Custom Search

Apr 22, 2007

ตัวต้านทาน : PRAPAS.COM

ภาพจาก http://www.freewebs.com/
www.Prapas.com

สวัสดีค่ะคุณประภาส

ดิฉันเพิ่งได้งานที่เป็นชิ้นเป็นอันหลังจากเรียนจบ ในตำแหน่งเลขานุการที่บริษัทสถาปนิกแห่งหนึ่ง เจ้านายก็ดูเป็นคนใจดี ที่ตั้งบริษัทก็อยู่ไม่ไกลบ้าน เงินเดือนได้ตามสมควร และดิฉันสนใจที่จะได้ทำงานที่เกี่ยวกับการออกแบบ เมื่อรู้ว่าได้งานดิฉันก็มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำงานเต็มที่แต่แล้วดิฉันก็ได้ทราบจากคนรู้จักเค้าเคยเป็นสถาปนิกที่บริษัทแห่งนี้

เค้าว่าเจ้านายขี้เหนียวและเอาเปรียบ

เค้าไม่ได้เงินค่าออกแบบตั้งหลายหมื่น ทำได้ 6 เดือนก็ลาออกแล้ว

ยอมรับค่ะว่าหลังจากได้ฟังก็บั่นทอนจิตใจพอสมควร รู้สึกกังวล

กลัวว่าจะไม่เต็มที่และอคติไปก่อนที่จะได้ทำงานจริงคุณประภาสว่าดิฉันควรมีวิธีคิดอย่างไรดี งานจะเริ่มเดือนหน้าแล้วค่ะ
ดิฉันยังอยากมีความรู้สึกเต็มร้อยก่อนไปทำงานเหมือนเดิมเหมือนก่อนที่จะได้ยินได้ฟังมา

ขอบคุณค่ะ
พัดชา


สมมุตินะครับสมมุติ

เจ้าของบริษัทที่กำลังจะเป็นเจ้านายของคุณบอกคุณว่า

เขารู้จักนายสถาปนิกคนที่คุณรู้จักดีแน่นอนคุณก็คงคิดในใจว่า

ก็ต้องรู้จักอยู่แล้วนี่ ก็เคยทำงานด้วยกันแล้วเขาบอกคุณต่อว่า

"ผมรู้จักมันดีกว่าใครทั้งหมด เพราะมันโกงผม"

หูชักผึ่งแล้วใช่ไหมครับ ใครโกงใครกันแน่ คุณคงคิดในใจ

ก็คุณฟังมาจากสถาปนิกคนนั้นแล้วนี่

เจ้านายอย่ามาเฉไฉเรื่องหน่อยเลยฟังผมสมมุติต่อไปเรื่อยๆ แล้วกัน

แล้วเจ้านายที่คุณจะทำงานด้วยก็ระบายความในใจต่อ "มาทำงานแค่ 6 เดือน มันไปโฆษณากับคนข้างนอกเสียใหญ่โตเลยว่าเป็นคนออกแบบงานทุกชิ้นเองทั้งหมด"

ตัวเลข 6 เดือนเหมือนกับที่สถาปนิกคนนั้นพูดกับคุณไม่ผิด เอ...หรือเจ้าของบริษัทคนนี้ก็คงไม่โกหก สถาปนิกคนนั้นก็ทำไม่ถูกนะ
ผลงานของบริษัทจะไปเหมาไปอ้างว่าเป็นผลงานของตัวเองคนเดียวได้อย่างไร

แต่เรื่องค่าออกแบบที่เจ้านายยังไม่จ่ายเขาละ เจ้านายไม่เห็นพูดถึงเลย

"มีอย่างที่ไหน" เจ้านายเหมือนรู้ใจคุณ

"ทำงานกินเงินเดือนตั้งเท่าไร ยังจะขอค่าออกแบบเพิ่มอีก มีสำนักงานไหนเขาทำกัน คุณไปถามดูเลย"

