เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันนี้มีความในใจจะบอกกันสักเล็กน้อย
ก่อนจะบอกก็ขอเล่าอะไรให้ฟังก่อนตามสไตล์
การเขียนหนังสือของผม
(ผม นี้คือ "ข้าพเจ้า" มิใช่เส้นผมนะฮะ)
สมัยหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน
มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ท่านผู้นี้เนื่องมาจากเคยศึกษาพระเวท เรียนแต่เรื่อง "อภิปรัชญา"
การเก็งความจริงใกล้ตัว คุ้นเคยกับการอนุมานคาดเดาเอาตาม
ความคิดเห็นและความรู้สึก
วันหนึ่งเธอก็มานั่งตั้งคำถามแก่ตัวเอง
ตั้งแล้วก็ตอบไม่ได้คำถามเช่น โลกนี้มีที่สิ้นสุดหรือไม่
ชีวะ (จิต หรือวิญญาณ) กับ สรีระ (ร่างกาย) เป็นอย่างเดียวกันหรือคนละอย่างกัน
แยกกันอยู่ได้โดยอิสระจากกันหรือไม่
พระผู้สำเร็จ (พระอรหันต์) ตายไปแล้วยังคงอยู่หรือไม่
เป็นต้นเมื่อตอบไม่ได้ ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ทูลถามขอคำตอบจากพระองค์ ให้หายสงสัย
พระพุทธองค์แทนที่จะตอบ กลับประทับนิ่งเฉยเมื่อไม่ได้คำตอบ
ท่านผู้นี้ก็รุกว่า ถ้าพระองค์ไม่ตอบ ข้าพระองค์จะสึกไปนับถือศาสนาอื่นนะ
พระพุทธองค์ตรัสว่า
"มาลุงกยะ (ชื่อท่านผู้นี้)
เราสองคนเคยทำสัญญากันไว้ก่อนหรือเปล่าว่าเมื่อเธอมาบวชกับเราแล้ว
เราจะตอบปัญหาเหล่านี้ของเธอ
ถ้าเราไม่ตอบ เธอจะต้องสึกไปนับถือศาสนาอื่น"
"ไม่เคยทำสัญญาดังว่านี้ พระเจ้าข้า"
พระหนุ่มยอมรับ
"ก็เมื่อเราไม่เคยทำสัญญากัน เธอจะไปไหนก็ไป
แต่จะมาคาดคั้นเอาคำตอบจากเรา เราไม่ตอบ"
พระองค์ตรัสตอบ
แล้วทรงยกตัวอย่างมาว่า
สมมุติว่านายคนหนึ่งถูกเขายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ
จะตายมิตายแหล่ ญาติพี่น้องหามไปหาหมอ
หมอจะถอนลูกศรออกรักษาให้เขา
เขายังมีสติอยู่ห้ามว่า อย่าถอนลูกศรออก
ข้าอยากรู้ว่าใครมันยิงข้า ชื่ออะไร โคตรอะไร ผิวสีอะไร เกิดในวรรณะไหน
มันโกรธข้าด้วยเรื่องอะไร ... จนกว่าข้าจะรู้รายละเอียดทั้งหมด
ข้าจึงจะให้ถอนลูกศรออก
"เธอคิดว่านายคนนี้โง่ หรือฉลาด"
ประโยคสุดท้ายทรงหันไปถามภิกษุหนุ่ม
"โง่ พระเจ้าข้า เขาควรจะรีบให้หมอรักษาเขาให้หายเสียก่อน
ค่อยสืบเอาภายหลังก็ได้ว่าใครยิง หาไม่เขาจะไม่มีโอกาสรู้เลย
เพราะจะตายเสียก่อน"
"เช่นเดียวกันนั้นแหละ มาลุงกยะ หลายต่อหลายเรื่องในโลกนี้
ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปรู้ไปสนใจ ถึงจะรู้หรือไม่รู้เรื่องเหล่านั้น
คนเราก็ยังตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์
ในสังสารวัฏคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่หลายต่อหลายเรื่อง
มิใช่เรื่องรีบด่วนที่จะต้องรู้ ควรหันมาสนใจเรื่องรีบด่วน
ที่จำเป็นจะต้องรู้มากกว่าปัญหาที่เธอถามนั้นมัน "ไกลตัว" เกินไป
ถึงจะรู้หรือไม่รู้ ก็ไม่ทำให้พ้นจาก เกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้
ตถาคตจึงไม่ตอบ"
