ภาสกร ประมูลวงศ์ สัมภาษณ์ / a day เล่มแรก
ผมพบว่า การเขียนคำเกริ่นนำบทสัมภาษณ์ของประภาส ชลศรานนท์
เป็นเรื่องลำบากลำบนกว่าที่คิด เพราะผู้ชายคนนี้มีแง่มุมหลากหลาย
เกินกว่าที่จะอธิบายภายใต้เนื้อที่จำกัด ที่ผ่านมาประภาสเป็น
‘เป็น’ มาแล้วหลายอย่าง
เป็นคอลัมน์นิสต์ เป็นนักเขียน เป็นนักแต่งเพลง เป็นนักคิด
เป็นนักบริหาร
และเป็น ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ นอกเหนือจากคำว่า ‘เป็น’ แล้ว
ยังมีคำว่า ‘เคย’
อยู่ในประภาสอีกหลายเคย
อาทิ เคยทำ ‘เฉลียง’ กลุ่มคนดนตรีที่มีเพลงเป็นเอกลักษณ์
เฉพาะตัว, เคยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘ไปยาลใหญ่’ นิตยสารช่างคิดและรุ่มรวยอารมณ์ขัน
ที่ทุกวันนี้กลายเป็นตำนานย่อยๆ ของวงการนิตยสารไปแล้ว, เคยปลุกปั้น ‘มูเซอร์’
ค่ายเพลงที่ถือกำเนิดมาก่อนที่จะมีใครบัญญัติศัพท์ ‘อัลเทอร์เนทีฟ’,
เคยทำละครทีวีซิทคอมดีๆ อย่าง คุณยายกายสิทธิ์ นายแพทย์สนุกสนาน
เทวดาตกสวรรค์ และ ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ เหล่านี้คือตัวอย่างผลงานที่ผมพบว่า
เรียกรอยยิ้มจากประภาสได้ทุกครั้งที่เอ่ยถามให้เขาหวนรำลึกถึง
ประภาสมักย้ำกับผมบ่อยครั้งว่า
“ผมเป็นปุถุชนคนธรรมดา...” เขาบอกว่าชีวิตที่ผ่านพบมาแล้วทั้งความสมหวัง
ความผิดหวัง เคยทั้งประสบความสำเร็จอย่างสูงและล้มเหลวไม่เป็นท่า
“แต่ผมไม่เคยแม้แต่เก็บมันมาคิดเลยนะ เพราะผมไม่ใช่มนุษย์ประเภทสมบูรณ์แบบนิยม
สำหรับผมแล้ว คนเรามันสามารถผิดพลาดกันได้”
ประภาสย้ำคำพูดนี้อย่างอารมณ์ดีในน้ำเสียง
ที่แนบมาพร้อมรอยยิ้มจริงใจในแบบฉบับ
‘พี่ชายที่แสนดี’ กลับจากการพูดคุย 4 ชั่วโมง
กับประภาส ชลศรานนท์
ในเย็นวันนั้น
เมื่อผมลงมือถอดเทปคำสัมภาษณ์และอ่านมันจบไปสองรอบ
มีความรู้สึกแปลกประหลาดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น!
ผมพบว่า ยี่ไม่เหมือนการอ่านบทสัมภาษณ์
แต่อยากเรียกมันว่าการอ่าน ‘ความคิด’ มากกว่า
ในความคิดของเขาเหมือนมีตัวหนังสือ
และ ‘ตัวหนังสือ’ ที่อดไม่ได้ที่จะ ‘คุยกัน’
นึกวิธีเสนอบทสัมภาษณ์ประภาส ชลศรานนท์
ออกแล้ว! ผมจะใช้ช่วงเวลาของวัน
แทนความหมายในแต่ละช่วงตอนของชีวิตเขา
ช่วงเช้า : ชีวิตวัยเยาว์
เริ่มสาย : วัยเรียน วัยรุ่น การทำงานเริ่มแรก
ตกบ่าย : ปัจจุบันกำลังกระทำ
ยามเย็น : อนาคตและทรรศนะ และต่อไปนี้
คือ เช้า สาย บ่าย เย็น ของประภาส ชลศรานนท์ :
ช่วงเช้า
คุณคิดว่าตัวเองเป็น ‘คนช่างคิด’ ตั้งแต่เมื่อไร
ก็เป็นเรื่องที่คนอื่นเขาพูดกัน จริงๆ แล้ว ผมคงจะเป็น ‘คนช่างสงสัย’ มากกว่า
จำได้ว่าสมัยที่ยังเรียนอยู่ไปหางานพิเศษทำที่เจเอสแอล
ไปเขียนบทละครสั้นๆ แทรกในรายการทีวี แล้วพอดีได้ไปคลุกคลีกับพวกพี่ๆ
เพื่อนๆ เจ้าของบริษัท เค้าพูดกับผมว่า
“สงสัยเธอนี่แก่ตัวถ้าจะบ้า! “ ผมก็ถาม...แปลว่าอะไร เขาบอกว่า
“ทำไมต้องคิดทั้งวัน
ดูท่าทางเป็นคนครุ่นคิด บางทีคุยด้วยเหมือนไม่ได้ฟังคนอื่น”
ตอนนั้นผมเองก็งงๆ แปลว่าอะไร คนอื่นเขามองเราเป็นอย่างไร
เรามีท่าทางที่ดูเหมือนไม่ฟังคนอื่นจริงหรือ คือมันเป็นอย่างนี้
เวลาผมคุยกับใคร
บางทีบางประโยคมันสะกิดความคิดของผมให้คิดไปได้ไกลๆ
ทำให้ผมวนเวียนกับความคิดตรงนั้น จนดูเหมือนไม่ได้สนใจ
สิ่งที่เขากำลังพูด
“ถ้าแก่ตัวอาจเป็นบ้าได้” เออ! ประโยคนี้สงสัยจะมีมูล
แต่ยอมรับว่าผมชอบคิดอะไรที่มันไม่ซ้ำกับของที่มีอยู่
ชอบคิดให้มันแปลกประหลาดออกไป
อันนี้ยอมรับว่าเป็นธรรมชาติส่วนตัว ไม่ได้แสร้งทำเลย...
(ทำท่าคิด ทอดสายตามองแก้วกาแฟที่ตั้งอยู่ตรงหน้า)
แต่จะว่าไปแล้ว มันเป็นคุณสมบัติสำคัญของนักเรียนศิลปะทุกคนอยู่แล้วนะครับ
ย้อนกลับไปสมัยที่ผมเป็นเด็ก ผมก็มีบุคลิกอย่างนี้ เวลาครูให้งาน
ให้โจทย์อะไร บางทีผมก็จะไม่ค่อยเชื่อโจทย์ จะถามให้แน่ใจว่า
ให้โจทย์ถูกหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นวิชาวาดเขียน วิชาเลข
วิชาอะไรก็ตาม ผมจะกลับไปที่โจทย์ก่อนบ่อยๆ ก่อนที่จะทำอะไรเราต้องดูที่โจทย์
ให้แน่ใจว่าโจทย์ถูกแน่แล้วค่อยลงมือทำ
เคยอ่านที่คุณให้สัมภาษณ์ในหนังสือ “เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก”
ว่า คุณเคยแต่งกลอนให้เพื่อน 20 คนภายในเวลาแค่ 20 นาที
ตอนนั้นคิดอะไรอยู่
ไม่ได้คิดอะไรเลย คิดแต่ว่าอยากออกจากห้องไปเร็วๆ
เพราะมันเป็นวันสอบวันสุดท้ายของ ม.ศ.3
และมันนานจนรู้สึกรำคาญ...ทำไมเพื่อนๆ
ยังไม่ออกมาสักที คือวันนั้นเป็นวันสอบวิชาภาษาไทย
แล้วข้อสอบเขาให้แต่งกลอนคนละบท พอผมเห็นเพื่อทำไม่ได้แน่ก็เลยเขียนให้
มันยังเด็กอยู่ ยังสนุกแบบไร้กติกาไปหน่อย
แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากมาย
จริงๆ แล้วมันคงเป็นอารมณ์แบบ “เรานี่มันบ้าเอาการเหมือนกัน”
(หัวเราะชอบใจ) คุณคิดว่า ‘ครู’ ของคุณคือใคร ในชีวิต
ผมมีครูเยอะนะครับ ถ้าจะให้เอ่ยนามก็คงใช้เวลาเป็นวัน
แต่กับ ‘ครู’ ที่ผมคิดถึงบ่อยๆ คือ ครูแสง (รองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร)
ท่านเปิดโลกการมองงานศิลปะให้กับผม ให้ความคิดเชิงบวกต่อโลกและสรรพสิ่ง
สอนให้ละเอียดอ่อนต่องานศิลปะและสิ่งแวดล้อม
ท่านเป็นคนที่ให้ความรักกับสิ่งแวดล้อมมาก เป็นคนแรกๆ
ที่พูดถึงเรื่องนี้ในเมืองไทย
น่าเสียดายที่ผมไม่รู้จักท่านมากเท่าไหร่ เพราะผมเรียนกับท่านแค่ปีเดียว
ถัดมาอีกปีท่านก็เสีย... ครูแสงเป็นคนที่น่าสนใจมาก
สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ได้สนุกที่สุดในโลก
แกใช้วิธีเล่าให้ฟังจากสไลด์ที่แกถ่ายเก็บไว้จากการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก
ครูแสงท่านรักที่จะเรียนโลก...มีเรื่องเล่าว่า
ครั้งหนึ่ง แกเคยเสวนากับเพื่อนในเรื่องการมีลูก “ทำไมถึงอยากมีลูก”
เพื่อนครูแสงถาม “ก็อยากรู้ว่า มีลูกแล้วจะเป็นยังไง”
ครูแสงตอบ “แล้วทำไมมีคนเดียว ทำไมไม่อยากมีอีก”
เพื่อนคนเดิมถามต่อ “อ้าว! ก็มีแล้วนี่...ยังอยากรู้อะไรอย่างอื่นอีก”
นี่แหละครับครูแสงของผม ชีวิตวัยเยาว์ของเด็กชายประภาสเป็นอย่างไร (อมยิ้ม)
ติ๋มๆ นะ...ชอบเล่นกับเพื่อนตามข้างศาลเจ้า ข้างวัด ใส่กางเกงตูดปะ
คลุกฝุ่นอะไรไปเรื่อยเปื่อย เวลาพ่อแม่ไปกินเลี้ยงตามต่างจังหวัด
ที่เค้าเรียกว่าไปกินโต๊ะจีน เราก็ไปเกาะขอบโต๊ะ ได้เห็นอาหารดีๆ
อยากกินแต่ไม่ค่อยกล้าพูด เป็นเด็กติ๋มๆ หงอๆ พอ7-8 ขอบ
พ่อแม่พาเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯ ไปงานแต่งงานญาติ นั่งรถเมาอ้วกเกือบทั้งวัน
เคยขึ้นรถที่ไหน...(เงียบไปสักพัก)
เด็กชายประภาสก็คงเป็นเด็กบ้านนอก
ที่มีลักษณะต่างจากเด็กคนอื่นบ้างก็ตรงที่ชอบอ่านหนังสือ
ผมชอบอ่านชัยพฤกษ์การ์ตูน ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์
ทั้งๆ ที่ในตำบลแทบจะเรียกได้ว่า มีหนังสือเล่มนั้นมาขายในแผงอยู่ไม่ถึง 5 เล่ม
ซึ่งผมจะซื้อเก็บไว้เป็นของผมเล่มหนึ่งเสมอ...ผมว่านั่นคือบทเรียนแรกๆ
ที่สอนผมให้คิดแตกต่าง และยังไม่ทันจบป.7 ดีผมอ่านหนังสือหนาๆ อย่าง
‘ละครแห่งชีวิต’ ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงจบ ผมเป็นเด็กเรียนเก่งคนหนึ่ง
แต่เป็นเด็กเรียนเก่งที่ขี้เกียจเอามากๆ (หัวเราะเบาๆ )
ผมชอบเรียนให้เข้าใจมากกว่าท่องจำ เป็นเด็กที่มีอิสรภาพทางด้านความคิดจนน่าตี
ผมสนิทกับเด็กเกเรมากกว่าเด็กเรียน ผมรู้จักเพลงเยอะมาก
ถ้าจะเทียบกับเด็กๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ผมชอบเงี่ยหูฟังวิทยุของคนอื่น
พี่ชายฟังสุนทราภรณ์ ข้างบ้านฟังเดอะบีทเทิลส์ คุณเคยบอกว่า
ชอบหนังสือวรรณกรรมเยาวชนอยู่สองเล่ม คือ ‘เจ้าชายน้อย’ กับ ‘ต้นส้มแสนรัก’
ที่อยากรู้คือ ชีวิตวัยเด็กของคุณมีส่วนคล้ายกับ ’เซเซ่’ บ้างไหม ไม่เลยครับ
ผมอาจจะช่างฝันเหมือนเค้าก็จริงนะครับ เด็กทุกคนช่างฝันนะผมว่า
ผมอาจเคยไปเล่นอะไรๆ คล้ายๆ เซเซ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าไปขี่ต้นส้มนะครับ
มันเป็นราวเหล็กข้าง กำแพงวัด ผมสมมติว่ามันเป็นเรือดำน้ำ
ก็เล่นกันไปตามประสาเด็กกับเพื่อนๆ แต่เวลาผมถูกดุ หรือบางครั้งผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ
ผมไม่โดนหนักขนาดที่เซเซ่โดน ไม่ถึงขนาดเอาไม้ไล่ขว้าง
หรือไม่ให้กินข้าว...(เงียบไปสักพัก) ถึงแม้ว่าพ่อแม่ผมจะเป็นคนรุ่นเก่า
แต่ท่านทั้งสองเป็นคนอ่อนโยน พ่อผมเป็นนักวิชาการ
อยู่เมืองจีนพ่อผมเป็นชาวนา
มาอยู่เมืองไทยพยายามศึกษาหาความรู้
ถึงแม้จะไม่ได้เรียนหนังสือแต่ท่านศึกษาด้วยตัวเอง
คุณพ่อผมเป็นครูสอนภาษาจีนอยู่ในตำบล เป็นคนที่เก่งภาษาจีน
ผมสิแปลกไม่รู้ภาษาจีนสักคำ พ่ออ่านหนังสือพิมพ์จีนทุกหน้า
แล้วก็ชอบมาเล่าให้ผมฟัง การเป็นคนชอบศึกษาหาความรู้
อันนี้ผมได้มาจากพ่อ
ในครอบครัวนี่ ใครที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและความคิดของคุณมากที่สุด
ใช่พี่ชายหรือเปล่า เพราะเคยได้ยินมาว่า เพลง ‘พี่ชายที่แสนดี’ นี่
คุณเขียนให้พี่ชายคนหนึ่ง
พ่อยิ่งใหญ่ในสายตาผม ไม่รู้หนังสือเลย
จากเด็กชาวนาที่ไม่รู้หนังสือเลยมาเป็นเด็กรับใช้ในบ้านซินแซสมุนไพร
ใช้วิธีครูพักลักจำจนท่องตำราสมุนไพรได้
จากเด็กที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือสักตัว
มามีชีวิตที่เป็นคนที่รู้ภาษาดีหว่าใครในหมู่บ้าน
(หยิบกาแฟขึ้นจิบ...นิ่งทบทวนความจำ)
ผมยังมีพี่อีกหลายคนนะ พี่ชายทั้งหมดทุกคนมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน
นั่นก็คือ ทุกคนรักน้อง...พี่คนที่เข้ากรุงเทพฯ ขากลับเขาก็จะเอาอะไรๆ มาให้เรา
ของดีๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์จะหยิบมาฝากน้องเสมอ อย่างเช่นหนังสือ
เพลงสกายไลท์ของคณะสถาปัตย์ สมัยนั้นหนังสือสวยๆ
ขนาดนั้นผมไม่เคยเห็นเลย
หรืออย่างกีตาร์นี่ผมก็เก็บสตางค์ฝากเขาซื้อให้
ผมไม่รู้ว่าเขาเห็นแววหรือเปล่า
แต่เขาชอบส่งเสริมให้ผมไปเจออะไรแปลกๆ น่าสนใจอยู่เรื่อย...แม้แต่เด็กๆ
ที่ถูกเด็กโดตกว่ารังแก พี่ผมก็จะช่วยต่อยให้
ความทรงจำเกี่ยวกับพี่ชายของผมยังสวยงามเสมอ
แม้ว่าวันนี้จะโตๆ
มีครอบครัวกันหมดแล้ว วันที่คุณเปลี่ยนคำนำหน้า
จาก ‘เด็กชาย’ มาเป็น ‘นาย’
วันนั้นมีอะไรน่าจดจำเป็นพิเศษหรือเปล่า
อืม...มันไม่ใช่ตื่นแต่เช้ามาแล้วเสียงมันแหบเลยนะ ไม่ใช่
(ย้ำคำแล้วหัวเราะขัน) เมื่อตอนอายุ 15 หรือช่วง ม.ศ.3
ก็สับสนกับอะไรมากมาย
ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นกับทุกคนนะ ฮอร์โมนหลั่งไหล
เป็นสัตว์ประหลาดที่อยู่ระหว่างกลางของเด็กและผู้ใหญ่
ผมอาจจะพิลึกกว่าคนอื่นก็ตรง “ครุ่นคิดเรื่องความตาย”
ตั้งแต่วัยนั้น จริงๆ นะครับ ผมไปงานศพญาติผู้ใหญ่
ในช่วงเวลานั้นแล้วมันหดหู่พิกล
ถามคำถามเกี่ยวกับชีวิตตั้งแต่นมพึ่งแตกพาน
แต่ตอนนั้นมองไปอย่างไม่เข้าใจ
และจะมีคำถามเยอะมากในตัวเอง...มันเต็มไปหมด
ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง
ช่วงนั้นจะเป็นคนเก็บตัว ไม่รู้นะว่า
เด็กวัยรุ่นแต่ละยุคเหมือนกันหรือเปล่า
มีส่วนมาจากการอ่านหนังสือหรือเปล่า น่าจะมีส่วนมาก
ตอนเด็กๆ จำได้ไหมว่า
คุณชอบกินขนมอะไรมากที่สุด (นั่งคิดอยู่นาน)
แถวบ้านทางไปโรงเรียนมีอยู่ร้านหนึ่ง
ทำขนมคล้ายๆ ก๋วยเตี๋ยวหลอด ใส่ถั่วงอกเส้นหนึ่ง
ถั่วเม็ดหนึ่ง กุ้งแห้งตัวหนึ่ง
แล้วราดน้ำจิ้มเหนียวๆ นิดนึง ง่ายๆ แค่นี้ แต่คุณรู้ไหม
ผมรู้สึกว่ามันอร่อยเหลือเกิน
ผมจึงจำได้อยู่ทุกวันนี้ พอเราไปเจออะไรที่มันคล้ายๆ
แบบนั้นก็อยากกิน
แต่กินเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยเหมือนสักที ตอนนี้คล้ายที่สุดคือ
ก๋วยเตี๋ยวหลอด
พูดถึงของกิน...(ขยับท่านั่งท่าทางสนุก)
เมื่อก่อนที่บ้านไม่เหลือกินเหลือใช้ครับ
ก็จะมาทำกินกันเองในบ้าน มีวันหนึ่ง
พี่เขาไปได้เงินมาจากไหนไม่รู้
ไปซื้อกระเพาะปลามาถุงหนึ่ง เราก็ไปนั่งดูเขากิน
อยากกินด้วย เขาก็เทใส่ชาม
แล้วก็ให้เราไปตักข้าวเปล่ามากินกับกระเพาะปลา
ทุกวันนี้ผมยังติดผมยังติดใจข้าวกระเพาะปลาอยู่เลย ไปกินอาหาร
ที่ร้านสั่งกระเพาะปลากับข้าวเปล่าๆ เนี่ยนะ! จะขี้เหนียวไปถึงไหน!
