Custom Search

Apr 15, 2009

คำสอน "พอดี" เมื่อ 70 ปีก่อน

หม่อมเจ้าหญิง พิตรจิราภา เทวกุล
อดีตอาจารย์ใหญ่และผู้จัดการของโรงเรียนราชินี
และ โรงเรียนราชินีบน


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

เมื่อ 70 ปีมาแล้ว ได้มีคำสอนเรื่อง "ความพอดี"
สำหรับกุลบุตรกุลธิดาซึ่งเกี่ยวพันกับ
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในปัจจุบันอย่างน่าสนใจ
วารสารข่าวโรงเรียนราชินี "ราชินยานุสาร"
ฉบับมกราคม-มีนาคม 2552
ได้ตีพิมพ์บทความ "ความพอดี"
บทพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล
อดีตท่านอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินี องค์ผู้มีคุณูปการต่อโรงเรียน
ในฐานะนักเรียนเก่าราชินี
(โรงเรียนนี้มีเด็กผู้ชายเรียนด้วยในชั้นประถมมายาวนานจนถึงปัจจุบันครับ)
ซึ่งภาคภูมิใจในโรงเรียน เคารพนับถือในท่านอาจารย์ใหญ่
ขออนุญาตนำมาสื่อต่อ
"ความพอดีคือความพอเหมาะพอควร
ไม่มากไปหรือน้อยไป
เช่น เราจะตัดเสื้อใส่เราก็ต้องการพอดีกับตัว
ไม่คับหรือหลวม
เราจะผัดหน้า เราก็ใช้แป้งพอนวล
ไม่ถึงกับจะทำให้หน้าขาว ป้อกว็อก
แม้เราจะชอบแต่งตัวตามสมัยนิยม
จะเขียนคิ้วทาปากอะไร
เราก็คงทำแต่พอรับหน้า
มิให้ปากแดงจัดหรือคิ้วดำปี๋ผิดธรรมดาจนดูกลายเป็นนางปีศาจ
และไม่ทำในระหว่างที่เป็นนักเรียนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(นอกจากเวลาจะเล่นละคร)
เพราะจะหย่อนซึ่งความสุภาพสมมุติว่าเราจะปรุงอาหาร
ถ้าเป็นของคาวเราก็คงเหยาะน้ำปลาหรือเกลือลงไป
และชิมดูให้เพียงพอดีมิให้เค็มจี๊ดหรือจืดชืด
ถ้าเป็นของหวานมัน เราก็ต้องปรุงน้ำตาลและกะทิพอควร
มิให้หวานแสบไส้หรือเลี่ยนจนกลืนไม่ลง
ถ้าเป็นของที่จะต้องอมรสเปรี้ยว เช่น แกงส้มหรือต้มยำ
เราก็ต้องไม่ยอมให้เปรี้ยวแปร๊ดไปท่าเดียว
ต้องเจือเค็มเจือหวานด้วย ให้รสดีกลมกล่อม
ในการหุงข้าว เราก็หุงให้ละมุนละไม
ไม่ใช่สวยกรากหรือเปียกแฉะในการบริโภคอาหาร
ถ้าเรารับประทานมากเกินไป ก็จะอึดอัด ไม่สบาย
และอาจอ้วนเทอะทะได้
ถ้ารับประทานน้อยไปก็อาจเพลีย
ไม่มีกำลังจะประกอบกิจการหรือเล่าเรียน
และอาจผอมโซเซได้
ฉะนั้นจึงควรบริโภคแต่พออิ่มเพื่อให้มีแรงทำงานและต้านทานโรคภัย
ในการเรียนเราต้องหมั่นและเอาใจใส่ในการเล่าเรียน
โดยพักผ่อนบ้างตามควร
