Custom Search

Apr 1, 2009

สมเด็จพระเทพฯ กับการส่งเสริมไอที เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับการส่งเสริมไอที เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


วันที่ 2 เมษายน 2552



...แวดวงชีวิตของฉันแต่ไหนแต่ไรมามีอยู่สองประการ คือ

วงวิชาการ แวดวงของครูบาอาจารย์
ผู้รู้ในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งในสายศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยี
กับอีกวงการ คือเรื่องของการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า
...งานที่เห็นพ่อแม่ทำมาตลอดตั้งแต่รู้ความคือ
การทำให้ผืนแผ่นดินและทุกคนในแผ่นดินมีความเจริญรุ่งเรือง
เน้นหนักในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่มีความทุกข์ยาก
เราคลุกคลีอยู่กับคนที่ลำบากยากแค้น หาทางบรรเทาความเดือดร้อนของคน...

พระราชดำรัสดังกล่าวเป็นตอนหนึ่งจากบทพระราชนิพนธ์ในหนังสือทัศนะจากอินเดีย

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ เจ้าฟ้านักพัฒนา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ที่ทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์จากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้
อีกทั้งยังทรงเป็นนักพัฒนาที่ดำรงมั่นในอุดมการณ์มนุษยนิยม
ทรงตระหนักถึงความสำคัญของศาสตร์ต่างๆ ที่นำมาบูรณาการ
ประยุกต์ใช้กับงานพัฒนา จึงทรงใฝ่พระทัยเรียนรู้ศาสตร์แขนงใหม่ๆ
อย่างต่อเนื่อง ด้วยพระราชปณิธานแน่วแน่ในการช่วยเหลือประชาชน
ได้ทรงค้นหาแนวทางและวิธีการพัฒนาที่เหมาะสมอยู่เป็นนิจ

จากการทรงงานในหลายๆพื้นที่ ทำให้ได้ทรงเรียนรู้ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งไอซีที (อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เทคโนโลยี)
เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การพัฒนาเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น
และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้
การสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆพร้อมกับขับเคลื่อนให้ชุมชนชาวบ้าน
สามารถพึ่งตนเองได้มากยิ่งขึ้น

ในฐานะเจ้าฟ้านักพัฒนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้ทรงแสดงปาฐกถานำ เรื่อง “ไอซีที สานความรู้และเทคโนโลยี สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ในการประชุมแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)
ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2551 ณ กรุงอักกรา สาธารณรัฐกานา แอฟริกา
นับเป็นตัวอย่างอันดีที่สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรชาวไทย
“การพัฒนาคือกระบวนการที่นำไป สู่ความเจริญก้าวหน้า
หรือการเปลี่ยน แปลงที่ดีขึ้น การพัฒนาขึ้นอยู่กับปัจจัยด้าน วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ศาสนา เชื้อชาติ สภาพเศรษฐกิจ และสังคม การพัฒนาเป็นเรื่องที่ต้องใช้ ความรู้และเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีที่เหมาะสม และเทคโนโลยีพื้นบ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ มักจะเป็นกรณีที่นักพัฒนามีความมุ่งมั่นเอาใจใส่ รับผิดชอบ และเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น กล่าวคือ การพัฒนาเกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมและจิตใจอย่างมาก”

สำหรับพระองค์แล้ว การพัฒนาความสามารถของคน

คือกุญแจไขไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทรงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างลุ่มลึกว่า
“การพัฒนาจะยั่งยืนมิได้ หากประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ความยั่งยืนเกิดจากการที่นักพัฒนาถ่ายทอดความรู้ อุดมการณ์ และความตั้งใจ สู่รุ่นต่อๆไป ที่สำคัญคือ ต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรุ่นลูกหลาน เพื่อให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ความยั่งยืนจะขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพของประชาชน เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาต่อไปได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาคนภายนอกตลอดเวลา

...ดังนั้น กุญแจของการพัฒนา คือ การให้การศึกษาและฝึกอบรม ในประสบการณ์ของข้าพเจ้า วิธีดั้งเดิมคือการสร้างโรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ศูนย์ถ่ายทอดความรู้และศูนย์สาธิตการพัฒนา ซึ่งยังเป็นวิธีการที่ใช้ได้ดี ที่ทำให้ผู้คนในชุมชนชนบทห่างไกล มีโอกาสรับการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ

...ระยะแรกของการพัฒนา มักจะเริ่มด้วยการแก้ปัญหาพื้นฐาน ได้แก่ การมีอาหารไม่พอกิน ซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และปัญหาสาธารณูปโภค เช่น ปัญหาแหล่งน้ำ เป็นต้น ดังนั้น การศึกษาเพื่อการพัฒนาในช่วงแรก จึงควรมุ่งเพิ่มผลผลิตการเกษตร ดูแลสุขภาพ และสุขลักษณะเสียก่อน ในอนาคต การศึกษายิ่งมีบทบาทมากขึ้น และจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จะเปิดประตูสู่โลกกว้างของความรู้ และเทคโนโลยี”

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสนอแนะแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยขยายผลไปยังวงกว้าง

“วิธีการทำงานของข้าพ เจ้าคือ เริ่มต้นทดลองทำเล็กๆ ทำให้สำเร็จ จึงค่อย ขยายผล ไม่ใช่ เริ่มต้น ก็ทำงานใหญ่โตเลยทีเดียว ในช่วง พ.ศ.2520 ข้าพเจ้าพบเห็นปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในวัยเรียน จึงเริ่มคิดหาระบบที่จะกระจายอาหาร ไปสู่ผู้ขาดแคลน ประเทศของเรามีอาหารมาก แต่การกระจายของอาหารยังไม่ดีนัก ข้าพเจ้าต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย เพราะคงไม่มีใครมีเงินมากพอที่จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด และในตอนนั้น ข้าพเจ้าเป็นเพียงบัณฑิตจบใหม่ จึงต้องทำโครงการขนาดเล็ก ที่ข้าพเจ้าพอจะควักกระเป๋าของตัวเองได้ ข้าพเจ้าคัดเลือกโรงเรียนในส่วนกลางที่ไม่วิกฤตินัก แต่ก็ไม่ใช่ร่ำรวยเป็นจุดเริ่มต้น จำนวนก็ต้องไม่มากเกินกว่าที่ข้าพเจ้าจะจัดการได้ จึงเลือกเพียง 3 แห่ง ไม่ใช่เป็นพันแห่ง และยังไม่คลุมไปถึงภาคใต้ ในตอนนั้น ปัจจุบัน มีการขยายโครงการไปยังท้องถิ่นที่ท้าทายมากขึ้น

...ตอนเริ่มต้น ข้าพเจ้าขอให้เด็กและโรงเรียนปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อลดค่าใช้จ่าย ตอนแรกสามารถเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กได้สัปดาห์ละครั้ง ต่อมาเพิ่มเป็นสัปดาห์ละสองครั้ง จนกระทั่งทุกวันทำการ และทุกวันทุกมื้อสำหรับนักเรียนที่อยู่ประจำ ในระยะแรกนี้มีการสำรวจ การวิจัย และพัฒนามากมาย

...ประการที่สอง ข้าพเจ้าเน้นเรื่องการติดตามและประเมินผลตลอดโครงการ เมื่อเห็นว่ามีความเป็นไปได้ ข้าพเจ้าจึงมอบสิ่งที่ทดสอบแล้วว่าได้ผลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

...ไอซีทีและเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถย่นระยะเวลาการทดลองลงได้ การทดลองเช่นนี้มีความสำคัญ อีกประการหนึ่ง คือ เป็นเสมือนวิธีการจัดการความเสี่ยง ถ้าเราจะเริ่มโครงการใด เช่น บอกให้เกษตรกรปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใด ย่อมมีความเสี่ยงมากมาย อาทิ ภูมิอากาศอาจแปรปรวน เกษตรกรจึงเสี่ยงต่อการล้มละลาย และมีความเดือดร้อนตามมา โดยที่หน่วยงานเอกชน หรือรัฐ ที่แนะนำ ให้เขาปลูกยังไม่ต้องรับผิดชอบในช่วงนี้ ดังนั้น การทดลองนำร่องจนเรามั่นใจว่างานนั้นทำได้จริง จึงนับว่าเป็นการจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่ง


...ข้าพเจ้าเชื่อว่า การสร้างศักยภาพด้วยการลงมือทำการวิจัยและพัฒนาด้วยตนเองนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเรามีความสามารถที่เราพัฒนาขึ้นมาเอง การพัฒนานั้นจะยั่งยืน เพราะในระยะยาว เราไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีของผู้อื่นตลอดไป”

และด้วยความที่ทรงตระหนักถึงศักยภาพของไอซีที ในฐานะเครื่องมือสำคัญนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้จัดตั้งกองทุนไอซีทีขึ้น เมื่อ พ.ศ.2539 โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 4 กลุ่ม คือ นักเรียนในชนบท คนพิการ เด็กที่ป่วยในโรงพยาบาล และผู้ต้องโทษคุมขัง นอกจากนี้ ยังใช้กับระบบการศึกษาทางไกลและฐานข้อมูลด้วย

“เมื่อ พ.ศ. 2539 ข้าพเจ้าจัดตั้งกองทุนไอซีทีขึ้น เพื่อส่งเสริมการ ใช้ไอซีทีในการเพิ่มคุณภาพชีวิต พัฒนาการศึกษา และเพิ่มโอกาสการทำงานแก่ผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์จากการใช้ไอซีที เพิ่มขึ้น หรือให้เขาสามารถแก้ปัญหาได้ดีขึ้นด้วยไอซีที เพื่อจะได้เป็น พลเมืองที่สามารถเข้าร่วมการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศเต็มที่ อย่างน้อยที่สุด ข้าพเจ้าหวังว่า เขาจะสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทัน สมัยในการหาเลี้ยงชีพ เมื่อเขาจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว”

จากประสบการณ์ ในการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีข้อเสนอแนะ ไว้หลายประการ เพื่อส่งเสริมการใช้ไอซีทีให้เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาในอนาคต สรุปได้ใจความว่า ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆด้วย เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการในแต่ละท้องถิ่นที่ต่างกัน ความร่วมมือจากภาคเอกชน การขยายสังคมผ่านความรู้ไปสู่ชนบท การสนับสนุนให้มีการวิจัย และศึกษาด้านไอซีที รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศที่มีศักยภาพไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา โดยทรงขอให้องค์การ UNCTAD ทำหน้าที่ประสานกับประเทศต่างๆ รวมทั้งให้ความรู้ด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร และการจดทะเบียนแก่นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี รุ่นใหม่
เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ปวงประชาราษฎร์ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ทรงงานหนักยิ่ง อีกทั้งยังทรงเป็นนักพัฒนาตัวอย่าง ที่ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของพสกนิกรทั่วทุกหมู่เหล่า สมแล้วที่ทรงเป็น “รัตนะแห่งเทพ” เจ้าฟ้าแห่งแผ่นดินของปวงชนชาวไทย
เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ครบ 54 พรรษา ในวันที่ 2 เม.ย. 2552 ขอจงทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง และทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้าศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ

เลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