ผมบอกเปล่าขี้เหนียว มันอร่อยนี่หว่า ของที่อร่อย
ใครจะว่าว่าคุณกินประหลาดยังไง
ไม่เป็นไรไม่ต้องสนใจ ผมยืนยันด้วยความเข้าใจ! ก็มันอร่อยน่ะ (หัวเราะ)
รสชาติอร่อยมันมาจากความประทับใจ
ถึงแม้กินวันนี้จะไม่อร่อยเท่ากับวันนั้น
แต่มันก็ได้ ความรู้สึกคล้ายๆ กัน นี่คือเรื่องจริง
คือเราอาจจะเคยกินของอะไรประหลาดๆ
ตอนเด็กๆ ผมเคยเห็นเพื่อนเอาข้าวใส่ก๋วยเตี๋ยวอย่างเหนียมอาย
ผมบอกว่า ทำไปเถอะ
ไม่ต้องเกรงใจผม มึงทำไปเหอะ
ไม่ต้องเกรงใจกู (น้ำเสียงเป็นกันเอง)
และไม้องเกรงใจคนอื่นด้วย มีเงินจ่ายก็แล้วกัน
ถ้าคนไม่สนิทกันก็อาจจะคิดว่าเป็นคนประหยัด...ผมมีเพื่อนอีกคน
แต๋ง (ภูษิต ไล้ทอง) ทุกวันนี้เห็นขนมปังจิ้มนมไม่ได้
เขาบอกว่า ตอนเด็กๆ เวลาพ่อเขาเงินเดือนออกมาทีไรจะซื้อขนมปังแถวยาวๆ
แถวหนึ่ง นมอีกหนึ่งกระป๋อง
นี่คือของที่เขาคิดว่าอร่อยที่สุด...
ผมว่านี่คือความรู้สึก
ที่คนเราทุกคนต้องมี (ยิ้มจนตาฉีก) :
เริ่มสาย
คุณมีวิธีเลี่ยงหลักการได้รับอิทธิพลทางความคิด ความอ่าน ความเชื่อ จากสิ่งต่างๆ
ได้อย่างไร
ผมใช้คำว่า “เราต้องกล้าไม่เชื่อมันซะทุกเรื่อง!
“ สมมติเราได้รับการบอกเล่าว่าโลกแบน เราต้องกล้าที่เชื่อว่า โลกอาจจะไม่แบนก็ได้
เราต้องสนใจและอย่าไปหัวเราะเยาะมัน เราต้องกล้าที่จะเชื่อความคิดที่แตกต่าง
ซึ่งผมว่านักคิดส่วนใหญ่ของโลกก็เป็นอย่างนี้ครับ การไม่เชื่อนี่ต้องบอกก่อนว่า
ไม่เกี่ยวกับการไม่เคารพนะครับ
ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะสงสัยว่าแม่คุณโกหกอะไร
บางอย่างคุณอยู่ การที่คุณสงสัยนี่ไม่ได้แสดงว่าคุณไม่มีความเคารพรักแม่คุณเสียเมื่อไหร่
ในประวัติศาสตร์นี่ตายกันมาเยอะแล้ว เพราะถือว่าคนที่ไม่เชื่อคือคนไม่เคารพศาสนา
ผมเคยเห็นนิตยสารของญี่ปุ่น ผมชอบแฮะ เค้าจะให้เด็กได้คิดอะไรๆ แผลงๆ
เคยเห็นมั้ยครับ พวกประดิษฐ์อะไรประหลาดๆ ถ้าเป็นบ้านเราก็จะมองว่า
พวกนี้มันบ้าโว้ย แต่อย่าลืมนะครับว่า นักประดิษฐ์เก่งๆ อยู่ที่ญี่ปุ่นเยอะเลยตอนนี้
ผมว่าเมื่อก่อนที่ได้ยินว่าโลกกลมมันก็อารมณ์เดียวกับพวกญี่ปุ่น
เป็นไปได้เหรอ! จะบ้าเหรอ! โลกมันแบน ก็เห็นอยู่ว่ามันแบนราบ
เดินไปทางไหนก็แบนหมด ผมว่าเราต้องกล้าที่จะไม่เชื่อในสิ่งที่เรารู้
และนี่แหละที่ผมว่าคือความหมายของจินตนาการ จินตนาการเป็นสิ่ง
ที่ติดตัวคนเรามาตั้งแต่เกิดหรือเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ ทุกอย่างในตัวมนุษย์
มีทั้งสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและมีสิ่งที่ฝึกฝนกันได้
แต่จะเป็นผลแค่ไหนอันนี้เราวัดกันไม่ได้มากกว่า...เหมือนกันที่ผมเชื่อว่า
คนเราทุกคนเกิดมาเป็นคนดี แต่ถ้าเราไปฝึกเขาให้เป็นคนเลว มันก็ทำได้
ถ้าสมมติตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง แล้วพบว่าวันนี้ไม่ต้องคิดอะไร...คุณจะคิดยังไง
ก็จะไม่คิด (หัวเราะสนุกสนาน) ก็เราไม่มีอะไรต้องคิดนี่หว่า
ก็ไม่ต้องไปคิดมันโจทย์บอกว่า ตื่นมาแล้วไม่ต้องคิดอะไร
เราก็ไม่คิดอะไรเลย นี่แหละถูกแล้ว
คงไม่ย้อนกลับมาถามตัวเองว่าว่า...(ทำเสียงครุ่นคิด)
เอ...แล้วทำไมเราไม่คิด คิดสักหน่อยเถอะ...พอถามตัวเองอย่างนี้แล้ว
เดี๋ยวมันคิดต่อเลย
จริงๆ แล้ว เคยมีเช้าอย่างนั้นไหม
(ยิ้ม) ไม่มีหรอกครับ เรื่องคิดของผมไม่ใช่เรื่องสำคัญ
ไม่ใช่เรื่องที่ว่าภูมิใจคิดได้ทั้งวันทั้งคืน
มันเป็นเรื่องธรรมชาตินะครับ ผมว่าวิธีการคิดของผมเนี่ย
มันชอบมาจากการตั้งคำถาม แล้วก็ดึงมาสร้างแนวความคิดใหม่ๆ
ผมว่าทุกคนคิดหมด แต่จะคิดไปทางไหนกันมากกว่า
ถ้าไม่คิดเลยไม่มีในโลก
สมองคนเราทำงานอยู่ตลอดเวลา ตายแล้วเท่านั้นนะครับ
สมองจึงจะไม่ทำงาน...มนุษย์เราทุกคน
ต่อให้คนคิดอะไรไม่เป็นอะไรก็ต้องคิดนะครับ
เวลาคุณคิด คุณ ‘เค้น’ ไหม เป็นอยู่บ้าง...อย่างที่คิดอะไรอยู่สักอย่างแล้วหยุด
ไปคิดอย่างอื่นแล้วต้องกลับมาคิดใหม่ในเรื่องเดิม
คือเหมือนกับมันกำลังไหลไปนะ
แล้วถูกเบรค สักพักต้องมาเริ่มใหม่...เราก็ต้อง ‘เค้น’
ความคิดออกมา ทำได้นะ แต่จะเหนื่อยหน่อย...อีกอย่างคือ
ถ้าต้องไปประชุมงานสี่เรื่องในวันเดียวกัน
ผมไม่เอาหรอก บอกเค้าขอเรื่องเดียวได้มั้ยว่าเวลาคนใช้ความคิด
ทำไมชอบเอามือจับคาง...ว้า...สงสัยอีกแล้ว (หัวเราะ)
การใช้มืออาจทำให้สมองแล่นขึ้น เหมือนการเขียน
สำหรับผมแล้วการเขียนทำให้คิดออกมากกว่าไม่เขียนหลายเท่านัก
ใครที่ไม่ชอบเขียนลองดูสิครับ ประโยคแรกอาจจะยากหน่อย
พอเริ่มไปสักพักมันก็จะหยุดไม่ได้ ตอนผมเขียน ‘เทวดาตกสวรรค์’
เป็นบทละครโทรทัศน์ ผมจำได้ว่า ผมเขียนเป็นตอนที่ 30 หรือตอนที่ 29
นี่แหละเขียนแล้วเบรกไม่ได้! มันไหลไม่หยุด รู้สึกว่าตัวเองกำลังเถียงกับตัวเอง
ในเรื่องคือ’เทพ’ พระเอกของเรื่องเถียงกับสวรรค์อยู่ มือมันไม่หยุดเลย
เถียงจนเหนื่อย พี่เอก (ธเนศ วรากุลนุเคราห์) เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ได้บทมา
เขาก็อ่านมาถึงแถวๆ นี้แหละ แล้วก็หยุดไม่ได้เหมือนกัน
แสดงว่าแรงทีส่งให้เขารับได้ (หัวเราะเบาๆ )
นึกถึงละครโทรทัศน์สมัยก่อนที่คุณเคยเขียนบท อย่างเช่น เทวดาตกสวรรค์,
คุณยายกายสิทธิ์ หรือ นายแพทย์สนุกสนาน ก็เห็นว่า เมื่อก่อนเรามีละครซิทคอมดีๆ
อยู่หลายเรื่อง แต่ระยะหลังทำไมซิทคอมจึงไม่ประสบความสำเร้จในเมืองไทย
นั่นพอจะสรุปได้ไหมว่า คนไทยไม่ชอบซิทคอม?
