกฤาษีว่า
คำทำนายไม่ผิดดอก ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
พระราชาองค์ที่ตนทายว่าจะชนะ ต้องชนะแน่นอน
แต่บังเอิญ พระราชาอีกองค์ไม่ได้ประมาท
เพียรพยายามฝึกฝนตนเองและกองทัพ เตรียมการให้พร้อมอยู่เสมอ
เมื่อรบเข้าจริงๆ จึงกลับตาลปัตรเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้
พระอินทร์ได้กล่าวสรุปว่า
"คนที่พากเพียรพยายามจนถึงที่สุดแม้เทวดาก็กีดกันเขาไม่ได้"ครับ
หลักกรรม (หลักการกระทำ)
สามารถบันดาลให้คนเป็นอย่างใดก็ได้
จึงไม่ควรฝากอนาคตไว้กับการนอนคอยโชคชะตา
หน้า 6

Dec 25, 2008

วชิราวุธวิทยาลัย : Vajiravudh.ac.th


วชิราวุธวิทยาลัย อนุสรณ์แห่งพระปรีชาองค์พระมหาธีรราชเจ้า 
ที่มา :
  • http://archaeology.thai-archaeology.info/index.php?option=com_content&task=view&id=442&Itemid=0 (Not Active) 
  • http://www.kroobannok.com/view.php?article_id=3794 (Not Active) 
"... สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าพเจ้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียนชั้นมัธยมให้เป็นเทวดาเหมือนกันหมดทุกคนได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนน เท่ากับการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็งและสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าพเจ้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าพเจ้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ข้าพเจ้าอยากได้ยุวชนที่เป็น สุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี ข้าพเจ้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่าเด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขซ้อนไม่เป็นและไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้าพเจ้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าพเจ้าไม่อยากได้ยิน "คนฉลาด" บ่นอีกว่า "ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คือ ให้การศึกษา เป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นยุวชนที่น่ารักและเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมดโดยบรรทุกหลักสูตรและระบบต่างๆ ลงไป ข้าพเจ้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงามจนทำให้เด็กที่ออกไปแล้ว หวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ..."
ราม ร.

แนวคิดการก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
คำแปลจากพระราชบันทึก
เป็นภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากความในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อันมีปรากฎนี้
แสดงให้เห็นชัดเจนถึงพระราชประสงค์
ที่ทรงมีเป็นพิเศษต่อการสถาปนา

โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ขึ้นในปีพุทธศักราช 2453
หรือที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในนาม โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ดำเนินนโยบายภายใต้หลักการที่ทรงมีพระราชดำริตลอดมา

การก่อตั้งโรงเรียนในเบื้องต้นนั้น
พระมหาธีรราชเจ้าได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์
ที่ตำบลสวนดุสิตให้เป็นที่ตั้ง
รวมทั้งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคาร
และโรงเรือนชั่วคราวขึ้น
และต่อมาในปีพุทธศักราช 2458
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างอาคารโรงเรียนถาวร
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยอันวิจิตรสง่างามโดย

พระสมิทธิ์เลขา (ปลั่ง)
เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบการก่อสร้าง
พุทธศักราช 2459
ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้น

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

และโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นอีกแห่งหนึ่ง
ที่จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อสิ้นรัชกาล
ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจผกผันร้ายแรง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7

จึงมีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

กรุงเทพฯ โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

เชียงใหม่
เข้าด้วยกัน และได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า
"
วชิราวุธวิทยาลัย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ

แด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

แม้ว่า วชิราวุธวิทยาลัย ในสมัยก่อนจะยึดแนวทางพับลิคสกูล (Public School)

ตามแบบฉบับของอังกฤษอย่างเคร่งครัด หากยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทยอย่างสูง

ซึ่งเอกลักษณ์นี้ได้มาจากสองสิ่งสำคัญ คือ ขนบธรรมเนียมประเพณี

และ รูปลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมิใช่เพียงความสง่างามวิจิตร

ของอาคารสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น หากยังรวมถึงการจัดวางผังบริเวณโดยรวมทั้งหมด

อาณาบริเวณของ วชิราวุธวิทยาลัย มีพื้นที่เกือบ 100 ไร่ ในเขตดุสิต

จัดแบ่งการปกครองออกเป็น "7 คณะ" คำว่า "คณะ"

หมายถึงอาคารที่พักนักเรียนและครูผู้ดูแลประจำแต่ละอาคาร

แต่ละคณะจะมีนักเรียนทุกระดับชั้นปะปนกัน ได้แก่

คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรลดา คณะพญาไท

คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และคณะสราญรมย์

ตัวอาคาร 4 คณะที่ก่อสร้างเป็นรุ่นแรก
จัดวางผังล้อมหอประชุม
ซึ่งเป็นที่สวดมนต์ของนักเรียนไว้ลักษณะเดียวกับกุฏิสงฆ์ คือ

ตั้งอยู่ที่มุมโรงเรียนทั้งสี่มุม รูปลักษณ์และโครงสร้างสถาปัตยกรรมเป็นอาคารสองชั้น

ก่ออิฐถือปูน และวางตำแหน่งตึกกลางตามยาว

มีตึกขนาบข้างทั้งสอง
โดยมีทางเดินเชื่อมทั้งชั้นล่างและชั้นบน
แต่รายละเอียดงานตกแต่งแตกต่างกันออกไป


หอประชุม หรือ หอสวด ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กึ่งกลางบริเวณ ผังอาคารมีลักษณะผสมผสานกันระหว่างโบสถ์และศาลาการเปรียญของวัดไทย คือ มีแผนผังเป็นรูปไม้กางเขนทรวดทรงอาคารมีลักษณะของสถาปัตยกรรมโกธิคแฝง โดยมีลักษณะทรงสอบ สูง และมีช่องแสง


ในขณะที่มีการยกพื้นใต้ถุนสูงตามคติการก่อสร้างอาคารแบบไทย หลังคาประกอบขึ้นตามอย่างพุทธศิลป์ มีทั้งช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์หน้าบันทั้งสี่ทิศเป็นรูปแตกต่างกัน ส่วนภายในอาคารหอประชุมมีบรรยากาศโปร่งโล่งสบาย ลักษณะเหมือนโรงละคร คือ มีเนื้อที่เป็นเวทีทางด้านหน้า ส่วนด้านข้างโดยรอบมีระเบียงที่ชั้นสอง


ตึกวชิรมงกุฎ หรือ ตึกขาว เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในยุคหลัง
พระสาโรตรัตนนิมมานก์
เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ
โดยยึดแนวคิดสถาปัตยกรรมไทยดั้งเดิม
และวางผังตัวอาคารให้ทั้งรับและเสริมความงามสง่า
ของตัวอาคารหอประชุม
รายละเอียดงานตกแต่งอาคารออกแบบโดย
หลวงวิศาลศิลปกรรม
เป็นอาคารสองชั้นมีมุขด้านข้าง
สองด้านและมีระเบียงเดินหน้าห้อง


หน้าบันของตึกขาว
เป็นเครื่องหมายศาสตราวุธของ
พระอินทร์
อันเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ใน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่บันไดกลางตรงชานพักระหว่างชั้น มีซุ้มเสมาประดิษฐานรูปหล่อ
พระมนูแถลงสาร
ซึ่งตามคติโบราณยกย่องว่าเป็นยอดแห่งศาสตราจารย์

รูปลักษณ์ที่โดดเด่นขอโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
เป็นที่กล่าวขวัญตลอดมาแต่ครั้งเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับคำยกย่องถึงประโยชน์จากแนวทางการศึกษาที่
ทรงคัดเลือกมาเป็นแบบอย่าง

24 ชั่วโมงในรั้ววชิราวุธวิทยาลัย
คือ การหล่อหลอมชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่ง
ให้เป็นสุภาพบุรุษที่มีครบถ้วนทั้งวิชาความรู้ จริยธรรม
การกล่อมเกลา
วิญญาณด้วยดนตรีและศิลปะ
ไปจนถึง
การสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายและจิตใจด้วยกีฬา
โดยเฉพาะ "รักบี้"
ซึ่งถือเป็นกีฬาประจำชีวิตและวิญญาณ
ของเด็กวชิราวุธทุกคน
















Dec 24, 2008

นายกรัฐมนตรีที่ “ไม่มีเรื่องเล่า”



นิติภูมิ นวรัตน์
ไทยรัฐ
25 ธ.ค. 51
ฐานะศิษย์เก่าออสเตรเลียเข้าเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนมัธยมเซ็นเออร์นาด รัฐวิกตอเรีย
นิติภูมิได้รับเชิญจากสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยให้ไปดูภาพยนตร์เรื่อง “ออสเตรเลีย” หรือ Australia ที่ชั้นโรงหนังบนชั้นสูงสุดของห้างสยามพารากอน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในประเทศออสเตรเลีย คือ 197 ล้านดอลลาร์
ฉายเปิดตัววันแรกก็ทำรายได้มากกว่า 1.3 ล้านดอลลาร์
ผู้อ่านท่านที่เคารพ นิติภูมิไม่ได้บ้างานของผู้กำกับแถวหน้าอย่าง บาซ เลอห์มาน

หรือไม่ได้หลงใหลในผู้แสดงสุดฮอตของฮอลลีวูดอย่าง นิโคล คิดแมน และฮิวจ์ แจ็กแมน
แต่หนังเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงประเทศไทยในยามชื่อเสียงตกต่ำ
ซึ่งเราน่าจะมีคนที่มีจินตนาการคิดอะไรอย่างเฉกเช่นที่มีคนสร้างภาพยนตร์เรื่องออสเตรเลีย
ที่ผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นรอบพิเศษสำหรับบุคคลสำคัญซึ่งมีเพียง 34 ที่

ผมนอนดูหนังเรื่องนี้กับคุณแอนดรู บิ๊กส์ ผู้ที่เกิดที่เมืองบริสเบน ออสเตรเลีย
และเคยใช้ชีวิตเมื่อ พ.ศ.2522 เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปอเมริกา
ในห้วงช่วงปีเดียวกันนั้น ผมก็เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจากไทยไปออสเตรเลีย
เราทั้งสองคนภายหลังมาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยกันทั้งคู่
เราจึงมี “เรื่องเล่า” ทุกครั้งที่เจอกัน
ผมรู้สึกเหมือนว่าคุณแอนดรูมีเรื่องเล่ามากมายที่ฟังหลายปีก็ไม่มีวันจบและไม่มีวันเบื่อ
ภาพยนตร์เรื่องออสเตรเลียจะทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเยือนออสเตรเลียมากตั้งแต่ พ.ศ.2552 เป็นต้นไป

การเดินดำเนินเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ใช้พวกอะบอริจิน
ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของทวีปออสเตรเลียเป็นตัวเอก
ต้องขอบคุณรัฐบาลออสเตรเลียในยุคของนายเควิน ไมเคิล รัดด์
เป็นนายกออสเตรเลียและหัวหน้าของสหพันธ์พรรคแรงงานออสเตรเลียครับ
ท่านเป็นคนหนุ่มเกิดเมื่อ พ.ศ.2500 แต่กล้าคิดนอกกรอบ
เหตุผลที่ชนะนายกรัฐมนตรีเก่ามาได้ เพราะนายรัดด์คิดนอกกรอบ
เช่น สัญญากับประชาชนว่า ถ้าชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล
แกจะถอนทหารจากอิรัก จะลงนามในพิธีสารเกียวโต
เพื่อลดกระแสโลกร้อน จะวางโครงสร้างบรอดแบนด์ระดับชาติ
และที่สำคัญที่สุดคือจะให้เกียรติชนเผ่าพื้นเมืองของพวกอะบอริจิน
จะสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับคนพวกนี้
ภาพยนตร์เรื่องออสเตรเลียก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการสร้าง
“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ให้กลับคืนมาสู่ความเป็นออสเตรเลียเช่นกัน
แต่จะเป็นตอนไหนอย่างไร ผู้อ่านท่านกรุณาไปดูกันเอาเองเถิด
ผู้อ่านท่านที่เคารพ นิติภูมิเดินทางไปเยือนและพบปะสนทนากับ
นักเรียนนักศึกษาไทยในทวีปออสเตรเลียในปัจจุบันทุกวันนี้
ผมพบว่าหลายท่านเอาแต่เรียนอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงเรื่องจิตวิญญาณ
ทุกวันนี้คนไทยที่เป็นนักเรียนเก่าออสเตรเลียจำนวนมากไม่มีเรื่องเล่า
ตอนอยู่ที่ประเทศโน้นเช้ามาก็ถือหนังสือเดินจากหอพักไปยังมหาวิทยาลัย
ตอนเย็นก็เดินหอบหนังสือจากมหาวิทยาลัยไปที่หอพัก
อยู่ในประเทศออสเตรเลียห้าปีสิบปีก็มีมิติเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว
แต่ไม่มี “วิญญาณร่วม” กับชาวออสเตรเลียมากและลึกซึ้งเหมือนในสมัยในอดีต
ไปนครเมลเบิร์นและนครซิดนีย์ในสมัยนี้
ผมเห็นแต่นักเรียนไทยเดินกันขวักไขว่และพูดกันแต่ภาษาไทย
เห็นแล้วก็เสียดายเงินทองของพ่อแม่ที่ส่งลูกไปเรียน
พ.ศ.2548 ผมลองทดสอบถามนักเรียนไทยยุคใหม่ในนครเมลเบิร์นกลุ่มหนึ่ง
ถึงเพลงที่ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ร้องได้อย่าง Advance Australia Fair
ปรากฏว่าไม่มีนักเรียนในกลุ่มนั้นรู้จักเลยแม้แต่คนเดียว
แม้แต่ผมจะเริ่มต้นร้องนำว่า Australia all let us rejoice, for we are young and free.. ก็ปรากฏว่าไม่มีใครในกลุ่มต่อเพลงนี้ได้
หรือแม้แต่เพลงที่นักเรียนต่างชาติที่เข้าไปเรียนในแผ่นดินออสเตรเลีย
ควรจะร้องได้อย่าง Waltzing Matilda หรือ
Kookaburra Sits on the Old Gum Tree
นักเรียนกลุ่มนั้นก็ยังร้องไม่ได้และทำท่างงๆ
เมื่อปีก่อน พ.ศ.2548 ผมไปเยือนออสเตรเลียอีก 2 ครั้ง

