Custom Search

Apr 2, 2009

ความไม่เป็นธรรม คือหัวใจของความไม่เท่าเทียมกันของคุณภาพการศึกษา




วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2552

คนไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ
ในระดับการพัฒนาเดียวกันหรือสูงกว่าด้วยซ้ำ
ระบบที่ดีเกิดจากผลงานของหมอหลายคนในอดีตและปัจจุบัน
บ้านเรานั้นโชคดีเพราะนอกจากจะมีหมอที่เก่งในเรื่องแพทย์
และช่วยสร้างระบบสาธารณสุขที่ดีแล้ว ยังมีหมอที่เก่ง
ในการเป็นนักคิดชี้นำสังคมและมีวัตรปฏิบัติที่สมควรเป็นตัวอย่าง
ของเยาวชนอีกด้วยคุณหมอเหล่านี้ได้แก่ หมอเสม พริ้งพวงแก้ว

หมอประเวศ วะสี หมอจรัส สุวรรณเวลา หมอเกษม วัฒนชัย หมอวิจารณ์ พานิช
หมอกระแสร์ ชนะวงศ์ หมอเฉก ธนะสิริ ฯลฯ
บทความของคุณหมอประเวศ วะสี เรื่อง "ความเป็นธรรม เรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศไทย"
ในมติชนเมื่อสัปดาห์ก่อน (18 มีนาคม 2552)
สมควรได้รับการอ่านพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพราะวิเคราะห์ได้ตรงจุดที่สุดคุณ
หมอประเวศ บอกว่า ".....สังคมที่ขาดความเป็นธรรมจะมีความขัดแย้งและความรุนแรง
ผู้คนจะไม่รักกัน และไม่รักชาติ แล้วก็จะวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ จนล่มสลาย
ความเป็นธรรมเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับมนุษย์หรือแม้แต่สัตว์
ถ้าสุนัขตัวไหนมันได้กินมากกว่าตัวอื่นก็จะกัดกันยกใหญ่
ถ้ามันได้กินทั่วถึงกันทุกตัวก็จะเกิดความสงบ
ถ้ามีความเป็นธรรมแล้วมนุษย์ยอมได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะยากลำบากอย่างไร
หรือแม้กระทั่งยอมตาย ถ้าขาดความเป็นธรรมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร
ถ้าขาดความเป็นธรรมประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไม่ได้ หรือแม้ล่มสลาย
การขาดความเป็นธรรมเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ.....
"ตัวอย่างของ ความไม่เป็นธรรม เช่น ".....ลูกคนจนยังตายมากกว่าคนรวยถึง 3 เท่า
คนจนตายจากเรื่องที่ไม่ควรตายมากกว่าคนรวย
เรียกว่าความตายที่ไม่เป็นธรรม นโยบาย medical hub
ที่ดึงเอาคนต่างชาติเข้ามารับบริการในเมืองไทยทำให้คนพวกหนึ่งร่ำรวยขึ้น
แต่มันได้ดึงแพทย์และพยาบาลออกมาจากการบริการคนจนในชนบท....."
คุณหมอเห็นว่ารัฐมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความเป็นธรรม
หรือเป็นตัวการให้ขาดความเป็นธรรมทั้งนี้เนื่องจาก
".....การขาดธรรมาภิบาลภาครัฐ ถ้าคณะกรรมการขององค์กรขาดธรรมาภิบาล
จะเกิดอะไรขึ้น เราจะมองเห็นภาพไม่ยาก
ถ้าบอร์ดการบินไทยขาดธรรมาภิบาลจะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทยขาดธรรมาภิบาลจะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าบอร์ดของรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ขาดธรรมาภิบาลจะเกิดอะไรขึ้น
ยิ่งกว่านั้นถ้าการเมืองการปกครองขาดธรรมาภิบาลประเทศมิล่มสลาย
หรือการขาดธรรมาภิบาลขององค์กรและสถาบันต่างๆ
เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของความไม่เป็นธรรมของประเทศ"
ผู้เขียนเห็น ว่าความไม่เป็นธรรมที่คุณหมอประเวศพูดถึงนี้แหละ
เป็นสาเหตุของความไม่เท่า เทียมกันของคุณภาพการศึกษาระหว่างเมืองใหญ่
เมืองเล็ก และชนบท เมื่อรายได้ไม่เสมอภาคกันมาก
คุณภาพการศึกษาก็ไม่เท่าเทียมกันมากและจะก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของ
รายได้ยิ่งขึ้นวนกันอยู่เช่นนี้ สถานการณ์อย่างนี้จะยิ่งเร่งให้ความไม่เป็นธรรมในเรื่องอื่นๆ
หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นตัวเลขของสภาพัฒน์ในปี 2550