ผมเองไม่ค่อยเชื่อนะ (จิบน้ำแล้วนิ่งคิด) แต่ก็หาโอกาสอยู่ว่า
จะทำอย่างไรให้คนชอบซิทคอมให้ได้ นี่ผมกำลังหาโอกาสทำอยู่
มีนักแสดงหลายคนที่มีความสามารถอยากเล่นอะไรอย่างนี้เหมือนกัน
มันคล้ายละครเวทีอยู่เหมือนกัน แต่เขาว่ามันขายยากซิทคอมในเมืองไทยนี่
สิ่งแรกที่ต้องคิดถึงเลย คือ ต้องมีทีมเขียนสักสี่ทีมผมว่าบทนี่ต้องมาก่อนเลย
มาก่อนผู้กำกับอีก...ผมว่านิยายมันยังมีเรื่องราวที่จะพาไปได้เรื่อยๆ
ตามบทประพันธ์ นี่พูดถึงละครที่เป็นนิยายนะ
แต่พอเป็นซิทคอมแล้วมันจะมีเนื้อหานิดเดียว แต่แนวความคิดค่อนข้างใหญ่
ฉะนั้นบทจึงสำคัญมาก...ต้องเอาให้อยู่ก่อน คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘มืออาชีพ’
ครั้งแรก จากงานอะไร งานเขียนเพลง (ตอบทันที-ยิ้ม)
ผมทำงานที่ว่าแบบ ‘มืออาชีพ’ จริงๆ อย่างที่บอก
ผมทำงานเพลงหลายๆ รูปแบบ เคยทำอย่างที่เจ้าของค่ายเทปต้องการ
เมื่อตอนมีค่าย เคยทำตามความต้องการของฝ่ายลูกค้าและครีเอทีฟ
ในเพลงโฆษณาและทำตามความต้องการของจิตใจตัวเองได้อย่างเต็มๆ
ในงานเพลงส่วนตัว
ถ้ามีช่องว่างในแบบสอบถามให้คุณกรอกว่า มีอาชีพอะไร
คุณจะเขียนว่าอย่างไร
คงต้องกรอกไปว่า เรามีอาชีพเป็นนักเขียน
เพราะผมเขียนหลายอย่าง เขียนเพลง เขียนหนังสือ เขียนบทละคร
ถึงแม้ผมจะทำงานด้านครีเอทีฟเยอะอยู่ แต่จะไปกรอกว่า
เรามีอาชีพเป็น ‘นักรังสรรค์’ มันจะน่าหมั่นไส้ไป พูดถึงเรื่องเพลง
ทำไมทุกวันนี้เราไม่ได้ยินเพลงของประภาสที่มีสัมผัสในแบบ “หัวไหล่ ก้านคอ ใบหู”
หรือ “เหนียวแน่น ซับซ้อน และอ่อนไหว” อะไรทำนองนี้เลย?
มันเป็นงานเขียนตามวัย เขียนตามความรู้สึก ผมใช้ความรู้สึกในการสร้างแรงบันดาลใจ
วันนี้ผมไม่ใช่วัยนั้น มันเป็นวัยที่มีความรู้สึกอีกอย่าง ก็จะเขียนเพลงอีกอย่างมากกว่า
ผมจะไม่ไปเสแสร้ง ถ้าให้กลับไปเขียนอย่างนั้นอีก ผมว่าเสแสร้งนะ
แล้วจะให้ผมเขียนอะไรที่มันซ้ำๆ กับที่เคยเขียนผมก็คงไม่สนุก
ระหว่าง ‘วิธีเขียน’ กับ ‘วิธีคิด’ คุณคิดว่า อันไหนเป็นสิ่งที่สอนกันได้
วิธีเขียนนี่สอนกันได้เลย วิธีคิดนี่ผมไม่แน่ใจ
แต่กำลังใช้ความพยายามอยู่ผมอยากถ่ายทอด
ผมคิดว่าวิธีคิดก็น่าจะสอนกันได้ แต่ว่า’สไตล์การคิด’ ไม่ควรสอนกันมัน
เป็นเรื่องของเอกภาพของแต่ละคนที่ไม่ควรนำมาถ่ายทอดกัน
คุณมีเคล็ดลับในการคิดหรือเปล่า
ถ้าย่อๆ เลย ‘ตั้งคำถาม’ ครับ ตั้งสมมติฐานขึ้นมา ถ้า...ถ้า...แล้วลองกับมาแก้โจทย์กัน
ง่ายๆ เลย เราอยากให้โลกนี้มีเราสองคน...อย่าพึ่งปล่อยให้มันเลยไป
เราอยากให้โลกนี้มีเราสองคน...อย่าหยุดแค่นั้น...ดึงมันกลับมา
ถ้าอยากให้โลกนี้มีเราสองคนจะทำอย่างไร ลองคิดเล่นๆ ดู สนุกดีนะ ลองดู
ถ้าถามผม เคล็บลับง่ายๆ คือ ตั้งคำถามแล้วมองมุมกลับด้วย มองหลายๆ มุม
กล้าคิดกล้ามอง ถ้าคิดไม่ออก คุณหาทางออกอย่างไร ผมจะหยุดคิด
แล้วพาตัวเองเข้าไปในกิจกรรมที่ใช้ความคิดน้อยที่สุด
เข้าไปอยู่ในกิจกรรมที่ใช้สัญชาตญาณมากกว่า อย่างเช่น เล่นกีฬา
เล่นดนตรีหรือสังสรรค์กับเพื่อน เมื่อครั้งเฉลียงกลับมาออกอัลบั้ม ‘อื่นๆ อีกมากมาย’
เวลานั้นคุณกะเก็งไว้ไหมว่า มันจะประสบความสำเร็จมากมายถึงเพียงนี้
ขำๆ ครับ รู้สึกขำๆ เพราะว่าครั้งนั้นที่ดังๆ ก็มีเบิร์ด อัญชลี เฉลียง
ขึ้นคอนเสิร์ตพร้อมกันเลยสามวงต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพฯ
เป็นความภูมิใจสูงสุดแล้วครับที่ได้แสดงต่อหน้าที่ประทับ
แต่ในความภูมิใจนี้มันก็น่าขำอยู่ที่เราได้ประกบเบิร์ด ประกบอัญชลี
ตอนนั้นเบิร์ดขายได้ 7-8 แสน อัญชลีขายได้เป็นล้าน
เราขายแสนม้วน เออ...ได้ประกบเขาไปด้วย คิดว่าเฉลียงเป็นปรากฏการณ์หรือเปล่า
ผมคงไม่กล้าพูดขนาดนั้นหรอกครับ แต่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างภูมิใจ
เพลงของเฉลียงทั้งหมดเป็นงานเพลงของผมเสีย 90 เปอร์เซ็นต์
เป็นความคิดที่ผมเสนอออกมาโดยไม่ต้องคิดเรื่องการตลาด
เสนอออกมาโดยไม่ต้องปรุงแต่งเพื่อให้ใครร้อง เหมือนงานของตัวเอง
เฉลียงเป็นปรากฏการณ์ของคนอื่นหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่ยอมรับว่า
เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของชีวิตตัวเอง เป็นสิ่งที่ชอบ
นึกถึงก็รู้สึกดีทุกครั้ง มันเป้นความลงตัวที่ค่อนข้างยากมากนะ
ทั้งเพลงทั้งคน
ความเป็นเฉลียงสามารถเลียนแบบได้ไหม
อย่าไปเลียนแบบเลยครับ ผมว่าไม่ว่าใครก็ตามไม่ควรเลียนแบบกัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีความรู้สึกอย่างไรกับเฉลียง รักแกมรำคาญ (หัวเราะ)
ต้องยอมรับว่า พวกเค้ามีเสน่ห์ มีความคิด มีฝีมือ แต่ในขณะเดียวกันก็ท่ามาก
ผมรู้สึกเอ็นดูและรักพวกเขา เป็นเพื่อนที่ทำงานด้วยกันมาแล้วผูกพัน
คิดอะไรคล้ายๆ กัน รสนิยมคล้ายๆ กัน วัยใกล้เคียงกัน
แต่บางครั้งก็รำคาญด้วยท่าที่มากเหลือเกิน (หัวเราะ)
สำหรับผมแล้วกับ ‘เฉลียง’ มันมีทั้งความชื่นชม ความคิดถึง และความรำคาญ
ในเฉลียงนี่ คุณสนิทกับใครหรือประทับใจใครเป็นพิเศษบ้างไหม
ไม่มีครับ ทุกคนมีลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนกัน
เมื่ออยู่บนเวทีแล้วใครก็เอาเจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม) ไม่อยู่
