Custom Search

Sep 26, 2009

สมคิด เลิศไพฑูรย์ ผู้ชายคิดบวก

สกุณา ประยูรศุข
มติชน
วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ไม่ต้องสาธยายประวัติให้มากความ สำหรับผู้ชายคนนี้ "สมคิด เลิศไพฑูรย์"
เพราะชื่อเสียงรู้จักกันดีในฐานะ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550
ปัจจุบันเป็น "คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" "สมคิด"
พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ บ้านอยู่ฝั่งธนบุรี ย่านบุคคโล
อาชีพของครอบครัวแต่เดิม พ่อเป็นช่างไฟฟ้าชื่อ "ห้าว" เสียชีวิตไปแล้ว
ส่วนแม่ชื่อ"ถวิล" ค้าขายเสื้อผ้าในตลาดสมัยโน้น
ทั้งพ่อและแม่เป็นคนจีน นามสกุล "แซ่เล" แต่สมคิดกลับใช้นามสกุล "เลิศไพฑูรย์"
เพราะเป็นผู้ตั้งตระกูลนี้ขึ้นมาเอง โดยมีน้าชายแท้ๆ-คำรณ บุญเชิด
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ตั้งให้
สมคิด เกิดวันที่ 9 กรกฎาคม 2502
ปัจจุบันอายุ 50 ปีแต่งงานแล้วกับภรรยาชาวมุสลิมชื่อ "ฉัตรแก้ว"
มีลูกชายฝาแฝดสองคน "ฐากร" กับ "ฐากูร" แปลว่าพระเจ้า
ชื่อของลูกชายทั้งสองได้ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนตั้งให้ เรียนจบมัธยมจาก
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
จบเนติบัณฑิตไทย ปี 2527 จากนั้นไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส 2 ประเทศฝรั่งเศส
จนจบปริญญาเอกกฎหมายมหาชน ประสบการณ์พอหอมปากหอมคอ
เคยเป็น ผู้ช่วยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการสถาบันพระปกเกล้า
กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังเป็น อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาฯ เกษตรศาสตร์
รามคำแหง โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ
วิทยาลัยรัตนบัณฑิต ฯลฯ "เดือนพฤษภาคม 2552
ชื่อของ "สมคิด เลิศไพฑูรย์" เป็นหนึ่งในแคนดิเดต
อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" สนใจเรียนกฎหมายมาตั้งแต่ต้น?
ไม่รู้จะพูดไงดี มันจับพลัดจับผลู ผมไม่ได้ตั้งใจเลือกเรียนนิติศาสตร์
ใจผมคือว่าสมัยก่อนผมเรียนโรงเรียนเตรียมอุดม
เป็นนักเรียนเรียนดีพอสมควร แม่ก็อยากให้เป็นหมอ
แต่ผมไม่ค่อยชอบเพราะคะแนนชีววิทยาผมไม่ค่อยดี
ก็เลยไม่เลือกหมอ แต่แม่ก็ไม่โกรธนะ แม่ตามใจเพราะเราเรียนดี
ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลือกคณะวิศวะ จุฬาฯ อันดับหนึ่ง
แต่ก็ไม่ได้สนใจมาก ที่เหลือเลือกธรรมศาสตร์หมดเลย
เผอิญว่าพี่สาวอยู่ธรรมศาสตร์ และตัวเองสนใจทางการเมือง
เห็นว่าธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำเพื่อส่วนรวม
เลยตั้งใจเลือกนิติศาสตร์อันดับ 2 บัญชี ธรรมศาสตร์ อันดับ 3
บรรยากาศในมหาวิทยาลัยสมัยนั้นเป็นยังไง?
ช่วงนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เป็นนายกรัฐมนตรี มีการชุมนุมประท้วงเยอะมาก
การประท้วงใหญ่คือ ตอนที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์
ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน แล้วตอนนั้นมันหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาใหม่ๆ
รัฐบาลเผด็จการพยายามขัดขวาง ไม่ให้นักศึกษาอ่านหนังสือพิมพ์
บรรยากาศเป็นแบบนั้น พวกเรา และรุ่นพี่ก็พยายามจะต่อสู้เรื่องพวกนี้กัน
ตัวผมเองตอนเข้าไปช่วงแรกไปทำกิจกรรมอยู่กับ อมธ.
(องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
และอยู่สภานักศึกษา ผมเข้าเรียนปี 2521
รุ่นเดียวกับผมก็มี อธิการบดีสุรพล นิติไกรพจน์,
อภิชาติ ดำดี, วสันต์ ภัยหลีกลี้ รวมถึงวิฑูรย์ นามบุตร,
นพดล ปัทมะ, อัญชลี วานิช เทพบุตร ตอนนั้น นายก อมธ.
คือบุญสม อัครธรรมกุล ผมอยู่พรรคแสงธรรม
ตอนทำกิจกรรมได้ความรู้เยอะ
แต่ว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือไม่ค่อยได้เข้าเรียน (หัวเราะ)
เพราะว่ากิจกรรมสมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้
กิจกรรมสมัยนี้มันผูกกับเรื่องการเรียนด้วย
แต่สมัยนั้นการเมืองคือการเมืองแท้ๆ
เพราะฉะนั้นก็ได้เรียนหนังสือน้อย
แต่ก็ได้ความรู้อีกด้านได้ประสบการณ์นั่นคือ
ประสบการณ์ใหญ่ของชีวิตเลยล่ะ
การทำกิจกรรมนักศึกษาผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ
แล้วนักศึกษานิติศาสตร์โดยวิชาชีพแล้วมันไม่ต้องทำอะไร
เข้าห้องเรียนหนังสือ ฟังอาจารย์แล้วก็สอบเท่านั้นเอง
แต่การมาทำกิจกรรมนักศึกษาทำให้ได้เจอเพื่อนต่างคณะ
เจอใครต่อใครที่หลากหลายวิชาชีพ
และมีความเห็นต่างจากเรา
โดยเฉพาะการประชุมต้องรับฟังความเห็นของคนอื่น
การจับประเด็น สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างเสริม
ให้เราเป็นคนที่นอกจากมีความรู้ แล้วยังมีเรื่อง อื่นๆ ด้วย
ผมว่ามีประโยชน์ จนท้ายที่สุดมาเป็นอาจารย์
ก็คุ้มกับที่เราอยู่นอกห้องพอสควร สมัยเรียนนิติศาสตร์คะแนนดี
(หัวเราะ )..มาขยันมากๆ ตอนปี 4 ท็อปหลายวิชา
เท่าที่จำได้กฎหมายแรงงาน กฎหมายปกครอง
นิติปรัชญาก็อาศัยพื้นฐานการ เป็นนักเรียนสายวิทย์มาก่อน
วิชาที่ได้คะแนนดีที่สุดถนัดที่สุด คือกฎหมายปกครอง
ทำไมไม่เป็นทนายความ? ไม่ชอบ-ไม่ชอบอาชีพทนายความ
เพราะรู้ว่าเป็นอาชีพที่ต้องไปเอาชนะคะคาน
คือ อย่างนี้ ตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมอยากไปเรียนต่อเมืองนอกมาก
จิตใจมันวุ่นวาย อยากไปไหนก็ได้ที่เป็นเมืองนอก
ไม่มีเป้าหมายว่าประเทศอะไร ขอให้ได้ไป
ผมไปเดินตามสถานทูตต่างๆ ถามเขาว่ามีทุนไหม
ท้ายสุดไม่มีเลย ส่วนใหญ่เขาจะให้ทุน กับข้าราชการที่ทำงานแล้ว
กระทั่งมาเห็นทุนทุนหนึ่ง เขาให้ไปรัสเซีย เป็นทุนของคณะศิลปศาสตร์
ตกลงเลยไปรัสเซีย?
