Custom Search

Sep 30, 2009

เจ้าพ่อเด็กแนว ยุทธนา บุญอ้อม


The Idol : ยุทธนา บุญอ้อม

วัฒนะชัย ยะนินทร
Positioning Magazine

พฤศจิกายน 2548


เด็กดื้อ เอ่อ! ไม่ใช่ซิ ต้องเรียกว่า ผู้ใหญ่ดื้อ
ไม่ได้ดื้ออย่างเดียวนะ
เขาบ้าด้วย... ผู้ชายใส่แว่น ตัวกลมๆ นิยมใส่เสื้อยืด
กางเกงตัวใหญ่คนนี้แหละ “ยุทธนา บุญอ้อม”
ผู้บริหารคนดังแห่งคลิกเรดิโอ ซึ่งใครๆ
ยกย่องว่า เป็นต้นตำรับเด็กแนวในเมืองไทย
“ต้องทำหน้าตาเป็น Young Executive หรือเปล่า”
ยุทธนา บุญอ้อม เอ่ยขึ้นตามสไตล์กวนโอ๊ย
หลังจาก POSITIONING นัดหมายสัมภาษณ์เขา
ที่คลิกเรดิโอ ย่านอาร์ซีเอ สถานที่ทำงานที่
เขาบอกว่าเหมือนเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของเขา
ยุทธนาปรากฏตัวในชุดเสื้อยืดคอกลมสีเลือดหมู
กางเกงยีนส์ตัวใหญ่ รองเท้าผ้าใบ...
นี่คือชุดฟอร์มแฟชั่นของนักบริหารสไตล์ยุทธนา
ซึ่งเห็นจนชินตา และ
กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำกายของเขา
*บันไดแห่งการเรียนรู้
“ผมเรียนไม่จบปริญญาตรี”
ยุทธนาเริ่มต้นเล่าถึงชีวิตนักศึกษา
สมัยที่เขาเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์
เหตุที่เรียนไม่จบเพราะมีปัญหาบางประการกับวิชาเอก
แม้เรียนไม่จบ แต่เขาบอกว่านั่นไม่ใช่ฝันร้าย
แต่เป็นช่วงที่เขาโชคดีมากกว่า
ช่วงนั้นเขาฝึกงานอยู่ที่แกรมมี่
ฝึกงานอยู่ที่แผนกคอนเสิร์ต และที่นี่เอง
ซึ่งเป็นจุดเริ่มของชีวิตการทำงาน
และการก้าวเข้าสู่นักจัดรายการวิทยุ หรือดีเจ
“ภารกิจงานชิ้นแรกที่แกรมมี่เขาจำได้ว่า ทำคอนเสิร์ตไมโคร
วงดนตรีที่ดังที่สุดในนาทีนั้น” เขาบอกว่า
เป็นงานหินชิ้นสำคัญสำหรับเด็กฝึกงาน
คนหนึ่งที่ยังอ่อนด้อยประสบการณ์
จากวันนั้นถึงวันนี้เขาคิดเสมอว่า
เป็นเหมือนบันไดให้เขาก้าวขึ้นไป ไม่นานนัก เขามีโอกาสสู่โลกของ
นักจัดการรายการวิทยุ กรีนเวฟ และ ฮอตเวฟ
เป็นคลื่นเสียงเพลงที่หล่อหลอมให้ผู้ชายคนนี้
มีสัญลักษณ์ของความเป็นดีเจ สไตล์แปลกแหวกกระแส
รายการวิทยุสไตล์ยุทธนา มีเสน่ห์ด้วยลูกเล่น ลูกฮา
สะกดผู้ฟังขาจร ขาประจำ แบบมันส์ถึงใจ
เขาถือเป็นคนแรกที่คิดวิธียิงสปอตโฆษณา
แบบใช้เกมสนุกๆ มาเล่นกับผู้ฟัง
เป็นการโปรโมตสินค้าที่เจ้าของ
สปอนเซอร์นิยมชมชอบเป็นอย่างดี
ชื่อเสียงยุทธนา บุญอ้อม เริ่มเป็นที่รู้จักของมวลชน
คนฟังวิทยุมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่เขาเป็น
คนที่ไม่ชอบเหมือนใคร เขาเล่าว่า
ลองหมุนคลื่นวิทยุฟังเพลงดูซิ เพลงไหนดัง
นักร้องไหนฮิต ก็จะเปิดกันแทบทุกคลื่น
แล้วทำไมต้องทำเหมือนกันล่ะ!
คลื่นเสียงของสไตล์ยุทธนาจึงมักมีเพลงใหม่
ประเภทใต้ดิน ใต้แผงเทป ถูกนำมาเสนอในรายการ
ความแปลกและแตกต่างในสไตล์ของเขา
เริ่มปรากฏเป็นสัญลักษณ์ในการจัดรายการ วิทยุ
พร้อมๆ กับการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมเพลงอินดี้
ยุทธนากลายเป็นสื่อกลางของแนวเพลงสไตล์ใหม่
จนใครๆ เรียกกันว่า “ป๋าเต็ดเจ้าพ่ออินดี้”
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของยุทธนาสู่ความเป็นผู้บริหารเต็มตัว
ภายหลังออกจากค่ายแกรมมี่มาก่อตั้ง
บริษัท คลิกเรดิโอ จำกัด ประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา
ยุทธนาอธิบายว่า ช่วงอยู่แกรมมี่เหมือน
อยู่ในโลกแห่งการเรียนรู้ เมื่อเดินออกมาทำ
บริษัทของตัวเองจึงเป็นช่วงชีวิตใหม่
ของจริง แบบทดสอบจริง 5 ปีของคลิกเรดิโอ
จากพนักงานไม่กี่คนในระยะเริ่มต้น
มาเป็นบริษัทที่มีพนักงานกว่าร้อยคน
เป็นความรับผิดชอบที่เขาบอกว่า
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในการทำธุรกิจเอง แม้ภารกิจของยุทธนา
ในความเป็นผู้บริหารตำแหน่งเอ็มดี
จะรับผิดชอบเพียงในด้านการผลิตรายการวิทยุ
ส่วนการบริหารด้านอื่นๆ จะให้หุ้นส่วนอื่นๆ ดูแล
แต่เขาก็ค้นพบว่า โลกความจริงในการทำธุรกิจเองนั้น
ต้องฟันฝ่าอุปสรรค และยอมรับความจริงบางอย่างด้วย
ความจริงที่เขาว่านั้น คือ สูตรการสร้างแนว
จัดรายการวิทยุแบบบ้าบิ่นของเขาที่เคยทำแบบไม่ลืมหูลืมตา
เริ่มไม่สอดรับกับตลาดนักฟัง แม้เขาบอกว่า
เป็นเครื่องหมายการค้าที่ของทำธุรกิจวิทยุ
แต่เขาเรียนรู้ว่า สูตรนี้ใช้ไม่ได้เพรียวๆ
นักกับตลาดวิทยุในช่วงนี้ * เส้นกลางระหว่าง บ้า
และความจริง สูตรของการทำธุรกิจวิทยุมีสองส่วนใหญ่ๆ คือ
กลุ่มคนฟัง + คนซื้อโฆษณา เขายอมรับว่า
แฟตเรดิโอ 104.5 เคยบ้าบิ่นถึงขั้นเปิดเพลงแต่นอกกระแส
แทบจะไม่สนใจเพลงแนวตลาดหรือแนวป๊อปเลย
ผลที่เกิดขึ้น คือแม้จะมีคนฟัง
แต่ก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ
ขณะนี้เอเยนซี่เริ่มหดหายไปจากคลื่น
ด้วยเหตุผลที่ไม่มีเพลงแนวตลาด
ซึ่งมีฐานกลุ่มคนมากกว่า ยุทธนาเล่าว่า
วันหนึ่งเขาเคยไปนั่งกินข้าวกับลูกน้อง
และพบว่ามีเพลงป๊อปใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย
ซึ่งเขาก็ถามกับลูกน้องว่า นี่เพลงอะไร ของใคร
วันนั้นเป็นวันที่เขาบอกตัวเองว่า เขามีโลกที่แคบมาก
มัวแต่นั่งทำงานอยู่ที่บริษัท แทบจะไม่รู้เลยว่า
โลกภายนอกทำอะไร ไปถึงไหนกันแล้ว
เขาตัดสินใจว่าจ้างบริษัทวิจัยทางการตลาดเข้ามาวิเคราะห์
และหาแนวทางที่ถูกที่ควรในการสร้างธุรกิจ
เพื่อเป็นฐานข้อมูล ซึ่งเขาเองค้นพบว่า
คำตอบที่ทำให้ความถนัดกับกระแสการตลาดเข้าด้วยกันได้
คือ ต้องหาเส้นกลางระหว่างความบ้าบิ่น
กับความจริง ให้ได้ “ความบ้าบิ่น คือ ความถนัด แนวแปลกที่เราถนัด
ส่วนความจริงคือเราต้องให้ความสำคัญกับ
แนวเพลงการตลาดด้วยกัน
ถ้าจะให้ได้ผลต้องอยู่ในสัดส่วน 50 ต่อ 50”
เส้นตรงกลางที่เขาว่านั้น หมายถึง
ทิศทางของแฟตเรดิโอ 104.5 ต้องทำให้ได้ตามสูตรนี้
แต่ใช่ว่าจะเป็นสูตรสำเร็จ เขาบอกว่า
เป็นเพียงตำราพิชัยยุทธ์บทใหม่ในช่วงนี้เท่านั้น
* สิ่งที่ท้าทายที่สุด นอกจากการบริหารคลื่นวิทยุ
ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเขา
ยุทธนายังทำหนังสือ DDT
เป็นนิตยสารแนวเพลงสไตล์ของเขา
ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร
เขาบอกว่า โชคดีที่กองบรรณาธิการของเขาแข็งแรงมาก
พอที่จะทำให้เขาไม่หนักใจอะไร ทีมงานประมาณ 7 ชีวิต
ล้วนเป็นผู้ทำงานแทนเขาได้ และเขาแทบจะไม่ต้อง
เข้ามาตรวจต้นฉบับอะไรมากนัก
ปล่อยให้ทุกคนทำตามภาระหน้าที่
เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อคุณมีคนที่คุณไว้ใจแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องบ้ากับงานชิ้นนี้มาก
อีกธุรกิจหนึ่งที่เขาทำ คือ การเป็นหุ้นส่วนของโรงหนังเล็กๆ
ชื่อ House เป็นโรงฉายสำหรับหนังดี หนังด้อยโอกาส
หรือบางคนเรียกว่าหนังนอกกระแส ที่ไม่มีโอกาสเข้าโรงใหญ่
ธุรกิจเช่นนี้เขาบอกว่า ไม่ห่วงเช่นกัน เพราะมีหุ้นส่วนดีๆ
เช่น ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ ลูกสาวของเสี่ยเจีย
สหมงคลฟิล์ม มี พงศ์นรินทร์ อุลิศ เพื่อนร่วมงาน
สมัย เอ-ไทม์ มีเดีย คอยช่วยกันคนไม้คนละมือ
ถ้าให้เขาเปรียบงาน 3 อย่างที่เขาทำ ได้แก่
บริหารรายการวิทยุ ทำหนังสือ และบริหารโรงหนัง
ว่าสิ่งใดยากและท้าทายสุด เขากล่าวแบบไม่ต้องคิดมากเลยว่า
การบริหารคลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด
ท้าทายที่สุด ในยุคการบริหารงานของเขา
Did you know? คลังความรู้ของ “ป๋าเต็ด”
ป๋าเต็ดบอกว่า เขาเป็นชอบหนัง เพลง หนังสือ
และทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาชอบถูกสะสมเก็บไว้ที่บ้านของเขา
บ้านของเขามีโฮมเธียเตอร์ขนาดใหญ่ที่
สนองความสุขของเขาได้ตลอดเวลา
ทุกๆ วันนอกจากงานประจำที่คลิกเรดิโอ
ป๋าเต็ดยังต้องเดินสายไปตามงาน event ต่างๆ
ที่เขาเชิญมาและการออกงานบางแห่งทำให้เขา
มีโอกาสเดินเตร็ดเตร่ไปตามสถานที่ จำหน่ายเพลง
หนังสือ และซีดี ซึ่งเป็นแหล่งที่เขาชอบไป
ที่ไหนมี ถ้าผ่านไป เขาจะต้องไปเยี่ยมเยียน
บุคลิกของป๋าเต็ด เป็นนักคิด มีมุมมองใหม่ๆ ตลอดเวลา
เขาไม่ชอบความจำเจนัก ทำให้เซลล์สมอง
ส่วนความคิดของเขาทำงานตลอดเวลา ป๋าเต็ดบอกว่า
เวลาเขาเดินไปไหนมาไหน หรือแม้แต่ตอนนอน
อาการบ้าคิดของเขาทำงานเสมอ
และบางครั้งยังเกินความพอดีด้วย
วันว่างวันนี้ของเขา นอกจากงานและงาน
เขาบอกว่า สิ่งที่ผ่อนคลายที่สุดคือการเล่นกับ
ลูกสาววัย 7 ขวบ และการอยู่บ้านของเขา
คือการบริหารคลังความรู้ของเขาที่ดีเยี่ยม
Profile
Name: ยุทธนา บุญอ้อม
Age: 38 ปี
Education: นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เรียนไม่จบ)
Career Highlights: - ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลิก เรดิโอ จำกัด
และบรรณาธิการนิตยสาร DDT นิตยสารแนวเพลง
รวมทั้งมีหุ้นส่วนก่อตั้งโรงภาพยนตร์ House ตั้งอยู่อาร์ซีเอ
- 2542 จัดรายการวิทยุ และ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต บริษัท คลิก เรดิโอ จำกัด
- 2541 จัดรายการวิทยุ และ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต บริษัท บีเอ็นที จำกัด
- 2537 จัดรายการวิทยุ และ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต บริษัท A-TIME MEDIA
- 2535 จัดรายการวิทยุ และ ครีเอทีฟ บริษัท A-TIME MEDIA
- 2534 จัดรายการวิทยุ บริษัท A-TIME MEDIA
- 2533 CO PRODUCER รายการโทรทัศน์แกรมมี่
- 2532 ครีเอทีฟ บริษัท แว่วหวาน จัดรายการวิทยุ รายการแว่วหวาน
- 2531 ฝึกงานแผนกคอนเสิร์ต บริษัท แกรมมี่
Family: แต่งงานแล้ว มีบุตรสาว 1 คน อายุ 7 ขวบ













