Custom Search

Dec 3, 2008

อารียา ศิริโสดา & นิสา คงศรี





เมื่อประมาณช่วงปี พ.ศ.2548 ณ โรงหนังสแตนด์อะโลน (Stand Alone)
ชื่อดังย่านสยาม ได้มีหนังสารคดีฟอร์มเล็ก (มากๆ)
เรื่องหนึ่งเข้าฉาย ซึ่งเป็นเรื่องราวของความน่ารัก
ของเด็กดอยในแดนไกลที่หมู่บ้านแม่โต๋ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
ใครเลยจะรู้ว่าหนังเรื่องนี้ได้สร้างปรากฏการณ์เล็กๆ
ขึ้นมาด้วยการยืนระยะฉายในโรงถึง
6 สัปดาห์…หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “เด็กโต๋”
เบื้องหลังของความสำเร็จในเรื่องนี้มาจากผู้กำกับฯและอำนวยการสร้างสองสาว
คนหนึ่งเป็นอดีตนางสาวไทยที่เรารู้จักกันดี ป๊อบ-อารียา ศิริโสดา
ส่วนอีกคนหนึ่ง คือ นก-นิสา คงศรี
เธอเป็นสาวมั่นผู้ทำงานอยู่ในวงการโฆษณามิวสิกวิดีโอ
และภาพยนตร์ในฐานะผู้กำกับฯผ่านเหตุการณ์นั้นมา 3 ปีแล้ว
และตอนนี้เธอทั้งสองกำลังมีผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่
“โอ่โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา” ที่เปลี่ยนจากความน่ารักสดใส
ของดงดอยในภาคเหนือมาเป็นความสวยงามในน้ำใจของคนภาคใต้
การเดินทางร่วมกันที่ยาวนาน ทำให้เราสนใจว่าในระหว่างทาง
ที่ทั้งคู่เดินทางร่วมกัน พวกเธอเจออะไรกันมาบ้าง ?
หนังเรื่อง “โอ่โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา” ต่างจากหนังเรื่อง “เด็กโต๋” อย่างไร ?
อารียา-ทุกอย่างในเรื่องนี้ไม่เหมือนเด็กโต๋เลย
เด็กโต๋เจาะแค่ที่เดียวในหมู่บ้านแม่โต๋ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
ส่วนอันนี้เป็นการเดินทางหลายที่ กระบี่ ระนอง สงขลา ภูเก็ตบ้าง
มันก็เหมือนลูกคนละคน แต่ที่เหมือนกัน เป็นสารคดีเหมือนกัน
นิสา-เป็นสารคดีที่ใช้ใจทำ แต่เรื่องราวไม่เหมือนกัน
วิธีเล่าเรื่องก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นลูกสาว เราเลี้ยงอย่างหนึ่ง
ถ้าเป็นลูกชาย เราเลี้ยงอีกอย่างหนึ่ง คนนี้ลูกชาย แมน ! (หัวเราะ)
คาดหวังว่ามันจะสร้างปรากฏการณ์เล็กๆ เหมือนที่ “เด็กโต๋” เคยทำไหม ?
อารียา-ไม่ได้คาดหวัง การคาดหวังเป็นการผิดหวังที่เร็วที่สุด
การทำหนังมันเป็นเหมือนการบันทึกการเดินทางของชีวิตว่าเราผ่านอะไรมา
จริงๆ เราไม่อยากเรียกพวกเราว่าเป็นผู้กำกับฯ
เป็นนักบันทึกมากกว่า เดินทางไปกับกล้องตัวเล็กๆ หนึ่งตัว
บวกกับจิตวิญญาณ น้องเคยไปเที่ยวที่สวยๆ
แล้วอยากจะเล่าให้เพื่อนฟังไหม ?
ตอนทำหนังก็รู้สึกแบบนี้นี่แหละ
นิสา-คือถ้าเราเลือกที่จะสื่อออกมาเป็นหนังสือ
คนก็จะบอกว่าเราเป็นนักเขียนหนังสือ ถ้าเราเลือกที่จะถ่ายรูป
ก็บอกเป็นช่างภาพ แต่จริงๆ เราอยากถอยออกมาว่าเราเป็นคนเล่าเรื่อง
พอเราเลือกที่จะสื่อออกมาเป็นหนัง คนก็เลยเรียกว่าเราเป็นผู้กำกับฯหนัง
เป็นคนบันทึก แล้วนำมาเล่าเรื่อง
เห็นทำงานด้วยกันมานาน อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนมาพบกัน ?
