Custom Search

Apr 21, 2007

ครอบครัว “ดัชนี” พ่อลูกมองตากันก็เข้าใจ


โดย ผู้จัดการออนไลน์
4 ธันวาคม 2548 15:39 น.

ผูกพันใกล้ชิดกันแค่ไหน ในความเป็นพ่อลูกกันระหว่างเขากับพ่อ ดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายคนเดียวของศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี บอกว่า ถ้าเป็นวัยเด็กคำว่า “พ่อ” สำหรับเขาไม่ค่อยชัดเจนนัก เพราะย่าเป็นผู้ที่เลี้ยงเขามาตั้งแต่เด็ก


และแม้วันนี้จะเติบโตเป็นหนุ่มแล้ว เขากับพ่อก็ดูเหมือนจะมีระยะห่างกันพอสมควร แต่ไม่ใช่ระยะห่างที่เป็นผลให้ต้องมานั่งน้อยใจเสียใจ ด้วยเขารู้ดีว่าพ่อนั้นเป็นบุคคลสาธารณะ ต้องการเวลาที่จะสร้างงานศิลปะ


“ความเป็นพ่อลูกของเราก็คือไม่เหมือนคนอื่น เราอาจจะไม่ได้ไปกินข้าวด้วยกันเหมือนคนอื่นทุกอาทิตย์ นานๆเราเจอกันที พ่อก็จะมีโลกส่วนตัวของพ่อ เขาเป็นศิลปิน ตัวผมก็เป็นศิลปิน ต่างมีโลกส่วนตัวของตัวเอง ถึงแม้เวลาเราอยู่ด้วยกัน ต่างคนก็ต่างทำงาน ผมก็ทำงาน พ่อก็ทำงาน เราก็ไม่ได้คุยกัน และด้วยความที่เป็นผู้ชายเหมือนกัน เราก็ไม่ค่อยได้แสดงออก พูดกันมาก แต่สิ่งที่เราทำทุกครั้งก็คือ เราเจอกันเราจะกอดกัน ไม่ว่าจะเจอกันที่ไหน แล้วเวลาเราจะจากกันเราก็จะกอดกันทีหนึ่ง จนถึงปัจจุบันนี้ผมก็ยังทำอยู่ เป็นสิ่งเดียวที่ทำแล้วรู้สึกว่าบางครั้ง บางอย่างเราไม่ต้องพูด”


โอกาสได้ที่จะได้พูดคุยกันแม้จะมีน้อยครั้ง แต่มีคำพูดหนึ่งที่ดอยธิเบศร์จดจำได้ว่าพ่อได้พูดกับเขาอยู่บ่อยหน นั่นก็คือ


“แกจะพูดให้ฟังอยู่บ่อยๆว่า คนเรามันจะต้องรู้เหตุรู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา คือแกจะพูดอย่างนี้บ่อย ต้องเข้าใจว่าแกมีความเป็นจีเนียส อย่างน้อยแกก็จบดอกเตอร์ แกก็มีความเป็นสุดยอดด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นหลายๆเรื่อง เพราะฉะนั้นบางทีแกสอนลูก แกจะสอนขั้นแอดวานซ์”


อย่างเช่นในวัยเด็กดอยธิเบศร์เล่าว่าเคยถูกพ่อบังคับให้ต้องเขียนไดอารี่ทุกวัน ห้ามเล่นของเล่น จนเขานึกสงสัยว่าทำไมคนเราต้องมีโปรแกรมชีวิตมากมายขนาดนั้นด้วย


“ ผมก็เคยเถียงแกว่า คนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ จำได้ว่าตอนนั้นอายุประมาณแค่ 12 ปี หรืออาจจะเด็กกว่านั้น ผมก็บอกว่าคนเราอยากทำอะไรก็ทำสิ ผมอยากเที่ยวผมก็เที่ยวสิทำไมต้องมีโปรแกรม เถียงกับแกมากๆเลยจำได้ว่าเถียงในแท็กซี่ แต่กว่าผมจะเข้าใจมันก็นานเป็นสิบปี บางทีแกก็จะสอนลูกอะไรอย่างนี้ ของเล่นก็ไม่ให้เล่นให้ไปตั้งกว่าง ไปขี่ควาย เล่นอะไรแบบธรรมชาติๆ ให้ได้เรียนรู้ธรรมชาติ เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยา แต่แกก็ไม่ได้บอกเราว่าให้มาทำแบบนี้เพราะอะไร วิธีการสอนของแกคือไม่สอน แต่แกจะทำเป็นตัวอย่าง อย่างพวกอบายมุขต่างๆ แกก็ไม่ได้ทำ ขณะเดียวกันแกก็จะไม่ห้าม แล้วเราก็จะรู้เรื่องเองว่ามันเป็นสิ่งที่พ่อไม่ทำ”


ไม่ว่าคนจะยอมรับหรือไม่ยอมรับในความเป็นถวัลย์ ดัชนี ในจุดไหนหรือไม่ก็ตาม แต่ภาพของพ่อ ณ เวลานี้สำหรับเขานั้นคือคนที่ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาและทำงานศิลปะอย่างตั้งใจจริง


“ผมเห็นพ่อทำงานหนักมาตลอด ตั้งแต่เด็กก็จะเห็นว่าวันหนึ่งแกจะต้องวาดรูปวันละหลายๆชั่วโมง กลางคืนก็ไม่ได้นอน บางทีก็นั่งทำงาน ถ้าดูคาแรกเตอร์ภายนอกคนอาจจะมองว่าแกเป็นศิลปินใหญ่ แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ แกธรรมดามากๆ ติดดินมาก กินข้าวธรรมดา กินเนื้อชิ้นเดียวก็อยู่ได้ ไม่ถึงขนาดว่าต้องช้อนเงินช้อนทอง กินภัตตาคาร ซึ่งความเป็นจริงแกก็ทำได้ แต่แกไม่ทำ ผมจึงรู้สึกชื่นชมตรงที่ว่าพ่อเป็นคนทุ่มเทให้กับงาน ติดดิน ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และสมถะ”


ก็ใช่อย่างที่เขาบอกว่าบางครั้งความเป็นพ่อลูกกันไม่ต้องพูดหรืออธิบายมาก มองตากันก็เข้าใจ และด้วยความเป็นลูกย่อมต้องรู้หน้าที่ว่าควรจะต้องทำอะไรบ้าง จนถึงวันนี้ที่เขาตัดสินใจมาเรียนด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ที่มหาลัยมหิดล ก็เพราะรู้ดีว่าวันหนึ่งจะต้องมีหน้าที่ดูแล บ้านดำ นางแล จ.เชียงราย ของพ่อให้อยู่ได้และอยู่ได้ด้วยดีตลอดไป เพราะชีวิตและงานของศิลปินนามว่า ถวัลย์ ดัชนี ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เขาผู้เป็นลูกจะยอมปล่อยให้ถูกลืมและสูญหายไปตามวันเวลา


“บางทีเราก็ต้องอดทน บางทีมีเรื่องอะไรผมก็ไม่อยากจะไปกระทบแกมาก แกต้องทำงาน แกจะบอกไว้เสมอว่า เรื่องอื่นคนอื่นเขาทำได้เยอะแยะ แต่เรื่องเขียนรูปเขาทำได้คนเดียว ผมเองก็ไม่อยากที่จะไปรบกวน มันเหมือนกับว่าเวลาที่เราโดนอะไรกระทบมากๆ เราอาจจะทำงานได้ไม่ดี คือแกก็ต้องระวังตรงนั้นนิดนึง มันก็เลยทำให้รู้สึกว่า ครอบครัวเราไม่เหมือนครอบครัวอื่นทั่วๆไป”