Sep 29, 2009

HAMBURGER ฉบับที่ 107 ประจำเดือนพฤษภาคม 2550

HAMBURGER
นิตยสารไลฟ์สไตล์บันเทิงเชิงสาระรายเดือน
ฉบับที่ 107 ประจำเดือนพฤษภาคม
ปก วรัทยา นิลคูหา


Interview นิติพงษ์ ห่อนาค นักเขียนเพลงระดับผู้บริหาร
เปิดโอกาส...เปิดใจพูดคุยกับเราอย่างเต็มอิ่ม
เกี่ยวกับความคิด...การใช้ชีวิต...

งานเขียนและงานคอนเสิ
ร์ตที่ใกล้จะคลอด

นิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์ ฉบับเดือน พฤษภาคม 2550
เสนอบทสัมภาษณ์ พี่ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงมือหนึ่ง
รวมถึงเป็นขุนพลเพลงมือหนึ่งของประเทศไทย
รวมถึงของ บริษัท GMM GRAMMY










>
Boyd Kosiyabong


























นรุตม์ เด็กหนุ่มวัย 19 ผู้ต่อสู้กับมะเร็งที่กระดูกเชิงกราน


น้องรุต หรือนาย นรุตม์ มงคลศิริภัทรา อายุ 19 ปี
เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 เป็นคนจันทบุรี
สมัยประถมเรียนที่ ร.ร. สฤดิเดช จ.จันทบุรี
มัธยมต้นเรียนที่ ร.ร. เบญจมราชูทิศ จ.จันทบุรี
พอมัธยมปลายสอบติดที่ ร.ร. เตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ
ด้วยน้องรุตเป็นเด็กขยัน เรียนเก่ง
และยังชอบร่วมกิจกรรมต่างๆ กับทางโรงเรียน

น้องรุตเค้าชอบตี กลองมากๆ เริ่มหัดตีกลองตั้งแต่ ป.3
ตอนเรียนก็จะอยู่วงดุริยางค์ของโรงเรียนมาโดยตลอด
อีกทั้งยังเป็นมือกลองของโรงเรียนเตรียมอุดมอีกด้วย
เพราะด้วยความที่น้องรุตเป็นเด็กขยัน
และตั้งใจเรียนมาโดยตลอดเลยเอนทรานซ์ติดที่
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่น้องรุตยังไม่มีโอกาสได้ใส่ชุดนิสิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลย
ด้วยเหตุจากน้องมักมีอาการปวดขาเลย
มาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก็พบก้อน
บริเวณ สะโพกขนาด 14 ซม.
และพบว่าเป็น “มะเร็งที่กระดูกเชิงกราน”
หรือEwing’s Sarcoma ระยะที่ 2
โดยหลังจากตรวจพบโรคร้ายดังกล่าว
น้องรุต จึงต้องทำการมอบตัว
และรายงานตัวที่โรงพยาบาลแทน
และได้ Drop เรียน และ
รักษาสภาพนักศึกษาเอาไว้
เลยยังไม่ได้มีโอกาสไป
เรียนมหาวิทยาลัยตามที่ตั้งใจเอาไว้
ตอนนี้
น้องรุตรับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช
และได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากคณะแพทย์
และพยาบาลทุกท่าน
โดยคุณหมอเจ้าของไข้ของน้อง
คือ อ.จันทนรัศมิ์ จันทนยิ่งยง
ซึ่งน้องรุตได้ให้คีโมมาแล้ว 3 คอร์ส
และฉายแสงมาแล้วถึง 31 ครั้ง
แต่ก็ตอบสนองไม่ดีเท่าที่ควร
เพราะตัวก้อนยังคงโตขึ้นอีกประมาณ 30%
และตอนนี้น้องไม่สามารถเดินได้แล้ว
ได้แต่นอนบนเตียงอย่างเดียว
แต่น้องเค้าก็ไม่เคยท้อแท้
หรือหมดกำลังใจ
แต่ยังมุ่งมั่นเพื่อโอกาสที่จะหาย
และได้กลับไปเรียนที่จุฬาตามที่ตั้งใจไว้

อาการ update ล่าสุด โดย จากเดิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา
น้องรุตต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่
คือการตัดกระดูกเชิงกรานออก
และตัดกระดูกที่ท่อนขาประมาณ 2 นิ้ว
มารองกระดูกสันหลังแทน
อีกทั้งยังต้องย้ายลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะออกมาไว้
เป็นกระเป๋าด้านหน้าอีกด้วย
และหลังจากการผ่าตัดเสร็จจะให้คีโมต่ออีก 3 คอร์ส
ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกเพียงไม่กี่ทางที่
น้องรุตม์จะมีโอกาสได้กลับมาเรียน อีกครั้ง
แต่เส้นทางแห่งความหวังดังกล่าว
ก็ต้องเลือนลางลงไปอีก
เมื่อคุณหมอได้ตรวจพบว่า
เซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปที่ปอดแล้ว
ทำให้ระยะของโรคเพิ่มขึ้น
จึงยังไม่สามารถทำการผ่าตัดได้!!!
คุณหมอจึงต้องเปลี่ยนแผนการรักษาใหม่จากการผ่าตัด
เป็นการให้เคมีบำบัดแทน ซึ่งความโชคร้ายของน้องรุตม์
ก็ยังมีประดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะ 2 วันก่อนที่
น้องรุตม์จะได้รับยาเคมีบำบัดนั้น
ปอดของน้องมีอาการติดเชื้อ
คุณหมอจึงต้องให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อดังกล่าวไปก่อน
จนกว่าอาการติดเชื้อจะดี ขึ้น
ดังนั้นจึงต้องทำการเลื่อน
การให้เคมีบำบัดออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ซึ่งตอนนี้น้องรุตม์ก็มีอาการเหนื่อยหอบมาก
และต้องใส่ออกซิเจนตลอดเวลาเลย
แม้กระทั่งเวลากินข้าว แค่ดูดน้ำก็ยังเหนื่อยเลย
ซึ่งตอนนี้ก็ได้แต่ภาวนาว่า
ขอให้อาการติดเชื้อของน้องรุตม์ดีขึ้น
และหายโดยเร็ว เพื่อที่จะได้
เริ่มการรักษาด้วยเคมีบำบัดเสียที