ลักษณะการแต่งเพลงของดี้ (นิติพงษ์ ห่อนาค) ถือว่าเป็นหนึ่งในรอบสิบปียี่สิบปี
หาใครจับยากในเรื่องเพลงรัก ส่วนจุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) มีความคิดในเชิงอนุรักษ์สูง
เป็นคนพราวเสน่ห์ทั้งคำพูดคำจาและความคิด เกี๊ยง (เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์)
เป็นสถาปนิกมาร้องเพลง เป็นคนเนี้ยบและรับผิดชอบสูง เป็นแบบฉบับของคนที่รักการฝึกฝน
เกี๊ยงจะไม่เล่นเพลงที่ไม่ซ้อมและเป้นคนที่มีพัฒนาการทางดนตรีสูงมาก
ถ้าเขาเอาดีทางด้านนี้ ทางดนตรี ผมพูดได้เลยว่าเขาจะเป็นกำลังสำคัญของวงการเพลง
แต๋ง (ภูษิต ไล้ทอง) ก็อีกอย่างหนึ่ง เขาเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ
แล้วมีแนวคิดเป็นชาวบ้าน...แต๋งเป็นคนที่เรียกได้ว่า มืออาชีพที่สุดด้านดนตรี
แต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมรักพวกเขาในความแตกต่าง
ถ้ามีโอกาส คุณอยากย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตของชีวิตช่วงใด
ถ้าถามจริงๆ ไม่มีหรอกครับ เพราะผมคิดว่าทุกอย่างมันผ่านไปแล้ว
มันเป็นเรื่องอขงกาลเวลา อย่ากลับไปแก้มันเลย
แต่ถ้าให้กลับไปแก้จริงๆ ก็...อยากตั้งใจเรียนหนังสือหน่อย
ผมตั้งใจเรียนน้อยไปหน่อย :
ตกบ่าย
คุณเคยบอกว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เราต้องตัดสินด้วยการ
‘ไม้บรรทัด’ มาเป็นเครื่องมือ อยากรู้ว่าชีวิตที่ผ่านมา
คุณหยิบไม้บรรทัดออกมาใช้บ่อยแค่ไหน
ผมไม่ชอบความขัดแย้ง
มันเหนื่อยและเสียความรู้สึก แต่ผมชอบการถกเถียงนะ
ที่นี้ของบางอย่างมันตัดสินไม่ได้ด้วยการถกเถียง
ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนั้นผมจะกลับไปที่ตัวเองก่อน
ผมจะถามตัวเองว่า ผมจะทำอย่างไร ผมจะทำสงครามไหม
หรือบางทีอาจประนีประนอม ต้องหาข้อยุติให้ได้...ผมจะหาไม้บรรทัดมา
แต่ว่าผมจะเอาอะไรเป็นไม้บรรทัดดี อย่างแย่ที่สุดเลย
สมมติผมเถียงกับคุณอยู่ อย่างแย่เลยนะผมเอาคุณเป็นบรรทัดก็แล้วกัน
แล้วมาตัดสิน หรือไม่งั้นเราไปหาใครสักคนมาเป็นไม้บรรทัด
แต่จะเอาใครมา...ก็ต้องคุยกัน
หมายความว่า ถึงที่สุดแล้ว คุณเลือกเป็นฝ่ายประนีประนอม?
ต้องถามว่า ถกเถียงกันเรื่องอะไร
ถ้าถกเถียงเรื่องงานที่เรามีส่วนร่วมกันอยู่สี่คน ผมเป็นหนึ่งในปาร์ตี้นี้
มีหนึ่งเสียง ผมจะใช้พลังของผมที่มีอยู่ทั้งหมดอธิบายเหตุผล
ผมเชื่อว่าทุกอย่างสามารถอธิบายได้ แต่ถ้าหากมันไม่สำเร็จ
ผมจะกลับไปที่โจทย์ ดูจากโจทย์ว่าเราจะเอาอะไรเป็นไม้บรรทัด
เช่น เราจะยกมือนะ โอ.เค.เรื่องนี้จบไป แต่ในงานบางอย่าง
เช่น เพลงโฆษณาที่ผมทำ มันไม่ควรตัดสินด้วยการยกมือ
ถ้าคุณเป็นเจ้าของงาน คุณตัดสินมา คุณบอกผม ผมก็จะทำตาม
แต่ถ้าเป็นงานที่จิตวิญญาณของผมเป็นเจ้าของ ผมเรียกคนอื่นมาร่วมงานด้วย
เริ่มมีการถกเถียงกัน ผมไม่อยากฟัง ผมเถียงจบแล้ว บรรยากาศเริ่มไม่ดีแล้ว
ผมก็ใช้จุดยืนว่า ผมเป็นไม้บรรทัด เพราะผมเป็นเจ้าของงาน
ความยากของมนุษย์มันอยู่ที่ไม่รู้ว่า ‘อะไร’ เป็นไม้บรรทัด ไม่มีใครยอมใคร
เรื่องไม่ยอมกันนี่มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่คุณต้องทำใจให้ได้เมื่อเรามีปัญหาขึ้นมา
เมื่อมีการถกเถียง แต่เรื่องอย่างนี้ เรารู้ว่าใครเป็นไม้บรรทัดใช่ไหม
เพราะมันต้องมีคนใหญ่กว่าเราเป็นไม้บรรทัด...แต่บางครั้งในสงคราม
หรือปัญหาของโลก มันไม่รู้ว่าใครเป็นไม้บรรทัด
ประเทศแต่ละประเทศพูดถึงเรื่องเขตแดน
ต่างคนต่างมีเหตุผล ต้องยอมรับให้ได้ในเรื่องของไม้บรรทัด
ถ้ายอมก็จบ ไม่ยอมก็กรีฑาทัพกัน ก็ฉิบหายกัน...มันเป็นเรื่องอย่างนั้นไป
ความรู้ที่มีอยู่ในตัวคุณ มันสะสมมาจากทางใดมากที่สุด ระหว่างการอ่าน
การพูด และการฟัง น่าจะมาจากการอ่านมากกว่า การฟังไม่ค่อยเยอะเท่าไร
น่าจะมาจากการอ่านแต่ผมยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า ผมเป็นคนใจกว้าง
เวลามีคนพูดอะไรก็จะฟังไว้ก่อน ผมไม่ได้อยากปิดกั้นความคิดของตัวเอง
การที่เราไม่ปิดกั้นทำให้เรารับความรู้ได้เยอะกว่าและดีกว่า
คุณว่า คนที่ไม่อ่านเลยสามารถเขียนหนังสือให้ออกมาดีได้ไหม
ไม่ได้ครับ (น้ำเสียงหนักแน่น)
มันเหมือนกับไม่มีเครื่องมือสื่อสาร เรากำลังพูดถึงเครื่องมือที่จะสื่อความคิดของเรา
เราจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือล่ะ ปากกา มือ กระดาษ คอมพิวเตอร์
สิ่งเหล่านี้มันเป็นแค่รูปธรรม มันต้องมีอะไรที่มากกว่านั้น
เหมือนกันนักแสดงที่เก่งก็จะจำเป็นที่จะต้องชอบดู
แล้วการใช้การแสดงถ่ายทอดออกมา
อีกอย่างก็คือ ถ้าเขาไม่อยากอ่านแล้วเขาจะมีความอยากเขียนได้อย่างไร
ผมมีความเชื่อว่าพิธีกรต้องชอบเสือก นักเขียนต้องชอบอ่าน นักร้องต้องชอบฟัง
นักแต่งเพลงต้องชอบร้อง ชอบฟัง นักดนตรีต้องชอบฟังเพลง
ถ้าบอกอยากเป็นนักดนตรี ถามว่าฟังเพลงอะไรมาบ้าง
โถ...ฟังอยู่กี่เพลง จะไปเล่นอะไรได้ นักเขียนต้องอ่านเยอะมาก
นักแสดงต้องดู ไม่ใช่ไม่เคยดูอะไรเลยแล้วจะเป็นโน่นเป็นนี่
มันผิดธรรมชาติ
อยากให้คุณช่วยอธิบายเพิ่มเติมที่เคยตอบกระทู้ไว้ใน http://www.bookcyber.com/