ไม่ ได้ไป- -ทีแรกตั้งใจจะไป แต่เพราะน้าผม ท่านเป็นน้าแท้ๆ
ชื่อคำรณ บุญเชิด มาเตือนว่าอนาคตยังอีกไกล
ค่อยๆ ดูก็ได้ ก็เลยไม่ไป ไปสมัครงานที่ ก.พ. แทน
แต่ทำได้เดือนเดียวก็ลาออก เพราะเบื่อ ไม่คิดเป็นผู้พิพากษา
ไม่ อยากเป็น ไม่ว่าผู้พิพากษาหรือ อัยการ เพราะว่าไม่ชอบเดินทาง
คือสมัยก่อนอัยการ ผู้พิพากษา เขาต้องเดินทางย้ายไปนั่นไปนี่
ผมไม่ชอบแบบนี้ และอีกอย่างผู้พิพากษาต้องวางตัวนิ่งๆ ชีวิตจืดๆ ชืดๆ
ในสายตาผม ซึ่งสมัยนี้ผู้พิพากษาไม่เป็นแบบนั้นแล้ว
แต่ผู้พิพากษาสมัยก่อนต้องวางตัวดีๆ ตีกอล์ฟยังไม่ได้เลย
แล้วสมัยก่อนผู้พิพากษาต้องไม่ออกไปกินเลี้ยง
ทำงานเสร็จกลับบ้านไปเขียนคำพิพากษาของตัวเอง
ต้องทำตัวนิ่งๆ ไม่คบคนมากนัก
เพราะคบแล้วอาจไปเจอคนที่เป็นคดี ก็จะลำบากใจ
เพราะฉะนั้นในอดีตที่ผ่านมาผู้พิพากษา
จะวางตัวให้เป็นที่เคารพนับถือ แต่ผมไม่ได้ว่าสมัยนี้นะ
ที่พูดมาก็คือภาพที่ผมมองเห็น ซึ่งผมว่าไม่ถูกกับบุคลิกของเรา
แล้วได้ไปเมืองนอกไหม?
ออก จาก ก.พ. มาสมัครเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ปี 2525
ผมสอบได้ที่ 1 พอเป็นอาจารย์ได้สองปีก็ไปเมืองนอก
ได้ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส ถ้าทุนของตัวเอง
คงไม่ได้ไปเพราะเราก็ลูกคนจน ไปเรียน 5 ปี
ที่มหาวิทยาลัยปารีส 2 เป็นมหาวิทยาลัยนิติศาสตร์ที่ดีที่สุดในฝรั่งเศส
ทำงานด้วยเรียนด้วย ที่จริงนักเรียนฝรั่งเศสไม่นิยมทำงาน
แต่ผมเป็นข้อยกเว้น ผมไปทำงานที่ร้านอาหารชื่อ
บ้านไทย ตอนนี้ก็ยังอยู่ ผมไปเสิร์ฟไม่ได้เป็นพ่อครัว
แต่ผมก็ทำอาหารเป็นนะ ทำเป็นทุกอย่าง
อร่อยไม่อร่อยไม่รู้ (หัวเราะ)
แกงเขียวหวาน พะโล้ แกงจืด ไข่เจียว ทำเป็นหมด
ลำบากครับชีวิตนักเรียนนอก
ไม่เหมือนดูในหนัง เรื่องจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย
จบจากนอกกลับมาเป็นอาจารย์ที่ มธ. กลับ
มาสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง
ที่สำคัญผมมา สอนวิชากฎหมายปกครอง ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมาอีก
เพราะวิชานี้ยังไม่มีใครสอน ผมเป็นคนแรกๆ ของประเทศไทยที่จบวิชานี้มา
แล้วเปิดวิชานี้เป็นคนแรกของคณะนิติศาสตร์
ระยะหลังการตีความของนักกฎหมายเป็นการมุ่งเอาชนะกัน
มันเป็นมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งเป็น เพียงแต่ว่าช่วงนี้ เราใช้กฎหมายมากขึ้น
แต่เป็นการใช้แบบศรีธนญชัย ซึ่งไม่ถูกต้อง อันนี้ผมเห็นด้วย
แต่การพูดว่านักกฎหมายก็ต้องแยกแยะนะ เพราะนักกฎหมายที่ดีๆ
เขาตีความตรงกันทั้งนั้นไม่มีปัญหา ผมยกตัวอย่าง เช่น ม.190
เรื่องการทำสัญญากับต่างประเทศ มีคนพยายามจะอธิบายว่า ม.190 นี่