อารียา-ตอนปี 2543 เราตั้งใจทำหนังเรื่อง “เด็กโต๋” แล้วเราก็เจอเด็กโต๋แล้ว
ก็พยายามที่จะหาคนไทยคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ทำหนัง
และการเขียนมาช่วยเราตรงนี้ ตอนนั้นเป็นหมาบ้า กัดไม่ปล่อย
เพราะเห็นว่าการสร้างหนังเรื่อง “เด็กโต๋” เราไปเจอเด็กมาแล้วเห็นว่า
เด็กที่สดใสบริสุทธิ์แล้วได้ไปดูทะเลเนี่ย
เป็นเรื่องที่น่าสนใจและแก่นมันมี อยากจะเอาออกมาก็ไปเจอคนนี้
แล้วไปตื๊อให้เขามาทำ ตื๊อ…ตื๊อ…ตื๊อ…ตื๊อ…มาเนี่ย
จนกระทั่งวันหนึ่งพาเขาไปบ้านแม่โต๋ แล้วเขาก็ไปกับเรา
พอลงมาจากภูเขา เขาเปลี่ยนไปเป็นอีกคนเลย
เป็นอารมณ์แบบว่าแม้ว่าเราจะไม่จ้างเขาทำหนัง
เขาก็จะทำหนังเรื่องนี้เอง ประสบการณ์การทำงานอยู่ใน
วงการโฆษณาของเขาก็คือวิญญาณมันตายไปแล้ว
ถ้าเราทำงานเพื่อเงินจะเป็นอย่างไร ?
นิสา-เรารู้ว่าสิ่งที่ทำไม่เหมือนจริง โอเค ได้เงินเยอะแต่ของจริงมันอยู่ไหน
ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่า หนึ่ง พี่เป็นคนต่างจังหวัด
เจอกับธรรมชาติ พอมาเจออะไรที่เยอะขึ้น เราเกิดอาการ
แอนตี้อยู่ข้างใน แล้วเราไม่รู้ว่ามันสู้อยู่ข้างใน เงินก็มี อยากได้อะไรก็ได้
ทำไมเราถึงไม่มีความสุข เพราะวันหนึ่งไปทำละคร
วันหนึ่งไปทำหนัง วันหนึ่งไปทำมิวสิกวิดีโอ ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่มันไม่ใช่สักที จนกระทั่งวันหนึ่งมันถึงจุดตันแล้ว
แล้วมีคนนี้เดินเข้ามาแล้วบอกว่า ไปเด็กโต๋กันไหม
ตอนนั้นพี่แอนตี้ป๊อบมาก กำลังเบื่อมนุษย์
อารียา-ตอนเจอกันไล่ไปนั่งโต๊ะอื่นเลย (หัวเราะ)
นิสา-คือไม่อยากยุ่ง ฉันไม่อยากนั่งกับนางสาวไทย
เราไม่อยากยุ่งกับคนดังนะ ไม่เชื่อหรอกว่าคนดังจะพูดอะไรแล้วทำจริง
คือมันมีคนที่ฝันเยอะ ฟุ้งเยอะ แต่คนนี้ไม่ตัดสินพี่ในตอนนั้นเลย
แล้วชวนพี่ไปบ้านแม่โต๋ พอไปถึงบ้านแม่โต๋เราเจอจุดเชื่อมที่ดีที่สุด
เพราะจุดเชื่อมอันดับ 1 คือ พี่เปลี่ยนมุมมองป๊อบ พี่มองเขาจากสื่อ
พี่มองเขาจากคนที่มีมงกุฎอยู่ตลอดเวลา คนที่ต้องเป็นคุณหนูแน่ๆ
แต่พอไปถึงที่นั่นแล้ว แป้งก็ไม่ทา ผมก็ไม่หวี
เดินหน็องแหน็งๆ มนุษย์มันปรากฏตัวจริงตรงนั้น
มนุษย์ที่อยู่กับธรรมชาติ การอยู่บ้านแม่โต๋ 1 อาทิตย์ด้วยกัน
มันหลอกเราไม่ได้ คุณต้องกินข้าวอย่างนั้น
คุณต้องนอนอย่างนั้น ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ มันเห็นตัวจริง
มันก็เลยค้นพบความเป็นมนุษย์ที่ไม่ใช่เปลือก
ข้อที่ 2 โรงเรียนบ้านแม่โต๋มันมีความรักอยู่เยอะมาก มันมีชีวิต
มันมีความสุข มันเหมือนกับตอบว่า เนี่ย…ฉันเจอจุดที่ฉันคุ้มค่า
มันคือธรรมชาติ ก็เด็กๆ ฉันเป็นอย่างนี้ แต่วิญญาณเด็กที่มันเคยสดใส
มันหล่นหายตายไปตอนไหนเราไม่รู้เลย เพราะที่ทำงานทุกวันนี้
ทำงานเพื่อแลกกับเงิน…
…แต่พอไปเจอเด็กโต๋ เราหนีรากเราไม่พ้น
เราเกิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เราต่างจากเด็กโต๋เพราะเราอยู่ในสวน
(คุณนิสาเป็นคนแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม)
เด็กโต๋อยู่บนดอย แต่ชีวิตตอนเด็กของเราไม่ต่างกันเลย
เราเคยหัวเราะแบบนั้น เราเคยร่าเริงแบบนั้น
เด็กโต๋เป็นจุดเชื่อมทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เราทำงานมาด้วยกัน
รู้สึกถึงอารมณ์แปลกแยกในการทำงานในเมืองใช่ไหม ?