ที่ว่า”การอ่านในอินเทอร์เน็ตไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านหนังสือ
อ่านหนังสือมันมีความสบายเกิดขึ้น...(พูดเสียงสบาย)
มันมีสัมผัสของกระดาษ...มันมีอารมณ์ มีอะไรมากกว่าจอเหลี่ยมๆ ผมคิดอย่างนั้นนะ
แล้วเราต้องยอมรับเลยว่า มันไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์เลยที่จะมานั่งจ้องแสง
จ้องอะไรจ้าๆ ที่ออกมาจากจอนานๆ มันไม่ใช่ธรรมชาติเลย (ย้ำหนักแน่น)
ถึงแม้ว่าข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตมันจะไปไกลเร็วแค่ไหนก็ตาม
สุดท้ายผมเชื่อว่า มนุษย์เราต้องอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับกระดาษ อยู่กับแสงธรรมชาติ
ผมเคยคิดเล่นๆ ว่า วัฒนธรรมที่สูงส่งที่สุดของมนุษยชาติน่าจะคือ กระดาษกับดินสอ
ครั้งหนึ่งคุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อเรามีลูก อายุเราจะลดลงจนเหลือเท่ากันกับลูก”
มีความหมายอะไรมากกว่านั้นในประโยคนี้หรือเปล่า
ถ้าหากเรามีลูก
ผมก็อยากที่จะเลี้ยงเขาในแบบเพื่อน เค้าเป็นเพื่อนและเราก็เป็นเพื่อน
ไม่ใช่ว่าเราเลี้ยงเขาให้เติบโตอย่างเดียว ผมถือว่าเราต่างคนต่างใช้ชีวิตคู่กัน
ไปในวัยเดียวกับพวกเขา เพราะเขาเป็นลูกเรา เมื่อวัยที่เค้าอายุหนึ่งขวบ
เราก็หนึ่งขวบ เคยเห็นผู้ใหญ่อายุหนึ่งขวบไหมครับ ถ้าคุณเห็นคนอุ้มเด็กนะ
แล้วมีพ่อแม่กำลังเล่นกับลูกเล็กๆ ส่งเสียง “อะแต้ อะแต้ อะแต้”
(ทำเสียงเลียนเสียงเด็กอ่อน มือไม้หมุนหยอกล้อไปมา) แบบนั้นแหละ
พ่อแม่อายุหนึ่งขวบเลย! ผมว่าน่ารักมาก ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อนเลยนะ
แต่พอมีลูกเขาก็เปลี่ยนจนอายุเท่ากัน ไม่ใช่พอมีลูกเล็กๆ
แล้วเลี้ยงแบบ “เอ้อ...เป็นอย่างไรลูก” (ทำเสียงใหญ่ทุ้มเข้ม)
มันไม่ใช่อย่างนั้น แล้วพอเขาสามสี่ขวบ ก็มาอ่านหนังสือช้าๆ ด้วยกัน
ใช้ชีวิตร่วมกัน อย่างลูกเล่นโรลเลอร์เบลด อยากเล่นเหรอ
เอ้า! ไปซื้อกัน (ทำเสียงตื่นเต้น) ซื้อให้พอด้วย
ผมก็ลองเล่นหัดไปพร้อมๆ กับเขาเลย พอวัยรุ่น พ่อแม่ก็ต้องทำตัววัยรุ่นด้วย
คงไม่ถึงกับต้องไปเต้นกับเขานะ ผมว่าเราน่าจะเรียนรู้ร่วมกันกับลูก
แต่ไม่เชิงคุมเขานะ มันน่าจะเป็นความสุขที่ไปด้วยกัน
มันเป็นครอบครัวเดียวกัน...ผมมองในมุมทั้งลูกและพ่อแม่
มีคำพูดอะไรจากลูกบ้างไหม ที่คุณฟังแล้วประทับใจเป็นพิเศษ
ทุกประโยคนะ...เพราะทุกคำที่เขาพูดเป็นเรื่องจริงทั้งหมด
ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรก็ตาม อย่างประโยคที่ว่า “พ่องอนหนูเหรอ? “
อันนี้ก็เป็นประโยคที่ประทับใจได้ คือเขาไปแอบรู้มาว่า
พ่องอน มันก็เหมือนกับเป็นเพื่อนกัน อารมณ์แบบว่าหนูรู้นะว่าพ่อน่ะงอน
เราฟังแล้วประทับใจ ขำ หายงอน (ยิ้มชื่น) ถ้าอายุ 60 ปี
คุณจะเป็นคนแก่ที่เป็นอย่างไร ผมอยากเป็นคุณลุง เป็นคุณปู่ที่เป็นหัวหน้าเด็ก
ถ้าเขามีปัญหากันผมอยากอยู่ฝังเด็กนะ
ผมคิดว่าผมชอบเล่นกับเด็กและเด็กก็ชอบเล่นกับผม ผมไม่ค่อยชอบผู้ใหญ่
อาจจะเป็นเพราะผู้ใหญ่เหตุผลเยอะเกินไป
และชอบมั่วเอาเหตุผลมาผสมกันมั่วๆ ทุกวันนี้งานเขียนของคุณ
โดยเฉพาะในคอลัมน์ ‘คุยกับประภาส’ ในหนังสือพิมพ์มติชนวันอาทิตย์
เป็นลักษณะการตอบคำถามที่ครอบคลุมประเด็นมากมาย
คุณกังวลหรือกดดันไหมว่า คนจะคิดว่าคุณเป็นพหูสูตร รู้มันไปหมดทุกอย่าง?
ทุกวันนี้ผมต้องออกตัวอยู่ตลอดเวลาว่า ผมไม่ได้ตอบให้เพื่อรู้ ผมตอบให้เพื่อคิด
ผมไม่ใช่คนที่ตอบปัญหาในแบบ 108 ซองคำถาม สารพันปัญหา
หรือเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่คอยตอบว่า อะไรเป็นยังไง
แต่ผมว่าผมเป็นพวกสะกิดให้ คิดซิ! ลองคิดซิ! (น้ำเสียงสนุก)
บางทีผมอาจจะคิดไม่ออก ก็ลองคิดดูสิ อย่ายอมแพ้ มันเป็นเรื่องของจิตใจ
เรื่องของความคิด ผมว่าทุกคนต้องเจอหมดเลย
ผมยังบอกรุ่นน้องที่อยู่ใกล้ๆ ผมเลยว่า อย่าฝันอยากเป็นแบบผมนะ
อย่าต้องพยายามให้ตัวเองเหมือนผมหรือเหมือนใคร
อย่าคิดให้เหมือนเขา ศึกษาวิธีการทำงานแบบเขาได้
แต่ในที่สุดต้องคิดให้เป็นตัวของตัวเอง
เคยวิเคราะห์ไหมว่า
คนชอบอะไรในความเป็น ‘ประภาส ชลศรานนท์’
ไม่เคย!
ถ้าเคยผมก็คงหลงตัวเองน่าดู มันคงน่าเกลียดนะ
ถ้าไปคิดอย่างนั้นไม่คิดเลยครับ มีภาพพจน์อะไรบ้างไหม ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าคุณเป็น
แต่จริงๆ แล้วคุณไม่ได้เป็น
อืม...ที่ว่าผมเก็บตัวเป็นเรื่องจริงครับ ผมไม่ชอบพร่ำเพรื่อ
แต่ที่ว่าผมหยิ่งเนี่ยไม่จริง อันที่จริงคนเก็บเขาก็ว่าหยิ่งนั่นแหละ (หัวเราะสนุก)
เรื่องเป็นคนดุ เรื่องมากไม่จริง ผมเคารพกติกามากกว่า
ตัวจริงเป็นคนใจดีมากครับ (ยิ้ม) ตอนมีคนมาขอเพลงของเฉลียงไปทำใหม่
ทุกคนจะพูดเสียงเดียวกันวา เป็นไปไม่ได้ที่จะไปขอเพลงพี่จิก
คือทุกคนจะรู้สึกว่าผมไม่ให้ เพราะผมชอบเก็บตัว ซึ่งมันไม่เกี่ยวกันเลย
ขอให้มีโปรเจคต์ที่น่าสนใจ ถ้าผมชอบ เอาไปทำก่อนได้เลย
ยังไม่ต้องมาคุยเรื่องเงินทองเรื่องรายละเอียด ผมเป็นคนใจดีครับ
(ย้ำยืนยันแล้วหัวเราะ)
รู้หรือเปล่าว่า แฟนหนังสือคุณเป็นคนกลุ่มไหน
(คิดอยู่นาน) กลุ่มที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ!!