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แย่มาก ทำให้รัฐบาลอ่อนแอทำสัญญากับใครไม่ได้เลย
นี่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะอาจารย์อยู่ในกลุ่มผู้ร่างด้วย ครับ
แต่ผมอยากบอกว่าให้ไปดูคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อปฏิรูปการเมือง
เขาเสนอแก้ ม.190 ไหม? ไม่ได้แก้ เขาเห็นว่า ม.190 เขียนดีอยู่แล้ว
มีปัญหานิดหน่อยแค่นั้นเอง แต่ว่าถ้าฟังคนโฆษณาชวนเชื่อ ม.190 มีปัญหา
มันตั้งใจทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เราต้องแก้มัน ต้องยกเลิก
ซึ่งมีบางเรื่องที่เป็นหลักการสำคัญ ผมยกตัวอย่างรัฐประหาร กันยายน 2549
ผมไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มีคนถามผมว่าไปร่วมกับเผด็จการได้ไง
ผมบอกผมไม่ได้ไปร่วมกับเผด็จการ (หัวเราะ) ผมนี่เรียนเรื่องรัฐธรรมนูญมา
สอนเรื่องนี้มา ถึงเวลาต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญ ถามว่าผมควรเข้าไปร่วมร่างไหม
ต่อให้ผมไม่ได้เป็นคนร่างแล้วมีคนอื่นร่าง ถามว่าถ้าผมไปร่วมร่าง
เนื้อหามันจะออกมาเป็นประชาธิปไตยไหม
ผมก็บอกว่าผมต้องพยายามให้เป็นประชาธิปไตย
เพราะผมก็มีศักดิ์มีศรีมีเกียรติยศ มีชื่อเสียง ผมไม่ใช่ไปทำตามใบสั่งใคร
และจริงๆ มันก็เป็นอย่างนั้น นี่ผมยืนยัน ผมคิดว่าเรื่องอุดมการ
เรื่องความรับผิดชอบทุกคนมีหมด เพียงแต่ว่าถึงเวลาทำงานจะทำงานยังไง
มันต้องอาศัยจุดยืนที่ชัดเจนเป็นกลางของตัวเอง
ผมเชื่อว่าทุกคนถ้าบอกว่าเป็นเหลืองเป็นแดง
ทุกคนก็จะบอกได้ว่าตัวเองยืนอยู่ข้างไหน แม้แต่คนที่บอกว่าเป็นกลาง
แต่ถ้าถามเขา เฮ้ย..คุณเป็นกลางก็จริงนะ
แต่ถามว่าเหลืองกับแดงคุณชอบฝั่งไหน คนเป็นกลางยังพูดได้ว่า
ชอบเหลืองหรือชอบแดง ณ ตอนนั้น
เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติเราต้องแยกให้ออก ในต่างประเทศเขาถึงยอมให้
ข้าราชการสังกัดพรรคการเมืองได้ แต่ว่าเวลาทำงานต้องวางตัวเป็นกลาง
เขาทำกันได้ ระบบมันก็ไปได้ดีพอสมควร ปรากฏการณ์เสื้อเหลือง-แดง
เป็นผลของการพัฒนาทางการเมืองหรือไม่? เปล่า
เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ตั้งใจ ผมคิดว่าไม่ใช่ผลของการพัฒนาทางประชาธิปไตย
แต่มันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่ง ที่หลายประเทศจะต้องเกิดขึ้น
รวมทั้งประเทศไทย เพียงแต่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่อดทนน้อย
เมื่อเทียบกับสังคมอื่น คนไทยเราทนไม่ค่อยได้ต้องลุกขึ้นมาจัดการ
ขั้นตอนนี้เราอาจผ่านโดยบังเอิญ ไม่ตายตัวว่าต้องผ่านสเต็ปนี้
ไปจึงจะพัฒนาประชาธิปไตย ผมมองโลกในแง่ดีนะ...
เรื่องยุบพรรคการเมืองรัฐธรรมนูญปี 50 มีเงื่อนงำ?
ไม่มีเลย ถ้าถามผม-คนมองจิ๊กซอว์มากเกินไป
คือมีคนมองว่า คมช.ตั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างก็ไปเขียน ม.237
เสร็จแล้วก็ไปตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ใช้ ม.237
คือถ้ามองอย่างนี้ โอ้โฮ...พล.อ.สนธิ ต้องเก่งมาก
วางแผนเนี้ยบเต็มที่ 100% ผมไม่เชื่อหรอกว่าใครทำได้ตามนี้ คือ ม.237
ง่ายๆ เลยว่าคนร่างเขาคิดว่า เฮ้ย! มันทุจริตเลือกตั้งมากมาย
ถ้าเอาแต่คนทุจริตไม่เอาหัวหน้าพรรคด้วย
ไม่เอากรรมการบริหารพรรคด้วยไม่เอาพรรคด้วย
มันจะแก้ปัญหาประเทศไทยได้ยังไง เขาคิดแค่นี้ ไม่ได้คิดมากไปกว่านั้น
และตอนที่เขาคิด เขาไม่คิดด้วยซ้ำว่ามาตรานี้จะได้ใช้ มันดันได้ใช้ (หัวเราะ)
ไม่น่าเชื่อเลย แต่ถ้าถามว่ามันดุเดือดรุนแรงไปไหม
มันดุเดือดรุนแรง ถึงตอนนี้การเมืองไทยไม่มีปฏิวัติรัฐประหารอีก?
ผมเป็นคนพูดมาตลอดว่ารัฐประหารจะมีในประเทศไทย
เพียงแต่ว่ารัฐประหารจะทำได้ยากขึ้น แล้วผู้ที่ทำรัฐประหารก็ได้
บทเรียนจากการทำรัฐประหารทั้งนั้น
ฉะนั้น คนที่จะทำรัฐประหารนั้นผมว่าทำยาก
แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ และผมคิดว่ายังมีรัฐประหารในไทยอีก
ตราบใดที่คนไทยอดทนไม่พอ รัฐประหารก็มา
เป้าหมายการทำงานในตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.
เราพยายามทุกอย่างเพื่อทำให้วิชาการของคณะดีขึ้น
และโดยรวมแล้วคะแนนของนักศึกษานิติศาสตร์ มธ.สูงขึ้น
จีพีเอของนักศึกษาที่สอบเข้าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7
แต่ข้อด้อยของ ธรรมศาสตร์อันหนึ่ง คือเราย้ายไปอยู่รังสิต
ซึ่งพ่อแม่จำนวนหนึ่งไม่ให้ลูกไปเรียนเพราะถือว่าไกล
แต่ผมว่าถ้าเขาไปแล้วปีหนึ่งผ่านไปเขาจะเปลี่ยนความคิด
โดยรวมแล้วเราดูแลนักศึกษาได้ดีพอสมควร
สิ่งที่เราพยายามพูดถึงมาก ที่สุด คือปัจจุบันเรามีอาจารย์ 78 คน
กำลังขอเพิ่มอีก 5 คน เป็น 83 คน มากที่สุดในประเทศไทย
และเรามีศาสตราจารย์ทั้งหมด 11 คน
ซึ่งถือว่ามากที่สุดในนิติศาสตร์ของประเทศไทย
มากที่สุดของสังคมศาสตร์ของประเทศไทยด้วย
เพราะฉะนั้นเป้าหมายของผมก็คือ
เราต้องเป็น "เดอะ เบสท์" ไม่ใช่แค่ของประเทศไทยเท่านั้น
แต่เราอยากเป็นนิติศาสตร์อันดับ 1 ของเอเชีย
ความจริงพูดได้เลยว่ากฎหมายมหาชนของเรา
เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
และเรามีการเปิดสาขากฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศไทย
ซึ่งที่อื่นเขาไม่มี เรามีสาขากฎหมายภาษี
เป็นโฉมใหม่ของคณะนิติศาสตร์ มธ.
