Custom Search

Dec 20, 2008

เพื่อความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักกรรม (9) ตัวอย่างวิบากแห่งกรรม

คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551
วันนี้ขอ "จับเข่าคุย" กันถึงเรื่องราวเก่าๆ
ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์บ้าง เณรคัมภีร์บ้าง เอ๊ย
ที่ได้รับบอกเล่ากันมาบ้าง สักสองสามเรื่องนะครับ
เรื่องที่หนึ่ง
สาวๆ ควรจะรับฟังเป็นอย่างยิ่ง พระนางโรหิณี พระกนิษฐภคินี
(น้องสาวคนเล็ก)ของพระอนุรุทธะเถระ เป็น "หยิน"
ที่มีพระสิริโฉมงดงามเป็นอย่างยิ่ง
วันหนึ่งเกิดโรคผิวหนังขึ้นแก่พระนาง แรกๆ ก็คันตามผิวหนังธรรมดาๆ
แต่พอเกาๆ ไป ผิวหนังก็แตกเป็นแผลพุพองไปเรื่อยๆ เกือบทั่วร่างกาย
รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ในที่สุดพระนางก็มิได้ออกสังคม
คงเก็บตัวอยู่แต่ในห้องด้วยความเศร้าพระทัยว่า
ทำไมนางจึงเคราะห์ร้ายอย่างนี้ในช่วงที่เกิดเรื่องนี้
พระอนุรุทธะเชษฐาของนาง ได้ออกบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า
ได้ติดตามพระพุทธเจ้าไปเผยแผ่พระศาสนายังเมืองต่างๆ หลายปี
มิได้กลับมายังเมืองมาตุภูมิเลย ท่านจึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
กับน้องสาวคนสวยของท่านวันหนึ่งท่านอนุรุทธะเดินทางกลับมา
ยังเมืองกบิลพัสดุ์ บรรดาพระญาติทั้งหลายได้นิมนต์ท่านไป
ฉันภัตตาหารที่ตำหนักเก่าของท่าน ไม่เห็นกนิษฐภคินีมาคุยด้วย
จึงถามหา พระญาติทั้งหลายเรียนท่านว่า
"นางโรหิณี ขลุกอยู่ในห้อง ไม่กล้ามาหาท่าน"
"ทำไมล่ะ" พระเถระถาม"นางเป็นโรคผิวหนังร้ายแรง คงจะอายกระมัง"
พระญาติทั้งหลายบอกพระเถระจึงให้คนไปตามนางมาหา
บอกแก่นางว่า
"โรคนี้เป็นผลของกรรมเก่าที่นางได้กระทำไว้ ขอให้นางจงทำบุญกุศลเพื่อ
"ลบล้าง" กรรมเก่าตั้งแต่บัดนี้เถิด"เมื่อถามว่าจะให้ทำบุญอะไรบ้าง
พระเถระบอกว่า ไม่ต้องทำอะไรมากมายให้สร้าง
"อุปัฏฐานศาลา" (หอฉัน) แล้วให้ปัดกวาดเช็ดถู ตั้งน้ำฉัน
น้ำใช้ไว้สำหรับพระสงฆ์ ตลอดจนล้างถ้วยล้างชาม
กวาดลานวัดให้สะอาดเสมอนางก็ได้ปฏิบัติตามที่พระเถระผู้เป็นเชษฐาแนะนำ
เวลาล่วงไปหลายเดือน โรคผิวหนังที่เป็นมาหลายปีก็หายยังกับปลิดทิ้ง
เป็นที่น่าอัศจรรย์เมื่อพระอนุรุทธะกลับมายังมาตุภูมิอีกครั้ง
นางโรหิณีได้มานมัสการพระเชษฐา
เล่าเรื่องราวให้ทราบด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส
ที่ได้กลับมาเป็น "หยิน" ที่สดสวยน่ารักเหมือนเดิม
พร้อมเรียนถามพระพี่ชายว่า ชาติก่อนตนทำกรรมอะไรไว้
จึงเสวยผลเช่นนี้พระเถระเล่าว่า ในอดีตกาลนานแล้ว
นางโรหิณีเป็นพระมเหสีของพระราชาพระองค์หนึ่ง
ไม่พอใจที่พระสวามีไป "ติด" นางรำคนหนึ่ง
จนกระทั่งไม่สนพระทัยต่อพระนางซึ่งเป็นพระมเหสีหึง
ว่าอย่างนั้นเถอะ เมียมีทั้งคนไม่สน ไปหลงอีนางรำต่ำต้อย มันน่านัก
(ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงนึกถึงเป็ดขึ้นมาตะหงิดๆ ว่าเป็ดมันคงหิว
น่าจะหาอาหารให้มันกินสักหน่อย ว่าอย่างนั้นเถอะ บรื๊อส์)
นางทำทีว่าเมตตารักใคร่นางรำคนโปรดของพระสวามี
เรียกมาสนทนาพูดคุยอย่างสนิทสนมทุกวัน
ข้างฝ่าย "พระเอก" ก็ดีพระทัยว่า บ้านใหญ่กับบ้านเล็กเข้ากันได้ดี
โนพลอมแพล็มดีแท้ มันจะสุขใจอะไรปานนั้นหารู้ไม่ว่ามารยาหญิงนั้น
หลายร้อยรถบรรทุกก็บรรทุกไม่หมด
พระมเหสีสั่งซื้อชุดแต่งตัวอย่างสวยงามให้นางรำใหม่ชุดหนึ่ง
สำหรับให้นางใส่ออกงานสำคัญต่อหน้าพระที่นั่ง
เป็นปลื้มทั้งแก่พระสวามี และนางรำคนโปรดเป็นอย่างยิ่ง
วันเฉลิมฉลองใหญ่ก็มาถึง นางรำคนสวยร่ายรำอยู่ในชุดที่หรูหรางดงามยิ่ง
ท่ามกลางมหาสันนิบาตที่มีพระราชา และพระมเหสีประทับเป็นประธาน
และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นนางรำเกิดอาการคันที่ร่างกาย
ทีแรกก็คันเพียงเล็กน้อย แต่ยิ่งนานไปก็ยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน จนกระทั่งทนร่ายรำไปไม่ไหว
เพราะมันปวดแสบปวดร้อนไปทั่วสรรพางค์กาย
เปลี่ยนจากท่าร่ายรำมาเป็นท่าลิงเกาหิดไปโดยอัตโนมัติ
ในขณะที่สายตาอำมหิตคู่หนึ่ง
จ้องมองด้วยความสะใจพระมเหสีของพระราชานั้นเอง
พระนางได้เอาผง "หมามุ่ย" โรยไว้ทั่วชุดแต่งตัว
ทำให้ผู้สวมใส่เกิดอาการคะเยอไปทั่วสรรพางค์
ยังผลให้นางรำเกิดเป็นโรคผิวหนังรักษาอยู่ตั้งนานกว่าจะหาย
หายแล้วก็ยังเป็นรอยกะดำกะด่างผิวไม่สวยงามเหมือนเดิมอีกต่างหาก
"พระมเหสีนางนั้น มาเกิดเป็นน้องหญิงโรหิณีในบัดนี้
เพราะกรรมที่ทำไว้ครั้งนั้นด้วยจิตอิจฉาริษยาต่อผู้อื่น
มาบัดนี้จึงเกิดเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังรักษาไม่หาย"
พระอนุรุทธะเถระเจ้าสรุปพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง
ความอิจฉาริษยาทำให้ผิวพรรณไม่สวย มองได้ทั้งผลในปัจจุบัน
และผลที่ข้ามภพข้ามชาติ ผลในปัจจุบันเห็นได้ครับ
ถ้าเราอิจฉาตาร้อนใคร จิตใจเราจะไม่มีความสุขสงบภายใน
มีแต่ความร้อนรุ่ม นั่งก็ไม่เป็นสุข นอนก็ไม่เป็นสุข
วันๆ คิดแต่จะสาปแช่งให้ (ไอ้ อี) คนที่เราไม่ชอบขี้หน้า
มันฉิบหายวายป่วงคนที่เราอิจฉาตาร้อน สาปแช่งทุกวันนั้น
เขาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วย เขายังสุขสบายดีตามประสาของเขา
แต่เราสิครับ ยิ่งเห็น ยิ่งได้ยินว่าเขายังสบายดี
ไม่เป็นอะไรอย่างที่เราต้องการให้เขาเป็น
เราก็ยิ่งเร่าร้อนภายในยิ่งขึ้นคนที่ใจไม่สงบสุข
ร้อยทั้งร้อยใบหน้าก็ไม่ผุดผ่องสดใส หน้านิ่วคิ้วขมวดยังกับเหม็นขี้ตลอดทั้งวัน
ไม่เป็นที่สบายใจของผู้พบเห็นใบหน้าไม่ผุดผ่องสดใส
นึกว่าผิวพรรณจะผุดผ่องสดใส ผิวหน้าฉันใด
ผิวกายก็ฉันนั้นแหละเพราะฉะนั้นใครอยากสดสวยตลอดเวลา
ก็อย่าริเป็นคนอิจฉาริษยาโกรธเคือง หรืออาฆาตพยาบาทคนอื่น
ขอให้มีจิตเมตตากรุณา รักและปรารถนาดีต่อทุกคน
ด้วยใจบริสุทธิ์ในแง่การให้ผลข้ามภพข้ามชาตินั้น
ปุถุชนอย่างเราท่านรู้ไม่ได้ เมื่อไม่รู้ ก็ฟังท่านผู้รู้ไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รู้ที่ว่ามิใช่คนธรรมดา
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกพระองค์ตรัสไว้ว่า
มีเรื่องอยู่ 4 เรื่องที่ปุถุชนไม่ควรคิด ขืนคิดมากมีแต่ทางจะเป็นบ้า
เรื่อง 4 เรื่องคือ
1.พุทธวิสัเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
ก็ไม่พึงคิดหาเหตุผลเอาเองว่า
ทำไมพระโพธิสัตว์ประสูติแล้วจึงพูดได้เดินได้
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงมีสัพพัญญุตญาณ
เหนือบุคคลอื่น ทรงมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือคนอื่น
2.ฌานวิสัย เรื่องราวเกี่ยวกับฌานสมาบัติ
ผู้ได้ฌานแล้วสามารถบันดาลฤทธิ์ต่างๆ เป็นที่อัศจรรย์ได้
3.กัมมวิปาก เรื่องราวเกี่ยวกับกรรมและผลของกรรม
ว่าทำกรรมอะไรไว้ มันจะได้ผลอย่างไร เมื่อใด
4.โลกจินตา การคิดเกี่ยวกับโลก เช่นโลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ตั้งแต่เมื่อใด มันจะแตกสลายไปอย่างไร
เมื่อไรเรื่องเหล่านี้ปุถุชนคนมีกิเลส ไม่มีใครรู้จริงดอกครับ
ถึงจะมีบางกลุ่มบัญญัติว่าโลกมีคนนั้นคนนี้สร้าง
โลกมันจะดับเมื่อนั้นเมื่อนี้ ก็ "คิดเอาเอง" ทั้งนั้น
ไม่ได้บัญญัติด้วยความรู้เห็นแต่อย่างใด ถ้าใครมามัวคิดหาคำตอบในสิ่งที่
"เหลือวิสัย" อย่างนี้พระผู้ตรัสรู้เท่านั้นที่จะรู้ว่า
มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร เรื่องกรรมและผลของกรรมนี้เป็น
"พุทธวิสัย" โดยเฉพาะพระผู้ตรัสรู้เท่านั้นจึงรู้
เมื่อพระองค์ทรงรู้แล้วก็ทรงสั่งสอนให้เหล่าสาวกฟัง
สาวกที่ยังไม่ "ตรัสรู้ตาม" ก็รับฟังและปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน
เมื่อพระผู้ตรัสรู้ตรัสสอนว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
เราก็พึงเชื่อท่านแต่การเชื่อนี้มิใช่เชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตา
หรือเชื่อแบบมืดบอด เราเชื่ออย่างมีปัญญากำกับด้วย
นั่นก็คือ พิจารณาเห็นความจริงบางอย่างที่สอดคล้องกับคำสอนนั้น
ด้วยที่ว่าทำดีได้ดี เราอาจใช้ปัญญาพิจารณาว่า "ได้ดี"
สองระดับคือ- ได้ดีในปัจจุบัน- ได้ดีข้ามภพข้ามชาติได้ดีระดับข้ามภพข้ามชาติ
เกินวิสัยที่ปุถุชนคนไม่ตรัสรู้อย่างเราจะรู้ได้
แต่ที่เราสามารถรู้ได้แน่ๆ คือ "ได้ดีในปัจจุบัน"
เราลองพิจารณาดีๆ จะเห็นว่า
1) เวลาเรามีจิตศรัทธา ทำบุญตักบาตร
หรือถวายทานแก่พระสงฆ์จิตใจเรามีความผ่องใส สดชื่น
ในขณะที่ทำและหลังจากทำแล้ว นึกขึ้นมาทีไรก็มีแต่ความปลื้มใจ
สุขใจ นี้คือเรา "ได้ดี" ในปัจจุบัน ดีอะไรเล่าครับที่จะเท่าความสุขใจใช่ไหม
2) เวลาเราเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบทุกข์ภัยบางอย่าง
เรามีความกรุณาสงสารเขา อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ยาก
เราช่วยเหลือเขาได้ เมื่อเห็นเขามีความสุข เพราะความช่วยเหลือของเรา
เราก็มีความสุขด้วย และมีความภูมิใจที่สามารถช่วยเหลือคนอื่น
นี้ก็คือการ "ได้ดี" ในปัจจุบันเช่นเดียวกัน
3) เห็นคนอื่นเขากำลังจะถลำลงสู่ความตกต่ำบางอย่าง
ช่วยฉุดเขาขึ้นมาได้ ผู้ช่วยเหลือเขาก็มีความสุข
ยิ่งเห็นคนที่ตนช่วยเหลือนั้น เจริญก้าวหน้าในชีวิต
ก็ยิ่งมีความสุขใจเพิ่มทวีคูณ นี้ก็คือการ "ได้ดี"
ในปัจจุบันเหมือนกันมีเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง เด็กวัดสุทัศน์
อาศัยพระและวัดอยู่ และเรียนหนังสือระดับมหาวิทยาลัยด้วย
เปิดเทอมจะต้องเสียค่าเทอมจำนวนหลายร้อย
ดูเหมือนจะสองหรือสามร้อยสมัยก่อน ไม่มีเงินจะเสียค่าเทอม
เพื่อนเด็กวัดด้วยกันออกความคิดว่า ให้จับนกพิราบที่เกาะอยู่หลังคาโบสถ์ไปขาย
จับได้สักห้าสิบตัวก็จะขายได้เงินจำนวนหนึ่ง
รวมกับที่มีอยู่บ้างก็คงจะพอเสียค่าเทอม
โดยเพื่อนรับอาสาคอยดูทางให้เด็กโข่งคนนี้ก็ขึ้นไปจับนกพิราบ
ใส่กระสอบได้ครบตามต้องการผูกปากกระสอบแล้ววางไว้หน้าห้อง
กะว่าพรุ่งนี้เช้าจะรีบตื่นแต่ตีห้านำไปขายให้ร้านอาแปะข้างวัดเช้าขึ้นมา
ปรากฏว่ากระสอบปากถุงเปิดอ้าอยู่ นกพิราบหายไปหมดเกลี้ยง
แทบลมจับ แต่พอเอามือล้วงเข้าไปในกระสอบ
ปรากฏว่ามีเงินวางอยู่ 500 บาท ไม่ทันคิดว่าเงินได้มาอย่างไร
ด้วยความดีใจ จึงรีบไปเสียค่าเทอม
เรียนหนังสือจนสอบจบเป็นบัณฑิตทางรัฐศาสตร์
รับราชการเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และรองผู้ว่าฯ
ซึ่งอนาคตจะต้องเป็นถึงผู้ว่าฯ แน่นอน วันหนึ่งเขาคิดถึงหลวงพ่อที่วัดขึ้นมา
จึงเดินทางไปนมัสการท่าน เล่าเรื่องนกพิราบให้ท่านฟัง
พลางรำพึงว่า "ไม่ทราบว่าใครเอาเงินไปวางไว้ให้"
หลวงพ่อเขกกบาลศิษย์พลางพูดว่า
"ข้าเอง เห็นเอ็งจะทำบาป ข้าก็เลยช่วยฉุดเอ็งจากขุมนรก"
แล้วท่านก็บอกต่อไปว่า"เมื่อเห็นเอ็งไปดี ทำงานเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ
ข้าก็มีแต่ความสุขใจ ที่ได้ช่วยเหลือเอ็งครั้งนั้น"
นี่แหละครับการ "ได้ดี" เพราะทำดีไว้ เห็นได้ในปัจจุบันนี้
เมื่อทำดีได้ดีในปัจจุบัน ชาติหน้าก็ย่อมจะได้ดี (ตามที่พระท่านบอก)
แน่นอนว่าจะเล่าสักสองสามเรื่อง เล่าได้เรื่องเดียวก็หมดหน้ากระดาษแล้ว
เอาไว้ต่อฉบับหน้าก็แล้วกัน
หน้า 6