มติชน
วันที่ 04 ธันวาคม พ.ศ. 2551
คำถามที่ตอบยากที่สุดคือชอบหนังสือเล่มใดมากที่สุด ที่ตอบยากก็เพราะว่าใครๆ
ก็ชอบหนังสือกันหลายเล่ม แต่หากถามว่าเล่มใดประทับใจมาก ๆ
ก็จะตอบได้ง่ายกว่า สำหรับตัวผู้เขียนนั้นคำตอบคงต้องย้อนไปในอดีต
มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่อ่านตั้งแต่วัยรุ่นและรู้สึกประทับใจจนจำได้ไม่รู้ลืมถึงทุกวันนี้
คุณสด กูรมะโรหิตเป็นนักเขียน นักคิดคนสำคัญคนหนึ่ง
หลังยุคสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเจ้าของนวนิยายลือลั่น
เช่น "ระย้า" "ปักกิ่งนครแห่งความหลัง" "โกรกกระทิง"
"ข้อคิดจากแผ่นดินไทย" สารคดีบทละครเรื่องแปล
บทความข้อเขียนฯลฯ
คุณสด กูรมะโรหิต เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเทพศิรินทร์กับ
คุณโชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)
และ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์
คุณสดเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
เป็นนักเรียนนอกจากจีนยุคแรกของไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ท่านเป็นผู้มีอุดมการณ์อันมั่นคงเชื่อมั่นในหลักการสหกรณ์ถึงกับลงมือเป็นเกษตรกร
และจัดตั้งระบบสหกรณ์ขึ้นเองเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจน
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จถูกระแวงกลั่นแกล้งรังแกและโดนมรสุมการเมืองเล่นงาน
จากความพยายามต่อสู้เพื่อคนยากจน"ขบวนเสรีจีน"
เป็นงานชิ้นเอกเป็นบทประพันธ์ที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง
เมื่อได้จัดทำเป็นภาพยนตร์ใน พ.ศ.2502
แรกเริ่มเขียนลงเป็นตอนๆ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยาม
สมัยสิ่งพิมพ์ดังของยุคนั้น และนำมารวมเล่มตีพิมพ์ใน พ.ศ.2503
คุณสดได้กล่าวถึงนิยายเรื่องนี้ว่า ".......เรื่องขบวนเสรีจีน
เป็นเรื่องที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง
เมื่อสมัยสงครามจีน-ญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นเมื่อ ค.ศ.1936 (พ.ศ. 2479)
และมาสุดสิ้นลงในสงครามมหาอาเซียบูรพา
ข้าพเจ้าได้เขียนขึ้นโดยอาศัยบันทึกความจำของ Lu Ping Fei(หลูผิงเฟ)
นักศึกษาจีนคนสำคัญที่ได้ทำการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น
มาด้วยตนเองทางใต้ดินจนต้องเสียชีวิตของบรรดานิสิตมิตรสหายไปเป็นอันมาก
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าได้เป็นเสมือนผู้สังเกตการณ์
ที่เดินทางร่วมไปกับขบวนกู้อิสรภาพของหลูผิงเฟ
เพราะกิจกรรมของนักศึกษาหนุ่มผู้นี้
เป็นกิจกรรมของนักศึกษาอื่นทั่วๆไปที่ข้าพเจ้าได้พบมาด้วยตนเอง
เมื่อข้าพเจ้าศึกษาอยู่ในปักกิ่งระหว่าง ค.ศ.1931 กับ ค.ศ.1936
ในยุคนั้นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจีนที่ต่อต้านการรุกราน
ของลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ได้กำลังดำเนินไปอย่างรุนแรง
ข้าพเจ้าได้ประสบเหตุการณ์เหล่านี้มาด้วยตนเองตลอดเวลา
ที่ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ในจีนเหนือ
ขบวนเสรีจีนของหลูผิงเฟเป็นผลสุดท้ายของการเคลื่อนไหวแห่งนักศึกษาในครั้งนั้น
แม้จะเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของเด็กหนุ่มชายหญิง
ที่ไม่มีทางจะสู้รบตบมือกับกองทัพอันเกรียงไกรของซามูไรญี่ปุ่นได้
แต่กิจกรรมของขบวนเสรีจีนนี้ก็เป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่ง
ของชาวจีนผู้เสรีที่ยินดีเลือกเอาความตายเพื่อธำรงไว้
ซึ่งเสรีภาพอันเป็นธรรมข้าพเจ้าหวังว่าอย่างน้อยการต่อสู้
ของหลูผิงเฟตามความในบันทึกของเขา
ตลอดจนการเคลื่อนไหวของขบวนเสรีจีนในเรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นนี้
คงจะเป็นข้อคิดอันหนึ่งของชาติมนุษย์ผู้แสวงธรรมอันเสรี
ที่ควรจะเตือนใจให้เสรีชนทุกคนได้คิดว่าความกลัวคือศัตรูของเสรีภาพ......."
