คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 |
จาก พุทธคยาถึงสารนาถ ซึ่งในอดีตเรียกว่า
ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน อยู่ในเขตเมืองพาราณสี
สิ้นระยะทางประมาณสองร้อยกิโลเมตร
พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินโดยพระบาทไป
เพื่อโปรดศิษย์เก่าทั้งห้าของพระองค์
คำ ว่า สารนาถ ย่อมาจากคำเต็มว่า
สารังคนาค (สารังค = กวาง, นาถ = ที่พึ่ง)
แปลว่า ป่าอันเป็นที่พึ่งแห่งกวาง
หรือป่าสวนกวาง อะไรทำนองนั้น
มิใช่แปลว่า ป่าที่เป็นที่พึ่งอันเป็นแก่นสาร ดังบางคนอธิบายไม่
ปัญจวัคคีย์ ศิษย์ผู้ปฏิเสธอาจารย์ เห็นแต่ไกลว่า
พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จดำเนินมา ก็ชี้ให้กันดูว่า
"โน่นไง บุคคลผู้คลายความเพียร เวียนมาเป็นผู้มักมากมาแล้ว
คงไม่มีใครดูแลสิท่า จึงมาหาเรา เราอย่าลุกรับ
อย่านมัสการ ปูแต่อาสนะไว้ให้ อยากนั่งก็นั่ง ไม่อยากนั่งก็ตามใจ"
แต่พอพระพุทธองค์เสด็จดำเนินมาใกล้
ปัญจวัคคีย์ลืมข้อตกลงโดยสิ้นเชิง
เพราะพระบารมีพระพุทธองค์
จึงต่างลุกขึ้นต้อนรับอัญเชิญเสด็จประทับบนอาสนะ
แต่ปากยังแข็งอยู่ เรียกพระพุทธองค์ว่า "อาวุโสโคตม" (คุณโคตม)
พระ พุทธองค์ตรัสว่า
"อย่าพูดกับเราอย่างนั้น
บัดนี้เราได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว นั่งลง
เราจะแสดงธรรมให้ฟัง" ปัญจวัคคีย์พูดว่า
"ไม่เชื่อ ท่านอดอาหารแทบตายยังไม่บรรลุเลย
เมื่อกลับมาบริโภคอาหารจนอ้วนพีอย่างนี้ จะบรรลุได้อย่างไร"
พระพุทธองค์ตรัสว่า
"พวกเธอจงรำลึกความหลังดูซิ
พวกเธออยู่กับเรามาเป็นเวลานาน
เคยได้ยินเราพูดว่าได้ตรัสรู้หรือไม่"
เมื่อ โดนไม้นี้ ปัญจวัคคีย์นิ่งอึ้งไปอยู่พักใหญ่
ยอมรับว่าพระพุทธองค์ไม่เคยตรัสว่นาได้บรรลุเลย
ขนาดทรมานพระองค์จนเกือบจะสิ้นพระชนม์
ก็ไม่เคยตรัสว่าใกล้บรรลุ หรือได้บรรลุแล้ว
วันนี้ตรัสว่าได้บรรลุ น่าจะบรรลุจริง (แฮะ)
เมื่อคิดได้ดังนี้ จึงพร้อมใจกันนั่งลงสดับพระธรรม
พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
(พระสูตรว่าด้วยการหมุนล้อธรรม)
เนื้อหาว่าด้วยอริยสัจสี่ประการ
และขั้นตอนของการตรัสรู้ของพระองค์
ข้อที่น่าสังเกตคือ ก่อนเข้าสู่เนื้อหาอริยสัจสี่
พระพุทธองค์ตรัสถึงทางที่ไม่ควรดำเนินสองทางก่อน
แล้วชี้ถึงทางสายกลาง ถามว่าเพราะเหตุใด
เราน่าจะมาหาคำตอบดูนะครับ
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ก็ถามเพิ่มว่า
ทำไมพระพุทธองค์จึงไม่ทรงแสดงอนุบุพพีกถา
(แถลงธรรมที่ลึกลงตามลำดับ) เพื่อปูพื้นฐาน
หรือเตรียมความพร้อมก่อน (ดังที่ทรงปฏิเสธเสมอในเวลาต่อมา)
ทำไมทรงแสดงอริยสัจทันทีเลย
คำตอบ สำหรับข้อแรก (ทำไมตรัสถึงทางที่ไม่ควรดำเนินก่อน)
ก็คือ พระพุทธองค์ต้องการชำระข้อ "คาใจ" ของปัญจวัคคีย์ก่อน
ปัญจวัคคีย์นั้นมีความเชื่อฝังใจอยู่ว่า
การทรมานตนอย่างอุกฤษฏ์เท่านั้น
ทำให้บรรลุความสิ้นกิเลสได้
เมื่อเห็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
จึงเลื่อมใส คอยมาปรนนิบัติ
เพราะเชื่อแน่ว่าพระองค์จะต้องบรรลุสัจธรรมสูงสุดแน่
แต่เมื่อพระองค์เลิกทุกรกิริยา หันมาเสวยพระกระยาหาร
ปัญจวัคคีย์จึงผิดหวัง เชื่อแน่ว่าพระองค์ไม่มีทางบรรลุแน่นอน
เพราะเหตุนี้ ทันทีที่ปัญจวัคคีย์ยอมนั่งฟังธรรม
พระพุทธองค์จึงแก้ข้อสงสัยของปัญจวัคคีย์ให้หมดไปด้วย
การตรัสยืนยันว่า การทรมานตัวเองด้วยการอดอาหารไม่ใช่ทางบรรลุ
เป็น "ทางตัน" สายหนึ่งในจำนวนทางตันสองสาย
คือ อัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตน)
และกามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นในกาม)
ดังลัทธิวัตถุนิยมประพฤติกันอยู่
เมื่อ ปฏิเสธทางตันทั้งสองนั้นแล้ว
พระองค์ก็ทรงชี้ทางที่ไม่ตัน
ทางที่นำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงคือ
"ทางสายกลาง" อันได้แก่
อริยมรรคมีองค์แปด มีสัมมาทิฐิ
เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ เป็นปริโยสาน
(ปริโยสาน เท่ากับคำ อวสาน แปลว่าที่สุดครับ)
เมื่อชำระข้อค้างคาใจของปัญจวัคคีย์แล้ว
พระองค์จึงทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ
โดยไม่เสียเวลาแสดงอนุบุพพีกถา เป็นการปูทางก่อน
ถึง ตรงนี้มีคำถามว่า อนุบุพพีกถา คืออะไร คำตอบคือ
เรื่องที่พึงเข้าใจ และปฏิบัติตามลำดับ 5 เรื่องด้วยกัน คือ
(1) ทาน (2) ศีล (3) สวรรค์ (4) กามาทีนวะ (โทษของกาม)
และ (5) เนกขัมมะ (การออกจากกามหรือออกบวช)
ต้องไม่ลืมว่าปัญจวัคคีย์เป็นนักพรต
สละโลกีย์วิสัยมาถือเพศเป็นนักบวชแล้ว
เห็นโทษของกามและกำลังฝึกตนเพื่อละกิเลสทั้งหลายแล้ว
มีความพร้อม มีพื้นฐานพอที่จะเข้าใจสัจธรรมสูงสุด
โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งที่ ทาน ศีล
พระพุทธองค์จึงไม่ทรงเสียเวลาแสดงอนุบุพพีกถา
ทรงเริ่มแสดงอริยสัจสี่เลยทีเดียว
ไม่เหมือนผู้ครองเรือนอย่างเช่น ยสกุมาร
บิดามารดาของยสกุมาร หรือคนอื่นๆ
ที่ทรงแสดงธรรมโปรดในภายหลัง
เนื้อหา ของอริยสัจสี่เอาไว้พูดคราวหน้า
ขอพูดถึงเหตุการณ์หลังแสดงธรรมจบก่อน
หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจสี่จบลง
หัวหน้าปัญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ ได้ "ดวงตาเห็นธรรม"
ภาษาบาลีว่าได้ ธัมมจักขุ คือ
ได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เข้าใจว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับเป็นธรรมดา"
(ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ)
ท่านว่าการรู้เห็นอย่างนี้เป็นยถาภูตญาณ (การหยั่งรู้ตามเป็นจริง)
เป็นความเข้าใจของพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน
อันเป็นระดับต้นในจำนวนพระอริยบุคคลทั้งสี่
(โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์)
พระโสดาบันเป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยแล้ว
ไม่มีทางหวนกลับหรือกลับกลายเป็นอื่น
มีแต่จะเดินหน้าสู่ความหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง
พระพุทธองค์ทรงทราบด้วย พระสัพพัญญุตญาณว่า
เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงแก่ท่านโกณฑัญญะแล้ว
จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺทัญฺโญ
(โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ) ซ้ำถึงสองครั้ง
จากนั้น โกณฑัญญะทูลขอบวช พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
เอหิ ภิกขุ สวากฺขาโต ธมฺโม จร พรหมฺจริยํ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยายะ
(จงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว
จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์เถิด)
เพียงแค่นี้การบวชของท่านก็สำเร็จ ไม่มีพิธีรีตองอะไร
ต่อมาการบวช แบบนี้มีชื่อเรียกว่า
บวชแบบเอหิภิกขุ (เอหิกขุอุปสัมปทา)
ท่านโกณฑัญญะจึงได้เป็นพระสาวกรูปแรก
และเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก พระรัตนตรัยได้ครบจำนวนก็เมื่อคราวนี้
ก่อนหน้านี้มีแต่พระพุทธและพระธรรม
คราวนี้มีพระสงฆ์เพิ่มขึ้นเป็นพระรัตนตรัย
ชาวพุทธไทย (เน้นพุทธไทย)
จึงบัญญัติวันนี้ วันที่ท่านโกณฑัญญะบวชนี้
เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง
เรียกว่า วันอาสาฬหบูชา (อ่านว่า อา-สาน-หะ-บู-ชา)
จากพระพุทธอุทานว่า อญฺญาสิ นั้นแล คำว่า "อัญญา"
จึงมาเป็นคำต้นชื่อท่านว่า
อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่บัดนั้นมา
หน้า 6