นี่คือสิ่งที่ผมคิดมาตลอดเวลา ผมรู้สึกเหมือนกำลังสร้างเมือง
ถึงแม้ผมจะไม่ได้ออกแบบบ้านแล้วก็ตาม แต่ผมกำลังสร้างเมือง
ผมคิดอย่างนั้น จึงทำให้ผมหยุดเขียนไม่ได้
ผมเชื่อว่าเรากำลังช่วยบ้านเมือง ช่วยๆ กันคิด
ช่วยๆ กันเขียน ผมมักจะบอกให้ ”ช่วยๆ กัน”
ผมเชื่อว่ายังมีคนรุ่นหลังที่กำลังจะมาช่วยสร้างอีกเยอะเลย
มันมีการช่วยได้หลายหนทาง อย่างผมรู้สึกว่าเราโตพอที่จะเป็นครู
แล้วเรามีหน้าที่ก็คือเป็นครู แม้ว่าเราจะไม่ได้สอนในห้องเรียนในโรงเรียน
หน้าที่ของเราคือช่วยให้เค้าได้คิดโน่นคิดนี่ กระตุ้นให้คิดในสิ่งที่ดีๆ
หน้าที่ผมคืออย่างนี้มากกว่า เพราะเราไม่ใช่พหูสูตร แต่ผมอาจมีวิธีการ
มีอุบาย มีชั้นเชิงที่ทำให้คนไม่คิดกลับมาคิดได้ หรือคิดเป็นอยู่แล้วชอบคิดกันไปใหญ่
เคยคาดหวังไหมว่า อยากให้คนภายนอกมองคุณอย่างไร
ผมอยากให้เขามองผมเป็นปถุชน ไม่อยากให้มองว่า
ผมเป็นคนสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง ไม่ใช่แน่ๆ ถึงผมจะพูดเรื่องศาสนา
เรื่องปรัชญา เรื่องส่วนรวม เรื่องความคิดในเชิงบวก แต่ผมก็ไม่ใช่คนดีศรีสยามอะไร
ผมยังดื่มสุราบ้าง และผมก็พูดคำหยาบบ้าง (หัวเราะ)
ผมไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบแน่ๆ ผมไม่อยากให้คนมองผมอย่างนั้น
ยามเย็น
บางคนเข้าใจว่า ประภาสเป็นเพอร์เฟคชันนิสต์?
ไม่ใช่เลยครับ (ตอบทันที)
ผมเป็นคนที่ผิดพลาดได้ เป็นปุถุชนมาก
ผลงานของผมหลายชิ้นพังไม่เป็นท่า แต่ผมก็มีความสุขดี
ผมไม่รู้สึกอะไรที่ ‘ไปยาลใหญ่’ มันล้ม หรือ ‘มูเซอร์’
ไม่ประสบความสำเร็จ ผมไม่เคยแม้แต่เก็บมาคิด
ถ้าเป้นพวกสมบูรณ์แบบเขาจะไม่ยอมให้ผิดพลาด ผมไม่เป็นอย่างนั้น
ที่ผ่านมา เรื่องใดคือ ความล้มเหลวที่น่าประทับใจที่สุด
น่าจะเป็นเฉลียงชุดที่หนึ่งนะครับ ขายไม่ออก แต่ผมประทับใจ
ไม่ใช่แค่ประทับใจแค่ตอนนี้นะ ตอนนั้นก็ยังประทับใจ
เล่าให้ใครฟังได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่า ขายได้แค่ 5,000 ม้วน (หัวเราะ)
ถ้านับจากหมวกหลายๆ ใบที่คุณสวมในชีวิต คุณคิดว่า ‘ใบไหน’ ที่สวมสบายที่สุด
(เอนหลังพิงพนักเก้าอี้ ครุ่นคิด)
งานโปรดิวซ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานหนัง เพลง หนังสือ
หรือบริหารค่ายเทปอะไรก็ตาม มันเป็นงานที่เกี่ยวกับคน
ใช้เทคนิคในการบริหารเยอะ เป็นงานที่ทำแล้วรู้สึกเหนื่อย
เพราะมันเป็นงานที่มีเรื่องการพูดจาอยู่กับคนมาก
แต่มันก็ท้าทายอยู่ในที ถ้ามีเรี่ยวแรงเยอะๆ ก็มันดีเหมือนกัน
แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ หมวกที่ใส่สบายที่สุดคือใบที่ใส่แล้วเป็นศิลปินที่อิสระ
เช่น งานคิด งานเขียน งานแต่งเพลง ซึ่งทำแล้วมีความสุข
เพราะผมไม่ต้องไปรับผิดชอบเรื่องการทะเลาะของคนหรือเกี่ยวกับเงินตรา
งบประมาณ ผมว่าศิลปินทุกคนเป็นอย่างนี้นะ ถ้าเป็นไปได้
ผมว่า เค้าอยากที่จะบริหารตัวเองมากกว่า แต่ถามว่าทำอย่างที่พูดมาแรกๆ
แล้วลำบากใจมากไหม มันก็ไม่ถึงขนาดนั้น
เพราะมันมีความท้าทายอยู่ในบางทีเหมือนกัน
บางครั้งการเป็นศูนย์กลางมันก็ทำให้เราได้รู้วิธีการ
และเป็นประสบการณ์ที่ดี แต่คิดว่าถ้าให้ผมเลือกสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขมากๆ
ชอบมากๆ เลย คือ หมวกของการเป็นศิลปิน เป็นผู้เขียน ผู้คิด
ไม่ว่าจะเป็นงานคิดอะไรก็ตาม มีเรื่องอะไรในชีวิตไหมที่คุณคิดว่า
‘ไม่สันทัด’
(คิดชั่วครู่) ผมเป็นคนไม่สันทัดเรื่องกีฬา (หัวเราะสนุก)
ที่เล่นกีฬาก็เพราะชอบเล่น แต่เอาดีไม่ได้ กล้ามเนื้อไม่ให้ (หัวเราะ)
ความรู้เชิงกีฬาก็น้อย บอลนี่ดูไม่กี่คู่ บอลที่เค้าเล่นกันนี่ผมไม่ได้ดูนะ
เปิดมาเจอถึงดู มันอาจจะเป็นเพราะผมไม่ชอบอะไรสุดๆ ถามว่า
ผมมีทีมในดวงใจไหม ผมก็ไม่มีอีก เชียร์ฟุตบอลทีมหนึ่งอยู่ดีๆ
พอเริ่มแพ้ ผมกลับมาเชียร์อีกฝ่ายเลยนะ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่วิสัยของคนดูกีฬาเลยใช่ไหม
แต่ผมชอบเล่นกีฬาสนุกครับ สนุกกับเกมของมันและประโยชน์ที่ได้จากมัน
คุณเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ มันก็น่าสนใจนะ
บุพเพสันนิวาสเป็นเรื่องโรแมนติกมากผมใช้คำนี้ ฟังแล้วชื่นใจ
รู้สึกดีเมื่อมองไปหาคนรอบข้างเรา บางทีเราอาจจะมีอะไรถูกใจกันมาตั้งนานแล้วรู้สึกดี
มันไม่ทำร้ายชีวิตเรา ผมคิดแบบนี้ ผมคิดในเชิงบวก
คิดถึงประโยคหนึ่งในเพลงที่เคยแต่งไว้ “อาจเป็นเพราะเรา คู่กันมาแต่ชาติไหน”
เป็นคำพูดที่โรแมนติกเหมือนเวลาที่เราคิดถึงคนรัก เราอยู่จังหวัดนี้ เขาอยู่จังหวัดนั้น
แล้วเรามาเจอกันได้อย่างไร อยู่ดีๆ ก็มีใครโผล่เข้ามาในชีวิตเราแล้วก็อยู่ดีๆ
ก็มีใครโผล่เข้ามาในชีวิตเราแล้วก็อยู่กันไปตลอดกาล คิดว่ามันพิศวงดีนะ
แต่รู้สึกดี ถามว่าเชื่อไหม มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เชื่อ เพราะเรารู้สึกดีมากกว่า
คุณเคยเบื่ออะไรเป็นจริงเป็นจังบ้างไหม
เบื่อเหรอ...(ทวนคำพูดช้าๆ )
ผมเบื่อความเป็นเมืองหลวงที่พิกลพิการของกรุงเทพฯ นะครับ เบื่อการจราจร
เบื่อมลภาวะ แต่ว่าไม่ได้เกลียดชัง เพราะยังไงมันก็ต้องเจออย่างนี้
มันเป็นปัญหาที่ใหญ่เกิดที่เราจะไปแก้ได้โดยฉับพลัน
ที่เราทำได้ก็คือพยายามอย่าไปทำให้ตัวเองเป็นปัญหามากกว่า
แต่มีบางจุดในกรุงเทพฯ ที่ผมชอบนะครับ อย่างผมชอบเกาะรัตนโกสินทร์
ยิ่งตอนสมัยเรียนชอบมาก ไปเที่ยวอยู่บ่อยๆ
ครั้งสุดท้ายที่คุณพูดคำว่า“เบื่อ” คือเมื่อไร
ก็เมื่อกี้นี้เองไงครับ!