และเราขยายไปสู่ต่างประเทศมากขึ้นด้วย
ผมเชื่อว่าจะเลือกเรียนนิติศาสตร์ที่ไหน
พ่อแม่ผู้ปกครองยังพูดถึงนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
เป็นอันดับ 1 ของประเทศ เป้าหมายอนาคตเป็นอธิการบดี
ผมเป็นแคนดิเดตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมัยหน้า อายุยังน้อย ไม่น้อยหรอกครับ 50 แล้ว
เพียงแต่ผมหน้าอ่อนเท่านั้นเอง (หัวเราะ)
คนชอบชมผมหน้าอ่อน ลองเทียบผมกับอาจารย์สุรพลก็แล้วกัน
รุ่นเดียวกันแต่อาจารย์สุรพลดูไปก่อนผมสักสิบปี (หัวเราะเสียงดัง)
ผม ไม่ได้ชอบนะเวลาคนคิดว่าเราเด็ก
มันหมายถึงว่าเราไม่เหมาะที่จะเป็นนั่นนี่
อย่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถามว่าเขาอายุเท่าไหร่ 45 แล้ว
ไม่เด็กแล้วนะครับ ผมว่าไม่แฟร์กับเขาที่คนไทยคิดว่าเด็ก
ผมอยู่ฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีเขาอายุ 30 อายุน้อยหมด
ผมเองก็ไม่เด็กร่างรัฐธรรมนูญมาตั้ง 2 ฉบับแล้ว
"เรื่องหน้าผมว่าไม่สำคัญหรอก
สำคัญที่ความมีวุฒิภาวะมีไหม"
หน้า 17 






วิสัยทัศน์ผู้ชิง"อธิการบดี มธ."คนใหม่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ "ผมมีความคิดที่จะย้ายนักศึกษาชั้นปี 1-2 และบางคณะ กลับมาเรียนที่ท่าพระจันทร์เหมือนในอดีต" มติชนรายวัน วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553 วิสัยทัศน์ผู้ชิง"อธิการบดี มธ."คนใหม่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ หมายเหตุ - "มติชน" ทยอยลงบทสัมภาษณ์ต่อเนื่องของ ผู้ประกาศตัวเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คนใหม่ เกี่ยวกับวิสัยทัศน์การบริหาร มธ. หลังจากที่ฉบับก่อนหน้านี้ได้ลงบทสัมภาษณ์ของ รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. และ รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. และนายกธรรมศาสตร์สโมสร ฉบับนี้ขอนำเสนอวิสัยทัศน์ของ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี มธ. ฝ่ายการคลัง เจ้าของสโลแกน "ผมอยากเห็นธรรมศาสตร์พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง" ซึ่งล่าสุด ศ.ดร.สมคิดชนะการหยั่งเสียงสูงสุดใน 30 หน่วยงาน โดยได้คะแนนสนับสนุนจากสายเจ้าหน้าที่และอาจารย์ 1,724 คะแนน และสายนักศึกษา 1,237 คะแนน ขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มธ. ที่มีนายมารุต บุนนาค เป็นประธาน จะทำหนังสือทาบทามเข้ารับการสรรหา ซึ่งน่าจะรวมถึง รศ.ดร.กำชัย ที่ชนะการหยั่งเสียงใน 13 หน่วยงาน ได้คะแนนจากสายเจ้าหน้าที่และอาจารย์ 854 คะแนน และสายนักศึกษา 468 คน และ รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ ที่ได้คะแนนจากสายเจ้าหน้าที่และอาจารย์ 352 คะแนน และสายนักศึกษา 706 คะแนน "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศตัวว่า เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ดังนั้น ผมจึงอยากเห็นธรรมศาสตร์เน้นการวิจัย เน้นวิชาการและพัฒนาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งคงต้องรับอาจารย์วุฒิปริญญาเอกเข้ามามากๆ และมีอาจารย์ระดับศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ให้มากด้วย มธ.