น้องรุตม์เป็นเด็กน่ารัก นิสัยดี เป็นที่รักของทุกๆ คน
และที่สำคัยน้องเค้าเป็นคนเข้มแข็ง
และกำลังใจดีมากๆ มากพอทีจะ
เผื่อแผ่คนรอบๆ ข้างตลอดเวลา
จึงอยากจะให้ทุกๆ คนช่วยกันให้กำลังน้องรุตม์
หรือ ถ้าใครจะไปเยี่ยม และไปให้กำลังใจน้องรุต
ที่โรงพยาบาลศิริราชก็ได้
น้องเค้าก็อยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 10 ใต้
“นายนรุตม์ มงคลศิริภัทรา” เพราะเชื่อจริงๆ ว่าทุกน้ำใจ
และกำลังใจจากทุกๆ ท่าน จะสามารถเติมเต็มความสุข
และความเข้มแข็งให้กับน้องรุตได้ เพื่อให้มีกำลังใจ
ในการต่อสู้กับโรคมะเร็งร้ายนี้ได้ต่อไป

และนี่คือจดหมายของพ่อที่ได้
บรรยายความรักของพ่อที่มีต่อนรุตม์

นรุตม์
...พ่อครับ รุตม์ปวด

...พ่อครับ
รุตม์ทนไม่ไหวแล้ว

...พ่อครับ รุตม์กลัว

เป็นเสียงร้องของนรุตม์ยามปวด
ซึ่งเป็นเสียงที่ทรมานใจพ่อมาก

อาทิตย์นี้ทั้งอาทิตย์นรุตม์ปวดมาก
ทรมานมาก
พ่อจะช่วยลูกได้อย่างไร
จะทำยังไง พ่อช่วยอะไรลูกไม่ได้เลย

มันเป็นความเจ็บปวดทรมานใจมาก

ที่ไม่สามารถช่วย หรือทำอะไรได้เลย

พ่อร้องไห้ทุกวัน แต่ไม่เคยให้ลูกได้เห็นน้ำตาพ่อ

พ่อได้แต่ปลอบและให้กำลังใจแก่นรุตม์

ทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไร เป็นยังไง
เกี่ยวกับตัวโรคที่นรุตม์เป็นอยู่

แต่ละวันที่ผ่านไปหัวใจของพ่อที่เคยพองโต

ด้วยความรักของพ่อที่มีต่อลูก
มันเหลือเพียงนิดเดียว

พ่อรอวันที่มันจะกลับมาเหมือนเดิม
จากพ่อที่รักลูกสุดชีวิตเช้าวันนี้ (21 พฤศจิกายน 2551)
น้องหนู รัตนากร วิทยานนท์ ได้โทรมาแจ้งข่าวว่า

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต... น้องรุตม์ ได้รับฟังเทศน์
จาก ท่าน ว.วชิรเมธี
เป็นเวลา 1 ชั่วโมงผ่านทางโทรศัพท์
ซึ่งน้องรุตม์
ก็ได้ฝากขอบพระคุณ ท่าน มาไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ก่อนที่น้องจะจากโลกนี้ไป ในเวลา 6.50 น. อย่างสงบ



Sep 28, 2009

เชาวน์ปัญญาและวุฒิภาวะ


นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

เมื่อพ่อแม่เริ่มจะสร้างครอบครัวและมีบุตรย่อมปรารถนาที่จะให้บุตร
เป็นคนดี มีวิชาความรู้ มีอาชีพ ดูแลตนเองได้ มีความก้าวหน้าในชีวิต
อันจะนำไปสู่ความมีชื่อเสียง มีการงานระดับสูงและก่อรายได้พอเพียง
ท่านทราบหรือไม่ว่า ความปรารถนานี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ
บุตรของท่านจะต้องมีระดับเชาวน์ปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย
หรือสูงกว่า และจะต้องมีวุฒิภาวะ ทางอารมณ์และจิตใจ
อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยหรือมากกว่า
เชาวน์ปัญญา
ในด้านของเชาวน์ปัญญานั้นเป็นเรื่องของความสามารถ
ของสมองเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
เกี่ยวข้องกับอวัยวะอื่นๆ ทำงานสนับสนุนทั่วร่างกายประกอบกัน
ให้เกิดเป็นความสามารถของสมอง
แสดงออกในแง่ของเชาวน์ปัญญา ความฉลาด
ความสามารถในการเรียน การรู้ การจำ
การนำมาดัดแปลง คิดค้น จนนำมาปฏิบัติเป็นผลงาน
เป็นความก้าวหน้า และเป็นรายได้
เชาวน์ปัญญาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้

เรียกง่ายๆ เป็นที่เข้าใจกันว่า "ไอคิว" (Intelligence Quoteint)
เชาวน์ปัญญาหรือไอคิวนั้น สามารถทดสอบวัดระดับความสามารถของบุคคล
โดยเอาไปเปรียบเทียบกับคนกลุ่มที่มีลักษณะ และระดับอายุเดียวกัน
ว่ามีความสามารถแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด อยู่ในระดับต่ำ
หรือสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แปรผลออกมาเป็นคะแนน
ถ้าไอคิวมีคะแนนสูง เมื่อเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ยก็นับได้ว่าผู้นั้นมี
ระดับ เชาวน์ปัญญา สูง มีความสามารถในการเรียนการรู้
การพัฒนาความรู้ ความสามารถได้มากกว่า ซึ่งในเดิมๆ
ดูเหมือนจะแปรผลบัญญัติไตรยางค์โดยตรงกับการ "เรียนเก่ง"

ในโลกของความจริง ลูกๆ ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนตลอดชีวิต
ถึงเขาจะเรียนเก่งมากเพียงใดก็ตาม
ชีวิตในสถาบันการศึกษากับการดำรงชีวิตข้างนอก
ในสังคมที่มีความหลากหลายนั้นแตกต่างกันมาก
แตกต่างจนกระทั่ง กติกามารยาทที่เคยใช้เคยอยู่

ในขณะที่เป็นนักศึกษานั้น เมื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
อาจจะทำให้เกิดปัญหาคับข้องใจ แก่ผู้ใช้อย่างมากมายก็ได้

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเรียนเก่ง เรียนดี ย่อมมีความภาคภูมิใจ
ในตัวลูกคนนั้นมาก ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อแฝงอยู่ด้วยว่า
"ลูกคนนี้อนาคตต้องดี ต้องรุ่งโรจน์แน่
คงจะเป็นที่พึ่งของครอบครัวในวันข้างหน้า"
แต่ถ้าลองพิจารณาดูผู้คนในสังคมโดยเฉพาะ
คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วหลายๆ คนไม่ใช่เป็นเด็กเรียนดี
หรือเป็นเด็กเก่งในชั้นเลย แต่เขาประความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร
ในขณะที่เพื่อนคนที่เรียนดี ไอคิวสูงกับไม่ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต
บางคนอาจจะเรียกว่า ล้มเหลวด้วยซ้ำ คำตอบในเรื่องนี้
จึงเชื่อมโยงมาถึงความสำเร็จของ วุฒิภาวะ
ดังได้กล่าวแล้วว่าเรื่อง เชาวน์ปัญญาหรือไอคิว
เป็นเรื่องทางโครงสร้างของร่างกาย สมอง พันธุกรรม
แต่วุฒิภาวะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยการเลี้ยงดู ความรัก
ความอบอุ่นในครอบครัว การพร่ำสอน พร่ำอบรม
ของบุคคลแวดล้อม ตั้งแต่วัยทารกไปจนกระทั่งเติบใหญ่
วุฒิภาวะ
วุฒิภาวะที่กล่าวถึงนี้เรียกง่ายๆ เป็นที่เข้าใจกันว่า
อีคิว (Emotional Quotient)
ซึ่งปัจจุบันเราจะได้ยินคำนี้บ่อยขึ้นจากปัญหา อาชญากรรม
ที่เกิดขึ้นชุกชุมในสังคม จากเดิมที่คนทั่วไปเชื่อว่า

อาชญากรรมหรือผู้ร้าย มักจะเป็นคนยากจน
ขาดการศึกษาอบรม อันธพาล บ้านแตกมาจากเด็กเร่ร่อน จรจัด
แต่เมื่อสืบสาวลงไปแล้ว คดีที่ร้ายแรง หลายเรื่องที่
ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนนั้น
ผู้ก่อเหตุมีภูมิหลังที่ตรงข้ามจากที่คิดเอาไว้โดยสิ้นเชิง
หลายคนมีการศึกษาดีเยี่ยม จบการศึกษาในมหาวิทยาลัย
และคณะที่ดีเด่นอันดับต้นๆ ที่เด็กๆ ใฝ่ฝัน อยากจะเข้าเรียน
คนเหล่านี้มาจากครอบครัวร่ำรวย ไม่ได้ขาดแคลนอะไร
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นจึงทำให้สังคมตื่นตระหนกมาก
และหันกลับมาใคร่ครวญว่า เด็กที่สติปัญญาดี ไอคิวสูง
เรียนเก่งอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ ที่ทำให้คนหนึ่งเติบโต
ขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความสุขในอนาคต

ในต่างประเทศมีการวิจัยหลายเรื่องเกี่ยวกับ วุฒิภาวะทางอารมณ์
ทั้งในด้านที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็ก
โรงเรียนควรจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร
ความยืนยาวของชีวิตสมรส บริษัทต่างๆ
มีหลักการอะไรในการว่าจ้าง หรือรับรองบุคคลากรเข้าทำงาน เป็นต้น
การวิจัยหลายเรื่องเปิดเผยว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
หลายคนไม่ใช่คนเรียนหนังสือเก่งที่สุดในชั้น
ไอคิวเป็นองค์ประกอบหนึ่งในจำนวนหลายๆ อย่าง

