Custom Search

Apr 19, 2007

ศิลปกรรมเชิดชูเกียรติ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ
กันยายน 2546

ผู้คนมากมายที่กำลังนั่งและยืนเรียงรายอย่างหนาแน่น
บริเวณหน้าหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
เลยเรื่อยไปยังบริเวณสวนแก้วด้านใน
ในช่วงเย็นวันหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือผู้ที่รอคอยชม
นิทรรศการศิลปกรรม เชิดชูเกียรติ จักรพันธุ์ โปษยกฤต
เนื่องในวาระอันงดงามฉลองครบรอบ 60 ปี
คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เป็นครั้งแรกที่คณะจิตรกรรมจัดงานเชิดชูเกียรติให้รุ่นพี่อย่างเป็นทางการ
ส่วนปีต่อไปนั้นจะเป็นการจัดงานให้แก่รุ่นพี่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังชื่อ ถวัลย์ ดัชนี
หลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
ซึ่งเสด็จมาเป็นองค์ประธาน เสด็จกลับ
ฝูงชนที่มีทั้งบุคคลต่างๆ ที่สนใจติดตามงานของจักรพันธุ์ โปษยกฤต
และบรรดานักศึกษาที่เฝ้ารออยู่นานหลายชั่วโมงนั้นก็ทะลักเข้าไปในหอศิลป์
ซึ่งมีพื้นที่ไม่กว้างนักทันที จนเจ้าหน้าที่ต้องรีบปิดประตู
เพื่อกันคนส่วนหนึ่งไว้ด้านนอกและให้รอกันต่อไป
อาจจะเป็นเพราะไม่บ่อยนักที่ศิลปินท่านนี้จะจัดนิทรรศการแสดงผลงานให้ได้ชื่นชมกัน
และโอกาสนี้ก็ "พิเศษ" จริงๆ เพราะผลงานที่นำมาแสดงในครั้งนี้
ครบถ้วนสมบูรณ์แบบอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ทั้งหมดมีจำนวน 211 ชิ้น

มีทั้งผลงานทางด้านจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ด้วยดินสอสีบนกระดาษ สีน้ำ สีน้ำมัน
ภาพเขียนจิตรกรรมไทยประเพณี สีฝุ่น ปิดทองคำเปลว
ภาพจากวรรณคดีและศาสนา ทั้งในแบบเหมือนจริงและแบบจิตรกรรมไทยประเพณี
และงานด้านวิจิตรศิลป์เกี่ยวกับศิลปะไทยหลายแขนง
เป็นครั้งแรกในการจัดงานนิทรรศการของมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยเช่นกัน
ที่มีการทำการประกันภัยป้องกันรูปวาดสูญหายเป็นมูลค่าสูงถึง 90 ล้านบาท

งานของจักรพันธุ์ชิ้นใหญ่ๆ โดยปกติแล้วไม่ได้หาดูกันง่ายๆ
เพราะนอกจากไม่มีแกลลอรี่แสดงผลงานของตนเองแล้ว
ส่วนใหญ่จะรับวาดภาพเหมือนให้บุคคลในครอบครัวชนชั้นสูง
ซึ่งทำให้ชิ้นงานเหล่านั้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีและไม่ตกมาอยู่ในงานประมูลต่างๆ
นอกจากผลงานภาพเขียนที่นำมาแสดงแล้ว
ในวันนั้น จักรพันธุ์ได้มีการเชิดหุ่นเบิกโรง ลิลิตตะเลงพ่าย
ตอนพระนางสุพรรณกัลยาไปพม่า ให้ชมด้วย
แม้เป็นการเชิดสั้นๆ เพียง 12 นาที แต่ความสวยงามของหุ่นพระนางสุพรรณกัลยา
และหุ่นตัวพระตัวนางอีก 10 ตัว ลีลาอันอ่อนช้อยของคนเชิด
เสียงปี่พาทย์ และดนตรีไทยที่สอดรับ กันอย่างกลมกลืนกับเสียงร้องอันไพเราะ
ทำให้หลายคนที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับเพลงไทยนัก
ต้องยอมรับว่าเพลงอะไร ไพเราะเหลือเกิน

นอกจากเป็นศิลปินวาดภาพเหมือนและจิตรกรรมภาพเขียนประเพณีไทยแล้ว
เขายังเป็นนายโรงละครหุ่นที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง
มีความสามารถอย่างมากในเรื่องออกแบบเครื่องแต่งตัวละคร
ทำหุ่น ออกแบบหุ่น รวมทั้งเชิดหุ่นเองด้วย
ปัจจุบันจักรพันธุ์และคณะศิษย์กำลังจัดทำหุ่น
เพื่อเตรียมการแสดงอีกครั้งในเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย
ซึ่งคาดว่าจะสมบูรณ์แบบ
ในอีกประมาณ 3-5 ปีข้างหน้า สาเหตุที่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้นเป็นเพราะว่า
ปัจจุบันมีงานสำคัญอยู่ชิ้นหนึ่งที่กำลังเร่งทำอยู่คือ
การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถใหม่วัดตรีทศเทพวรวิหาร
ซึ่งเริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ
นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 ที่หุ่นกระบอกของจักรพันธุ์ โปษยกฤต
และคณะออกแสดงเรื่อง สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ
จนกระทั่งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
นับเป็นเวลานานถึง 14 ปีทีเดียวที่จักรพันธุ์ไม่ได้นำหุ่นกระบอกมาแสดงที่ใดอีกเลย

คืนนั้นนอกจากอิ่มตากับการได้ดูผลงานและการเชิดหุ่นแล้ว
ยังได้ฟังเพลงปี่พาทย์ที่มาจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน
ซึ่งบรรเลงไปพร้อมกับการฉายภาพสไลด์ผลงานจากเรื่องดังกล่าว
และจากภาพเรื่องอิเหนาและกากีให้ชมกันด้วย
ภาพเขียนที่ฉายชัดให้เห็นความสวยงามในหน้าตา
และเรือนร่างของนางวันทองกับความล่ำสันบึกบึนของขุนแผน
ในระหว่างที่ทั้งคู่มีอารมณ์สิเน่หาต่อกันนั้น
สะกดนิ่งให้คนดูเคลิบเคลิ้มไปราวกับว่าทั้งคู่มีชีวิตจริงอยู่ตรงหน้าทีเดียว
จากเย็นถึงค่ำล่วงเลยไปจนดึก ผู้คนก็ยังคงเดินชมผลงาน
และนั่งฟังเพลงกันอย่างไม่ยอมเลิกรา
ทำให้จักรพันธุ์ที่เหน็ดเหนื่อยจากการเตรียมงานมาหลายวัน
นั่งยิ้มอย่างปลาบปลื้ม และมีแรง ลุกขึ้นเชิดหุ่นให้ชมในค่ำคืนนั้นถึง 3 รอบด้วยกัน
ส่วนในวันอาทิตย์ถัดมาที่มีกำหนดการเชิดหุ่นไว้ 4 รอบนั้น
ต้องแสดงเพิ่มเป็น 6 รอบ และยังมีคนอีกมากที่มาชมผลงานตลอดทั้งวัน

จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นช่างเขียนภาพที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของเมืองไทย
เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชุบ และนางสว่างจันทร์ โปษยกฤต
เกิดที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2486 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร
ซึ่งหมายถึงว่าเขาอายุครบ 60 ปี ในปีนี้เช่นกัน
เริ่มเรียนหนังสือชั้นประถมถึงมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
ได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรม ในปี 2511
และเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2543
เป็นคนที่ชอบเขียนรูปมาตั้งแต่เด็กโดยได้รับแรงกระตุ้นให้มีอารมณ์ศิลปินเพิ่มขึ้น
จากผู้เป็นแม่ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอี
อีกคนหนึ่งที่ชอบเล่นเปียโน ชอบดูละคร และชอบงานศิลปะอย่างมาก
ดังนั้นเธอจึงเข้าใจ และไม่เคยดุว่าเลย
เมื่อเห็นเด็กชายจักรพันธุ์ ลูกชายของเธอชอบนั่งวาดรูปครั้งละนานๆ ตั้งแต่เล็กๆ
ปัจจุบันนอกจากผลงานที่รวบรวมไว้ที่บ้าน
ได้มีการคัดเลือกผลงานบางชิ้นก๊อบปี้
เพื่อนำมาจัดแสดงไว้ที่โรงเรียนวชิราวุธฯ
ทั้งที่หอประวัติ และที่ห้องแสดงศิลปะ ตึกเวสสุกรรมสถิต
ซึ่งทางโรงเรียนจัดไว้ให้โดยเฉพาะ 1 ห้อง

ช่วงระยะเวลา 8 ปีในโรงเรียนประจำที่วชิราวุธฯ
ทำให้จักรพันธุ์ได้รับโอกาสในเรื่องงานวาดภาพมากขึ้นจากบรรดาอาจารย์ที่สอน
และท่านผู้บังคับการในสมัยนั้นคือ พระยาภะรตราชา
โดยสนับสนุนให้ส่งภาพไปประกวดตามงานต่างๆ
และได้เลือกภาพของเขาถวายเจ้านายต่างๆ
ที่เสด็จมางานโรงเรียน
และโรงเรียนแห่งนี้เป็นรากฐานสำคัญทำให้เขาได้มีเพื่อน
และรู้จักผู้คนในสังคมชั้นสูง
ผู้คนในแวดวงข้าราชการ ในแวดวงธุรกิจ
และกลายเป็นคอนเนกชั่นของเขาในการสร้างลูกค้า "เฉพาะกลุ่ม"
ที่มีฐานะและมีตำแหน่งในสังคมในเวลาต่อมา
ผลงานของจักรพันธุ์จึงทำให้คนธรรมดา
ไม่สามารถหาซื้อหรือ "เข้าถึง" ตัวเขา เพื่อว่าจ้างกันได้ง่ายๆ เลย


Chakrapan Posayakrit
ชื่อศิลปิน จักรพันธุ์ โปษยกฤต
วันเดือนปีเกิด 16 สิงหาคม 2486
สถานที่เกิด กรุงเทพฯ
การศึกษา 2511 : ศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
เกียรติประวัติ
2510 : รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 17
2512 : รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 19
2514 : รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 20
2515 : รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 21
2517 : รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 22
2543 : ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์


ชมตัวอย่างผลงานของ อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต