Custom Search

Dec 16, 2008

ปั้นอย่างอรรถสิทธิ์ ได้นายกฯ “อภิสิทธิ์”

ไทยรัฐ
17 ธ.ค. 51
หลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับคะแนนเสียงโหวต
เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย
มีคำถามผุดพรายกลางใจว่า
ครอบครัวของว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นอย่างไร
เพราะเท่าที่ผ่านมาแทบไม่เห็นปรากฏในสื่อใดๆ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีภรรยาชื่อ
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ (ศกุนตาภัย) เวชชาชีวะ
เป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาคณิตศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ น.ส.ปราง เวชชาชีวะ และ ด.ช.ปัณณสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หลักการเลี้ยงลูกคือ
“ผมเชื่อในเรื่องของการที่จะให้เขาเป็นตัวของตัวเอง
แล้วก็ส่วนหนึ่งก็มีความรู้สึกจากการที่คุณพ่อคุณแม่
สนับสนุนให้ผมทำในสิ่งที่ผมรัก ผมรู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งที่มีค่ามาก”
เพราะ “พอรู้ว่าเราอยากเป็นนักการเมืองก็มาส่งเสริมให้ความรู้เรา
ให้คำแนะนำเราว่าควรจะเรียนด้านอะไร
หาประสบการณ์อะไร ผมก็คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดี”

เพราะฉะนั้น “ผมก็คิดกับลูกๆ เหมือนกัน ก็คือว่า
อย่าไปตั้งเลยว่าเขาจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ให้เขาค้นหาของเขาเองว่าเขาอยากจะเป็นอะไร
แล้วเราก็ทำเท่าที่เราทำได้ในการส่งเสริมสนับสนุนเขา


ส่วนรายละเอียดไปถึงขั้นว่าตีลูกมั้ย ไม่ตีครับ ดุลูกมั้ย
ดุแล้วก็สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องการให้เขามีความรับผิดชอบ
เช่นเรื่องการเรียนเราไม่ได้ไปคาดคั้นว่าเกรดเขาต้อง A”




แต่ที่สำคัญคือ “ถ้าเขาได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไร
เขาต้องทำให้เสร็จ ต้องตั้งใจทำ ส่วนเขาได้เท่าไหร่นั้น ไม่ว่ากัน ตราบเท่าที่เขาตั้งใจ”

มองย้อนไปในอดีต ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2507
ณ เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ
เป็นบุตรของ ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศ.พญ.สดใส เวชชาชีวะ
การศึกษา เริ่มจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ ต่อที่โรงเรียนอีตัน (Eton College)
ประเทศอังกฤษ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาปรัชญา การเมือง
และเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1)
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศอังกฤษ
ต่อมาจบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
และขั้นสูงสุด ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เคยเป็นอาจารย์ประจำ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (จปร.)
เขาชะโงก จังหวัดนครนายก เคยเป็นอาจารย์พิเศษ
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และเคยเป็นอาจารย์ประจำ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บนถนนการเมือง เริ่มได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 6
(สาทร, ยานนาวา, บางคอแหลม)
เมื่อ พ.ศ.2535 ในนามของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์
และเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างต่อเนื่อง
ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เคยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง
ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร
และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เส้นทางสู่นายกรัฐมนตรี ไต่จากสมาชิกพรรค มาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคเมื่อ พ.ศ.2542
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548
จนถึงปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
และทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน
อภิสิทธิ์บอกว่า อยากเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
“ตอนเด็กๆ เห็นคุณพ่อ คุณแม่เป็นหมอ ก็เคยคิดว่าเป็นหมอดีไหม
ต่อมาดูท่าทางงานที่คุณพ่อคุณแม่ทำนี่ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่
ก็ไม่อยากเป็น ก็คิดไปเรื่อย อยากเป็นทนายไหม
อยากเป็นอะไรอีกไหม เคยคิดอยากเป็นนักฟุตบอล ก็คิดไปตามประสาเด็กๆ
แต่ว่าพอมาสนใจการเมืองแล้ว เลิกคิดเป็นอย่างอื่นเลย
อยากเป็นนักการเมืองเพียงอย่างเดียว” และยอมรับว่า
“ผมคิดว่าธรรมชาติของตัวเอง
ที่บอกว่าเราเป็นเด็ก พอเราโตขึ้นมา เราก็ต้องอยู่ในงานการเมือง
ก็คงต้องบอกว่า ความพร้อมหรือความกล้า
ที่จะแสดงออกและความรับผิดชอบมีมากขึ้น”
วัยเด็กของว่าที่นายกรัฐมนตรี ตอนเด็กๆ
“ผมเป็นเด็กเรียบร้อยแล้วก็ตั้งใจเรียนเป็นคนค่อนข้างเงียบ แล้วก็ตัวเล็กมาก
เตี้ยที่สุดในชั้น ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ทั้งชั้นเลย
ไม่ใช่เฉพาะห้องเรียน คือเตี้ยที่สุดตั้งแต่ ป.1 ป.2 ป.3 ป.4 ป.5 ป.6
ตอนนี้ก็ยังไม่สูง เท่าไหร่เลย”
และยัง “เป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบแสดง ไม่ชอบที่จะต้องเป็นจุดที่คนต้องมาสนใจ
อันนี้เป็นเรื่องประสบการณ์ แล้วเราก็สังเกตดู
โดยเฉพาะตอนที่เราเรียนหนังสืออยู่คือพอมันเงียบ
เราจะรู้สึกว่าเราจะเริ่มคิดไปที่อื่น
แต่พอมันมีเสียง มีอะไรต่างๆ เช่นมีเสียงเพลงมันจะทำให้เรา
สามารถที่จะรวมศูนย์ของความคิดความสนใจไปในตัวที่เราอยากจะอ่าน
อยากที่จะได้เรียนรู้ได้มากกว่า
ทำให้พอโตขึ้น เราก็เลยไม่ชอบไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุด
แต่ว่าต้องเอาออกมาเพื่อที่จะมาเปิดเพลงฟังไปด้วยแล้วก็อ่านไปด้วยได้
แล้วก็จะรู้สึกว่าทำงานไม่สะดุด”
ทำไมถึงส่งไปเมืองนอกตั้งแต่เด็ก เรื่องนี้
“คุณพ่อก็จบที่อังกฤษแล้วก็ที่รีบส่งไป ก็คงคิดว่าถ้าไปช้าโอกาส
จะเข้ามหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ยาก เพราะว่ากว่าเราจะไปปรับตัว
กว่าจะไปเข้ากับเขาได้มันช้าไป
แล้วก็ไปจังหวะที่ผมก็คิดว่าน่าจะเหมาะ
ตรงที่ว่าโตพอที่จะไม่ลืมภาษาไทย
แต่ขณะเดียวกันก็ยังเด็กพอที่จะเรียนภาษาอังกฤษได้เลย
ตอนนั้นผมก็อ่านหนังสือเขาก็บอกว่าพออายุ 12 ไปแล้วนี่
การจะเรียนภาษาที่ 2 แล้วจะพูดให้ได้ดีเท่าหรือใกล้เคียงกับเจ้าของนี้ยาก”
ประสบการณ์ที่โรงเรียนอีตัน
“ถ้าข้ามสะพานไปจะเป็นเมืองวินเซอร์ ที่มีปราสาทพระราชวัง อยู่บนเขา
แต่เขาจะขีดเส้นไว้ว่าที่ไหนไปได้ที่ไหนไปไม่ได้
เคยแอบไปกินข้าวร้านนอกเขตที่เขาอนุญาตดันไปกินร้านเดียวกับครู”
เพราะโรงเรียนไม่มีรั้ว ต้องใช้วินัยของตัวเอง แล้วก็...
“ด้วยที่เครื่องแบบก็ฟ้อง เป็นเครื่องแบบเหมือนชุดมายากล
กางเกงยีนส์ใส่ได้บางวัน บางเวลา
แต่ทางโรงเรียนจะบอกเลยว่าถ้าจะข้ามไปวินเซอร์
ซึ่งปกติจะไม่มีใครใส่ชุดมายากลอยู่แล้ว
เพราะจะมีคนตีหัวเอา
แต่จะให้ผูกเนกไทใส่แจ็กเกต ซึ่งก็จะดูรู้ว่าเป็นนักเรียนอยู่ดี
ก็จะมีคนที่ไม่ชอบเด็กนักเรียน บางทีก็มีคนที่เขาไม่ชอบคนเอเชียบ้าง
ก็เคยเจอบ้างวิ่งหนีได้ ผมตัวเล็กได้เปรียบ”
นั่นเป็นประสบการณ์อันตื่นเต้นเมื่อวัยเยาว์
เมื่อลึกเข้าก้นครัวในปัจจุบัน พบคำตอบว่า อาหารที่ไม่ชอบคือแตง
นอกจากนั้น
“อาหารประเทศอะไร ก็ชอบทั้งนั้น ญี่ปุ่น เกาหลี อิตาเลียน ไทย
ทานได้หมด แต่ว่าชอบเนื้อ เนื้อแพะ เนื้อแกะ ผมก็ชอบ
เวลาทานสเต๊กก็จะทานแบบข้างนอกไหม้ข้างในดิบ
ข้างนอกดำข้างในแดง อย่างเนื้อดิบของเกาหลีก็อร่อย”
อาหารที่ชอบเป็นพิเศษคือ “ผมว่าให้ภรรยาทำให้ทานชอบที่สุด
ผมชอบทานเนื้อมาก แต่จริงๆ แล้วผมควรจะควบคุม
แต่ผมยอมวัดดวงเอา ปกติผมจะไปทานข้างนอกบ้างสัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้ง
จะพาลูกๆไปก็จะเป็นวันศุกร์กลางคืน
เพราะวันรุ่งขึ้นเค้าไม่ต้องไปโรงเรียน จะไปแถวบ้าน เพราะรถติด”
ว่าที่นายกฯยืนยันว่า “ผมทานอาหารได้หมด ข้างถนนก็ทาน
แต่โดยนิสัยวันไหนที่ทำงานจะไม่มีความรู้สึกอยากทาน
จนกระทั่งงานเสร็จ เพราะฉะนั้นเวลาทำงานไปทานได้ก็จะทานได้น้อย
ไม่ทราบว่าเป็นเหตุที่ทำให้ผมผอม หรือเปล่า”
ตลอด 45 ปีในชีวิตของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกเหนือจากโชคชะตาแล้ว
การปั้นปรุงของ นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะเป็นตัวกำหนดแนวทางให้มากที่สุด