ที่จะนำพาให้คนประสบความสำเร็จ และมีความสุขในชีวิต
อีคิวหรือวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีองค์ประกอบ รู้จักตนเอง
รู้ว่าตนเองเป็นใคร มาจากไหน ต้องการอะไรในชีวิต
ความสามารถในการจัดการควบคุมอารมณ์ตนเอง
มีวินัยสูง บังคับใจตนเองได้ รู้จักผิดชอบชั่วดี
มีความสามารถในการจัดการอารมณ์ของคนอื่น

คนที่มี EQ อีคิวสูงแสดงออกโดย เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดี
เข้ากับคนอื่นได้ รู้จักการทำงานเป็นทีม
สามารถสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นได้ และรักษาให้ยืนยาว
รู้จักเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความรู้สึกคนอื่นเป็นอย่างดี
เมื่อเกิดปัญหาในชีวิต รู้จักจัดการกับปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ไม่จมอยู่กับความเศร้านานเกินไป ไม่ท้อแท้ หรือท้อถอย
ความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นบางครั้งบางคราวได้
เมื่อพบกับปัญหาอุปสรรคในชีวิต
แต่สามารถหาทางออกให้กับตนเองได้ด้วยดี
โดยไม่ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น คือ
สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์นั่นเอง
รวมทั้งเป็นผู้มีความสามารถในการปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างดี
อีคิวอาจจะไม่มีความสัมพันธ์กับ ไอคิว หรือระดับความฉลาดเลย
ส่วนคนที่มี ไอคิวสูง แต่ล้มเหลวในชีวิต
เพราะมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำหรืออีคิวต่ำ ทำ ให้เขาไม่สามารถ
ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดี ไม่มีความอดทน
อดกลั้นต่อสถานการณ์ที่กดดันอยู่ รวมทั้งไม่เข้าใจความรู้สึก
ความต้องการของคนอื่น มุ่งแต่สนองความต้องการ ของตนเองเป็นใหญ่
โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งกันจึงเป็นไปได้สูงมาก
พูดจาสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ดี เพราะขาดทักษะ

บางครั้งไม่ได้เจตนาจะพูดร้าย พูดไม่ดี
แต่การสื่อสารบกพร่องก็ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้
เขาจึงไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
บางครั้งขาดความเชื่อมั่นตนเองไปเลย
จึงต้องอยู่ในโลกของตนเอง ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
ถึงแม้จะฉลาดก็ตาม
การเลี้ยงดูในวัยเด็กมีผลกระทบ
ต่อวุฒิภาวะทางอารมณ์มาก มนุษย์ตั้งแต่แรกคลอด
กว่าจะเติบโตจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ใช้เวลานานมาก
ในช่วงที่เขายังช่วยเหลือตนเองไม่ได้
โดยเฉพาะในวัยทารกและวัยเด็กนั้น
ชีวิตจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่มาก
จึงพบว่า คนที่ฉลาดไอคิวสูง แต่ล้มเหลวในชีวิตได้รับความกดดัน
จากครอบครัวมาแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นกรณี เด็กขาดรัก
ขาดความอบอุ่น หรือเป็นกรณีที่ เด็กล้นรักมากเกินไปจนไม่รู้จักตนเอง
ไม่รู้จักความต้องการ ของชีวิตด้วยตนเอง

ไม่มีความสามารถในการควบคุมตนเอง ขาดวินัย
ขาดการบังคับใจตนเอง ขาดความรู้จักผิดชอบชั่วดี
ต้องมีคนอื่นตัดสินใจให้เสมอ โตขึ้นจึงมีปมด้อย
ไม่มีความสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม
ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือตอบรับอารมณ์คนอื่น
ไม่มีอารมณ์ร่วมกับคนอื่นในครอบครัว ในสถานศึกษา
ในสถานที่ทำงาน ได้อย่างเหมาะสม อันนำไป
สู่ความล้มเหลวของชีวิต
ระดับไอคิวนั้นทดสอบได้เป็นตัวเลขเลย
แต่วุฒิภาวะอีคิวนั้นเป็นเรื่องของนามธรรม จับต้องได้ยาก
แต่เป็นเรื่องน่าสนใจในปัจจุบัน

ชีวิตหลังเสื้อกาวน์ของหมอสุรพงศ์
เรียนหมอไม่เก่งก็เป็นหมอได้
เจ้าของสถิติรายการทีวีออนแอร์ยาวนานที่สุด

ทำความรู้จักกับ ตัวตนของ
"นายแพทย์ สุรพงศ์ อำพันวงษ์"

ตั้งแต่ความเป็นมาในชีวิตนับจากเด็กจนโต
จนจับพลับจับผลูมาเรียนหมอและได้เป็นหมอ
ได้ทำรายการทีวี "ปัญหาชีวิตและสุขภาพ"
ซึ่งเป็นรายการที่ได้รับการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง
และยาวนานถึง 32 ปี จนเป็น
รายการที่มีอายุยาวนานที่สุดที่
ยังไม่มีรายการไหนลบสถิติ ได้เดินทางไปต่างประเทศ
ทั้งงานราษฎร์
งานหลวงมาค่อนโลก
และยังช่วยงานสังคม งานกุศลอีกเป็นร้อยงาน
หากคุณมองเขาเป็นเพียงแพทย์ที่เคร่งขรึม
คงแก่วิชา เพราะหนวดเคราครึ้มใส่แว่นหนา
เตอะแล้วล่ะก็ หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนคิดนั้นของคุณ!





ให้ข้อคิดและกำลังใจโดย ดร.วีระชัย โกแวร์

บทความพิเศษ



ชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจต่างก็เรียกร้องหาความสงบ
และผ่อนคลาย แต่สังคมยุคโลกาภิวัตร ยุค Hi-Tech
เป็นสังคมแห่งการแข่งขันจะทำอะไรต้องรีบ
เวลากลางวันเป็นเวลาทำงานตามปกติ
โดยทั่วไปคนเราทำงานวันละประมาณ 8 ชั่วโมง
และภาคค่ำเป็นเวลาแห่งการพักผ่อน
เราใช้เวลา นอนไม่ควรต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมงเช่นกัน
แต่ความบีบคั้นที่เกิดจากการแข่งขันคนเราต้องทำงานมากขึ้น
ใช้เวลาพักผ่อนน้อยลง เวลาที่ให้กับการสันทนาการปฏิสัมพันธ์
ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และ ระหว่างคนรอบข้างก็น้อยลงไป
ชีวิตจึงเครียดทั้งกายและใจ ฉะนั้นหลายคนหาทางคลายเครียดด้วย
วิธีต่างๆ เช่น ให้เวลากับความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ
บ้างก็พึ่งพาสิ่งมึนเมา ยาเสพติดเพื่อคลายเครียด
การแข่งขันนอกจากสร้างความเครียดแล้วยัง
สร้างความวิตกกังวลซึ่งเพิ่มความ
เครียดเป็นทวีคูณ
ชีวิตสังคมยุคนี้มองไปทางไหนก็เห็นแต่ภาพแห่ง
ความรีบเร่ง ลูกเล็กเด็กแดงก็พลอยเป็น
เหยื่อของความเร่งรีบกับเขาด้วย
พวกเขาต้องถูกปลุกให้ตื่นแต่เช้ารีบตามพ่อ-แม่
ผมเห็นเด็กบางคน ไม่มีเวลาพอที่จะรับประทานอาหาร
ที่บ้านต้องรับประทานในรถขณะเดินทาง

ความเครียดที่เกิดจากความเร่งรีบส่งผลทางลบต่อชีวิตอย่างมากมาย
เริ่มจากความ ผิดปกติใน ร่างกาย ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิด
ต่อมาความผิดปกติทางประสาท และนำไปสู่โรคจิต
โรคประสาท เช่น โรคซึมเศร้า ประสาทหลอน
และในที่สุดกลายเป็นคนวิกลจริต
ปัญหาสังคมที่เราเห็น
อยู่ทุกวันนี้ การแสดงออกของวัยรุ่นที่เราไม่เคยคาดคิด
ไม่มีใคร ปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเครียด
เขาทำเพื่อความสะใจและคลายเครียดทางอารมณ์
จนขาดจิตสำนึกว่าผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับตน
ครอบครัว และสังคม จะเป็นอย่างไร

ในเวลาเช่นนี้แต่ละคนควรตระหนักและมีสติ
หยุดคิดสักนิดใช้การสังเกตสักหน่อย
ถ้าจะเปรียบกับตัวเองขณะนี้ขับรถด้วยความเร็วสูง
กำลังเหยียบคันเร่งอย่างแรง
จงมีสติและค่อยๆ ผ่อน คันเร่งลง
ให้รถวิ่งช้าลง การลดความเร่งรีบจะลดความเครียด
ในเวลานั้นเราจะมีโอกาสได้เห็นบางอย่าง
และได้พบความงามของชีวิตที่ไม่เคยมอง เห็น
เช่นเดียวกันกับเมื่อเราชะลอความเร็วของรถเราสักหน่อย
ก็จะเห็นความงามของ ธรรมชาติล้อมรอบตัวเรา

วิธีที่จะช่วยให้ความเครียดจากความเร่งรีบ ค่อยๆ ผ่อนคลาย
แต่ละคนควรเรียนรู้ที่ จะไปหาความสงัดของธรรมชาติ
การเข้าหาความสงัดในธรรมชาติไม่ใช่การหนีชีวิตหรือเป็นคนว้าเหว่
แต่เกิด จากความตั้งใจของเราเพื่อให้ชีวิตมีความสงบ
จะเรียกว่าธรรมบำบัดคงจะไม่ผิด
ผู้นำศาสนาสำคัญๆ เช่น
พระพุทธเจ้าก็ได้พบธรรมในความสงัดท่ามกลางธรรมชาติ
พระเยซู คริสต์พระองค์ปลีกเวลาและแยกพระองค์เอง
จากฝูงชนไปในที่สงัดหลายครั้ง โมเสสใช้เวลา 40 วัน 40 คืน
ในที่สงัดกับธรรมชาติในการติดต่อกับพระเจ้า

ฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้ชีวิตเกิดอุบัติเหตุ
อยากให้ร่างกายมีสุขภาพดี อยากให้ความคิดโปร่งใส
มองเห็นธรรม มองเห็นความจริงและรายละเอียดของชีวิต
และอยากให้ครอบครัวและสังคม มีความสงบสุข
ขอให้จัดตารางเวลาหาที่สงัดเข้าหาธรรมชาติอันงดงาม
ที่พระเจ้าทรงประทานให้ เราจะพบว่าในธรรมชาติแท้จริง
เช่นมหาวิทยาลัยชีวิต
ถ้าท่านรักชีวิต
ทั้งของตนเองและผู้อื่นจงลดความเร่งรีบ
และหาที่สงบมองดูชีวิตให้ดีว่ากำลัง ไปทางไหน
เพื่ออะไรถูกทางจริงๆ หรือไม่
จงไปหาที่สงัดและช่วยให้ใจสงบ






Sep 27, 2009

สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ

คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
หนุ่มเมืองจันท์







มีชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง ของ น.พ.เทอดศักดิ์ เดชคง
ที่ผมชอบมาก
“สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ" เป็นหนังสือแนวจิตวิทยาที่สอนคน
ให้มองโลกในแง่ดีและมีความสุข ในภาวะที่
"น้ำมันแพง-ดอกเบี้ยสูง-การเมืองสับสน"
ที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นมรสุมระลอกใหญ่ที่ทำให้
เศรษฐกิจไทยเกิดภาวะกระตุก
ผมนึกถึงชื่อหนังสือของหมอเทอดศักดิ์ขึ้น มาทันที
“สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ" ในวันนี้การสร้าง "กำลังใจ"
เพื่อเดินหน้าต่อไป เป็นเรื่องสำคัญมาก
ถ้ามัวคิดว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเลวร้าย
และเสียเวลากับการตั้งคำถามในทำนอง
ที่ว่าถ้าทำอย่างนี้ ปัญหาคงไม่เกิด
ถ้าทำอย่างนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคงจะดีกว่านี้
เสียเวลากับ "อดีต" มากกว่า "ปัจจุบัน" และ "อนาคต"
แต่หลักคิดที่ว่า "สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ"




เป็นหลักคิดเพื่อไม่ให้เราเสียเวลากับ การฟื้นฝอยหาตะเข็บมากเกินไป
เดินหน้าสู่อนาคตดีกว่า เหมือนที่ "อนันต์ อัศวโภคิน" แห่งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
บอกหลักคิดในเรื่องที่ดินกับเพื่อนร่วมงานเสมอ "ที่ดินแปลงไหนที่เราซื้อแล้ว ดีเสมอ"
คือ ถ้าซื้อแพงกว่าคู่แข่ง เราก็ไม่สามารถย้อนหลังกลับไปต่อราคาใหม่ได้
หรือพอซื้อไปแล้ว หน่วยงานรัฐ กลับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเป็นแบบ "วันเวย์"
เราก็จะเปลี่ยนให้เป็น "ทูเวย์" ก็ไม่ได้ การคิดแบบทำร้ายตัวเองด้วยการบอกตัวเองว่า
"ไม่น่าซื้อที่ดินแปลงนี้เลย" คิดแบบนี้ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น
สู้คิดแบบมองไปข้างหน้า ทำให้ที่ดินแปลงนี้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด
ทำให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ "เงื่อนไข"หรือ "ปัจจัย"
บางอย่างเป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุม อย่างเช่น ราคาน้ำมัน
หรืออัตราดอกเบี้ยของแบงก์ ที่เราไปกำหนดอะไรไม่ได้เลย เวลาที่เอาไปคิดว่า
ทำไมน้ำมันถึงขึ้นราคา ทำอย่างไรให้ราคาน้ำมันลดลง
สู้นำเวลานั้นไปคิดว่าทำอย่างไรให้ ต้นทุนการขนส่งเราเพิ่มขึ้นให้น้อยที่สุด
หรือคิดในเกม "ลดต้นทุน" ไม่ได้ก็ต้องคิดในเกม "เพิ่มรายได้"

ทำอย่างไรจะเพิ่มรายได้ ให้มากกว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
ในการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นเกมชีวิต หรือเกมเศรษฐกิจ
"ขวัญ" และ "กำลังใจ" เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เคยได้ยินหลัก "6 ไม่"
ของคุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ของ "ไอซีซี" ในเครือสหพัฒน์ไหมครับ

"ไม่เหนื่อย ไม่กลัว ไม่ท้อ ไม่มีปัญหา ไม่ยาก ไม่เครียด" หลัก "6 ไม่"
เกิดขึ้นตอนวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ตอนนั้นมีแต่ "ข่าวร้าย"
เต็มบ้านเต็มเมือง คุณบุญเกียรติจึงใช้การ "สั่งจิตใต้สำนึก"
ด้วยหลัก "6 ไม่" บอกตัวเองเป็นประจำ บอกลูกน้องตลอดเวลา
ให้คิดทุกเรื่องในทางบวก งานหนักก็ไม่เหนื่อย งานยากก็ไม่กลัว
และไม่ท้อ งานมีอุปสรรคมากมาย ก็คิดว่าไม่มีปัญหา ไม่ยาก
ที่สำคัญ คือ ต้องไม่เครียด เรื่องนี้สำคัญนะครับ ผมเชื่อเสมอว่า
"เราคือสิ่งแวดล้อมของคนอื่น" ใครก็ตามที่มีนิสัย "ขี้วีน" หรือ
"หน้าตาบอกบุญไม่รับ" และคิดเสมอว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา
ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น คนนั้นคิดผิด เพราะรังสีอำมหิตของเราจะแผ่กระจาย
ให้คนรอบข้างที่สัมผัสรู้สึกได้ และก่อให้เกิดบรรยากาศที่อึดอัดในที่ทำงาน
ดังนั้น ถ้าเจ้านายระดับสูงสุดอย่าง "บุญเกียรติ" สั่งจิตตัวเองให้ "
ไม่เครียด" ลูกน้องย่อมทำงานอย่างสบายใจ ด้วยความเชื่อในหลักจิตวิทยาแบบ
"คิดทางบวก" นี้เอง ทำให้เวลาใครถามคุณบุญเกียรติ ว่าทำอย่างไร "ไอซีซี"
จึงฝ่าวิกฤตปี 2540 มาได้ หนึ่งในคำตอบของ "บุญเกียรติ" ก็คือ หลัก "6 ไม่"
อย่าลืมนะครับ ... ไม่เหนื่อย ไม่กลัว ไม่ท้อ ไม่มีปัญหา ไม่ยาก ไม่เครียด
...ที่ดินแปลงไหนที่เราซื้อแล้ว ดีเสมอ และ...
สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ




เรื่อง สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดีเสมอ
ผู้แต่ง ายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง
สำนักพิมพ์ มติชน





เป็นหนังสือรวมบทความเพื่อการดูแลและพัฒนาจิตใจ ของนายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง
แห่งสำนักพัฒนาสุขภาพจิต ทำขึ้นเพื่อการมองโลกอย่างสดใส
มองทุกสิ่งทุกประสบการณ์อย่างเป็นประโยชน์
ได้รวบรวมทัศนคติการมองโลกด้านบวกจากกรณีต่างๆ
ให้แง่คิดการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข โดยยึดเอาบทเรียนที่เกิดขึ้น
ไม่อาจหลีกเลี่ยงให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจ
เรื่องราวที่ยกเป็นตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้เป็นกรณีศึกษา
สามารถนำไปดัดแปลง เรื่องบางเรื่องอาจจะหนักหนาสาหัสกับชีวิต
ยากจะทำใจได้ แต่ถ้าใช้สติปัญญาทลายกำแพง
มองโลกด้านลบให้คุณ หามุมมองดีๆจากเรื่องที่เลวร้ายที่สุดของเรื่องนั้น
เราจะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เลวร้ายสุดขั้ว ยังมีประโยชน์เจือปนอยู่
การแก้ปมปัญหา ย่อมทำให้คนเราไม่ย่อท้อหรือหวาดกลัว
กับการเผชิญหน้าอุปสรรค ทั้งปวง.... ที่สำคัญ......
เราอยากจะลองยอมรับความจริงหรือเปล่า
ถ้าเลือกจะมีความสุขหรือเลือกสิ่งที่มีประโยชน์
กับตนเองสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมดีเสมอ

Sep 26, 2009

สมคิด เลิศไพฑูรย์ ผู้ชายคิดบวก

สกุณา ประยูรศุข
มติชน
วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ไม่ต้องสาธยายประวัติให้มากความ สำหรับผู้ชายคนนี้ "สมคิด เลิศไพฑูรย์"
เพราะชื่อเสียงรู้จักกันดีในฐานะ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550
ปัจจุบันเป็น "คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" "สมคิด"
พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ บ้านอยู่ฝั่งธนบุรี ย่านบุคคโล
อาชีพของครอบครัวแต่เดิม พ่อเป็นช่างไฟฟ้าชื่อ "ห้าว" เสียชีวิตไปแล้ว
ส่วนแม่ชื่อ"ถวิล" ค้าขายเสื้อผ้าในตลาดสมัยโน้น
ทั้งพ่อและแม่เป็นคนจีน นามสกุล "แซ่เล" แต่สมคิดกลับใช้นามสกุล "เลิศไพฑูรย์"
เพราะเป็นผู้ตั้งตระกูลนี้ขึ้นมาเอง โดยมีน้าชายแท้ๆ-คำรณ บุญเชิด
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ตั้งให้
สมคิด เกิดวันที่ 9 กรกฎาคม 2502
ปัจจุบันอายุ 50 ปีแต่งงานแล้วกับภรรยาชาวมุสลิมชื่อ "ฉัตรแก้ว"
มีลูกชายฝาแฝดสองคน "ฐากร" กับ "ฐากูร" แปลว่าพระเจ้า
ชื่อของลูกชายทั้งสองได้ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนตั้งให้ เรียนจบมัธยมจาก
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
จบเนติบัณฑิตไทย ปี 2527 จากนั้นไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส 2 ประเทศฝรั่งเศส
จนจบปริญญาเอกกฎหมายมหาชน ประสบการณ์พอหอมปากหอมคอ
เคยเป็น ผู้ช่วยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการสถาบันพระปกเกล้า
กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังเป็น อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาฯ เกษตรศาสตร์
รามคำแหง โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ
วิทยาลัยรัตนบัณฑิต ฯลฯ "เดือนพฤษภาคม 2552
ชื่อของ "สมคิด เลิศไพฑูรย์" เป็นหนึ่งในแคนดิเดต
อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" สนใจเรียนกฎหมายมาตั้งแต่ต้น?
ไม่รู้จะพูดไงดี มันจับพลัดจับผลู ผมไม่ได้ตั้งใจเลือกเรียนนิติศาสตร์
ใจผมคือว่าสมัยก่อนผมเรียนโรงเรียนเตรียมอุดม
เป็นนักเรียนเรียนดีพอสมควร แม่ก็อยากให้เป็นหมอ
แต่ผมไม่ค่อยชอบเพราะคะแนนชีววิทยาผมไม่ค่อยดี
ก็เลยไม่เลือกหมอ แต่แม่ก็ไม่โกรธนะ แม่ตามใจเพราะเราเรียนดี
ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลือกคณะวิศวะ จุฬาฯ อันดับหนึ่ง
แต่ก็ไม่ได้สนใจมาก ที่เหลือเลือกธรรมศาสตร์หมดเลย
เผอิญว่าพี่สาวอยู่ธรรมศาสตร์ และตัวเองสนใจทางการเมือง
เห็นว่าธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำเพื่อส่วนรวม
เลยตั้งใจเลือกนิติศาสตร์อันดับ 2 บัญชี ธรรมศาสตร์ อันดับ 3
บรรยากาศในมหาวิทยาลัยสมัยนั้นเป็นยังไง?
ช่วงนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เป็นนายกรัฐมนตรี มีการชุมนุมประท้วงเยอะมาก
การประท้วงใหญ่คือ ตอนที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์
ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน แล้วตอนนั้นมันหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาใหม่ๆ
รัฐบาลเผด็จการพยายามขัดขวาง ไม่ให้นักศึกษาอ่านหนังสือพิมพ์
บรรยากาศเป็นแบบนั้น พวกเรา และรุ่นพี่ก็พยายามจะต่อสู้เรื่องพวกนี้กัน
ตัวผมเองตอนเข้าไปช่วงแรกไปทำกิจกรรมอยู่กับ อมธ.
(องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
และอยู่สภานักศึกษา ผมเข้าเรียนปี 2521
รุ่นเดียวกับผมก็มี อธิการบดีสุรพล นิติไกรพจน์,
อภิชาติ ดำดี, วสันต์ ภัยหลีกลี้ รวมถึงวิฑูรย์ นามบุตร,
นพดล ปัทมะ, อัญชลี วานิช เทพบุตร ตอนนั้น นายก อมธ.
คือบุญสม อัครธรรมกุล ผมอยู่พรรคแสงธรรม
ตอนทำกิจกรรมได้ความรู้เยอะ
แต่ว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือไม่ค่อยได้เข้าเรียน (หัวเราะ)
เพราะว่ากิจกรรมสมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้
กิจกรรมสมัยนี้มันผูกกับเรื่องการเรียนด้วย
แต่สมัยนั้นการเมืองคือการเมืองแท้ๆ
เพราะฉะนั้นก็ได้เรียนหนังสือน้อย
แต่ก็ได้ความรู้อีกด้านได้ประสบการณ์นั่นคือ
ประสบการณ์ใหญ่ของชีวิตเลยล่ะ
การทำกิจกรรมนักศึกษาผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ
แล้วนักศึกษานิติศาสตร์โดยวิชาชีพแล้วมันไม่ต้องทำอะไร
เข้าห้องเรียนหนังสือ ฟังอาจารย์แล้วก็สอบเท่านั้นเอง
แต่การมาทำกิจกรรมนักศึกษาทำให้ได้เจอเพื่อนต่างคณะ
เจอใครต่อใครที่หลากหลายวิชาชีพ
และมีความเห็นต่างจากเรา
โดยเฉพาะการประชุมต้องรับฟังความเห็นของคนอื่น
การจับประเด็น สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างเสริม
ให้เราเป็นคนที่นอกจากมีความรู้ แล้วยังมีเรื่อง อื่นๆ ด้วย
ผมว่ามีประโยชน์ จนท้ายที่สุดมาเป็นอาจารย์
ก็คุ้มกับที่เราอยู่นอกห้องพอสควร สมัยเรียนนิติศาสตร์คะแนนดี
(หัวเราะ )..มาขยันมากๆ ตอนปี 4 ท็อปหลายวิชา
เท่าที่จำได้กฎหมายแรงงาน กฎหมายปกครอง
นิติปรัชญาก็อาศัยพื้นฐานการ เป็นนักเรียนสายวิทย์มาก่อน
วิชาที่ได้คะแนนดีที่สุดถนัดที่สุด คือกฎหมายปกครอง
ทำไมไม่เป็นทนายความ? ไม่ชอบ-ไม่ชอบอาชีพทนายความ
เพราะรู้ว่าเป็นอาชีพที่ต้องไปเอาชนะคะคาน
คือ อย่างนี้ ตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมอยากไปเรียนต่อเมืองนอกมาก
จิตใจมันวุ่นวาย อยากไปไหนก็ได้ที่เป็นเมืองนอก
ไม่มีเป้าหมายว่าประเทศอะไร ขอให้ได้ไป
ผมไปเดินตามสถานทูตต่างๆ ถามเขาว่ามีทุนไหม
ท้ายสุดไม่มีเลย ส่วนใหญ่เขาจะให้ทุน กับข้าราชการที่ทำงานแล้ว
กระทั่งมาเห็นทุนทุนหนึ่ง เขาให้ไปรัสเซีย เป็นทุนของคณะศิลปศาสตร์
ตกลงเลยไปรัสเซีย?
ไม่ ได้ไป- -ทีแรกตั้งใจจะไป แต่เพราะน้าผม ท่านเป็นน้าแท้ๆ
ชื่อคำรณ บุญเชิด มาเตือนว่าอนาคตยังอีกไกล
ค่อยๆ ดูก็ได้ ก็เลยไม่ไป ไปสมัครงานที่ ก.พ. แทน
แต่ทำได้เดือนเดียวก็ลาออก เพราะเบื่อ ไม่คิดเป็นผู้พิพากษา
ไม่ อยากเป็น ไม่ว่าผู้พิพากษาหรือ อัยการ เพราะว่าไม่ชอบเดินทาง
คือสมัยก่อนอัยการ ผู้พิพากษา เขาต้องเดินทางย้ายไปนั่นไปนี่
ผมไม่ชอบแบบนี้ และอีกอย่างผู้พิพากษาต้องวางตัวนิ่งๆ ชีวิตจืดๆ ชืดๆ
ในสายตาผม ซึ่งสมัยนี้ผู้พิพากษาไม่เป็นแบบนั้นแล้ว
แต่ผู้พิพากษาสมัยก่อนต้องวางตัวดีๆ ตีกอล์ฟยังไม่ได้เลย
แล้วสมัยก่อนผู้พิพากษาต้องไม่ออกไปกินเลี้ยง
ทำงานเสร็จกลับบ้านไปเขียนคำพิพากษาของตัวเอง
ต้องทำตัวนิ่งๆ ไม่คบคนมากนัก
เพราะคบแล้วอาจไปเจอคนที่เป็นคดี ก็จะลำบากใจ
เพราะฉะนั้นในอดีตที่ผ่านมาผู้พิพากษา
จะวางตัวให้เป็นที่เคารพนับถือ แต่ผมไม่ได้ว่าสมัยนี้นะ
ที่พูดมาก็คือภาพที่ผมมองเห็น ซึ่งผมว่าไม่ถูกกับบุคลิกของเรา
แล้วได้ไปเมืองนอกไหม?
ออก จาก ก.พ. มาสมัครเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ปี 2525
ผมสอบได้ที่ 1 พอเป็นอาจารย์ได้สองปีก็ไปเมืองนอก
ได้ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส ถ้าทุนของตัวเอง
คงไม่ได้ไปเพราะเราก็ลูกคนจน ไปเรียน 5 ปี
ที่มหาวิทยาลัยปารีส 2 เป็นมหาวิทยาลัยนิติศาสตร์ที่ดีที่สุดในฝรั่งเศส
ทำงานด้วยเรียนด้วย ที่จริงนักเรียนฝรั่งเศสไม่นิยมทำงาน
แต่ผมเป็นข้อยกเว้น ผมไปทำงานที่ร้านอาหารชื่อ
บ้านไทย ตอนนี้ก็ยังอยู่ ผมไปเสิร์ฟไม่ได้เป็นพ่อครัว
แต่ผมก็ทำอาหารเป็นนะ ทำเป็นทุกอย่าง
อร่อยไม่อร่อยไม่รู้ (หัวเราะ)
