นิติภูมิ นวรัตน์
http://www.nitipoom.com/
เปิดฟ้าส่องโลก
ไทยรัฐ
พฤหัสบดี ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒
ระยะนี้ นิติภูมิเทียวเที่ยวไปในต่างจังหวัดทุกวัน ตั้งแต่ มุกดาหาร กระบี่
เชียงราย ตราด จันทบุรี จันทร์วันที่ผ่านมาผมอยู่ชลบุรี
อังคารราตรีที่กำลังเขียนคอลัมน์ฉบับนี้ผมอยู่ที่ระยอง
มาพูดรับใช้ผู้บริหารและปลัดองค์กรปกครองท้องถิ่นของกาญจนบุรี
มีผู้คนจำนวนไม้น้อยถามนิติภูมิถึงเรื่องพัฒนาการศึกษา
ผมพูดเล่นๆ ว่าถ้าจะให้ดีสมใจ ท่านต้องไปดูว่า
ที่จังหวัดเชียงรายในอดีตสอนกันยังไง
ถึงมีศิลปินที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับสากลถึง ๒ ท่าน
คือท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรเอก
และท่านอาจารย์ถวัลย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ สาขาจิตรกรรม
หลายท่านถามว่า ใครคือพระเอกในดวงใจของนิติภูมิ
ผมตอบทุกทีไม่มีรีรอว่า
อภิพญามหาผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินไทยของผมมี ๓ ท่าน
คือ ท่านอาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์
ท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
เยาวชนคนยุคใหม่คลั่งไคล้ดารานักร้อง แต่วัยรุ่นสมัยคนรุ่นผม
ผมเคยมีความฝันว่า ในอนาคตเมื่อโตขึ้น
ผมอยากไปพบไปสนทนา และไปกราบท่านอังคาร
และวันหนึ่งท่านอังคารเมตตากรุณามาที่บ้าน
ท่านกรุณาเขียนกลอนถึงผมและมอบให้ผมหลายตอน
ทุกทีที่ได้พบท่านอังคาร ผมก็จะนอนฝันหวานไปหลายทิวาราตรี
ผมได้พบท่านเฉลิมชัยสองครั้ง เจอท่านครั้งใดผมตื่นเต้นและตื้นตันใจเป็นที่สุด
สมัยก่อนตอนเริ่มเรียนปริญญาตรีที่รามคำแหง มีคนเล่าว่า
บ้านของท่านถวัลย์อยู่ในหมู่บ้านนวธานีที่ถนนสุขาภิบาล ๒ แถวบางกะปิ
ยอมรับครับว่าในชีวิตผม ผมแอบดูบ้านของท่านถวัลย์ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ครั้ง
เคยแม้แต่ไปเจรจาขอซื้อบ้านเก่าในซอยเดียวกันกับท่านถวัลย์
ปรารถนาของผมก็คือ อยากอยู่ใกล้จิตรกรในดวงใจ
พระเอกในชีวิตของผมทุกท่าน สถานะเดิมของท่านไม่ใช่คนร่ำรวย
หรือเป็นคนมีทุกอย่างเพรียบพร้อม
กรณีท่านถวัลย์
ท่านมีพื้นฐานการศึกษาดั้งเดิมจากโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม
โรงเรียนบุญนิธิที่อยู่ติดกับกว๊านพะเยา โรงเรียนพะเยาพิทยาคม
และจบมัธยม ๖ ที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมของจังหวัดเชียงราย
ผู้ยิ่งใหญ่ในโลกนี้ ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่กับธรรมชาติ
อย่างท่านถวัลย์ สมัยก่อนตอนเด็ก ท่านทัศนาไปทางใด ก็ได้เห็นแต่ภูเขาเลากา
เจอกว๊านพะเยา สมองของท่านจึงได้ก่อกำเนิดเกิดจินตนาการอันยิ่งใหญ่
บั้นปลายท้ายต่อมา ท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง
ปริญญาตรีที่คณะจิตกรรม ม.ศิลปากร
ต่อมาท่านได้ทุนไปต่อปริญญาโท
สาขาจิตรกรรมฝาฝนัง อนุสาวรีย์ และผังเมือง
ที่ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
ปริญญาเอกสาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม
ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เช่นกัน
สัปดาห์ก่อนตอนวันพฤหัสบดี ผมมีโอกาสได้ไปกราบท่านถวัลย์
ที่ บ้านดำ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ท่านกรุณาใช้เวลาสนทนา
และแนะนำผมในเรื่องต่างๆ อยู่นานถึง ๕ ชั่วโมง