คุณสดได้เขียน "ขบวนเสรีจีน"
ในแนวที่สอดคล้องกับนิยายสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมหลายเรื่อง
เช่นDa Vinci Code ของ Dan Brown
"เจ้าไล" ของอาจารย์คึกเดช กันตามระ
Bridges of Madison County ของ Robert Waller ฯลฯ
กล่าวคือเป็นนิยายที่อิงกับเรื่องจริงอย่างแนบเนียน
ผู้เขียนมิได้บอกว่าเป็นเรื่องจริงแต่ในเนื้อหาและ
รายละเอียดของเรื่องมีความจริงปนอยู่มาก
และเมื่อผสมกับจินตนาการก็ออกมาเป็นนิยายที่สนุกสนาน
และมีสาระบ่อยครั้งมีการประท้วงเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น
เพราะคนอ่านทึกทักว่าเป็นเรื่องจริงผู้เขียนได้เขียนไว้ชัดเจน
ต่างจากนักเขียนฝรั่งหลายคนที่ทิ้งเป็นปริศนา
ให้คิดว่าเรื่องที่เล่านั้นเป็นเรื่องจริงทั้งหมดหรือไม่
คุณสดได้เขียนว่า ".......ข้าพเจ้าไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็น
นวนิยายบริสุทธิ์ ขอท่านผู้สนใจในการพินิจพิจารณาเรื่อง
ที่ข้าพเจ้าเขียนได้โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย
ข้าพเจ้าไม่สมัครจะเรียกนิยายหรือเรื่องที่ข้าพเจ้า
เขียนขึ้นว่าเป็นวรรณกรรมประเภทใด
ข้าพเจ้ารู้แต่ว่าข้าพเจ้าต้องการอะไร
และทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะเขียนสิ่งที่ข้าพเจ้า
ต้องการออกมาให้ท่านอ่านได้ด้วยความเข้าใจ
ที่ตรงกับความมุ่งหมายของข้าพเจ้า.......""ขบวนเสรีจีน"
เล่าเรื่องการต่อสู้แบบใต้ดินของเหล่านักเรียน
นักศึกษาจีนอายุตั้งแต่ 12-20 ปี
ต่อต้านความพยายามยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงเวลา 10 ปี
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง "เด็ก" เหล่านี้สู้ตั้งแต่
ใช้ไม้เบสบอลจนกระทั่งมีอาวุธปืน
มีจำนวนสมาชิกสูงสุดประมาณ 2,000 คน
ในตอนแรกทำงานได้ผลด้วยการลอบเผาโกดังสินค้าเก็บยุทธภัณฑ์
โรงภาพยนตร์ และร้านค้าที่คนญี่ปุ่นสัญจร
ตลอดจนลอบฆ่าคนจีนที่ทรยศต่อชาติทำงานรับใช้ญี่ปุ่น
เมื่อ "เด็ก" รวมกันอาละวาดโดยผู้ปกครองไม่ทราบอย่างมีประสิทธิภาพ
ทางการญี่ปุ่นก็เริ่มตอบโต้ แต่จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
จนสมาชิกคนหนึ่งลืมสมุดนักเรียนไว้ในโรงหนังที่ไปเผา
ซึ่งในนั้นมีรายชื่อของสมาชิกอยู่ "เด็ก" จึงถูกกวาดต้อนไปกว่า 100 คน
ถูกทรมานให้เปิดเผยรายชื่อ นับร้อยคนถูกกวาดล้าง
และถูกยิงเป้าในที่สุดอย่างน่าเศร้าสลด
"เด็ก"ทั้งหมดต่อสู้ด้วยความรักชาติอย่างกล้าหาญ ไม่กลัวตาย
เพื่อแสดงศักดาให้คนจีนส่วนอื่นที่ยอมศิโรราบลุกขึ้นต่อสู้และขับไล่ญี่ปุ่น
ครั้งหนึ่งในขณะที่ทหารญี่ปุ่นเดินแถวเข้าเมือง
คนจีนคนหนึ่งโดดลงมาจากตึกสูงเพื่อฆ่าตัวตายและ
ตั้งใจให้ทับทหารญี่ปุ่นตายด้วยซึ่งก็ทำได้สำเร็จ
เรื่องดำเนินไปอย่างเห็นจริงทั้งสนุกตื่นเต้นและเร้าใจ
และไม่แสดงความเก่งกาจของ "เด็ก" จนดู "เว่อร์"
"เด็ก"เหล่านี้รู้ทันการเมืองสมัยนั้นที่มีการขับเคี่ยวสู้รบ
เพื่อแย่งอำนาจกันระหว่างพรรคกกมินตั๋งของเจียงไคเช็ก
และพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจอตุง
"เด็ก"พยายามอยู่ตรงกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพราะเกรงว่า
จะตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง
ในตอนแรกพรรคทั้งสองสู้รบกันอย่างหนัก
แต่ทนเสียงเรียกร้องของประชาชนจีนไม่ได้ว่าให้พักรบกัน
และรวมกันหันมาต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานจะถูกกาลเทศะก่อน
ทั้งสองฝ่ายรามือและสู้รบกับญี่ปุ่นอย่างหนัก
จนสงครามโลกครั้งที่สองสุดสิ้นลง
การสู้รบระหว่างพรรคทั้งสองอีก 3 ปีต่อมา
จึงได้ตัดสินว่าใครเป็นผู้ชนะผู้เขียนพยายามนึกว่า
ในตอนอายุ 13-14 ปีที่อ่าน "ขบวนเสรีจีน" นั้น
รู้สึกประทับใจเพราะเหตุใดคำตอบก็คือประทับใจ
ในความเสียสละ ความรักชาติศักดิ์ศรี
ความซื่อสัตย์ต่อกันและกันของสมาชิกขบวนเสรีจีน
เมื่อผู้เขียนโตขึ้นจึงเข้าใจว่าสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ได้ให้ผู้อ่าน
ก็คือการหล่อหลอมให้เป็นคนมีความเชื่อ
กล่าวคือความเชื่อในเรื่องการเสียสละ ความรักชาติ
และความจริงใจต่อกันและกันของกลุ่มคน
การมีความเชื่อซึ่งไม่ต่างไปจากการมีอุดมคติ
หรืออุดมการณ์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับมนุษย์ที่มีความคิด
ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะสร้างสรรค์หรือบ่อนทำลายสังคมก็ตามที
คนที่ไม่มีความเชื่อในเรื่องใดๆ เลย
(เขาอาจบอกว่าเขามีความเชื่อคือไม่เชื่ออะไรเลยก็ได้)
ก็จะเป็นคนลื่นไหลไปวันๆ อย่างปราศจาก
หลักการหาประโยชน์ให้แก่สังคมที่ตนเป็นสมาชิกได้ยาก
หนังสือเล่มนี้มิได้พยายามสร้างความชิงชังทหารญี่ปุ่นหรือคนญี่ปุ่น
แต่ลึกเข้าไปแล้วชิงชังสงครามความเห็นแก่ตัวและความเห็นแก่ได้
พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงคุณธรรมอันสูงยิ่งของมนุษย์คือความเสียสละ
ซึ่งไม่มีการเสียสละใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการยอมเสี่ยงสูญเสียชีวิต
ใน พ.ศ.2503 กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์กำลังก่อตัวเป็นคลื่นใหญ่ในสายตา
คนไทย สิ่งที่ทางการไทยพยายามสื่อก็คือ "จีนคือคอมมิวนิสต์"
ผู้เขียนพยายามนึกว่าเหตุใดตนเองและอีกหลายคนในสังคมไทย
ตอนนั้นซึ่งก็เป็นผู้รับสาร "จีนคือคอมมิวนิสต์" จึงไม่นึกรังเกียจ
หนังสือเล่มนี้ที่มีคำว่าจีนอยู่ข้างหน้าแต่ก็นึกไม่ออก
คาดว่าเนื้อหาอันทรงคุณค่าของหนังสือกระมังที่ทำให้สามารถ
เอาชนะสารดังกล่าวได้อย่างเด็ดขาด
สิ่งที่สอนคุณธรรมอันสูงค่าของมนุษย์อันเป็นอกาลิโก
ย่อมเอาชนะสายลมที่พัดผ่านเสมอ
หน้า 6