เออ..จริงสิ คุณคงเริ่มเห็นด้วยแล้ว ยิ่งประโยคสุดท้ายท้าให้ไปถามเขาดูเลย

"คุณรู้ไหมว่า เขาได้เงินเดือนเท่าไร เข้ามาครั้งแรกขอเงินเดือนมากกว่าผมอีก"

อย่างนี้ก็เกินไปแล้ว คุณคงคิดในใจ

"หนำซ้ำ มันยังจะไปฟ้องสภาสถาปนิกอีก มันกะจะดิสเครดิตผมนะนี่ ผมลดเงินเดือนเลย

แล้วเป็นไงล่ะ ก็ต้องลาออกไปเอง"

ขี้เหนียวและเอาเปรียบ เออ..ก็พูดตรงกับที่สถาปนิกคนนั้นเล่านี่ แต่คุณเริ่มคิดแล้วใช่ไหมครับว่า เจ้านายคุณเขาก็มีความชอบธรรมพอที่จะทำอย่างนั้น เพราะอีกฝ่ายหนึ่งเล่นแรงก่อน

สมมุติต่ออีกดีกว่าสมมุติว่าสถาปนิกคนที่คุณรู้จักคนนี้ เข้าไปบอกเจ้าของบริษัทว่า

เขารู้จักเลขานุการสาวที่กำลังจะมาทำงานบริษัทนี้เป็นอย่างดีหูผึ่งอีกแล้วใช่ไหมครับคุณพัดชา

อยากรู้ใช่ไหมครับว่า เขาพูดว่าถึงคุณว่าอย่างไร

บังเอิญผมนั่งอยู่ในห้องนั้นด้วย สมมุตินะครับสมมุติ

"น่ากลัวนะครับผู้หญิงคนนี้" เขาขึ้นประโยคแรกอย่างนี้เลย

"เห็นพูดจาไพเราะ เงียบๆ ขรึมๆ อย่างนี้ก็เถอะ ลับหลังชอบนินทาคน"

เจ้านายคุณก็เริ่มคิดตามแล้ว มันเป็นไปได้นะ เพราะคุณเองก็ชอบปรึกษาหารือกับคนอื่น

"เป็นคนไม่ค่อยไว้ใจใคร"

เจ้านายคุณเริ่มคล้อยตามแล้ว

อย่าว่าแต่เจ้านายคุณเลย ผมเองฟังอยู่ยังคล้อยตามเลย

เพราะถ้านำมาเทียบกับจดหมายที่คุณเขียนมาแล้วก็ดูจะมีมูลความจริงอยู่

ทั้งๆ ที่การไม่ไว้ใจใครง่ายๆ นี่ มันก็มองได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ แต่น้ำเสียงของคนเล่าอาจมีอิทธิพลทำให้คนฟังมองเป็นแง่ลบได้

"เป็นคนไม่ค่อยมีไฟหรอกครับ ทำงานไปวันๆ ผู้หญิงคนนี้" ใส่ร้ายกันชัดๆ

"และเห็นเรียบร้อยๆ อย่างนี่ เสือผู้ชายนะนี่ คบผู้ชายหลายคนเลยพร้อมๆ กัน" ประโยคสุดท้ายนี่ สถาปนิกคนนั้นเล่นแรงเลยครับ คุณคงอยากเถียง ก็อีแค่มีผู้ชายมาจีบหลายคน และเราก็ยังไม่ปลงใจกับใครนี่ กลายเป็นเสือผู้ชายไปแล้วหรือนี่

ใครฟังก็ต้องให้คะแนนลบหมดละครับประโยคแบบนี้ แล้วจะเอาหลักฐานที่ไหนมาพิสูจน์ เรื่องไม่ดีที่เขาโยนมาให้คุณมันก็ล้วนเป็นนามธรรมทั้งนั้น หาหลักฐานจับต้องยาก