คำสนทนาของท่านบางตอนเป็นบทร้อยกรอง เมื่อได้ฟังแล้ว
ก็ดุจประหนึ่งว่า ผมถูกท่านทุ่มไปในอวกาศแสนไกลสมองของท่านถวัลย์
กอร์ปด้วยความจำล้ำเลิศ
ได้พบท่านแล้ว
ผมก็กลับมาใช้เวลานั่งนิ่งไม่ไหวติงเพื่อตั้งสติพิจารณาว่า
อะไรทำให้ประเทศไทยสามารถมีบุคลากรผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก
อย่างท่านทั้งสามที่ผมเอ่ยนามไปแล้ว
ขอเรียนว่า เพราะประสบการณ์ของท่านผ่านโลกมา ๓ ระดับ คือ
ระดับชนบทอยู่กับกว๊านไร่นาป่าเขา
รู้จักชีวิตชนบทของแท้แน่นอน
ระดับกรุงเทพฯและประเทศไทย
สุดท้ายก็เป็นระดับนานาอารยะประเทศ
เมื่อสนทนากัน ก็จะพบว่า อ้า ทุกท่านเหล่านี้จะรู้จักเรื่องราวของต่างประเทศดีมาก
ท่านถวัลย์ใช้ชีวิตเทียวเที่ยวไปในนานาประเทศจนจบครบทุกทวีป
เคยอยู่กับชาวเขาเผ่าพันธุ์ต่างๆ ไปอยู่ไกลในตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก
แอฟริกา อเมริกาเหนือ-ใต้ ฯลฯ ท่านไปประสบพบเหตุการณ์อันน่าเรียนรู้มาจนหมด
วันนี้สมองของท่านจึงตกผลึก ท่านสมถะ กินน้อย นอนน้อย ทำงานมากวาดรูปเป็นกิจนิสัย
การกระดิกพลิกตัวของท่านจึงได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่มวลมนุษยชาติ
ตอนยังเป็นเด็กเล็กอยู่ พระเอกของผมแต่ละท่านแต่ละคนจะมาจากชนชั้นธรรมดาสามัญ
อันทำให้ผมมีกำลังใจคิดว่า อ้า ถึงอย่างไร
ถ้าผมขวนขวายขยันฝึกฝนตนเองและแสวงหาความรู้
ผมก็สามารถดั้นด้นตนเองขึ้นไปในระดับชีวิตขั้นต่างๆ
จนบรรลุถึงสิ่งที่มุ่งหวังได้ในภายภาคหน้า
สื่อมวลชนในปัจจุบันทุกวันนี้มักยกย่องแต่พระเอกที่มาจากครอบครัวร่ำรวย
ทำให้เด็กชนบทจำนวนหนึ่งขาดกำลังใจ น้อยใจในวาสนาว่าเราคงไปไม่ถึงจุดนั้น
เพราะพระเอกที่เห็นในทีวีมีครอบครัวที่เศรษฐกิจดียอดเยี่ยมกระเทียมดองทั้งสิ้น
ผมอยากให้เยาวชนคนไทยหันมายึดพระเอกเพื่อใช้เป็นตัวอย่าง
นำทางชีวิตตนอย่างท่านเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์
และท่านถวัลย์ ดัชนี
อยากให้สังคมไทยหันมาใส่ใจศิลปะ อยากให้คนไทยหันมายกย่องผู้คนที่จิตวิญาณ
ไม่ใช่ที่วัตถุหรือที่ทรัพย์สินเงินทองของสะสมทั้งหลาย
และนี่คือสิ่งที่เป็นรากฐานชั้นเลิศ
อันจะสามารถแก้ปัญหาการศึกษาของไทยในปัจจุบันทุกวันนี้ได้
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี
ประวัติ อ.ถวัลย์ ดัชนี
ถวัลย์ ดัชนี (27 กันยายน พ.ศ. 2482 - ) จิตรกร ช่างเขียนรูป แห่งดอยสูงเชียงราย
ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
เมื่อพ.ศ. 2544 เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ชีวิตวัยเยาว์และการศึกษา
ถวัลย์ ดัชนี ศึกษาชั้นมูลและระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม
ต่อมาบิดาย้ายมาปฏิบัติงานสรรพสามิตที่อำเภอเมืองพะเยา
จึงเรียนต่อชั้นประถมที่โรงเรียนบุญนิธิซึ่งตั้งอยู่ริมชายกว๊านพะเยา
และชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม
เมื่อบิดาย้ายกลับเชียงรายจึงเข้าเรียนจนจบชั้นชั้นมัธยมปลายที่
โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ของสมัยนั้น
ถวัลย์มีแววด้านการ วาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูลและชั้นประถม
สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัว
นอกจากจะมีความจำเป็นเลิศสามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นได้ทุกชั้นปีทั้งที่
เชียงรายและพะเยาแล้ว เมื่อถวัลย์มีอายุ 8-9 ขวบก็มีความคิดแผลงๆ