ไม่ใช่ขยันไปท่าเดียวโดยไม่เว้นว่างจนหัวสมองมึน
หรือเอาแต่เล่นไปท่าเดียว
ไม่ว่านอกหรือในห้องเรียน
ซึ่งจะทำให้โง่ไม่ได้ความรู้อะไรในการเที่ยว
เช่น ดูหนังหรือซื้อของ หรือขับรถตากลม
เราควรเที่ยวเท่าที่ผู้ปกครองจะพาไปได้
หรืออนุญาตให้ไป ต้องเที่ยวอย่างที่เรียกว่าพอหอมปากหอมคอ
ไม่รบเร้าหรือกวนใจผู้ปกครองเกินไป
ทั้งต้องสำรวมอิริยาบถ ไม่เอิกอึงจุ้นจ้านให้ขึ้นชื่อถึงวงศ์ตระกูลและหมู่คณะ
เพราะถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าสมัยโบราณซึ่งหญิงสาวถูกกักไว้ราวกับนักโทษ
นอกจากเทศกาลทำบุญ
นานทีปีหนจึงจะได้ปล่อยออกไปรื่นเริงกันกับเพื่อนบ้านบ้าง
ในการพูด เราต้องพูดพอสมควร ให้ถูกกาลเทศะ
ไม่ใช่พูดมากจนน้ำลายเป็นฟอง
ไม่มีใครเชื่อถ้อยฟังคำคนช่างพูด
ต่างกันกับคนพูดมาก
คือเป็นคนมีศิลปะในการพูด
รู้จักพูดให้ผู้ฟังรู้สึกสนุกและชอบ
รู้จักปลอบใจผู้เศร้าโศก
รู้จักโน้มใจผู้ดื้อกระด้างให้เชื่อตามและอ่อนโยน
ในการใช้จ่ายอะไรก็เหมือนกัน
เราต้องดูว่าเงินที่บิดามารดาให้สำหรับจ่ายนั้นมีเท่าใด
และควรจ่ายเพียงเท่าที่มีอยู่หรือน้อยกว่านั้น
อย่าให้ถึงเป็นหนี้เขา ซึ่งจะเรียกว่าพอดีไม่ได้การวิ่งมาก
อาจทำให้ร่างกายประเปรียวก็จริงอยู่
แต่อาจทำให้ผอมเกร็งเกินไป
ส่วนคนที่นั่งเรียบร้อยอยู่วันยังค่ำ ก็ไม่เหมาะอีก
จะทำให้กะปลกกะเปลี้ย เดินวิ่งไม่คล่องแคล่ว
นอนมากไป ก็ทำให้ใจคอหดหู่ เมื่อยหลังไหล่
นอนน้อยไปก็ทำให้โผเผ ใจคอหงุดหงิด
ในการตักเตือนน้องสาว เพื่อนผู้อ่อนกว่า หรือคนใช้ก็ดี
เราควรว่ากล่าวแต่พอสมควร อย่าดุว่าเซ้าซี้ร่ำไรไม่รู้จักจบ
ผู้น้อยจะเบื่อ และไม่เชื่อถ้อยฟังคำเรา
เคยได้ยินผู้ใหญ่ชมว่า "คนนั้นดี เป็นคนไม่มากไม่น้อย"
แปลว่าเขาประพฤติตัวพอดีพอสมควรนั่นเอง
การจะทำอะไรให้พอดีและต้องด้วยกาลเทศะนั้น
ต้องระวังมิให้พอดีจนเกินไปมิฉะนั้นจะเสียการเสียงาน
ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้บ้าง
เช่น เรารู้อยู่ว่ารถไฟจะออกโมงเช้า
และเราจะไปรถไฟสายนั้น
เราก็ต้องออกจากบ้านอย่างช้าครึ่งชั่วโมงก่อนโมงเช้า
เผื่อว่านาฬิกาของเราจะเดินช้าไปบ้าง
เราก็ยังจะได้ไปทันรถไฟตามประสงค์
บางทีเราก็บ่นต่อสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ
เช่น ฝนตกมากเราก็บ่นว่าฝนตกเฉอะแฉะไปไหนไม่สะดวก
ครั้นฝนตกน้อย เราก็บ่นอีกว่าฝนตกน้อย
ไม่ทำให้หายร้อน
เวลาหนาวมาก เราก็บ่นว่าหนาวเหลือเกิน
ผ้าห่มกี่ชั้นไม่พอ
ครั้นหนาวน้อยก็บ่นอีกว่าปีนี้ร้อนตลอดปีไม่มีหน้าหนาวเลย
เวลาน้ำมาก เราก็บ่นว่า น้ำท่วมต้นไม้ตาย
ครั้นน้ำน้อยก็บ่นว่าเล่นเรือไม่สนุก
เวลาแดดมาก เราก็บ่นว่า แดดจัดจนร้อนอบอ้าว
และสายตาพร่าไปหมด
ครั้นแดดน้อย เราก็บ่นอีกว่าแดดน้อย
ตากอะไรไม่ค่อยแห้ง
ที่เราบ่นทั้งนี้อาจเป็นเพราะเราชอบจู้จี้ต่อความไม่พอดีของธรรมชาติ
ซึ่งตัวเราเองก็ทำให้พอดีไม่ได้หรือ
เพราะเราชอบความพอดีนั่นเองการจะทำอะไรให้ดีเกินไป
สุดแต่ได้ยินว่าใครเขาทำอะไรดีก็ทำพุ่งๆ
ไปโดยไม่รู้การละเอียด
และไม่รู้จักกาลเทศะนั้นไร้ประโยชน์และเป็นการแสดงความโง่อย่างน่าขัน
ดังนิยายที่เขาเล่ากันว่า
มีสามีภรรยาคู่หนึ่งภรรยาเป็นผู้ไม่ได้รับการศึกษาเลย
ฝ่ายสามีก็เป็นครูชนิดที่อธิบายอะไรให้ศิษย์เข้าใจไม่ได้ พอเหมาะกัน
วันหนึ่งสามีไปกินข้าวกับเพื่อน เห็นภรรยาของเพื่อนซึ่งช่างแต่งตัวและช่างปรนนิบัติ
ก็อยากให้ภรรยาของตนเป็นเช่นนั้นบ้าง
จึงไปเล่าให้ภรรยาฟังว่า เมียของเพื่อนนั้นเขาช่างแต่งตัว
(สมัยเก่าผู้หญิงไว้ผมปีก และไรผมที่เคยไว้จุกแต่ก่อนก็เขียนไว้เป็นวงกลมรอบศีรษะ)
ไรผมของเขานั้นกลมเป็นเสวียนหม้อทีเดียว
กับข้าวของกินของเขาก็โรยผักชีทั้งนั้น
และพอสามีเขาเรียกภรรยาก็ขานเสียงหวานดังนกกาเหว่า
ภรรยาเมื่อได้ยินเสียงเช่นนี้ก็จำใส่ใจ
และวันหลังพอสามีกลับบ้าน ก็ได้เห็นเสวียนหม้ออยู่บนหัวเมีย
พอจะกินข้าวก็ได้เห็นผักชีโรยอยู่ จนกระทั่งในขันน้ำ
และพอเรียกหาภรรยา
ก็ได้ยินเสียงขานว่า "กาเว้า"
เท่าที่บรรยายมานี้ ก็เห็นได้แล้วว่า
ความพอดีนั้นสำคัญเพียงไร และการกระทำอะไรพอดี
และต้องด้วยกาลเทศะนั้น เป็นการสำคัญยิ่ง
(กาลเทศะ แปลว่า เหมาะแก่เวลาและสถานที่)
การที่ทำอะไรให้พอดี แต่ไม่ต้องด้วยกาลเทศะนั้น
เป็นการเกินพอดี เช่น นักเรียนบางคนในโรงเรียนนี้สวมเสื้อพอดีเกินไป
จนไหล่หู่และชักจะหลังโก่ง ควรแก้เสื้อให้หลวมอีกสักนิด
พอให้เดินอกผายไหล่ผึ่ง เป็นสง่าได้"
การรู้จักสัดส่วนที่พอเหมาะดังที่ฝรั่งพูดว่ามี sense of proportion
สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความพอดี
ภาษาสมัยนี้เรียกคนที่ทำอะไรอย่างขาด sense นี้ว่า "เว่อร์"
และความ "เว่อร์" นี้สามารถทำร้ายผู้คนได้ฉกาจฉกรรจ์อย่างที่เราได้เห็นกัน
หน้า 6