Custom Search

Apr 17, 2009

กราฟิกดีไซน์ : กิจกรรมหรือวิชาชีพ?


ดีไซน์ คัลเจอร์
ประชา สุวีรานนท์
มติชนสุดสัปดาห์
กราฟิกดีไซน์เนอร์คือใคร ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ตอบไม่ยาก
เขาคือกลุ่มคนที่มีความรู้พิเศษเกี่ยวกับการสื่อสารทางสายตา
ในยุคหนึ่งเป็นเรื่องของตัวพิมพ์และการพิมพ์
แต่ในยุคนี้รวมเอาสื่ออื่นๆ เช่นนิทรรศการ อีเวนท์ อินเตอร์เนต
และการประชาสัมพันธ์หลายประเภทเข้าไปด้วย
คนกลุ่มนี้มีลูกค้าที่ทำธุรกิจ อาจจะอยู่ในภาคเอกชน ราชการหรือเป็นใครก็ได้
ในแง่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กราฟิกดีไซน์เนอร์มีศัพท์แสงที่ใช้ในหมู่ของตนเอง
เช่นคำว่า "การแก้ปัญหา" (problem solving)
หรือ "กระบวนการออกแบบ" (design process)
รวมทั้งศัพท์เทคนิคและชื่อซอฟต์แวร์แปลกๆ มากมายให้คนวงนอกได้งงเล่น
อย่างไรก็ตาม นิยามที่กว้างขนาดที่เป็นอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการสื่อสารทางสายตา
ย่อมทำให้คนเห็นว่ากราฟิกดีไซน์เป็นทักษะที่ใครๆ ก็ทำได้
ช่างตัดสติ๊กเกอร์ แม่ค้าในตลาด วินมอร์เตอร์ไซค์หน้าปากซอย
เลขานุการ หรือเด็กนักเรียนที่ทำการบ้านส่งครู
ล้วนแต่ใช้กราฟิกดีไซน์เมื่อเขาต้องการสื่อสารกับคนรอบข้าง
กราฟิกดีไซน์จึงเป็นวงการที่แทบจะไม่มีคำว่า "สมัครเล่น"
เพราะคนที่ใช้มันเยี่ยง "กิจกรรม" ในชีวิตประจำวันมีมากกว่าคนที่ใช้มันแบบ "มืออาชีพ"
คนที่หยิบปากกาเมจิกเขียนป้ายบอกเลขบ้านหรือราคาสินค้าของตนเอง
มีมากคนที่ออกแบบนิตยสารหรือทำรายงานประจำปีของธนาคาร
หรือถ้ายึดเครื่องมือและเทคนิคการผลิตเป็นตัวตั้ง
คนที่ทำกราฟิกก็มีมากมายมหาศาล ดังที่มักพูดกันในวงการว่า
ถ้านับจากจำนวนของคนที่ใช้เดสก์ทอปพับลิชชิ่งของแมคคินทอช
เป็นเครื่องมือประกอบวิชาชีพละก้อ
นี่ต้องนับว่าเป็นดีไซน์สาขาที่รุ่งเรืองที่สุด
โดดเด่นเหนือกว่าสาขาอื่นๆ อย่างน้อยก็ในทางปริมาณ
นี่เป็นการมองปรากฏการณ์นี้ในแง่ดี จะว่าไปแล้ว
กราฟิกดีไซน์คล้ายกับทักษะในการเขียนหนังสือ
ดนตรีและกีฬา อีกทั้งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำเป็นอาชีพได้โดยไม่ต้องมีดีกรี ใบรับรอง
หรือกระทั่งการฝึกอบรมจากดรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดๆ
เห็นได้ชัดเมื่อมองไปในวงการวรรณกรรมในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้
นักเขียนระดับซีไรท์อย่างวินทร์ เลียววารินทร์และนักเขียนรุ่นใหม่อีกหลายคน
ได้นำเอากราฟิกดีไซน์มาใช้ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมแบบใหม่ๆ
นอกจากนั้น กระแส "หนังสือทำมือ" ที่ปรากฏในเฟสทิวอลทั้งในเชิงศิลปะและบันเทิงต่างๆ
ยังทำให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ในวงการกราฟิกดีไซน์มากมาย
ที่มองข้ามไปไม่ได้คือการที่กราฟิกดีไซน์กลายเป็นกิจกรรมทางศิลปะ จิตรกร
ศิลปินกราฟิตี้และเซเลบลิตี้บางท่าน ใช้กราฟิกดีไซน์สร้างผลงาน
ทั้งที่เป็นศิลปะและของทำขาย ทั้งอยู่ในแกลเลอรี่และตลาดของ SME
ทั้งด้วยคุณภาพและปริมาณที่ทำเอากราฟิกดีไซน์เนอร์มืออาชีพต้องถึงกับได้อาย
นับว่ามีเหตุผล เพราะโดยพื้นฐานแล้ว
