Custom Search

Sep 20, 2009

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง : ที่เหลือวันนี้คือความภูมิใจ


ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่มีใครไม่รู้จักเจ้าของวลีเด็ด
ขั้วหัวใจเจ้าหนี้ที่ว่า "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย"
ของนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง
เจ้าพ่ออุตสาหกรรมเหล็กที่ต้องแบกรับภาระหนี้
กว่าแสนล้านบาท เพียงแค่ชั่วข้ามคืน
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

ด้วยคำเพียงแค่ 3 คำข้างต้น ทำให้ภาพพจน์ของ สวัสดิ์
ในสายตาเจ้าหนี้และบุคคลทั่วไปติดลบขึ้นมาทันที
และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มลูกหนี้ตัวแสบ พร้อมๆ
กับการถูกตั้งคำถามกึ่งๆ ตีตราจากสังคมว่า
เป็น เศรษฐีล้มบนฟูก
ในช่วงเวลาแห่งความตีบตัน
สารพันปัญหาประดังเข้ามาพร้อมๆ กันนั้น
สวัสดิ์ ยอมรับว่า แทบจะกินไม่ได้นอนไม่หลับ
ต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมเท่าตัว
ตัวเขาเองต้องลงมาจัดการปัญหาทั้งหมดด้วยตัวเอง
รียกได้ว่าทำงานแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง
เวลาพักผ่อนที่ได้คือ การงีบหลับช่วงสั้นๆ
ในรถระหว่างเดินทางไปทำงาน
หรือไปเจรจากับเจ้าหนี้เท่านั้น
"
ในวันที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
ผมนอนไม่หลับ คิดว่าจะจัดการปัญหาหนี้ได้อย่างไร
ยอมรับว่ามืดเหมือนกัน
แต่หลังจากนั้นผมใช้เวลาอยู่กับตัวเอง 2-3 วัน ก็คิดว่า
อะไรที่เป็นส่วนตัวเราเก็บไว้ก่อน ทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจ
เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด
ทำอย่างไรจึงจะรักษาบริษัทเหล่านั้นไว้ให้ได้
ผมไม่โทษใคร นอกจากตัวเอง" สวัสดิ์ กล่าว

สวัสดิ์ กล่าวอีกว่า
ตัวเขาเองยอมให้ถูกสังคมและเจ้าหนี้ตราหน้าว่า
จอมเบี้ยวหนี้ การประกาศออกมาว่า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย
ไม่ใช่เป็นการพูดขึ้นมา ลอยๆ ไม่ใช่คำพูดของเจ้าพ่อ
ที่จะแสดงอำนาจบาตรใหญ่ เพื่อข่มขู่ให้เจ้าหนี้หวาดกลัว
แต่เป็นการพูดที่มีความหมาย เพื่อต้องการรักษาสภาพคล่อง
ในบริษัทไว้ให้มากที่สุด ก่อนจะหาทางแก้ปัญหาต่อไป

"พูดง่ายๆ ก็คือ การกลับมาตั้งหลักนั่นเอง
ผมมองแล้วว่า ในภาวะเช่นนี้ ไม่มีเจ้าหนี้รายไหน
จะกล้าปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนมาให้แน่นอน
แต่เครื่องจักรจะต้องเดินเครื่องตลอดเวลา
ซึ่งจะต้องใช้เงินเข้าไปหล่อเลี้ยง
หากผมเอาเงินของบริษัทที่มีอยู่ทั้งหมดไปคืนหนี้
แล้วบริษัทจะอยู่อย่างไร เครื่องจักรมูลค่าหลายพันล้านบาท
ที่เป็นหลักประกันนั้น จะปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้
ซึ่งก็เท่ากับทำร้ายเจ้าหนี้ทางอ้อมด้วย"
สวัสดิ์ ยอมรับว่า
พยายามจะสื่อสารถึงความหมายของพฤติกรรม
ที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าหนี้ได้รับทราบ ซึ่งในช่วงแรกๆ
ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหา แต่เมื่อเวลาผ่านไป
เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เริ่มจะเข้าใจ
และบางรายถึงกับแสดงความขอบคุณ
และบางรายถึงกับยกให้เป็นทฤษฎี 3 ไม่ เลยทีเดียว

"เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า ทฤษฎี 3 ไม่ ทำให้ธุรกิจอยู่รอด
หากเอาเงินทั้งหมดมาจ่ายหนี้ คงต้องปิดกิจการไปแล้ว
ที่บอกว่า 3 ไม่ ผมไม่ได้บอกว่าให้โกงแล้วหนี
แต่ต้องรอก็เท่านั้น" สวัสดิ์ กล่าว
เมื่อหนี้สินทั้งหมด
ทั้งในส่วนของหนี้บริษัท และหนี้ส่วนตัวกว่า 1 แสนล้านบาท
เริ่มนิ่ง สวัสดิ์ ก็เริ่มดำเนินการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้
โดยหนี้สินของบริษัท เอ็น ที เอส สตีล
บริษัท นครไทยสตริปมิล (เอ็นเอสเอ็ม)
และบริษัท ศรีราชา ฮาร์เบอร์ ได้เข้าสู่กระบวนการ
ปรับโครงสร้างหนี้ผ่านคณะกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ (คปน.)
ที่มี นายศิวะพร ทรรทานนท์ เป็นรองประธานกรรมการ คปน.
และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการ ธปท.
ในขณะนั้น ซึ่ง สวัสดิ์ บอกว่าทั้ง 2 ท่าน
ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

การปรับโครงสร้างหนี้บริษัทในเครือ สวัสดิ์
ก็ไม่ต่างจากลูกหนี้รายอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะยึดสูตร
1.ตีทรัพย์ชำระหนี้
2.เพิ่มทุนชำระหนี้
3.แปลงหนี้เป็นทุน
4.การขยายเวลาชำระหนี้ และ
5. การลดเงินต้นและลดดอกเบี้ย(Hair Cut) เป็นต้น
แต่ความแตกต่างของแต่ละรายจะอยู่ที่ รับได้หรือไม่ต่างหาก
เพราะความอืดอาด ยืดยาด
ของการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายใหญ่ๆ ในช่วงนั้น
อยู่ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
มีเรื่องของ ความเป็นเจ้าของ มาเป็นตัวแปรแห่งความสำเร็จ
ซึ่งจุดนี้ สวัสดิ์ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
เพื่อยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ลอยอยู่ตรงหน้า

"ถึงวันนี้ผมไม่ซีเรียส บริษัทจะเป็นของใคร
หรือเป็นของเจ้าหนี้ และผมจะเหลือหุ้นส่วนน้อย
ผมเชื่อว่าหากบริษัทผ่านพ้นวิกฤติไปได้
สักวันหนึ่งผมก็มีสิทธิกลับมา
แม้จะใช้เวลาเป็น 10 ปีก็ตาม "สวัสดิ์ กล่าว

แต่สำหรับวันนี้ของ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง
หาได้เป็นอย่างที่เขาคิดไว้ไม่ เมื่อบริษัท เอ็นทีเอส สตีล
ได้ตกไปอยู่ในมือของ ทาทา สตีล ยักษ์ใหญ่จากอินเดียโดยสมบูรณ์แบบ
ขณะที่บริษัท นครไทยสตริปมิล ก็ถูกเปลี่ยนมือไป
เป็นของบริษัทคู่แข่งอย่าง จี สตีล
สิ่งที่เหลืออยู่ในขณะนี้จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก
ที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็กแต่อย่างใด

เอ็นทีเอส สตีล มีหนี้สินเมื่อสิ้นปี 2540 กว่า 16,957 ล้านบาท
ถูกจับไปควบรวมกับบริษัทเหล็กในเครือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย
และตั้งบริษัทใหม่ชื่อ มิลเลนเนียม สตีล
โดยกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ถือหุ้นใหญ่
และมี สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง รับจ้างบริหาร
ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ต่อมาเมื่อปี 2549 บริษัททาทา สตีล
ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมหนัก
จากประเทศอินเดีย
เข้ามาซื้อกิจการของมิลเลนเนียม สตีล
และเปลี่ยนชื่อเป็น ทาทา สตีล(ประเทศไทย)
ซึ่งเป็นผลให้ สวัสดิ์ ต้องออกไปโดยปริยาย

