Custom Search

Nov 4, 2009

คู่มือทัศนศึกษาของนักเรียน


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน
วันที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552



ผม ได้พบหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าสนใจและ
เหมาะสมมากสำหรับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์
ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษายาม
เมื่อออกไปทัศนศึกษา
"คู่มือท่องเที่ยวอยุธยา"
โดย ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี
จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อไม่นานมานี้ (sridir@chiangmai.ac.th
และโทร.0-5394-2593)

เส้นทางทัศนศึกษาเมืองอยุธยาที่ผู้เขียน
ได้กำหนดไว้ในคู่มือฉบับนี้ทั้ง 3 เส้นทาง
มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ

(1) เพื่อให้ผู้เดินทางสามารถมองเห็น
ภาพรวมทั้งหมดของอยุธยาตั้งแต่การก่อกำเนิด
ความเจริญรุ่งเรือง รวมตลอดไปจนถึงศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของเมือง

(2) เน้นความต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างสถานที่หนึ่ง
ไปยังอีกสถานที่หนึ่งในแต่ละ เส้นทาง
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าที่จะเป็นไปได้
เพราะมุ่งเน้นให้ กลุ่มเยาวชนเป็นผู้ใช้คู่มือฉบับนี้เป็นสำคัญ

คู่มือแบ่งเส้นทาง เข้าชมออกเป็น
เส้นทางที่ 1 ก่อนจะเป็นพระนครศรีอยุธยา
เส้นที่ 2 อยุธยา
เมืองท่าการค้าและงานวิจิตรศิลป์
เส้นที่ 3 พระราชวังหลวงและวัดสำคัญในอยุธยา

แต่ละเส้นทางจะระบุจุดประสงค์หลัก ของการไปเยี่ยมชม
มีตารางเวลาคร่าวๆ และระบุจุดหยุดชมสถานที่ต่างๆ
พร้อมกับให้ข้อมูลประกอบของแต่ละจุด
โดยมีข้อมูลเสริมไว้ในกรอบ
พร้อมกับมีรูปถ่ายประกอบด้วยสีสันที่งดงาม
ที่สำคัญที่สุดแต่ละจุดที่ไปชมจะมีคำถามที่กระตุ้นให้คิดด้วย

การไป ทัศนศึกษาของนักเรียนหลายโรงเรียนขาดเป้าหมาย
นักเรียนจดข้อมูลทุกอย่างที่จดได้โดยไม่ได้ดูอย่าง
คิดพิจารณาเพื่อเอาไปทำ รายงาน
ทั้งๆ ที่ข้อมูลเหล่านั้นสามารถหาได้ง่ายดาย
จากอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน
เมื่อเด็กทำเป็นรายงานออกมาส่งครู
(เดาว่าอาจไม่ได้เอามาจากที่จดหรอก)
บ่อยครั้งครูก็ไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ

คู่มือเช่นนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะให้ทั้งเป้าหมาย
ข้อมูลประกอบ และคำถามที่น่าสนใจ
ให้เด็กต้องคิดและไปค้นคว้าเพิ่มเติม

ผมขอตัดตอนข้อมูลบางส่วนให้ดูเป็นตัวอย่าง
พร้อมคำถามเพื่อให้เห็นว่าน่าใช้เพียงใด

เรื่อง แรก ".......ในดินแดนทั่วโลก
ช่วงระยะเวลาในราวพุทธศตวรรษที่ 17
หรือคริสต์ศตวรรษที่ 12 อาจยังเป็นช่วงที่ข้อมูลต่างๆ
ยังไม่แพร่หลายมากนัก ในยุโรปก็ยังคงเป็น
ยุคที่สืบผ่านมาจากยุคกลาง ในช่วงนี้เริ่มมีวิวัฒนาการ
ของสิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้น รูปร่างของเมืองที่เปลี่ยนไป
มีแนวกำแพงเมืองที่แข็งแรงมากขึ้น
และประสบกับปัญหาร้ายแรงที่ทำให้สังคมยุโรป
ต้องสูญเสียบุคคลไปเป็นจำนวนมาก
นั่นคือการระบาดของกาฬโรค (Black Death)
ทำให้เกิดภาวะทุพภิกขภัยผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
และว่ากันว่าพาหะนำโรคชนิดนี้ก็คือหนูที่ติดมากับ
เรือโดยสารที่เดินทางไปมา ค้าขายระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออกนี่เอง

แต่หากได้อ่านพระราช พงศาวดารที่ว่าด้วยพระเจ้าอู่ทอง
ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเพราะโรคอหิวาตกโรค
แล้วอาจเชื่อได้ว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 นี้
เป็นระยะที่โลกทั้งหมดต่างประสบปัญหาเดียวกันด้วย