กราฟิกดีไซน์เป็นศิลปะในการสื่อสารอย่างหนึ่ง
ในสหรัฐอาจารย์ดีไซน์บางคนไปไกลถึงกับเสนอว่า
วิชานี้น่าจะถูกจัดอยู่ในสาขา humanist หรือมานุษยศาสตร์
ส่วนวงการที่ใกล้ชิดกัน ก็น่าจะเป็นวรรณคดีหรือดนตรี
มากกว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรือออกแบบผลิตภัณฑ์
เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือ กราฟิกดีไซน์เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้
จะเพื่อบันทึกข้อมูล รายงานข่าว โน้มน้าวจูงใจ หรือการแสดงออกส่วนบุคคลก็ได้
ต้องยอมรับว่า ข้อดีของการเป็นกิจกรรม ทำให้กราฟิกดีไซน์แตกต่างจากดีไซน์สาขาอื่นๆ
คนที่ทำไม่จำเป็นต้องผ่านการร่ำเรียนมาในระบบการศึกษา
งานดีๆ อาจจะเกิดจากคนที่ไม่มีสถาบันรับรอง
แต่ความแพร่หลายในเชิงกิจกรรมก็ชวนให้คิดว่ามันไม่ได้เป็นทักษะที่ซับซ้อน
ถึงขนาดจะเรียกได้ว่าวิชาชีพ มองในแง่สร้างสรรค์
เป็นเรื่องของรสนิยมหรือความชอบพอส่วนตัว ไม่ใช่ "ผู้เชี่ยวชาญ" มองในแง่สินค้า
ก็เป็นธุรกิจบริการที่อาศัยการขายแบบง่ายๆ
อาศัยความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบผู้ซื้อ-ผู้ขาย
มากกว่าจะเป็น "มืออาชีพ"
ดังนั้น ถึงแม้กราฟิกดีไซน์เนอร์จะมีจำนวนมากมายและอยู่ในทุกซอกมุมของสังคม
แต่ในเชิงวิชาชีพหรือวงการออกแบบที่มีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง
กลับไม่มีใครรู้จักหรือยอมรับนับถือ
หากเรียกมันว่า "วิกฤติอัตลักษณ์" ของอาชีพกราฟิกดีไซน์
และลองสำรวจดู เราอาจจะพบว่ามีประเด็นและการแสดงออกมากมายหลายรูปแบบ
มองไปที่ระบบการศึกษา จะพบว่าทุกๆ ปี
เด็กนักเรียนมัธยมจำนวนมาก โดยไม่รู้ชัดว่ากราฟิกดีไซน์นั้นคืออะไร
ตัดสินใจว่านี่เป็นอาชีพที่มีอนาคตรุ่งโรจน์
เด็กอายุไม่ถึงสิบแปดเหล่านี้ จะถูกดูดกลืนเข้าไปโดยโรงเรียนดีไซน์จำนวนมาก
ทั้งในภาครัฐและเอกชนมากมาย ใช้เวลาสี่ปี
เรียนเรื่องตัวพิมพ์สักสองคอร์สหัดวาดรูปตามใจชอบสักสองปี
ทำโฆษณาดูกันเองสักสี่สิบชั่วโมง
และใช้คอมพิวเตอร์อย่างกระท่อนกระแท่นสักร้อยชั่วโมง
จากนั้น ก็จะออกมาในสภาพที่พร้อมสำหรับทำหน้าที่ดีไซน์เนอร์มืออาชีพ
พร้อมด้วยความคาดหวังว่าจะมีลูกค้ารออยู่เต็มไปหมด
ไม่ต้องพูดถึงการที่ชื่อสาขานี้ในแต่ละมหาวิทยาลัยต่างๆ
แทบจะไม่มีที่ไหนใช้ตรงกัน บ้างเรียกนิเทศน์ศิลป์
บ้างเรียกเลขศิลป์ บ้างเรียกนฤมิตรศิลป์ บ้างก็เรียกจักษุศิลป์ ฯลฯ
ซึ่งล้วนแต่ทำให้ผู้ปกครองหรือคนออกเงินค่าหน่วยกิตต้องงุนงง
ครั้นออกไปประกอบวิชาชีพแล้ว
น้อยคนจะเรียกตัวเองว่ากราฟิกดีไซน์เนอร์
คนจำนวนมากหลบซ่อนตัวอยู่ตามเอเจนซี่โฆษณา
เมื่อส่งงานเข้าประกวดและเดินขึ้นไปรับรางวัลก็ทำในนามของอาร์ตไดเร็กเตอร์
เมื่อถามถึงอาชีพจริง มักพอใจที่จะเรียกตัวเองว่าอาร์ตไดเร็กเตอร์
(ซึ่งมาถึงอีกยุคหนึ่ง เพื่อให้ทันสมัยขึ้น อาจต้องบอกว่าเป็นนักสร้างแบรนด์)
และหากยังทำงานกราฟิกดีไซน์อยู่ก็ถือเป็น "งานอดิเรก"
ในกลุ่มงานที่เป็นสิ่งพิมพ์และเข้าถึงประชาชนในวงกว้างอย่างเว็บไซต์
รวมทั้งนักสร้างคาแรกเตอร์ต่างๆ ก็พยายามไม่ถูกเรียกว่าเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์
ด้วยกลัวจะทำให้ลูกค้าคิดว่ารับผิดชอบได้ไม่รอบด้านหรือครบวงจร