ส่วนเรื่องที่จำเป็น "ใกล้ตัว"
ที่สุดที่ควรจะใส่ใจรู้ ก็คือ ทุกข์ กับการดับทุกข์
อะไรคือปัญหาของชีวิต มีวิธีการอย่างใดจะพึงแก้ปัญหานั้นได้สรุปตรงนี้ก็คือ
เมื่อถูกเขายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ อย่าไปมัวสนใจว่าใครยิง
ยิงทำไม ควรรีบหาหมอมารักษาด่วนเมื่อเกิดมาแล้ว
อย่าไปมัวสนใจอยากรู้ว่า เราเกิดมาจากไหน
ตายแล้วจะไปไหน ควรสนใจว่า เราจะทำชีวิตของเราให้ดีขึ้นอย่างไร
ฉันใดก็ฉันนั้นเมื่อมีคนถามท่านหลวงพ่อปัญญานันทะ
หลังจากปาฐกถาจบวันหนึ่งว่า
"หลวงพ่อครับ โลกหน้ามีจริงหรือเปล่า"
หลวงพ่อปัญญานันทะตอบว่า
"โลกหน้า ภาษาบาลีเขาว่า ปรโลก ปรโลก แปลว่าโลกอื่น โลกพระจันทร์
พระอังคาร ก็เป็นโลกอื่นนะ"
ว่าแล้วท่านก็สอนเรื่องให้ตั้งใจละชั่วทำดี
โดยเฉพาะปุถุชนให้ห่างอบายมุขมากๆ เทศน์สอนเรื่องใกล้ๆ ตัว
มองเห็นๆ กันนี่แหละ เล่นเอาผู้อยากรู้ว่า
"โลกหน้ามีจริงหรือเปล่า"
นั่งเซ่ออยู่คนเดียวจะหาว่าหลวงพ่อท่านไม่รู้คำตอบ
ก็ไม่ได้ เรื่องอย่างนี้ทำไมท่านจะไม่รู้
ท่านเห็นว่าตอบไปก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น
จึงไม่ตอบหลวงพ่อพุทธทาส
เมื่อเห็นคนสนใจแต่เรื่องห่างไกลตัวเกินไป
ท่านก็ดึงคนให้มาสนใจปัจจุบันนี้มากขึ้น
เช่น เรื่องนรกสวรรค์ ที่จะพึงได้พึงถึงในภายหน้าหลังตายแล้ว
ท่านก็มาเน้นว่า สวรรค์ นรก มีอยู่เดี๋ยวนี้ขณะนี้
ขณะใดมีกิเลสตัณหาทำให้ใจเร่าร้อน
ขณะนั้นแหละเรียกว่าตกนรก ขณะใดจิตใจปลอดจากตัณหาอุปาทาน
มีความยึดมั่นน้อยลง ขณะนั้นแหละเรียกว่าขึ้นสวรรค์นิพพานก็เช่นกัน
มิใช่ว่าสิ่งที่จะพึงได้พึงถึงต่อเมื่อตายแล้ว
นิพพานเราสามารถเข้าถึงได้เดี๋ยวนี้ขณะนี้ในชาตินี้
นิพพานอย่างต่ำ หรืออย่างอนุโลม ก็คือ
การที่ใจสงบเย็น ดับความร้อนด้วยอำนาจโลภ โกรธ หลง ได้ชั่วคราว
ก็เท่ากับว่าได้เข้าถึงนิพพานชั่วขณะแล้ว ถ้าดับได้หมดไม่มีเหลือเลย
ก็เรียกว่านิพพานที่แท้จริง ที่ท่านเน้นอย่างนี้
มิใช่ว่าท่านปฏิเสธนรกสวรรค์ ในชาติหน้าแต่อย่างใด
ท่านยอมรับตามพุทธวจนะ แต่จะมีประโยชน์อะไรที่จะไปเน้นมากเกินไป
เน้นมากไปคนแทนที่จะหันมาสนใจพัฒนาตนในปัจจุบัน
กลับจะฝันหรือรอคอยจะเอาแต่ในชาติหน้าโน้น
ผลที่สุดก็จะตายเปล่านี่แหละครับคือความในใจผม
ผมเห็นว่าคนเราทุกวันนี้มักสนใจแต่เรื่องไกลตัว
เรื่องใกล้ตัว หรือ "ในตัว" กลับไม่สนใจเรื่องผลของการทำดีทำชั่ว
ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พูดกันมาก หลายคนตัดพ้อว่า
"ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" ที่เข้าใจกันผิดเลยเถิดอย่างนี้
เพราะเล็งผลเลิศเกินไป
"เล็งผลเลิศเกินไป" คือหวังผลมาก
มากเกินกว่าการกระทำ
ทั้งๆ ที่ผลของการกระทำดีนั้นได้รับแล้ว
แต่ทำเป็นไม่รู้ หรือรู้ก็ไม่พอใจผลแค่นั้น
อยากได้มากกว่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น เรียนจบมาได้งานทำ
