Custom Search

Nov 30, 2009

63 ปี "พระเจ้าอยู่หัว ร.9" ผู้นำที่ไม่เหมือนใครในโลก นำพาประเทศ "อยู่ดีมีสุข"


ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
มติชน
วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2552



ในช่วง 63 ปี ระหว่าง พ.ศ.2489-2552
ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น
มากกว่า 3 เท่าตัว จากประมาณ 17 ล้านคน
เมื่อ พ.ศ.2489 มาเป็นประมาณ 63 ล้านคน
ในพ.ศ.2551
ทั้งนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม
ของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแนวโน้ม
เปลี่ยนจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของไทยที่เคยพึ่งพิงการผลิตในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก
มีการปรับโครงสร้างเป็นภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
หลังจากดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1
(พ.ศ.2504-2509) เป็นต้นมา
ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสินค้าที่มีทักษะการผลิตสูง
และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
ทั้งด้านการส่งออกและการผลิต
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาปีฐาน พ.ศ.2531 (GDP)
ของประเทศไทยมีการขยายตัวสูง เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
โดยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.33 แสนล้านบาท
เมื่อ พ.ศ.2494 เป็นประมาณ 4.26 ล้านบาท
ใน พ.ศ.2550 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบ 32 เท่า
(เป็นการขยายตัวที่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อแล้ว)
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศต่อหัว
ณ ราคาปีฐาน พ.ศ.2531 ของประเทศไทย
เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเพิ่มจาก 6,594 บาทต่อคนต่อปี
เมื่อ พ.ศ.2494 เป็น 64,500 บาทต่อคนต่อปี
ใน พ.ศ.2550 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า
ขณะเดียวกันก็พบว่าประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจน
มีจำนวนลดลงโดยลำดับ กล่าวคือ
ลดลงจากประมาณ 23.78 ล้านคน
เมื่อ พ.ศ.2529 เหลือเพียง 5.36 ล้านคน
ใน พ.ศ.2550 คิดเป็นสัดส่วนลดลงจาก
ร้อยละ 44.90 เป็นร้อยละ 8.50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
หรือลดลงในสัดส่วนมากกว่า 5 เท่าทั้งนี้
หากวัดกันตามมาตรฐานการพัฒนาที่ใช้โดยทั่วไปแล้ว
ประเทศไทยถือว่ามีความสำเร็จเป็นอย่างสูง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลง
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
จะพบว่ามี ความไม่สมดุล เกิดขึ้นในหลายมิติ ที่สำคัญ ได้แก่
1.ความไม่สมดุลด้านการกระจายรายได้
ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้ว
ที่ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้มีแนวโน้มที่กลับจะเพิ่มขึ้น
ดังเห็นจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
พบว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงหรือกลุ่มคนรวยที่สุด 20% แรก
มีสัดส่วนของรายได้ลดลงจากร้อยละ 6.1
เหลือเพียงร้อยละ 4.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน
โดยกลุ่มอาชีพที่ยากจนที่สุดเป็นกลุ่มเกษตรกร
ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
2. ความไม่สมดุลในการใช้และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราสูง
ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่คำนึงถึงขีดจำกัดเท่าที่ควร
และยังทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์มีแนวโน้มร่อยหรอ
และเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม
และภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดปัญหามลพิษในด้านต่างๆ
เช่น น้ำเน่าเสีย อากาศเสีย กากของเสีย เสียงรบกวน
และสารอันตรายที่มีปริมาณมากขึ้น
ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนมากขึ้นตามลำดับ
3.ความ ไม่สมดุลของการพัฒนาเมืองและชนบท
กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีฐานเศรษฐกิจ
และอัตราการเจริญเติบโตที่รวด เร็วกว่าภาคอื่นๆ เช่น
ใน พ.ศ.2532 มูลค่าของผลผลิตรวมของกรุงเทพมหานคร
มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42 ของผลผลิตรวมของประเทศ
ในขณะที่ภาคอื่นๆ มีสัดส่วนลดลงตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน
4.ปัญหาค่านิยมและ ศีลธรรมที่เสื่อมลง
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ
จากเศรษฐกิจการเกษตรมาสู่ เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
เป็นเหตุให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจาก
สังคมชนบทมาสู่ความเป็นสังคมเมืองอย่าง ต่อเนื่อง
ทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่แบบไทยดั้งเดิม
ต้องปรับเปลี่ยนเป็นการดำเนิน ชีวิตในรูปแบบสมัยใหม่
ที่เร่งรีบเผชิญภาวะการแข่งขัน และมีความกดดันสูง
ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ วัฒนธรรม
และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโดยส่วนรวม
นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ยังก่อให้เกิดกระแสวัตถุนิยม
ซึ่งการไร้ภูมิต้านทานที่ดีพอทำให้สังคมไทย
มีค่านิยมบริโภคเกินความจำเป็น ทั้งหมดนี้ทำให้ปัญหาต่างๆ
เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด
ปัญหาหนี้สินและปัญหาคอร์รัปชั่น
มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
ทรงมีบทบาทที่สำคัญ คือ "พระราชทานคำปรึกษา"
"ทรงสนับสนุน" และ "ทรงตักเตือน"
พระราชทานคำแนะนำ ทรงเตือนสติ
ผ่านพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท
ในวาระโอกาสสำคัญแก่ผู้บริหารประเทศ
และประชาชนชาวไทยทุกคน
ถึงการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
และสังคมครั้งใหญ่ๆ
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ตลอดจนแนวทางแก้ปัญหา
เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตเหล่านั้น
และแนวทางการพัฒนาเพื่อ
ให้เกิดความอยู่ดีกินดีของประชาชนดัง