ส่วนบริษัท นครไทยสตริปมิล ซึ่งมีหนี้ในปี 2540
จำนวน 21,529 ล้านบาท ได้ปรับโครงสร้างหนี้
โดยการแปลงหนี้เป็นทุนให้เจ้าหนี้จำนวน 90%
และออกใบสำคัญแสดงสิทธิจำนวนหนึ่งเพื่อ
ให้เจ้าของเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นคืน ได้
ในปี 2549
เช่นกัน บริษัท จี สตีล ของนายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล
โดยบริษัท โอเรียลทัล แอ็กเซส ได้เข้ามาซื้อหนี้สินของ
บริษัท นครไทยสตริปมิล ทั้งหมดจากเจ้าหนี้
มูลค่าประมาณ 180 ล้านดอลลาร์ พร้อมรับสิทธิ
ในวอร์แรนท์ทั้งหมด ทำให้ถือหุ้นแล้วจำนวน 23%
ของทุนจดทะเบียน
"กรณีของเอ็นทีเอส สตีล
เจ้าหนี้มี 2 ทางให้เลือก คือ
ปรับหนี้แล้วทำธุรกิจต่อไปด้วยตัวเอง
และให้ควบรวมกิจการกับบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย
ซึ่งผมตัดสินใจควบรวม เพราะมองว่าอนาคต
จะมีการแข่งขันที่รุนแรง มาถึงวันนี้
คงต้องบอกว่าตัดสินใจถูกแล้ว" สวัสดิ์ กล่าว

สวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ความสูญเสียจากวิกฤติ ปี 2540
นั้นไม่สามารถประเมินได้ เพราะธุรกิจที่ก่อตั้ง
กิจการมากับมือจะต้องถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของกลุ่มทุน ใหม่
ทั้งในส่วนของนครไทยสตริปมิล และเอ็นทีเอส สตีล
ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้ยึดติดกับทรัพย์สินเหล่านี้แต่อย่างใด
"
สิ่งที่หลงเหลือจากซากวิกฤติของผมคือ ความภูมิใจ
เพราะทุกบริษัทที่ผมตั้งยังสามารถยืนอยู่รอดพ้นวิกฤติมาได้
และปัจจุบันก็สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ผมจะไม่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ตาม" สวัสดิ์ กล่าว

สวัสดิ์ บอกว่าทุกบริษัทที่อยู่ในเครือของตนเอง
ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ที่เบ็ดเสร็จจริงๆ
ไม่ใช่แค่การปรับหลอกๆ เพราะปัจจุบันภาระหนี้สิน
ของบริษัทดังกล่าวข้างต้นแทบจะไม่เหลือ
มีเพียงส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมเท่านั้นที่ถูกกลืน
โดยทั้งเจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นรายย่อยต่างก็พอใจ
กับการปรับโครงสร้างหนี้

โดยในช่วงนั้นตนมีเป้าหมายจะฟื้นฟูธุรกิจให้อยู่รอด
แม้เจ้าหนี้พยายามเสนอ
ทางเลือกที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม
แต่ตนก็เลือกทางที่เห็นว่าบริษัทจะอยู่รอด

"ทุกบริษัทที่ผมต้องปรับโครงสร้างหนี้ ทำกันจริงๆ จังๆ
ไม่ได้ปรับแค่หลอกๆ ทุกบริษัทเหลือหนี้น้อยมาก
ส่วนตัวผมแม้จะไม่เหลือความเป็นเจ้าของ
แต่ก็เหลือความภูมิใจ "สวัสดิ์ กล่าว
และให้ข้อคิดแก่คนรุ่นหลังว่า

"ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมเหล็กในช่วง 10 ปี
ก่อนกับปัจจุบันมีความแตกต่างกัน
ในอดีตเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงการลงทุน
ขนาดธุรกิจไม่มีความสำคัญ แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว
ความเสี่ยงที่น่ากลัวในอนาคตก็คือ โลกาภิวัตน์
การเปิดเสรีทางการค้า ผู้ประกอบการที่ใหญ่จริงๆ
เท่านั้นถึงอยู่รอด
ในที่สุดอัตราการจัดเก็บภาษีนำเข้าแทบจะไม่มี
ทำให้การเข้ามาของต่างประเทศง่ายขึ้น
ใครไม่แข็งแกร่งจริงก็จะถูกกลืน"