นิสา-ทุกคนจะรู้สึก ถ้าเป็นเด็กต่างจังหวัดมา ความเป็นเด็กต่างจังหวัด
มันจะสะอาด แต่เราไม่ได้บอกว่า ในนี้มันแย่นะ
คือถ้าคุณเป็นเด็กกรุงเทพฯ คุณก็รู้สึกอย่างนี้อยู่แล้ว
คุณจะไม่รู้สึกแตกต่าง แต่ถ้าเคยโดดน้ำคลอง คุณเคยปีนต้นไม้
คุณเคยหัวเราะ คุณเคยอยู่กับน้ำใจของเพื่อนบ้าน
แต่ว่าคุณเข้ามานั่งทำงานอยู่ในเมือง มันจะเกิดความขัดแย้ง
อารียา-ส่วนเราแม้จะเติบโตมาจากเมืองนอก แต่ว่าเบื้องต้นเราอยู่ที่ตรัง
อยู่ในสวนยาง เอาง่ายๆ ว่าตอนที่อยู่บ้านแม่โต๋
เด็กแก้ผ้าตัวเล็กๆ แล้ววิ่งไป เข้าบ้านนั้น เข้าบ้านนี้
ไม่มีประตูล็อก ไม่มีรั้ว ไม่มีแบบว่ากำแพงนะ จะเข้ากรุงเทพฯเนี่ย
กำแพงก็ใหญ่ รั้วลวดหนาม ครั้งแรกที่เราเข้ามากรุงเทพฯ
เราก็ถามคุณพ่อว่า พ่อ ทำไมที่นี่คนดีอยู่ในคุกนะ
เป็นกรง …กรง…กรง…แล้วคนดีๆ ก็เข้าไปอยู่ในกรง
รู้สึกอึดอัดจังเลย ในเมืองใหญ่ มันเป็นอะไรที่ต้องรักษาเปลือก
แต่แก่นเนี่ยมันตาย
นิสา-การทำงานในเมืองคือเราต้องเลี้ยงชีวิตนะ
คือการเลี้ยงกาย ทุกคนมันมีเงื่อนไขในชีวิต
โอ๊ย ! อยากมีบ้าน อยากมีรถ อยากแต่งงาน อยากสร้างครอบครัว
ทุกอย่างมันใช้เงินทั้งนั้น แล้วตอนนี้ก็ทำงานรับเงิน รับเงิน
แล้วคุณมีบ้านแล้ว คุณมีรถแล้ว คุณมีนั่น คุณมีนี่
แต่พอถึงวันหนึ่งคุณจะเกิดคำถามว่า คุณมีบ้าน
คุณมีรถ ความสุขนะ มันมีจริงหรือเปล่า พี่เคยซื้อทุกอย่างเลยนะ
ตอนทำงานโฆษณา เงินมันเยอะมาก แล้วสุดท้ายกลายเป็นขยะหมดเลย
จะย้ายบ้านทีจะเอาหนังสือไปไว้ที่ไหน จะเอาซีดีไปไว้ที่ไหน
แล้ววันหนึ่งเราไม่ได้ฟังมันแล้ว มันก็หมดอายุแล้ว
ทดลองใช้ชีวิตว่าช่วงหนึ่งไม่ซื้ออะไรเลย
ดูว่าช่วงหนึ่งมันจะเปื่อยมันจะขาดนี่เป็นยังไง
อารียา-พอถึงตอนนี้เราอยู่กันแบบพอเพียงดีกว่า
นี่คือคำตอบของความสุขในตอนนี้ ?
อารียา-การเดินทางของชีวิตที่บาลานซ์ มันจะประเสริฐมากเลย
ในชีวิตนี้ ถ้าเราไปทำอะไรที่เลี้ยงกายและเลี้ยงใจได้ด้วย
นิสา-จริงๆ กายเราไม่ได้ต้องการอะไรมากมายเลย
ถ้าเราได้เจอตัวเองแล้วเราได้รู้จักตัวเอง
แล้วได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก มันที่สุดแล้วล่ะคอลัมน์ Exclusive Interview โดย ณัฐกร /ภาพ ธนศักดิ์