ในสังคม สุวรรณภูมิหรือดินแดนที่เป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประกอบด้วยชุมชนเมือง รัฐต่างๆ ที่มีพัฒนาการมา
แต่ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ คือสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง
โดยมีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จากดินเผา
จากโลหะ จากสัมฤทธิ์ และมีพิธีกรรมเป็นของตนเอง
ก็แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ชุมชนต่างๆ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มคน
ที่มีการตั้งหลักแหล่งและพัฒนามาอย่าง ยาวนาน

หลักฐานภาพถ่ายทางอากาศชี้ให้เห็นว่าบริเวณชายฝั่งทะเล
เมื่อราวสามถึงสี่พันปีมาแล้ว ดินแดนที่คนตั้งมั่น
กระจัดกระจายอยู่ตามลำน้ำต่างๆ เช่น
ลำน้ำแม่กลอง ลำน้ำ บางปะกง ลำนำเจ้าพระจ้า เป็นต้น

บริเวณที่เป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จึงเป็นดินแดนใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ
ในการเพาะปลูก ดำรงชีพ และการค้าขาย

เมือง ที่เรียกกันว่า "อโยธยา" คงพัฒนาขึ้นจากชุมชน
เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากร
และมีพัฒนาการทางการค้า การเมืองการปกครองที่เข้มแข็ง
ทางฝั่งตะวันออกของ เกาะเมือง
และได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองเข้าไปในเกาะ
ในที่สุดเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 1
ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.1893 นั่นเอง......."

คำถามก็คือ
"(1) จากภาพถ่ายทางอากาศเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา
นักเรียนมีความคิดว่าอยุธยามีลักษณะทางภูมิศาสตร์เด่นอย่างไร
(2) บริเวณทิศใดของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาที่
เชื่อกันว่ามีการตั้งถิ่นฐานมา ก่อน นักเรียนคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด
(3) จากตำนาน นักเรียนคิดว่าพระเจ้าอู่ทองมาสร้าง
เมืองกรุงศรีอยุธยานั้นด้วยเหตุผลใด??."

เรื่อง ที่สอง ".......กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
สำคัญแห่งหนึ่งที่ดำรงความเป็นเอกราชมาก ว่า 400 ปี
เป็นศูนย์กลางของสรรพวิทยาอันมีความสำคัญยิ่งต่อ
อาณาจักรสยามทั้งทางการ เมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม
ขนบธรรมเนียมประเพณีตลอดจนศิลปวัฒนธรรม

" เวนิสตะวันออก" เป็นชื่อที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา
ในคริสต์ศตวรรษ ที่ 17 ขนานนามให้เมืองแห่งนี้
ส่วน "อยุธยา" ที่แปลว่า "เมืองที่ไม่มีใครสามารถรบชนะได้"
เอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม
เอกสารจากหอหลวง สมัยอยุธยาตอนปลายให้
รายละเอียดเกี่ยวกับภูมิสัณฐานของกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า
"พวกพานิชนานาประเทศ ทราบเหตุว่ากรุงศรีอยุธยาผาศุกสมบูรณ์
ด้วยสินค้าอุดมดี พวกพานิชก็แตกตื่นกันเข้ามาถวายบรรณาการ
ขอพระราชทานพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
ค้าขายในพระมหานครเป็นอันมากจะนับคณะนามิได้
กรุงศรีก็ไพศาลสมบูรณ์เป็นรัตนราชธานีศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล
แก่ชนชาวสยามความ เจริญทั่วพระนคร"
ทั้งทรงค้ำจุนพระบวรพุทธศาสนาและสรรพศิลปวิทยาการทั้งมวล
ดังปรากฏให้อนุชนรุ่นหลังได้สัมผัสถึงความงาม
ในโบราณสถานโบราณวัตถุต่างๆ ......."
(มีภาพเขียนสีน้ำมันชื่อ Judea ซึ่งเป็นแผนที่กรุงศรีอยุธยา
ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
กรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ประกอบ)

คำถามก็คือ
"(1) นักเรียนลองพิจารณาดูภาพเมืองพระนครศรีอยุธยา
และบอกว่าที่ใดเป็นศูนย์กลางของเมือง
(2) นักเรียนเคยมาเที่ยววัดพระแก้วและ
พระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ หรือไม่
สังเกตหรือไม่ว่ามีอะไรแสดงว่าเป็นเขตล้อมรอบบริเวณวัง"

เรื่องที่ สาม ".......วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่ตั้งอยู่
เกือบกึ่งกลางพระนคร มีพื้นที่ขนาดใหญ่และ
ประกอบด้วยอาคารโบราณสถานมากมายที่สร้างทับซ้อนกัน
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเข้าไปถ่ายภาพเศียรพระพุทธรูป
ที่วางที่โคนต้นไม้และ รากไม้หุ้มล้อมไว้

ประวัติของวัดนี้ไม่ปรากฏชัดเจนมากนัก นักประวัติศาสตร์
เชื่อว่าเป็นวัดที่สร้างมาแต่ครั้งต้นกรุงศรีอยุธยาแล้ว
เพราะปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า
สถาปนาขึ้นในรัชกาล ขุนหลวงพะงั่ว เมื่อ พ.ศ.1917
แต่การก่อสร้างอาจใช้เวลานานกระทั่งเสร็จในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร
และต่อมาคงได้รับการบูรณะอีกหลายครั้ง
เมื่อเดินเข้าไปในวัดมหาธาตุจะพบว่า
สิ่งก่อสร้างมากมายได้สร้างทับซ้อนกัน

วัด นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
มีพระวิหารขนาดใหญ่ปรากฏด้านหน้า
ที่ท้ายวิหารมีมุขยื่นยาวเข้าไปในเขตพระระเบียง
ซึ่งมีพระพุทธรูปจำนวนมากประดิษฐานอยู่

ตรงกลางวัดคือฐานพระ มหาธาตุที่พังทลายลงมาแล้ว
ซึ่งจะสังเกตได้ว่าพระมหาธาตุมีลักษณะเป็นจตุรมุข
คือ มีทางขึ้นได้ 4 ด้าน และมีพระปรางค์องค์เล็กๆ
ประดิษฐานอยู่ที่ฐานอีกเป็นจำนวนมาก

สิ่งสำคัญที่เป็นประธานของวัดก็ คือ
พระมหาธาตุ หรือพระธาตุ เป็นที่ประดิษฐาน
พระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดของคนไทย
ธรรมเนียมการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น
จะสร้างพระมหาธาตุขึ้นและนำพระบรมสารีริกธาตุ
ใส่ผอบบรรจุลงไปตรงกลางของพระมหาธาตุ

พระมหาธาตุมีลักษณะ เป็นพระปรางค์
หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่มีอิทธิพลแบบเขมรหรือ
คล้ายฝักข้าวโพดแต่มีทรวงทรงสูง ชะลูดขึ้น
และมีเครื่องประดับองค์พระปรางค์มากกว่าในศิลปะแบบเขมร
พระปรางค์ของวัดมหาธาตุที่ปรากฏ
ในปัจจุบันนี้พังทลายลงมาเหลือเพียงชั้นฐาน เท่านั้น
แม้ว่าในสมัยอยุธยามีการบูรณะพระปรางค์
ให้สูงขึ้นประมาณ 50 เมตรแล้วก็ตาม

เมื่อกรมศิลปากรบูรณะพระมหาธาตุองค์นี้ในปี พ.ศ.2499
พบว่ามีกรุอยู่ตรงกลางองค์พระมหาธาตุ
ลึกลงไปใต้พื้นดินมีผอบ 7 ชั้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ภายในกรุมีภาพเขียนสี รูปพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว......."

คำถามก็คือ "นักเรียนคิดว่าทำไมคนอยุธยา
ต้องสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ"

เมื่อ ผมเห็นหนังสือเล่มนี้แล้วก็เกิดความคิดว่าเหตุใด
เราจึงไม่มีหนังสือคู่มือนำ เที่ยวเช่นนี้สำหรับเด็กนักเรียนกันมากๆ
ในทุกระดับตั้งแต่ง่ายถึงยากในทุกแหล่งเรียนรู้
โดยตั้งคำถามที่ยั่วยุให้คิดและต้องค้นคว้าเพิ่มเติม
หนังสือเหล่านี้จะทำให้ทัศนศึกษา
ของเด็กนักเรียนมีความหมายขึ้นอีกมาก

หาก เริ่มทำกันจากจุดเล็กๆ แต่ละวัด แต่ละวัง
แต่ละสถานที่ท่องเที่ยวโดยองค์กรเอกชน
กลุ่มคลังสมอง มูลนิธิ หรือผู้ใหญ่โดยที่เกษียณอายุแล้ว
แต่ยังฟิตและไม่คิดจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ
ทำโครงการของตนเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป
แล้วนำมารวมเล่มกันภายหลัง
ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่ชาติ
โดยเฉพาะในการสร้างความตระหนักถึงประวัติศาสตร์
สร้างความรักและหวงแหนแผ่นดินเกิดในหมู่เยาวชนของเรา

เด็กๆ กำลังรอคอยหนังสือคู่มือนำเที่ยวแหล่งต่างๆ
เพื่อจักได้ทัศนศึกษาอย่างสนุก
และมีความหมายซึ่งเป็น
การเรียนรู้ที่สำคัญของชีวิตจากผู้ใหญ่อยู่ครับ


หน้า 6