เช่น พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส
ที่แสดงให้เห็นถึงแนวพระราชดำริในการเพิ่มความสมดุล
ในการพัฒนาประเทศและ ประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งมีว่า
การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น
ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกิน
พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน
โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด
แต่ถูกต้องตามหลักวิชา
เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว
จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและ
ฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป
หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ
ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว
โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศ
และของประชาชนโดยสอดคล้อง ด้วย
ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น
ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด
ดังเห็นได้ ที่อารยประเทศหลายประเทศ
กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลา นี้...
"หรือ..."การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ
และตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น
เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด
เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง
ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน
ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ
ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น
ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาด ล้มเหลว
และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์
เพราะหากไม่กระทำด้วยความระมัดระวัง
ย่อมจะหวังผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้โดยยาก...
"และ...ที่พระราชทานอีกว่า..."
ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้
ว่าการจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ
สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน...
แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า
อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง..."
"เศรษฐกิจพอเพียงเป็น เสมือน
รากฐานของชีวิตรากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือน ตัวอาคาร ไว้นั่นเอง
สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป..."
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนล่วงหน้า
ถึงความไม่สมดุลของโครงสร้างทาง
เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ที่จะนำมาซึ่งปัญหาแก่ประชาชนและประเทศชาติ
พระราชดำรัสที่ได้อัญเชิญมาข้างต้น
มิได้เป็นเพียงแนวคิด แต่พระองค์ได้ทรงนำมาปฏิบัติ
ให้เป็นรูปธรรมผ่านทางโครงการพัฒนานับพัน โครงการ
โดยการเสด็จพระราชดำเนินไปยังภูมิภาคต่างๆ
ทอดพระเนตรสภาพความเป็นจริง
เกิดเป็นแนวพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
จากความไม่สมดุลเหล่า นั้น
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ
ที่ทรงคิดค้นขึ้นเพื่อลดความไม่สมดุลในสังคมไทยมายาวนาน
และต่อเนื่องกว่า 60 ปีนั้น ในปัจจุบันมีมากถึง 4,404 โครงการ
ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมีลักษณะร่วมที่สำคัญ
คือ แก้ปัญหาให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ
แก้ปัญหาวิกฤตเฉพาะที่ แก้ปัญหาทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นนอกจากนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ให้จัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"
จำนวน 6 ศูนย์ทั่วประเทศ อันเป็นตัวแทนของสภาพแวดล้อม
ตามธรรมชาติแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในแต่ละภูมิภาค
เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาดูงานของราษฎรที่มีความสนใจศึกษา
และนำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพของตน
เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต"
ในลักษณะการให้บริการอย่างรวมศูนย์ครบวงจร
ซึ่งเน้นการเผยแพร่องค์ความรู้ให้ประชาชนนำไปปฏิบัติเองได้
เป็นการวางรากฐานให้สังคมไทยพึ่งพาตัวเอง
และอยู่อย่างยั่งยืน ศูนย์ ทั้ง 6 ศูนย์ ได้แก่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา,
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส,
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี,
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ อ.เมือง จ.สกลนคร,
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
โครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จาก 4,000 กว่าโครงการ
คือตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมชัดแจ้งที่แสดงให้เห็น
ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น "นักปรัชญา"
จากการที่พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ทรงเป็น "นักวิทยาศาสตร์" จากการที่ทรงค้นคว้า
ทดลองแนวทางแก้ปัญหาจนเมื่อเกิดผลสำเร็จได้อย่างแน่ชัด
จึงพระราชทานแนวพระราชดำริดังกล่าวต่อไป
ทรงเป็น "นักเผยแพร่" ทรงสนับสนุนให้เกิดโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ
และทรงเป็น "ผู้นำ" ที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ
ระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยว ข้อง
สมดังที่ทรงได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณ
จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่ว่า
"พระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา
นักเผยแพร่แนวคิดและนักปฏิบัติ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด
ทรงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของผู้นำที่อาจไม่เหมือนใครในโลก
แต่สิ่งที่โลกสามารถเรียนรู้ได้จากพระองค์ คือ
ความรักและแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการทำทุกอย่าง
เพื่อความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรของพระองค์"
หน้า 20