ได้รับเชิญให้ไปดูงานการศึกษาและการเกษตรที่รัฐออสเตรเลียตะวันตก
และรัฐออสเตรเลียใต้ และก็ได้ไปเยี่ยมนักเรียนไทยอีกหลายกลุ่ม
โดยเฉพาะกลุ่มครูอาจารย์ที่ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการไทย
ให้ไปเรียนภาษาอังกฤษที่นั่น ผมแปลกใจมากที่นักเรียนและคุณครูไทยจำนวนหนึ่ง
ไม่รู้จักเวจีไมต์ Vegemite ซึ่งเป็นอาหารโปรดของคนออสเตรเลียของแท้
ทุกผู้ทุกนาม มีสีดำคล้ายกับกะปิของเรา มีรสเค็มเหมือนกะปิ
ผลิตออกมาขายโดยบริษัทคราฟท์ ต่อมากลายเป็นอาหารประจำชาติออสเตรเลีย
เหมือนต้มยำกุ้งของไทย นักศึกษาไทยเหล่านี้
แม้รัฐบาลหรือพ่อแม่จะเสียเงินเสียทองส่งไปเรียนออสเตรเลียกันคนละ 5 ปี 10 ปี
พวกนี้มีแต่ความรู้ในตำรา ไม่มีเรื่องเล่า
ชาติบ้านเมืองอื่นจะไม่ยอมเอาคนที่ไม่มีเรื่องเล่าเหล่านี้มาใช้งานสำคัญ
ยกเว้นก็เพียงแต่ราชอาณาจักรไทย ที่กล้าเอาคนที่ดูเหมือนมีความรู้

มีปริญญาตรีโทชั้นดีจากมหาวิทยาลัยระดับโลก
แต่ไม่มีเรื่องเล่า มาเป็นนายกรัฐมนตรี
ประเทศไทยของเราขณะนี้

จึงเป็นประเทศขาดเรื่องเล่า และขาดเสน่ห์.

คนเดินดินช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร



วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแก่รัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มีอยู่มากมายจนอาจเฝือแล้วสำหรับผู้อ่าน
ข้อเขียนวันนี้จึงขอเสนอแนะหนทางร่วมแก้ไข
ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนแต่ละคนดูบ้าง

ซึ่งเมื่อประกอบกันแล้วหวังว่าอาจช่วยทำให้ความพยายาม
ในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้นใน
ประการแรก สมาชิกของเศรษฐกิจไทยทุกคนต้องยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้
มีความรุนแรงและอาจใช้เวลายาวพอควรในการเยียวยา
การแก้ไขต้องการความร่วมมือจากทุกสมาชิก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอดทนรอผลที่จะเกิดขึ้น
ปัญหาเศรษฐกิจไม่อาจแก้ไขด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ
เช่น การใช้จ่ายของภาครัฐ อัตราดอกเบี้ย อัตราภาษีอากร
อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ อย่างเดียวเท่านั้น มาตรการอื่นๆ
เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องวิกฤต
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำรงชีวิต
การเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ฯลฯ เป็นส่วนประกอบสำคัญเช่นเดียวกัน
ประการที่สอง "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" บอกเราว่าจะแก้ไขปัญหาได้
ก็ต้องเอาความเจ็บปวดไปแลก การที่จะ "ได้" โดยไม่ "เสีย"
อะไรเลยนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ตัวอย่างเช่นการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง
จนผู้ผลิตสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นนั้น
ทำให้ผู้ฝากเงินในธนาคารทั้งหลายได้รับผลตอบแทนต่ำลง
ถ้าเราต้องการให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
บางคนก็ต้องเจ็บปวด และหากผู้เจ็บปวดเข้าใจว่าเป็นไปเพื่อผลดีของทั้งประเทศ
และอานิสงส์ก็จะย้อนกลับมาสู่ตนในอีก
ทางหนึ่ง เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีงานทำ
ถึงแม้จะได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยลดลงก็ตามการยอมรับ "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี"
จะทำให้มีความอดทนสูงขึ้น และเข้าใจว่าในเบื้องต้นคนที่ "เสีย"
นั้นเป็นเรา และคนที่ "ได้" นั้นเป็นคนอื่น
แต่ในที่สุดแล้วเราก็จะ "ได้" เช่นกันแต่ต้องอดทนรอ
ประการที่สาม ต้องไม่เล็งผลเลิศว่าทุกอย่างจะเหมือนถูกเสกคาถา
การจ้างงานของภาคธุรกิจของเราจะกลับมาคึกคักอย่างเดิม
ธุรกิจของเราจะร้อนแรงให้ผลตอบแทนสูงเช่นเดิม
รายได้ของเราจะสูงเหมือนที่เคยเป็นมา
รัฐบาลจะช่วยให้ทุกคนได้ราคายางสูงในระดับ 80-90 บาทต่อกิโลกรัม
ข้าวได้ราคาตันละ 15,000-18,000 บาท
เหมือนที่เคยฝัน ธุรกิจ OTOP และ SME"s
ของเราจะมีคนเข้าคิวมาแย่งซื้อสินค้าเหมือนของแจกรัฐบาลนั้น
ไม่ว่าจะตั้งใจดีและมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
และไม่สามารถช่วยได้ทุกคนอย่างทั่วถึงในทุกภาคเศรษฐกิจ
ทุกอาชีพ ทุกพื้นที่ ทุกวัย ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม
เพราะกลไกราคานั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ยากที่จะฝืนหรือบิดเบือน
ให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างเต็มที่
ตัวอย่างเช่น ราคายางตกต่ำจากกิโลกรัมละเกือบ 100 บาท
เมื่อตอนเกือบกลางปีนี้เหลือกิโลกรัมละ 20 กว่าบาท
ในปัจจุบัน เนื่องจากความต้องการยางธรรมชาติลดลงไปมาก
ยางรถยนต์นั้นใช้ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์
ซึ่งสกัดมาจากน้ำมันดิบทดแทนกันได้เป็นอย่างดี
เมื่อน้ำมันมีราคาแพงผู้ผลิตก็หันไปใช้สัดส่วนของยางธรรมชาติมากขึ้น
ราคายางธรรมชาติจึงสูง เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำยางสังเคราะห์ก็เป็นพระเอก
ดังนั้นจึงทำให้ความต้องการยางธรรมชาติลดลงมาก
ราคายางธรรมชาติจึงตกไม่มีรัฐบาลใดในโลกที่สามารถ
แทรกแซงกลไกตลาดให้ราคายางสูงขึ้นจาก 20 กว่าบาทต่อกิโลกรัม
เป็น 90-100 บาทได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเรา
ซึ่งส่งออกปริมาณยางเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ปริมาณยางที่จะต้องแทรกแซงมีมหาศาล
อีกทั้งราคาขาย 20 กว่าบาทเป็นราคาที่ตลาดโลก
(ผู้ซื้อยางนำไปแปรรูปอีกครั้ง) เป็นผู้กำหนดคล้ายกับราคาข้าวซึ่งตลาดโลก
เป็นผู้กำหนด ต่างจากกระเทียม หอม ผักชี ลำไย เงาะ ฯลฯ
ซึ่งตลาดท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดราคา
ประการที่สี่ "ผู้รู้"ทั้งหลายไม่ว่าในซีกวิชาการหรือสื่อ
หรือผู้มีอิทธิพลต่อความเห็นของประชาชน
จำเป็นต้องหลีกจากการ "ติเรือทั้งโกลน"
อย่างน้อยก็สักชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้โอกาสผู้เข้ามาแก้ไขปัญหา
ได้ใช้สติปัญญาและกำลังอย่างเต็มที่เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า
เมื่อเป็น "ผู้รู้" ก็จำเป็นต้องมีความเห็น
วิพากษ์วิจารณ์และถ้าจะให้เป็นที่สังเกต
ก็จำต้องมีความเห็นในด้านลบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเป็นธรรมดา
ในฐานะที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของเศรษฐกิจไทย
หากท่าน "ผู้รู้" ทั้งหลายให้ความร่วมมือด้วยความอดกลั้นสักหน่อย
ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเมื่อเวลาผ่านไปพอควร
และปรากฏแน่ชัดว่าการเข้าแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องได้รับการท้วงติง
แก้ไขคราวนี้การวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
และรัฐบาลต้องรับฟังอย่างใจกว้าง
หากต่างคนต่างทำหน้าที่เช่นนี้สิ่งที่ยากก็จะลดความยากลงไปมาก
และคนที่จะได้รับประโยชน์ในที่สุดก็คือคนไทยทั้งชาติ
ประการที่ห้า ในฐานะผู้ผลิตในยามวิกฤต
การรวมหัวใจมนุษย์จะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้ในระดับหนึ่ง
เมื่อความต้องการสินค้าจากต่างประเทศของบริษัทลดต่ำลง
หากไม่แก้ไขปัญหาด้วยการลดการจ้างงานทันที
หรือใช้เป็นโอกาสอ้างในการเลิกจ้างพนักงานเงินเดือนสูง
ก็จะช่วยให้ปัญหาการว่างงานซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ลดความรุนแรงลงไป
หากเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งและเห็นว่าไปไม่ได้จริงๆ
การลดการจ้างงานโดยกระทำอย่างมีมนุษยธรรม
และอย่างเป็นไปตามกฎหมายแรงงานก็จะทำให้การอยู่ร่วมกัน
ในสังคมราบรื่นและมีความสุข
ประการที่หก ในฐานะผู้ใช้แรงงาน
ภาววิกฤตเช่นนี้จำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอด
การลดต้นทุนการผลิตโดยไม่ลดการจ้างงานลง
ก็หมายความว่าแรงงานแต่ละคนต้องทำงานอย่างมีผลิตภาพ
(productivity) สูงขึ้น เมื่อผลผลิตของโรงงานสูงขึ้น
โดยค่าใช้จ่ายแรงงานเท่าเดิม ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยก็จะลดลง
พูดง่ายๆ ก็คือผู้ใช้แรงงานต้องขยันขันแข็งยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เห็นอะไรที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็นก็ต้องช่วยกันแก้ไข
ความร่วมมือเช่นนี้จะทำให้แรงกดดัน
ในการปลดแรงงานของนายจ้างลดลง
ไปสิ่งที่ประชาชนสามารถช่วยรัฐบาลในการแก้ไขวิกฤต
ก็คือการยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมเปลี่ยนแปลง
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคและในการผลิต
ตลอดจนปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการคาดหวังเมื่อ "การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์"
การฝืนตนเองไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอม "เสีย" จะเอาแต่ "ได้"
ไม่อดทน และไม่สวมหัวใจมนุษย์
จึงเท่ากับเป็นการร่วมกันฆ่าตัวตายหมู่โดยแท้
หน้า 6