จึงจะอยู่ได้ด้วยคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกศิษย์มีคุณภาพดีตามไปด้วย ผมอยากให้ธรรมศาสตร์เป็นแหล่งชุมนุมของผู้มีความรู้ ทั้งอาจารย์ นักศึกษาและผู้ที่ต้องการเข้ามาใฝ่หาความรู้ ที่สำคัญผมอยากให้ธรรมศาสตร์ กลับไปเน้นจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ คือผลิตบัณฑิตที่รักประชาธิปไตย กล้าตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รักความเป็นธรรม กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง" "นักศึกษาเปรียบเหมือน เมล็ดที่ตกอยู่ที่ไหนก็จะงอกเงย ช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ผมอยากเห็นภาพนี้อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า บรรยากาศการเมืองในธรรมศาสตร์หายไป ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากไม่มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีในท่าพระจันทร์ เพราะย้ายไปอยู่ที่ศูนย์รังสิตหมด ตอนนี้ท่าพระจันทร์เงียบมาก แทบจะไม่เห็นบรรยากาศทางวิชาการเหมือนในอดีต ผมจึงมีความคิดที่จะย้ายนักศึกษาชั้นปี 1-2 และบางคณะ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น กลับมาเรียนที่ท่าพระจันทร์เหมือนในอดีต เพราะท่าพระจันทร์เป็นจุดเริ่มต้นของ มธ. เราต้องธำรงรักษาสถานที่และจิตวิญญาณของท่าพระจันทร์ตลอดไป แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยว่า จะมีมติอย่างไร รวมทั้งจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้ดี โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนที่อาจจะ ต้องเดินทางระหว่างท่าพระจันทร์กับรังสิต อย่างไรก็ตาม คิดว่าประชาคมนักศึกษาคงไม่มีใครต่อต้าน เพราะส่วนใหญ่ต้องการมาเรียนที่ท่าพระจันทร์กันทั้งนั้น" "นอกจากนี้ ผมอยากให้ มธ.มีโรงเรียนธรรมศาสตร์วิทยานุสรณ์ ลักษณะเดียวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เพื่อผลิตเด็กเก่งด้านวิทยาศาสตร์ระดับชั้น ม.4-6 ป้อนให้กับ มธ. ตลอดจนจะปรับปรุง มธ.ให้ทันสมัย ในเรื่องหอพักของนักศึกษาและบุคลากร ผมได้ยินนักศึกษาบ่นเรื่องนี้กันมาก ซึ่งคงต้องนั่งพูดคุยกับนักศึกษาว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาด้วยวิธีใด เรื่องหอพักบุคลากร มธ.ต้องจัดให้เพียงพอ โดยถือว่าเป็นสวัสดิการและขวัญกำลังใจของทุกคน ทั้งนี้ การที่ มธ.อยู่ที่รังสิตเราเสียเปรียบ มหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมืองพอสมควร แต่เราไม่ควรยอมรับสภาพ เราควรพัฒนาชีวิตนักศึกษาให้ดีขึ้น ผมอยากให้นักศึกษาที่รังสิตมีชีวิตที่ดีแบบเดียวกับที่ท่าพระจันทร์ หาอาหารกินง่าย ปลอดภัย และราคาไม่แพง มีห้องสมุดที่ดี มีห้องเรียนที่ทันสมัย ผมคาดหวังว่า มธ.ในอนาคตจะต้องเป็นศูนย์รวมของผู้รู้ทางวิชาการ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็น University of creative incubator และนำความรู้ดังกล่าวไปชี้นำสังคม มีศักยภาพในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และบุคลากรและนักศึกษาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและยั่งยืน" "ผม อยากจะให้ธรรมศาสตร์มีวัน sport day เพราะธรรมศาสตร์อาจเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่มี sport complex สมบูรณ์ภายในมหาวิทยาลัย เรามีศูนย์กีฬาที่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถดูแลอยู่ เราจึงควรส่งเสริมให้นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่เล่นกีฬา เหมือนกับหลายหน่วยงานที่กำหนดให้มีวัน sport day ซึ่งกีฬาจะทำให้คนธรรมศาสตร์ไม่มีโรคภัย ส่วนโรงพยาบาล มธ.