แกงเขียวหวาน พะโล้ แกงจืด ไข่เจียว ทำเป็นหมด
ลำบากครับชีวิตนักเรียนนอก
ไม่เหมือนดูในหนัง เรื่องจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย
จบจากนอกกลับมาเป็นอาจารย์ที่ มธ. กลับ
มาสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง
ที่สำคัญผมมา สอนวิชากฎหมายปกครอง ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมาอีก
เพราะวิชานี้ยังไม่มีใครสอน ผมเป็นคนแรกๆ ของประเทศไทยที่จบวิชานี้มา
แล้วเปิดวิชานี้เป็นคนแรกของคณะนิติศาสตร์
ระยะหลังการตีความของนักกฎหมายเป็นการมุ่งเอาชนะกัน
มันเป็นมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งเป็น เพียงแต่ว่าช่วงนี้ เราใช้กฎหมายมากขึ้น
แต่เป็นการใช้แบบศรีธนญชัย ซึ่งไม่ถูกต้อง อันนี้ผมเห็นด้วย
แต่การพูดว่านักกฎหมายก็ต้องแยกแยะนะ เพราะนักกฎหมายที่ดีๆ
เขาตีความตรงกันทั้งนั้นไม่มีปัญหา ผมยกตัวอย่าง เช่น ม.190
เรื่องการทำสัญญากับต่างประเทศ มีคนพยายามจะอธิบายว่า ม.190 นี่
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แย่มาก ทำให้รัฐบาลอ่อนแอทำสัญญากับใครไม่ได้เลย
นี่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะอาจารย์อยู่ในกลุ่มผู้ร่างด้วย ครับ
แต่ผมอยากบอกว่าให้ไปดูคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อปฏิรูปการเมือง
เขาเสนอแก้ ม.190 ไหม? ไม่ได้แก้ เขาเห็นว่า ม.190 เขียนดีอยู่แล้ว
มีปัญหานิดหน่อยแค่นั้นเอง แต่ว่าถ้าฟังคนโฆษณาชวนเชื่อ ม.190 มีปัญหา
มันตั้งใจทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เราต้องแก้มัน ต้องยกเลิก
ซึ่งมีบางเรื่องที่เป็นหลักการสำคัญ ผมยกตัวอย่างรัฐประหาร กันยายน 2549
ผมไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มีคนถามผมว่าไปร่วมกับเผด็จการได้ไง
ผมบอกผมไม่ได้ไปร่วมกับเผด็จการ (หัวเราะ) ผมนี่เรียนเรื่องรัฐธรรมนูญมา
สอนเรื่องนี้มา ถึงเวลาต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญ ถามว่าผมควรเข้าไปร่วมร่างไหม
ต่อให้ผมไม่ได้เป็นคนร่างแล้วมีคนอื่นร่าง ถามว่าถ้าผมไปร่วมร่าง
เนื้อหามันจะออกมาเป็นประชาธิปไตยไหม
ผมก็บอกว่าผมต้องพยายามให้เป็นประชาธิปไตย
เพราะผมก็มีศักดิ์มีศรีมีเกียรติยศ มีชื่อเสียง ผมไม่ใช่ไปทำตามใบสั่งใคร
และจริงๆ มันก็เป็นอย่างนั้น นี่ผมยืนยัน ผมคิดว่าเรื่องอุดมการ
เรื่องความรับผิดชอบทุกคนมีหมด เพียงแต่ว่าถึงเวลาทำงานจะทำงานยังไง
มันต้องอาศัยจุดยืนที่ชัดเจนเป็นกลางของตัวเอง
ผมเชื่อว่าทุกคนถ้าบอกว่าเป็นเหลืองเป็นแดง
ทุกคนก็จะบอกได้ว่าตัวเองยืนอยู่ข้างไหน แม้แต่คนที่บอกว่าเป็นกลาง
แต่ถ้าถามเขา เฮ้ย..คุณเป็นกลางก็จริงนะ
แต่ถามว่าเหลืองกับแดงคุณชอบฝั่งไหน คนเป็นกลางยังพูดได้ว่า
ชอบเหลืองหรือชอบแดง ณ ตอนนั้น
เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติเราต้องแยกให้ออก ในต่างประเทศเขาถึงยอมให้
ข้าราชการสังกัดพรรคการเมืองได้ แต่ว่าเวลาทำงานต้องวางตัวเป็นกลาง
เขาทำกันได้ ระบบมันก็ไปได้ดีพอสมควร ปรากฏการณ์เสื้อเหลือง-แดง
เป็นผลของการพัฒนาทางการเมืองหรือไม่? เปล่า
เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ตั้งใจ ผมคิดว่าไม่ใช่ผลของการพัฒนาทางประชาธิปไตย
แต่มันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่ง ที่หลายประเทศจะต้องเกิดขึ้น
รวมทั้งประเทศไทย เพียงแต่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่อดทนน้อย
เมื่อเทียบกับสังคมอื่น คนไทยเราทนไม่ค่อยได้ต้องลุกขึ้นมาจัดการ
ขั้นตอนนี้เราอาจผ่านโดยบังเอิญ ไม่ตายตัวว่าต้องผ่านสเต็ปนี้
ไปจึงจะพัฒนาประชาธิปไตย ผมมองโลกในแง่ดีนะ...
เรื่องยุบพรรคการเมืองรัฐธรรมนูญปี 50 มีเงื่อนงำ?
ไม่มีเลย ถ้าถามผม-คนมองจิ๊กซอว์มากเกินไป
คือมีคนมองว่า คมช.ตั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างก็ไปเขียน ม.237
เสร็จแล้วก็ไปตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ใช้ ม.237
คือถ้ามองอย่างนี้ โอ้โฮ...พล.อ.สนธิ ต้องเก่งมาก
วางแผนเนี้ยบเต็มที่ 100% ผมไม่เชื่อหรอกว่าใครทำได้ตามนี้ คือ ม.237
ง่ายๆ เลยว่าคนร่างเขาคิดว่า เฮ้ย! มันทุจริตเลือกตั้งมากมาย
ถ้าเอาแต่คนทุจริตไม่เอาหัวหน้าพรรคด้วย
ไม่เอากรรมการบริหารพรรคด้วยไม่เอาพรรคด้วย
มันจะแก้ปัญหาประเทศไทยได้ยังไง เขาคิดแค่นี้ ไม่ได้คิดมากไปกว่านั้น
และตอนที่เขาคิด เขาไม่คิดด้วยซ้ำว่ามาตรานี้จะได้ใช้ มันดันได้ใช้ (หัวเราะ)
ไม่น่าเชื่อเลย แต่ถ้าถามว่ามันดุเดือดรุนแรงไปไหม
มันดุเดือดรุนแรง ถึงตอนนี้การเมืองไทยไม่มีปฏิวัติรัฐประหารอีก?
ผมเป็นคนพูดมาตลอดว่ารัฐประหารจะมีในประเทศไทย
เพียงแต่ว่ารัฐประหารจะทำได้ยากขึ้น แล้วผู้ที่ทำรัฐประหารก็ได้
บทเรียนจากการทำรัฐประหารทั้งนั้น
ฉะนั้น คนที่จะทำรัฐประหารนั้นผมว่าทำยาก
แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ และผมคิดว่ายังมีรัฐประหารในไทยอีก
ตราบใดที่คนไทยอดทนไม่พอ รัฐประหารก็มา
เป้าหมายการทำงานในตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.
เราพยายามทุกอย่างเพื่อทำให้วิชาการของคณะดีขึ้น
และโดยรวมแล้วคะแนนของนักศึกษานิติศาสตร์ มธ.สูงขึ้น
จีพีเอของนักศึกษาที่สอบเข้าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7
แต่ข้อด้อยของ ธรรมศาสตร์อันหนึ่ง คือเราย้ายไปอยู่รังสิต
ซึ่งพ่อแม่จำนวนหนึ่งไม่ให้ลูกไปเรียนเพราะถือว่าไกล
แต่ผมว่าถ้าเขาไปแล้วปีหนึ่งผ่านไปเขาจะเปลี่ยนความคิด
โดยรวมแล้วเราดูแลนักศึกษาได้ดีพอสมควร
สิ่งที่เราพยายามพูดถึงมาก ที่สุด คือปัจจุบันเรามีอาจารย์ 78 คน
กำลังขอเพิ่มอีก 5 คน เป็น 83 คน มากที่สุดในประเทศไทย
และเรามีศาสตราจารย์ทั้งหมด 11 คน
ซึ่งถือว่ามากที่สุดในนิติศาสตร์ของประเทศไทย
มากที่สุดของสังคมศาสตร์ของประเทศไทยด้วย
เพราะฉะนั้นเป้าหมายของผมก็คือ
เราต้องเป็น "เดอะ เบสท์" ไม่ใช่แค่ของประเทศไทยเท่านั้น
แต่เราอยากเป็นนิติศาสตร์อันดับ 1 ของเอเชีย
ความจริงพูดได้เลยว่ากฎหมายมหาชนของเรา
เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
และเรามีการเปิดสาขากฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศไทย
ซึ่งที่อื่นเขาไม่มี เรามีสาขากฎหมายภาษี
เป็นโฉมใหม่ของคณะนิติศาสตร์ มธ.
และเราขยายไปสู่ต่างประเทศมากขึ้นด้วย
ผมเชื่อว่าจะเลือกเรียนนิติศาสตร์ที่ไหน
พ่อแม่ผู้ปกครองยังพูดถึงนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
เป็นอันดับ 1 ของประเทศ เป้าหมายอนาคตเป็นอธิการบดี
ผมเป็นแคนดิเดตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมัยหน้า อายุยังน้อย ไม่น้อยหรอกครับ 50 แล้ว
เพียงแต่ผมหน้าอ่อนเท่านั้นเอง (หัวเราะ)
คนชอบชมผมหน้าอ่อน ลองเทียบผมกับอาจารย์สุรพลก็แล้วกัน
รุ่นเดียวกันแต่อาจารย์สุรพลดูไปก่อนผมสักสิบปี (หัวเราะเสียงดัง)
ผม ไม่ได้ชอบนะเวลาคนคิดว่าเราเด็ก
มันหมายถึงว่าเราไม่เหมาะที่จะเป็นนั่นนี่
อย่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถามว่าเขาอายุเท่าไหร่ 45 แล้ว
ไม่เด็กแล้วนะครับ ผมว่าไม่แฟร์กับเขาที่คนไทยคิดว่าเด็ก
ผมอยู่ฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีเขาอายุ 30 อายุน้อยหมด
ผมเองก็ไม่เด็กร่างรัฐธรรมนูญมาตั้ง 2 ฉบับแล้ว
"เรื่องหน้าผมว่าไม่สำคัญหรอก
สำคัญที่ความมีวุฒิภาวะมีไหม"
หน้า 17 






วิสัยทัศน์ผู้ชิง"อธิการบดี มธ."คนใหม่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ "ผมมีความคิดที่จะย้ายนักศึกษาชั้นปี 1-2 และบางคณะ กลับมาเรียนที่ท่าพระจันทร์เหมือนในอดีต" มติชนรายวัน วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553 วิสัยทัศน์ผู้ชิง"อธิการบดี มธ."คนใหม่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ หมายเหตุ - "มติชน" ทยอยลงบทสัมภาษณ์ต่อเนื่องของ ผู้ประกาศตัวเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คนใหม่ เกี่ยวกับวิสัยทัศน์การบริหาร มธ. หลังจากที่ฉบับก่อนหน้านี้ได้ลงบทสัมภาษณ์ของ รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. และ รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. และนายกธรรมศาสตร์สโมสร ฉบับนี้ขอนำเสนอวิสัยทัศน์ของ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี มธ. ฝ่ายการคลัง เจ้าของสโลแกน "ผมอยากเห็นธรรมศาสตร์พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง" ซึ่งล่าสุด ศ.ดร.สมคิดชนะการหยั่งเสียงสูงสุดใน 30 หน่วยงาน โดยได้คะแนนสนับสนุนจากสายเจ้าหน้าที่และอาจารย์ 1,724 คะแนน และสายนักศึกษา 1,237 คะแนน ขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มธ. ที่มีนายมารุต บุนนาค เป็นประธาน จะทำหนังสือทาบทามเข้ารับการสรรหา ซึ่งน่าจะรวมถึง รศ.ดร.กำชัย ที่ชนะการหยั่งเสียงใน 13 หน่วยงาน ได้คะแนนจากสายเจ้าหน้าที่และอาจารย์ 854 คะแนน และสายนักศึกษา 468 คน และ รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ ที่ได้คะแนนจากสายเจ้าหน้าที่และอาจารย์ 352 คะแนน และสายนักศึกษา 706 คะแนน "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศตัวว่า เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ดังนั้น ผมจึงอยากเห็นธรรมศาสตร์เน้นการวิจัย เน้นวิชาการและพัฒนาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งคงต้องรับอาจารย์วุฒิปริญญาเอกเข้ามามากๆ และมีอาจารย์ระดับศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ให้มากด้วย มธ.จึงจะอยู่ได้ด้วยคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกศิษย์มีคุณภาพดีตามไปด้วย ผมอยากให้ธรรมศาสตร์เป็นแหล่งชุมนุมของผู้มีความรู้ ทั้งอาจารย์ นักศึกษาและผู้ที่ต้องการเข้ามาใฝ่หาความรู้ ที่สำคัญผมอยากให้ธรรมศาสตร์ กลับไปเน้นจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ คือผลิตบัณฑิตที่รักประชาธิปไตย กล้าตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รักความเป็นธรรม กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง" "นักศึกษาเปรียบเหมือน เมล็ดที่ตกอยู่ที่ไหนก็จะงอกเงย ช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ผมอยากเห็นภาพนี้อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า บรรยากาศการเมืองในธรรมศาสตร์หายไป ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากไม่มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีในท่าพระจันทร์ เพราะย้ายไปอยู่ที่ศูนย์รังสิตหมด ตอนนี้ท่าพระจันทร์เงียบมาก แทบจะไม่เห็นบรรยากาศทางวิชาการเหมือนในอดีต ผมจึงมีความคิดที่จะย้ายนักศึกษาชั้นปี 1-2 และบางคณะ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น กลับมาเรียนที่ท่าพระจันทร์เหมือนในอดีต เพราะท่าพระจันทร์เป็นจุดเริ่มต้นของ มธ. เราต้องธำรงรักษาสถานที่และจิตวิญญาณของท่าพระจันทร์ตลอดไป แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยว่า จะมีมติอย่างไร รวมทั้งจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้ดี โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนที่อาจจะ ต้องเดินทางระหว่างท่าพระจันทร์กับรังสิต อย่างไรก็ตาม คิดว่าประชาคมนักศึกษาคงไม่มีใครต่อต้าน เพราะส่วนใหญ่ต้องการมาเรียนที่ท่าพระจันทร์กันทั้งนั้น" "นอกจากนี้ ผมอยากให้ มธ.มีโรงเรียนธรรมศาสตร์วิทยานุสรณ์ ลักษณะเดียวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อผลิตเด็กเก่งด้านวิทยาศาสตร์ระดับชั้น ม.4-6 ป้อนให้กับ มธ. ตลอดจนจะปรับปรุง มธ.ให้ทันสมัย ในเรื่องหอพักของนักศึกษาและบุคลากร ผมได้ยินนักศึกษาบ่นเรื่องนี้กันมาก ซึ่งคงต้องนั่งพูดคุยกับนักศึกษาว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาด้วยวิธีใด เรื่องหอพักบุคลากร มธ.ต้องจัดให้เพียงพอ โดยถือว่าเป็นสวัสดิการและขวัญกำลังใจของทุกคน ทั้งนี้ การที่ มธ.อยู่ที่รังสิตเราเสียเปรียบ มหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมืองพอสมควร แต่เราไม่ควรยอมรับสภาพ เราควรพัฒนาชีวิตนักศึกษาให้ดีขึ้น ผมอยากให้นักศึกษาที่รังสิตมีชีวิตที่ดีแบบเดียวกับที่ท่าพระจันทร์ หาอาหารกินง่าย ปลอดภัย และราคาไม่แพง มีห้องสมุดที่ดี มีห้องเรียนที่ทันสมัย ผมคาดหวังว่า มธ.ในอนาคตจะต้องเป็นศูนย์รวมของผู้รู้ทางวิชาการ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็น University of creative incubator และนำความรู้ดังกล่าวไปชี้นำสังคม มีศักยภาพในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และบุคลากรและนักศึกษาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและยั่งยืน" "ผม อยากจะให้ธรรมศาสตร์มีวัน sport day เพราะธรรมศาสตร์อาจเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่มี sport complex สมบูรณ์ภายในมหาวิทยาลัย เรามีศูนย์กีฬาที่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถดูแลอยู่ เราจึงควรส่งเสริมให้นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่เล่นกีฬา เหมือนกับหลายหน่วยงานที่กำหนดให้มีวัน sport day ซึ่งกีฬาจะทำให้คนธรรมศาสตร์ไม่มีโรคภัย ส่วนโรงพยาบาล มธ.ในอนาคต จะต้องเป็นโรงพยาบาลด้านการวิจัยควบคู่ไปกับโรงพยาบาลรักษาคนไข้ ที่สำคัญจะต้องเพิ่มบุคลากรของโรงพยาบาลในด้านต่างๆ ให้เพียงพอด้วย รวมทั้งเพิ่มการให้บริการแก่บุคลากรของเรา ผมจะสนับสนุนเต็มที่ให้มีศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง โดยแรกๆ อาจมีสัก 2-3 ศูนย์ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศในการตรวจพิเคราะห์โรค ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสมุนไพร และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพ แล้วค่อยขยับขยายออกไปให้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งควรมีศูนย์เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ เราต้องหางบประมาณมาทำเรื่องพวกนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วงานวิจัยของ มธ.ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวะ แพทย์คงไม่ก้าวไกล ศูนย์เครื่องมือที่อาจมีเช่น เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพและอณูชีววิทยา ศูนย์เครื่องมือวิจัยด้านการวิเคราะห์เคมีและวัสดุศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือด้านการวิจัยทางฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น" " ผมอยากเห็น มธ.ศูนย์รังสิตในอนาคตเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ ทั้งด้านวิชาการ คือมีครบทุกสาขา ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ และสาธารณสุข สมบูรณ์แบบด้านการวิจัย คือ มธ.จะมีศูนย์เครื่องมือ มีศูนย์ความเป็นเลิศ มีการจดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร พร้อมร่วมมือกับทั้งสถาบัน A.I.T. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมีความสมบูรณ์แบบด้านที่พักอาศัย ที่สามารถรองรับทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาอย่างเพียงพอ สมบูรณ์แบบด้านสนามกีฬา ที่มีสนามกีฬาทุกประเภท สมบูรณ์แบบด้านการแพทย์ โดยมีจุดเน้นเฉพาะทาง ซึ่งเราจะก้าวไปอย่างนั้นได้ ตัวอธิการบดีจะต้องทำงานหนัก วิสัยทัศน์ต้องชัดเจน โดยมีคนใน มธ.ช่วยกันขับเคลื่อนไปข้างหน้า" " สำหรับ มธ.ศูนย์ลำปางในอนาคตจะต้องดีขึ้น ต้องพัฒนามากกว่าในปัจจุบัน ทุกวันนี้แม้ว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังพัฒนาได้ไม่เท่าท่าพระจันทร์ และรังสิต ผมจะพัฒนาให้ศูนย์ลำปางเป็นที่เชิดหน้าชูตา ในภาคเหนืออย่างเต็มภาคภูมิ เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ ที่ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ที่สอดคล้อง กับสภาพพื้นที่ และวัฒนธรรมของชาวภาคเหนืออย่างแท้จริง ส่วน มธ.ศูนย์พัทยา เราวางแผนให้เป็นศูนย์ด้านการฝึกอบรม ศูนย์ด้านการปกครองท้องถิ่น และการเรียนการสอนระดับปริญญาโท ซึ่งทิศทางนี้ถูกต้องแล้ว ผมจะขยายจำนวนห้องของโรงแรมเพิ่มขึ้น ปรับปรุงด้านกายภาพ และส่งเสริมให้ คณะที่จัดการเรียนการสอนอยู่แล้วให้พัฒนาได้อย่างเต็มที่" " ส่วนเรื่องการผลักดัน มธ.ออกนอกระบบราชการนั้น ขณะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำมาตั้งแต่สมัย รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร เป็นอธิการบดี เข้าใจว่ามีการทบทวนในระดับคณะ/มหาวิทยาลัย/สภามหาวิทยาลัยหลายครั้ง และน่าจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วด้วย ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากเปลี่ยน สถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของ รัฐไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ ดังนั้น การจะดำรงสภาพมหาวิทยาลัยในส่วนราชการต่อไป อาจทำให้ธรรมศาสตร์ล้าหลังกว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสภาพไปแล้ว ก็มีปัญหามากพอสมควร ธรรมศาสตร์ จึงต้องระมัดระวังกับการเปลี่ยนสภาพไปด้วย"