มติชน หน้า 34
๒ ตุลาคม ๒๕๕๐
"ถ้าชีวิตการเป็นครูของผม
หากวันหนึ่งได้มีโอกาสได้ขึ้นไปเป็น
ผอ. วันใด ก็จะขอเลือกมาอยู่ที่นี่แหละ
จะไม่ขอไปแสวงหาความเจริญที่ไหนอีก"
เป็น คำพูดที่หนักแน่นและจริงจังของ
สมประสงค์ มั่งอะนะ ผู้อำนวยการสถานศึกษา
โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
เมืองเล็กๆ ที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและได้ชื่อว่า "แผ่นดินดอยลอยฟ้า"
ย้อน กลับไปเมื่อ 11 ปีก่อน
สมประสงค์พาครอบครัวมาเที่ยวชมความงามของน้ำตกทีลอซู
ที่อำเภออุ้มผาง เป็นครั้งแรกในชีวิต
บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นจากการเดินทางในครั้งนั้น
ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับครูธรรมดาๆ คนหนึ่ง
ครอบครัวของสมประสงค์ กางเต๊นท์นอนที่
โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ภาพแรกที่เห็นก็คือ
สภาพโรงเรียนเก่ามาก ทางเข้ามากันดารเป็นทางลูกรัง
มีแต่ฝุ่นแดงๆ มีอาคารเรียน 3 หลัง แต่ละหลังชำรุดทรุดโทรม
น้ำไม่พอใช้ ไฟติดๆ ดับๆ ครูนักเรียนอยู่กันตามมีตามเกิด
"เห็นแล้วรู้สึกสงสารมาก
เด็กๆ เหล่านี้ควรจะได้รับการช่วยเหลืออะไรบ้าง"
คือสิ่งที่เขาคิด กระทั่ง
สมประสงค์กลับมาเยือนอำเภอเล็กๆ นี้อีกครั้งเมื่อ 2 ปีผ่านไป
ทุกอย่างที่เห็นยังคงเหมือนเดิมตั้งแต่นั้นมาเขา
ตั้งปณิธานและความหวังอยู่ ลึกๆ ในใจว่า
จะต้องมาทำงานและเป็นผู้บริหารโรงเรียนแห่งนี้ให้ได้
และตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกคนจึงน่าจะได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน!!
ปลายปี 2543 สมประสงค์สอบบรรจุเป็น
ผู้อำนวยการสถานศึกษาได้เป็นอันดับที่หนึ่ง
ของเขตการศึกษาภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
ผู้อำนวยการฯ สมประสงค์ รุ่นใหม่ไฟแรง
เลือกที่จะไปทำงานที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม
ตามปณิธานที่ตั้งไว้ เมื่อ ไปถึง ผอ.สมประสงค์
จัดการแก้ปัญหาต่างๆ ในโรงเรียนแห่งนี้อย่างไม่รั้งรอ
ทันทีที่ย้ายครอบครัวมาอยู่ด้วย
ทั้งเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ปรับปรุงภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมรอบๆ
รวมไปถึงการเสนอของบประมาณสร้างอาคารเรียนหลังใหม่
ช่วงเวลาไม่นาน โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด
แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เห็นเพียงทางกายภาพเท่านั้น
การจัดความสำคัญอันดับต้นๆ
อยู่ที่การแก้ปัญหาในด้านการศึกษาของเด็กๆ
"โรงเรียน ของเราเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งเดียว
ในอำเภออุ้มผาง มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้เรียนต่อระดับมัธยม
ผมถามจากครูว่า แล้วเด็กที่จบ ป.6 ไปไหนกันหมด
ก็ได้ความว่าเด็กที่จบส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนต่อ
เพราะบ้านไกลมาไม่ไหว และอีกอย่างคือ
ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานในป่าในไร่"
ผู้อำนวยการคนใหม่จึงใช้ช่วงเวลาปิดเทอม
เดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ
ตามแนวตะเข็บชายแดนทั้งไกลและใกล้
เพื่อ "ขอเด็ก" ให้มาเรียนหนังสือ
แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือคำปฏิเสธ!!