แต่ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องสมมุตินะครับสมมุติ

แต่คุณพัดชารู้อะไรไหมครับ เรื่องอย่างที่ผมสมมุติขึ้นมาให้ฟังนี้มันมีอยู่จริงในสังคมเรา ผมได้รับคำปรึกษาเรื่องทำนองนี้บ่อยๆ รวมไปถึงเจอด้วยตัวเองบ่อยๆ แล้วผมก็ใช้วิธีนี้แหละครับมาตอบโจทย์ นั่นคือผมจะสมมุติต่อในมุมของคนอื่นบ้าง และสมมุติให้แรงกว่าเดิมอีกหลายๆ เท่า

จากนั้นก็จะถามกลับว่ารู้สึกอย่างไรที่ตัวเองโดนบ้าง
และก็จะขออนุญาตถามคุณพัดชากลับเลยครับว่ารู้สึกอย่างไร

คนส่วนใหญ่ที่ใจยังไม่กว้างพอ มักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล คอยสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยยึดเอาตัวเองเป็นพระเอกเป็นนางเอก แล้วก็ให้คนอื่นสวมบทเป็นตัวอิจฉาหมด

ใครที่เคยมีประสบการณ์ฟังความจากคนที่ทะเลาะกันก็คงจะนึกออก ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครพูดโกหกเลย แต่ฟังแล้วอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้ายอย่างไรไม่รู้

คนโบราณจึงสอนว่าอย่าหูเบา เพราะเดี๋ยวหูมันจะบินลอยตามเรื่องที่เขาเล่าจนกลายเป็นคนไม่มีหูไปเสีย ยิ่งพวกที่ยกเมฆเก่งๆ นี่ หูคนฟังจะลอยถึงเมฆเอาง่ายๆ

แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี่ไม่ใช่หมายความว่าผมจะมาชวนให้คุณพัดชาไม่ฟังคำเตือนของใครนะครับ อย่างไรก็ต้องฟังครับไม่ว่าจิ้งจกทักหรือตุ๊กแกเตือน

เพียงแต่อย่าเพิ่งกังวลไปล่วงหน้าจนขาดแรงใจที่จะทำงาน

ถ้าใจคุณพัดชาอยากทำงานที่นั่นแล้วก็ไปทำเถิดครับ

อย่าให้แค่เรื่องเล่ามาหยุดคุณ คุณพัดชาก็บอกเองอยู่แล้วว่าเจ้านายดูเป็นคนใจดี ลองเชื่อสามัญสติตัวเองดูบ้างก็ไม่เห็นเสียหายตรงไหน

ทำไปแล้ว เจ้านายขี้เหนียวหรือเอาเปรียบจนทนไม่ได้ก็ลาออก แล้วก็ถือเป็นประสบการณ์ดีๆ อันหนึ่ง เพิ่งเรียนจบมาได้เจอคนหลากหลายประเภทก็ไม่เลวนะครับ ฝึกจัดการกับมันให้ได้ไอ้ความกังวลนี่

นักจิตวิทยาเขาว่ามีนิดๆหน่อยๆจะช่วยให้เราไม่ประมาท

เหมือนตัวต้านทานในวงจรไฟฟ้าเลยครับ นั่นคือมันเป็นสิ่งจำเป็นอันหนึ่งในวงจรเลยทีเดียว หน้าที่ของมันก็คือไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าหลอดไฟมากเกินไป เพราะจะทำให้หลอดขาดได้

กังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นนี่ ถ้าเป็นมากๆ ก็เหมือนมีความต้านทานที่มีค่าสูงๆ นั่นแหละ ใส่เข้าไปในวงจรมากๆ หลอดไฟมันจะไม่สว่างเอาเดี๋ยวกลายเป็นคนไม่มีไฟจริงๆ อย่างที่เขานินทาในเรื่องที่ผมสมมุติไว้ไม่รู้ด้วย
หน้า 17 คอลัมน์ คุยกับประภาส

มติชนวันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10221