ในอนาคต จะต้องเป็นโรงพยาบาลด้านการวิจัยควบคู่ไปกับโรงพยาบาลรักษาคนไข้ ที่สำคัญจะต้องเพิ่มบุคลากรของโรงพยาบาลในด้านต่างๆ ให้เพียงพอด้วย รวมทั้งเพิ่มการให้บริการแก่บุคลากรของเรา ผมจะสนับสนุนเต็มที่ให้มีศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง โดยแรกๆ อาจมีสัก 2-3 ศูนย์ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศในการตรวจพิเคราะห์โรค ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสมุนไพร และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพ แล้วค่อยขยับขยายออกไปให้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งควรมีศูนย์เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ เราต้องหางบประมาณมาทำเรื่องพวกนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วงานวิจัยของ มธ.ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวะ แพทย์คงไม่ก้าวไกล ศูนย์เครื่องมือที่อาจมีเช่น เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพและอณูชีววิทยา ศูนย์เครื่องมือวิจัยด้านการวิเคราะห์เคมีและวัสดุศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือด้านการวิจัยทางฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น" " ผมอยากเห็น มธ.ศูนย์รังสิตในอนาคตเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ ทั้งด้านวิชาการ คือมีครบทุกสาขา ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ และสาธารณสุข สมบูรณ์แบบด้านการวิจัย คือ มธ.จะมีศูนย์เครื่องมือ มีศูนย์ความเป็นเลิศ มีการจดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร พร้อมร่วมมือกับทั้งสถาบัน A.I.T. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมีความสมบูรณ์แบบด้านที่พักอาศัย ที่สามารถรองรับทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาอย่างเพียงพอ สมบูรณ์แบบด้านสนามกีฬา ที่มีสนามกีฬาทุกประเภท สมบูรณ์แบบด้านการแพทย์ โดยมีจุดเน้นเฉพาะทาง ซึ่งเราจะก้าวไปอย่างนั้นได้ ตัวอธิการบดีจะต้องทำงานหนัก วิสัยทัศน์ต้องชัดเจน โดยมีคนใน มธ.ช่วยกันขับเคลื่อนไปข้างหน้า" " สำหรับ มธ.ศูนย์ลำปางในอนาคตจะต้องดีขึ้น ต้องพัฒนามากกว่าในปัจจุบัน ทุกวันนี้แม้ว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังพัฒนาได้ไม่เท่าท่าพระจันทร์ และรังสิต ผมจะพัฒนาให้ศูนย์ลำปางเป็นที่เชิดหน้าชูตา ในภาคเหนืออย่างเต็มภาคภูมิ เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ ที่ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ที่สอดคล้อง กับสภาพพื้นที่ และวัฒนธรรมของชาวภาคเหนืออย่างแท้จริง ส่วน มธ.ศูนย์พัทยา เราวางแผนให้เป็นศูนย์ด้านการฝึกอบรม ศูนย์ด้านการปกครองท้องถิ่น และการเรียนการสอนระดับปริญญาโท ซึ่งทิศทางนี้ถูกต้องแล้ว ผมจะขยายจำนวนห้องของโรงแรมเพิ่มขึ้น ปรับปรุงด้านกายภาพ และส่งเสริมให้ คณะที่จัดการเรียนการสอนอยู่แล้วให้พัฒนาได้อย่างเต็มที่" " ส่วนเรื่องการผลักดัน มธ.ออกนอกระบบราชการนั้น ขณะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำมาตั้งแต่สมัย รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร เป็นอธิการบดี เข้าใจว่ามีการทบทวนในระดับคณะ/มหาวิทยาลัย/สภามหาวิทยาลัยหลายครั้ง และน่าจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วด้วย ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากเปลี่ยน สถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของ รัฐไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ ดังนั้น การจะดำรงสภาพมหาวิทยาลัยในส่วนราชการต่อไป อาจทำให้ธรรมศาสตร์ล้าหลังกว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสภาพไปแล้ว ก็มีปัญหามากพอสมควร ธรรมศาสตร์ จึงต้องระมัดระวังกับการเปลี่ยนสภาพไปด้วย"