ปีแรกของการทุ่มเท พ่อแม่ชาวกะเหรี่ยง
ยินยอมให้ลูกๆ มาเรียน รวมแล้วประมาณ 30 คน
มากินอยู่หลับนอน เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียน
โดยมีเขาเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ตั้งแต่เสื้อผ้า อาหาร อุปกรณ์การเรียน
ไปจนถึงของใช้ส่วนตัว ปัจจุบันมีเด็กๆ
ที่อยู่ในความดูแลของเขาเกือบ 300 คน ทุกเดือน
ผอ.สมประสงค์จึงมีภาระหน้าที่ต้องหาเงิน 1.5 แสน
เป็นอย่างน้อยเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายของเด็กๆ
โครงการช่วยเหลือนักเรียนยากไร้ของ ผอ.สมประสงค์
ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 6 ปีแล้ว
".. ผมอยากเห็นวันนั้นของพวกเขา
มันคงเป็นวันที่ผมมีความสุขมากที่สุดในชีวิต
เพราะสำหรับชีวิตการเป็นครู
ไม่มีอะไรที่น่าปลื้มใจมากไปกว่าการ
เห็นลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ
โดยเฉพาะกับลูกศิษย์ที่ยากไร้และด้อยโอกาสกว่าคนอื่น"
ความหวังของ เขาอาจไม่มากเท่าทุกวันนี้
ถ้าเด็กๆ ในความดูแล รักเรียนและรักดีน้อยกว่าที่เป็นอยู่
แต่สำหรับ "ครู" ที่เปรียบเสมือน "พ่อ"
ด้วยรับรู้อยู่เต็มอกว่าเด็กๆ ทุกคนควรค่าแก่การสนับสนุน
และมีใครสักคนหยิบยื่นโอกาสให้แก่พวกเขา
อยากรู้เรื่องของ "พ่อพระพ่อพิมพ์แห่งอุ้มผาง"
ติดตามในรายการ "คนค้นฅน" 9 ตุลาคม สี่ทุ่ม
ทางโมเดิร์น ไนน์ ทีวี สำหรับ สมประสงค์ มั่งอะนะ
เป็นครูธรรมดาคนหนึ่ง
สอบบรรจุเป็นอาจารย์ใหญ่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1
ของเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
11 ปีก่อน สมประสงค์เป็นผู้ช่วย
ผอ.โรงเรียนวัชรคุณวิทยา จ.กำแพงเพชร
ก่อนมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม
อ.อุ้มผาง จ.ตาก ทุก เดือนสมประสงค์
จะสละเงินค่าตำแหน่ง 5,600 บาท
ห่อไว้ให้เด็กเป็นค่ากิน ค่าอยู่ ข้าวของเครื่องใช้จำเป็น
โดยเขาไม่เคยรับเงินส่วนนี้มาใช้จ่าย
เป็นการส่วนตัวมานานหลายปีแล้ว
มิหนำซ้ำแทบทุกเดือน
ก็ยังต้องชักเงินส่วนที่เป็นเงินเดือนของตัวเอง
รวมไปถึงของลูก ของเมีย มาดูแลชีวิตของเด็กๆ
ที่กอดคอร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา
"ครูต้องเป็นผู้ให้ มากกว่าผู้รับ" ประโยคนี้ พูดง่าย ทำยาก
แต่ ครูสมประสงค์ พิสูจน์ให้เห็นว่า ในแผ่นดินนี้
ยังมีครูดีๆ ที่ทำงานรับใช้แผ่นดินด้วยจิตวิญญาณ
ของความเป็นครู และภาคภูมิใจที่จะทำหน้าที่
ของตัวเองให้สมบูรณ์ สมกับที่สังคมได้ยกย่องว่า
ครู คือ แม่พิมพ์ของชาติ และเป็น
พ่อแม่คนที่ 2 ของศิษย์