จำเรื่องนายมั่นนายคงจากละครวิทยุปลุกใจยุคปลายและหลังสงคราม
เที่ยวชักชวนเพื่อนกรีดเลือดสาบานไปอยู่ดงพญาเย็นด้วยกันเมื่อโตขึ้นเป็นต้น
เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ที่เชียงราย ถวัลย์ก็ได้รับทุนมาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง
และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว
จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม
ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี จึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
และได้เป็น "ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี"
ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+
แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้
ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้
นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ
การค้นหาและการพบตัวเอง
คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีดังกล่าวนี้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี
เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมด
เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว
เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง
และในระดับปริญญาเอกสาขาอภิปรัชญา
และสุนทรียศาสตร์ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม
ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ
ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้นั่นคือ
ศิลปินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก,
ศิลปินแห่งชาติของอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger
(ไกเกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน)
ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยน
และศิลปินแห่งชาติของไทย ถวัลย์ ดัชนี
เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขาหลายรูปถูกนักเรียนกรีดทำลาย
ด้วยเหตุที่ว่างานของเขานั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำใหถวัลย์ ดัชนี
เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้
เขาก็ต้องเดินตากแดดตากฝนนานอยู่ถึง สามสิบกว่าปี
ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ
และได้รับการยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศอีกทั้งเป็นที่นิยม
ในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วย
ถวัลย์ ดัชนี ได้ฝากศิลปะไทยจิตวิญญาณตะวันออกของเขาไว้ในหลายๆ ที่ในโลก
"ผลงานบางส่วนถูกเขียนขึ้นในปราสาทที่มีถึง 500 ห้อง
ในประเทศเยอรมนีซึ่งมีชื่อว่าปราสาทกอททอฟ (Gottorf Castle) "
ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ปราสาทนี้ไม่เปิดให้ใครได้เข้าชมแล้ว
เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้มีหยดน้ำมาเกาะบนกำแพง
ทำให้ภาพเสียหาย แต่รายการโทรทัศน์ที่ได้เข้าไปถ่ายทำเป็นรายการสุดท้าย
นั่นคือ รายการชีพจรลงเท้า
ยามว่างจากการเขียนรูป ถวัลย์ ดัชนีจะเดินไปในป่าเพื่อหาเขากวางที่ผลัดแล้วมาเก็บไว้
เพื่อเป็นเครื่องลับจินตนาการให้เฉียบคมอยู่ตลอดเวลา
- https://teetwo.blogspot.com/2007/04/blog-post_21.html
- http://teetwo.blogspot.com/2014/09/74.html
- http://teetwo.blogspot.com/2014/09/blog-post.html