คุณคิดว่า การคิดค้นอะไรในโลกนี้ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าโลกครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด
เยอะเลยครับ (ตอบทันที) แต่มันไม่ได้คิดครั้งเดียวนะ มันคิดต่อๆ กันไป
ถ้าพูดในแง่รูปธรรม ทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ที่ค้นพบอะไรบางอย่างที่จะคิดต่อๆ
กันไป การพบว่าโลกไม่แบนก็เป็นเรื่องใหญ่มาก
ผมว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกที่อยู่ในใจผมก็คือ การพบว่าโลกนี้ไม่กลม
และไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่อีกอย่างก็คือการค้นพบของพระพุทธเจ้าที่ว่า มนุษย์มีทุกข์ คำสอนของพระพุทธเจ้า
ผมก็ว่าเป็นการค้นพบอย่างหนึ่งที่สำคัญ อันที่จริงแล้วนะ
ผมว่า...การค้นพบส่วนใหญ่จะคิดต่อๆ กันไป อย่างเช่นการค้นพบไฟฟ้าของเอดิสัน
แล้วคนอื่นก็เอาไปคิดต่อๆ กันมา แล้วก็เปลี่ยนโลกไปเรื่อยๆ แต่ที่สุดแล้ว
ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่คนยอมรับว่า
“โลกกลมและหมุนรอบดาวดวงอื่นอยู่” ซึ่งกว่าจะยอมรับเรื่องนี้ได้ก็ตายกันไปเยอะ
ถ้าให้เลือกไปอยู่ในรูปวาดรูปหนึ่งได้ คุณจะเลือกไปอยู่ในรูปไหน
(คิดชั่วครู่) ถ้าคิดในอารมณ์ขัน ผมขอเลือกรูปโมนาลิซ่า (หัวเราะ)
มันคงตลกดี คนมาดูภาพโมนาลิซ่าแล้วเห็นผมยืนยิ้มอยู่ข้างๆ (หัวเราะสนุก)
ผมคิดว่าคำถามนี้ไม่เลวนะ เหมาะที่จะถามใครๆ ได้ทุกคน
ผมเรียกว่ามันเป็นคำถามกระตุ้น จินตนาการ
กระแทกความคิดสร้างสรรค์...ผมเคยดูวิดีโอเรื่องหนึ่ง แล้วที่นี้ผมชอบมากคือ
กล้องไปถ่ายผู้ชายคนหนึ่งนอนหงายอยู่ มีคนเข้าไปถามว่า
“คุณทำอะไรอยู่? ” ผู้ชายคนนี้ตอบกลับว่า
“ผมกำลังแสดงละคร...ผมเป็นไข่ดาว!!!
“ สักพัก เขาก็พลิกตัวนอนคว่ำ นอนกลับไปกลับมาเหมือนไข่ดาว
กำลังถูกพลิกในกะทะ
ผมนี่ขำกลิ้งเลย! ทั้งๆ ที่คนอื่นเขาก็โยนบอลเล่นกัน
วาดรูปกัน
ไอ้หมอนี่มันนอนบนถนนเฉยๆ แล้วบอกว่า ตัวเองเป็นไข่ดาว!
ผมว่าเจ้าหมอนี่มันกล้ามาก กล้าที่จะคิด ช่วงเวลาของวันช่วงใดที่คุณชอบมากที่สุด
เอ้อ! ตอนเช้าก็สดชื่นดีนะ มันไม่ขนาดว่า รักอันไหนมากอันไหนน้อย
แต่ผมชอบยามเช้าเป็นพิเศษหน่อย คิดอะไรมันโปร่งดี ตอนดึกๆ มากๆ ก็ดี
มีสมาธิในการทำงาน เกิดความคิดดีๆ ได้อารมณ์ดีเหมือนกัน
คุณอยากให้วันหนึ่งมีมากกว่าหรือน้อยกว่า 24 ชั่วโมง
ไม่ละครับ
อย่างนี้แหละดีแล้วครับ ผมว่าทุกอย่างเราสั่งได้ เลือกได้
เราอยากมีเวลาให้ลูกมากกว่านี้ เราก็แบ่งเวลาใหม่
อยากทำงานให้มากกว่านี้ก็ขยันมากขึ้น อยากทำงานน้อยกว่านี้
ก็ขี้เกียจมากขึ้น คือเราสั่งตัวเองได้ อย่าไปยุ่งกับเดือนกับตะวันเลยครับ
แล้วถ้าเป็น ‘ช่วงชีวิต’ ล่ะ ช่วงไหนที่คุณไม่อยากให้มันเคลื่อนผ่านไปเลย
มันก็สนุกแตกต่างกันไปนะ ชีวิตในมหา’ลัยเป็นชีวิตที่สนุก
ตอนนั้นเป็นหนุ่มๆ ก็เรี่ยวแรงเยอะ อิสรเสรี พ่อแม่ไม่ควบคุมแล้ว
ประกอบกับได้เพื่อนที่นิสัยคล้ายกัน อีกทั้งฮอร์โมนเพศก็ฉีดพล่าน
มันก็สนุก (ยิ้ม) แต่ไม่ใช่ว่าวัยอื่นไม่ประทับใจนะ วัยมัธยมก็สนุกไปอีกแบบหนึ่ง
ปัจจุบันนี้ก็เป็นอีกแบบ
ถ้าถามว่า ให้เลือกอะไรประทับใจมากๆ เมื่อคิดถึงมัน
—ก็ไม่มี ผมเคยน้ำตาซึมนะครับ เมื่อคิดถึงอดีต บางครั้งมันแช่มชื่น
มันน่าโหยหา มันน่าคิดถึง นึกถึงภาพเราเดินเข้าไปในห้องเลคเชอร์
หรืออกมาทำอะไรกันสนุกๆ แล้ววันนี้เราไม่มีโอกาสทำอย่างนั้นอีกแล้ว
ก็รู้สึกโหยหาอยู่บ้าง แต่เราก็รู้ว่า มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ไม่สามารถเอามันกลับคืนมาได้
คุณร้องเพลงเพราะไหม
ไม่ไพเราะ...แต่น่าฟัง (หัวเราะยาว) ผมจะร้องเพลงเวลาที่เป็นไกด์เสียง
ซึ่งผมจะต้องพยายามนำพาอารมณ์ของเพลง
สัดส่วนของโน้ตให้คนร้องพอเข้าใจ แต่ผมมีปัญหาเรื่องการออกเสียง อักขระ
และมีปัญหาเรื่องช่วงเสียงไม่กว้างพอ มีนักร้องคนไหนไหม
ที่คุณอยากเขียนเพลงให้ร้องเป็นพิเศษ เมื่อก่อนเคยอยากเขียนให้พี่ปั่น
(ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว) แต่ก็ได้เขียนไปแล้ว อยากเขียนให้พี่ตุ๊ก
(วิยดา โมมารกุล ณ นคร) ก็เขียนมาแล้ว อืม...ตอนนี้อยากเขียนให้คุณสุนารี ราชสีมา
ร้อง
มีอะไรอีกไหมในชีวิตนี้ ที่คุณอยากจะพิสูจน์ ถ้าในเรื่องย่อยๆ
– ก็มีเยอะครับ เช่น ผมอยากตัดต่อหนังสักเรื่อง
อยากทำอาหารให้อร่อยๆ แต่เรื่องใหญ่ๆ เนี่ย ผมอยากพิสูจน์ว่า
คนไทยไปได้ไกลกว่านี้ ผมไม่ชอบที่คนมักพูดว่า
บ้านเราอย่าไปเอาอะไรมากมาย ได้แค่นี้ก็พอแล้ว อันนี้แหละผมอยากพิสูจน์
และผมมั่นใจว่าคนรุ่นใหม่ทำได้ด้วย เอาเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่
แล้วเอาเรื่องย่อยมาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ศิลปะ
ซึ่งคนรุ่นใหม่หรือรุ่นหลังจากเราไปแล้วน่าจะช่วยกันพิสูจน์
ช่วยกันแสดงให้เห็นว่า เราได้ได้ไกลกว่านี้จริง
คุณเริ่มมองหาตัวตายตัวแทนไว้แล้วหรือยัง
ไม่ถึงขนาดนั้นครับ (ลากเสียงยาว)...ผมอยากให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง