คอลัมน์ ร้อยเหลี่ยมพันมุม
วีณา โดมพนานคร
มติชน
วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
เกิดขึ้นมากมายจากการอธิบายของ
"ทพ.สม สุจีรา" ผ่านเนื้อหาในหนังสือหลายเล่ม
ในคนเหล่านั้นย่อมเข้าใจตรงกันว่า
แก่นแกนที่ถูกบอกเล่าไม่ว่าจะอิงกับแพทย์ศาสตร์
จิตวิทยา หรือวิทยาศาสตร์ จะเน้นไปที่เรื่องของการฝึกจิต
กำกับใจ
ที่สำคัญคือ "การจับความรู้สึก" เป็นหัวใจที่ถูกตอกย้ำให้รู้ว่า
เป็นคำตอบของคนที่ถามหา "ความสุข" อย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะอะไรเราจึงควรฝึกจับความรู้สึก
คนที่มีความสุขดีอยู่แล้วจำเป็นต้องฝึกหรือไม่ เพราะอะไร
คนที่มีบุญเก่า จะมีความรู้สึกดีๆ ฝังอยู่ในจิตมากมาย
ทำให้แม้ไม่ฝึกสติจับความรู้สึก ชีวิตก็ประสบความสำเร็จหรือมีความสุขได้
แต่อย่าลืมว่าทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามที่รู้ๆ กันอยู่
ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมอย่างความสุข ความรัก ความอบอุ่น
หรือรูปธรรมอย่าง พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง คู่ชีวิต
ฉะนั้นถ้าไม่รู้จักฝึกสติจับความรู้สึก เมื่อถึงเวลาที่เจอความทุกข์จะรู้สึกเจ็บปวดมาก
เพราะก่อนหน้านั้นมัวแต่หลงระเริงไปกับความสุขที่เจอมาก่อน
ผมอยากจะบอกว่า ความสุขที่เรามีหรือหาได้ในชีวิตปกติประจำวัน
ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงและหายไปได้ง่ายมาก
ถ้าใครคิดว่ามีความสุขดีอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ประมาทเกินไป
เรื่องของความรู้สึกถ้าเราศึกษาที่มาในทางธรรมจะรู้ว่าเป็นอาการ
ที่เกิดจากกลุ่มของดวงจิตผุดขึ้นมารับอารมณ์คือ
เมื่อมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เข้ามากระทบผ่านทวารทั้งห้า
ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกแบบต่างๆ
ขึ้นตามองค์ประกอบวิบากกรรมเก่าของจิตในแต่ละคน
เมื่อมีการตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกที่ต่างกัน
จึงทำให้มีการคิด ตัดสินใจในการเลือกหรือดำเนินชีวิตที่ต่างกันไป
ขอคำอธิบายเรื่องการจับความรู้สึกตามภาษาของคุณหมอ และรู้สึกสนุกอย่างไร
ความรู้สึกเกิดจากกลุ่มของดวงจิตผุดขึ้นมารับอารมณ์
ซึ่งในวงจรของการเกิดอารมณ์นั้นรวดเร็วมาก
ในคนทั่วไปซึ่งสติไม่ไวพอที่จะจับการเกิดดับของดวงจิตได้
แต่สามารถตั้งสติเฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้
เมื่ออารมณ์เป็นผลของ ความรู้สึก การรู้จักฝึกสติคุมความรู้สึกก็จะคุมอารมณ์ได้
เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม หรือตัดกรรมเสียแต่ต้นใจ
ดีกว่าปล่อยให้ไฟแห่งอารมณ์โหมกระพือ
แล้วค่อยมาดับทีหลัง ซึ่งอาจจะสายเกินไป
เพราะถ้าปล่อยให้ถึงขั้นความรู้สึกก่อตัวเป็นอารมณ์
นั่นก็หมายความว่า สติสัมปชัญญะอ่อนแรงลงไป
ถึงตอนนั้นอารมณ์จะมีอิทธิพลเหนือสติไปแล้ว
การฝึกสติทำให้เรา สามารถเลือกได้ว่า
จะให้ความรู้สึกควบคุมเรา หรือว่าเราจะเป็นคนที่ควบคุมความรู้สึก
ในคนที่มีบุญเก่าจะสามารถรู้เท่าทันอารมณ์
ความรู้สึกได้โดยที่ไม่ต้องฝึกเจริญสติมากนัก
แต่ใครที่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในเกมกรรม
คือปล่อยให้ชีวิตต้องไปตามอารมณ์ความรู้สึก
ต้องหมั่นฝึกสติ วิธีฝึกก็ไม่ยาก เพียงแต่กำหนดสติเฝ้าดูอารมณ์ที่ผุดขึ้นมา
แล้วบอกตัวเองให้รู้ตัวว่านี่คือ
ดีใจหนอๆๆ โกรธหนอๆๆ เศร้าหนอๆๆ อิจฉาหนอๆๆ
เมื่อฝึกบ่อยๆ เข้า จะพบว่าความรู้สึกเหล่านี้ล้วนเป็นมายา
เพราะเกิดขึ้นแล้วก็หายไปได้
ความสนุกที่เกิดขึ้นจากการฝึกจับความรู้สึกของผมก็คือ
เราจะเล่นกับความรู้สึกได้ เหมือนกับนักแสดง
ที่สามารถนำเอาความรู้สึกต่างๆ มาแสดงได้อย่างเหมือนจริง
และเมื่อถ่ายทำจบ ก็ทิ้งความรู้สึกนั้นไปเลย
ไม่ยึดติดเอามาเป็นของตัวเองต่ออีก
ก็คือเราเล่นกับอารมณ์ ไม่ใช่ให้อารมณ์มาเล่นเรา
จะต่างกันก็แต่นักแสดงเล่นตามบทที่เขียน ขึ้น แต่ในชีวิตจริง
บททั้งหมดถูกบันทึกไว้แล้วในจิตและดีเอ็นเอ
ตั้งแต่ก่อนเกิดแล้ว จะว่าชีวิตคือละครก็ได้
โดยมีกรรมเก่าเป็นบท เจ้ากรรมนายเวรเป็นผู้กำกับ
และมีธรรมชาติเป็นผู้อำนวยการสร้าง
ภายใต้ธรรมชาติอันนี้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวบนโลกนี้
ที่สามารถเลือกได้ว่าจะเล่นตามบทหรือไม่
เพราธรรมชาติยังเมตตามอบสติมาให้
ดังนั้น ถ้าความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้น เช่น โลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา
ท้อแท้ วิตกกังวล ฯลฯ ขอให้นึกไว้เสมอว่า
กรรมเก่ากำลังทำงาน
ต้องใช้กำลังสติเข้าไปสกัด
แต่มีเรื่องที่ต้องระวังคือ ความรู้สึกบางอย่างที่คิดว่าเป็นบวก
เช่น ความรัก ความพอใจ ความชอบ
เพราะบางครั้งนั่นแสดงว่าคุณอาจกำลังรับกรรมอยู่ก็ได้
เช่น คนที่กำลังอยู่ในอารมณ์รักอาจกำลังเจอคู่กรรมมาตามเอาคืน
ตัวที่จะใช้แยกแยะว่าสิ่งใดเป็นบวกเทียม-บวกแท้
ก็คือ ปัญญานั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีสติมาก่อน
ปัญญาจึงจะตามมาได้
อุปสรรคของการจับความรู้สึกคืออะไร
สิ่งที่ทำให้การจับความรู้สึกเป็นเรื่องยากก็คือ
ความไวของการผุดขึ้นของความรู้สึก
ในทางจิตวิทยาพบว่า ในแต่ละวันคนเราจะมีความรู้สึกต่างๆ
ผุดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน อาจจะถึงหมื่นครั้งแสนครั้งก็ได้
โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวเลยเหมือนกับการกะพริบตา
อุปสรรคอีกอย่าง หนึ่งก็คือ ความแรงของความรู้สึกเช่น
ถ้ากำลังเสียใจอย่างแรง การกำหนดสติเข้าไปจับจะทำได้ยากมาก
จะสู้กับทั้งความไวความแรงนี้ต้องใช้อาวุธให้ถูก
ซึ่งตัวที่จะมาสู้กับความแรงได้ก็คือ สมาธิ
ส่วนความไวต้องใช้สติ ทั้งการฝึกสมาธิและเจริญสติ
จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในทางพุทธศาสนา
เพราะสมาธิทำให้เกิดกำลัง
สติทำให้เกิดความไว
สองอย่างนี้ดูเผินๆ เหมือนจะคล้ายกัน
แต่ความจริงแล้วมีความต่างกันมาก เพราะสติคือ
การควบคุมเฝ้าดูความรู้สึก แต่สมาธิ เป็นการดื่มด่ำแนบแน่น
ไปกับความรู้สึกนั้น ขณะมีสมาธิกิเลสจะเข้าหรือเกิดขึ้นได้ง่าย
แต่ขณะมีสติกิเลสจะเข้าไม่ได้ ดังนั้น สมาธิ
เป็นเพียงฐานระยะแรกของการฝึกสติเท่านั้น
ถ้าใช้สมาธิจับความรู้สึก จะจับไม่ได้
เหมือนใช้อุปกรณ์ผิดประเภท ซ้ำร้ายจะเกิดผลในทางตรงกันข้ามได้ด้วย
คือเราจะหลงเข้าไปยึดติดกับความรู้สึกนั้นเสียเอง
คุณหมอช่วยเล่า ประสบการณ์การจับอารมณ์โกรธ
โดยบรรยายลักษณะ การก่อตัว พลังที่เกิดขึ้น
และเมื่อเริ่มจับอารมณ์นี้ได้ อารมณ์โกรธเปลี่ยนไปอย่างไร
ขณะโกรธ ฮอร์โมน ความดัน การเต้นของหัวใจ
จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในแต่ละคนจะมีการตอบสนองต่างกัน
บางคนโกรธง่าย หรือที่เรียกว่า จุดเดือดต่ำ อะไรนิด
อะไรหน่อยก็เดือด ลักษณะการก่อตัวของอารมณ์โกรธ
ก็คล้ายกับการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำ เมื่อยังไม่ถึงจุดเดือด
ถ้าเฝ้าดูด้วยสติ จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายใน
ตรงจุดนี้ยังควบคุมได้ โดยการลดอุณหภูมิลงเช่น
เดินออกไปจากจุดนั้น หยุดพูด หยุดฟัง หาเพื่อนช่วยระบาย
หรือถ้าจะเดือดจริงๆ ก็วิ่งเข้าไปในรถปิดกระจกให้หมด
แล้วตะโกนออกมาดังๆ ระหว่างที่กำลังเดือดต้องมีสติเฝ้าดูอารมณ์ตลอด
เมื่อเฝ้าดูจนครบวงจร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
จะเกิดปัญญาเข้าใจว่า ความโกรธมันก็เป็นเช่นนั้นเอง
ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าปล่อยให้มันเข้ามาควบคุมเรายิ่งเป็นเรื่องอันตราย
เมื่อเข้าใจดังนี้ ในวันหลังๆ จุดเดือดจะสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ
ต้นเหตุของความโกรธ ก็ล้วนวนเวียน อยู่กับเรื่อง
รัก โลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา ฯลฯ เมื่อเกิดปัญญาจะรู้ว่า
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์
ต้องยอมรับว่าในโลกนี้มีเชื้อโรค เชื้อโลภ อยู่
เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้
วิธีแก้ไขก็คือ ต้องพยายามสร้างภูมิต้านทาน
สร้างเกราะป้องกัน ทำตัวเองให้แข็งแรง ไม่ใช่การไปโกรธ
ไปเกลียดเชื้อโรค ไปทำลายเชื้อโรคให้หมดโลก
เพียงแต่ภูมิต้านทานทางจิต ไม่มียาตัวใดสร้างได้ นอกจากสติ
เมื่อเกิดสติจะเห็นโลกอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น
และพยายามใช้ปัญญาวิเคราะห์ว่า
เราจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในโลกแบบนั้นได้อย่างไร
ปัญญาจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้
เมื่อไม่มีความโกรธมาครอบงำ ก็จะเกิดสติรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด
มาวิเคราะห์สืบค้นหาเหตุผลไล่ไปตาม
ลำดับจนถึงต้นเหตุของความโกรธ
สามารถแยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นความเป็นไปของสภาวะ
และความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
และสามารถเข้าถึงความจริงและแก้ปัญหาได้ด้วยปัญญา
ช่วยยกตัวอย่างสถานการณ์การเกิดปัญญากับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
หลังจากจับความรู้สึกได้ ทั้งแบบกะทันหัน และในภาวะปกติ
สติ ของคนเราทำงานไวกว่าแสง ดังนั้น
ในขณะเกิดวิกฤตแบบกะทันหันขึ้นกับชีวิต
สติที่ไวจะช่วยให้เกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะรวดเร็วปานสายฟ้าแลบก็ตาม
เช่นบางทีตกจากที่สูงเพียง 3-4 วินาที แต่มีความรู้สึกว่ายาวนานมาก
จนเกิดปัญญาระลึกรู้ได้ว่า ต้องลงท่าไหน เก็บศีรษะอย่างไร
ซึ่งกรณีนี้ ผมเจอกับตัวเอง ตอนตกจากหลังคาบ้าน
คนที่ฝึกสติ จะจับอาการ ระหว่างนั้นได้ละเอียดมาก
เวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
ขึ้นอยู่กับว่าจิตของเรามีความไวแค่ไหนมากกว่า
เมื่อจับความรู้สึกได้ เราจะรู้สึกหรือมีสภาวะอย่างไร
เหมือน เรือเหาะที่ลอยเหนือคลื่นในทะเล
คนที่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามความรู้สึก
ก็เหมือนเรือที่ลอยละล่องไปตามจังหวะของคลื่น
แต่ถ้าแยกตัวออกจากความรู้สึกได้
จะเห็นและเข้าใจธรรมชาติของมัน
นกจะไม่เห็นพายุ ถ้าตัวมันเข้าไปอยู่ในพายุเสียเอง
เสือไม่เห็นป่า ปลาไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนไม่เห็นดิน
เพราะทั้งป่า น้ำและดินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมัน
เช่นเดียวกัน ถ้าเราให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
เราก็จะมองไม่เห็น และวิถีชีวิตก็จะดำเนินไปตามความรู้สึก
โดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้น เมื่อจับความรู้สึกได้ก็จะรู้เท่าทัน
อารมณ์ความรู้สึกทั้งหมด
ทำให้สามารถวางวิถีชีวิตของตนเอง
การดึงสุขและทุกข์ออกจากใจทำไม จึงใช้แรงเท่ากัน
ในเมื่อความสุขเป็นความรู้สึกที่เรามักอยากเก็บไว้นานๆ
ส่วนทุกข์จะอยากผลักออกอยู่แล้ว
ยิ่งหลงไปกับสุขมาก เวลาทุกข์ก็จะเจ็บในระดับเดียวกับความหลง
เช่น สุขในระดับ +5 เวลาทุกข์ก็จะอยู่ในระดับ -5
รักมากเวลาอกหักก็เจ็บมาก เป็นกฎของธรรมชาติ
เมื่อเราดึงสปริงยืดออก เวลาเด้งกลับมันจะหดเท่ากับที่ดึง
ขณะมีความสุขมากๆ ให้กำหนดสติเฝ้าดู และดึงสุขออกจากใจ
แน่นอนว่าทำยาก เพราะเรามักอยากเก็บไว้นานๆ
แต่ถ้าทำได้ เมื่อถึงเวลาทุกข์ เราก็จะสามารถดึงทุกข์ออกจากใจเช่นกัน
เพราะพลังที่จะใช้เท่ากัน เพียงแต่อยู่คนละขั้ว เช่น
ถ้าคุณโชคดีถูกหวยหนึ่งล้านบาท แน่นอนว่าต้องดีใจ
แต่ถ้าขณะนั้นสามารถกำหนดแยกจิตออกมาเป็นผู้ดูได้
ไม่หลงไปกับอารมณ์ทางบวก
ในอนาคตเกิดคุณมีเหตุที่ต้องสูญเสียเงินหนึ่งล้านบาท
คุณก็จะแยกตัวออกจากอารมณ์ทางลบได้เช่นกัน
การฝึกดึงสุขออกจากใจ ทรมานน้อยกว่าการฝึกดึงทุกข์ออกจากใจ
ขณะมีความสุข เพราะฉะนั้นอย่าพลาดโอกาสนี้ในการฝึกแยกตัวออกจากสุข
อย่าหลงดื่มด่ำไปกับมัน ถ้าเราแยกตัวออกมาเฝ้าดู "สุข" ได้
เมื่อถึงเวลาทุกข์ เราก็จะเฝ้าดูมันได้เช่นกัน
คือถ้าเปลี่ยนตัวเป็นผู้ดูได้เมื่อไหร่นะ
จะแยกได้โดยตัวมันเอง เหมือนกับสติจะอยู่เหนือสมอง
เวลาที่เรามีความสุข ถ้ามีสติ อย่างผมขายหนังสือได้แสนเล่ม
โอเค มันจะมีช่วงหนึ่งที่เราดีใจ แล้วถ้าเอาสติเข้าไปจับเห็นความดีใจ
เราจะเป็นฝ่ายดู คือเราไม่เอาตัวเราไปดีใจ
มันเหมือนแยกออกมาได้ หมายถึงว่าเราสามารถแยกสุขออกจากใจได้
รู้ว่าความสุขเป็นแบบนี้นะ มันจับอารมณ์เราได้เลย
แล้วก็รู้ว่ามันไม่เที่ยง แล้วเราก็จับความไม่เที่ยงนี้ได้
เหมือนกับเราเท่าทันมันได้ แล้วก็จะสุขน้อยลง
คือจะไม่ค่อยสุขเหมือนคนที่เคยติดอารมณ์นั้น
ชีวิตที่สมบูรณ์แบบของคุณหมอมีทุกข์บ้างหรือไม่จากเรื่องอะไร
ผม ก็ทุกข์เหมือนกับมนุษย์ปุถุชนทั่วๆ ไป จะว่าไปก็ไม่ได้มี
กำลังสติเหนือกว่าปกติเท่าใด แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยฝึกสติปัฏฐาน 4
จนพบความมหัศจรรย์ทางจิต แต่ก็หลายปีมาแล้ว
ปัจจุบันผมไม่มีเวลาฝึกเจริญสติอีกเลย
กำลังสติที่เคยมีก็หายไป เหมือนนักกีฬาที่ไม่ได้ซ้อมมาหลายปี
ความแข็งแรงก็ไม่ได้ต่างจากคนทั่วไป
แต่ความเข้าใจยังอยู่ จึงสามารถนำมาเขียนหนังสือได้ถึงสิบเล่ม
ตั้งแต่เล่มแรก ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น
จนเล่มล่าสุดคือ ทางลัดสู่อัจฉริยะ
ผมเปรียบเทียบ ตนเองเหมือนโค้ช คือรู้ว่าต้องทำอย่างไร
แต่ถ้าโค้ชลงไปเล่นเอง ก็แพ้ เช่นเดียวกัน
ผมรู้วิธีที่จะสกัดกิเลส ตัณหา และอธิบายได้
แต่เมื่อเจอกับตัวเอง ก็แพ้เหมือนกัน
ชีวิตผมยังไม่สมบูรณ์แบบครับ อารมณ์ความรู้สึก
และกรรมเก่าต่างๆ ยังประดังกันเข้ามาเป็นระยะๆ
บางครั้งก็สกัดทัน แต่บางครั้งพลาดก็รับกรรมไป
หน้า 6