มีเงินเดือนกิน เก็บเงินได้ ผ่อนบ้านหลังย่อมๆ ได้หลังหนึ่ง
หลายปีต่อมาก็มีเงินพอจะผ่อนรถได้สักคัน ไม่ถึงกับมีเงินเก็บ
แต่ก็มิได้เดือดร้อนอะไรมากนักพอเห็นคนอื่นมีฐานะดีกว่า
มีบ้านมีรถใหญ่ และโก้หรูกว่าตน
ก็นึกน้อยใจว่าเราก็อุตส่าห์ขยันทำมาหากิน
ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ไม่คดไม่โกง
ทำไมจึงไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนคนอื่นความจริง
ถ้าจะดูกันอย่างพินิจพิจารณาจะเห็นว่านายคนที่ว่านี้ได้
"ก้าวหน้า" หรือ "ได้ดี" เหมาะสมกับเหตุที่เขาทำมาแล้ว
ความเป็นอยู่ขนาดนี้ ไม่ถึงกับเดือดร้อน ลำบากอะไรมากนัก
ก็น่าจะพอใจแล้วว่า เราทำมาแค่นี้ก็ได้ผลแค่นี้
เมื่อนำไปเปรียบกับคนอื่นที่ร่ำรวยกว่า มีชีวิตที่สบายกว่า
ก็นึกน้อยใจ คนที่ร่ำรวยกว่า ฐานะมั่นคง สุขสบายกว่าเรา
เขาอาจมีพื้นฐานอย่างอื่นส่งเสริมเช่น พ่อแม่รวยอยู่แล้วก็ได้
เขามิได้เริ่มจาก "ศูนย์" เหมือนเรา เราเริ่มจากไม่มีอะไร
มาได้ถึงขนาดนี้ก็นับว่าดีที่สุดแล้ว นี่แหละผลแห่งความซื่อสัตย์
ขยันหมั่นเพียรผลได้อีกประการหนึ่งที่มักไม่มองกันก็คือ ผลทางจิตใจ
และการรับรู้ของสังคม เราสุจริต ขยันหมั่นเพียร
ประกอบสัมมาอาชีพ เราได้ความภาคภูมิใจ ความสุขใจ
นึกถึงการกระทำของเราทีไร เราไม่หวาดวิตกกังวลหรือกลัว
เพราะ "สันหลังเราไม่หวะ" นี้คือผลของความดีที่เราทำ
เราได้เห็นๆ อยู่แล้ว แต่ไม่รู้เอง หรือรู้แต่ไม่นึกว่า
มันสำคัญเองลองนึกถึงคนที่ทุจริตฉ้อโกงได้เงินมามากมาย
แต่เขาไม่มีความสุข จะนั่ง จะนอนก็ไม่เป็นสุข
ไปไหนก็ต้องมีมือปืนคอยคุ้มกันเป็นขบวน
นึกดูแล้วจะเห็นว่า ตัวเราไม่ต้องกระวนกระวาย
เดือดเนื้อร้อนใจอย่างนั้น ช่างเป็นสุขเสียจริงๆ
ผลได้อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อใครรู้เห็นว่าเราเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต
ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร เขาก็สรรเสริญ
ถึงไม่ชมออกมาตรงๆ ก็นึกชมอยู่ในใจการรับรู้ของสังคม
ว่าเราเป็นคนดีนี้ มีคุณค่ามหาศาล ถึงเขาจะไม่ได้มอบโล่ห์รางวัล
หรือประกาศให้เป็นคนดีตัวอย่างก็ตาม สังคม
โดยเฉพาะสังคมของวิญญูชน (ผู้รู้) รับรู้และชื่นชม
เป็นรางวัลอันมีค่ายิ่งกว่ารางวัลใดๆ เสียอีก
ประการสุดท้าย ผลดีที่ได้แน่ๆ ก็คือ
ตัวเราเองรู้ด้วยตัวเราเองว่าตัวเราได้ทำดี มีความซื่อสัตย์สุจริต
ไม่คดไม่โกงใคร เราทำดีมากดีน้อยแค่ไหน เรารู้แก่ใจเรา
นี้เป็นผลได้เหมาะๆ เจ๋งๆ อยู่ในตัวแล้วทางพระท่านว่า
ผลแห่งการทำดีข้อหนึ่งที่สำคัญมากคือ ตัวเราติเตียนตัวเราไม่ได้
นึกถึงการกระทำของตนมาเมื่อใด มีแต่ความภาคภูมิใจ
ไม่มีอะไรตำหนิติเตียนตนได้เลยเรียกว่ายกมือไหว้ตัวเองได้สนิทใจ
ว่าอย่างนั้นเถิดนึกให้ลึก และนึกเข้ามาใกล้ตัว
อย่างนี้สิครับ จะเห็นได้ว่า เราทำดี เราทำได้แน่นอน
ได้หลายชั้นด้วย
หน้า 6