ในขณะเดียวกัน คนที่เรียกตัวเองว่ากราฟิกดีไซน์เนอร์ก็มีอยู่เพียงหยิบมือ
พื้นที่ของเขาหดแคบลงจนเหลือแต่ในวงที่เรียกกันว่าคอร์ปเปอเรตดีไซน์
หรือที่เกิดขึ้นใหม่คือนักออกแบบตัวอักษรหรือไทป์ดีไซน์เนอร์
มองไปที่สื่อ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ถึงเวลาสัมภาษณ์กราฟิกดีไซน์เนอร์ทีไร
ก็จะเห็นใบหน้าซ้ำๆ ซากๆ อยู่เสมอ
ปรากฎการณ์หนึ่งของการไม่มีเส้นแบ่งระหว่างกิจกรรมกับวิชาชีพก็คือ
มือสมัครเล่นสามารถเข้ามาแทนที่มืออาชีพ
ขออธิบายก่อนว่าชีวิตของอาชีพกราฟิกดีไซน์เนอร์นั้น
ขึ้นต่อการแข่งกันเสนอแบบให้ลูกค้าหรือที่เรียกว่า "พิตช์" การพิทช์แบบไทยๆ
ต่างจากการเสนอขายทั่วไป เพราะการจะเอาใครเข้าแข่งขันหรือมีตัวเลือกจำนวนเท่าใด
ลูกค้าเป็นผู้กำหนด ในเกมการพิตช์แบบนี้
กราฟิกดีไซน์จึงเป็นเพียงหนึ่งในสินค้าสำเร็จรูปที่ลูกค้าสามารถชี้นิ้วเลือกซื้อได้โดยง่าย
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไม่ได้รับคัดเลือกแล้ว ก็ไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ
ซึ่งก็เท่ากับว่ามีฐานะเป็นเพียงผู้เข้าร่วมประกวดผู้หนึ่งเช่นในการประกวดทั่วไป
ที่สำคัญคือ หนักๆ เข้า การจัดประกวดทั่วไปก็เข้ามาแทนที่การพิตช์
เช่น ถ้าลูกค้าอยากได้โลโก้สักอัน แทนที่จะจ้างมืออาชีพสักรายหนึ่งด้วยเงินสักแสนบาท
ก็ใช้เงินแสนนั้นไปกับการประกวด แม้เมื่อกลายเป็นรางวัล จะได้กันคนละไม่ถึงหมื่น
แต่คนนับพันๆ ก็จะเฮละโลส่งงานเข้าประกวด
ซึ่งในที่สุด ลูกค้าก็ได้ถึงสองต่อ นั่นคือ ทั้งผลงานและการมีส่วนร่วมของประชาชน
หรือทั้งโลโก้และข่าวประชาสัมพันธ์ในสื่อ
เกิดเป็นมาตรฐานที่ถูกยอมรับกันสืบไปว่าใครๆ ก็เป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ได้
ถึงที่สุดแล้ว วิกฤติอัตลักษณ์ของกราฟิกดีไซน์เนอร์แสดงออกอย่างชัดเจนตรง
ที่ไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มและต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนที่ทำมาหากินด้วยทักษะนี้
กราฟิกดีไซน์เนอร์ไม่มีสมาคมวิชาชีพ (หรือมีอยู่แต่ไม่มีใครรู้จัก)
เป็นตัวแทนของตน ปัญหาต่างๆ
ที่จะเห็นว่ามีการร้องเรียนกับชุมชนของตนอยู่เป็นประจำในเว็บไซต์เช่น
ราคากลางในการเสนองาน มาตรฐานการประกวดงาน
หรือลิขสิทธิ์ตัวพิมพ์ ล้วนเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ
ไม่มีองค์กรอย่างเป็นทางการในการเจรจา
รณรงค์และเรียกร้องประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและสังคม
มองในมุมกว้าง สิ่งที่ตามมาคือไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมีมาตรฐาน
ไม่น่าแปลกที่วงการนี้ไม่มีแนวทาง มีแต่แฟชั่นที่ขึ้นมาและตกไป
เพราะเมื่อขาดการรวมตัวกัน
ก็ย่อมไม่มีใครหาญกล้ามากำหนดเรื่องมาตรฐานความสวยงาม
มาถึงตรงนี้ ข้อสรุปน่าจะเป็นว่า
กราฟิกดีไซน์ที่เป็นกิจกรรมนั้นเจริญขึ้น แต่ที่เป็นวิชาชีพนั้นเจริญลง
หน้า 89


เกี่ยวกับผู้เขียน ประชา สุวีรานนท์
ดีไซน์+คัลเจอร์ : ประชา สุวีรานนท์
ISBN 978-974-05-3362-7
สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน 328 หน้า
ราคา 300 บาท
ปีที่พิมพ์ ๒๕๕๑