เส้นความยากจนคือ 1,443 บาท/คน/เดือน
(รายได้ต่ำกว่านี้ถือว่ายากจน)
มีคนยากจนอยู่ 5.4 ล้านคน ในประชากร 64 ล้านคนในปี 2547
ทั้งประเทศมีคนยากจนอยู่ร้อยละ 11.2 แยกออก
เป็นคนจนเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ในกรุงเทพฯ/ภาคกลางร้อยละ 4.5/
ภาคเหนือร้อยละ 15.7/ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18.6/
และภาคใต้ร้อยละ 6
รายได้เฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ ต่อปี (กว่า 300,000 บาท)
สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ (ประมาณ 130,000 บาท) 2.3 เท่าตัว
ในขณะที่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ (40,000 บาท ต่อคนต่อปี)
ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศกว่า 3 เท่าตัว
เมื่อความแตกต่างในด้านรายได้สูง
ความมีสิทธิมีเสียงในการต่อสู้เรียกร้องจากภาครัฐก็แตกต่างกันตามไปด้วย
คนมีเงินที่อยู่ในเมืองใหญ่เสียงดัง
สามารถเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนเงินทองเพื่อการศึกษาลูกหลานของตน
ซึ่งภาครัฐก็จำต้องยอมเพราะมีเหตุมีผลในด้านจำนวนนักเรียน
นอกจาก นี้พ่อแม่ที่มีเงินในเมืองเอาใจใส่เรื่องการศึกษาของลูกหลาน
สามารถเรียกร้องความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า
และแถมสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้และ
สนับสนุนการศึกษาของลูกตนเองเพิ่มเติมได้ดีกว่าอันเนื่องมาจากรายได้สูงกว่า
ตราบที่สังคมมีรายได้ของประชาชนที่แตกต่างกันอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้
คุณภาพการศึกษาของคนสองกลุ่มจะไม่มีวันเข้ามาใกล้กันได้เป็นอันขาด
โรงเรียนต่างๆ จะมีคุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน
และนับวันจะห่างไกลกันยิ่งขึ้นหากจะแก้ไขคุณภาพการศึกษาให้ใกล้ เคียงกัน
รัฐต้องเข้ามาจัดการอย่างแข็งขัน
ไม่ปล่อยให้กลไกสร้างความไม่เป็นธรรมทำงานตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
และต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือความไม่เป็นธรรมอัน
เนื่องมาจากโครงสร้างของ เศรษฐกิจ รัฐจะต้องลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้
และประเด็นความไม่เป็นธรรมของรายได้ของสังคมไทยต้องได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง
เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนคุณหมอประเวศสรุปว่า
"..... ความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยาก สร้างไม่ได้ด้วยอำนาจ
อารมณ์และอวิชชาแต่ต้องการความเข้าใจเชิงโครงสร้าง
ถ้าไม่เข้าใจเชิงโครงสร้างแม้ตั้งใจดี มีศีลธรรมก็ทำไม่สำเร็จ .....
มหาวิทยาลัยทั้งหมดควรเข้ามาทำการวิจัยคลี่ความซ้ำซ้อนออกมา
ให้สาธารณะเข้าใจและเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องความเป็นธรรม
องค์กรและสถาบันต่างๆ คงจะขับเคลื่อนเรื่องความเป็นธรรมไม่สำเร็จ
เพราะองค์กรและสถาบันนั้นๆ มักจะอยู่ในโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม
สาธารณะที่เข้าใจเท่านั้นจึงจะเป็นพลังขับเคลื่อนความเป็นธรรมได้สำเร็จ มหาวิทยาลัย
องค์กร และสถาบันต่างๆ ควรจะหนุนช่วยสาธารณะให้เป็นพลังขับเคลื่อน
เรื่องความเป็นธรรม พลังสาธารณะที่ขับเคลื่อนเรื่อง
ความเป็นธรรมคือพลังประชาธิปไตยที่แท้จริง และเป็นธัมมาธิปไตยด้วย.....
" ใครจะเป็นเจ้าภาพประสานให้ มหาวิทยาลัยทั้งหลายมีการศึกษาวิจัย
หาความรู้เพื่อคลี่ความลึกลับของความไม่เป็นธรรมของสังคมไทยในลักษณะต่างๆ
เพราะความไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศไทย?
หน้า 6